รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
27 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 
สิ่งที่ซ่อนในการเคลื่อนมือแบบหลวงพ่อเทียน

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม หลังจากทีได้ฝึกการเคลื่อนมือแบบหลวงพ่อเทียน
มาระยะหนึ่งแล้ว ผมไม่เคยพบหลวงพ่อเทียน จึงไม่ทราบว่าการที่ท่านสอนเคลื่อนมือ
แบบทำเป็นจังหวะ เคลื่อน-หยุด เคลื่อน-หยุด เพราะอะไร

ผมเคยถามพระสายวัดหลวงพ่อเทียน ไม่มีใครให้คำตอบที่เป็นประโยชน์
มีแต่ตอบว่า .ถ้าไม่ เคลื่อน-หยุด ก็ไม่ใช่เป็นจังหวะนะซิ โยม.
นอกจากนี้ พระบางรูป ยังตอบว่า ให้เคลื่อนไปเรื่อย ๆ ก็ได้
แต่ขอให้เป็นธรรมชาติของโยมเอง

แต่สิ่งที่ผมต้องการทราบคือว่า ทำไมต้อง เคลื่อน-หยุด ต่างหาก
แล้วการทำเป็นจังหวะ เพื่ออะไรกัน

ตอนที่ผมเห็น .จิต.เป็นดวงครั้งแรก ผมเห็นมันอยู่ภายในร่างกาย
ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยเห็นมาก่อนเลย แต่จิตที่เป็นดวงที่ผมเห็นนั้น
ก็ไม่ใช่ว่า จะเห็นกันง่าย ๆ เลยแบบเห็นหน้าจอคอมพิวเตอร์
เพราะมันเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ไม่สว่างเสียด้วย ต้องใช้ความสังเกต จึงจะเห็นได้ในครั้งแรก
แต่เมื่อเห็นได้ในครั้งแรกแล้ว ต่อไป การเห็นก็สบาย เห็นง่าย
เปรียบเหมือนกับว่า ท่านซื้อเสื้อใหม่มา มองไม่เห็นจุดตำหนิเล็ก ๆ บนผ้า
พอมีเพื่อนมาทักว่า เสื้อมีตำหนิเท่านั้น ท่านจะเห็นได้ ทีนี้มาเรื่องทีเดียว
เพราะทุกครั้งทีท่านหยิบเสื้อตัวนี้มาใส่ ท่านจะเห็นจุดติำหนินี้ก่อนทันที
ทั้ง ๆ ที่เสื้อทั้งตัวไม่มีตำหนิ ท่านไม่เห็น แต่ดันมาเห็นจุดเล็ก ๆ นี้

การเคลื่อนมือแบบ เคลื่อน-หยุด นี่ถ้าท่านเคลื่อน-หยุด ไปเรื่อยๆ
แต่ไม่เคยสังเกตเห็นความแตกต่างในความรู้สึกที่เกิดขึ้น
ในขณะที่เคลื่อน ในขณะที่หยุด
ท่านจะไม่มีการพัฒนาการของการเป็นคนช่างสังเกตความแตกต่างในเรื่องต่างๆ
แต่ถ้าท่านฝึกแล้ว เคลื่อน-หยุด แล้วสังเกตไป ท่านจะพบกับสิ่งธรรมดาที่ท่านเคยมองข้ามไป

ไอแซค นิวตัน เห็นแอ๊บเปิลหล่นลงมา จึงทำให้เกิดวิชาแรงโน้มถ่วงของโลก
ทั้งๆ ที่คนบนโลกทุกคนเป็นล้าน ๆ คน ก็เข้าใจว่า สิ่งของถ้าปล่้อยในที่สูง ย่อมตกลงสู่พื้นเสมอ
กลายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่มีใครสังเกต สงสัยว่า ทำไมมันถึงตกลงมาละ
จึงไม่เห็นความจริงเรื่องแรงโน้มถ่วงนี้

ในสภาวะธรรมก็เช่นกัน ถ้าท่านไม่เป็นคนช่างสังเกต ท่านจะไม่เห็นสภาวะธรรม
ทั้ง ๆ สภาวะธรรมก็ปรากฏอยู่ตลอดเวลาต่อหน้าท่านแล้ว แต่ท่านไม่สังเกตเห็นเอง
เช่นเดียวกับเรื่องแรงโน้มถ่วงที่ .ไอแซค นิวตัน.สังเกตเห็น

ผมเลยเข้าใจว่า การฝึก เคลื่อน-หยุด นี่ก็คือฝึกให้เป็นคนช่างสังเกต
แต่ถ้าท่านไม่เข้าใจ ก็จะฝึกแบบผ่าน ๆ ไป ไม่ได้มีการพัฒนาอะไร
เพราะครูบาอารย์ ท่านไม่ได้พูดไว้ พูดง่าย ว่า ให้รู้สึกตัวบ้าง ให้มีสติบ้าง
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การฝึกฝนที่บอกว่า เคลื่อนมือแบบหลวงพ่อเทียน
บางที่ ยังไม่มีการเน้นย้ำเรื่องการ เคลื่อน-หยุด อีกในยุคปัจจุบัน
ปล่อยให้ผู้ฝึกขยับมือไปแบบไม่รู้เรื่องอะไร
แถมขยับแบบรวดเร็วราวเครื่องยนต์รถยนต์ Twin cam 16 valve

ถ้าท่านสังเกตดู ในการฝึกฝนอย่างอื่น เช่น เดินจงกรม หลายสำนักก็สอน
ให้มีการหยุด เมือ่ถึงปลายทาง พอหมุนตัวกลับ ก็ให้หยุดอีก ก่อนการเดินต่อ

การหายใจ ก็เช่นกัน พอลมเข้าสุด จะมีจังหวะหยุดนิดหนึ่งอันเป็นธรรมชาติของการหายใจ
แล้ว ก็หายใจออกอีก พอสุดการออก ก่อนเข้าอีก ก็จะหยุดอีกเช่นกัน
ท่านต้องสังเกตแบบนี้ ไม่ใช่ ส่งจิตไปจับลมที่ปลายจมูกดังที่ผมเห็นตอบกันอย่างแพร่หลาย
ในอินเตอร์เนท

ถ้าเป็นอย่างนี้ การฝึกฝน ก็จะเหมือนการหยอดน้ำที่ใส่ไม่ตรงปากรูขวดเสียแล้ว
กว่าน้ำจะเต็มขวด ก็จะใช้เวลาเนิ่นนานออกไป จนทำให้คนหยอดน้ำเข้าขวด อาจ
ท้อใจไปก่อนที่น้ำจะเต็ม

บอกอีกครั้ง นี่เป็นความเห็นส่วนตัว ถ้า่ท่านอ่านแล้ว รู้สึกว่าช่างไร้สาระ
ก็ทิ้งมันไว้ใน blog ผมนี่แหละ
ถ้าท่านอ่านแล้ว ย้อนมาพิจารณาการฝึกของท่านเอง ท่่านก็นำสาระไปใช้ก็แล้วกัน
ผมให้ฟรี ๆ แต่ผมกลับได้มหาศาลจากการทำธรรมทาน

พระพุทธองค์บอกว่า ธรรมทาน เป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ กว่าการให้ทานทั้งปวง

*********

เรื่องท้ายบท...

หลวงพ่อที่สอนผมบอกว่า นิพพาน เห็นได้ด้วยการหยุด

ผมเคยได้ิยิน ท่านอาจารย์หญิงท่านหนึ่งสา่ยหลวงพ่อเทียนท่่านพูดว่า
จังหวะการหยุดเคลื่อนมือนี่ถึงขั้นตัดวัฏฏะกันเลยทีเดียว

นำคำพูดครูบาอาจารย์มาเล่าให้ฟังครับ คงเป็นปริศนาให้ติดตามค้นหากันเองต่อไป






Create Date : 27 มิถุนายน 2553
Last Update : 29 มกราคม 2555 16:08:53 น. 17 comments
Counter : 1838 Pageviews.

 
ทักทายวันหยุดครับ


โดย: pragoong วันที่: 27 มิถุนายน 2553 เวลา:8:51:26 น.  

 


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 27 มิถุนายน 2553 เวลา:9:57:24 น.  

 
ผมเองก็ได้ลองปฎิบัติตามแนวของ หลวงพ่อเหมือนกัน ก็รู้สึกว่า การมีสติ อยู่กับปัจจุบัน เพิ่มมากขึ้น ถ้าพิจารณาแบบการเกิด ดับ ไม่เที่ยง น่าจะเข้าใจสภาวะธรรมมากขึ้น


โดย: OxyMan วันที่: 27 มิถุนายน 2553 เวลา:10:26:16 น.  

 
ขอความกรุณาสอนวิธีเดินจงกลมด้วยค่ะ และต้องหยุดอย่างไร ขอแบบละเอียดหน่อยค่ะ
ตัวเองชอบเดินค่อนข้างเร็วค่ะ
ขอบคุณค่ะ


โดย: หลงทาง IP: 124.121.132.110 วันที่: 27 มิถุนายน 2553 เวลา:16:19:03 น.  

 
ผมจะเขียนในแบบที่ผมใช้ ฝากไว้พิจารณาเอาครับ

การเดินจงกรมก็คือ การเดินกลับไปกลับมา แต่ต้องมีความรู้สึกตัวประกอบด้วย
เวลาเดิน ให้เก็บมือโดยอาจใช้การจับข้อมือไว้ข้างหน้า แบบวัดป่าเขาทำกัน หรือ จะตับข้อมือไว้ข้างหลัง ก็ได้ หรือ จะเดินกอดอก ก็ได้ ตามถนัด
เวลาเดิน ก็ให้สบาย ๆ เหมือนเดินทอดน่อง เหมือนไม่มีธุระอะไรต้องทำ
(( คุณเคยไปเดินห้างไหมครับ ที่เดินไปดูของโชว์ตามหน้าร้านไป คล้าย ๆ แบบนั้น ))

เวลาเดิน ให้ตามองในระดับสายตา อย่ามองต่ำแบบตำราที่เขาสอน เพราะการมองต่ำ จะไปกดจิตทำให้ตื่นตัวช้า ตาให้เปิดขึ้นมาเฉย ๆ ไม่ได้จ้องมองอะไรเป็นพิเศษ (ลักษณะคล้าย ๆ กับคน 2 คนเดินคุยกัน ตาเขาจะไม่จ้องมองอะไรเป็นพิเศษ )

พอเดินสุดทาง ก็ให้หยุดสัก 2 ถึง 3 วินาที ในขณะที่หยุดให้สังเกตอาการหยุดว่า มันแตกต่างกับขณะเดินอย่างไร เพราะขณะเดิน ถ้าเดินแบบรู้สึกตัว จะมีความรู้สึุกได้ถึงการสั่นไหวของกล้ามเนื้อขา (แต่อย่าจ้องที่ขาเด็ดขาด ) พอหยุด การสั่นไหวของกล้ามเนื้อขา ก็จะหยุดลง ให้สังเกต
อาการแตกต่างระหว่างมีการสั่นไหว และไม่มีการสั่นไหว
สำหรับ เรื่องการสั่นไหว กล้ามเนื้อขา ขอให้อ่านที่
หลักการเบื้องต้นของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแบบชาวบ้าน
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=09-2009&date=02&group=1&gblog=83
ขอให้ทดลอง ท่าเตะอากาศ ่ก่อนเพื่อจะได้เข้าใจ การรับรู้การสั่นไหวที่กล้ามเนื้อว่า มีอาการอย่างไร

เมื่อสุดทาง หยุดแล้ว ก็กลับหลังหันตามสบาย ไม่ต้องเคร่งครัดแบบทหาร
ก็ได้ครับ แล้วหยุดสัก 2 - 3 วินาที สังเกต อาการหยุดไหว
พอเริมเดินไหม่ ให้สังเกตการสั่นไหวของกล้ามเนื้อขา ว่า มันต่างกับตอนหยุดอย่างไร

ให้เดินแบบนี้ไปมาตามสบาย แต่การสังเกตการสั่นไหว การหยุดนี้
คุณต้องทำแบบสบาย ๆ เหมือนทำำเล่น ๆ ไม่จริงจังอะไร
พอเดินไปเรื่อยๆ บ่อย ๆ ก็จะเกิดการเคยชินที่่จะสังเกตอะไรเอง
อันเป็นอัตโนมัต

ขอย้ำจุดสำคัญ
1. ให้เดินสบาย ๆ ไม่รีบเร่ง และต้องมีความรู้สึกตัว
2. ขณะเดิน ให้สังเกต การสั่นไหวของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นเมื่อเดิน
3.. ขณะหยุดเดิน ให้สังเกต การหยุดการสั่นไหวที่กล้ามเนื้อขา
4.. ตา อย่ามองลงต่ำ ให้ลืมตาธรรมดา มองในระดับสายตา ไม่ต้องจ้องมองอะไรเป็นพิเศษ


โดย: นมสิการ วันที่: 27 มิถุนายน 2553 เวลา:18:04:59 น.  

 
ขอเพิ่มเติม

ขณะเดิน อย่าคิดอะไร ขอให้รู้สึกตัวไว้ อันนี้สำคัญ
ถ้าเกิดความคิดอะไรขึ้นมา อย่าได้ใส่ใจ
มันปัดทิ้งทันที แล้วให้เดินต่อไป ด้วยความรู้สึกตัว

การเดินจงกรม คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
อย่าเอาเรื่อง ดูุิจิต หรือ อื่น ๆ เข้ามาปน
ในขณะฝึกฝน


โดย: นมสิการ วันที่: 27 มิถุนายน 2553 เวลา:18:18:29 น.  

 
เรียนสอบถามเรื่องการเคลื่อนไหวมือแบบหลวงพ่อเทียนครับ
ผมเคยไปขอเรียนจากพระที่วัด... ท่านก็สอนจังหวะมือให้ 14 จังหวะ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไร เวลาผมทำผมก็งงๆครับ ลืมตา เคลื่อนไหวมือ เคลื่อน-หยุด เคลื่อน-หยุด สักพักก็เบื่อครับ รบกวนอาจารย์แนะนำหน่อยครับ ว่าขณะเคลื่อนมือ ต้องวางความรู้สึก หรือใจแบบไหน ต้องจับความรู้สึกมือขณะเคลื่อนไหวไม่ให้ขาดตอนจนหยุด แล้วก็เริ่มใหม่ อย่างนี้ใช่หรือเปล่าครับ หรือเคลื่อนมือเล่นๆ จับแต่ความรู้สึกหยุดอย่างเดียว

เวลาขับรถผมก็ยกมือขวาขึ้นลง รู้เวลามือหยุด อย่างนี้ถูกหรือเปล่าครับ

ขอบคุณครับ


โดย: pisith IP: 180.180.104.229 วันที่: 27 มิถุนายน 2553 เวลา:20:22:20 น.  

 
คุณ pisith ถามได้ดีครับ
สิ่งที่เป็นปัญหามาก ๆ ของคนฝึกก็คือ พระท่านไม่สอนอะไรมาก
เลยเป็นอย่างที่คุณเป็น .การวางใจ หรือ วางความรู้สึก.
นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ยิ่งใหญ่่มาก ถ้าใครวางใจเป็น จะไปได้เร็วมาก ๆ
การวางใจที่ถูกต้องก็คือ .ต้องเป็นธรรมชาติของคุณเอง.
ถ้าผมเขียนแค่นี้ คุณจะไม่เข้าใจ คุณต้องช่วยตัวเอง ด้วยการหา
วิธีวางใจ ซึ่งผมจะบอกวิธีให้คุณหาเอง เพราะผมคาดว่า แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน วิธีการก็คือ คุณต้องทำอะไรสักอย่างทีง่าย ๆ ก่่อน เพื่อหา.จุดวางใจ. ของคุณเอง เช่น ที่บ้านคุณมีเก้าอี้พลาสติกที่ใช้นั่งไหมครับ (น่่าจะมี)
เก้าอี้แบบนี้ น้ำหนักไม่มากครับ วิธีการก็คือ ผมขอให้คุณลองยกเก้าอี้เล่น
จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งของห้อง แต่ต้องมีระยะพอสมควร เช่นสัก 2-3 เมตรขึ้นไป พอคุณยกเก้าอี้แล้วเดิน ขอให้สังเกตความรู้สึกสภาพจิตใจตนเองว่าเป็นอย่างไร ถ้ามองไม่ออก ก็ยกอีก ยกหลาย ๆ เที่ยว แล้วค่อย ๆ สังเกตอาการ.การวางใจ.ของคุณเอง ถ้าคุณพบว่า นี่ใช้แล้ว คุณจะรู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติมาก ทดสอบให้แน่ใจว่า ใช่อย่างนี้แน่ จากนั้น เวลาฝึกเคลื่อนมือ ก็ให้วางใจแบบตอนยกเก้าอี้
แต่จากประสบการณ์ของผม ผมพบว่า เวลาฝึกเคลื่อนมือ จะวางใจไม่เหมือนตอนเป็นธรรมชาติ แต่ไม่เป็นไรครับ ถึงไม่เหมือน แต่ให้ัมันคล้ายที่สุด แล้วฝึกไปบ่อย ๆ มันก็จะได้ผลเหมือนกัน แล้วความชำนาญก็จะค่อย ๆ เกิดขึ้นเอง คือ คุณจะปรับตัวของคุณเอง ทีละนิด ทีละินิด เพื่อเข้าสู่ความเป็นธรรมชาติของคุณเอง

เวลาตอนฝึก เมื่อวางใจเป็นธรรมชาติของคุณเอง ขอให้รับรู้อยางเป็นธรรมชาติ ของการเคลื่อนของมือ ของการหยุดเคลื่่อน ของการสัมผัสเวลาฝ่ามือลูบไปตามลำตัว ซึ่งจะรู้สึกได้ แต่ใหม่ ๆ จะรู้สึกได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
เพราะสติยังอ่อน ก็ขอให้อดทนฝึกไปเรื่อย ๆ ก็จะดีขึ้นเอง

สำหรับเบื่อ ผมก็เบื่อครับ แต่ผมแก้ด้วยการเปิดเพลงฟัง หาเพลงบรรเลงที่ฟังแล้วสบาย ๆ ไม่เครียด อย่างผมชอบเสียงเปียโน เพลงคริสมาต์ ผมก็หาเพลงพวกนี้มาเปิดฟัง แต่ถึงเปิด ก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง แต่จะช่วยให้หายเบื่อได้

สำหรับเวลาขับรถ แล้วยกมือ แ้ล้วรู้สึกได้ว่า มือหยุด อย่างนี้ก็ถูกครับ
แต่เวลาขับรถ อย่าฝึกเลยครับ มันอันตราย ยกเว้นตอนติดไฟแดง อย่างนี้ฝึกได้

****หลักการสำคัญในการฝึกก็คือ****
1.ต้องมีความรู้สึกตัวอยู่
2.สมควรรับรู้ความรู้่สึกที่เกิดขึ้นของการเคลื่อน การหยุดเคลื่อน การสัมผัสที่หน้าอกเวลาลูบตัว เวลารับรู้นี้ อย่าไปจ้องมือเด็ดขาด เพียงแต่รับรู้ความรู้สึกก็พอ ซึ่งความเป็นธรรมชาติแล้ว เวลารู้สกตัว จะรับรู้ได้เอง โดยไม่ต้องจ้องเลย เช่น คุณกำลังขับรถ เวลารถวิ่ง มีการกระเืทือน คุณก็รับรู้ได้เองใช่ใหมครับ โดยที่คุณไม่ต้องไปจ้องเลย

ถ้าอ่านไม่เข้าใจจุดใด ให้ถามมาได้อีกครับ ยินดีตอบให้จนกว่าจะเข้าใจ

การเข้าใจในการฝึกฝน จะทำให้ไปได้เร็วกว่า การไม่เข้าใจครับ


โดย: นมสิการ วันที่: 27 มิถุนายน 2553 เวลา:21:05:17 น.  

 
เพิ่มเติมครับ

เมื่อคุณ pisith หาจุดวางใจได้แล้ว อาจลองก่อนแบบฉบับย่อ
ให้วางมือบนหน้าตัก (จังหวะ 1) แล้วพลิกมือขึ้น-แล้วหยุด (จังหวะ 2) แล้ว ก็คว่ำมือลง-แล้วหยุด (จังหวะ 3 ) แค่ 3 จะหวะดูก่อน

ผมพบว่า ฉบับย่อแบบนี้ จะรู้สึกเป็นธรรมชาติได้ดีกว่า การเคลื่อนมือครบชุด
อาจหัดแค่ฉบับย่อก่อนก็ได้สักระยะหนึ่ง พอเข้าใจเรื่องการวางใจแล้ว
ค่อยใช้ฉบับเต็ม

หมายเหตุ การเคลื่อนมือแบบหลวงพ่อเทียนนั้น ต้องเป็น 15 จังหวะ ไม่ใช่ 14 จังหวะ เพราะท่าเตรียมตัวที่นังเตรียมพร้อม
ก่อนการพลิกมือ ให้นับเป็นท่าที่ 1 ครับ


โดย: นมสิการ วันที่: 27 มิถุนายน 2553 เวลา:21:12:24 น.  

 
หยุด...เพื่อรู้ ขอบพระคุณมาก ๆ จะแวะมาอ่านเสมอ ๆ นะ เป็นบล็อคที่มีประโยชน์ อ่านเข้าใจง่าย ชัดเจน เปลี่ยน สาธุ๊....


โดย: *~ต้นกล้า...ของหัวใจ~* วันที่: 28 มิถุนายน 2553 เวลา:11:00:52 น.  

 
ขอบคุณมากครับ


โดย: Pisith IP: 125.25.30.152 วันที่: 28 มิถุนายน 2553 เวลา:21:51:25 น.  

 
ขอบคุณค่ะ
จะพยายามค่อไป


โดย: หลงทาง IP: 124.121.126.10 วันที่: 29 มิถุนายน 2553 เวลา:7:02:32 น.  

 
ขอสอบถามคุณนมสิการหน่อยนะคะ...จุดวางใจที่แจ้งไว้ คือจุดรวมของการรู้หลายๆ อย่างทั้งภายในและภายนอกใช่ไม๊คะ...รู้เบาๆ ค่ะ คือตอนฝึกในรูปแบบ แรก ๆ จะเป็นแบบ เพ่งๆ นะคะ คือเริ่มรู้ที่ละจุดก่อน เช่นการเคลื่อนมือ การกระพริบตา ความร้อนเย็น ต่อจากนั้นไปซักพักนึงจะการรู้เค้าจะกระจายไปทั่วร่างกาย เกิดอาการรู้รวมๆ รู้เบาๆ ค่ะ อันนี้เรียกว่าจุดวางใจใช่ไม๊ค๊ะ ถ้าไม่ใช่ รบกวนอธิบายอาการของจุดวางใจหน่อยนะคะ มีอาการอย่างไร (เอาไว้สังเกตตัวเองค่ะ) อ้อ...เพลงบรรเลงช่วยได้จริงๆ ค่ะ เพราะใช้อยู่เหมือนกันเวลาเบื่อๆ ขอบคุณมากๆ ค่ะ


โดย: ตั้งใข่ IP: 222.123.195.196 วันที่: 29 มิถุนายน 2553 เวลา:7:39:56 น.  

 
-แวะมาอ่านแล้วหลายครั้งค่ะ
-ส่วนตัว ไม่เคยฝึกด้วยอุบายแบบหลวงพ่อเทียนสักครั้ง
แต่ชื่นชมในองค์ท่าน ที่บรรลุธรรมได้แม้อ่านหนังสือไม่ได้ค่ะ ทั้งหมด ก็เนื่องจากอิทธิบาท4 ที่เต็มเปี่ยมของท่าน
เหมือนที่คุณ นมสิการ ได้ถ่ายทอด ให้มีจิตตะ และ วิมังสา ในการกระทำ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำตามๆเขาไป

"ในสภาวะธรรมก็เช่นกัน ถ้าท่านไม่เป็นคนช่างสังเกต ท่านจะไม่เห็นสภาวะธรรม ทั้ง ๆ สภาวะธรรมก็ปรากฏอยู่ตลอดเวลาต่อหน้าท่านแล้ว แต่ท่านไม่สังเกตเห็นเอง"
มาอนุโมทนา และ รออ่านตอนต่อไปค่ะ


โดย: mcayenne94 วันที่: 29 มิถุนายน 2553 เวลา:9:19:17 น.  

 
ตอบคุณตั้งใข่

จุดวางใจ ก็คือ จุดที่ .จิตรู้. มันจะอยู่ครับ
ถ้าคุณปฏิบัติแล้วไม่เพ่งเลย คือ เพียงรู้สึกตัวเท่านั้น จะรู้สึกได้ว่า
การรู้นั้นได้กระจายออกไปทั่วร่างกาย และก็ไม่รู้ว่า มันอยู่ตรงไหน

แต่ถ้าเมื่อไร ที่เกิดการเพ่งขึ้น จิตรู้ จะเกิดการรวมตัวกันและรู้สึกได้ถึ
การเป็นพลังงานที่เป็นกลุ่มก้อน จะปรากฏอยู่ ซึ่งตำแหน่งการปรากฏก็จะ
ไม่เหมือนเดิม ขึ้นกับแต่ละบุคคล และการเพ่งว่า เพ่งไปที่จุดใด

ผมจะยกตัวอย่างของผม เวลาผมคิด จิตรู้ ของผมจะปรากฏเป็นก้อนพลังงานปรากฏที่บริเวณใบหน้า ซึ่งผมรู้ไ้ด้ แต่เมื่อก่อนนี้ ผมก็มองไม่ออกครับ อาศัยการฝึกฝน ที่มีประสบการณ์มากเข้าเรื่อย ๆ ก็เลยมองออก

ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง ถ้าไม่เพ่ง แต่เพียงรับรู้เพราะรู้สึกตัว จะรู้สึกว่า
เกิดกายเบา จิตเบา แต่ถ้าเพ่ง จะรู้สึกได้ถึงความหนักที่ปรากฏขึ้น


โดย: นมสิการ วันที่: 29 มิถุนายน 2553 เวลา:10:35:19 น.  

 
สา.....ธุ ขอบคุณค่ะ..ชัดเจนดีจังเลยค่ะ...


โดย: ตั้งไข่ IP: 222.123.195.196 วันที่: 29 มิถุนายน 2553 เวลา:10:48:25 น.  

 
ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท
ที่อาจมีสิ่งผิดกฏหมายใส่เข้ามาใน blog

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน


โดย: นมสิการ วันที่: 29 มกราคม 2555 เวลา:16:38:43 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.