Group Blog
เมษายน 2556

 
1
3
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog
เที่ยวไป ... ตามใจฉัน - พาไหว้พระที่แม่กลองวัดที่ 3 - วัดแห่งพระราชวงศ์จักรี - วัดอัมพวันเจติยาราม
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดอัมพวันเจติยาราม อ.อัมพวา จ. สมุทรสงคราม, สมุทรสงคราม Thailand
พิกัด GPS : 13° 25' 35.41" N 99° 57' 11.19" E






วัดที่ 3 ที่เรามาไหว้พระกันในทริปไหว้พระเก้าวัดเมืองแม่กลอง เป็นวัดที่เป็นไฮไลท์ของทริปนี้เลยครับ พอดีได้ไปอ่านประวัติของวัดนี้แล้วเห็นว่า ถึงเป็นวัดเล็กๆ แต่มีความสำคัญมากๆ และวัดนี้ก็อยู่ระหว่างเส้นทางไหว้พระเก้าวัดในครั้งนีด้วย วัดนั้นก็คือ วัดอัมพวันเจติยาราม ครับ


 photo DSC07116_zpsd57915c4.jpg

 photo DSC07111_zpsb4691d48.jpg


ตอนแรกก็คลำแผนที่ GPRS กันไปเรื่อยๆครับ ดีที่ว่าเจ้า GPRS เค้า set destination เอาไว้ ถ้าไม่งั้นก็ได้มีหลงให้คุณชายกระแนะกระแหนอีกแน่ๆ แต่ความจริงแล้วการไปวัดอัมพวันเจติยาราม ไปไม่ยากเลยครับ พอแยกซ้ายจากถนนสายสมุทรสงคราม – บางแพเพื่อจะเข้าอัมพวา ก็ตรงมาเรื่อยๆ ถนนแถวนี้จะค่อนข้างแคบครับ ชนิดที่ว่ารถสวนกัน 2 คันพอดีๆ ได้ พอข้ามคลองที่มองไปด้านซ้ายมือก็จะเป็นตลาดน้ำอัมพวาก็จะถึงวัดอัมพวันเจติยาราม แล้วครับ วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ ลงจากสะพานก็จะเจอทางเข้าวัดครับ


ถ้ามาเช้าๆ ลานจอดรถยังว่างครับ เข้าไปจอดรถได้เลย แต่ถ้ามาบ่ายๆ ต้องเลยไปหาที่จอดรถก่อนค่อยเดินย้อนมาที่วัดครับ หรือจะไปจอดรถที่อุทยาน ร. 2 ก็ได้ครับ เสียเงินค่าเข้า 20 บาทแล้วสามารถเดินถึงวัดอัมพวันเจติยาราม และเดินเลยไปตลาดน้ำอัมพวาได้ด้วย


วัดอัมพวันเจติยาราม ตั้งอยู่ปากคลองอัมพวาด้านเหนือ อยู่ตรงกลางระหว่างตลาดน้ำอัมพวากับอุทยาน ร.2 ครับ ความจริงแล้วลานวัดก็เป็นที่จอดรถเวลาคนมาเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา เดิมเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภออัมพวา เรียกบริเวณนี้ว่า บางช้าง เนื่องจากในสมัยก่อนมีฝูงช้างลงไปกินน้ำในแม่น้ำแม่กลองจนลึกเป็นคลอง เรียกว่า คลองบางช้าง


วัดอัมพวันเจติยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เดิมเรียกกันว่า "วัดอัมพวา" ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอัมพวันเจติยาราม" มีความหมายว่า "วัดที่มีเจดีย์และมีสวนมะม่วงเป็นที่รื่นรมย์และเกษมสำราญน่าเคารพบูชา"


ความสำคัญที่เกริ่นมาตั้งแต่ตอนต้นก็คือที่ตั้งวัดอัมพวันเจติยาราม นี้เคยเป็นนิวาสสถาน(ที่อยู่)เดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (หลวงยกกระบัตร ตำแหน่งในขณะนั้น) กับสมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 (คุณนาค) เชื่อกันว่าบริเวณพระปรางค์ของวัดอัมพวันเจติยาราม เดิมเป็นเรือนที่เป็นสถานที่พระราชสมภพของคุณฉิมบุตรชายของคุณนาค ซึ่งต่อมาได้เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


วัดอัมพวันเจติยาราม สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอมปลา - ตอนต้นรัชกาลที่ 1โดยสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี (สั้น) พระชนนีในสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ (นาก) ทรงบริจาคที่ดินและสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ได้ทรงรวบรวมพระพี่พระน้องรว่มกันสร้างเป็นวัดขึ้นมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะใหญ่และทรงสร้างพระปรางค์ ต่อมามีการบูรณะเรื่อยมาทั้งในรัชกาลที่ 4 และที่ 5


ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของวัดอัมพวันเจติยาราม ก็คือเป็นวัดของตระกูลราชินิกุลบางช้าง สกุล ณ บางช้างนี้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเศรษฐีบางช้างชื่อ น้อย บรรดาศักดิ์เป็นท้าวแก้วผลึก เป็นนายตลาดหญิงทำหน้าที่เก็บอากรขนอนตลาดของชุมชน บางช้าง ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเจริญในด้านเกษตรกรรมและพานิชยกรรมในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ก็ทรงเป็นเชื้อสายตระกูล “บางช้าง” ทรงมีพระชนนีพระนามว่าสมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี ประสูติที่บ้านอัมพวา พระญาติวงศ์ของส่วนใหญ่ตั้งนิวาสถานอยู่สืบกันมาในบริเวณบางช้าง เมื่อทรงสมรสกับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี (รัชกาลที่ ๑) ได้ย้ายตำหนักไปอยู่ ณ ที่ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งพระปรางค์วัดอัมพวันเจติยาราม ณ ที่นั้นได้ให้ประสูติกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีพันปีหลวงพระองค์แรก เมื่อสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ พระญาติของสมเด็จพระอมรินทร์ฯ ขึ้นสู่ฐานะเป็นราชินิกุลแต่นั้นมา เรียกกันว่า "ราชินิกุลบางช้าง" สมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี ได้บวชเป็นรูปชีและทรงอุทิศนิวาสถานเดิม สร้างวัดอัมพวันเจติยารามขึ้น ได้ย้ายตำหนักออกไปคือ บริเวณพระที่นั่งทรงธรรมในปัจจุบัน


เราไปถึงวัดตอนสายๆ ลานวัดยังโล่งๆอยู่ก็เลยเลือกจอดรถได้อย่างสบาย พอเดินกลับมาที่พระอุฌบสถ ผ่านทางเข้าตลาดอัมพวาก็เพิ่งจะรู้ว่าตลาดน้ำอัมพวาเดี๋ยวนี้เค้าเปิดกันตั้งแต่เช้าด้วยก็เลยคิดไว้ว่าพอไหว้พระเสร็จจะมาเดินตลาดน้ำอัมพวา

ถ้าเดิมมาจากลานจอดรถจะเห็น “ต้นจันท์ทรงปลูก” เดิมในบริเวณนิวาสสถานของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ มีต้นจันท์ต้นอยู่ จันท์ต้นนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ทรงปลูกแทนต้นเดิม และต้นจันท์เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสงครามอีกด้วยครับ


 photo DSC07058_zpsb368d2e8.jpg


บริเวณนี้เองเคยเป็นนิวาสสถานเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ เห็นป้ายนี้แล้วขนลุกครับ ไม่นึกว่าเราจะได้มาถึงนิวาศสถานเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกองค์ปฐมบรมมหากษัตริย์ต้นราชวงศ์จักรีครับ ทำให้การเดินชมวัดในวันนั้นเรารู้สึกตัวว่าต้องเดินอย่างสำรวมมาก จะยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูปอะไรก็ต้องยกมือขอท่านอยู่เรื่อยไปครับ


 photo DSC07059_zpsbce7e1c5.jpg


เมื่อเดินเข้ามาในบริเวณของกำแพงแก้ว ก็จะเห็น “พระปรางค์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์ไว้ในเขตของพระวิหารซึ่งเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเพื่อบรรจุพระบรมสรีรังคารและพระบรมอัฐิบางส่วน พระปรางค์พระปรางค์วัดนี้มีลักษณะพิเศษต่างจากพระปรางค์ในที่อื่นๆ คือ มียอดปรางค์กลมโต แล้วค่อยสอบลงมาทางข้างล่าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกว่า "บานบน"


 photo DSC07060_zpsb01b006f.jpg

 photo DSC07061_zpsd3abca46.jpg

 photo DSC07063_zps61455fa3.jpg

 photo DSC07064_zps7015b31e.jpg

 photo DSC07066_zps2987fa86.jpg

 photo DSC07065_zpsccbf9f01.jpg


เมื่อเดินอ้อมไปทางด้านหลังพระปรางค์จะเป็น “พระวิหาร”ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในประดิษฐานพระนอนองค์ใหญ่ ยาวตลอดตั้งแต่พระเศียรจนถึงพระบาทวัดได้ 19 ศอก นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานอยู่รอบระเบียงพระวิหาร จำนวนถึง 52 องค์อีกด้วย


 photo DSC07071_zps1639c6db.jpg

 photo DSC07070_zps2bd60f7d.jpg

 photo DSC07069_zps4c98e2b9.jpg

 photo DSC07067_zps8d468273.jpg

 photo DSC07068_zps6f61e45f.jpg


เมื่อเดินออกมาจากพระวิหารก่อนที่จะไปถึงพระอุโบสถจะมี พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประดิษฐานอยู่ทางด้านหน้าพระวิหารตรงกับพระปรางค์พอดี พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยองค์นี้ทำการหล่อที่กรมศิลปากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถ เสด็จเททองเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2509 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฏราชกุมาร ได้เสด็จมาทรงเปิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2520


 photo DSC07072_zps7d4692d2.jpg

 photo DSC07073_zps713895fe.jpg


สิ่งที่เป็นไฮไลท์ของวัดอัมพวันเจติยารามอยู่ด้านใน พระอุโบสถ ตรงหน้าเรานี่เองครับ พระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยารามมีรูปทรงเหมือนพระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดอยุธยา ซึ่งนิยมสร้างพระอุโบสถในรูปแบบนี้ในสมัยตอนปลายอยุธยา – ตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ มีความเรียบง่าย แต่สง่างามมาก มีช่องประตูทางเข้า – ออก 2 ช่องทั้งด้านหน้า และด้านหลัง กรมศิลปากรได้ ดำเนินการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๓๘


 photo DSC07109_zpsa2815107.jpg

 photo DSC07111_zpsb4691d48.jpg

 photo DSC07112_zps798fdd26.jpg

 photo DSC07113_zpsb6abe42b.jpg

 photo DSC07114_zps94a1b871.jpg

 photo DSC07115_zps181f2241.jpg


ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย ตั้งอยู่บนฐานชุกชีสูง ฐานชั้นล่างมีพระอัครสาวก และพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กลงมาอยู่เบื้องหน้าองค์พระประธานอีก 1 องค์ มีความสวยงามมากครับ


 photo DSC07104_zpsc1dbfbdd.jpg

 photo DSC07105_zpsc9753230.jpg

 photo DSC07074_zps2b276be5.jpg

 photo DSC07075_zps49b674dc.jpg

 photo DSC07090_zpsfa12f6b3.jpg


ไฮไลท์ของวัดอัพวันเจติยารามอยู่ภายในพระอุโบสถนี่แหละครับ


ภายในพระอุโบสถมี ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิ พระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เขียนขึ้นตามแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเรื่องราวเกี่ยวกับบทพระราชนิพนธ์เรื่องเด่นๆ ที่เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยคือเรื่อง สังข์ทอง ไกรทอง อิเหนาและหลวิชัย – คาวี

ขออนุญาติเอา abstract วิทยานิพนธ์ เรื่อง การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังวัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร A STUDY OF THAIPAINTING AT WAT AMPHAWANJEDIYARAMVORAVIHARA ของ เสรภูมิ วรนิมมานนท์ มาลงเอาไว้ เพราะคิดว่าเนื้อหาละเอียดเผื่อคนที่สนใจได้เข้ามาอ่านนะครับ

“ลักษณะรูปแบบของ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติในยุค รัชกาลที่ ๒– รัชกาลที่ ๓มีแบบอย่างตามอุดมคติของ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี และเป็น ขนบธรรมเนียมที่เป็นเอกลักษณ์ไทย เป็นภาพ ๒ มิติตัดเส้น และลงสีในตัวละครเพื่อแสดงวรรณะ สูงต่ำของแต่ละตัวภาพ ให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่กำหนด และ เข้าใจง่าย ทั้งในด้านความรู้สึก และ การลำดับเรื่องราว ได้แก่ ภาพเทวดา ภาพมนุษย์ ภาพสถาปัตยกรรมภาพแม่น้ำลำคลอง ภาพต้นไม้ ภาพภูเขา ภาพสัตว์ และยานพาหนะ เป็นต้น

....... ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร นับว่าเป็นสิ่งที่แสดงออก ถึงภูมิปัญญาของจิตรกรชาวไทยยุคใหม่ ที่ถ่ายทอดตามแบบอย่างครูยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้อย่างละม้ายคล้ายคลึงในเชิงรูปแบบและกรรมวิธีการเขียนแบบ ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่สรุปได้ดังนี้

1. แนวคิดในนำเสนอภาพ แนวคิดในการเขียนภาพมาจากรัชสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยนำเสนอภาพที่สำคัญ คือ แนวคิดภาพภูมิสถานกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ประกอบไปด้วยพระราชวัง วัง วัดวาอาราม และพระราชพธีพระราชทานเพลิงศพ แนวคิดการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง “ภูมิสถานสวนขวา” เป็นเรื่องราวของ พระราชอุทยานที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้สร้างขึ้นเป็นที่ประพาสส่วนพระองค์ แนวคิดภาพจิตรกรรมเครื่องแขวนดอกไม้สด เพื่อเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยและองค์ความรู้ด้านงานประดิษฐ์ที่มีมาแต่อดีตให้คงอยู่ แนวคิดการเขียนภาพทวารบาล ที่ประกอบด้วย ภาพเทวดาประจำทิศทั้งสี่คู่ ได้แก่ ภาพจิตรกรรม ท้าวธตรฐกับท้าววิรุฬหก, ท้าววิรูปักษ์กับท้าวกุเวร และนพเคราะห์ต่าง ๆ แนวคิดการเขียนภาพโครงตำราไม้ดัด ที่เป็นไม้ดัดที่นิยมชมชอบในยุครัชกาลที่ 2 ซึ่งยังไม่มีวัดใดเขียนภาพเช่นนี้ไว้ประดับไว้ภายในพระอุโบสถ ซึ่งภาพดังกล่าว ได้แก่ ต้นไม้ สัตว์ และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ประกอบภายในภาพอย่างสมบูรณ์

2. ลักษณะรูปแบบของภาพจิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยมีลักษณะและรูปแบบจิตรกรรม ในยุครัชกาลที่ 2 – 3 โดยรูปแบบจิตรกรรมฝาผนัง คือ รูปภาพที่มีแบบอย่างตามอุดมคติบนแบบแผนของจิตรกรรมไทยแบบประเพณีและเป็นขนบธรรมเนียมที่ช่างเขียนสืบทอดต่อกันมาในทางจิตรกรรมตามแบบอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ไทย โดยเขียนเป็นภาพ 2 มิติ และใช้เส้นในท่าทางของแต่ละภาพ อีกทั้งกำหนดลักษณะของสีในตัวละครเพื่อเป็นแสดงชั้นวรรณะสูงต่ำของแต่ละภาพ โดยองค์ประกอบของรูปแบบจิตรกรรมฝาผนัง คือ การนำรูปแบบต่าง ๆ มาจัดองค์ประกอบเพื่อจัดกลุ่มหรือตำแหน่งในการเล่าเรื่องราว ตามเนื้อหาที่กำหนดให้เข้าใจได้ง่าย ทั้งในด้านความรู้สึกและการลำดับเรื่องราว ได้แก่ ภาพเทวดา ภาพมนุษย์ ภาพสถาปัตยกรรม ภาพแม่น้ำลำคลอง ภาพต้นไม้ ภาพภูเขา ภาพสัตว์ และยานพาหนะ

3. กระบวนการและกรรมวิธีเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร ตามกรรมวิธีในยุค รัตนโกสินทร์ตอนต้น มีกรรมวิธีต่าง ๆ ในการสร้างงานการแสดงออกเป็นลักษณะเฉพาะที่เป็นขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมพื้นผนังสำหรับเขียนภาพ การเตรียมวัสดุอุปกรณ์เขียนภาพ และการเขียนภาพ ในกรรมวิธีพื้นฐานในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม เป็นภาพที่เขียนด้วยเทคนิคสีฝุ่นและมีลักษณะ 2 มิติ จึงมีกรรมวิธีตั้งแต่การร่างบนกระดาษ การเขียนบมผนัง การระบายสี การตัดเส้น และการปิดทอง ที่ทำให้มีลักษณะที่ความกลมกลืนตาม แบบจิตรกรรมร่วมสมัยที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ ณ วัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร

........ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ มีพระราชบัญชาให้คณะกรรมการดำเนินงานมูลนิธิฯ ดำเนินการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม โดยให้กรมศิลปากรดำเนินการทำพื้นผิวตัดความชื้นฝาผนังเพื่อเตรียมเขียนภาพจิตรกรรม ใช้เงินมูลนิธิฯ ๔๙๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนเก้าหมื่นบาทถ้วน) และมอบคณะอาจารย์สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง เป็นผู้เขียนภาพ เรืออากาศเอกพจน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บริจาคเงินค่าใช้จ่ายในการเขียนภาพ จำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๔๓


ลักษณะรูปแบบของภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติในยุครัชกาลที่ ๒ – ๓ มีแบบอย่างตามอุดมคติของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี และเป็นขนบธรรมเนียมที่เป็นเอกลักษณ์ไทย เป็นภาพ ๒ มิติตัดเส้น และลงสีในตัวละครเพื่อแสดงวรรณะสูงต่ำของแต่ละตัวภาพ ให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่กำหนด และเข้าใจง่าย ทั้งในด้านความรู้สึกและการลำดับเรื่องราว ได้แก่ ภาพเทวดา ภาพมนุษย์ ภาพสถาปัตยกรรม ภาพแม่น้ำลำคลอง ภาพต้นไม้ ภาพภูเขา ภาพสัตว์ และยานพาหนะ เป็นต้น

ทั้งนี้กระบวนการและกรรมวิธีเขียนภาพ ใช้กรรมวิธีในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งแต่การเตรียมพื้นผนัง วัสดุอุปกรณ์เขียนภาพ เขียนด้วยเทคนิคสีฝุ่นและมีลักษณะ ๒ มิติ จึงมีกรรมวิธีตั้งแต่การร่างภาพบนกระดาษ การคัดลอกภาพลงบนผนัง การเขียนภาพบนผนัง การระบายสี การตัดเส้น และการปิดทอง ทำให้มีลักษณะกลมกลืนอย่างจิตรกรรมไทยแบบประเพณีและแบบจิตรกรรมร่วมสมัย ปรากฏผสมผสานกันอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้นด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงลงฝีพระหัตถ์เป็นปฐมในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดอัมพวันฯ เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๑”


 photo DSC07079_zpse6d66e1c.jpg

 photo DSC07078_zps5a43505f.jpg


ไฮไลท์ที่เป็นที่สุดของจิตกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยารามอยู่ที่บริเวณผนังระหว่างช่องประตูด้านล่าง ด้านตรงข้ามพระประธานครับ เป็นภาพการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เป็นส่วนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงลงฝีพระหัตถ์พระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หน้าทหารกลอง และต้นไม้ข้างป้อมริมกำแพง เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๑ ครับ


 photo DSC07076_zpsdf78cf54.jpg


ส่วนจิตรกรรมฝาหนังในส่วนๆอื่นๆก็มีคำอธิบายอยู่ใต้ภาพทุกภาพครับ


จิตรกรรมฝาผนังห้องที่ 1 เขียนเรื่องทรงพระราชสมภพ ทรงอักษร และพระราชพิธีโสกันต์



 photo DSC07096_zpse4002526.jpg


จิตรกรรมฝาผนังห้องที่ 2 เขียนเรื่องพระราชพิธีสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม และทรงผนวช


 photo DSC07098_zps519757f3.jpg


จิตรกรรมฝาผนังห้องที่ 3 เขียนเรื่องพระราชพิธีอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อ พ.ศ. 2349


 photo DSC07100_zpse9338d7c.jpg


จิตรกรรมฝาผนังห้องที่ 4 เขียนเรื่องพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก


 photo DSC07102_zpsbc1f3030.jpg



จิตรกรรมฝาผนังห้องที่ 5 เขียนเรื่องพระราชพิธีรับและสมโภชพระยาเศวตกุญชร สมโภชพระบุษยรัตน์ และพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้ามงกุฎ


 photo DSC07080_zps72659080.jpg



จิตรกรรมฝาผนังห้องที่ 6 เขียนเรื่อง สร้างเมืองนครเขื่อนขันฑ์ ทูตเฝ้า และรับครัวมอญ


 photo DSC07084_zps1065857c.jpg


จิตรกรรมฝาผนังห้องที่ 7 เขียนเรื่อง พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีทรงผนวช เจ้าฟ้ามงกุฎ และพระราชพิธีวิสาขบูชา


 photo DSC07086_zps2e3f7875.jpg



จิตรกรรมฝาผนังห้องที่ 8 เขียนเรื่อง การสร้างวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม สร้างเมืองสมุทรปราการ และการสถาปนาพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม


 photo DSC07088_zps1d3b1c49.jpg



ส่วนผนังตรงมุมทั้งสี่ด้านของพระอุโบสถ (ผนังรักแร้) เขียน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยคือเรื่อง สังข์ทอง ไกรทอง อิเหนาและหลวิชัย – คาวี

ผนังรักแร้ด้านหน้า ขวามือ เขียนเรื่อง อิเหนา ตอนไหว้พระ ลมหอบ และเชิดหนัง


 photo DSC07082_zpsca54fcb5.jpg


ผนังรักแร้ด้านหลัง ขวามือ เขียนเรื่อง ไกรทอง ตอนหลงน้ำ


 photo DSC07091_zps42fbfcd0.jpg


ผนังรักแร้ด้านหลัง ซ้ายมือ เขียนเรื่อง หลวิชัย – คาวี ตอน ท้าวสันนุราชชุบตัว


 photo DSC07094_zps74f41fb7.jpg


ผนังรักแร้ด้านหน้า ซ้ายมือ เขียนเรื่อง สังข์ทอง ตอนนางมณฑาเสด็จไปกระท่อมปลายนา


 photo DSC07107_zps6e062c56.jpg



ปัจจุบันนี้วัดอัมวันเจติยารามเป็นวัดเก่าและมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ทางกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นวัดทางโบราณสถาน และได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อยู่อย่างต่อเนื่อง

พอได้ไหว้พระและชมวัดเสร็จก็รู้สึกปลื้มใจที่ได้มาวัดที่เคยเป็นนิวาศสถานขององค์ต้นราชวงศ์จักรีมากๆ รู้สึกพองๆ ฟูๆ ในหัวใจครับ ไม่เสียดายเลยที่ได้มาเที่ยววัดอัมวันเจติยาราม ในทางกลับกันจะรู้สึกเสียดายเสียอีกถ้ามาแม่กลองแล้วไม่ได้มาไหว้พระที่วัดอัมวันเจติยารามแห่งนี้ นับว่าเป็นความประทับใจอย่างใหญ่หลวงจริงๆ ครับ


ขอขอบคุณท่านทั้งหลายที่กรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูลครับ


วัดอัมพวันเจติยาราม – แม่กลองทูเดย์ดอทคอม

วัดอัมพวันเจติยาราม - อัมพวา-ที่พัก.com

การสร้างวัดในสกุลบุนนาค – ชมรมสายสกุลบุนนาค

วัดอัมพวันเจติยาราม - www.annaontour.com

วัดอัมพวันเจติยาราม, สมุทรสงคราม – www.thai-tour.com

วัดอัมพวันเจติยาราม, สมุทรสงคราม - touronthai.com

abstract การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังวัดอัมพวันเจติยารามวรวิหาร A STUDY OF THAIPAINTING AT WAT AMPHAWANJEDIYARAMVORAVIHARA วิทยานิพนธ์ของ เสรภูมิ วรนิมมานนท์ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี


Chubby Lawyer's Tour ........เที่ยวไป ..... ตามใจฉัน












Create Date : 04 เมษายน 2556
Last Update : 4 เมษายน 2556 14:34:00 น.
Counter : 5637 Pageviews.

6 comments
  

มากด Like ให้เป็นคนที่ 17
พี่อุ้มเห็นภาพแล้วอยากมีกล้องดีดีสักตัวจัง
ภาพสวยทุกภาพจ๊ะน้องบอล
โดย: อุ้มสี วันที่: 4 เมษายน 2556 เวลา:21:34:14 น.
  
โดย: Kavanich96 วันที่: 5 เมษายน 2556 เวลา:6:07:37 น.
  
รูปสวย ข้อมูลเพียบค่ะ ทำบล้อกท่องเที่ยวยากกว่าบล็อกอาหารเยอะเลยเนาะว่ามั๊ย

แห่ะ.. แกงเผ็ดเป็ดย่างคงไม่ได้อัพบล็อกค่ะน้องบอล เพราะเคยอัพบล็อกไปแล้วจ้า รอชิมของน้องบอลดีกว่า ไม่ต้องเหนื่อย อิอิ..
โดย: เนินน้ำ วันที่: 5 เมษายน 2556 เวลา:7:46:11 น.
  
รูปสวย วันฟ้าใสๆ เป็นใจจริงๆค่ะ
ภายในมีภาพจิตรกรรมที่วิจิตรตระการตามาก
น่าปลื้มที่สุดกับวัดพุทธของเราค่ะคุณบอล
โดย: anigia วันที่: 6 เมษายน 2556 เวลา:2:22:34 น.
  
แรกที่เห็นพระอุโบสถ ก็คิดว่า
อืม! ลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยา
พออ่านประวัติ อ้อ สร้างในสมัยอยุธตอนปลาย มิน่าล่ะ ^_^

สวยงามมากเลยทั้งภายในอุโบสถ ภาพเขียน และพระปรางค์
สมแล้วค่ะที่เป็นพระอารามหลวงชั้นโท

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
ทนายอ้วน Travel Blog ดู Blog
โดย: ฝากเธอ วันที่: 6 เมษายน 2556 เวลา:10:23:02 น.
  
รูปสวยมากค่ะ ทำให้อยากไปขึ้นมาเลย
โดย: sawkitty วันที่: 7 เมษายน 2556 เวลา:16:25:24 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทนายอ้วน
Location :
นนทบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 156 คน [?]