ปลาบึก

ปลาบึก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลาบึก (Pangasianodon gigas) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ไม่มีเกล็ด อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงบริเวณประเทศลาว เป็นปลาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากการจับปลามากเกินไป คุณภาพน้ำที่แย่ลงจากการพัฒนาและการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ ปัจจุบัน IUCN จัดปลาบึกอยู่ในกลุ่ม Critically Endangered ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก

ลักษณะภายนอกที่สามารถแยกแยะปลาบึกออกจากปลา catfish ขนาดใหญ่อื่นในแม่โขง ได้แก่ลักษณะของฟันและหนวด ปลาบึกไม่มีฟันและเกือบจะไม่มีหนวด โดยที่ปลาวัยอ่อนมีฟันและกินปลาอื่นเป็นอาหาร แต่เมื่อโตขึ้นฟันจะหลุดไป และตาซึ่งจะอยู่ต่ำกว่ามุมปาก อาหารของปลาในธรรมชาติคือพืชชนิดต่าง ๆ เช่นตะไคร่น้ำ แต่เมื่อนำมาเลี้ยงก็สามารถรับอาหารชนิดอื่นได้ สามารถโตได้ถึง 3 เมตรและหนัก 150-200 กิโลกรัม ใน 5 ปี ปลาที่หนักที่สุดเท่าที่เคยจับได้เป็นตัวเมีย (บางรายงานระบุผิดว่าเป็นตัวผู้) ยาว 2.7 เมตร และหนัก 293 กิโลกรัม (646 ปอนด์) เจ้าหน้าที่กรมประมงสามารถรีดไข่ได้สำเร็จแต่ปลาตัวนี้ก็ตายก่อนที่จะปล่อยกลับธรรมชาติ

ในธรรมชาติยังไม่มีผู้พบปลาวัยอ่อน ปลาบึกเป็นปลาที่อพยพว่ายน้ำจากแม่น้ำโขงในเขตประเทศจีน เพื่อที่จะไปผสมพันธุ์และวางไข่ที่ทะเลสาบเขมร โดยฤดูกาลที่ปลาอพยพมานั้น ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จะถือว่าเป็นประเพณีจับปลาบึก โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

ปลาบึกถือเป็นอาหารที่หรูของประเทศลาว ในอดีตมีการประกอบพิธีกรรมร่วมกับการจับปลาชนิดนี้ ซึ่งมีการจับเพียงครั้งเดียวต่อปี และเนื้อปลาก็พบเห็นได้น้อยตามตลาด นอกจากเนื้อแล้ว ตับและไข่ปลาหมักเป็นอาหารรสชาติดี และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย

ปลาบึกมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า " ไตรราช "
______________________________________________________________________


จับบิ๊กบึกยาว 2.4 เมตรในโตนเลสาป
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 พฤศจิกายน 2550 11:27 น.


เซ็ป โฮแกน (ขวา) กับคณะจับได้ตอนประมาณเที่ยงคืนวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นตัวเดียวที่จับได้ในปีนี้ (ภาพ: National Geographic Society)

นักวิจัยชาวอเมริกันกับชาวประมงพื้นบ้านจับปลาบึกขนาดใหญ่ได้ 1 ตัวในแม่น้ำโตนเลสาป
(Tonle Sap) ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมาก่อนจะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ

ปลาบึกตัวนี้มีความยาวตลอดลำตัว 8 ฟุต หรือ 2.40 เมตร น้ำหนัก 204 กิโลกรัม
ไม่ใช่ตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยจับได้ แต่หากเป็นเพียงตัวเดียวที่จับได้ในแม่น้ำโตนเลสาปปีนี้
ท่ามกลางความวิตกกังวลของนักอนุรักษ์

"นี่เป็นเพียงปลาบึกตัวเดียวที่จับได้ในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่แย่ที่สุดเท่าที่มีมาสำหรับสัตว์ยักษ์ชนิดนี้"
เซ็ป โอแกน (Zep Hogan) แห่งมหาวิทยาลัยรีโน อริโซนา สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้จดบันทึกรายละเอียดต่างๆ
ก่อนจะปล่อยเจ้าบึกตัวล่าสุดลงน้ำไป โดยไม่มีอันตรายใดๆ

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าในครั้งหนึ่งปลาบึก (Pangasianodon hypophthalmus)
หาพบได้ทั่วไปในแม่น้ำโตนเลสาปกับลำน้ำโขง รวมทั้งในบริเวณใกล้กับกรุงพนมเปญด้วย
แต่ในศตวรรษที่ผ่านมาประชากรปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกพันธุ์นี้ลดลง 95-99%
ปัจจุบันเชื่อว่ามีปลาบึกที่โตแล้วเหลืออยู่ไม่กี่ร้อยตัว

นับตั้งแต่ปี 2543 ทั่วทั้งย่านแม่น้ำโขงเคยมีการจับปลาบึกได้ปีละ 5-10 ตัว
ตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเคยจับได้ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ความยาวถึง 2.7 เมตร
หรือเกือบ 9 ฟุต น้ำหนัก 293 กก.

นายโฮแกนได้เริ่มโครงการที่เรียกว่า MegaFishes Project เมื่อต้นปีนี้
เพื่อเริ่มทำบันทึกต่างๆ เกี่ยวกับปลาบึก โดยได้รับการสนับสนุนจาก National Geographic
Conservation Trust and Expeditions Council

ปลาบึกก็เช่นเดียวกันกับปลาอีกหลายชนิดในลำน้ำโขง
ใช้ทะเลสาบโตนเลสาปในกัมพูชาเป็นที่วางไข่
ก่อนจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปหากินตามลำน้ำโขงในลาวและประเทศไทย



หลายปีก่อนนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ MegaFishes Projects
เคยจับได้ปีละ 5-6 ตัว และทำบันทึก-ติดเครื่องหมาย ปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ
ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าปลากยักษ์แม่น้ำโขงจะสูญพันธุ์ในเร็วๆ กว่าที่คิด
(ภาพ: National Geographic Society


องค์การพัฒนาภาคเอกชนอนุรักษ์สภาพแวดล้อม โครงการ TERRA
กับโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ออกแถลงการณ์สัปดาห์ที่แล้ว
แสดงความห่วงใยต่อการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง 6-7 แห่ง ทั้งในกัมพูชา ลาวและไทย

องค์การอนุรักษ์เหล่านี้ได้เน้นให้เห็นอันตรายต่อสภาพนิเวศน์จากการสร้างเขื่อนดอนสะฮอง
ในภาคใต้ของลาวซึ่งจะปิดกั้นทางผ่านเข้าสู่แม่น้ำโขงของฝูงปลานานาพันธุ์จากโตนเลสาปโดยตรง

แถลงการณ์ได้เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission)
ซึ่งประชุมร่วมกับประเทศผู้บริจาคในเมืองเสียมราฐวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา
ให้เอาใจใส่ต่อสภาพนิเวศน์ในลำน้ำโขงที่กำลังถูกบั่นทอนจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นลำน้ำ

เดือน ต.ค.-ธ.ค.ทุกปี เป็นเดือนที่ปลาบึกกับปลาอีกหลากชนิด
จะอพยพจากโตนเลสาป จ.เสียมราฐ ไปตามลำน้ำตอนโลสาป และเข้าสู่ลำน้ำโขงใกล้กับกรุงพนมเปญ
ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกระสวนการดำรงชีวิตของชีวะนานาพันธุ์แถบนี้มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล

สหภาพเพื่อการอนุรักษ์ (World Conservation Union) หรือ IUCN
ที่มีสำนักงานใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ได้ออกรายงาน “บัญชีแดง” (Red List)
รายชื่อสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ครั้งเมื่อปี 2546 จัดให้ปลาบึกเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง



บิ๊กตัวนี้จับได้ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมื่อหลายปีก่อน ความยาว 2.70 เมตร เท่าๆ
กับความสูงของหมีกริซลี (Grizzly) ตัวหนึ่ง ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการบันทึกเอาไว้ตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจปี 2524
(ภาพ: National Geographic Society)



เวลาต่อมาบิ๊กบึกตัวนั้นเสียชีวิต
เป็นลาภปากของชาวบ้านที่เชื่อว่ารับประทานเนื้อปลายักษ์จะมีโชคมีลาภและอายุยั่งยืนนาน
(ภาพ: National Geographic Society)

“ปลาบึก.หนังสือกินเนสส์บุ๊คออฟเร็คคอร์ดบันทึกให้เป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น
ในปัจจุบันหายากยิ่งในภาคเหนือของไทย ภาคใต้ลาวและเวียดนาม” IUCN กล่าว

“มีการจับปลาบึกได้เพียง 11 และ 8 ตัวในปี 2544 และ 2545 ในปี 2546
ชาวประมงจับปลาบึกได้ 6 ตัวในกัมพูชา
ทั้งหมดถูกปลายตัวในเวลาต่อมาตามโครงการอนุรักษ์ปลาแม่น้ำโขง” IUCN กล่าว

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้ติดแผ่นรหัสปลาไปประมาณ 2,000 ตัว
ส่วนใหญ่เป็นปลาบึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโตนเลสาปและในแม่น้ำโตนเลสาปกัมพูชา

ที่นี่ดูจะเป็นปราการสุดท้ายสำหรับปลายักษ์ ที่เคยอยู่คู่อนุภูมิภาคแม่น้ำโขงมาแต่ครั้งโบราณ.

______________________________________________________________________

ปลาบึกเป็นปลาไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ 3 เมตร
มีน้ำหนักมากกว่า 250 กิโลกรัม พบเฉพาะในแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาขาเท่านั้น
ปลาบึกถูกจัดเป็นปลาชนิดที่มีจำนวนน้อยใกล้สูญพันธุ์ [Endangered species]
ชื่อซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไป คือ Mekong giant catfish
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangasianodon gigas เป็นปลาที่กินพืชเป็นอาหาร
ไม่มีฟันทั้งที่ขากรรไกรและเพดานปาก สำหรับแหล่งจับปลาบึกที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย
อยู่ที่บ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ ฤดูจับปลาบึกของชาวประมง
จะเริ่มต้นประมาณปลายเดือนเมษายนของทุกปี จนถึงต้นเดือนมิถุนายน โดยใช้เครื่องมือมองไหล
ด้วยเป้าหมายที่ต้องการจะอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึก และเพื่อเพิ่มปริมาณปลาบึกในแหล่งน้ำธรรมชาติ
กรมประมงจึงได้พยายามดำเนินการเพาะขยายพันธุ์

จนประสบผลสำเร็จครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526
ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าวทำให้การศึกษาทางอนุกรมวิธานของปลาบึกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
และทำให้ทราบว่าลูกปลาบึกมีลักษณะหลาย ๆ ประการที่แตกต่างไปจากปลาที่โตเต็มวัย
เช่นมีฟันบนขากรรไกร และเพดานปาก และจะหลุดร่วงไปหมดเมื่อโตเต็มวัย
ได้มีการนำพันธุ์ปลาบึกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ
เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจและติดตาม
ทำให้ทราบว่าปลาบึกสามารถเจริญเติบโตในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ปีละประมาณ 10 – 12 กิโลกรัม



การเพาะพันธุ์ปลาบึกในบ่อดิน

กรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกโดยใช้พ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำโขง
ในปี 2526 จากนั้นได้ทำการศึกษาวิจัยปลาบึกรุ่นลูก (F1)
โดยเลี้ยงในบ่อดินเพื่อให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา
จนมีความสมบูรณ์เพศ นำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้เป็นครั้งแรกในปี 2543 จึงได้ทำการทดลองเพาะพันธุ์
ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ในครั้งนั้นสามารถรีดไข่จากท้องแม่ปลาบึกได้ประมาณ 100 กรัม
สำหรับพ่อปลาบึกรีดน้ำเชื้อได้ปริมาณมาก แต่ไข่ปลาที่ได้รับการผสมจาก
น้ำเชื้อพัฒนาไปได้ระดับหนึ่งเท่านั้น และไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวปลาได้
จากประสบการณ์และแนวทางในการเพาะพันธุ์ปลาบึกในคราวนั้น
ทำให้ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกในปี 2544
โดยสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึกได้ จำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2544
แม่ปลาน้ำหนัก 54 กิโลกรัม และพ่อปลาน้ำหนัก 41 กิโลกรัม ได้ลูกปลาบึกรุ่นแรก จำนวน 9 ตัว
ขณะนี้เหลือรอดเพียง 1 ตัว ถือว่าเป็นปลาบึกตัวแรกที่เพาะพันธุ์ได้สำเร็จ (ปลาบึกรุ่นหลาน F2)
โดยใช้เวลารอคอยนานถึง 18 ปี การเพาะพันธุ์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544
แม่ปลามีน้ำหนัก 54 กิโลกรัม พ่อปลาน้ำหนัก 60 กิโลกรัม รีดไข่จากแม่ปลาได้ไข่น้ำหนัก 1,200 กรัม
น้ำหนักไข่ 1 กรัม นับได้ 656 ฟอง ได้ไข่ปลา 787,200 ฟอง ไข่ได้รับการผสม 558,940 ฟอง
(71.0%) ได้ลูกปลา 441,176 ตัว (อัตรารอด 56.04%) เมื่อลูกปลามีอายุ 3 วัน
เหลือลูกปลาจำนวน 330,250 ตัว (41.95%) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2544
แม่ปลามีน้ำหนัก 47 กิโลกรัม พ่อปลาหนัก 40 กิโลกรัม ทำการเพาะพันธุ์และรีดไข่ได้ 743 กรัม
น้ำหนักไข่ 1 กรัม นับได้ 506 ฟอง ได้ไข่ปลา 375,958 ฟอง ไข่ได้รับการผสม 242,004 ฟอง
(64.37%) เมื่อลูกปลามีอายุ 3 วัน เหลือลูกปลาจำนวน 70,000 ตัว (18.62 %)
ขณะนี้เหลือลูกปลาจากการเพาะพันธุ์ครั้งที่ 2 จำนวน 60,000 ตัว
และเหลือจากการเพาะพันธุ์ครั้งที่ 3 จำนวน 10,000 ตัว ลูกปลามีขนาด 5-7 นิ้ว
และกรมประมงได้สั่งการให้กระจายลูกปลาไป 4 ภาค ทั้งประเทศ
เพื่อปล่อยแหล่งน้ำและจำหน่ายให้ประชาชนนำไปเลี้ยง

โดยภาคใต้มีจุดรวมปลาอยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฏร์ธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น
ภาคตะวันออกอยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดชลบุรี
ภาคกลางอยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดพระนครศรีอยุธยา
ภาคเหนืออยู่ที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา และสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดเชียงราย
นอกจากนี้กรมประมงได้ส่งลูกปลาชุดนี้ไปเลี้ยงยังสถานีประมงทุกแห่งทั่วประเทศ แห่งละ 50 ตัว
และศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด แห่งละ 100 ตัว เพื่อเลี้ยงให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในรุ่นต่อไป




ลักษณะทั่วไปของปลาบึก (Morphology)

ปลาบึกเป็นปลาขนาดใหญ่ มีรูปร่างเพรียวขาวแบนข้างเล็กน้อย
ลูกปลาบึกขนาดเล็กมีสีคล้ำเหลือบเหลือง ข้างลำตัวมีแถบสีคล้ำตามยาว 1 – 2 แถบ
ครีบหางตอนบนและล่างมีแถบสีคล้ำตามยาว ในปลาขนาดใหญ่ด้านหลังของลำตัวจะมีสีเทาอมน้ำตาลแดง
ด้านข้างเป็นสีเทาปนน้ำเงินและจางกว่าด้านหลัง เมื่อค่อนลงมาทางท้องสีจะจางลงเรื่อย ๆ
จนเป็นสีขาวเงิน ตามลำตัวมีจุดสีดำค่อนข้างกลมกระจ่ายอยู่ห่าง ๆ กันเกือบทั่วตัว

บริเวณจงอยปากมีรูจมูก 2 คู่ ตั้งอยู่บนริมผีปากทางด้านข้างจงอยปาก
คู่หน้าอยู่ชิดกันมากกว่าคู่หลัง นัยตาของปลาบึกมีขนาดเล็กอยู่เป็นอิสระไม่ติดกับขอบตามีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ใน 20 เท่า
ของความยาวหัว ตำแหน่งของนัยตาอยู่ต่ำกว่าระดับมุมปาก ลูกตามีหนังบาง ๆ
คลุมด้านขอบเล็กน้อยเปิดเป็นช่องรูปกลมที่กึ่งกลางกะโหลกมีจุดสีขาวขนาดเดียวกับตา 1 จุด

ครีบหลัง มีสีเทาปนดำ จุดเริ่มต้นของครีบหลังอยู่ล้ำหน้าจุดเริ่มต้นของครีบท้อง
แต่ไม่ถึงกึ่งกลางของลำตัว ก้านครีบแข็งเป็นเงี่ยงแต่สั้นและทู่ลงเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น

ครีบอก มีสีเทาปนดำอยู่ค่อนข้างต่ำ ประกอบด้วยก้านครีบแข็งใหญ่ 1 อัน
ซึ่งปลายโค้งงอได้ไม่แข็งเป็นเงี่ยง หรือหยักเป็นฟันเลื่อย ก้านครีบอ่อนมีจำนวน 10 อัน
ความยาวครีบอกมีขนาดเท่าหรือเกือบเท่ากับความยาวครีบหลัง คือมีความยาวครึ่งหนึ่งของหัว

ครีบท้อง มีสีเทาอ่อน มีก้านครีบโค้งงอได้ 1 อัน
มีก้านครีบอ่อนจำนวน 7 อัน

ครีบก้น มีสีเทาอ่อน มีก้านครีบแข็งที่โค้งงอได้ 5 อัน ก้านครีบอ่อน
29 – 32 อัน

ครีบไขมัน มีสีเทาปนดำ มีขนาดเล็กอยู่ค่อนไปทางครีบหาง

ครีบหาง มีสีเทาปนดำ ขนาดอ่อนข้างสั้นเว้าลึก
ส่วนของแพนหางบนและล่างมีขนาดเท่ากัน
ถิ่นที่อยู่อาศัย

ปลาบึกชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีระดับน้ำลึกกว่าสิบเมตร
พื้นท้องน้ำเต็มไปด้วยก้อนหินและโขดหินสลับซับซ้อนกัน ยิ่งมีถ้ำใต้น้ำด้วยแล้วปลาบึกจะชอบมากที่สุด
ปลาบึกขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในระดับน้ำที่ลึกอาศัยถ้ำใต้น้ำเป็นที่หลบซ่อนตัว
นอกจากนี้ยังได้ตะไคร่น้ำที่ขึ้นตามโขดหินกินเป็นอาหาร

ปลาบึกมีเฉพาะในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
แม้ว่าบางครั้งอาจจับปลาบึกได้จากแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ที่เป็นสาขาของแม่น้ำโขง
เช่น แม่น้ำสงคราม จังหวัดนครพนม แม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี
แม่น้ำงึมแขวงนครเวียงจันทร์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ปลาที่จับได้เชื่อแน่ว่าเป็นปลาที่เข้าไปหากินในลำน้ำเป็นการชั่วคราว
ปลาบึกอาศัยในแม่น้ำโขงนับตั้งแต่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนลงมาจนถึงเมียนม่าร์
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย สารธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนกัมพูชา
และสาธารณรัฐเวียดนามตอนใต้
แต่ไม่เอยปรากฏว่าพบในบริเวณน้ำกร่อยหรือบริเวณปากแม่น้ำโขงที่ไหลออกสู่ทะเลจีนใต้
ประเทศไทยพบว่าปลาบึกอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงตอนที่กั้นพรมแดนไทยโดยตลอด
คือนับตั้งแต่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ลงไปจนถึงอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
แหล่งที่พบปลาบึกอาศัยอยู่ชุกชุมมากที่สุดอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดหนองคาย
โดยเฉพาะวังปลาบึกหรืออ่างปลาบึกบ้านผาตั้ง อำเภอศรีเชียงใหม่
ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของปลาบึกมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ในสมัยเมื่อ 40 ปีก่อน
เฉพาะวังปลาบึกเคยจับปลาบึกได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40 – 50 ตัว
ส่วนปลาบึกที่จับได้ที่จังหวัดเชียงราย ชาวประมงเชื่อว่าเป็นปลาที่อพยพย้ายถิ่นมาจากวังปลาบึกที่หลวงพระบาง

______________________________________________________________________



ชื่อไทย บึก ไตรราช
ชื่อสามัญ MEKONG GIANT CATFISH
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pangasianodon gigas
ถิ่นอาศัย แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแหล่งเดียวในโลกที่เป็นถิ่นอาศัยของปลาบึก
ลักษณะทั่วไป เป็นปลาไม่มีเกล็ดหรือที่เรียกกันว่า ปลาหนัง นับเป็นปลาน้ำจืดซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ลำตัวยาวด้านข้างแบน หัวค่อนข้างเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ตามีขนาดเล็กและอยู่ในระดับเดียวกับมุมปากมีหนวดสั้นมากมีอยู่ 2 คู่ ปากเล็ก ปลาวัยอ่อนจะมีฟันอยู่บนขากรรไกร เมื่อปลาเจริญวัย ฟันจะหลุดหายไป ลำตัวมีสีเทาปนดำบริเวณหลัง ด้านท้องใต้แนวเส้นข้างตัวลงเป็นสีเหลือง ส่วนล่างสุดจะเป็นสีขาวเงิน ปลาบึกมีประวัติความเป็นมายาวนานมีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาเป็นเวลาร้อยปี โดยชาวเขมรและลาวเชื่อกันว่า ปลาบึกตัวเมียมีถิ่นอาศัยอยู่เฉพาะในทะเลสาบเขมรเท่านั้น เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จะเดินทางขึ้นไปตามลำน้ำโขง ผ่านประเทศลาว ไทย พม่า ขึ้นถึงทะเลสาบตาลีในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อผสมกับตัวผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลสาบดังกล่าว ปลาบึกตัวผู้มีลักษณะพิสดารกว่าตัวเมีย คือ จะมีเกล็ดเป็นสีทอง และสิงสถิตอยู่แต่ในทะเลสาบตาลีเท่านั้น
การสืบพันธุ์ ฤดูสืบพันธุ์เริ่มต้นหลังจากสิ้นฤดูฝน และเป็นระยะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มลดลง ระยะนี้ปลาบึกที่หากินบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่างจะอพยพขึ้นสู่ตอนบนเพื่อวางไข่ผสมพันธุ์ การผสมพันธุ์เริ่มโดยตัวเมียจะลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ แล้วค่อยๆตะแคงข้างและหงายท้องขึ้น จากนั้นตัวผู้จะลอยตามขึ้นมา และคอยจังหวะเลื่อนตัวขึ้นทับตัวเมีย แล้วจะจมสู่ก้นน้ำพร้อมกัน ทำอยู่อย่างนี้หลายครั้งจนกว่าตัวเมียจะปล่อยไข่หมด แล้วจะไม่โผล่ขึ้นมาให้เห็นอีก หรือเพาะพันธุ์โดยการผสมเทียมก็ได้
อาหารธรรมชาติ กินตะไคร่น้ำ ลูกปลาวัยอ่อน กินไรน้ำ ลูกปลาขนาดเล็ก
การแพร่กระจาย -
สถานภาพ (ความสำคัญ) เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ




ที่มาของข้อมูล : กรมประมง

______________________________________________________________________


Create Date : 20 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2550 13:15:14 น. 0 comments
Counter : 9287 Pageviews.  
 

P_ปรัชญา
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 63 คน [?]




หยิ่ง
กับตัวเองบ้าง
ในบางครั้ง

เบื่อ
ชีวิตความผิดหวัง
ในบางหน

เกลียด
ความไม่จริงใจ
ในบางคน

ยอมทน
คนหยามเหยียดได้
ในบางที


[Add P_ปรัชญา's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com