ปลาบึก

ปลาบึก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลาบึก (Pangasianodon gigas) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ไม่มีเกล็ด อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงบริเวณประเทศลาว เป็นปลาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากการจับปลามากเกินไป คุณภาพน้ำที่แย่ลงจากการพัฒนาและการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ ปัจจุบัน IUCN จัดปลาบึกอยู่ในกลุ่ม Critically Endangered ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก

ลักษณะภายนอกที่สามารถแยกแยะปลาบึกออกจากปลา catfish ขนาดใหญ่อื่นในแม่โขง ได้แก่ลักษณะของฟันและหนวด ปลาบึกไม่มีฟันและเกือบจะไม่มีหนวด โดยที่ปลาวัยอ่อนมีฟันและกินปลาอื่นเป็นอาหาร แต่เมื่อโตขึ้นฟันจะหลุดไป และตาซึ่งจะอยู่ต่ำกว่ามุมปาก อาหารของปลาในธรรมชาติคือพืชชนิดต่าง ๆ เช่นตะไคร่น้ำ แต่เมื่อนำมาเลี้ยงก็สามารถรับอาหารชนิดอื่นได้ สามารถโตได้ถึง 3 เมตรและหนัก 150-200 กิโลกรัม ใน 5 ปี ปลาที่หนักที่สุดเท่าที่เคยจับได้เป็นตัวเมีย (บางรายงานระบุผิดว่าเป็นตัวผู้) ยาว 2.7 เมตร และหนัก 293 กิโลกรัม (646 ปอนด์) เจ้าหน้าที่กรมประมงสามารถรีดไข่ได้สำเร็จแต่ปลาตัวนี้ก็ตายก่อนที่จะปล่อยกลับธรรมชาติ

ในธรรมชาติยังไม่มีผู้พบปลาวัยอ่อน ปลาบึกเป็นปลาที่อพยพว่ายน้ำจากแม่น้ำโขงในเขตประเทศจีน เพื่อที่จะไปผสมพันธุ์และวางไข่ที่ทะเลสาบเขมร โดยฤดูกาลที่ปลาอพยพมานั้น ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จะถือว่าเป็นประเพณีจับปลาบึก โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

ปลาบึกถือเป็นอาหารที่หรูของประเทศลาว ในอดีตมีการประกอบพิธีกรรมร่วมกับการจับปลาชนิดนี้ ซึ่งมีการจับเพียงครั้งเดียวต่อปี และเนื้อปลาก็พบเห็นได้น้อยตามตลาด นอกจากเนื้อแล้ว ตับและไข่ปลาหมักเป็นอาหารรสชาติดี และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย

ปลาบึกมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า " ไตรราช "
______________________________________________________________________


จับบิ๊กบึกยาว 2.4 เมตรในโตนเลสาป
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 พฤศจิกายน 2550 11:27 น.


เซ็ป โฮแกน (ขวา) กับคณะจับได้ตอนประมาณเที่ยงคืนวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นตัวเดียวที่จับได้ในปีนี้ (ภาพ: National Geographic Society)

นักวิจัยชาวอเมริกันกับชาวประมงพื้นบ้านจับปลาบึกขนาดใหญ่ได้ 1 ตัวในแม่น้ำโตนเลสาป
(Tonle Sap) ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมาก่อนจะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ

ปลาบึกตัวนี้มีความยาวตลอดลำตัว 8 ฟุต หรือ 2.40 เมตร น้ำหนัก 204 กิโลกรัม
ไม่ใช่ตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยจับได้ แต่หากเป็นเพียงตัวเดียวที่จับได้ในแม่น้ำโตนเลสาปปีนี้
ท่ามกลางความวิตกกังวลของนักอนุรักษ์

"นี่เป็นเพียงปลาบึกตัวเดียวที่จับได้ในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่แย่ที่สุดเท่าที่มีมาสำหรับสัตว์ยักษ์ชนิดนี้"
เซ็ป โอแกน (Zep Hogan) แห่งมหาวิทยาลัยรีโน อริโซนา สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้จดบันทึกรายละเอียดต่างๆ
ก่อนจะปล่อยเจ้าบึกตัวล่าสุดลงน้ำไป โดยไม่มีอันตรายใดๆ

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าในครั้งหนึ่งปลาบึก (Pangasianodon hypophthalmus)
หาพบได้ทั่วไปในแม่น้ำโตนเลสาปกับลำน้ำโขง รวมทั้งในบริเวณใกล้กับกรุงพนมเปญด้วย
แต่ในศตวรรษที่ผ่านมาประชากรปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกพันธุ์นี้ลดลง 95-99%
ปัจจุบันเชื่อว่ามีปลาบึกที่โตแล้วเหลืออยู่ไม่กี่ร้อยตัว

นับตั้งแต่ปี 2543 ทั่วทั้งย่านแม่น้ำโขงเคยมีการจับปลาบึกได้ปีละ 5-10 ตัว
ตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเคยจับได้ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ความยาวถึง 2.7 เมตร
หรือเกือบ 9 ฟุต น้ำหนัก 293 กก.

นายโฮแกนได้เริ่มโครงการที่เรียกว่า MegaFishes Project เมื่อต้นปีนี้
เพื่อเริ่มทำบันทึกต่างๆ เกี่ยวกับปลาบึก โดยได้รับการสนับสนุนจาก National Geographic
Conservation Trust and Expeditions Council

ปลาบึกก็เช่นเดียวกันกับปลาอีกหลายชนิดในลำน้ำโขง
ใช้ทะเลสาบโตนเลสาปในกัมพูชาเป็นที่วางไข่
ก่อนจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปหากินตามลำน้ำโขงในลาวและประเทศไทย



หลายปีก่อนนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ MegaFishes Projects
เคยจับได้ปีละ 5-6 ตัว และทำบันทึก-ติดเครื่องหมาย ปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ
ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าปลากยักษ์แม่น้ำโขงจะสูญพันธุ์ในเร็วๆ กว่าที่คิด
(ภาพ: National Geographic Society


องค์การพัฒนาภาคเอกชนอนุรักษ์สภาพแวดล้อม โครงการ TERRA
กับโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ออกแถลงการณ์สัปดาห์ที่แล้ว
แสดงความห่วงใยต่อการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง 6-7 แห่ง ทั้งในกัมพูชา ลาวและไทย

องค์การอนุรักษ์เหล่านี้ได้เน้นให้เห็นอันตรายต่อสภาพนิเวศน์จากการสร้างเขื่อนดอนสะฮอง
ในภาคใต้ของลาวซึ่งจะปิดกั้นทางผ่านเข้าสู่แม่น้ำโขงของฝูงปลานานาพันธุ์จากโตนเลสาปโดยตรง

แถลงการณ์ได้เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission)
ซึ่งประชุมร่วมกับประเทศผู้บริจาคในเมืองเสียมราฐวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา
ให้เอาใจใส่ต่อสภาพนิเวศน์ในลำน้ำโขงที่กำลังถูกบั่นทอนจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นลำน้ำ

เดือน ต.ค.-ธ.ค.ทุกปี เป็นเดือนที่ปลาบึกกับปลาอีกหลากชนิด
จะอพยพจากโตนเลสาป จ.เสียมราฐ ไปตามลำน้ำตอนโลสาป และเข้าสู่ลำน้ำโขงใกล้กับกรุงพนมเปญ
ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกระสวนการดำรงชีวิตของชีวะนานาพันธุ์แถบนี้มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล

สหภาพเพื่อการอนุรักษ์ (World Conservation Union) หรือ IUCN
ที่มีสำนักงานใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ได้ออกรายงาน “บัญชีแดง” (Red List)
รายชื่อสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ครั้งเมื่อปี 2546 จัดให้ปลาบึกเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง



บิ๊กตัวนี้จับได้ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมื่อหลายปีก่อน ความยาว 2.70 เมตร เท่าๆ
กับความสูงของหมีกริซลี (Grizzly) ตัวหนึ่ง ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการบันทึกเอาไว้ตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจปี 2524
(ภาพ: National Geographic Society)



เวลาต่อมาบิ๊กบึกตัวนั้นเสียชีวิต
เป็นลาภปากของชาวบ้านที่เชื่อว่ารับประทานเนื้อปลายักษ์จะมีโชคมีลาภและอายุยั่งยืนนาน
(ภาพ: National Geographic Society)

“ปลาบึก.หนังสือกินเนสส์บุ๊คออฟเร็คคอร์ดบันทึกให้เป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น
ในปัจจุบันหายากยิ่งในภาคเหนือของไทย ภาคใต้ลาวและเวียดนาม” IUCN กล่าว

“มีการจับปลาบึกได้เพียง 11 และ 8 ตัวในปี 2544 และ 2545 ในปี 2546
ชาวประมงจับปลาบึกได้ 6 ตัวในกัมพูชา
ทั้งหมดถูกปลายตัวในเวลาต่อมาตามโครงการอนุรักษ์ปลาแม่น้ำโขง” IUCN กล่าว

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้ติดแผ่นรหัสปลาไปประมาณ 2,000 ตัว
ส่วนใหญ่เป็นปลาบึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโตนเลสาปและในแม่น้ำโตนเลสาปกัมพูชา

ที่นี่ดูจะเป็นปราการสุดท้ายสำหรับปลายักษ์ ที่เคยอยู่คู่อนุภูมิภาคแม่น้ำโขงมาแต่ครั้งโบราณ.

______________________________________________________________________

ปลาบึกเป็นปลาไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ 3 เมตร
มีน้ำหนักมากกว่า 250 กิโลกรัม พบเฉพาะในแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาขาเท่านั้น
ปลาบึกถูกจัดเป็นปลาชนิดที่มีจำนวนน้อยใกล้สูญพันธุ์ [Endangered species]
ชื่อซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไป คือ Mekong giant catfish
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pangasianodon gigas เป็นปลาที่กินพืชเป็นอาหาร
ไม่มีฟันทั้งที่ขากรรไกรและเพดานปาก สำหรับแหล่งจับปลาบึกที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย
อยู่ที่บ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ ฤดูจับปลาบึกของชาวประมง
จะเริ่มต้นประมาณปลายเดือนเมษายนของทุกปี จนถึงต้นเดือนมิถุนายน โดยใช้เครื่องมือมองไหล
ด้วยเป้าหมายที่ต้องการจะอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึก และเพื่อเพิ่มปริมาณปลาบึกในแหล่งน้ำธรรมชาติ
กรมประมงจึงได้พยายามดำเนินการเพาะขยายพันธุ์

จนประสบผลสำเร็จครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526
ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าวทำให้การศึกษาทางอนุกรมวิธานของปลาบึกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
และทำให้ทราบว่าลูกปลาบึกมีลักษณะหลาย ๆ ประการที่แตกต่างไปจากปลาที่โตเต็มวัย
เช่นมีฟันบนขากรรไกร และเพดานปาก และจะหลุดร่วงไปหมดเมื่อโตเต็มวัย
ได้มีการนำพันธุ์ปลาบึกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ
เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจและติดตาม
ทำให้ทราบว่าปลาบึกสามารถเจริญเติบโตในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ปีละประมาณ 10 – 12 กิโลกรัม



การเพาะพันธุ์ปลาบึกในบ่อดิน

กรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกโดยใช้พ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำโขง
ในปี 2526 จากนั้นได้ทำการศึกษาวิจัยปลาบึกรุ่นลูก (F1)
โดยเลี้ยงในบ่อดินเพื่อให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา
จนมีความสมบูรณ์เพศ นำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้เป็นครั้งแรกในปี 2543 จึงได้ทำการทดลองเพาะพันธุ์
ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ในครั้งนั้นสามารถรีดไข่จากท้องแม่ปลาบึกได้ประมาณ 100 กรัม
สำหรับพ่อปลาบึกรีดน้ำเชื้อได้ปริมาณมาก แต่ไข่ปลาที่ได้รับการผสมจาก
น้ำเชื้อพัฒนาไปได้ระดับหนึ่งเท่านั้น และไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวปลาได้
จากประสบการณ์และแนวทางในการเพาะพันธุ์ปลาบึกในคราวนั้น
ทำให้ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกในปี 2544
โดยสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึกได้ จำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2544
แม่ปลาน้ำหนัก 54 กิโลกรัม และพ่อปลาน้ำหนัก 41 กิโลกรัม ได้ลูกปลาบึกรุ่นแรก จำนวน 9 ตัว
ขณะนี้เหลือรอดเพียง 1 ตัว ถือว่าเป็นปลาบึกตัวแรกที่เพาะพันธุ์ได้สำเร็จ (ปลาบึกรุ่นหลาน F2)
โดยใช้เวลารอคอยนานถึง 18 ปี การเพาะพันธุ์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544
แม่ปลามีน้ำหนัก 54 กิโลกรัม พ่อปลาน้ำหนัก 60 กิโลกรัม รีดไข่จากแม่ปลาได้ไข่น้ำหนัก 1,200 กรัม
น้ำหนักไข่ 1 กรัม นับได้ 656 ฟอง ได้ไข่ปลา 787,200 ฟอง ไข่ได้รับการผสม 558,940 ฟอง
(71.0%) ได้ลูกปลา 441,176 ตัว (อัตรารอด 56.04%) เมื่อลูกปลามีอายุ 3 วัน
เหลือลูกปลาจำนวน 330,250 ตัว (41.95%) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2544
แม่ปลามีน้ำหนัก 47 กิโลกรัม พ่อปลาหนัก 40 กิโลกรัม ทำการเพาะพันธุ์และรีดไข่ได้ 743 กรัม
น้ำหนักไข่ 1 กรัม นับได้ 506 ฟอง ได้ไข่ปลา 375,958 ฟอง ไข่ได้รับการผสม 242,004 ฟอง
(64.37%) เมื่อลูกปลามีอายุ 3 วัน เหลือลูกปลาจำนวน 70,000 ตัว (18.62 %)
ขณะนี้เหลือลูกปลาจากการเพาะพันธุ์ครั้งที่ 2 จำนวน 60,000 ตัว
และเหลือจากการเพาะพันธุ์ครั้งที่ 3 จำนวน 10,000 ตัว ลูกปลามีขนาด 5-7 นิ้ว
และกรมประมงได้สั่งการให้กระจายลูกปลาไป 4 ภาค ทั้งประเทศ
เพื่อปล่อยแหล่งน้ำและจำหน่ายให้ประชาชนนำไปเลี้ยง

โดยภาคใต้มีจุดรวมปลาอยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฏร์ธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น
ภาคตะวันออกอยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดชลบุรี
ภาคกลางอยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดพระนครศรีอยุธยา
ภาคเหนืออยู่ที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา และสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดเชียงราย
นอกจากนี้กรมประมงได้ส่งลูกปลาชุดนี้ไปเลี้ยงยังสถานีประมงทุกแห่งทั่วประเทศ แห่งละ 50 ตัว
และศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด แห่งละ 100 ตัว เพื่อเลี้ยงให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในรุ่นต่อไป




ลักษณะทั่วไปของปลาบึก (Morphology)

ปลาบึกเป็นปลาขนาดใหญ่ มีรูปร่างเพรียวขาวแบนข้างเล็กน้อย
ลูกปลาบึกขนาดเล็กมีสีคล้ำเหลือบเหลือง ข้างลำตัวมีแถบสีคล้ำตามยาว 1 – 2 แถบ
ครีบหางตอนบนและล่างมีแถบสีคล้ำตามยาว ในปลาขนาดใหญ่ด้านหลังของลำตัวจะมีสีเทาอมน้ำตาลแดง
ด้านข้างเป็นสีเทาปนน้ำเงินและจางกว่าด้านหลัง เมื่อค่อนลงมาทางท้องสีจะจางลงเรื่อย ๆ
จนเป็นสีขาวเงิน ตามลำตัวมีจุดสีดำค่อนข้างกลมกระจ่ายอยู่ห่าง ๆ กันเกือบทั่วตัว

บริเวณจงอยปากมีรูจมูก 2 คู่ ตั้งอยู่บนริมผีปากทางด้านข้างจงอยปาก
คู่หน้าอยู่ชิดกันมากกว่าคู่หลัง นัยตาของปลาบึกมีขนาดเล็กอยู่เป็นอิสระไม่ติดกับขอบตามีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ใน 20 เท่า
ของความยาวหัว ตำแหน่งของนัยตาอยู่ต่ำกว่าระดับมุมปาก ลูกตามีหนังบาง ๆ
คลุมด้านขอบเล็กน้อยเปิดเป็นช่องรูปกลมที่กึ่งกลางกะโหลกมีจุดสีขาวขนาดเดียวกับตา 1 จุด

ครีบหลัง มีสีเทาปนดำ จุดเริ่มต้นของครีบหลังอยู่ล้ำหน้าจุดเริ่มต้นของครีบท้อง
แต่ไม่ถึงกึ่งกลางของลำตัว ก้านครีบแข็งเป็นเงี่ยงแต่สั้นและทู่ลงเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น

ครีบอก มีสีเทาปนดำอยู่ค่อนข้างต่ำ ประกอบด้วยก้านครีบแข็งใหญ่ 1 อัน
ซึ่งปลายโค้งงอได้ไม่แข็งเป็นเงี่ยง หรือหยักเป็นฟันเลื่อย ก้านครีบอ่อนมีจำนวน 10 อัน
ความยาวครีบอกมีขนาดเท่าหรือเกือบเท่ากับความยาวครีบหลัง คือมีความยาวครึ่งหนึ่งของหัว

ครีบท้อง มีสีเทาอ่อน มีก้านครีบโค้งงอได้ 1 อัน
มีก้านครีบอ่อนจำนวน 7 อัน

ครีบก้น มีสีเทาอ่อน มีก้านครีบแข็งที่โค้งงอได้ 5 อัน ก้านครีบอ่อน
29 – 32 อัน

ครีบไขมัน มีสีเทาปนดำ มีขนาดเล็กอยู่ค่อนไปทางครีบหาง

ครีบหาง มีสีเทาปนดำ ขนาดอ่อนข้างสั้นเว้าลึก
ส่วนของแพนหางบนและล่างมีขนาดเท่ากัน
ถิ่นที่อยู่อาศัย

ปลาบึกชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีระดับน้ำลึกกว่าสิบเมตร
พื้นท้องน้ำเต็มไปด้วยก้อนหินและโขดหินสลับซับซ้อนกัน ยิ่งมีถ้ำใต้น้ำด้วยแล้วปลาบึกจะชอบมากที่สุด
ปลาบึกขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในระดับน้ำที่ลึกอาศัยถ้ำใต้น้ำเป็นที่หลบซ่อนตัว
นอกจากนี้ยังได้ตะไคร่น้ำที่ขึ้นตามโขดหินกินเป็นอาหาร

ปลาบึกมีเฉพาะในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
แม้ว่าบางครั้งอาจจับปลาบึกได้จากแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ที่เป็นสาขาของแม่น้ำโขง
เช่น แม่น้ำสงคราม จังหวัดนครพนม แม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี
แม่น้ำงึมแขวงนครเวียงจันทร์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ปลาที่จับได้เชื่อแน่ว่าเป็นปลาที่เข้าไปหากินในลำน้ำเป็นการชั่วคราว
ปลาบึกอาศัยในแม่น้ำโขงนับตั้งแต่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนลงมาจนถึงเมียนม่าร์
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย สารธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนกัมพูชา
และสาธารณรัฐเวียดนามตอนใต้
แต่ไม่เอยปรากฏว่าพบในบริเวณน้ำกร่อยหรือบริเวณปากแม่น้ำโขงที่ไหลออกสู่ทะเลจีนใต้
ประเทศไทยพบว่าปลาบึกอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงตอนที่กั้นพรมแดนไทยโดยตลอด
คือนับตั้งแต่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ลงไปจนถึงอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
แหล่งที่พบปลาบึกอาศัยอยู่ชุกชุมมากที่สุดอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดหนองคาย
โดยเฉพาะวังปลาบึกหรืออ่างปลาบึกบ้านผาตั้ง อำเภอศรีเชียงใหม่
ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของปลาบึกมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ในสมัยเมื่อ 40 ปีก่อน
เฉพาะวังปลาบึกเคยจับปลาบึกได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40 – 50 ตัว
ส่วนปลาบึกที่จับได้ที่จังหวัดเชียงราย ชาวประมงเชื่อว่าเป็นปลาที่อพยพย้ายถิ่นมาจากวังปลาบึกที่หลวงพระบาง

______________________________________________________________________



ชื่อไทย บึก ไตรราช
ชื่อสามัญ MEKONG GIANT CATFISH
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pangasianodon gigas
ถิ่นอาศัย แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแหล่งเดียวในโลกที่เป็นถิ่นอาศัยของปลาบึก
ลักษณะทั่วไป เป็นปลาไม่มีเกล็ดหรือที่เรียกกันว่า ปลาหนัง นับเป็นปลาน้ำจืดซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ลำตัวยาวด้านข้างแบน หัวค่อนข้างเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ตามีขนาดเล็กและอยู่ในระดับเดียวกับมุมปากมีหนวดสั้นมากมีอยู่ 2 คู่ ปากเล็ก ปลาวัยอ่อนจะมีฟันอยู่บนขากรรไกร เมื่อปลาเจริญวัย ฟันจะหลุดหายไป ลำตัวมีสีเทาปนดำบริเวณหลัง ด้านท้องใต้แนวเส้นข้างตัวลงเป็นสีเหลือง ส่วนล่างสุดจะเป็นสีขาวเงิน ปลาบึกมีประวัติความเป็นมายาวนานมีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาเป็นเวลาร้อยปี โดยชาวเขมรและลาวเชื่อกันว่า ปลาบึกตัวเมียมีถิ่นอาศัยอยู่เฉพาะในทะเลสาบเขมรเท่านั้น เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จะเดินทางขึ้นไปตามลำน้ำโขง ผ่านประเทศลาว ไทย พม่า ขึ้นถึงทะเลสาบตาลีในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อผสมกับตัวผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลสาบดังกล่าว ปลาบึกตัวผู้มีลักษณะพิสดารกว่าตัวเมีย คือ จะมีเกล็ดเป็นสีทอง และสิงสถิตอยู่แต่ในทะเลสาบตาลีเท่านั้น
การสืบพันธุ์ ฤดูสืบพันธุ์เริ่มต้นหลังจากสิ้นฤดูฝน และเป็นระยะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มลดลง ระยะนี้ปลาบึกที่หากินบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่างจะอพยพขึ้นสู่ตอนบนเพื่อวางไข่ผสมพันธุ์ การผสมพันธุ์เริ่มโดยตัวเมียจะลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ แล้วค่อยๆตะแคงข้างและหงายท้องขึ้น จากนั้นตัวผู้จะลอยตามขึ้นมา และคอยจังหวะเลื่อนตัวขึ้นทับตัวเมีย แล้วจะจมสู่ก้นน้ำพร้อมกัน ทำอยู่อย่างนี้หลายครั้งจนกว่าตัวเมียจะปล่อยไข่หมด แล้วจะไม่โผล่ขึ้นมาให้เห็นอีก หรือเพาะพันธุ์โดยการผสมเทียมก็ได้
อาหารธรรมชาติ กินตะไคร่น้ำ ลูกปลาวัยอ่อน กินไรน้ำ ลูกปลาขนาดเล็ก
การแพร่กระจาย -
สถานภาพ (ความสำคัญ) เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ




ที่มาของข้อมูล : กรมประมง

______________________________________________________________________




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2550 13:15:14 น.   
Counter : 9248 Pageviews.  


วังนาคินทร์



วังนาคินทร์

วังนาคินทร์คำชะโนด หรืออีกชื่อหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกคือ เมืองชะโนด อยู่ระหว่าง ต.วังทอง และ ต.บ้านม่วง และ ต.จันทร์ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี

ตามตำนานกล่าวว่า เมืองชะโนด มี เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ เป็นใหญ่ ครองเมืองหนองกระแสครึ่งหนึ่ง มีบริวาร 5,000 ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของ สุวรรณนาค และมีบริวาร 5,000 เช่นกัน ทั้งสองฝ่ายอยู่ด้วยกันด้วยความรัก สามัคคี มีอะไรก็แบ่งกันกินเป็นเช่นนี้ตลอดมา จนอยู่มาวันหนึ่ง สุวรรณนาค พาบริวารออกไปล่าเนื้อหาอาหาร ได้ช้างมาเป็นอาหาร จึงได้แบ่งให้

สุทโธนาค ครึ่งหนึ่ง พร้อมกับนำขนช้างไปให้ดูเพื่อเป็นหลักฐาน ต่างฝ่ายต่างก็อิ่มหนำสำราญ และอยู่มาวันหนึ่ง สุวรรณนาค ก็ออกหาอาหารอีก ครั้งนี้ได้เม่นมาเป็นอาหาร จึงได้แบ่งให้สุทโธนาคไปครึ่งหนึ่ง พร้อมกับนำขนไปให้เพื่อเป็นหลักฐานเช่นเคย เม่นตัวนิดเดียวแต่ขนใหญ่ เมื่อแบ่งให้ สุทโธนาค ก็ไม่พอใจ เพราะพิจารณาดูแล้ว ขนาดขนยังใหญ่ขนาดนี้ แล้วตัวคงใหญ่กว่านี้แน่นอน จึงไม่รับเนื้อเม่น พร้อมกับส่งคืน สุวรรณนาค เห็นดังนั้นจึงไปชี้แจงให้ทราบ ขอให้รับไว้เป็นอาหาร และผลสุดท้ายทั้งสองจึงประกาศสงครามกัน สาเหตุที่เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งออกหาอาหาร อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่ต้องออกไป เพราะกลัวว่าบริวารจะปะทะกัน

เมื่อประกาศสงครามกันขึ้น ต่างฝ่ายต่างก็ระดมไพร่พลบริวาร สงครามเกิดขึ้น ไม่มีฝ่ายไหนแพ้ ชนะ พญานาคทั้งสองรบกันอยู่เป็นเวลา 7 ปี ก็ไม่มีใครแพ้ ชนะ เพราะต่างฝ่ายต่างก็หวังครองหนองกระแสเพียงฝ่ายเดียว จนทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่รอบ ๆ หนองกระแสเกิดความเสียหาย เดือดร้อนไปตาม ๆ กัน พื้นโลกสะเทือนเกิดแผ่นดินไหว เทวดาต่างก็เดือดร้อนกันไปด้วยสามภพ ความเดือดร้อนทราบไปถึงพระอินทราธิราชผู้เป็นใหญ่ เทวดาทั้งหลายต่างก็พากันไปร้องทุกข์และเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้พระอินทร์ได้ทราบ ดังนั้นจึงได้หาวิธีให้พญานาคทั้งสองหยุดรบกัน เพื่อความสงบสุขของไตรภพ จึงได้เสด็จลงจากดาวดึงส์มายังเมืองมนุษย์โลก ที่หนองกระแส แล้วตรัสเป็นเทวราชโองการ ว่า "ให้ท่านทั้งสองหยุดรบกันเดี๋ยวนี้" การทำสงครามครั้งนี้ถือว่าเสมอกัน และให้หนองกระแสเป็นเขตปลอดสงคราม และให้พญานาคทั้งสองสร้างแม่น้ำคนละสาย จากหนองกระแส ใครสร้างถึงทะเลก่อนจะได้ปลาบึกไปไว้ในแม่น้ำแห่งนั้น และให้ถือเอาภูเขาพญาไฟเป็นเขตกั้นคนละฝ่าย ใครข้ามไปราวีรุกรานกันขอให้ไฟจากภูเขาไฟไหม้ฝ่ายนั้นเป็นจุลมหาจุล

หลังจากพระอินทร์ตรัสเป็นเทวราชโองการเช่นนั้น สุทโธนาค พร้อมไพร่พลอพยพออกจากหนองกระแสสร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศตะวันออกของหนองกระแส เมื่อถึงตรงไหนเป็นภูเขาก็คดโค้งไปตามภูเขา หรืออาจจะลอดภูเขาบ้างตามความยกง่ายในการสร้าง เพราะสุทโธนาคเป็นคนใจร้อน แม่น้ำนี้เรียกว่า "แม่น้ำโขง" คำว่า โขง มาจากคำว่า โค้ง ได้ถึงทะเลก่อนจจีงได้เป็นผู้ชนะปลาบึกจึงอยู่แม่น่ำโขง ส่วนฝั่งลาวเรียกว่า แม่น้ำของ

ส่วน สุวรรณนาค เมื่อได้รับเทวราชโองการก็พาบริวารไพร่พลออกจากหนองกระแส สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศใต้ของหนองกระแส สุวรรณนาค เป็นคนตรงพิถีพิถันและยังเป็นผู้มีจิตใจเย็น การสร้างแม่น้ำจึงต้องทำให้ตรง เ แม่น้ำนี้เรียกว่า แม่น้ำน่าน แม่น้ำแห่งนี้จึงเป็นแม่น้ำที่ตรงกว่าแม่น้ำทุกสานในประเทศไทย

การสร้างแม่น้ำแข่งขัน ปรากฏว่า สุทโธนาค สร้างแม่น้ำโขงเสร็จก่อนตามสัญญาของพระอินทร์ สุทโธนาค เป็นผู้ชนะ และปลาบึกจึงต้องไปอยู่แม่น้ำโขงแห่งเดียวในโลก

จากนั้น สุทโธนาค สร้างเสร็จ ปลาบึกขึ้นอยู่แม่น้ำโขงและเป็นผู้ชนะตามสัญญาแล้ว จึงได้แผลงฤทธิ์เหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ณ ดาวดึงส์ ทูลถามพระอินทร์ว่า "ตัวข้าเป็นชาติเชื้อพญานาค จะอยู่โลกมนุษย์นานเกินไปก็ไม่ได้" จึงได้ขอทางขึ้นลงระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองมนุษย์ เอาไว้ 3 แห่ง พร้อมกับทูลถามว่า "จะให้ครอบครองอยู่ตรงไหนแน่นอน" พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่จึงอนุญาตให้มีรูพญานาคเอาไว้ 3 แห่ง คือ ที่ธาตุหลวงนครเวียงจันทน์ ที่หนองคันแท และที่พรหมประกายโลก

(คำชะโนด) ธาตุหลวงนครเวียงจันทน์ และหนองคันแท เป็นทางขึ้น-ลงของพญานาคเท่านั้น ส่วนพรหมประกายโลก คือที่พรหมได้กลิ่นไอดิน เมื่อพรหม เทวดา ลงมากินดินจนหมดฤทธิ์ กลายเป็นมนุษย์ แล้วให้สุทโธนาคไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั่น ซึ่งมีต้น

ชะโนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ (ชะโนดมีลักษณะเหมือนต้นมะพร้าว ต้นหมาก และต้นตาล ผสมกัน) และให้ถือเป็นต้นไม้บรรพกาลให้สุทโธนาค มีลักษณะ 31 วัน ข้างขึ้น 15 วัน ให้สุทโธนาคและบริวารกลายร่างเป็นมนุษย์ เรียกว่า "เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธ" มีวังนาคินทร์คำชะโนดเป็นถิ่น และอีก 15 วันข้างแรม ให้สุทโธนาคและบริวารกลายร่างเป็นนาค และเรียกชื่อว่า "พญานาคราชศรีสุทโธ" ให้อาศัยอยู่เมืองบาดาล

ดังนั้นชาวบ้านม่วง บ้านเมืองไพร บ้านวังทอง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี จึงพบเห็นชาวเมืองชะโนดไปเที่ยวงานบุญ

ประจำปี ทั้งผู้หญิงผู้ชายอยู่หลายครั้ง บางทีจะเห็นผู้หญิงไปยืมฟืม (เครื่องมือทอผ้า) ไปทอผ้าอยู่เป็นประจำ และเมื่อคุยกับชาวบ้านถูกคอกันก็ได้นอนพักที่บ้านชาวบ้าน แต่ขอให้จัดที่นอนให้เป็นใต้ถุนบ้านในพะเนียด (กระเฌอใหญ่) แต่เมื่อชาวบ้านตื่นขึ้นมาดูหญิงสองคนนั้นกลายเป็นงูใหญ่นอนขดอยู่หรือไม่บางครั้งชาวเมืองชะโนด ได้จัดงานบุญประจำปี มีการมาว่าจ้างเอาภาพยนตร์ไปฉายที่เมืองชะโนดก็เคยมี จนหน่วยฉายหนังเร่เมืองอุดรธานี กลัวไปตาม ๆ กัน เรื่องนี้สามารถที่จะสอบถามชาวบ้านในระแวกนั้นได้ถึงเรื่องอัศจรรย์ต่าง ๆ หรือแม้เวลาที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่ที่คำชะโนดกลับยกตัวลอยขึ้นทั้งเกาะ น้ำจะไม่ท่วม เมื่อเวลาน้ำลดก็จะลดลงเหมือนเดิม

ผาแดง นางไอ่...เป็นตำนานรัก ระหว่างหญิงหนึ่ง-สองชาย เมื่อฝ่ายหนึ่งพลาดรักและเสียทีถูกทำร้ายตายไป ก็เกิดสงครามจนบ้านเมืองถล่มทลายกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ จุดกำเนิดตำนานรักอีสาน

ในเรื่องได้กล่าวถึง พระยาขอม ผู้ครอง เมืองเอกชะธีตา มีธิดาชื่อ นางไอ่คำ ที่อยู่ในวัยสาวอายุย่าง 15 ปี มีความงามเป็นที่เลื่องลือไปถึงเจ้าชายเมืองต่าง ๆ จนเป็นที่หมายปอง ใคร ๆ ก็อยากได้มาเป็นคู่ครอง และความงามที่เล่าลือนั้นก็ได้เข้าหูของ ผาแดง แห่ง เมืองผาโพง ด้วยความคิดถึง และอยากชมความงามของ นางไอ่คำ ผาแดง จึงได้แอบขี่ม้ามาหานางไอ่คำจนทั้งสองได้พบกันและเกิดความรัก สุดท้ายเมื่อทั้งสองได้เสียกันจึงสัญญากันว่าจะทำพิธีสู่ขอและแต่งงานตามประเพณีต่อไป

นอกจากนี้ยังมีเมืองหนึ่งชื่อ ศรีสัตตนาคนหุต มี สุทโธนาค ครองเมือง มีโอรสชื่อ พังคี สุทโธนาค ได้อพยพมาจากหนองแส เพราะผิดใจกับ สุวรรณนาค เพื่อนรัก เนื่องจากการแบ่งเนื้อเม่นได้น้อย เพราะคิดว่าสุวรรณนาคคิดไม่ซื่อ จึงทะเลาะกันจนเกิดสงคราม

ต่อมาเมื่อถึงเดือนหก พระยาขอม จะทำบุญบั้งไฟจึงได้จัดการแจ้งข่าวสารไปยังเมืองต่าง ๆ ให้ทำบั้งไฟมาร่วมงาน ส่วนผาแดงไม่ได้รับเชิญเพียงได้ทราบข่าวก็มา เนื่องเพราะมีสัญญารักกับนางไอ่คำอยู่แล้ว จึงได้ถือโอกาสนำบั้งไฟมาร่วม ก็ได้รับการต้อนรับจากพระยาขอมเป็นอย่างดี พระยาขอมได้ตั้งรางวัลเมื่อบั้งไฟของใครชนะ คือขึ้นสูงจะให้ทรัพย์สมบัติและนางสนมกำนัล ส่วน ผาแดง ถ้าชนะจะได้ยกนางไอ่คำให้ ในเวลาจุดบั้งไฟของเมืองต่าง ๆ ขึ้น ส่วนของพระยาขอมไม่ขึ้น ของ ผาแดง แตกกลางบั้ง พระยาขอมก็ไม่ทำตามสัญญา สุดท้ายเมืองอื่นก็กลับกันหมด ส่วน ผาแดง ก็กลับเมืองของตนพร้อมความทุกข์ เพราะรัก ประกอบกับบั้งไฟไม่ขึ้น ในการจุดบั้งไฟครั้งนี้ พังคี ลูกชาย สุทโธนาค ไม่ได้นำบั้งไฟมาร่วมเพราะเป็นนาค แต่ก็ได้แปลงกายเป็นกระรอกด่อน (เผือก) มาร่วมงานด้วย และได้หลงรักนางไอ่คำด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เข้าใกล้ตัวนางไอ่คำ เมื่อบุญบั้งไฟเลิกก็กลับบ้านพร้อมด้วยแบกเอาความรักกลับไปด้วย เมื่อถึงเมืองก็ไม่เป็นอันกินอันนอน จึงได้ลาพ่อมาหานางไอ่คำอีกครั้ง และแปลงกายเป็นกระรอกด่อนมาเหมือนเดิม ส่วนบริวารก็แปลงร่างเป็นสัตว์อื่น ๆ กระรอกด่อนพังคี แขวนกระดิ่งทองไว้ที่คอด้วย ได้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้ที่ใกล้ปราสาทของนางไอ่คำ เมื่อนางไอ่คำเห็นกระรอกก็อยากได้ จึงให้นายพรานจับกระรอก นายพรานได้ยิงกระรอกด้วยธนู ก่อนตาย พังคี ได้อธิษฐานว่า "ขอให้เนื้อของข้าจงมีพอกินแก่คนทั้งเมือง และอร่อย" เมื่อกระรอกตายชาวเมืองก็แบ่งกันจนทั่ว ยกเว้นแม่หม้าย เพราะไม่้ได้ช่วยงาน ฝ่ายบริวารพังคี เมื่อเห็นดังนั้นจึงรีบกลับไปบอกสุทโธนาค ๆ โกรธมาก จึงได้เกณฑ์พลนับหมื่นเพื่อถล่มเมืองพระยาขอม ใครกินเนื้อพังคีต้องฆ่าให้หมด

ในขณะเดียวกัน ผาแดง ที่รัก นางไอ่คำ อยู่แล้ว เมื่อถึงเมืองแล้วก็ไม่เป็นอันกินอันนอน จึงรีบขึ้นม้าบักสาม จากเมืองผาโพง สู่เมืองเอกชะธีตา เมื่อมาถึงนางไอ่คำก็ต้อนรับด้วยดี พร้อมจัดอาหารมาให้ ผาแดง รู้ว่าอาหารคือเนื้อกระรอกด่อนจึงไม่กิน และได้บอกแก่นางไอ่คำว่า หากใครกินเนื้อนี้แล้วบ้านเมืองจะถล่มถึงตาย พอตกกลางคืนกองทัพพญานาคก็มาถึงเมือง แผ่นปฐพีจึงถล่มเสียงดังสนั่นไปทั่ว ผาแดงจึงได้ให้ นางไอ่คำ เตรียมข้าวของพอที่จะเอาไปได เช่น แหวน ฆ้อง และกลองประจำเมือง แล้วรีบขึ้นม้าซ้อนท้ายผาแดงควบม้าออกจากเมืองทันที เมื่อพญานาครู้ว่านางไอ่คำหนี จึงได้ออกติดตามไปติด ๆ แผ่นดินถล่มไม่หยุด ถึงแม้ว่าจะควบม้าเร็วขนาดไหน พญานาคก็ยังไม่หยุดตาม จนในที่สุดม้าบักสามก็ค่อย ๆ หมดแรง พญานาคตามทันเอาหางตวัดเกี่ยวเอาตัวนางไอ่คำลงจากหลังม้า ส่วนผาแดงก็ควบม้าต่อไป พญานาคก็ตามไปอีก เพราะผาแดงมีแหวนของนางไอ่คำติดตัวไปด้วย และเมื่อเห็นพญานาคตามไปเช่นนั้น ผาแดงจึงทิ้งแหวนและก็ปลอดภัยในที่สุด ก่อนผาแดงจะพานางไอ่คำหนี...

ต่อมาเมื่อผาแดง ถึงเมืองผาโพง เสียใจที่สูญเสียคนรักไปต่อหน้าต่อตาม จึงได้อธิษฐานต่อเทพยดาว่า จะขอตายเพื่อไปต่อสู้กับพวกพญานาค กองทัพผีผาแดง กับ กองทัพพญานาคได้ต่อสู้กันอยู่นาน น้ำในบังในหนองขุ่นข้น ดินบนบกกลายเป็นฝุ่นตลบไปหมด ร้อนถึงพระอินทร์ ต้องลงมาระงับศึกให้ผาแดงกลับเมืองผี พญานาคกลับเมืองบาดาลตามเดิม ส่วนนางไอ่คำให้อยู่ที่เมืองบาดาลก่อน และขอให้พระศรีอาริย์ลงมาตัดสินก่อน ว่าใครคือสามีที่แท้จริง จึงจะให้นางไอ่คำไปอยู่กับคนนั้น

พญานาค กับ พระธาตุบังพวน

การที่คนเรานับถือสิ่งใด เรื่องใดนั้นย่อมรู้ในสิ่งนั้น ชื่อว่าเราได้นับถือกราบไหว้ด้วยความฉลาด และรู้แจ้งเรื่องนาคและเทวดา ที่ปรากฏในตำนานโบราณทุกแห่งนั้น มิใช่เรื่องเหลวไหลของผู้ศึกษาศาสตร์ และสร้างจิตให้มีอำนาจ แล้วย่อมสามารถมองเห็นเทวดา อมนุษย์ได้จริง ๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นวิสัยของเทพจักษุ ไม่ใช่ของมังสจักษุ

ในสมัยพุทธกาล เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จที่พระเซตวันมหาวิหาร ใกล้กรุงสาวัตถี พระองค์ได้พิจารณาถึงพุทธโบราณ ประเพณีของพระพุทธเจ้าในอดีตที่เสด็จเข้านิพพานไปแล้ว สาวกทั้งหลายได้นำเอาพระสารีริกธาตุไปฐาปนาไว้ในที่เหมาะสม พอรุ่งเช้าหลังจากที่พระอานนท์ได้ถวายน้ำชำระำพระโอษฐ์ และไม้สีฟัน หลังเสร็จกิจจึงทรงผ้ากัมพลสีแดง แล้วผินพระพักตร์สู่ทิศตะวันออกเสด็จลีลามาทางอากาศ มีพระอานนท์เป็นปัจนาสมณะติดตาม เมื่อเสด็จลงประทับที่ ดอนกอนเนา (เวียงจันทน์) แล้วเสด็จมาที่หนองคันแทเสื้อน้ำ แล้วไปประทับที่โพนจิกเวียงงัว ใต้ปากห้วยคุคำ (บ้านปะโค เวียงคุก) ทอดพระเนตรเห็น แลนคำ แลบลิ้น จึงทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์ทูลถาม พระองค์พญา กรณ ว่า ต่อไปบ้านเมืองนี้จะเจริญ และแลนคำนั้นก็คือ ปัพพาละนาค ตัวที่อยู่ภูเขาลวงริมน้ำบังพวน ต่อมานาคนั้นได้กลายร่างเป็นมาณพน้อย นุ่งห่มขาว เข้ามารับบาตร ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปสู่ภูเขาลวง หลังจากที่ปัพพาละนาคถวายภัตตาหาร พระองค์กระทำภัตตกิจเสร็จแล้วประทานผ้ากัมพลผืนหนึ่งแก่ ปัพพาละนาค แล้วเสด็จไปฉันเพลที่ใกล้เวินหลอด ต่อมาเรียกว่า เวินเพล (บ้านโพนฉัน-โพนแพง) จากนั้น สุกขหัตถีนาค เนรมิตเป็นช้างถือดอกไม้มาขอเอารอยพระพุทธบาท พระองค์ได้ย่ำรอยพระบาทไว้ที่แผ่นหินใกล้ริมน้ำชั่วเสียงช้างร้องได้ยิน (ปัจจุบันเรียกว่า พระบาทโพนฉัน)

พญานาคสร้างเมือง

ณ ที่ตำบลหนองคันแทเสื้อน้ำ ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีชายคนหนึ่งลักษณะดำพุงใหญ่ชื่อว่า "บุรีจันทร์ อ่วยล้วย" เป็นผู้มีใจบุญสุนทาน จิตใจเป็นกุศล โอบอ้อมอารีย์แก่คนและสัตว์ ทำบุญให้ทานอยู่เป็นนิตย์ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ร่องสะแก ในเวียงจันทน์ทุกวันนี้ ครั้งนั้นมีพระอรหันต์ 2 องค์ มาจากราชคฤห์นคร อาศัยอยู่ที่นั่นองค์หนึ่งชื่อ มหาพุทธวงศา อยู่ริมน้ำบึง องค์หนึ่งชื่อ มหาสัชชะตี อยู่บ้านโพนเหนือ น้ำบึง บุณีจันทร์ อ่วยล้วย เป็นผู้อุปัฏฐากท่านทั้ง 2 ให้มีความสุขด้วยปัจจัยไม่ขาด

ด้วยอำนาจบุญกุศลช่วยชู ทำให้คนทั้งหลายมีความรักนับถือ บุรีจันทร์ อ่วยล้วย จึงได้พร้อมกันยกให้เป็นอาจารย์สั่งสอน ทั้งศีลธรรม และศิลปกรรม หัตถกรรม และการกสิกรรม จนในที่สุด บุรีจันทร์ อ่วยล้วย ก็เป็นที่รักของมนุษย์ และเทวดา นาค จึงมีนาคมาคอยช่วยเหลือในกิจการต่าง ๆ มิขาด โดยมี สุวรรณนาค เป็นต้น ได้พิจารณาตั้งเมืองในที่เหมาะสม และเนรมิตบ้านเมืองให้แก่บุรีจันทร์ อ่วยล้วย

อยู่มาวันหนึ่ง ชาวบ้านทำนา เมื่อข้าวออกรวง น้ำก็มาท่วมเสีย สุวรรณนาค จึงให้ เศรษฐไชยนาค เนรมิตเป็นคันแทกั้นน้ำไว้ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมข้าว ที่นั่น คนจึงเรียกว่า "หนองคันแทเสื้อน้ำ" ต่อมาอีก สุวรรณนาคจึงให้นาคบริวาร 2 ตัว คือ เอกจักขุนาค และ สุคันธนาค จำแลงเพศเป็นงูมาทำให้ข้าวล้มเสียหาย ชาวบ้านจึงกั้นรั้ว เปิดช่องกลาง ดักไซไว้ ต่อมางูน้อย 2 ตัว ที่มีเกล็ดเหมือนทองคำ มีหงอนแดงงาม เข้าไปติดอยู่ในไซ

ในคืนนั้น บุรีจันทร์ อ่วยล้วย ฝันว่ามีใส้ออกมามีลึงค์ยาวพันเอวถึง 7 รอบ เมื่อตื่นขึ้นมีความกลัว ไปใส่บาตรพระอรหันต์ ท่านแนะนำให้เอาดอกไม้ขาวใส่พานบูชาไว้ที่หัวนอน แล้วอุทิศกุศลถึงพญานาค ตอนสายมีคนนำงูน้อย 2 ตัวมาให้จึงขังเอาไว้ เพื่อที่จะนำไปให้พ่อท้าวคำบางผู้เป็นใหญ่ แต่ยังไม่ได้นำไป พอตกกลางคืน สุวรรณนาค แปลงเป็นตาผ้าขาวมีศีรษะหงอก บอกว่างู 2 ตัวนั้นเป็นลูกจะมาขอคืน เมื่อ บุรีจันทร์ อ่วยล้วย เห็นดังนั้นจึงถามว่า ท่านเป็นคนศีลธรรมหรือ จึงนุ่งห่มขาว แต่ทำไมจึงบอกว่าเป็นลูกท่าน ข้าตั้งใจจะนำไปถวายพ่อท้าวคำบาง เพราะเห็นว่างูเป็นเกล็ดทองคำ

ตาผ้าขาวจึงบอกว่า ข้าเป็นพญานาค ท่านอย่าเอางูนี้ไปถวายท่านเลย สิ่งนี้ไม่เหมาะที่จะนำไปให้ท่านพ่อคำบาง ควรจะนำสิ่งอื่นไป หากท่านต้องการเราจะให้ตามใจท่าน บุรีจันทร์ อ่วยล้วย คิดว่าคงจะเป็นตามที่เราฝัน และการอุทิศบุญถึงพญานาค จึงบอกว่า เมื่อข้าต้องการเมื่อใด ท่านจงให้เมื่อนั้นเถิด แล้วมอบงูน้อย 2 ตัวไป ต่อมางู 2 ตัว ก็กลายเป็นมาณพน้อย 2 คน นุ่งขาวล้วน แล้วเดินจากไป ทันใดตาผ้าขาวจึงบอกกับบุรีจันทร์ อ่วยล้วย ว่า ให้ท่านขุดบ่อน้ำไว้ที่ริมบึงนอกบ้าน ถึงวันพระจะให้นาค 2 ตัวขึ้นมา ท่านประสงค์สิ่งใดจงเรียกจากนาคทั้งสองนั้น จากนั้นตาผ้าขาวก็จากไปอีก

ครั้งนั้นพญานาคเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อย จึงไปดลพระทัยพ่อท้าวคำบางและมเหสี ให้นำนางอินทสว่างลงรอด ให้เป็นบาทบริจาดแห่งพระยาสุมิตรธรรมวงศา เมืองมรุกขนคร และเมื่อนางอินทสว่างลงรอดทราบก็เกิดความโศกเศร้า บิดาเห็นว่าพระธิดาไม่พอใจจึงพูดเพื่อให้พระธิดากลัวว่า ถ้าเช่านั้นจะนำเจ้าไปเป็นธิดาของบุรีจันทร์ อ่วยล้วย ที่เขาเล่าลือกันว่าพุงใหญ่มาก กินข้าวเข้าไปทั้งกะบุุง ธิดาได้ยินแทนที่จะกลัว กับมีความพอใจและหายโศกเศร้า

จึงได้ให้ปลูกเรือนหลวงขึ้น 2 หลัง ๆ ละ 5 ห้อง ไว้ระหว่างหาดทราย กับบ่อน้ำของบุรีจันทร์ อ่วยล้วย แล้วให้พระธิดาไปอยู่ที่นั่น แล้วตรัสสั่งให้บุรีจันทร์ อ่วยล้วยเข้าเฝ้า เพื่อให้พระธิดาเห็นจะได้เกลียด

ฝ่ายบุรีจันทร์ อ่วยล้วย เมื่อทราบดังนั้นจึงไปที่บ่อน้ำ ซึ่งพญานาคสั่งให้ขุด แล้วร้องเรียกนาคทั้ง 2 ให้มา นาคทั้ง 2 ก็มาตามประสงค์ บุรีจันทร์ อ่วยล้วย จึงบอกว่า บัดนี้เราอยากได้นางอินทสว่างลงรอดมาเป็นภรรยา ท่านทั้งสองจงกรุณาให้นางได้กับข้าพเจ้าด้วยเทอญ



พญานาคผู้สร้างเมือง

ขณะนั้น สุคันธนาค นำขวดไม้จันทร์มาให้ และเนรมิตอ่างน้ำสำหรับสรงน้ำอ่างหนึ่ง พร้อมทั้งกระบวยสำหรับตักน้ำอาบ เอกจักขุนาค ให้ผ้าเช็ดตัว กายโลหนาค ให้ผ้านุ่ง แล้วก็บอกต่อไป ส่วน อินทจักขุนาค ให้เสื้อรูปท้าวพันตา สิทธิโภคนาค ให้มงกุฏทองคำประดับแก้ว คันธัพพนาค ให้สังวาลย์คำ ศิริวัฒนนาค ให้รองเท้าทองคำ

อินทสิริเทวดา ให้แว่นกรองทองคำ เทวดาผยอง ให้ต่างหูทองคำ เครื่องทั้งหลายเหล่านี้ประดับด้วยแก้ว เทวดาวาสนิท ให้ผ้าเช็ดหน้า ประสิทธิสักกเทวดา ให้ขวดน้ำมันแก้วผลึก

เมื่อ นาค เทวดา ให้เครื่องเหล่านี้แล้ว ก็พากันมาชุมนุมอยู่ที่หาดทราย อันเป็นที่อยู่ของ สุคันธนาค ส่วน สุวรรณนาค หัตถีนาค ปัพพาละนาค ได้มาพร้อมกับ พญาสุวรรณนาค และ พุทโธปาปนาค แล้ว พญาสุวรรณนาค ก็เนรมิตปราสาทสำเร็จด้วยไม้จันทน์ พร้อมอาสนะ เครื่องปูลาด เพดานให้พร้อมเสร็จ แล้วจึงพากันไปรับเอา นางอินทสว่างลงรอด มาไว้ในปรางค์นั้น พญาสุวรรณนาค ยังเนรมิตท้องพระโรงหลวง 19 ห้อง ที่ทำด้วยแก่นจันทน์-แดง

ปัพพาละนาค เนรมิตปราสาทไม้มะเดื่อพอกทองคำภายนอก พุทโธปาปนาค เนรมิตสระพังสำหรับสรง สุคันธนาค และ หัตถีนาค เนรมิตโรงช้างไว้ซ้าย-ขวา ในคุ้มวังนั้นให้มีทุกประการ เมื่อคนทั้งหลายไปจับต้องสิ่งที่พญานาคเนรมิตไว้ก็จะเกิดมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา เทวดา อินทศิริ เจียมปาง รับอาสากับ พญานาค เข้าคุ้มครองรักษาวัตถุข้าวของในปราสาทโรงหลวงทั้งสิ้น แล้วให้ เทวดามัจฉนารี นำพานดอกไม้ไปเชิญ บุรีจันทร์ อ่วยล้วย เข้ามาอยู่ หลังจากที่ บุรีจันทร์ อ่วยล้วย ชำระร่างกาย แล้วประดับด้วยเครื่องทั้งหลายที่เหล่า พญานาค และ เทวดาเนรมิต ให้ เมื่อแต่งเสร็จปรากฏว่า ร่างกายที่อ้วนใหญ่ ดำ ก็กลายเป็นหนุ่มรูปงาม เนื้อตัวหอมด้วยกลิ่นจันทน์ เทวดามัจฉนารี จึงได้อุ้มไปนอนไว้กับนางอินทสว่างลงรอด ทันใดนางก็ตื่นขึ้น และก็หลับต่อไปอีก หลังตื่นมาทั้งคู่ก็เกิดความรักใคร่และได้เป็นสามี ภรรยากันต่อมา

บุรีจันทร์ อ่วยล้วย เป็นเจ้าเมือง

เมื่อบริวารทั้งหลายตื่นขึ้นมาเห็นความยิ่งใหญ่ ดังนั้นจึงนำความไปแจ้งแก่พ่อท้าวคำบางและพระมเหสี ทั้งสองมีความยินดี จึงให้เสนาอำมาตย์จัดการพิธีสมโภช ยกบุรีจันทร์ อ่วยล้วย เป็น "เจ้าบุรีจันทร์" พร้อมทั้งมอบบ้านเมืองให้ครอง โดยมี เทวดามัจฉนารี รักษาเจ้าบุรีจันทร์ และข้าทาสบริวาร แล้วให้บอกกล่าวแก่ เงือก งู ที่เป็นบริวาร ไม่ให้ทำร้ายแก่ผู้ใด ให้พากันรักษาพระพุทธศาสนา บ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ รักษากงจิตแก้วของพระพุทธเจ้าไว้

สุวรรณนาค ได้รับคำสั่งดังนั้นจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงแต่งให้นาค 4 ตัว คอยดูแลเมือง ราษฎรควรทำโทษจึงทำ โดยมี กายโลหนาค เอกจักขุนาค สุคันธนาค และ อินทจักขุนาค โดยมี เทวดาอินผยอง และ เทวดาสวาสนิท เป็นผู้เที่ยวตรวจดูตามตำบลต่าง ๆ เมื่อเห็นคนกระทำให้บอกแก่นาคทั้ง 4 เป็นผู้ตัดสินลงโทษ

ครองเมืองอย่างเป็นธรรม

เมื่อเจ้าบุรีจันทร์ อ่วยล้วย ได้ครองเมือง ก็ให้กรุบ่อน้ำด้วยไม้ประดู่ แล้วสร้างมณฑลครอบไว้ สร้างสะพานจากพระนคร ข้ามบึงไปถึงบ้านเดิมที่ร่องสะแกริมหนองคันแทเสื้อน้ำ แล้วสร้างวัดขึ้นชื่อ วัดสวนอ่วยล้วย สร้างวิหารอีก 2 หลังถวายพระอรหันต์ป่าใต้ และป่าเหนือ

ต่อมาวัดแห่งนี้ท่านมหาพุทธวงศา ได้นำพระธาตุอรหันต์มาบรรจุไว้ ปัจจุบันชื่อว่า วัดโศกป่าหลวง ในเวียงจันทน์

ในครั้งพุทธกาล ได้มีพระมหากัสสปะเถระ ได้เข้ามาประกาศศาสนาในแคว้นนี้ แล้วนำเอาพระพุทธอุรังคธาตุมาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า คือ พระธาตุพนม ไว้กลับสู่เมืองราชคฤห์ ต่อมาได้พิจารณาเห็นสามเณร 3 องค์ ตั้งอยู่ในคำสอน มีความเพียรในการทำสมถะวิปัสสนา เมื่อสามเณรทั้ง 3 ได้อุปสมบทแล้ว ก็ไก้สำเร็จพระอรหันต์ คือ พุทธรักขิต ธรรมรักขิต สังฏรักขิต ทั้ง 3 ได้ออกเผยแพร่พระพุทธศาสนาในแคว้นนี้ จนมีลูกศิษย์เกิดขึ้น 5 องค์ คือ พระมหารัตนะเถระ มหาสุวรรณปราสาท จุลสุวรรณปราสาท สังขวิชเถระ เมื่อลูกศิษย์ตามไปเมืองราชคฤห์ ก็นำเอา พระบรมธาตุหัวเหน่าของพระพุทธเจ้า 29 องค์ พระธาตุเขี้ยวฝาง 7 องค์ พระธาตุฝ่าพระบาทขวา 9 องค์ กลับคือมาประดิษฐานไว้ที่เขาลวง (พระธาตุบังพวน) พระธาตุฝ่าพระบาทขวาประดิษฐานไว้ที่เมืองล่าหนองคาย (พระธาตุกลางน้ำ) พระธาตุเขี้ยวฝาง ประดิษฐานไว้ที่ เวียงงัว 3 องค์ (พระธาตุบุ บ้านโคกป่าฝาง) และประดิษฐานไว้ที่หอแพ (เวียงจันทน์) ก่อนที่พระอรหันต์ทั้ง 5 จะนำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานได้ อธิฐานว่า "หากพระบรมธาตุ จะสถิตย์อยู่ที่ภูเขาลวงนี้ตลอด 5,000 พระวรรษา ขอแผ่นดินจงแยกออกเป็นหลุมให้ลึก 8 วา กว้างด้านละ 10 วา ทั้ง 4 ด้านเทอญ" ทันใดนั้นแผ่นดินก็แยกออกตามคำอธิฐาน

พระยาบุรีจันทร์ ทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสสั่งให้เสนาอำมาตย์ก่ออุโมงค์หินเรียงกันขึ้น และหินที่ก่อขึ้นนั้นกลับหมด เมื่อเสนาอำมาตย์เที่ยวหาหิน แต่ก็ไม่พอ

สร้างพระธาตุบังพวน

ทันใดนั้น ปัพพาละนาค จำแลงเป็นตาผ้าขาว ถือไม้เท้าเดินมา แล้วบอกแก่คนทั้งหลายว่า หินของเรากองอยู่ทางทิศตะวันตกมากมาย จงเอามาเถิด เมื่อเสนาอำมาตย์ถามว่า อยู่ไกลแค่ไหน ตาผ้าขาวบอกว่า อยู่ห่างจากนี้ 1,000 เท่าของไม้เท้านี้ เมื่อเสนาบอกว่า ยาวเกินไปเราไม่ไปหรอก ตาผ้าขาวจึงทำให้ไม้สั้นลงเหลือ 2 วา เมื่อเสนาเห็นดังนั้นก็เกิดอัศจรรย์ยิ่ง เพราะหินกองเต็มไปหมด จึงไปไหว้พระอรหันต์ และกราบทูลพระยาจันทบุรี ว่า "ตาผ้าขาวทิ้งไม้เท้านั้นไว้ แล้วก็หนีไป"

พระอรหันต์จึงบอกแก่เสนาอำมาตย์ว่า นั่นคือ ปัพพาละนาค ที่อาศัยอยู่ใกล้ภูเขานี้มาช่วย ต่อไปการหาหินก็จะไม่ยากอีกแล้ว เมื่อเสนาอำมาตย์ทราบดังนั้น จึงได้นำไม้เท้านั้นไปวัดระยะแล้วหาหิน วัดไปได้ 1,000 ชั่วไม้ ก็พบหิน 3 ก้อนงามนัก เมื่อมีคนพูดไม่เอา ควรจะวัดให้แน่นอนก่อน พญานาคบอกว่ามีหินมาก แต่นี่เห็นมีเพียง 3 ก้อน อีกคนพูดขึ้นว่ามีเท่าไหร่ก็เอาไปก่อน จากนั้นจึงได้นำเอาหิน 3 ก้อนไป เมื่อนำเอาไป 3 ก้อน กลับมีเพิ่มอีก 6 ก้อน และหินนั้นก็เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเห็นว่า การสร้างสุดท้าย เมื่อขนหินออกไป ขนอย่างไรก้อนหินก็เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ไม่รู้จักหมด ต่อมาพวกเขาเหล่านั้นจึงได้สร้างรอยเท้าพระอรหันต์เพื่อให้เป็นเครื่องหมายเอาไว้ พร้อมจารึกไว้ว่า "บาทลักษณะพระอรหันต์พันคำ" (เป็นรอยเท้าพระอรหันต์ เวลานี้อยู่ริมห้วยบังพวนระหว่างบ้านวังเทียม กับบ้านหนองนาง)

หลังจากที่สร้างอุโมงค์เสร็จสิ้น พระอรหันต์จึงได้นำเอา พระบรมธาตุหัวเหน่า 29 องค์ ถวายพระยาจันทรบุรี แล้วบรรจุเข้าในขวดไม้จันทร์ ที่สุคันธนาคให้ 10 องค์ บรรจุในขวดแก้วผลึกที่ประสิทธิสักการะเทวดาให้ 10 องค์ และนางทั้งามรับเอาพระบรมธาตุที่เหลือ 9 องค์ บรรจุเข้าในผอบทองคำนางละ 3 องค์ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในอุโมงค์ทองคำ ที่ตั้งอยู่บนหลังสิงห์ทองคำ แล้วยันต์ง้าวไว้ทั้ง 4 ด้าน หลังจากที่บรรจุเสร็จแล้วพระอรหันต์ก็เสด็จกลับสู่พระนคร



บึงโขงหลง (มนุษย์ได้นาคเป็นเมีย)

เป็นบึงขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองหนองคาย มีพื้นที่ประมาณ 11 ตารางกิโลเมตร ชาวบึงโขงหลงใช้บึงนี้เพื่อประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ประมง กสิกรรม

บริเวณแห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งเมือง ๆ เมืองชื่อ รัตพานคร มี พระอือลือราชา เป็นผู้ครองนคร มเหสีชื่อ นางแก้วกัลยา มีพระธิดาชื่อ พระนางเขียวคำ ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสามพันตา มีพระโอรสชื่อ เจ้าชายฟ้ารุ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้ และมีรูปงามด้วย ขณะประสูตมีท้องฟ้าสว่างไสว ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับ นาครินทรานี ซึ่งเป็นพระธิดาของพญานาคราชแห่งเมืองบาดาล ที่แปลงกายเป็นมนุษย์ การอภิเษกสมรสจัดกันอย่างมโหฬาร ทั้งเมืองบาดาล และเมืองมนุษย์ (รัตพานคร) ทำอยู่ 7 วัน 7 คืน เพื่อเป็นการสัมพันธไมตรีระหว่างพญานาคราช กับ พระเจ้าอือลือราชา ในโอกาสนี้ด้วย

ทั้งสองอยู่กินกันมาเป็นเวลา 3 ปี ก็ไม่สามารถจะมีผู้สืบสายสกุลได้ (เพราะธาตุมนุษย์กับนาค) จึงทำให้เกิดความเศร้าโศกใจกับคนทั้งสอง ต่อมาทำให้เจ้าหญิงนาครินทรานี ล้มป่วยลง ทำให้ร่างกายของนางที่เป็นมนุษย์กลายเป็นนาคตามเดิม เมื่อข่าวนี้ได้แพร่สะบัดออกไปทั่วกรุงรัตพานคร และถึงแม้นางจะร่ายมนต์กลับเป็นมนุษย์ประชาชนและพระเจ้าอือลือก็ไม่พอใจ จึงได้ขับไล่นางนาครินทรานีกลับสู่เมืองบาดาลดังเดิม โดยได้แจ้งให้พญานาคราชมารับตัวกลับ ก่อนกลับพญานาคราช ได้ขอเครื่องกฎภัณฑ์ของตระกูลคืน แต่พระเจ้าอือลือราชาไม่สามารถคืนให้ได้ เนื่องจากนำไปแปรสภาพเป็นอย่างอื่น ทำให้พญานาคราชกริ้วมาก และประกาศว่าจะทำลายเมืองรัตพานคร และจะเหลือเอาไว้เพียง 3 วัดเท่านั้น

หลังจากพญานาคกลับไป ในตอนกลางคืน พญานาคราชได้ยกพลไพร่มาถล่มเมืองรัตพานคร และประชาชนก็ไม่มีใครรอดพ้นจากฤทธิ์นาคได้ พอนางนาครินทรานีทราบข่าว ก็ขึ้นมาตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่ง จนถึงแม่น้ำสงครามก็ไม่พบ จึงกลับเมืองบาดาล เมืองรัตพานครได้ถล่มเป็น "บึงหลงของ" ต่อมานานเข้าคำพูดก็กลายเป็นของหลง และวัดที่เหลือ 3 วัด ก็คือ วัดดอนแก้ว (วัดแก้วฟ้า) วันดอนโพธิ์ (วัดโพธิ์สัตว์) และ วัดดอนสวรรค์ (วัดแดนสวรรค์) ทางที่นางนาครินทรานีตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่ง คือ ห้วยน้ำเมา (เมารัก)

สวนวัฒนธรรมที่ลาว

ที่บ้านดงโพสี เมืองหาดทรายฟอง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ( สปป.ลาว) สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของลาว ที่เป็นสถานที่รวบรวมเอาวัฒนธรรม การเป็นอยู่ของชาวลาวเผ่าต่าง ๆ มารวมไว้ที่นี่ ที่มีการจำลองบ้านพักของลาวเผ่าต่าง ๆ เช่น ลาวสูง ลาวเทิง ลาวลุ่ม มาไว้ที่สวนวัฒนธรรมแห่งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า การดำรงชีวิตของชาวลาวเผ่าต่าง ๆ นั้นมีลักษณะการทำที่พักอาศัยแตกต่างกันตามสภาพท้องที่ อากาศ และที่สำคัญหอแสดงกลางแจ้ง ได้จำลองเอาวัดภู แขวงจำปาสัก มาไว้ และทำได้อย่างสวยงามปราณีต ตลอดจนมีการแสดงรูปปั้นของไดโนเสาร์พันธุ์ต่าง ๆ เอาไว้ พร้อมกับจัดอีกส่วนหนึ่งเป็นสวนสัตว์เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ดูก่อนที่จะสูญพันธุ์ไปก่อนในเวลาอันสมควร และที่สำคัญสวนวัฒนธรรมแห่งนี้ยังเป็นสถานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ด้านหน้าศาลาด้านริมฝั่งแม่น้ำโขงจะมีรูพญานาค และต่อมาทางการลาวได้ทำรูปจำลองของพญานาคเอาไว้ เพื่อให้คนรุ่งหลังได้รับทราบว่าสถานที่แห่งนี้เคยเป็นรูพญานาคที่ออกมาจากธาตุหลวง ในเวียงจันทน์ เพื่อไปนมัสการพระบาทบัวบก ที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี แล้วโผล่ขึ้นหายใจก่อนที่จะไปถึงพระบาทบัวบก ที่แห่งนี้มี รูพญานาค ปรากฏให้เห็น

สมัยก่อนที่ยังไม่เจริญ ชาวบ้านแห่งนี้เมื่อกลับจากไปธุระมา พอตกค่ำก่อนจะมืด ก็จะพบเห็น งูใหญ่สองตัว นอนขวางถนนเอาไว้เป็นประจำ แต่หากชาวบ้านที่รู้แล้วก็จะบอกกล่าวให้ งูใหญ่ "พญานาค" ว่า ลูกกลับจากไปทำนา ทำไร่ ไม่ได้ไปทำอะไรผิด หรือทำบาปมา สุดท้ายงูใหญ่ 2 ตัวนั้นก็จะค่อย ๆ หายไป เป็นอยู่อย่างนี้ประจำ จนชาวบ้านเกิดความเคยชิน ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญ มีคนมากขึ้น ก็ทำให้สถานที่ เหตุการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป รูพญานาค ที่สวนวัฒนธรรม ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า เมื่อก่อนนั้น เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ บริเวณปากรูจะมีสีเขียวเรือง และมีลูกไฟ 2 ดวงลอยไป มา เหนือบริเวณนั้น มองเห็นแต่ไกล เชื่อว่าน่าจะเป็น พญานาค ขึ้น ล้อมปากรู ที่ริมฝั่งโขงเอาไว้ สามารถไปดูได้และบางคนบอกว่า รูพญานาคนี้ยังสามารถทะลุถึงรูที่หน้าโรงแรมแม่โขงรอยัล จ. หนองคาย บริเวณหน้าโรงแรม โดยคุณจำรัส ชูกลิ่น ประธานกรรมการ บริษัท แม่โขงรอยัล จำกัด ได้สงวนที่เอาไว้เพื่อทำเป็นศาลา ให้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และทำเป็นหอไว้เพื่อให้พญานาคพักเมื่อเวลาขึ้น-ลงจากสวนวัฒนธรรม ฝั่งลาว ก่อนจะไปที่พระบาทบัวบก บริเวณนี้ คุณจำรัส บอกว่าสมัยก่อนเป็นวัดร้าง เมื่อขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านก็จะมาคอยดูดวงไฟขนาดเท่าลูกมะพร้าวลอยไป มา ในบริเวณนี้เป็นประจำ บางครั้งก่อนค่ำก็จะเห็นงูใหญ่ 2 ตัว นอนขดอยู่ที่บริเวณนี้บ่อยครั้ง

เมืองเปงจาน ต.โพนพแพง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย เมื่อก่อนเคยเป็นที่ พญานาคขึ้นมาพ่นพิษ (คายพิษ) อยู่เป็นประจำ โดยมีเรื่องเล่าว่า สมัยนั้นเคยมีนาคราชตนหนึ่งได้อาศัยอยู่ใต้บาดาล และได้ทำรูขึ้นมา เรียกว่า "ปล่องฟ้า" เมื่อถึงวันพระ (ครบ 15 วัน) นาคราชนี้ก็จะโผล่ขึ้นมาพ่นพิษ (คายพิษ) และแต่ละครั้งที่นาคราชคายพิษก็จะทำให้ประชาชนชาวเมืองเปงจานเจ็บป่วย นอกจากนั้นบางครั้งก็ไก้เกิดพายุใหญ่พัดบ้านเมือง ผู้คนล้มตาย บ้านเรือนเสียหาย พลเมืองต้องย้ายหนี อพยพแยกย้ายกันไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ โดยไปทางหนองบ้าง เวียงจันทน์บ้าง ทิ้งให้เมืองเปงจานกลายเป็นเมืองร้าง

ในที่สุดเจ้าเมืองก็ประกาศหาคนที่จะปราบนาคราชตนนี้ และมีชายหนุ่มรูปงามที่ประกอบด้วยวิชา คาถา อาคมวิเศษ ที่มีความสามารถปราบนาคราชได้ โดยใช้ฆ้องคำปิดรูพญานาคเอาไว้จนสำเร็จ แต่นั้นมาบ้านเมืองก็เกิดความสงบสุข ร่มเย็นตลอดมา

บ่อน้ำแห่งนี้เรียกว่า "ปล่องฟ้า" ยังปรากฏอยู่ที่วัดเปงจานใต้ ปัจจุบันหน้าแล้งน้ำแห้งขอด น้ำจะมีสีเหลือง คล้ายสีทองคำ หน้างานสงกรานต์เคยมีผู้นำน้ำนี้ไปอธิษฐานรักษาโรคได้ ตลอดจนมีคนคิดที่ลงไปนำเอาฆ้องทองคำไปขาย เมื่อลงไปก็พบว่าเป็นฆ้องทองคำจริง แต่เอาขึ้นมาไม่ได้ เมื่อขึ้นมาจากบ่อก็จะมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา และทุกวันนี้จึงไม่มีใครคิดที่จะลงไปเอาฆ้องทองคำขึ้นมา และทางบ้านเปงจานได้อนุรักษ์ให้เป็นโบราณสถาน ปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอต่อไป

บวงสรวงพ่อพญานาค

ในวันออกพรรษาของทุกปี พอตกกลางวันที่บริเวณ หอเจ้าแม่สองนาง ปากห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จะมีคนเฒ่า คนแก่

ผู้หญิงจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ทำขึ้นแบบง่าย ๆ ไม่ต้องพิถีพิถันอะไร แต่จะต้องมีเครื่องครบ ที่ทำขึ้นจากใบตอง ที่ประกอบไปด้วย ของคาว หวาน ผลไม้ เพื่อใส่ในกระทง เพื่อนำไปลอยบวงสรวงพ่อพญานาค

"พ่อพญานาค ที่ปกปักษ์รักษาคุ้งน้ำแห่งนี้ ลูกได้นำเครื่องเซ่น มาบอกกล่าวเช่นทุกปี และปีนี้มีคนเดินทางมามากกว่าทุกปี เพื่อมาดูอภินิหารบั้งไฟ พ่อพญานาคคงจะแสดงให้ประจักษ์ ขอให้ขึ้นให้เห็นมาก ๆ ชัด ๆ ขอให้พ่อพญานาคปกปักษ์รักษาให้ความปลอดภัยแก่ผู้คนที่เดินทางมาด้วย อย่าให้มีอุบัติเหตุเช่นทุกปีที่ผ่านมา ลูกที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแห่งนี้จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด"

เสียงนี้เป็นคำอธิษฐานของหญิงชราคนหนึ่งที่พูดด้วยภาษาพื้นบ้าน คือ ยายดวงจันทร์ ณ อุบล อายุ 66 ปี บ้านอยู่คุ้มวัดศรีเกิด อ.โพนพิสัย (ปี 40) ได้กล่าวถึงเรื่องราวต่าง ๆ หลังทำพิธีเสร็จแล้ว (เมื่อปี 2537) ว่า...ชาวลุ่มน้ำโขงให้ความเคารพพญานาคที่ปกปักษ์รักษาแม่น้ำโขง ให้ความสงบร่มเย็นตลอดมา ท่านอยู่คนละภพกับเรา แม้จะไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ แต่ด้วยปาฏิหาริย์ บั้งไฟที่เกิดขึ้นทุกปีที่นับว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่นขึ้นทุกปี เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้จะมีคนจำนวนมากที่ไม่เชื่อ ว่าสิ่งนี้เป็นจริงหรือไม่ แต่ก็จะไม่โต้เถียง เพราะเป็นความเชื่อของเรา

บั้งไฟพญานาค

บั้งไฟพญานาค ได้นำมาผูกเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งเร้นลับ เร้าใจหลายชั่วอายุคน จนมีอยู่เกือบทุกท้องถิ่นและเรื่องพญานาคนี้ก็มีคนรู้จัก ดังจะเห็นจากเรื่องที่ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาโปรดสัตว์ตามหลักฐานก็คือ เป็นรอยที่เรียกกันว่า พระพุทธบาท พญานาคที่ชื่อว่า มะรินทนานาค ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง มีความโหดร้ายมาก เมื่อพระพุทธเจ้าลงมาโปรด ก็เกิดความเสื่อมใสในพระพุทธศาสนา คิดจะออกบวช แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นสัตว์ จึงปวารณาตนเองเป็นพุทธศาสนิกชนตลอดมา และวันออกพรรษาจะถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ พุทธศาสนิกชนต่างเฉลิมฉลอง พญานาคก็เช่นกัน จึงจุดบั้งๆฟขึ้นจากแม่น้ำโขงเพื่อฉลองด้วย

เราจึงเห็นบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นเฉพาะวันออกพรรษาเท่านั้น ทั้งนี้ถ้าในปีใดถ้าประเทศไทยมีเดือนแปดสองหน วันออกพรรษาจะไม่ตรงกับประเทศลาว บั้งไฟพญานาคจะขึ้นเฉพาะตรงกับลาวเท่านั้นเพียงวันเดียว

คำถามส่วนมากที่จะได้รับคือ ทำไมดวงไฟไม่มีหาง เหมือนบั้งไฟทั่วไป ทำไมไม่มีควันสีขาว ทำไมไม่พุ่งขึ้นมา แต่พุ่งขึ้นไปแล้วหายไปในอากาศ เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนทำ และทำทำไม จะได้อะไรจากการกระทำนี้ ทั้งหมดเป็นคำถามที่หาคำตอบมาอธิบายไม่ได้ และยังมีคำถามอีกมากมายที่ถูกตั้งขึ้น เพื่อให้คนนำไปคิดเป็นปริศนาและพิสูจน์ต่อไป



พระยาสุนทรธรรมธาดา (คำสิงห์ สิงหศิริ)




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2548   
Last Update : 17 ตุลาคม 2548 22:41:47 น.   
Counter : 5393 Pageviews.  


ตำนาน บั้งไฟพญานาค___ มหัศจรรย์แห่งลุ่มน้ำโขง



____________________________________________________________________





____________________________________________________________________




พญานาค งูใหญ่ มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่
ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และ
บันไดสายรุ้งสู่จักรวาล เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์
จากการจำศีล บำเพ็ญภาวนา ศรัทธาในพุทธศาสนา
ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

งูใหญ่ หรือพญานาค เรามักจะพบเห็น
เป็นรูปปั้นหน้าโบสถ์ ตามวัดต่าง ๆบันไดขึ้นสู่วัดในพุทธศาสนาภาพเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
กับศาสนาพุทธอีกมากมาย และ นครวัดมหาปราสาท
ถ้าเราจะสังเกต ก็คงจะเป็นที่ศาสนาพุทธ ทำไมมีเรื่องราวพญานาคมาเกี่ยวข้องมาก
ติดตามกันต่อไป

พญานาค หรือ งูใหญ่มีหงอน ในตำนานของฝรั่ง
หรือชาวตะวันตก ถือว่าเป็นตัวแทนของกิเลส
ความชั่วร้าย ตรงข้ามกับชาวตะวันออก
ที่ถือว่า งูใหญ่ พญานาค มังกร
เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พลังอำนาจ ชาวฮินดูถือว่า
พญานาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่าง ๆ
เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ เช่น อนันตนาคราช
ที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ตรงกับความเชื่อของลัทธิพรามณห์
ที่เชื่อว่า นาค เป็นเทพแห่งน้ำ เช่นปีนี้ นาค ให้น้ำ 1 ตัว
แปลว่า น้ำจะมาก จะท่วมที่ทำการเกษตร ไร่นา
ถ้าปีไหน นาคให้น้ำ 7 ตัว น้ำจะน้อย
ตัวเลขนาคให้น้ำจะกลับกันกับเหตูการณ์
เนื่องจาก ถ้านาคให้น้ำ 7 ตัว น้ำจะน้อยเพราะนาคกลืนน้ำไว้



นาค…เจ้าแห่งงู หรือ พญานาค

พญานาค เป็นสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ
คือ สามารถแปลงกายได้ พญานาค มีอิทธิฤทธิ์
และมีชีวิตใกล้กับคน พญานาค สามารถแปลงเป็นคนได้
เช่นคราวที่แปลงเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า
ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงนาคที่ชื่อ ถลชะ
ที่แปลว่า เกิดบนบก จะเนรมิตกายได้เฉพาะบนบก
และนาคชื่อ ชลซะ แปลว่า เกิดจากน้ำ
จะเนรมิตกายได้เฉพาะในน้ำเท่านั้น

พญานาค ถึงแม้จะเนรมิตกายเป็นอะไร
แต่ในสภาวะ 5 อย่างนี้ จะต้องปรากฎเป็นงูใหญ่เช่นเดิม
คือ ขณะเกิด ขณะลอกคราบ ขณะสมสู่กันระหว่างนาค
กับนาค ขณะนอนหลับ โดยไม่มีสติ และที่สำคัญ
ตอนตาย ก็กลับเป็นงูใหญ่เหมือนเดิม

พญานาค มีพิษร้าย
สามารถทำอันตรายผู้อื่นได้ด้วยพิษ ถึง 64 ชนิด
ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า สัตว์จำพวกงู
แมงป่อง ตะขาบ คางคก มด ฯลฯ
มีพิษได้ ซึ่งก็ด้วยเหตุที่ นาคคายพิษทิ้งไว้
แล้วพวกงูไปเลีย พวกที่มาถึงก่อนก็เอาไปมาก
พวกมาทีหลัง เช่น แมงป่อง กับ มด ได้พิษน้อย
แค่เอาหาง เอากันไปป้ายเศษพิษ
จำพวกนี้จึงมีพิษน้อย และพญานาคต้องคายพิษทุก 15 วัน


พญานาค อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล
คนโบราณเชื่อว่าเมื่อบนสวรรค์มีเทพเทวาอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก
ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่า
ที่ที่นาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดิน 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร
มีปราสาทราชวังที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้สวรรค์ ที่มีอยู่ถึง 7 ชั้น
เรียงซ้อน ๆ กัน ชั้นสูง ๆ ก็จะมีความสุขเหมือนสวรรค์


พญานาค สามารถผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดอื่นได้
แปลงกายแล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ได้
เมื่อนาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่เหมือนงู
มีทั้งพันธุ์เศียรเดียว 3, 5 และ 7 เศียร

สามารถขึ้นลง ตั้งแต่ใต้บาดาลพื้นโลก จนถึงสวรรค์
ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขั้น-ลง
ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองสวรรค์
ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้น ๆ

จะเห็นว่า พญานาค หรือ งูใหญ่
นั้นมีความเป็นมาและถิ่นที่อยู่เป็นสัดส่วนในภพหนึ่งต่างหาก
จะมีเป็นบางครั้งที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้
พญานาค เป็นทั้งเอกลักษณ์ของความดี และความไม่ดี



นาค…เกี่ยวพันกับชีวิต น้ำ ธรรมชาติ

จะได้ยินอยู่เสมอว่า ปีนี้นาคให้น้ำเท่าไร กี่ตัว ฝนฟ้าดี หรือไม่ดี
นาคให้น้ำสร้างความอุดมสมบูรณ์แก่สรรพชีวิต

ทั้งปวง พญานาค ที่อาศัยอยู่ในสวรรค์ใต้น้ำ
ตามคติฮินดู พญาอนันตนาคราช
แท่นบรรทมของพระนารายณ์ ที่นับถือเป็นเทพเจ้า
พญานาค เปรียบได้กับท้องน้ำทั้งหลายในจักรวาล
นาคมีอิทธิฤทธิ์บันดาลให้ฝนตกหรือไม่ตกก็ได้
ตลอดจนสามารถแปลงกายเป็นเมฆฝนได้
พญานาค...เป็นที่มาของแม่น้ำต่าง ๆ
อันหมายถึงผู้รักษาพลังแห่งชีวิตทั้งหลาย

ตามความเชื่อของชาวพุทธ เทวดาแห่งน้ำ
คือ วรุณและสาคร ที่ต่างก็เป็นจอมแห่งนาคราช
นอกจากที่เกี่ยวข้องกับน้ำบนโลกแล้ว
นาคยังเกี่ยวข้องกับน้ำในสวรรค์อีกด้วย
คนโบราณเชื่อว่า สายรุ้ง กับ นาค เป็นอันเดียวกัน
ที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ข้างหนึ่งของรุ้งจะดูดน้ำจากพื้นโลก
ขึ้นไปข้างบน เมื่อถึงจุดที่สูงสุดก็จะปล่อยน้ำลงมา
เป็นฝนที่มีลำตัวของนาคเป็นท่อส่ง

ในตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมา
จากทางเหนือ พญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่
และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม
พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมือง 4 ด้าน
เป็น เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมาเมื่อยกทัพปราบเมืองอื่นได้
และรวมดินแดนเข้าด้วยกัน
จึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนาคราช

ที่เห็นได้ชัดก็คือ ที่ปราสาทพนมรุ้ง
จะมีคูเมืองที่เป็นสระน้ำ 4 ด้าน
รอบปราสาทและมี พญานาค อยู่ด้วย
ตามความเชื่อของคนสมัยโบราณ
นาคจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากน้ำ
เช่น การสร้างศาสนสถานไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ
นาคที่ราวบันได จึงมี พญานาค
ซึ่งตามความเป็นจริง (ความเชื่อ)
การสร้างต้องสร้างกลางน้ำ
เพื่อให้ดูเหมือนว่าศาสนสถานนั้นลอยอยู่เหนือน้ำ
แต่ก็ไม่ต้องสร้างจริง ๆ เพียงแต่มีสัญลักษณ์ พญานาค
ไว้ เช่น ที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น


แม้เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ก็จะมีอยู่ในราศีเกิด
เช่นของคนนักษัตรปีมะโรง ที่มีความหมายถึง
ความยิ่งใหญ่และพลังอำนาจ ที่มี พญานาค เป็นสัญลักษณ์


นาคให้น้ำ...พญานาค
เป็นสัญลักษณ์แห่งธาตุน้ำ "นาคให้น้ำ"
เป็นเกณฑ์ที่ชาวบ้านรู้และเข้าใจดี
ที่ใช้วัดในแต่ละปี จำนวนนาคให้น้ำมีไม่เกิน 7 ตัว
ถ้าปีไหนอุดมสมบูรณ์มีน้ำมากเรียกว่า "นาคให้น้ำ 1 ตัว"
แต่หากปีไหนแห้งแล้งเรียกว่าปีนั้น "มีนาคให้น้ำ 7 ตัว"
จะวัดกลับกันกับจำนวนนาค ก็คือที่น้ำหายไป
เกิดความแห้งแล้งนั้นก็เพราะ พญานาคกลืนน้ำไว้ในท้อง

เกี่ยวข้องกับคนไทย...เรามักจะเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคได้เสมอ
ในงาน จิตรกรรม ประติมากรรม และหัตถกรรม
นาคเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทางสถาปัตยกรรม
โดยเฉพาะตามอาคารวัดต่าง ๆ
หลังคาอาคารที่สร้างขึ้นสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์
และสถานบันศาสนสถาน ตามคตินิยมที่ว่า
นาคยิ่งใหญ่คู่ควรกับสถาบันอันสูงส่ง
เช่น นาคสะดุ้ง ที่ทอดลำตัวยาวตามบันได นาคลำยอง
ที่ทำเป็นป้านลมหลังคาโบสถ์ ที่ต่อเชื่อมกับนาคสะดุ้ง
นาคเบือน นาคจำลอง และนาคทันต์คันทวยรูปพญานาค

พญานาค...เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา

ตามตำนาน พญานาค มีอยู่ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว ดังเช่น หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมพิเศษแล้ว
ได้เสด็จไปตามเมืองต่าง ๆ เพื่อแสดงธรรมเทศนา มีครั้งหนึ่งได้เสด็จออกจากร่มไม้อธุปปาลนิโครธ
ไปยังร่มไม้จิกชื่อ "มุจลินท์"
ทรงนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ 7 วัน
คราวเดียวกันนั้นมีฝนตกพรำ ๆ
ประกอบไปด้วยลมหนาวตลอด 7 วัน
ได้มีพญานาคชื่อ "มุจลินท์" เข้ามาวงด้วยขด 7
รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า
เพื่อจะป้องกันฝนตกและลมมิให้ถูกพระวรกาย
หลังจากฝนหายแล้ว คลายขนดออก แปลงเพศเป็นมานพมายืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์
ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า

ความเชื่อดังกล่าวทำให้ชาวพุทธสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก
แต่มักจะสร้างแบบพระนั่งบนตัวพญานาค
ซึ่งดูเหมือนว่าเอาพญานาคเป็นบัลลังก์
เพื่อให้เกิดความสง่างาม และทำให้คิดว่า
พญานาค คือผู้คุ้มครองพระศาสดา

พญานาค ชื่อมุจลินทร์ มาถวายอารักขา
ป้องกันพระพุทธเจ้าจากฝนและลมหนาว (ตำนานนาคปรก)

พญานาค...สะพาน (สายรุ้ง) ที่เชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์
หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ โลกศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อที่ว่า พญานาค

กับ รุ้ง เป็นอันเดียวกัน ก็คือสะพานเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์นั่นเอง

นาคสะดุ้ง...ที่ราวบันไดโบสถ์นั้นได้สร้างขึ้นตาม
ความเชื่อถือ "บันไดนาค" ก็ด้วยความเชื่อดังกล่าว
แม้ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ก็โดยบันไดแก้วมณีสีรุ้ง
ที่เทวดาเนรมิตขึ้นและมีพญานาคจำนวน 2 ตน
เอาหลังหนุนบันไดไว้

หรือแม้แต่ ตุง ของชาวล้านนา และพม่า
ก็เชื่อกันว่าคลี่คลายมาจากพญานาค และหมายถึงบันไดสู่สวรรค์

ความเชื่อของชาวฮินดู ก็ถือว่า
นาคเป็นสะพานเชื่อมภาวะปกติ กับที่สถิตของเทพ ทางเดินสู่วิษณุโลก
เช่น ปราสาทนครวัด จึงทำเป็น พญานาคราช
ที่ทอดยาวรับมนุษย์ตัวเล็ก ๆ
สู่โลกแห่งความศักดิ์สิทธิ์ หรือก็บั้งไฟของชาวอีสานที่ทำกันในงานประเพณีเดือนหก
ก็ยังทำเป็นลวดลาย และเป็นรูปพญานาค
พญานาคนั้นจะถูกส่งไปบอกแถนบนฟ้าให้ปล่อยฝนลงมา



ในสมัยพระพุทธเจ้า
มีพญานาคตนหนึ่งนั่งฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้ว
ได้เกิดศรัทธา จึงได้แปลงกายเป็นมนุษย์ขอบวชเป็นพระภิกษุ
แต่อยู่มาวันหนึ่งเข้านอนในตอนกลางวัน
หลังจากหลับแล้วมนต์ได้เสื่อมกลายเป็นงูใหญ่
จนพระภิกษุรูปอื่นไปเห็นเข้า
ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงให้พระภิกษุนาคนั้นสึกออกไป
เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉาน นาคตนนั้นผิดหวังมาก
จึงขอถวายคำว่า นาค ไว้ใช้เรียกผู้ที่เข้ามาขอบวช
ในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความศรัทธาของตน


ต่อจากนั้นมาพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติไม่ให้สัตว์เดรัจฉาน
ไม่ว่าจะเป็นนาค ครุฑ หรือสัตว์อื่น ๆ
บวชอีกเป็นอันขาด เพราะก่อนที่อุปัชฌาย์จะอุปสมบทให้แก่ผู้ขอบวชจะต้องถาม
อัตรายิกธรรม หรือข้อขัดข้องที่จะทำให้ผู้นั้นบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้
รวม 8 ข้อเสียก่อน ในจำนวน 8 ข้อนั้น
มีข้อหนึ่งถามว่า "ท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า"

เหตุที่พระสุกจมน้ำ ที่เวินสุก บ้านหนองกุ้ง อำเภอโพนพิสัย

มีการเล่าขานถึงความศรัทธาของพญานาคว่า
เหล่าพญานาค นั้นเป็นผู้ที่มีความเคารพ
และศรัทธาในพระพุทธเจ้ามาก หลังจากที่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นที่เมืองล้านช้าง
ประเทศลาว ความทราบถึงเหล่าพญานาค
ที่อยู่เมืองบาดาล จึงได้แปลงกายขึ้นไปขอพระพุทธรูปกับเจ้าเมืองล้านช้าง
โดยเจาะจงขอเอาพระสุก เพื่อไปไหว้สักการะบูชา
ที่เมืองบาดาล ปกติเหล่าพญานาคเป็นผู้ที่ถือศีลแปดเคร่งครัดมาก
พญานาค จะไม่ทำร้ายใคร ส่วนมนุษย์ตายในน้ำที่ว่าเงือกกินนั้น
เงือกก็คือ พญานาค ชั้นเลว ประพฤติตนเกเร
จึงชอบทำร้ายมนุษย์ตามน้ำ
เดี๋ยวนี้พระสุกก็ยังจมอยู่ในแม่น้ำโขง
ที่ที่เป็นที่อยู่ของเหล่า พญานาค ในเมืองบาดาล
เวินสุกอยู่ตรงข้ามกับบ้านหนองกุ้ง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
ตรงนั้นเป็นบริเวณปากน้ำงึมไหลลงมาออกแม่น้ำโขง
เป็นแม่น้ำสองสี

**เมืองพญานาค หรือเมืองบาดาล**

ในเมื่อมีเมืองมนุษย์ หรือโลกมนุษย์ โลกสวรรค์ หรือเมืองสวรรค์
ก็ต้องมีเมืองบาดาล (เมืองพญานาค) สองเมืองนอกจากเมืองมนุษย์แล้วหลายคนก็คงต้องอยากไปเป็นแน่
วิสัยของมนุษย์ชอบในสิ่งที่ท้าทาย ยิ่งห้ามก็ยิ่งอยากพบ
อยากเห็นเมืองบาดาลอยู่ใต้เมืองมนุษย์ลงไปในใต้ดิน 16 กิโลเมตร
(ตามความเชื่อ) มีคำเล่าลือเกี่ยวกับเมืองบาดาลในเขต
อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
(แต่อย่าอุตริขุดไปหาพญานาคก็แล้วกัน)

พระพุทธเจ้าเสด็จเทวโลก

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จพร้อมด้วยพระอรหันต์จำนวน 500 รูป
เพื่อเสด็จไปยังเทวโลก ได้ผ่านวิมานของเหล่าพญานาค ที่กำลังมีการรื่นเริงกันอย่างสนุกสนาน
ที่มี นันโทปะนันทะนาคราช เป็นประธานใหญ่
เมื่อเห็นคณะสงฆ์ผ่านไปเหนือวิมานจึงมีความโกรธมาก
จึงได้ตรงไปยังเขาพระสุเมรุแปลงตนเป็นนาคขนาดใหญ่
พันโอบเขาพระสุเมรุด้วยขดถึง 7 รอบ
แล้วแผ่พังพานบังชั้นดาวดึงส์เอาไว้ เพื่อไม่ให้พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ผ่านไปได้
และเมื่อเป็นดังนั้นได้มีพระอรหันต์หลายรูปอาสาปราบ
แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต จน พระโมคคัลลานะ
ผู้ซึ่งตามเสด็จไปด้วยอาสา พระองค์จึงทรงอนุญาต
ดังนั้น พระโมคคัลลานะ
จึงได้แปลงกายเป็นนาคราชขนาดใหญ่กว่าถึงเท่าตัว พันเอานาคนันโทปะนันทะนาคราช
เอาไว้ด้วยขดถึง 14 รอบ นาคราชทนไม่ไหวบันดาลให้ไฟลุกขึ้น
พระโมคคัลลานะ ก็ให้เกิดไฟขึ้นเช่นกัน ไฟของนันโทปะนันทะนาคราชสู่ไม่ไหว
จึงถามว่า "ท่านผู้เจริญ ท่านเป็นใคร"
ตอบว่า "เราคือโมคคัลลานะ ศิษย์ของตถาคต"
นันโทปะนันทะนาคราช
จึงบอกว่า ท่านจงคืนร่างกลับเป็นพระเหมือนเดิมเถิด
แต่ด้วยนิสัยของผู้รู้ว่า นันโทปะนันทะนาคราช
เป็นคนไม่ยอมแพ้ใครง่าย ๆ จึงได้แปลงกายให้เล็กนิดเดียว
สามารถเข้ารูหู รูจมูกได้ แล้วเข้าไปตามรูต่าง ๆ จน
นันโทปะนันทะนาคราช ทนไม่ไหว
และนันโทปะนันทะนาคราช สู้ไม่ได้จึงหนีไป พระโมคคัลลานะ
จึงแปลงร่างเป็นพญาครุฑไล่ติดตามไป
เมื่อหนีไม่พ้นจึงแปลงร่างเป็นมาณพหนุ่ม
ยอมแพ้พระโมคคัลลานะและที่สุดจึงยอมให
้พระพุทธเจ้าพร้อมพระอรหันต์ผ่านไปแต่โดยดี

---ใต้เมืองโพนพิสัย--

ลักษณะของอำเภอโพนพิสัย
จังหวัดหนองคายที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง
ด้านหัวเมืองจะมีลำห้วยหลวงไหลออกมา
เรียกว่า ปากห้วยหลวง ตรงข้ามกับอำเภอโพนพิสัย
คือ บ้านโดน ที่ขึ้นกับเมืองปากงึม
ทุกวันนี้มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับเมืองบาดาลที่เชื่อว่า
อยู่ใต้อำเภอโพนพิสัย ว่า ในหน้าแล้งจะมีหาดทรายขึ้นกลางแม่น้ำโขง
แต่บริเวณอำเภอโพนพิสัยหาดทรายนี้จะขึ้นอยู่ฝั่งลาว
บริเวณบ้านโดน วันหนึ่งในหน้าแล้งตอนเที่ยงวัน
ได้มีหญิงสาวชาวบ้านโดนคนหนึ่ง ได้ลงมาตักเพื่อไปดื่ม
โดยมีกระป๋องน้ำ (หาบครุ) ลงมาที่หาดทราย
เพราะบริเวณนั้นมีน้ำออกบ่อ (น้ำริน) เมื่อลงมาแล้วได้หายไป
ชาวบ้านลงมาเห็นแต่กระป๋องน้ำ (หาบครุ) พ่อ แม่
ต่างก็ตามหากันแต่ไม่พบ จนครบ 7 วัน เมื่อไม่เห็นลูกสาว
และคิดว่าลูกสาวคงจมน้ำตายแล้ว จึงได้พร้อมกับญาติพี่น้อง
ชาวบ้านจัดทำบุญอุทิศให้ ในตอนกลางคืนก็มีหมอลำสมโภช


จนเวลาต่อมาเวลาประมาณเที่ยงคืน
ลูกสาวคนที่เข้าใจว่าจมน้ำตาย ก็ปรากฎตัวขึ้นที่บ้าน
ขณะที่ชาวบ้านกำลังฟังหมอลำกันอยู่
ทำให้ญาติพี่น้องแตกตื่นกันเป็นอย่างมาก
บางคนก็วิ่งหนีเพราะคิดว่าเจอผีหลอกเข้า
สุดท้ายลูกสาวจึงได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ฟัง
หลังจากที่ตั้งสติได้ และแล้วญาติพี่น้องก็เข่ามาร่วมวงนั่งฟัง
หญิงสาวเล่าให้ทุกคนฟังว่า
"วันนั้นอากาศร้อนมาก น้ำดื่มหมดโอ่ง เมื่อลงไปเพื่อจะตักน้ำ
เมื่อวางกระป๋องน้ำ (หาบครุ) ปรากฎว่าเห็นมีหมู
เหมือนกับว่าได้ยกเท้าหน้าเรียกให้เข้าไปหา
ตนได้เดินเข้าไปหา แล้วหมูตัวนั้นก็บอกว่าให้หลับตา
จะพาลงไปเมืองบาดาล พอหลับตาได้สักครู่
หมูตัวนั้นก็บอกให้ลืมตา เมื่อลืมตาขึ้นปรากฎว่าตนมาอยู่อีกเมืองหนึ่ง
ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับเมืองมนุษย์ มีดิน มีบ้านเรือนเรียงรายกันอยู่
แต่จะมีแปลกก็ตรงที่

ทุกคนจะนุ่งผ้าแดง และมีผ้าพันศรีษะเป็นสีแดงเหมือนกัน
โดยด้านหน้าจะปล่อยให้ผ้าแดงห้อยลงเหมือนกับหัวงู
เมื่อเดินตามชายคนนั้น (กลับร่างหมู กลายเป็นคน)
ก็มีชาวบ้านถามกันว่า นำมนุษย์ลงมาทำไม (เพราะกลิ่นมนุษย์ต่างกับเมืองบาดาล)
ชายคนนั้นก็บอกว่าพามาเที่ยวดูเมือง ได้เดินไปเรื่อย ๆ
เมื่อแหงนหน้ามองดูท้องฟ้ากลับปรากฎว่าเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆ
เหมือนสีขุ่น ๆ ของน้ำ ชายคนนั้นได้บอกว่า
นี่เป็นเมืองบาดาล และเป็นเมืองหน้าด่าน
ส่วนตัวเมืองหลวงนั้นยังอยู่อีกไกล
และชาวเมืองจะมีงานสมโภชเมื่อถึงวันออกพรรษาของเมืองมนุษย์
ซึ่งถือว่าตลอด 3 เดือน
ที่เข้าพรรษานั้นเหล่าชาวเมืองที่นี่ก็จะจำศีลปฏิบัติธรรม
เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า

หลังจากที่เดินชมเมืองอยู่ไม่นาน ชายคนนั้นก็ได้นำขึ้นมาส่ง
โดยการเดินมาทางเดิม ก็เป็นการเดินมาเรื่อย ๆ
แต่ได้ขึ้นมายืนอยู่บริเวณหาดทรายเหมือนเดิม
แล้วก็ได้ขึ้นมาหาพ่อ แม่ นี้"

จากการเล่าของลูกสาว พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง
จึงได้จัดงานทำบุญทำพิธีสู่ขวัญ เพื่อเป็นการต้อนรับขวัญให้กับลูกสาว
ต่อมาอีก 7 วัน ลูกสาวก็ได้เจ็บป่วยและเสียชีวิตในที่สุด
(เหตุการณ์นี้สอบถามได้จากผู้เฒ่า ผู้แก่ชาวโพนพิสัย คุ้มวัดศรีเกิดได้)

***สิ่งต้องห้ามของชาวอำเภอโพนพิสัย***

สิ่งต้องห้ามสิ่งหนึ่งของชาวอำเภอโพนพิสัย ก็คือ
ห้ามนำมุ้งลงไปซักในแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นที่ใด
เพราะจะทำให้บริเวณนั้นพังทลายเมื่อถึงหน้าฝน
และก็เป็นเช่นนั้นจริง เมื่อถึงหน้าฝนทุกปี
หากมีคนนำมุ้งลงไปซัก หลายคนไม่เชื่อได้นำมุ้งลงไปซักในแม่น้ำโขง
ก็มักพบกับสิ่งแปลก ๆ บางคนก็เห็นปลาว่ายวนเวียนไปมาอยู่บริเวณนั้น
แต่หลายคนจะเห็นเป็นงูว่ายน้ำไปมาอยู่ใกล้ ๆ ที่ซักมุ้ง
บางคนจะเห็นเป็นงูขนาดใหญ่ว่ายน้ำเป็นสายตรง
จากท่าวัดจุมพล แล้วมุ่งหน้าไปที่ปากห้วยกุง
บ้านหนองกุงฝั่งลาว จะเป็นสายน้ำ
ลักษณะเช่นนี้จะเห็นในตอนเที่ยงวัน ที่วันไหนแดดร้อน
ชาวบ้านเรียกสิ่งนี้ว่างูใหญ่ ที่มีชื่อว่า "นาคตาเดียว"
เนื่องจากครั้งหนึ่งได้มีฝรั่งไปนอนอาบแดดอยู่หาดทรายบ้านโดน
แล้วมีคนหนึ่งจมน้ำตายไป เมื่อฝรั่งขึ้นเครื่องบินดูกลับเห็นว่า
มีงูใหญ่ตัวหนึ่งทับร่างอยู่ จึงได้โยนลูกระเบิดลงมาและถูกงูใหญ่ตัวนั้น
ทำให้ตาข้างหนึ่งบอด (เรื่องนี้สอบถามชาวบ้านได้)
จนต่อมาชาวบ้านก็จะเรียกว่า "ไอ้เดี่ยว" หรือ "นาคตาเดียว"
และมักจะปรากฏให้ชาวบ้านที่ออกไปหาปลาเห็นอยู่เสมอ
แต่ไม่ทำร้ายใคร ตั้งแต่ถูกลูกระเบิด บางครั้งที่บริเวณห้วยกุง (ฝั่งลาว)
บางวันแดดร้อน ๆ ชาวบ้านจะเห็นน้ำพุ่งขึ้นจากห้วยเป็นลักษณะ
เหมือนละอองน้ำเป็นลูกใหญ่ขนาดเท่าลำตาล
และเห็นหัวงูขนาดใหญ่ในละอองน้ำ
เหมือนกับว่ากำลังพ่นน้ำเล่นอยู่ในห้วย
สายน้ำที่มีลักษณะเหมือนงูว่ายน้ำนั้น
ผู้เขียนเองก็เห็นมากับตา เพราะผู้เขียนเองได้นั่งอยู่ที่ท่าน้ำวัดจุมพล
พร้อมกับพรรคพวก ขณะพักผ่อนที่ริมน้ำ


นอกจากการเห็นงูใหญ่ว่ายน้ำไปมาเป็นแนวตรง
ดังกล่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ชาวโพนพิสัย
ได้กระทำกันเป็นประเพณีติดต่อกันมา
เพื่อเป็นการสักการะเจ้าแม่คงคา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลำแม่น้ำโขง
โดยการไหลเรือไฟ ที่ทำจากกาบกล้วยใส่ขี้ใต้จุดให้ไหลไปตามน้ำ
ซึ่งทำการไหลตั้งแต่ท่าน้ำบ้านแดนเมือง
ต.วัดหลวง แต่ไม่มีการแข่งขันประกวดกันเหมือนทุกปี
ซึ่งจะทำกันในวันออกพรรษาของทุกปี
ซึ่งจะมีการไหลเรือไฟก็ต่อเมื่อเสร็จจากการเวียนเทียน



ลูกไฟประหลาด

หลังจากการเวียนเทียนเสร็จในวันออกพรรษาที่วัดไทย
(ทุกวัดจะมารวมกัน) อ.โพนพิสัย แล้ว พระเณรส่วนหนึ่ง
พร้อมด้วยชาวบ้านก็จะนั่งเรือหางยาวนำเรือไฟที่ทำด้วยกาบกล้วย
ต้นกล้วย ขึ้นไปปล่อยจากท่าน้ำวัดบ้านแดนเมือง
ตงวัดหลวง (รวมทั้งผู้เขียนด้วย)
ได้ขึ้นไปในเรือและก็ปล่อยเรือไฟลงมา
ตอนนี้ก็จะดับเครื่องเรือแล้วปล่อยให้ไหลลงมาเรื่อย ๆ
ในความเงียบนี้เมื่อมาถึงแถวท่าน้ำวัดหลวงก
็จะเริ่มเห็นมีสิ่งเหมือนลูกไฟผุดขึ้นมาจากใต้น้ำ
เป็นลูกสีแดงอมชมพู ขึ้นสูงจากผิวน้ำประมาณ 2-3 วา
แล้วก็ดับไปในอากาศ จะขึ้นจุดละ 1 ลูก นาน ๆ
จะขึ้นลูกหนึ่งและก็เรื่อยมา ที่ปากห้วยหลวงท่าวัดจุมพล
และจะมีมากที่ท่าน้ำวัดไทย ซึ่งเป็นที่รวมของพระเณร
และชาวบ้านที่มาร่วมกันเวียนเทียน
และอีกแห่งที่เห็นลูกไฟนี้คือ
ท่าน้ำวัดจอมนาง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

ลูกไฟที่ว่านี้จะขึ้นก็ต่อเมื่อบนฝั่งเงียบสงัด
เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 3 ทุ่ม ไปจนถึงเที่ยงคืนก็คืน
จะเกิดขึ้นลูกเดียวโดด ๆ จะเกิดห่างกันหลายนาที
และจะเกิดขึ้นเฉพาะในวันออกพรรษาเท่านั้น
สมัยเมื่อปี 2516 ลงไป ลูกไฟนี้จะเกิดน้อยมาก
แต่ชาวบ้านก็รอดูกันโดยการปูเสื่อนั่งรอดูอยู่ตามวัดไทย
วัดจุมพล คนดูก็ไม่มาก บางคนก็หลับไปเพราะรอดูลูกไฟประหลาด

ลูกไฟประหลาดที่ว่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานมาแล้ว
เพราะว่าคนแก่ที่มีอายุ 80 ปี (เมื่อปี พ.ศ.2540)
ได้บอกว่าเมื่อตนยังเป็นเด็กก็เคยเห็นลูกไฟนี้เหมือนกัน
และพ่อแม่ก็ได้บอกว่าเห็นมาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน

ต่อมาเมื่อชาวอำเภอโพนพิสัย ได้ไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ
และประกอบกับสื่อสารมวลชนได้ลงข่าวเมื่อปี พ.ศ.2519
ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่ชาวอำเภอโพนพิสัย
ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเห็นมาทุกปี
จึงไม่ได้สนใจอะไรมากมาย
ซึ่งผิดกับชาวต่างจังหวัดที่พากันมาดูแล้วบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ
จึงมีคนมาในแต่ละปีมากขึ้นเรื่อย ๆ
จนถึงขนาดทำให้รถยนต์ติดกันเป็นแถวในวันออกพรรษาของทุกปี

ลักษณะของลูกไฟ...จะมีลักษณะเป็นสีแดงอมชมพู
พุ่งขึ้นจากใต้น้ำ บริเวณขึ้นก็ไม่แน่นอน
บางครั้งขึ้นกลางแม่น้ำโขง และบางครั้งจะขึ้นใกล้ฝั่ง
การเกิดขึ้นกลางแม่น้ำโขงลูกไฟจะเอนเข้าหาฝั่ง
แต่หากขึ้นริมฝั่ง ลูกไฟจะเอนออกไปกลางโขง


ในปัจจุบันนี้ ลูกไฟจะขึ้นตั้งแต่ตอนหัวค่ำ
คือเวลาประมาณ 18.00 น. จะขึ้นจุดละไม่ต่ำกว่า 20 ลูก
และขึ้นสูงจากผิวน้ำตั้งแต่ 50-100 เมตร
จะมีลูกใหญ่ เล็กไม่แน่นอน และจุดเกิดไม่แน่นอน
จะเปลี่ยนจุดเกิดไปเรื่อย ๆ แต่จะเกิดในเขตบริเวณ
อ.โพนพิสัย ตลอดแนวของแม่น้ำโขง
นอกจากแม่น้ำโขงแล้ว ในหนองน้ำขนาดใหญ่ก็มีลูกไฟขึ้นเช่นกัน
เช่น หนองสรวง บ้านร่อนถ่อน ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

เมื่อถึงวันออกพรรษาของทุกปี ทุกวันนี้จะมีชาวต่างจังหวัด
และต่างประเทศเดินทางไปที่ อ.โพนพิสัย
เพื่อดูลูกไฟประหลาดนี้กันเป็นจำนวนมาก
เรียกว่าจากทั่วสารทิศ

ที่เกิดของลูกไฟ...

ลูกไฟประหลาด นี้จะเกิดขึ้นตามบริเวณตั้งแต
่ท่าน้ำวัดหลวง ต.วัดหลวง ปากห้วยหลวง ท่าน้ำจุมพล ท่าน้ำวัดไทย
ท่าน้ำวัดจอมนาง และบริเวณปากน้ำงึม บ้านหนองกุง ต.กุดบง
ท่าน้ำบ้านน้ำเป ต.รัตนวาปี ท่าน้ำบ้านท่าม่วง กิ่ง อ.รัตนวาปี
และที่แก่งอาฮง บ้านอาฮง ต.หอคำ อ.บึงกาฬ
และที่บริเวณท่าน้ำวัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่
ที่กล่าวมทั้งหมดอยู่ในจังหวัดหนองคาย


แต่ก่อนจะมีคนเห็นเฉพาะที่บริเวณเขต อ.โพนพิสัย
เป็นส่วนมาก ลูกไฟที่เกิดขึ้นกลางแม่น้ำโขงนี้
ที่เกิดมาเป็นเวลานาน ชาวบ้าน อ.โพนพิสัย

เรียกว่า "บั้งไฟพญานาค"



ภาพลูกไฟประหลาดที่ผุดขึ้นจากแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียก "บั้งไฟพญานาค"


บั้งไฟพญานาค...จะแตกต่างจากลูกไฟทั่วๆ ไปที่มนุษย์ทำขึ้น
เพราะลูกไฟที่มนุษย์ทำขึ้นนั้นจะมีลักษณะเป็นสีแดง
มีเปลวไฟขณะกำลังพุ่งขึ้น แล้วโค้งตกลงมา
แต่ บั้งไฟพญานาค นี้ เป็นลูกไฟสีแดงอมชมพู
ไม่มีเสียง ไม่มีเปลวไฟ ขึ้นตรง ดับกลางอากาศ
ไม่มีตก ไม่มีควัน ซึ่งจะสังเกตได้ง่ายกว่าลูกไฟทั่ว ๆ ไป



คลื่นประชาชน...หลังจากที่ข่าวแพร่ออกไปเกี่ยวกับเรื่อง บั้งไฟพญานาค
ทำให้ประชาชนในต่างจังหวัด และคน อ.โพนพิสัย
เมื่อไปทำงานที่อื่น เมื่อวันออกพรรษาก็จะชักชวนเพื่อน ๆ
มาดูสิ่งมหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้

อ.โพนพิสัย เต็มไปด้วยผู้คน รถยนต์แทบหาที่จอดไม่ได้
ต้องจอดไว้ที่ทุ่งนาที่ทางอำเภอจัดให้จอด
เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องขอกำลังจาก สภ.อ. และ สภ.ต.
ใกล้เคียงมาช่วยในการจัดการด้านจราจร
เนื่องจากมีชาวบ้านต่างจังหวัดมากันมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัด และในกรุงเทพฯ
ก็จะมาจองห้องพักตามโรงแรมต่าง ๆ
ในจังหวัดเรียกว่า ห้องเต็มวันก่อนเป็นเดือน
เพราะสิ่งมหัศจรรย์อย่างนี้ถือว่าได้ดูแล้วเป็นบุญวาสนาแก่ตนเอง
หรือจะพูดว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเองก็ไม่ผิด
เพราะสิ่งประหลาดไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก

ถนนทุกสายมุ่งสู่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

พอถึงวันออกพรรษาของทุกปี คลื่นประชาชนจากทั่วสารทิศก็มุ่งสู่
อ.โพนพิสัย ทั้งด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถเหมา และรถประจำทาง
ความหวังและจิตใจจดจ่ออยู่ที่สิ่งมหัศจรรย์
ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงในเขต อ.โพนพิสัย
ที่ชาวบ้านตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย ว่า บั้งไฟพญานาค
สาเหตุที่เรียกว่าอย่างนั้นก็คงไม่มีใครสามารถให้คำอธิบายได้มากว่านี้
แต่สาเหตุที่เรียกว่าอย่างนั้น คือ ลูกไฟนี้เกิดขึ้นมาจากใต้แม่น้ำโขง
ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งอุตริลงไปทำในน้ำได้
แต่หากทำได้ จะเพื่ออะไร ทำทำไม แล้วได้อะไร
แต่หากทำจริง ในการทำแต่ละครั้งจะต้องใช้คนไม่น้อยกว่า 300 คน
กระจายกันอยู่ใต้น้ำ อีกอย่างหนึ่งน้ำในแม่น้ำโขงจะมีสีขุ่น
การทำงานนี้ต้องใช้ทุนอย่างมหาศาล จึงไม่มีความจำเป็นที่จะทำ

แต่ถึงแม้หลายคนจะไม่เชื่อว่าเป็น บั้งไฟพญานาค
ตามที่ชาว อ.โพนพิสัย เรียก แต่ก็บอกไม่ถูกว่าเป็นอะไร
แต่เมื่อได้เห็นกับตาแล้วค่อนข้างจะเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นจริง
เพราะไม่มีอะไรอื่นที่จะเรียกและเกิดขึ้นได้
การเกิดของบั้งไฟพญานาค ก็จะเกิดเฉพาะวันออกพรรษาเท่านั้น
และวันออกพรรษา ( ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 )
จะต้องตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ ของประเทศลาว บั้งไฟพญานาค
นี้จะขึ้นจำนวนมาก เท่าที่ผู้เขียนสังเกตมาตั้งแต่เด็ก ๆ
โดยการนำเสื่อไปปูคอยดูที่ท่าน้ำวัดไทยในสมัยนั้น
เมื่อประมาณปี 2513 บั้งไฟพญานาคนี้จะขึ้นก็ต่อเมื่อในน้ำเงียบสงบ
บนฝั่งเงียบ ไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม ราว ๆ ประมาณ 3 ทุ่ม
ก็จะมีลูกไฟพุ่งขึ้นมาจากใต้น้ำสูงจากผิวน้ำประมาณไม่เกิน 3 วา
แต่มาในปัจจุบัน ( ปี 2530-2539 )
ลูกไฟนี้จะขึ้นตั้งแต่เวลา 18.00 น. ไปจนถึงราว ๆ 22.00 น.
ต่อจากนั้นไปก็ค่อย ๆ หมดไป แต่จะเกิดมากช่วง 18.00-21.00 น.
ขึ้นแต่ละครั้ง แต่ละจุดไม่ต่ำกว่า 30-50 ลูก
จะเกิดจากช่วงบริเวณ ท่าน้ำวัดหลวง ท่าน้ำปากห้วยหลวง
ท่าน้ำวัดจุมพล วัดไทย และท่าน้ำวัดจอมนาง เป็นส่วนใหญ่
นอกนั้นจะมีบ้างเป็นจุด ๆ ไป แต่ไม่มากเหมือนกับเกิดที่บริเวณดังกล่าว

ลูกไฟดังกล่าวนับว่าเป็นลูกไฟมหัศจรรย์
ตามที่ชาวบ้าน อ.โพนพิสัย เรียกว่า "บั้งไฟพญานาค"
เพราะสิ่งแวดล้อมหลายอย่างเอื้ออำนวย และเหมาะที่จะคิดอย่างนั้น

แก่งอาฮง...เมืองหลวงของพญานาค เหตุที่เชื่อเช่นนั้นเพราะที่นี่มีลูกไฟที่เรียกว่า บั้งไฟพญานาค
เกิดขึ้นเช่นกัน แต่แตกต่างจากที่อื่น
เพราะที่อื่นลูกไฟที่เกิดขึ้นจะเป็นสีแดงอมชมพู
แต่บริเวณแก่งอาฮงนี้จะเป็น ลูกสีเขียว
มีคนเคยเห็นลูกไฟที่เกิดขึ้นที่นี่เมื่อหลายปีก่อนว่า
ลูกไฟโตเท่าแท้งค์น้ำ สีเขียวสว่างพุ่งขึ้นจากใต้น้ำ ทำให้บริเวณใกล้เคียงสว่างไสวราวกับว่าเป็นเวลากลางวัน
ขึ้นสูงประมาณ 20 เมตร และสาเหตุที่เชื่อว่าแก่งอาฮงเป็น
เมืองหลวงของเมืองบาดาล ก็เพราะว่า ตลอดแนวแม่น้ำโขงตลอดสาย
ตั้งแต่ประเทศจีน ผ่านมาจนถึงจังหวัดหนองคาย แก่งอาฮง ออกสู่ทะเล
แก่งอาฮงถือว่าเป็นสะดือทะเล แม่น้ำโขงที่มีความลึกในหน้าแล้ง
ที่ชาวประมงใช้เชือกผูกก้อนหินหย่อนลงไป มีความยาววัดได้ 99 วา
ของผู้ใหญ่ เพราะตรงนั้นจะเป็นแอ่งที่มองเห็นด้วยตามนุษย์
บริเวณด้านหลังศาลาวัดอาฮง และยังมีความลึกลับกว่านั้นอีกว่า
บริเวณสะดือแม่น้ำโขงดังกล่าวยังเป็นถ้ำใต้น้ำทะลุไปออกที่ ภูงู
ฝั่งตรงข้ามที่ประเทศลาวอีกด้วย



แก่งอาฮง...บริเวณดังกล่าวเมื่อวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ
บรรดาวิญญาณทั้งหลายก็จะมารวมกันที่นี่
ส่วนจะมารวมกันเพื่ออะไรนั้นยากที่จะบอกได้
แต่ที่แน่ ๆ บรรดาวิญญาณทั้งหลายจะมารวมกัน
แต่หากผู้ใดมีจิตใจเข้มแข็ง เข้าไปนั่งสงบสติอารมณ์์

ไม่วอกแวก ก็จะได้ยินเสียงโหยหวน บ้างก็มีเสียงปี่ เสียงกลอง
เหมือนกับคนกระทำพิธีกรรมอะไรสักอย่าง
แต่หากคิดอีกทางหนึ่งก็เพราะว่าบริเวณแก่งอาฮงนี้
หากมีคนตายไหลตามน้ำมาก็จะติดอยู่แก่งนี้
เมื่อก่อนหากมีคนตายในแม่น้ำโขง
ก็จะมาโผล่ที่นี่ติดอยู่ตามเกาะ แก่งที่มีอยู่มากมายในหน้าแล้ง
แม้แต่หน้าฝนที่นี่ก็จะมีคลื่น เนื่องจากกระแสน้ำกระทบเข้ากับแก่งหิน
จึงเป็นที่รวมวิญญาณต่าง ๆ ก็เป็นไปได้

เทพเจ้าทางน้ำ...สิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นตามริมแม่น้ำโขง
ในเขตจังหวัดหนองคาย จากตัวจังหวัดลงไปถึงอำเภอบึงกาฬ
ซึ่งสิ่งนี้คือ หอเจ้าแม่สองนาง ซึ่งจะมีอยู่ที่วัดหายโศก
อ.เมืองหนองคาย เรื่อยไปที่ อ.โพนพิสัย
อยู่ที่ปากห้วยหลวง แก่งอาฮง และที่หน้าโรงพยาบาล อ.บึงกาฬ
คำว่า สองนางในที่นี่คือ งู 1 คู่ คือ งู 2 ตัว

สมัยก่อนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง
จะใช้การติดต่อกันในทางทำธุรกิจค้าขาย
ต้องเดินทางกันทางน้ำ เพราะไม่มีรถยนต์เหมือนทุกวันนี้
ดังนั้นจะต้องใช้เรือล่องผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ
และหมู่บ้านก็จะตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงเสียเป็นส่วนใหญ่
เพราะการเดินทางไปมาสะดวกสบาย
เพราะฉะนั้นการเดินทางค้าขายจึงต้องมีการทำพิธีบวงสรวง
เทพเจ้าทางน้ำ ที่เขาเชื่อและนับถือว่าจะให้ความปลอดภัยในการเดินทาง
ในการทำพิธีบวงสรวงก็จะมีเครื่องเซ่นไหว้ประกอบไปด้วย
เหล้าขาว หมากพูล ข้าวดำ ข้าวแดง ก่อนออกเรือก็จะเทเหล้าขาวลงน้ำ
เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่า การออกเรือครั้งนี้ขอให้มีความปลอดภัย
ประสบความสำเร็จในการค้าขายและเดินทาง
ก่อนออกเดินทางทุกครั้งชาวลุ่มแม่น้ำโขงจะต้องทำพิธีบวงสรวง
ให้เกิดโชคลาภทุกครั้ง และการเดินทางทางเรือจะต้องใช้เวลานานเป็นเดือน ๆ
ยิ่งตอนกลับทวนน้ำแล้วยิ่งต้องใช้เวลานาน

บ่อยครั้งเหมือนกันที่มีชาวลุ่มน้ำโขง
ต้องเสียชีวิตลงในระหว่างการเดินทางทางน้ำ
แต่นั้นพวกเขาจะเชื่อว่าเป็นการทำผิดต่อเจ้าแม่สองนาง
หรือเทพเจ้าทางน้ำ จึงถูกลงโทษ
เหตุการณ์เหล่านี้จะถูกเรียกว่า "เงือกกิน" "เงือก" "งู" เป็นสิ่งเดียวกัน
"พญานาค" ก็เป็นสิ่งเดียวกัน แต่พญานาคนั้นมีภพที่อยู่อีกมิติหนึ่ง
พญานาคจึงสามารถแปลงร่างได้หลายชนิด
และแปลงกายเป็นมนุษย์ หรืออะไรก็ได้
สุดแท้แต่จะแปลง เพียงแค่คิดก็แปลงร่างแล้ว
ถึงแม้จะแปลงเป็นมนุษย์ได้ แต่การอยู่ก็มีภูมิ
หรือภพอยู่ต่างมนุษย์

จึงมีปรากฏการณ์ให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ว่ามีคนเห็นงูใหญ่
หรือเห็นคนเดินลงไปในน้ำแล้วหายไปต่อหน้าต่อตา
บางครั้งถึงกับมีการแปลงร่างเป็นหนุ่มมาเกี้ยวสาว
จนกระทั่งมีการติดพันเกิดความรักระหว่างพญานาคกับมนุษย์
ก็มีอยู่บ่อยครั้ง เรื่องนี้สามารถสอบถามชาวบ้านท่าม่วง
ตาลชุมได้ ขึ้นต่อกิ่ง อ.รัตนวาปี จ. หนองคาย
เพราะสมัยก่อนสาว ๆ บ้านท่าม่วง และบ้านตาลชุม
จะมีพญานาคแปลงกายเป็นหนุ่ม ๆ ขึ้นมาเกี้ยวพาราสีอยู่เป็นประจำ
ถึงขนาดได้ชวนสาว ๆ ลงไปชมเมืองบาดาล
แต่หลังจากนั้นอีก 7 วัน สาว ๆ
ที่ลงไปก็เกิดอาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตไปในที่สุดก่อนเวลาอันสมควร
คือหลังจากขึ้นมาได้ 7 วัน ก็เสียชีวิต

รอยพญานาค

ในแต่ละปีของวันออกพรรษา อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
จะเป็นแหล่งนัดพบของบรรดาผู้ที่ต้องการพิสูจน์ความจริง
ของปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่ได้ยินแต่คนอื่นพูดให้ฟังว่า
ที่เขต อ.โพนพิสัย นั้นมีลูกไฟที่พุ่งขึ้นมาใต้แม่น้ำโขง
เป็นลุกไฟสีแดงอมชมพู ไม่มีเสียง ไม่มีแสง และไม่มีควัน
ไม่มีโค้งตกลงมาเหมือนลูกไฟทั่วๆไป
และลูกไฟที่ว่านี้จะไม่เป็นที่กำหนดว่าจะเกิดขึ้นบริเวณใด
จำนวนกี่ลูก และจะขึ้นสูงขนาดไหน ไม่มีกำหนด
แต่จะเฉลี่ยแล้วจะขึ้นไม่แน่นอน จุดละ 3-20 ลูก ขึ้นสูงกว่า 100 เมตร ตามจุดต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ลูกไฟนี้ชาวบ้าน อ.โพนพิสัย
ตั้งแต่สมัยผู้เฒ่าผู้แก่ เรียกว่า "บั้งไฟพญานาค"
เพราะเป็นที่เชื่อว่าจะเป็นบั้งไฟที่พญานาคจุดขึ้นมา
เพื่อเป็นพุทธบูชาต่อพระพุทธเจ้า ที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
หลังจากที่ไปโปรดพระมารดา เป็นเวลา 3 เดือน จึงมีทั้งเมืองมนุษย์
สวรรค์ และเมืองบาดาล ที่ต่างก็สาธุการจัดงานสมโภช
ที่ประเพณีไทยทำมาก็คือ การตักบาตรเทโวในวันออกพรรษา

หลังจากเหตุการณ์บั้งไฟพญานาคขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
ผ่านไปแล้ว ก็เหลือแต่ความทรงจำ และความประทับใจสำหรับผู้ที่มาพิสูจน์ความจริงว่า
ลูกไฟนั้นคืออะไร หลายคนก็ต้องนำกลับไปคิด
ไปวิเคราะห์ เนื่องจากสิ่งที่เห็นมากับตานั้นเป็นอะไรกันแน่
พอผ่านไปได้อีก 7 วัน หลังออกพรรษา
ชาวโพนพิสัยก็จะจัดงานแข่งเรือยาวประจำปี เหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา
แต่ปีนี้ 2536 มีสิ่งที่ประหลาดเกิดขึ้นบนหน้ารถยนต์ของสองสามีภรรยา
ที่นำผลไม้ไปขายในวันแข่งเรือ โดยนำรถยนต์โตโยต้า สีน้ำเงิน
หมายเลขทะเบียน ป.8380 อุดรธานี จอดไว้บริเวณหน้าวัดไทย
เพื่อขายส้มในงาน สองสามีภรรยา ชื่อ นายลี และนางอารีย์
ไม่ทราบนามสกุล เป็นคนจังหวัดอุดรธานี พอตกกลางคืน
หลังจากขายส้มแล้วก็นอนพักเอาแรงเพื่อจะได้ขายในวันต่อมา
พอตกกลางคืน นางอารีย์ก็ฝันว่า มีชายสองคน นุ่งห่มผ้าขาว
โพกหัวด้วยผ้าขาว ผูกด้านหน้าเป็นกระจุกเหมือนหัวพญานาค
ขึ้นมาขอกินส้ม แต่นางไม่ให้กิน
พอคืนที่สองมาก็ฝันเห็นเรือยาวลำหนึ่งจอดขวางอยู่กลางลานวัด (จอดบนบก)
และได้ยินเสียงชายคนเดิมมาขอกินส้มอีก
แต่นางก็ไม่พูดอะไร พอตื่นเช้ามาก็เล่าเรื่องฝันให้ชาวบ้านฟัง
คนแก่ก็เลยบอกให้สองสามีภรรยา จัดขันดอกไม้ ธูปเทียน
เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเอง พอคืนต่อมาอีก
ก็ฝันเห็นชายดังกล่าวมาขอส้มอีก แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรแล้ว
เพราะฝันเห็นมา 3 วัน หลังจากตื่นขึ้นตอนเช้าก็จะมาขายส้มต่อ
ก่อนนอนสองสามีภรรยา ได้นำผ้าคลุมรถเอาไว้ก่อนนอน
ก่อนขายส้มตอนเช้าจึงได้เปิดผ้าคลุมรถออก นำส้มมาวางขาย
แต่เช้าของคืนที่ 3 ก็ต้องตกใจ
เมื่อเปิดผ้าคลุมรถยนต์เพราะในความรู้สึกบอกว่า
มีอะไรบางอย่างขดอยู่หน้ารถในความรู้สึกว่ามีจริง
จนสุดท้ายจึงตัดสินใจเดินมาเปิดผ้าคลุมรถยนต์ออก
แต่ก็ต้องแปลกใจอีกครั้งที่เห็น
รอยประหลาดเหมือนกับรอยตะขาบขนาดใหญ่
เป็นรอยนูนและยังเปียก เป็นดินโคลนสีแดง ตรวจดูตามข้างรถยนต์
ก็ไม่มีรอยปีนขึ้น-ลง มีเฉพาะนอนขดอยู่หน้ารถมีรูปร่างเหมือนตะขาบ
มีเกล็ด มีขา เป็นรอยมันใส ดู ๆ
แล้วเป็นดินที่ไม่เหมือนกับดินในหนองน้ำ หรือโคลนบนบก
เพราะดมดูก็ไม่มีกลิ่นเหมือนโคลนทั่ว ๆ ไป
นางอารีย์ตกใจมาก เพราะกลัวว่าจะเป็นลางบอกเหตุที่ไม่ดีกับตน
เมื่อชาวบ้านทราบเรื่องเข้าก็มามุงดูกันใหญ่
ด้วยความตกใจ ต่อมาจึงมีคนมาแนะนำให้ไปเข้าทรงดูว่าเกิดอะไรขึ้น
เมื่อได้เข้าทรงก็ทราบว่า โดยการเชิญดวงวิญญาณของหลวงพ่อใหญ่
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ในอุโบสถวัดไทย
และหลวงพ่อใหญ่นี้สามารถที่จะติดต่อกับเมืองพญานาค
หลังจากที่เข้าทรงทราบว่า รอยดังกล่าวเป็นรอยของพญานาคจริง
ที่แปลงร่างขึ้นมาปรึกษากับหลวงพ่อใหญ่ในการที่จะบำรุงรักษาวัด
ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป เพราะสภาพปัจจุบันนี้ขาดการดูแล
และพญานาคที่ขึ้นมานั้นก็เป็นพญานาคระดับหัวเมือง
ที่มาเพื่อที่จะแสดงให้เหล่ามนุษย์รู้ว่าเมืองบาดาล
และพญานาคนั้นมีจริงและบังเอิญขึ้นมาพบกับนายลี
ซึ่งในชาติก่อน นายลีเป็นลูกชายของพญานาค
ที่เมืองบาดาล เมื่อมาพบจึงเกิดความดีใจ
พร้อมกับได้ขอกินส้ม และประกอบกับความดีใจจึงได้กระโดดขึ้นบนหน้ารถยนต์
แล้วประทับรอยเอาไว้ ได้ขึ้นมาตอนเที่ยงคืน
มาทั้งหมด 7 คน อีก 6 คนไม่แสดงตัวให้เห็น
ส่วนสองสามีภรรยา ที่ไปขายส้ม ก็ไม่เคยไปที่ อ.โพนพิสัย มาก่อน

พญานาค สามารถแปลงกายเป็นอะไรได้หลายอย่าง
ตามร่างทรงที่อัญเชิญดวงวิญญาณหลวงพ่อใหญ่บอกว่า
ตรงท่าน้ำวัดไทยนั้นเป็นปากถ้ำขนาดใหญ่
และเป็นด่านที่จะขึ้นสู่เมืองมนุษย์ ส่วนใต้บริเวณวัดก็เป็นถ้ำขนาดใหญ่
สมัยก่อนมีชาวประมงดำน้ำลงไป พบปากถ้ำขนาดใหญ่ มีงู (พญานาค)
ขดอยู่หน้าถ้ำ ลำตัวสีเขียว หลวงพ่อใหญ่ยังบอกว่า
ถึงแม้จะมีการสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งพัง ก็ไม่สามารถที่จะปิดปากถ้ำนี้ได้

จากการปรากฏรอย พญานาค ครั้งแรกที่หน้ารถยนต์ของคนขายส้มแล้ว
ต่อมาได้เกิดขึ้นที่หน้าบ้านของ
นายประจักษ์ พิทักษ์กุล ผู้ใหญ่บ้านจอมนาง
ถึง 3 ครั้ง 3 วันติดต่อกัน
ที่มีลักษณะรอยเหมือนกับที่เกิดขึ้นบนหน้ารถยนต์ พอตกกลางคืน
มีคนเดินผ่านไปมาที่หน้าบ้านผู้ใหญ่บ้านก็จะได้รับกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้
ทั้ง ๆ ที่ไม่มีต้นไม้ในบริเวณนั้น
บริเวณเดียวกันมีคนฝันเห็นคนนุ่งขาว ห่มขาว
ขึ้นมาใส่บาตรพระและที่เดียวกันในตอนเช้าทุกวันก็จะม
ีพระสงฆ์ออกบิณฑบาตรอยู่เป็นประจำ
นอกจากที่ขึ้นหน้ารถยนต์ และหน้าบ้านผู้ใหญ่บ้านแล้ว รอยดังกล่าวยังไปขึ้นที่หลังคารถยนต์ของเจ้าหน้าที่การเงิน
ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคายอีกด้วย
และขึ้นอีกหลายที่ในปีเดียวกัน

หลวงพ่อใหญ่ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น
ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดไทย จากการสอบถามผู้เฒ่า ผู้แก่
ก็บอกว่า เกิดมาก็เห็นอยู่อย่างนั้น ไม่พบหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด
ใครเป็นผู้สร้าง จึงเป็นเรื่องที่ต้องเชื่อฟัง และปฏิบัติตามประเพณีต่อไป
เพราะปกติชาว อ.โพนพิสัย จะไปร่วมกับประกอบพิธี
ไม่ว่าจะเป็นวันออกพรรษา และวันเข้าพรรษา
จะร่วมกันทำพิธีกรรมที่วัดไทยตลอดมา
ไม่ว่าจะเป็นการจัดไหลเรือไฟที่มีมานานแสนนาน
ก็จะทำพิธีกันที่ท่าน้ำวัดไทย

หลวงพ่อใหญ่ เป็นที่เคารพนับถือของคน อ.โพนพิสัย มาช้านาน
ใครมีเรื่องเดือดร้อนก็จะนำเครื่องสักการะไปสักการะเพื่อขอพร
สุดแล้วแต่จะขอกัน ผู้ไปขอพรก็จะสำเร็จตามความมุ่งหวัง
สมปรารถนาทุกคน ต่อมาหลังจากที่มี รอยพญานาคปรากฏขึ้นที่หน้ารถยนต์
ที่จอดอยู่หน้าวัดไทยแล้ว
ทางกรรมการวัดก็ได้จัดทำพระบูชาจำลองหลวงพ่อใหญ่ขึ้น
เพื่อให้ชาวบ้านนำไปสักการะบูชา ซึ่งก็มีหลายขนาดด้วยกัน



แข่งเรือที่บ้านทุ่งธาตุ...สมัยก่อนในวันขึ้น 15 ค่ำ
ชาวบ้านทุ่งธาตุจะได้ยินเสียงแข่งเรือ
กลางวันบางวันก็จะเห็นลำน้ำพุ่งเป็นทางตรงเหมือนงูใหญ่ผ่านไปมา
วันดี คืนดีก็จะเห็นตาผ้าขาวเดินทางผ่านไปมา
แล้วหายตัวไปในบริเวณห้วยบ้านทุ่งธาตุ
บริเวณสะพานก่อนถึงโรงเรียน ตรงนั้นจะมีป่าไม้ทึบ
ต่อมามีคนไปปลูกบ้านอยู่ใกล้ ก็จะมีสิ่งประหลาดเกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
โดยมากจะเห็นตาผ้าขาวเดินไปมาอยู่เป็นประจำ
โดยตาผ้าขาวบอกว่ามาจากเมืองบาดาล
เคยมีคนเอาขยะไปเทลงท่าน้ำห้วยหลวง
หลังบ้านบริเวณดังกล่าว
เกิดท่าน้ำพังอย่างทันตาเห็น





 

Create Date : 17 ตุลาคม 2548   
Last Update : 17 ตุลาคม 2548 22:27:46 น.   
Counter : 5134 Pageviews.  


เมือง คำชะโนด



นี่คือรูปที่เก็บไว้ เป็นจุดหมายของการเดินทาง
เช้า13สค48
วันที่แสงแดด ผลุบๆโผ่ลๆ ปลายหน้าฝน
หลังจากตั้งใจจะไปตามรอยพญานาค ตำนานพื้นบ้าน
นิทานปรัมปราของภาคอีสาน คว้ากล้องถ่ายรูปได้ก็ควบรถกระบะ
คู่ยาก ออกเดินทางจากขอนแก่น ขับรถมุ่งหน้าตามถนนหมายเลข2
ถนนมิตรภาพ ถึงอุดรธานี

จากอุดรธานี ขับรถต่อตามเส้นทางอุดรธานี-สกลนคร (หมายเลข 22) ขับรถผ่านอำเภอหนองหาน จนถึงแยกอำเภอบ้านดุง
เลี้ยวซ้ายที่บ้านหนองเม็ก ไปทางอำเภอบ้านดุงอีก 9 กิโลเมตร จะถึงบ้านคำชะโนด ระยะทางจากอุดรธานี ประมาณ 93 กิโลเมตร

เราขับรถเลี้ยวซ้าย มุ่งสู่ตัวอำเภอบ้านดุง เพื่อแวะนมัสการ
ศาลหลักเมือง ศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ ประจำอำเภอบ้านดุง



ด้านหน้าศาลหลักเมือง เจ้าปู่ศรีสุทโธ



รูปปั้น เจ้าปู่ศรีสุทโธ หน้าศาล



พระพักตร์ รูปปั้น



ยอดศาล ที่มีลวดลาย สวยงาม อ่อนช้อย





บริเวณหน้าศาล ที่มีนักท่องเที่ยว ประชาชนมาเคารพบูชาสักการะ

----------------------------------------------------------------

หลังจากกราบไหว้บูชาเสร็จก็เดินทางต่อไป




บ้านคำชะโนด อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

รายละเอียดแหล่งท่องเที่ยว
คำชะโนด ตั้งอยู่บนพื้นที่ราว 20 ไร่ ซึ่งมีลำน้ำโอบล้อมเกือบรอบคล้ายดังเกาะ อยู่ในตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ เป็นสถานที่ 1 ใน 3 แห่งที่ผู้คนแห่งลุ่มน้ำโขงทั้งไทย-ลาว เชื่อว่าเป็นประตูลงสู่เมืองบาดาล สถานที่อาศัยของพญานาคแห่งแม่น้ำโขง แผ่นดินศักดิ์สิทธ์อันมีตำนานเกี่ยวกับพญานาค และกำเนิดของแม่น้ำโขงแห่งนี้ เรียกกันว่า…'วังนาคินทร คำชะโนด' หรือเมืองชะโนด ตามความเชื่อของชาวอีสาน และชาวลาวบริเวณนี้กล่าวว่าเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีผีจ้างหนังของบริษัทแจ่มจันทร์ภาพยนตร์ไปฉายหนังและมีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก และมีการพิสูจน์ว่าผู้เข้าชมเหล่านั้นไม่ใช่ชาวบ้าน ปัจจุบันบริเวณดังกล่าว ปกคลุมไปด้วยปาล์มลักษณะประหลาด ลักษณะคล้ายกับต้นตาล และต้นมะพร้าวรวมกัน เรียกว่า ต้นชะโนด ภายในสถานที่แห่งนี้มีศาลเจ้า และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ให้กราบไหว้



ประตูทางเดินข้ามไปยังเกาะกลางน้ำ



สะพานทางเดิน ทอดตัวยาวรอผู้คนก้าวเดิน



มันเย็นยะเยือกชอบกล ขนรุก นิ๊ดนดิ



ต้นไม้ มีผ้า3สี 5สี 7สี ผูกกันด้วยความเข้มขลัง



ระหว่างเดินบนสะพาน มองเห็นวิวรอบเกาะกลางน้ำ



ยอดต้นชะโนด ดูขรึมๆ สูงๆ




แหงนหน้าถ่ายรูปยอดต้นชะโนด ย้อนแสง



ต้นชะโนด ใบเหมือนใบตาล ลำต้นเหมือนต้นมะพร้าว ลูกเป็นเม็ดเล็กๆคล้ายหมาก



บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านเชื่อและนับถือ
ตามตำนานเป็น ทางพญานาคขึ้นมาสู่โลกมนุษย์





ยอดต้นชะโนด เหนือบ่อน้ำ ที่บ่อน้ำล้นขึ้นมาตลอด



ศาลเล็กๆ ข้างบ่อน้ำ



ศาลใหญ่ อีกมุมหนึ่งบนเกาะต้นคำชะโนด



รูปแกะสลักไม้ พญานาคกับเม่น



เห็นคนไหว้พระเสร็จ ก็มาลูบฆ้อง เสียงครางดังทั่วเกาะกลางน้ำ



พระและประชาชน ผู้เลื่อมใส ทะยอยกันเดินทางเข้าไปกราบไหว้ตลอดเวลา





รูปปั้นจำลอง องค์เจ้าปู่ศรีสุทโธ



คาถาบูชา ให้ท่องเวลากราบไหว้




*** ตำนานและความเชื่อ ***

อำเภอบ้านดุง เป็นดินแดนเมืองพญานาคและเ็ป้นที่ตั้งของ คำชะโนด
หรือวังนาคิน โดยมีเรื่องเล่าสืบทอดมายาวนานแต่โบราณ โดยเฉพาะแถบลุ่มน้ำโขง ๒ ฝั่ง มีความเชื่อว่าเจ้าปู่พญาศรีสุทโธ เป็นพระราชาแห่งพญานาค และเป็นผู้สร้างแม่น้ำโขง
และในคำชะโนด ยังเป็นที่ตั้งของประตูสู่เมืองบาดาล โดยมีหลักฐานเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในคำชะโนด ซึ่งเชื่อกันว่า...
ในบ่อน้ำมีความศักดิ์สิทธิ์รักษาโรคได้ ตามคำอธิษฐาน
และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ประตูเมืองบาดาล
นี้ไปทะลุบ้านน้ำเป อำเภอโพนพิสัย
ซึ่งเป็นดินแดนกำเหนิด บั้งไฟพญานาค
โดยมีความเชื่อว่าเป็นตำนานที่เชื่อต่อกันตามตำนานโบราณ



ตำนาน คำชะโนด เมืองพญานาค อำเภอบ้านดุง

มีเรื่องเล่ากันว่า แต่ก่อนหนองกระแส ซึ่งอยู่ตอนเหนือของประเทศลาว
อยู่ตอนใต้ของประเทศจีน เป็นเมืองพญานาคครองอยู่ โดยแบ่งเป็น๒ส่วน
ส่วนหนึ่งมี เจ้าปู่พญาศรีสุทโธ เป็นผู้ครอบครองอยุ่
อีกส่วนหนึ่งผู้ครองคือ พญาสุวรรณนาค
มีบริวารฝ่ายละ ๕,000 เท่าๆกัน พญานาคทั้งสองเป็นเพื่อนกัน
มีความรักสามัคคีกันมาโดยตลอด เมื่อหาอาหารจับสัตว์ได้ก้แบ่งปันกัน
มาวันหนึ่งฝ่ายพญานาคได้จับเม่น ขนแหลมยาว
จึงแบ่งเน้อให้อีกฝ่ายหนึ่งตามที่เคยปฏิบัติกันมา
แต่อีกฝ่ายเมื่อเห็นขนแหลมยาวเข้าใจผิดคิดว่า...
ขนยาวน่าจะตัวใหญ่ แต่กับแบ่งเนื้อให้เพียงนิดเดียว
จึงเกิดความไม่พอใจ

เกิดผิดใจกันเรื่องการแบ่งอาหาร จนเกิดสงครามขึ้น
มีการระดมไพร่พลเข้าต่อสู้กัน ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันอยู่นานถึง ๗ ปี
ต่างฝ่ายต่างก็เหนื่อยล้าเอาชนะกันไม่ได้ และต่างฝ่ายต่างก็พยายามจะเอาชนะให้ได้
เพื่อจะได้เป็นใหญ่ครอบครองเมืองหนองกระแสทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว

การต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายของพญานาคทั้งสอง ทำให้เดือดร้อน
ไปทั้งสามภพ คือ บาดาล มนุษยื และสวรรค์

พื้นโลกสะเทือนเกิดแผ่นดินไหวไปทั่ว ความเดือดร้อนทราบถึงพระอินทร์
จึงได้เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ที่หนองกระแส แล้วทรงตรัสเป็นพระราชโองการ
ให้ทั้งสองฝ่ายหยุดรบกัน ให้ถือว่าสองฝ่ายเสมอกัน ไม่มีใครแพ้ใครชนะ
ให้ทั้งสองฝ่ายสร้างแม่น้ำคนละสายออกจากหนองกระแส ใครสร้างถึงทะเล
ก่อนจะให้ปลาบึกไปอยุ่ในแม่น้ำนั้น

พญาสุทโธนาค
จึงพาบริวารสร้างแม่น้ำมุ่งหน้าไป ทางทิศตะวันออกของหนองกระแส
เมื่อถึงตรงไหนมีภูเขาขวางอยู่ แม่น้ำก็จะคดโค้งไปตามภูเขา
เพราะพญาสุทโธนาค เป็นนาคใจร้อน แม่น้ำสายนี้เรียกว่า แม่น้ำโขง
คำว่า...โขง มาจากคำว่า...โค้ง หรือไม่ตรงนั่นเอง

พญาสุวรรณนาค
เมื่อได้รับเทวราชโองการ จึงพาบริวารไพร่พลอพยพจากหนองกระแส
สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศใต้ พญาสุวรรณนาค เป็นนาคใจเย็น
พิถีพิถันและตรง การสร้างแม่น้ำจึงต้องทำให้ตรง แม่น้ำนี้เรียกว่า..
แม่น้ำน่าน เป็นแม่น้ำที่ตรงกว่าแม่น้ำทุกสาย

ในการสร้างแม่น้ำแข่งกันในครั้งนั้น ปรากฏว่าแม่น้ำโขง
ของพญาสุทโธนาคสร้างเสร็จก่อนจึงเป็นผู้ชนะและ...

มีปลาบึกอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงแห่งเดียวในโลก

ตามราชโองการของพระอินทร์ และพญาสุทโธนาคได้เข้าเฝ้าพระอินทร์
ทูลขอทางขึ้นลงระหว่างเมืองบาดาลกับโลกมนุษย์ เอาไว้ ๓ แห่ง
พระอินทร์จึงทรงอนุญาตให้มีรูพญานาคเอาไว้ ๓ แห่ง คือ
๑.ที่พระธาตุหลวงนครเวียงจันทร์
๒.ที่หนองคันแท
๓.ที่พรหมประกายโลก หรือเรียกว่า...คำชะโนด

แห่งที่ ๑ และ ๒ ให้เป็นทางขึ้นลงอยู่เมืองมนุษย์และบาดาลของพญานาคเท่านั้น
ส่วนแห่งที่ ๓
ที่เป็นพรหมประกายโลกนี้ เป็นที่พรหมเทวดาลงมากินดินจนกลายเป็นมนุษย์
ให้พญาสุทโธนาค ไปตั้งบ้านเมืองครอบครองเฝ้าอยู่
ให้มีต้นชะโนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ลักษณ์ต้นชะโนด ให้เอา
ต้นมะพร้าว ต้นหมาก และต้นตาล อย่างละเท่าๆกันผสมกัน

ในเวลา ๑ เดือทางจันทรคติ ข้างขึ้น ๑๕ ค่ำ
ให้พญาสุทโธนาค และบริวารกลายร่างเป็นมนุษย์
เรียกว่า...เจ้าปุ่พญาศรีสุทโธ และอีก ๑๕ วันข้างแรม
ให้พญาสุทโธ และบริวารกลายร่างเป็นนาค
เรียกว่า...พญานาคราศรีสุทโธ

นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน พี่น้องบ้านม่วง บ้านเมืองไพร
บ้านวังทอง อำเภอบ้านดุง ได้พบเห็นชาวเมืองคำชะโนดไปเที่ยวงานบุญ
ประจำปี หรือ งานบุญมหาชาติ ทั้งชายและหญิงหลายครั้ง
บางครั้งจะเป็นหญิงไปยืมเครื่องมือทอผ้า ไปทอผ้าอยู่ประจำ
เจ้าปู่พญาศรีสุทโธได้จัดให้มีการแข่งเรือและประกาศชายงามที่เมืองคำชะโนด

นายคำตา ทองสีเหลือง ซึ่งเป้นชาวบ้านวังทอง ตำบลวังทอง
อำเภอบ้านดุงติดกับเมืองคำชะโนด ได้รับคัดเลือกจากเจ้าปู่ศรีสุทโธ
ให้ไปประกาศชายงาม นายคำตาไ้หายตัวไป ประมาณ ๖ ช.ม.
จึงกลับมาและได้เล่าเรื่องเมืองคำชะโนดที่ได้เห็นมาให้ชาวบ้านฟัง
(ข้อความนี้เป็นเอกสารที่พิมพ์แจกของทางศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ)



สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย
หากต้องการนำไปใช้เผยแผ่ กรุณาติดต่อ
เจ้าของบทความครับ




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2548   
Last Update : 21 สิงหาคม 2548 23:36:11 น.   
Counter : 25498 Pageviews.  



P_ปรัชญา
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 63 คน [?]




หยิ่ง
กับตัวเองบ้าง
ในบางครั้ง

เบื่อ
ชีวิตความผิดหวัง
ในบางหน

เกลียด
ความไม่จริงใจ
ในบางคน

ยอมทน
คนหยามเหยียดได้
ในบางที


[Add P_ปรัชญา's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com