สมาธิในพระพุทธศาสนา


💖 สมาธิในพระพุทธศาสนา 

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย (๑) ปีฉลู

เจริญสุข สวัสดี ญาติธรรมทั้งหลายที่ได้ฟังพระธรรมเทศนา แล้วน้อมนำเอาไปปฏิบัติ น้อมนำเข้ามาสู่ตน โดยเฉพาะเรื่องภาวนามยปัญญา เพื่อสร้างทางออกจากทุกข์ ทั้งทุกข์กาย ทุกข์ใจ ที่ต้องประสบพบเจออยู่ทุกวัน วันพระนี้ อาตมาภาพจึงนำเอาเรื่อง "สมาธิในพระพุทธศาสนา" มาทบทวน ดังนี้

🌷 สมาธิในพระพุทธศาสนา 

ถ้าหากพิจารณารายละเอียดเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ที่กล่าวมาในตอนต้นนี้ให้ดีแล้ว จะเห็นว่า ท่านสงเคราะห์ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิ หมายความว่า ในการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนานี้ มรรคทั้ง ๓ ดังกล่าวนี้ จะทํางานสัมพันธ์กันตลอดเวลาเพื่อรวมจิตให้สงบเป็นสมาธิ กล่าวคือ 

จะต้องสลัดนิวรณ์อันเกิดขึ้นเนื่องด้วยอารมณ์กระทบ ออกไปให้หมดด้วยสัมมาวายามะ ยกจิตขึ้นสู่อานาปานสติและประคองจิตมิให้แลบออกไปสู่ที่อื่นด้วยสัมมาสติ เกิดความอิ่มใจเบากายเบาใจและเป็นสุขที่จิตสงบขึ้น อาการต่างๆ เหล่านี้จะต้องถูกปล่อยวางจนหมดในที่สุด เป็นสัมมาสมาธิ 

เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิจึงไม่ใช่สมาธิแบบหินทับหญ้า เหมือนดังสมาธิของศาสนาอื่น ซึ่งยึดแนบแน่นเป็นเอกัคคตาอยู่ในอารมณ์เดียวแต่ประการใด แต่เต็มไปด้วยพลังสติระวังตัว สงบตั้งมั่นอยู่เสมอ

เมื่อพลังสติทํางานอย่างเต็มที่อยู่เช่นนี้แล้ว ก็ย่อมมีผลกระทบให้การพูด การทํา การคิดดำเนิน อย่างถูกต้องตามทํานองคลองธรรมไปด้วย ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติสัมมาสมาธิ คือยกจิตขึ้นสู่อานาปานสตินั้น จึงไม่มีทางที่จะเป็นบ้าไปได้เลย ถ้าพูดให้ถูกแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่หายจากการเป็นบ้า (ที่หลงเข้าไปยึดถือสิ่งภายนอกอย่างผิดๆ ฝ่าฝืนสัจธรรมมาตลอดเวลา) มากขึ้น ทําให้พูดถูก ทําถูก คิดถูกยิ่งขึ้น โดยลําดับ นี่คือประโยชน์ที่เกิดจากการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา

สําหรับผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแล้วเป็นบ้านั้น ถ้าได้พิจารณาสาเหตุดูแล้ว ส่วนมากเกิดจากการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กามคุณด้วยปรารถนาลามก ไม่ได้ยกขึ้นสู่อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ไม่ได้ใช้สติสกัดกั้นความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยกามคุณนั้นๆ คงปล่อยจิตใจให้ยินดีเพลิดเพลินและหวังว่าจะหาโอกาสนํามาครอบครองต่อไปในอนาคต เช่น เพ่งดูรูปผู้หญิงเพื่อทําเสน่ห์ ดูเลขหวยเบอร์ เป็นต้น ย่อมเป็นบ้าอย่างไม่มีปัญหา

ด้วยเหตุผลดังที่ได้บรรยายมานี้ ผู้ปฏิบัติสมาธิที่หวังความพ้นทุกข์ ในพระพุทธศาสนา จึงจําต้องจําทางเดินของจิตรวมทั้งวิธีวางจิตให้แม่นยําและแยบคายเพื่อให้เกิดสมาธิขึ้นโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด ที่เรียกว่า วสี (ความชํานาญในการเข้า - ออกจากสมาธิ) ซึ่งควบคุมจิตไม่ให้ถูกนิวรณ์ครอบงําได้ดีที่สุด

🌷 สมาธินอกพระพุทธศาสนา 

กล่าวตามความเป็นจริงแล้ว ศาสนาพราหมณ์ซึ่งมีมาก่อนพระพุทธศาสนา ก็มีการปฏิบัติฌานสมาบัติอยู่แล้วเหมือนกัน ดังนั้น การปฏิบัติเช่นนี้จึงมีมาก่อนพุทธกาล ถึงแม้พระพุทธองค์ก็ทรงเคยเสด็จเข้าไปศึกษาและปฏิบัติอยู่กับพระอาฬารดาบสและพระอุทกดาบส ก่อนตรัสรู้มาแล้วด้วย แต่พระองค์ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานสมาบัตินั้น จิตของพระองค์ยังยึดอารมณ์ฌานอยู่อย่างเหนียวแน่น เป็นเอกัคคตารมณ์อยู่ เมื่อยังยึดอารมณ์อยู่ก็ย่อมถูกอารมณ์ปรุงแต่งให้มีให้เป็นไป ยังไม่พ้นจากทุกข์ไปได้ จึงทรงลาพระอาจารย์ทั้งสองท่าน ออกมาปฏิบัติสัมมาสมาธิโดยลําพังพระองค์เอง จนกระทั่งได้ตรัสรู้ในที่สุด

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า สมาธิในศาสนาพราหมณ์ที่ได้ทรงศึกษาและปฏิบัติอยู่กับพระ อาจารย์ทั้งสองที่กล่าวมาแล้ว กับสมาธิที่พระองค์นํามาปฏิบัติจนได้ตรัสรู้นั้น ต่างกัน ดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสไว้ในปฐมเทศนา ดังต่อไปนี้ "ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติมา เราไม่เคยสดับฟังมาจากที่ใดเลย" (ไม่มีใครสอนมาก่อน)

ถ้าหากว่าสมาธิของพระอาจารย์ทั้งสอง เหมือนกับสมาธิที่ทรงปฏิบัติจนกระทั่งตรัสรู้จริงแล้ว พระองค์ย่อมตรัสว่าได้ตรัสรู้เองโดยชอบไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น สมาธิของศาสนาพราหมณ์จึงแตกต่างกับสมาธิในพระพุทธศาสนาอย่างไม่มีปัญหา เช่น ท้าวมหาพรหมยังยึดอัปปมัญญา ๔ อยู่ จึงมีอายุยืนยาวมาก เมื่อเสวยวิบากของกรรมเช่นนี้หมดแล้ว ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเป็นอย่างอื่นที่เป็นกรรมรองต่อไปอีก ยังไม่พ้นจากทุกข์ไปได้

🌷 ประโยชน์ของการปฏิบัติสมาธิ 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า "สมาธิ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"  แสดงว่า การปฏิบัติสมาธิ เป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ช่วยอบรมจิตให้มีพลังปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ (รูปนาม) ได้ เมื่อปล่อยวางสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาเสียได้ ความยินดียินร้ายอันเนื่องมาจาการยึดถือผิดๆ ก็ย่อมพลอยดับลงด้วยเป็นธรรมดา

ในปัจจุบันนี้ ได้มีผู้เห็นประโยชน์ของการปฏิบัติสมาธิมากพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่ออกไปอย่างกว้างขวางถึงชนบทต่างๆ รวมทั้งวัดที่มีอยู่ทั้งหมดรวมสามหมื่นกว่าวัด ทั่วประเทศด้วย ทุกคน ทุกสถาบัน จําเป็นจะต้องเพิ่มบทบาทอย่างเข้มแข็ง โดยไม่ปล่อยให้สังคมเป็นไปตามยถากรรมต่อไป ด้วยการก้าวเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสอนปฏิบัติสมาธินักเรียนและเยาวชน ซึ่งกําลังประพฤติตนสวนทางกับศีลธรรมอันดีงามอยู่ในขณะนี้ จนเป็นที่หวั่นวิตกแก่บิดามารดาผู้ปกครองครูอาจารย์ เป็นอันมากว่า ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข นักเรียนและเยาวชนในปัจจุบันย่อมจะกลายเป็นภาระอันหนักและไม่มีคุณภาพแก่ประเทศชาติในอนาคตทีเดียว 

ยังไม่สายเกินไปนักที่จะร่วมมือกัน นําหลักธรรมในพระศาสนาข้อนี้ มาส่งเสริมให้นักเรียนและเยาวชน รวมทั้งผู้หวังความสงบสุขในการครองชีวิตในสังคมนี้ ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและพร้อมเพรียงกัน เช่นเดียวกับชาวอังกฤษ อเมริกัน ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่บินมาเรียนปฏิบัติสมาธิในประเทศไทย แล้วนํากลับไปเผยแพร่ต่อในประเทศมาตุภูมิของเขา ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้

การปฏิบัติสมาธิจะทําให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคม ทําให้รู้จักชีวิตนี้ตามความเป็นจริง และมีพลังต่อต้านอํานาจฝ่ายต่ำที่เกิดจากอารมณ์ทั้งหลาย จึงทําให้ผู้ปฏิบัติประพฤติตนเป็นคุณประโยชน์ด้วยความองอาจเที่ยงธรรมและมั่นคงที่สุด

นอกจากนี้ การปฏิบัติสมาธิยังช่วยให้มีสติและความทรงจําดี ช่วยเกื้อกูลให้เล่าเรียนดี เป็นทางปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์และจรรโลงพระศาสนาอย่างถูกจุด ถ้ารณรงค์ให้ปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง อีกด้วย

สิ่งที่ผู้ปฏิบัติเห็นเมื่อจิตเป็นสมาธิดีแล้ว คือ 
๑. เห็นจิตที่ส่งออกไปรับอารมณ์ภายนอกด้วยความยินดียินร้าย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัย) 
๒. เห็นอาการซัดส่ายวุ่นวายของจิตเนื่องด้วยยึดอารมณ์นั้นๆ เป็นทุกข์ 
๓. เห็นว่าการปฏิบัติสัมมาสมาธิสามารถปล่อยวางอาการต่างๆ ได้ เป็นมรรค
๔. เห็นผลจากการปล่อยวาง ทําให้จิตสิ้นการปรุงแต่ง เป็นนิโรธ

เมื่อปฏิบัติจนเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้นั้นย่อมทราบชัดด้วยตนเองว่า เป็นผู้ที่รู้จักสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงแล้ว ไม่ได้กลายเป็นคนบ้าเสียจริตไป ดังที่มีบางคนวิตกอยู่ แต่ประการใดเลย 

ทั้งนี้หมายความว่า ถ้ายกเอาอารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใดในสติปัฏฐานสูตร ที่มีอยู่รวม ๒๑ ประการ มาเพื่อเพ่งดูอย่างเคร่งครัด ไม่เอาอารมณ์อย่างอื่นนอกเหนือจากนี้แล้ว ย่อมไม่มีทางเป็นบ้าเสียสติไปได้เลย แต่กลับจะทําให้ตนเองหายจากบ้า เพราะเห็นสิ่งต่างๆ ไม่วิปลาสอีกต่อไป

การเป็นบ้าเสียสติ จะเกิดขึ้นได้เพียงทางเดียวเท่านั้น คือ การปฏิบัติผิดๆ นอกรีต นอกรอย ออกจากคําสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ให้ปฏิบัติอยู่ในอารมณ์ของสติปัฏฐานเท่านั้น เช่น เอารูปผู้หญิงมาเพ่งเพื่อทําเสน่ห์ให้เขารักเรา เป็นต้น การปฏิบัติเช่นนี้จึงจะเป็นบ้า เสียสติ นี่คือความรู้ขั้นพื้นฐานสําหรับผู้ที่จะลงมือปฏิบัติทุกคน

🌷 ความหมายของคําว่า "สัมมาสมาธิ" (จิตตั้งมั่นชอบ)

คําว่า "สมาธิจิต (สม+อธิจิต)" หมายถึง จิตอันสูงยิ่งด้วยคุณธรรมทั้งหลาย มาเกิดพร้อมกัน เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ และปัญญา เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นที่แน่นอนว่าผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิ จะไม่มีทางหันกลับมาประพฤติชั่ว และทําให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นแก่ครอบครัวหรือสังคมได้อีก ตลอดเวลาที่ยังปฏิบัติสมาธิอยู่ อย่างไม่ต้องสงสัย 

คุณธรรมที่เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันเหล่านี้ จะเป็นพลังให้จิตเดินทวนกระแสโลก คือ ปล่อยวางความยึดถืออารมณ์และอาการของจิตอันเนื่องด้วยอารมณ์ให้หมดไปได้โดยลําดับ จนกระทั่งหมดอย่างสิ้นเชิงในที่สุด เรียกว่า จิตตั้งมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) คือ ตั้งมั่นอยู่ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยอารมณ์มาเป็นบาทฐานให้ตั้งมั่นอีกต่อไป

คําว่า ฌาน กับ สมาธิ นี้ เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน หมายความว่า ต้องใช้จิตเพ่งดู (ฌาน) อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ ที่ได้เลือกไว้ตลอดไป ก็ย่อมเกิดสมาธิขึ้น และเมื่อเพ่งดูตลอดไปอีก ก็ย่อมได้ศึกษารู้จักอารมณ์นั้นๆ ทําให้เกิดญาณและปัญญา ตามมาตามลําดับ 

เพราะฉะนั้น ฌานจึงเป็นเหตุให้เกิดญาน (รู้ตามความเป็นจริง) แล้วจึงเกิดปัญญาปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ เสียได้ เราเรียกจิตที่มีความสามารถปล่อยวางอารมณ์ได้ว่ามีปัญญา และเรียกจิตที่เพ่งดูอารมณ์ที่กําหนดให้ ไม่ซัดส่ายไปสู่อารมณ์อื่นว่ามีสมาธิ ทั้งนี้หมายความว่า เมื่อจิตได้รับการอบรมให้มีสมาธิขึ้นมาเมื่อใด ปัญญาก็จะเกิดมีขึ้นมาด้วยเมื่อนั้น มากหรือน้อยย่อมแล้วแต่กําลังสมาธิที่มี

🌷 อารมณ์ที่ควรเลือกสำหรับการปฏิบัติสมาธิ คือ อานาปานสติ

การใช้สติกําหนดลมหายใจเข้าออก เป็นวิธีที่สะดวกและเหมาะสําหรับคนทุกชั้น เพราะสามารถทําได้เสมอทุกโอกาส ด้วยความตั้งใจจริง อย่างบ่อยๆ เนืองๆ ติดต่อกันไป โดยให้ตั้งสติอยู่ ณ จุดๆ หนึ่งจุดใด ซึ่งอาจจะเป็นริมฝีปากบน ปลายจมูก หรือในช่องจมูกก็ได้ เลือกกําหนดเอาเพียงจุดเดียว ที่สามารถรู้สึกว่าลมหายใจกระทบเด่นชัดที่สุด ทั้งลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เมื่อเลือกได้แล้ว ก็ไม่ควรเลื่อนไปอยู่ที่อื่นต่อไป หรือเปลี่ยนใจเป็นอย่างอื่นอีกตลอดชีวิตนี้ เพราะจะทําให้เกิดความชํานาญในการเข้าสมาธิได้อย่างรวดเร็วด้วย

🌷 คำบริกรรมที่ใช้ในขณะปฏิบัติสมาธิ 

ตามหลักสติปัฏฐานสูตรแล้ว ไม่มีตอนไหนเลยที่ให้ใช้คําบริกรรม ดังนั้นจึงไม่มีคําบริกรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น เกจิอาจารย์ในสํานักปฏิบัติทั้งหลาย ได้คิดขึ้นใช้กํากับในการเพ่งดูอารมณ์ที่ได้เลือกไว้ด้วย เพื่อผูกมัดจิตซึ่งมักแลบออกไปจากจุดที่กําหนดไว้เสมอ 

เช่น โบราณาจารย์ใช้คําว่า “อรหัง" สายพระอาจารย์มั่นใช้คําว่า "พุทโธ" สายหลวงพ่อสด วัดปากน้ําภาษีเจริญใช้คําว่า "สัมมาอรหัง" สายพม่าใช้คําว่า “ยุบหนอพองหนอ" หลวงพ่อฤาษีลิงดําใช้คําว่า "นะมะพะทะ" ดังนี้ เป็นต้น 

ซึ่งกล่าวตามความเป็นจริงแล้ว คําบริกรรมทั้งหมด แต่ละคําเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นอารมณ์ของจิตอีกอย่างหนึ่งทั้งสิ้น ที่พระอาจารย์ได้บัญญัติขึ้น เพื่อใช้ผูกมัดจิตที่ปราดเปรียวนี้ไว้ ไม่ให้แลบออกไปจากฐานที่กําหนด ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้จักใช้ให้แยบคาย และกลมกลืนกับสภาวะของจิตตามสมควร อาจจะไม่ใช้เลยก็ได้ เพราะไม่ใช่พุทธบัญญัติ แต่จะใช้บ้าง ไม่ใช้บ้าง ใช้พร้อมๆ กันทีเดียวทั้งหมด หรือคิดเปลี่ยนคําบริกรรมเป็นอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง ตามถนัด เพื่อทดลองดูนั้น ย่อมไม่เกิดผลดีแต่ประการใดทั้งสิ้น ตรงกันข้าม กลับจะทําให้เกิดผลเสีย คือ เกิดวิจิกิจฉา (ลังเลสงสัย) กั้นจิตไม่ให้เป็นสมาธิขึ้นมาเสียอีกก็ได้ 

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องแล้วแต่ผู้ปฏิบัติเอง ที่จะเลือกเชื่อและใช้คําบริกรรมอย่างใดหรือไม่ และเมื่อได้ตัดสินใจเชื่อลงไปเช่นนั้นแล้ว ก็ควรรักษาวิธีการและคําบริกรรมเช่นนั้นไว้ตลอดไป จึงจะกลายเป็นวสีขึ้นมา เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็ต้องหยุดคําบริกรรมนั้นๆ เสียทันที มิฉะนั้นแล้ว จิตก็จะไม่เป็นสมาธิสูงยิ่งขึ้นไปอีก

ผลเสียของการใช้คําบริกรรม คือ ผู้ที่ใช้อาจใช้ไม่กลมกลืนกับอารมณ์ที่เพ่งดูอยู่ก็ได้ เช่น จิตไปจับอยู่ที่คําบริกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ลืมกําหนดอารมณ์สมาธิไปเสียก็มี หรือเวลาที่จิตเป็นสมาธิแล้ว ไม่หยุดใช้คำบริกรรมเพราะลืมไปก็มี ดังนี้เป็นต้น เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ก็ย่อมไม่เห็นพระไตรลักษณ์และไม่เกิดพลังปล่อยวางอารมณ์ได้เป็นธรรมดา

🌷 หลักในการเข้าสมาธิ 

เมื่อได้เลือกกําหนดจุดที่ลมหายใจเข้าออก กระทบเด่นชัดที่สุด ตามที่ได้กล่าวมาในข้อก่อนแล้ว ก็รวมความรู้สึกทั้งหมดให้มารู้ชัดเจนอยู่ที่จุดนี้ และทําจิตให้แยบคายที่จะรักษาความรู้สึกอันนี้ ให้รู้ชัดอยู่ ณ จุดนี้ตลอดเวลา มิให้แลบออกไปรู้อยู่ที่เรื่องอื่น หากความรู้สึกนี้แลบออกไปรู้อยู่ที่เรื่องอื่น ก็ให้ใช้ความพยายามดึงกลับมาอยู่ที่ที่กําหนดนี้ให้ได้ ถ้าทําได้เช่นนี้จนกระทั่งจิตเชื่อง ก็ไม่แลบออกไปอีก สมความประสงค์

เวลาระหว่างที่จิตยังไม่เป็นสมาธิกับเมื่อจิตเริ่มสงบเป็นสมาธิแล้วนี้ ผู้ปฏิบัติควรจะใช้ความสังเกตดูและจําวิธีวางจิตของตนว่า ทําอย่างไรจึงจะให้จิตเข้าสู่สภาวะเช่นนี้ หรือที่เรียกว่า จําทางเดินของจิตไว้ให้แม่นยํา เพื่อจะได้ใช้สําหรับเข้าสมาธิครั้งต่อไปได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยไม่ต้องมานั่งเริ่มต้นคลําหาทางเดินกันใหม่อีก การเข้าสมาธิได้เร็วนี้ จะช่วยเกื้อกูลพลังสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่กระทบทุกครั้ง มิให้มีโอกาสปรุงแต่งจิตได้

ในขณะที่จิตไม่แลบออกไปจากจุดที่กําหนดไว้นี้ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่าลมหายใจเข้าออกที่กระทบเริ่มละเอียดแผ่วเบา เพราะจิตเริ่มเป็นสมาธิแล้ว ตรงจุดนี้เป็นจุดสําคัญยิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องใช้ความสังเกตดูและศึกษาวิธีวางจิตเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความชํานาญขึ้น ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งให้เข้าสมาธิสงบมากไปยิ่งกว่านี้ ให้ถอนลมหายใจเข้าออกให้ยาวขึ้นอีกสักเล็กน้อย แล้วจึงกลับทําให้ลมหายใจละเอียดแผ่วเบา เหมือนเมื่อตอนแรกอีกให้ได้โดยแยบคาย ให้ทําเช่นนี้ไปมาสัก ๒-๓ ครั้งจนชำนาญ และจำวิธีวางจิตไว้ให้ได้ด้วย ต่อจากนี้ก็พยายามสลัดปล่อยวางเรื่องที่รับรู้ออกไป จนจิตสงบถึงขีดสุด

เมื่อจิตสงบถึงขีดสุดแล้ว ลมหายใจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ปรุงแต่งให้ร่างกายให้ดํารงอยู่ได้ ก็สงบตามไปด้วย ผู้ปฏิบัติก็ย่อมรู้ว่าลมหายใจดับลงแล้ว จิตได้แยกตัวอยู่ได้เป็นอิสระ และเป็นคนละส่วนกับลมหายใจ โดยไม่มีอันตรายอย่างใด ไม่ว่าจะต้องการอยู่ในสภาวะนี้ต่อไปอีกนานเพียงใดก็ตาม นี่คือขอบเขตของการปฏิบัติสมาธิ

🌷 หลักในการออกจากสมาธิ 

ให้สังเกตดูให้ดีว่า เมื่อลมหายใจยังหยาบอยู่ จิตก็ฟุ้งซ่านซัดส่ายไปมา เมื่อลมหายใจเริ่มละเอียด จิตก็เริ่มสงบ และเมื่อลมหายใจละเอียดที่สุด จิตก็เป็นสมาธิสงบที่สุด ทั้งนี้แสดงว่าจิตเป็นสมาธิมากหรือน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความละเอียดของลมหายใจโดยตรง 

ดังนั้น ถ้าต้องการจะออกจากสมาธิ ก็ให้ค่อยทําลมหายใจให้เพิ่มมากขึ้นทีละน้อย ช้าๆ ด้วยความเยือกเย็นที่สุด อย่ารีบทําอย่างรวดเร็ว พอลมหายใจเริ่มหยาบขึ้นบ้างแล้ว ก็ซ้อมถอยกลับคืนเข้าสมาธิให้ได้อีก โดยทํากลับไปกลับมาสัก ๒-๓ ครั้ง ด้วยความสังเกต เพื่อจําทางออกสมาธิ เช่นเดียวกับการทําเมื่อตอนเข้าสมาธิเหมือนกัน ก็จะทําให้เกิดความชํานาญเป็นอันมาก

การปฏิบัติสมาธินี้ เป็นการฝึกปล่อยวางความนึกคิดต่างๆ ให้มารวมอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อปล่อยวางได้สําเร็จ ก็เกิดสภาพเบากายเบาใจ ทําให้เกิดเข้าใจตัวเองผิดว่าสําเร็จมรรคผลไปแล้วก็มี เช่น ในสํานักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง ซึ่งมีผู้เข้าไปปฏิบัติธรรมอยู่เป็นจํานวนมาก ทุกคนต่างก็ตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการพูดจาซึ่งกันและกัน จึงไม่มีเรื่องรบกวนจิตใจ ดังนั้นทุกคนจึงมีสมาธิสงบดีมาก

แม่ชีผู้หนึ่ง ซึ่งได้ปฏิบัติธรรมร่วมอยู่ด้วย ก็เกิดเข้าใจผิดขึ้นว่าตนเองสําเร็จแล้ว เพราะได้เข้าถึงสภาพที่หมดความเสียดแทงทางใจในขณะปฏิบัติ และไม่ทราบว่ายังต้องปฏิบัติต่อไปอีก 

ดังนั้น ในเช้าวันหนึ่ง หลังจากเข้าพบพระอาจารย์แล้ว ก็เล่ากับพระอาจารย์ว่า “ดิฉันปฏิบัติธรรมจนหมดโลภโมห์โทสัน ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดอีกแล้วเจ้าค่ะ จะต้องทำอย่างไรอีก” พระอาจารย์ก็ตอบว่า “นังตอแหล พูดโกหกทั้งนั้น รีบออกไปจากที่นี้เร็วๆ ไป๊” 

คําตอบเช่นนี้ เป็นอารมณ์ทดสอบความมั่นคงว่องไวของสติได้ดีทีเดียว ใครไม่ได้ผ่านการฝึกให้มีสติว่องไวต่อการรับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพิ่มขึ้นจากการปล่อยวางความนึกคิดในการปฏิบัติสมาธิมาแล้ว เช่นแม่ชีผู้นี้เป็นต้น ก็ย่อมโกรธขึ้นมาทันที จึงอย่าเข้าใจผิดว่าสําเร็จเป็นอันขาด แต่ให้เข้าใจว่าจะต้องพากเพียรปฏิบัติต่อไปอีก ทุกลมหายใจเข้าออก

🌷 องค์ของฌาน (ความเพ่ง) 

คำว่า "ฌาน" นี้ หมายถึงการใช้สติตามรู้ตามเห็นเข้าไป จดจ่อหรือเพ่งในอารมณ์สติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา  จิต  ธรรม แห่งใดแห่งหนึ่งโดยติดต่อกันไม่ขาดสาย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมกล่าวได้ด้วยความมั่นใจว่า การปฏิบัติสมาธิหรือที่พระอรรถกถาจารย์ เรียกว่า วิปัสสนา นั้น ย่อมต้องใช้ความเพ่ง (ฌาน) โดยตลอด ดังพระบาลีซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ว่า 

“นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน, ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ ส เว นิพฺพาน สนฺติเก แปลว่า ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌาน ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา จึงจะอยู่ใกล้นิพพาน”

การใช้สติตามรู้ตามเห็นเข้าไป จดจ่อหรือเพ่งกาย เวทนา จิต ธรรม ติดต่อกัน โดยไม่ขาดสายนี้ เรียกว่า สัมมาสติ เพื่อศึกษาให้รู้จักสิ่งต่างๆ เหล่านี้ตามความเป็นจริง และจะได้เกิดปัญญาปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่ ให้ลดน้อยลงและหมดไปในที่สุดตามลําดับ พระพุทธองค์ได้ทรงแบ่งออกเป็น ๔ ฌาน ตามความสามารถที่จิตปล่อยวางได้ ดังต่อไปนี้คือ 

๑. ปฐมฌาน ยกจิตขึ้นเพ่ง (วิตก) และประคองจิตให้อยู่กับอารมณ์สติปัฏฐาน (วิจาร) จนกระทั่งจิตเริ่มสงบเป็นสมาธิแล้ว ก็ย่อมเกิดความอิ่มใจ (ปีติ) และความสุขจากความสงบเบื้องต้น (สุข)

๒. ทุติยฌาน เมื่อจิตผ่องใสเป็นสมาธิแล้ว วิตกกับวิจารก็ย่อมดับไป จึงมีแต่ความอิ่มใจ (ปีติ) และความสุขในสมาธิที่เกิดขึ้น (สุข) 

๓. ตติยฌาน ปล่อยวางปีติเพราะวางเฉยเสียได้ เสวยสุขที่มีอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะอย่างยิ่ง 

๔. จตุตถฌาน ปล่อยวางสุข ทุกข์ ความดีใจเสียใจที่มีอยู่ ด้วยการวางเฉย ด้วยสติอันบริสุทธิ์ ซึ่งนับเป็นความสงบขั้นสูงสุดเพราะได้ปล่อยวางสิ่งต่างๆ หมดสิ้น หมายความว่า ในขณะนี้จิตได้พ้นจากการถูกอารมณ์ปรุงแต่ง นับว่าเป็น วิโมกข์ คือ 

๑. อนิมิตตวิโมกข์ พ้นจากนิมิตหมายที่เห็นว่า อารมณ์เที่ยง
๒. อัปปณิตหิตวิโมกข์ พ้นจากการเข้าไปมีที่ตั้งว่า อารมณ์เป็นสุข 
๓. สุญญตวิโมกข์ พ้นจากการเห็นว่า อารมณ์เป็นอัตตา

จิตได้แยกตัวออกจากอารมณ์ด้วยอํานาจสัมมาสมาธิ จัดเป็นเจโตวิมุติ คือเข้าสู่เขตติดต่อระหว่างโลกียะกับโลกุตระ ซึ่งฝ่ายพระอภิธรรมเรียกว่า โคตรภู  ถ้าหากปฏิบัติต่อไปอีกด้วยความพากเพียรและเต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะแล้ว สัมมาสังกัปปะซึ่งเป็นมรรคองค์สุดท้าย ก็ย่อมทําหน้าที่ปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์เฉพาะ หน้าตามลําดับ จัดเป็นปัญญาวิมุติในพระศาสนานี้

ส่วนการปฏิบัติสมาธิในศาสนาอื่นนั้น มุ่งผลในทางให้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ จิตยึดถืออารมณ์อย่างแนบแน่น ปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น จึงเป็นเอกัคคตาอยู่ มีการนําพาผู้ปฏิบัติให้ไปดูนรก ดูสวรรค์ ดูเทวดา เห็นเทวดาแต่งตัวมีชฎา เห็นพระเจดีย์จุฬามณีคล้ายๆ กับพระปฐมเจดีย์ เห็นพระพุทธรูปปางต่างๆ เสด็จลงมาโปรด เห็นตัวเลขหวยเบอร์ เห็นจิตเป็นสีเหลือบใสๆ คล้ายสีปีกแมลงทับ เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างมโนภาพเข้ามายึดถือ แทนที่จะปัดอารมณ์ดังกล่าวเหล่านี้ ออกไปให้หมด ทําให้ยึดติดอยู่กับอารมณ์หนักยิ่งขึ้นไปอีก จึงไม่ใช่สัมมาสมาธิ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ 

ดังนั้น สมาธิในศาสนาอื่นจึงไม่ใช่บาทฐานที่ทําให้เกิดปัญญาเลย ผู้ที่หวังความพ้นทุกข์จึงต้องเพิก (เลิก) การเพ่งอารมณ์ภายนอกเสีย แล้วเปลี่ยนมาเพ่งอารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ แทนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ขึ้นชื่อว่าสมาธิแล้ว ย่อมเป็นครุกรรมฝ่ายกุศล ที่จะต้องให้ผลก่อนกรรมอย่างอื่นในภาคโลกียะนี้ ถึงแม้จะเป็นสมาธินอกพระศาสนาก็ตาม เพียงแต่ยังไม่พ้นทุกข์เท่านั้น

💖💖💖

เมื่อกล่าวถึงธรรมอันเป็นเครื่องออกจากทุกข์ คงหนีไม่พ้นอริยมรรคหรือมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมีสัมมาสมาธิเป็นใหญ่เป็นประธาน เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงทำให้ร่างกายส่วนต่างๆ นั้นบริบูรณ์ ฉะนั้น สมาธิ จึงมีชื่อเรียกหากัน ใช้แทนกันหลายชื่อ เช่น ภาวนาบ้าง กรรมฐานบ้าง สมถะบ้าง วิปัสสนาบ้าง เพ่งฌานบ้าง และอีกมากมาย เป็นการแตกแขนงออกไป เพื่อให้บุคคลที่มีกำลังจิตกำลังใจที่ยังไม่มากพอ  ได้เข้ามาสู่พุทธศาสนา ถึงจะภาวนากรรมฐานยังไม่ได้ สิ่งที่ทำลงไปนั้น ก็ไม่เป็นหมันอย่างแน่นอน อย่างน้อยก็ได้สร้างทาน รักษาศีล เจริญภาวนาบ้าง ตามโอกาสที่มีเป็นครั้งคราว ทั้งที่การเจริญภาวนานั้นเป็นการอบรมพัฒนาจิตของตนโดยตรงให้ดีขึ้น เมื่อจิตดีขึ้นย่อมทำให้กายวาจาดีขึ้นไปด้วย ทานที่ทำ ศีลที่รับไว้ ย่อมรักษาไว้ได้ตามไปด้วย 

ภาวนามยปัญญาหรือสัมมาสมาธิในพระพุทธศาสนา ย่อมมีความแตกต่างกันกับสมาธิที่มีอยู่ทั่วๆ ไป เพราะสมาธิเหล่านั้นได้มีอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติขึ้นมาในโลกเสียอีก ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงศึกษามาแล้วเกือบทั้งนั้น อาทิเช่น การบนบานศาลกล่าว สวดอ้อนวอนร้องขอเอา การตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการสวดมนต์ จนกระทั่งจิตตั้งมั่นเฉียดเข้าใกล้ฌาน การเอารูป-อรูปที่ปราศจากกามมาภาวนาจนกระทั่งเป็นรูปฌาน-อรูปฌาน ซึ่งสูงสุดที่ได้ก็เพียงแค่นั้น การทรมานตนให้รับความลำบาก สูงสุดก็ได้ตะบะจากการทรมานนั้น ไม่อาจหลุดพ้นหรือกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ได้เลย 

ส่วนสมาธิที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบนั้น เป็นสมาธิที่เกิดจากการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปจากจิตจนหมด กระทั่งจิตมีสติสงบตั้งมั่น มีปัญญาไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอกในจิตของตน จิตย่อมบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายได้ ด้วยประการ ฉะนี้แล เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันพระ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๔




Create Date : 21 ธันวาคม 2564
Last Update : 28 ธันวาคม 2564 21:25:50 น.
Counter : 596 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog