Group Blog
สิงหาคม 2554

 
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
1 สิงหาคม 2554
Peranakan Museum @ Singapore
วันนี้จะพาไปพิพิธภัณฑ์ที่ใหม่ที่สุดของสิงคโปร์ครับ เป็น Ethic Group Museum หรือเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะกลุ่มครับ


Peranakan Museum



Photobucket



ผมหลงไหลวัฒนธรรมเปรานากันตั้งแต่ตอนที่ได้ชมซี่รีย์เรื่อง Little Nonya ทางช่อง PBS ในเรื่องจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ 3 ประเทศคือ จังหวัดภูเก็ต มาเลเซีย และสิงคโปร์ เนื้อเรื่องเป็นยังไงคงไม่เล่านะครับ แต่ตามท้องเรื่องแล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกันชีวิตของสาวชาว Nonya ทั้งเรื่อง

เดี๋ยวเรามารู้จักชาว Nonya ว่าเค้าคือใคร นะครับ


อาคารแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ Armenain Street ครับ สถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดก็ City Hall กับ Bras Basah ครับ ระยะทางการเดินจะเท่าๆกันครับ ยังไม่ทันเหนื่อยก็ถึงแล้วครับ



Photobucket



เมื่อก่อนเคยเป็นโรงเรียนจีนเก่าท่ามกลางชุมชนชาวฮกเกี้ยน ชื่อว่า โรงเรียน Tao Nan หรือ Daonan Xuexiao

ในสมัยที่อยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษได้จัดการศึกษาให้กับเด็กๆชาวอังกฤษ และ มาเลย์เท่านั้น สำหรับเด็กชาวจีน และ ชาวทมิฬ ชุมชนชาวชาวจีน และ ชาวทมิฬจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการศึกษาของเด็กๆเอง ดั้งพวกสมาคมตระกูลต่างๆจึงได้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่เด็กของตน โรงเรียน Tao Nan ก็เช่นเดียวกัน

ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 1906 สมาคม Hokkien Huay Kuan ได้ตั้ง Daonan Xuetang ขึ้นโดยการนำของ Tan Kah Kee Tan Kah Kee ได้ทำการเรี่ยไรเงินบริจาคเพื่อทำการก่อสร้าง มีผู้บริจาครายใหญ่หลายรายเช่น Oei Tiong Ham นักธุรกิจรายใหญ่ บริจาคเงินถึง 10,000 เหรียญ เพื่อให้การสร้างโรงเรียน Tao Nan เกิดขึ้นจริงๆ ผลที่ได้ก็คืออาคารโรงเรียนเป็นตึกที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ในสไตล์ French – Renaissance รูปแบบกรสร้างก็จะคล้ายๆตึกของโรงแรม Raffles เป็นอาคารไม่กี่หลังในสิงคโปร์ที่มีปีกทั้ง 2 ข้างเป็นอาคารทรง 8 เหลี่ยม อาคารหลังนี้เสร็จสิ้นในปี 1912 และได้ตั้งชื่อโรงเรียนว่า Daonan Xuexiao หรือ โรงเรียน Tao Nan

โรงเรียน Tao Nan เป็นโรงเรียนชายล้วน ครั้งแรกที่เปิดรับนักเรียนมีนักเรียน 90 คน เป็นสถาบันการศึกษาแบบใหม่ให้แก่ชุมชนชาวจีน ถึงแม้ว่าโรงเรียนจะได้รับการสนับสนุนหลักมาจากชุมชนชาวฮกเกี้ยน แต่ว่าโรงเรียนนี้ก็เปิดรับเด็กนักเรียนชาวจีนเป็นการทั่วไป โดยภาษากลางที่ใช้ในโรงเรียนคือภาษาจีนกลาง ซึ่งค่อนข้างแตกต่างไปจากโรงเรียนฮกเกี้ยนทั่วไปที่จะสอนแต่ภาษาฮกเกี้ยน

โรงเรียน Tao Nan ได้สอนหนังสืออย่างครอบคลุมมากๆ ทั้งการสอนแบบโบราณ และ การสอนวิชาสมัยใหม่เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ร้องเพลง และ พละศึกษา จนในปี 1914 จึงได้เริ่มสอนวิชาภาษาอังกฤษ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรเรียนนี้ก็ได้ปิดตัวลง โรงเรียนได้ถูกครองครองโดยญี่ปุ่น และเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามในปี 1945 โรงเรียนก็ได้กลับมาเปิดอีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มรับนักเรียนหญิงด้วย ในปี 1958 ได้กลายเป็นโรงเรียนรัฐบาล ได้รับทุนอุดหนุนจากรัฐบาล

ภายหลังเมื่อสิงคโปร์ได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษก็ได้มีการพัฒนาทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและการก่อสร้างเป็นอย่างมาก ผู้คนต่างก็ย้ายออกจากบ้านไปอยู่ในพื้นที่ที่เป็นส่วนที่อยู่อาศัยไกลออกไป ทำให้จำนวนนักเรียนลดลงอย่างมาก ในปี 1975 คณะกรรมการของโรงเรียนซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สมาคม Hokkien Huay Kuan ได้มีมติให้สร้างโรงใหม่บริเวณ Marine Parade โดยสร้างเสร็จในเดือนธันวาคม 1981 และเริ่มเปิดในในปี 1982 โดนมีตั้งหมด 28 ชั้นเรียนโดยนักเรียนบางส่วนก็เป็นนักเรียนที่ย้ายมาจากโรงเรียนใกล้เคียงด้วย ภาษากลางที่ใช้ในโรงเรียนเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้เป็นไปตามแนวทาง Modernized Singapore

โรงเรียน Tao Nan หลังเก่าตกเป็นของ National Heritage Board และทำการปรับปรุงจนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่ทันสมัย และเปิดให้บริการในปี 1994 และได้ประกาศให้อาคารนี้เป็น National Monument


Photobucket


Photobucket


Photobucket


Photobucket


Photobucket


Photobucket



พิพิธภัณฑ์ค่าเข้าชม 6 เหรียญครับ


Photobucket


เดี๋ยวเราดูแผนที่ก่อนครับ


Photobucket


ห้องแรกเป็นประวัติความเป็นมาของชาว Nonya ครับ ทีนี้เราจะได้รู้ว่าพวกเขาเป็นใครกันครับ

ชาวเปรานากัน หรือ Peranakan ถือว่าเป็นภาพสะท้อนที่ดีที่สุดของประเทศสิงคโปร์แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวเปรานากันจะมีทั้งชาวเปรานากันที่เป็นลูกครึ่งจีน ลูกครึ่งอินเดีย และอื่นๆอีกมาก

ที่มาของชาวเปรานากันมาจากการที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งการค้าสำคัญทั้งผ้าไหม และเครื่องเทศ จริงๆแล้วคำว่า “เปรานากัน” นั้นหมายถึง “เป็นลูกของ” หรือ “เกิดโดย”

ใช้เรียกเหล่าลูกครึ่ง ลูกผสมเช่น ยาวีเปรานากัน มีเชื้อสายมาจากมุสลิมอินเดียที่เดินทางมาค้าขาย และ ชาวจีน โดยมากจะมีที่อยู่แถบชวา สุมาตรา และ แถบมาเลเซีย

บาบ๋า - ย่าหย๋า ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดเห็นจะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีบิดาเป็นชาวจีน และมีมารดาเป็นคนพื้นเมืองบนคาบสมุทรมะละกา นอกจากนั้นก็ยังมี บาบ๋า - ย่าหย๋า อีกหลายกลุ่มที่เราไม่เคยได้รู้จักเช่น บาบ๋า - ย่าหย๋า ที่อยู่ในชวา สุมาตรา บาหลี ศรีลังกา หรือแม้แต่ประเทศฟิลิปปินส์ก็มีครับ

คำว่า “บาบ๋า” จะหมายถึงชาวเปรานากันทั้งหมด และ โดยเฉพาะชาวเปรานากันที่เป็นผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะเรียกว่า “ย่าหย๋า” โดยส่วนมากแล้วเราจะเป็นคำสองคำนี้คู่กันไปตลอด “บาบ๋า - ย่าหย๋า”

ชุมชนชาวเปรานากันในคาบสมุทรมะละกานับย้อนไปจนถึงศตวรรษที่ 17 ตั้งแต่มะละกาตกอยุ่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส และพวกฮอลันดา เมื่ออังกฤษเริ่มเข้ามาเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 ก็ได้ชักชวนให้ชาวเปรานากันเข้ามาทำการค้าขาย

ห้องนี้จะเป็นภาพ portrait ของบรรดาผู้สืบเชื้อสาย Nonya จากที่ต่างๆ มาเล่าความประทับใจที่เกิดเป็นคน Nonya


Photobucket


Photobucket


Photobucket


Photobucket


Photobucket


Photobucket



เราขึ้นไปชมต่อที่ชั้น 2 กันครับ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นอกจากจะบอกเราว่าชาว Nonya มีที่มายังไง อยู่ที่ไหนกันบ้างแล้ว ยังบอกเล่าความเป็นอยู่ของชาว Nonya ผ่านสิ่งของที่จัดแสดงอยู่ด้วย

สิ่งที่เป็นหน้าเป็นตาของคน Nonya ก็เห็นจะเป็นงานแต่งงานครับ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงมีเรื่องราวการแต่งงานของชาว Nonya เยอะมากๆครับ

สิ่งที่สำคัญนอกเหนือสิ่งอื่นใดของการแต่งงานของชาว Nonya เห็นจะไม่พ้นชุดแต่งงานของเจ้าสาว Nonya ครับ

ในช่วงศตวรรษที่ 18 – 19 การแต่งงานของชาวเปรานากันในมาเลเซีย สิงคโปร์ ถือว่าเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ การแต่งงานของชาวเปรานากันเป็นการรวม 2 ครอบครัว และถือชื่อตระกูลเป็นใหญ่ ดังนั้นการแต่งงานของชาวเปรานากันจึงเป็นการส่งผ่านสิ่งดีๆจากครอบครัวไปสู่เจ้าบ่าวเพื่อนำไปสร้างครอบครัวใหม่ โดยงานแต่งานแบเต็มรูปแบบของชาวเปรานากันกินเวลาถึง 12 วัน


การแต่งงานเริ่มด้วยการหาฤกษ์หายาม จะต้องเป็นวันและเวลาที่ดีที่สุดในรอบปี และต้องสัมพันธ์กับ Pek ji ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว Pek ji ก็คือเวลาตกฟากนั่นเอง ตามธรรมเนียมจีนเวลาตกฟากจะเขียนออกมาเป็นอักษรจีน 8 คำ แสดงถึง วัน และ เวลาเกิด

สีที่เป็นมงคลในงานแต่งงานได้แก่สี แดง ชมพู ส้ม เหลือง และทอง จะถูกนำมาประดับตกแต่ง ทั่วไปเพื่อให้คู่แต่งงานมีชีวิตสมรสที่ดี

ชาวเปรานากันที่เป็นชาวจีนเชื่อว่า สิ่งที่ดีมักจะมาเป็นคู่ เพราะฉะนั้นสิ่งของที่นำมาประกอบในงานแต่งงานมักจะเป็นคู่ๆ

ในพิธีแต่งงานเจ้าสาวมักจะใช้โอกาสนี้ในการโชว์ว่าเป็นแม่บ้านแม่เรือนได้ขนาดไหน โดยการโชว์งานปักลูกปัดเป็นรองเท้า กระเป๋าถือ การถักผ้าลูกไม้ เป็นการให้ได้รับการยอมรับจากครอบครัวของสามี

การแต่งงานโดยมากแล้วจะใช้แม่สื่อ โดยจะมีผู้ที่อาวุโสสูงสุดของแต่ละฝ่ายเป็นคนตัดสินใจขึ้นสุดท้าย

เครื่องประดับในงานแต่งงานชาวเปรานากันนับได้ว่าเป็นสิ่งที่มีชื่อเสียงมาก โดยปกติแล้วฝ่ายเจ้าสาวจะมีการแต่งกายที่หรูหราฟู่ฟ่ามากกว่าฝ่ายเจ้าบ่าว


เครื่องประดับจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ท้องถิ่น ในปีนังหมวกสวมศรีษะเจ้าสาวจะเป็นเงิน ประดับตกแต่งเป็นรูปร่างต่างๆ ประดับด้วยขนนก kingfisher ในขณะที่เจ้าสาวชาวสิงคโปร์และมะละกา จะประดับตกแต่งผมด้วยปิ่นปักผมที่มีรูปร่างเหมือนกับมงกุฎอยู่บนมวยผม

สิ่งของที่เป็นมงคลต่างๆ ถูกนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับศรีษะเช่น มงคลทั้ง 8 ตามความเชื่อจีน ปลา สัตว์ทะเล แมลง นก และดอกไม้ต่างๆ เจ้าสาวมักจะมีผ้าคลุมหน้า ส่วนมากจะเป็นผ้าไหม คลุมตั้งแต่หน้าผากปลายข้างหนึ่งติดกับเครื่องประดับศรีษะ ซึ่งมีรูปเทพเจ้าแห่งความมีอายุยืนนั่งอยู่บนนกกระเรียน สำหรับชาวเปรานากันที่นับถือศาสนาคริสต์จะมีแถบเครื่องเงินลายดอกไม้แทนรูปเทพเจ้าต่างๆ และมีระย้าสายละข้างห้อยต่อจากแถบเงินนี้อีกที

ในบางครั้งเจ้าสาวจะประดับผมด้วยปิ่นปักผมอันใหญ่ทำเป็นรูปมังกรและหงส์ ที่เรียกว่า thau tok เป็นสัญลักษณ์ของจักพรรดินี Dawanger แห่งจีน และเป็นส่วนหนึ่งของธรรมเนียม raja sehari ที่ถือว่าเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเป็นกษัตริย์ และ ราชินีในวันแต่งานของตัวเอง

เจ้าสาวมักจะใส่ตุ้มหูที่เป็นตุ้มหูระย้ามีลักษณะคล้ายสร้อยคอ และเข็มกลัดเสื้อแผ่ขนาดเท่าหน้าอกจนถึงไหล่ ทำเป็นรูปที่เป็นมงคลต่างๆ บางครั้งก็ประดับพลอย

ในวันที่ 1 ของการแต่งงาน เจ้าสาวจะคลุมหน้าคลุมตา แทบจะไม่เห็นตัว นิ้วทั้ง 10 ใส่แหวนครบทั้ง 10 นิ้ว

ครอบครัวชาวเปรานากันส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องแต่งกายในวันแต่งงานแบบครบถ้วน แต่ได้ไปเช่ามาจากตระกูลผูดีมีเงินโดยผ่านคนปะกอบพิธี ครอบครัวที่ร่ำรวยสวยใหญ่ก็จะให้เช่าชุดแต่งกายเจ้าสาวเป็นอาชีพเสริมด้วย

จริงๆของที่จัดแสดงในหมวดนี้ยังมีอีกมากนะครับ เผอิญว่าเค้าไมให้ใช้แฟลช รูปที่ถ่ายมีชัดๆน้อยครับ นอกนั้นเบลอหมด อิอิ

นอกจากเครื่องแต่งตัวแล้วเจ้าสาว Nonya ยังต้องเตรียมเครื่องใช้ส่วนตัวที่จำเป็นเพื่อเริ่มครองครัวใหม่อีกมากครับ ก็คงคล้ายๆกับธรรมเนียมจีนน่านแหละครับ

นอกจากจะต้องเตรียมของแต่งตัวในวันงาน ของใช้ที่จำเป็นแล้ว ยังต้องเตรียมของแต่งตัวต่างๆในชีวิตประจำวันเพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้แก่พ่อ แม่ ของเจ้าสาวด้วยครับ

ของที่นำมาเข้าร่วมในพิธีแต่งงานส่วนใหญ่จะเป็นของที่มีชื่อเป็นมงคล และที่สำคัญจะต้องเป็นเลขคู่ครับ

และสิ่งที่ขาดไม่ได้และถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าสาว Nonya ก็คือ ของใช้ส่วนตัวที่ปัดด้วยลูกปัดลูกเล็กๆ เป็นลวดลายสวยงาม อันเป็นสิ่งแสดงฝีมือของเจ้าสาวว่าพร้อมที่จะเป็นแม่บ้านแม่เรือน ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า กระเป๋า เครื่องใช้ส่วนตัวชิ้นเล็กชิ้นน้อย รวมไปถึงการทอพรม ที่มีลวดลายซับซ้อน สวยงาม


Photobucket


Photobucket


Photobucket


Photobucket


Photobucket


Photobucket


Photobucket


Photobucket


Photobucket


Photobucket


ห้องถัดไปเป็นหุ่นจำลองขบวนแต่งงานของชาว Nonya ครับ

ขบวนนี้เป็นขบวนรับตัวเจ้าสาว จากบ้านเจ้าสาวไปยังบ้านเจ้าบ่าวในวันที่สามของการแต่งงานซึ่งจัดขึ้นทั้งหมด 12 วัน

ขบวนแต่งงานนี้ได้รับเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเลย์ที่เรียกว่า raja sehari มาใช้ โดยถือว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาวเป็นเชื้อพระวงศ์ในวันแต่งาน

ขบวนนี้จะเริ่มด้วย คนถือโคมที่เขียนแซ่ของทั้งบ่าวสาวไว้บนโคม คนถือโคมนี่เรียกว่า Pak Boyen การถือโคมที่เขียนแซ่ของบ่าวสาวก็เพื่อจะประกาศว่าบ่าวสาวที่มาจากแซ่นี้ได้แต่งงานกันแล้ว

ต่อมาผู้ที่อยู่ข้างหลังเจ้าบ่าวคือ Pak Chindek ประมาณว่าเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวครับ ส่วนมากแล้วจะต้องเป็นคนมาเลย์ถึงจะทำหน้าที่นี้ได้ครับ

ผู้หญิงที่อยูด้านหลังเจ้าสาวก็คือเพื่อนเจ้าสาวครับ เรียกว่า Sang Khek Umm จะต้องทำหน้าที่บอกทางให้เจ้าสาว เพราะว่าเจ้าสาวสวมผ้าคลุมหน้าและเครื่องทองหยองเต็มไปหมดมองไม่เห็นทางครับ

ส่วนเด็กๆ 1 คู่ที่แต่งตัวเหมือนเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเราเรียกว่า Page Boy กับ Page Girl ครับ

ปิดท้ายขบวนด้วยเหล่าสาวๆที่เป็นญาติสนิท งานแต่งงานใหญ่ๆจะมีเหล่าสาวๆร่วมขบวนถึง 50 คนครับ สาวๆเหล่านี้จะแต่งกายด้วยเสื้อแบบที่เรียกว่า baju pangjang จะเป็นเสื้อตัวยาวๆ และนุ่งสโร่ง ทำนองว่าเป็นชุดอกงานครับ



Photobucket


Photobucket


Photobucket



นอกจากจะมีเรื่องเกี่ยวกับงานแต่งงานของชาว Nonya แล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีเรื่องเกี่ยวกับชาวนอนย่าที่น่าสนใจหลายเรื่องเลยครับ เช่นเรื่องในชีวิตประจำวัน ข้าวของเครื่องใช้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเรือนทั่วไป หรือเครื่องเรีอนที่เฉพาะเจาะจง


Photobucket


Photobucket


Photobucket


หรือจะเป็นอุปกรณ์ต่างที่ใช้ในครัวเรือนอย่างเช่น "ก๋ำเฉ่ง" หรือ "Kam Cheng" จากซีรีย์เรื่อง Little Nonya : บาบ๋า - ย่าหย๋า หัวใจรักดวงน้อย ผมจำได้ว่านางเอกมีของที่รักมากๆที่ตกทอดมาตั้งแต่คุณยาย มาถึงคุณแม่ และตังของเธอเองก็คือ "ก๋ำเฉ่ง" นี่แหละครับ

"ก๋ำเฉ่ง" เป็นภาชนะเครื่องเคลือบแบบมีฝาปิด เป็นที่นิยมมากในหมู่ชาวปรานากัน ส่วนมากเป็นเครื่องเคลือบสีน้ำเงิน ขาว หรือบางทีก็ทำด้วยวัตถุดิบอย่างอื่นเช่น ทองเหลือง เงิน

ในครอบครัวชาวเปรานากันมีคำที่พูดกันติดปากว่า "ayer kamcheng" ซึ่งหมาบถึงน้ำต้มสุกที่เก็บไว้ดื่มในภาชนะ "ก๋ำเฉ่ง"

"ก๋ำเฉ่ง" มีหลายขนาดครับ ตั้งแต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร จนถึง 39 เซ็นติเมตร

"ก๋ำเฉ่ง" ขนาดใหญ่ใช้ใส่น้ำ ของหวาน อาหาร ส่วน "ก๋ำเฉ่ง" ขนาดเล็กลงมาจะเอาไว้ใส่เครื่องสำอางค์

"ก๋ำเฉ่ง" ขนาดใหญ่ค่อนข้างหายาก เพราะว่าต้องเป็นครอบครัวที่ร่ำรวยเท่านั้นถึงจะมีได้ แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ในครอบครัวเปรานากันจะต้องมี "ก๋ำเฉ่ง" อย่างน้อย 1 โถ ครับ

ตอนหลังๆนี่ "ก๋ำเฉ่ง" จะมีหลายสีมากๆ ส่วนใหญ่จทำลวดลายเป็นมังกร ดอกโบตั๋น วิวทิวทัศน์


Photobucket


Photobucket


Photobucket


Photobucket


วัฒนธรรมอีกอย่างที่เป็นของชาว Nonya เลยได้แก่การกินเลี้ยงใหญ่บนโต๊ะยาว เรียกว่า "Tok Panjang"

มาจากคำว่าโต๊ะ (Tok) ซึ่งเป็นภาษาฮกเกี้ยน และคำว่า Panjang ซึ่งเป็นคำมาเลย์ แปลว่า ยาว หรือบางครั้งในภาษามาเลย์จะเรียกว่า meja panjang

คำว่า Makan tok panjang จะใช้เรียกงานเลี้ยงอาหารบนโต๊ะยาวๆ เนื่องในโอกาสพิเศษเช่นงานแต่งงาน ซึ่งวัฒนธรรมการกินเลี้ยงแบบนี้เริ่มในปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งอาหารที่เสิร์ฟจะเป็นอาหารพิเศษ และมีจำนวนมาก บางครั้ง Makan tok panjang จะเป็นงานเลี้ยงอาหารกลางวันในหมู่ญาติสนิทเท่านั้น

ตามปกติแล้วโต๊ะกินข้าวของคนจีนจะเป็นโต๊ะกลม แต่งานเลี้ยง Makan tok panjang จะเป็นโต๊ะแบบยาว ก็เนื่องมาจากจำนวนแขกที่เพิ่มมากขึ้น บางคนกล่าวว่าที่จัดเลี้ยงแบบโต๊ะยาวก็เพราะว่าต่อเชื่อมโต๊ะมาจากโต๊ะของบรรพบุรุษที่อยู่หัวโต๊ะนั่นเองครับ

Makan tok panjang เริ่มด้วยการเชิญแขกมานั่งที่โต๊ะ ฝ่ายชายจะเป็นผู้ที่ได้รับประทานก่อน เจ้าภาพจะเสิร์ฟแขกด้วย น้ำชาลำใย (ayer mata kuching) เหล้า หรือบรั่นดี และบุหรี่สำหรับฝ่ายชาย เจ้าภาพจะเกณฑ์สาวๆที่อยู่ในบ้านมาเป็นคนเสิร์ฟอาหาร

หลังอาหารคาวก็จะเสิร์ฟน้ำ (ayer chushi mulot) ล้างปาก แล้วจะเสิร์ฟของหวาน หลังมื้ออาหารก็จะมีการทานหมาก


Photobucket


Photobucket



ทนายอ้วนทัวร์ ............... เที่ยวไป ..... ตามใจฉัน








Create Date : 01 สิงหาคม 2554
Last Update : 1 สิงหาคม 2554 19:55:04 น.
Counter : 3687 Pageviews.

3 comments
  
เจิมจ้า........
โดย: เนินน้ำ วันที่: 1 สิงหาคม 2554 เวลา:23:49:09 น.
  
วันนี้น้องบอลพาเที่ยวแบบได้ความรู้เต็ม ๆ เลยค่ะ
โดย: เนินน้ำ วันที่: 1 สิงหาคม 2554 เวลา:23:49:40 น.
  
What's up, I just wanted to mention, I disagree. Your post doesn't make any sense.
cheap Oakley Sunglasses //www.artcomplex.org/volunteers.html
โดย: cheap Oakley Sunglasses IP: 94.23.252.21 วันที่: 3 สิงหาคม 2557 เวลา:21:21:43 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทนายอ้วน
Location :
นนทบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 156 คน [?]