Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

สภาการพยาบาลออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ไดโคลฟีแนค ... (ลำดับเหตุการณ์จากเวบ hfocus และ FB )

'สภาการพยาบาล' ออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ‘ไดโคลฟีแนค’

Sat, 2019-12-21 11:58 -- hfocus

สภาการพยาบาลออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ไดโคลฟีแนค แต่ให้ทำหน้าเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือแพทย์ในการดูแลผู้รับบริการก่อนและหลังการฉีดยา Diclofenac ตามมาตรฐานวิชาชีพเท่านั้น ระบุเป็นไปตาม คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ที่แนะนำให้จำกัดการใช้ยาฉีดไดโคลฟีแนค เฉพาะโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขึ้นไป โดยให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้รับบริการ

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสภาการพยาบาลเรื่อง ห้ามมิให้ยา Diclofenac ชนิดฉีด โดยระบุว่า

เนื่องจากยา Diclofenac ชนิดฉีด ซึ่งเป็นยาแก้ปวดในกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อผู้รับบริการภายหลังการฉีดยามีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับคู่มือการดำเนินงานโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use Hospital Manual) โดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ (2558) แนะนำให้จำกัดการใช้ยา Diclofenac ชนิดฉีด เฉพาะโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขึ้นไป โดยให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้รับบริการ

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 7 วรรคสอง 7.2 และข้อ 18 วรรคสอง 18.2 แห่งข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2560 สภาการพยาบาลโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสภาการพยาบาลในการประชุมครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ให้ยา Diclofenac ชนิดฉีด

ข้อ 2 ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง จะเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในการดูแลผู้รับบริการก่อนและหลังการฉีดยา Diclofenac ตามมาตรฐานวิชาชีพ

ข้อ 3 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2562

รองศาสตราจารย์ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่

อย.ทบทวนความปลอดภัยยาฉีดแก้ปวดไดโคลฟีแนค หลังมีรายงานอาการผิดปกติของเส้นประสาท

************************************************

อย.ทบทวนความปลอดภัยยาฉีดแก้ปวดไดโคลฟีแนค หลังมีรายงานอาการผิดปกติของเส้นประสาท

Sat, 2019-01-19 23:17 -- hfocus

อย.เล็งทบทวนความปลอดภัยยาฉีดแก้ปวดไดโคลฟีแนคหลังได้รับคำร้องขอจาก สปสช.ให้ทบทวนความปลอดภัยของยาฉีดไดโคลฟีแนค เนื่องจากมีผู้ใช้ยาได้รับความเสียหายจากอาการผิดปกติของเส้นประสาท อย.เร่งหารือผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเก็บตัวอย่างยาส่งตรวจวิเคราะห์ ความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป เผยในช่วง 10 ปี ไม่พบแนวโน้มการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของยานี้เพิ่มขึ้น

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีหนังสือขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย พิจารณาทบทวนข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์และภาวะไม่พึงประสงค์ของการใช้ยาฉีดแก้ปวดไดโคลฟีแนค (Diclofenac)

อย.ได้เร่งดำเนินการพิจารณาและตรวจสอบ โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างหารือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อศึกษาและทบทวนในเรื่องความปลอดภัยของยา รวมทั้งจะได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างยาฉีดไดโคลฟีแนคส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพอย่างละเอียดอีกครั้ง หากทราบผลการตรวจสอบที่แน่ชัดจะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป และหากมีความเสี่ยงหรือมีผลกระทบของยาจริงจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการศึกษาและเฝ้าระวังอันตรายจากการใช้ยาสำหรับมนุษย์ทันที

ทั้งนี้ ยาไดโคลฟีแนค เป็นยาในกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ออกฤทธิ์ช่วยในการบรรเทา อาการปวดบวมจากการอักเสบ ปวดตามข้อ ไขข้อกระดูก เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ปวดท้องจากประจำเดือน โรคข้ออักเสบ อาการตึงขัดของข้อ ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพในช่วง 10 ปี ไม่พบแนวโน้มการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น

เลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า อย.จะติดตามตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศอย่างเข้มงวดและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ประชาชนมั่นใจในการดำเนินงานของ อย. ที่มีมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มแข็ง และหากกลุ่มยาตำรับใดมีอันตราย อย.จะแจ้งให้ผู้บริโภคทราบทางสื่อต่าง ๆ ทันที

ทั้งนี้ หากพบการใช้ยาใดที่มีปัญหา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือ Line @FDAthai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ


*******************************************
 

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่

Wed, 2019-01-09 14:47 -- hfocus

อย.นัดผู้เชี่ยวชาญถกประเด็นอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) วันที่ 23 ม.ค. นี้ ด้าน ผศ.นพ.พิสนธิ์ แนะเบื้องต้นถอนยาตัวนี้ออกจาก รพ.สต.ไปก่อน และหากเชื่อว่ายานี้มีผลต่อเส้นประสาทจริงก็ต้องแก้บัญชียาหลักแห่งชาติ บรรจุยา Ketorolac เป็นทางเลือกแก่ผู้ปฏิบัติงาน

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 ม.ค. 2562 ที่จะถึงนี้ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา เพื่อหารือเรื่องการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ Diclofenac injection หรือยาฉีดไดโคลฟีแนค หลังจากพบว่ามีผู้ป่วยเกิดความผิดปกติของเส้นประสาทหลังจากถูกฉีดยาตัวนี้เข้าไป

(ทั้งนี้ ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ช่วยในการบรรเทาอาการปวด บวมจากการอักเสบ ปวดตามข้อ ไขข้อกระดูก เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ปวดท้องจากประจำเดือน โรคข้ออักเสบ อาการตึงขัดของข้อ)

ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดในขณะนี้คือมีคนไข้จำนวนเยอะพอสมควรที่ทำเรื่องขอเงินเยียวยาไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จนคณะกรรมการ สปสช.กังวลว่ามีเคสเข้ามาเรื่อยๆ จึงทำหนังสือออกไปยังกระทรวงสาธารณสุขให้ระมัดระวังยาตัวนี้ หรือกระทำการบางอย่างเพื่อลดปัญหาการฉีดยาตัวนี้ลง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ส่งจดหมายเวียนไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดว่ามีเหตุการณ์เช่นนี้ให้ระมัดระวังด้วย

"เขากังวลเรื่องการฉีดเข้าไปในสะโพก เพราะมีคนไข้บางคนเกิดความผิดปกติของเส้นประสาท เช่น ปวดขา ขาไม่มีกำลัง แต่ก็ยังไม่ได้สรุปยืนยันว่าเป็นผลจากตัวยา ก็เข้าใจว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับเทคนิคการฉีดยาเพราะยาทุกชนิดถ้าเทคนิคการฉีดไม่ดีก็มีโอกาสโดนเส้นประสาทได้เสมอ อีกด้านหนึ่งก็มีรายงานที่เชื่อว่ายาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) สามารถทำให้เกิดพิษที่เส้นประสาท ณ ตำแหน่งที่ฉีดได้แม้จะฉีดอย่างถูกต้องก็ตาม อาจเป็นไปได้ว่าตัวยาไปส่งผลกับเส้นประสาท ดังนั้น วันที่ 23 ม.ค. 2562 นี้ ทาง อย. กำลังเรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาเพื่อหารือในเรื่องนี้" ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ผศ.นพ.พิสนธิ์ ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องน่าสงสัยว่ามีการฉีดมากมายทุกวัน ทำไมคนที่มาร้องเรียน สปสช. มีแต่ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ทั้งนั้น ก็อนุมานได้ว่าเพราะตัวยามีผลหรือไม่ ดังนั้น การเรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาคำตอบว่าเกี่ยวกับยาหรือไม่ยังไม่พอ ก่อนจะพิสูจน์ว่าเป็นเพราะยาใช่หรือไม่ ต้องมีมาตรการไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ด้วยว่าสิ่งใดที่ควรทำในขณะนี้ เพราะถ้ารอคำตอบอย่างเดียวก็จะมีคนร้องเรียนผ่าน สปสช.มาเรื่อยๆ

สำหรับแนวทางการออกมาตรการในระยะนี้ เช่น

1.สื่อสารประชาชนว่าไม่ควรขอให้หมอฉีดยา

2.ถอนยานี้ออกจากทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพราะหากฉีดไปแล้วเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นมา หากเป็นหมอยังพอรับสภาพได้ แต่ถ้าพยาบาลเป็นคนฉีด โดยกฎหมายแล้วพยาบาลไม่สามารถฉีดยาตัวนี้ให้คนไข้ได้โดยไม่มีคำสั่งแพทย์ แต่ในทางปฏิบัติก็ทำกันอยู่ ดังนั้นถ้าจะปกป้องผู้ปฏิบัติงานไม่ให้ถูกฟ้องร้องและป้องกันความเสี่ยงแก่ประชาชนก็ควรเอายาออกจาก รพ.สต.ก่อน

3.ถ้าเชื่อว่ายาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) มีผลจริง ทางเลือกคือเปลี่ยนเป็นยาฉีดชนิดอื่น ซึ่งยาที่สามารถทดแทนได้คือยาคีโตโรแลค (Ketorolac) แต่ยาตัวนี้เป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ การแก้ปัญหาก็ต้องแก้ไปถึงบัญชียาหลักแห่งชาติว่าเห็นด้วยกับการบรรจุยาคีโตโรแลค (Ketorolac) อยู่ในบัญชียาหลักหรือไม่ เพื่อเป็นทางเลือกแก่แพทย์นอกเหนือจากไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นต้น

(ทั้งนี้ ยาคีโตโรแลค (Ketorolac) เป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) นำมาใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดหรือลดการอักเสบ ที่มีความรุนแรงปานกลางไปจนถึงรุนแรงมาก และมักจะใช้ก่อนหรือหลังขั้นตอนการแพทย์หรือการผ่าตัด แต่ไม่ได้นำมาใช้รักษาสาเหตุของโรคยานี้ รวมทั้งไม่นำมาใช้รักษาโรคเรื้อรังหรือโรคที่มีอาการระยะยาว เช่น ข้ออักเสบ เป็นต้น)

"ในมุมประชาชน อยากสื่อสารว่าการเรียกร้องให้หมอฉีดยาให้เป็นเรื่องไม่จำเป็น บางคนมาหาหมอ วัตถุประสงค์คือมาฉีดยา เป็นหวัด เจ็บคอ ปวดเมื่อย ปวดไหล่ ก็ขอฉีดยา แต่การฉีดยามีความเสี่ยงเสมอ คือ 1.อาจโดนเส้นประสาท 2.เสี่ยงต่อการติดเชื้อเสมอหากฉีดผิดวิธี และหากเป็นยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ก็อาจมีอันตรายจากตัวยาเองก็เป็นได้ที่ทำให้เกิดอาการ นอกจากเส้นประสาทมีปัญหา เดินลำบาก ปวดขา ขาไม่มีกำลังแล้ว ยังทำให้เกิดอาการแปลกๆ อีกหลายอาการ จนในที่สุดเกิดผลเสียร้ายแรง ดังนั้นไม่ควรขอหมอฉีดยาเลย การฉีดยาเป็นการตัดสินใจทางการแพทย์ หมอเป็นคนตัดสินใจให้ฉีด ไม่ใช่ประชาชนมาสั่งหมอว่าจะฉีดยา" ผศ.นพ.พิสนธิ์

อนึ่ง วันที่ 27 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของ อย. ได้ จดหมายข่าวเรื่อง การเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ Diclofenac injection โดยระบุว่า ในระยะเวลา 33 ปี (พ.ศ. 2529 – วันที่ 25 ธ.ค. 2561) พบรายงาน AEs สะสมทั้งหมดจำนวน 10,551 ราย เฉลี่ยปีละ 320 ราย เป็นรายงานใช้ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 8,439 ราย (ร้อยละ 79.99) และใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดดำ 2,112 ราย (ร้อยละ 20.11)

ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบ AEs ช่วง 10 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2551 – 2560 กับปริมาณการนาเข้า/ผลิตยา diclofenac injection ในช่วงเวลาเดียวกัน พบอัตราการรายงาน AEs เฉลี่ย 7 รายต่อปริมาณการนาเข้า/ผลิต diclofenac injection 100,000 ampules และเมื่อพิจารณาแยกรายปีไม่พบแนวโน้มการรายงานที่สูงขึ้น รวมทั้งการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทไซอาติก เช่น numbness, peripheral nerve injury และ injection site pain ก็ไม่พบแนวโน้มการรายงานที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากเทคนิคการฉีดเป็นหนึ่งในปัจจัยของการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทไซอาติก จึงขอแนะนาบุคลากรทางการแพทย์ในการใช้ยา diclofenac injection เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นประสาทหรือเนื้อเยื่อเสียหาย คือควรฉีดลึกๆ เข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกส่วนนอกด้านบน โดยขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างการทบทวนข้อมูลความปลอดภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะแจ้งผลให้ทราบต่อไป


************************************

หมายเหตุ ... ราคายา โดยเฉลี่ย

Diclofenac ราคาต่อ amp 3-4 บาท ที่อยากให้ถอน

Ketorolac ราคาต่อ amp 80-160 บาท ที่จะมาทดแทน


@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

ต่อไปนี้จะเป็นการรวบรวมความเห็น จากเพจเฟสบุ๊ค

ความเห็นต่อประกาศสภาการพยาบาล เรื่อง ห้ามมิให้ยา Diclofenac ชนิดฉีด

1.ประกาศนี้ใช้เฉพาะกับผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ก้าวล่วงไปยังวิชาชีพอื่น หากผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์นี้ฝ่าฝืน (ไม่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ที่ใดก็ตาม) อาจมีประเด็นปัญหาด้านมาตรฐานการประกอบวิชาชีพซึ่งทำให้ถูกพิจารณาจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพได้

2.เภสัชกรฉีดยานี้ไม่ได้ เนื่องจากจะมีประเด็นปัญหาตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 หรือพระราชบัญญัติวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ.2528

3.ยังไม่ได้ห้ามใช้ Diclofenac ชนิดฉีดในประเทศไทย เนื่องจากในวันที่มีประกาศสภาการพยาบาลฉบับนี้ยังไม่ได้มีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510

4.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาที่ต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยาและข้อความของคำเตือน ต้องติดตามต่อไปว่าจะเตือนห้ามใช้ในกรณีใดบ้างหรือไม่ แม้ในอนาคตหากกำหนดห้ามใช้ในประกาศนี้แต่หากมีผู้ฝ่าฝืนใช้ยา ไม่ได้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 แต่ผู้ใช้ยาชนิดฉีดนี้ต้องรับความเสี่ยงหากต้องมีคดีฟ้องร้องในศาล

5.คำแนะนำของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลไม่ใช่กฎหมาย แต่ฝ่ายบริหารอาจใช้เป็นแนวทางกำหนดนโยบายการใช้ Diclofenac ชนิดฉีด ตามที่คณะอนุกรรมการเสนอหรือตามที่เห็นสมควรได้

6.กรณีมีการใช้ยา diclofenac ชนิดฉีดในสถานพยาบาลเอกชน หากมีความประสงค์จะจำกัดการใช้ยานี้ในสถานพยาบาลประเภทใด อาจพิจารณาให้เป็นข้อกำหนดทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2861885343846046&set=a.142035869164354&type=3&theater

 
Parun Rutjanathamrong ข้อความนั้นเป็นของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ไม่ใช่ของสภาการพยาบาลโดยตรง แต่สภาการพยาบาลยืมข้อความนั้นมาเพื่อออกประกาศวิชาชีพคุมคนของตนเองครับ

คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ภายใต้คณะกรรมการ พัฒนาระบบยาแห่งชาติ (๒๕๕๘) แนะนาให้จากัดการใช้ยา Diclofenac ชนิดฉีด เฉพาะโรงพยาบาล ระดับตติยภูมิขึ้นไป โดยให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้ให้บริการแก่ผู้รับบริการ
 
ในภาพอาจจะมี ข้อความ
Parun Rutjanathamrong อันนั้นยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญครับ ประเด็นสำคัญอยู่ที่หนังสือนี้ที่ให้ร่วมกันทบทวนเทคนิคการฉีดและแนวทางการฉีดยาที่ถูกต้อง แต่ปลายทางออกมาเป็นห้ามฉีดเลย
ในภาพอาจจะมี ข้อความ
 

*************************************
Saengthong HatyaiPharmacy
 

ดราม่าตอนนี้ เรื่องยาฉีดไดโคลฟีแนค จะให้หมอหรือพยาบาลฉีด...หลายคนยังงงๆว่ามันคืออัลลัย...
มาๆเภจะเล่า...

ทำไมต้องฉีดยาไดโคลฟีเนค

ยาฉีดไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นยาลดปวดและอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ที่ออกฤทธิ์เร็ว จึงนิยมใช้ในสถานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นคลินิค, รพ., รพ.สต. หรืออนามัย ขนาด1แอมพูลมี 3มล. ให้ตัวยา ไดโคลฟีแนค75มก สามารถให้ทางฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าเส้นเลือด

การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ (ที่เป็นประเด็นกันตอนนี้ว่าใครควรเป็นคนฉีดยาจะเป็นหมอ หรือพยาบาล) ใช้สำหรับการปวดรุนแรง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กระดูก รูมาตอยด์ ไมเกรน ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน150มก/ วัน โดยแบ่งให้ครั้งละ75มก ห่างกันอย่างน้อย2-3ชม. โดยฉีดเข้าทางสะโพก ออกฤทธิ์เร็วภายใน10-22 นาที

การฉีดไดโคลฟีแนคเพื่อป้องกันไม่ให้เส้นประสาทหรือเนื้อเยื่อเสียหาย ควรฉีดลึกๆๆเข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกส่วนนอกด้านบน (เภสัชฉีดยาไม่เป็น อ่านหนังสือเอามาเล่าอีกทีค่ะ)

ทำไมไม่ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำล่ะ ในเมื่อมีผลข้างเคียงน้อยกว่า...ก็เพราะมันเป็นยาที่มีขั้นตอนในการผสมที่ยุ่งยากกว่ายาอื่นๆน่ะสิ....ก่อนใช้นางต้องผสม D5W หรือ NSS กับ7.5% Sodium bicarbonate inj ก่อน แล้วจึงนำสารละลายดังกล่าวไปผสมกับ Diclofenac และควรใช้ทันทีหลังเตรียมเสร็จโดยให้ทางเส้นเลือดดำต่อเนื่อง 30นาที-2ชม. และหากผสมยาไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดตะกอนซึ่งทำให้เกิดอันตราย เช่นการอุดตันในหลอดเลือดได้ (หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหิดล)

ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของอย.ได้สรุปข้อมูลตั้งแต่ปี 2529-25ธค.2561 เป็นเวลา 33 ปี พบรายงานไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาฉีดไดโคลฟีแนค หรือ AEs สะสม10,551ราย เฉลี่ยปีละ320 ราย โดยพบว่า 79.99% หรือ 8, 439ราย เกิดจากการฉีดยาเข้ากล้าม และอีก 20.11% เกิดจากการให้ยาทางเส้นเลือดดำ

อย่างไรก็ตามในเรื่องที่เป็นประเด็นขณะนี้ กล่าวถึง ผลข้างเคียงของยาไดโคลฟีแนคชนิดฉีดที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทไซอาติก sciatic nerve* ซึ่งผลข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดจากตัวยาเองหรือเทคนิคการฉีดยาก็ได้ ซึ่งต้องการข้อมูลการศึกษาเพิ่มขึ้นต่อไป (ข้อมูลจาก H focus)
*เป็นการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงหน้าแข้งและเท้า ขาอ่อนแรงและอาจพิการได้

สิ่งที่ประชาชนควรทำคืออะไร
ไม่ร้องขอยาฉีดแก้ปวดโดยไม่จำเป็น ควรเก็บเป็นทางเลือกสุดท้าย อย่าไปคิดว่าไปฉีดยาดีกว่า เร็วดี เข็มเดียวหาย และผู้ป่วยควรได้รับการวินิจฉัยและตัดสินใจใช้ยาฉีดนี้โดยแพทย์เท่านั้น โดยได้รับข้อมูลถึงผลข้างเคียงของยาด้วย

**ผลข้างเคียงเรื่องsciatic nerve ไม่ได้มีผลเวลาคนไข้ได้รับยาไดโคลฟีแนค
ทางการรับประทานนะคะ...จะมีผลเฉพาะกับยาฉีดเท่านั้น**

การใช้ยาทุกชนิดมีความเสี่ยง แพทย์และพยาบาลทุกท่านทำงานเพื่อผู้ป่วยอย่างเต็มที่และเภเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดปัญหาหลังการรักษา ในวันที่ผู้ป่วยเรียกร้องและร้องเรียนบุคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น การระมัดระวังตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ยาตัวนี้ไม่ใช่ยาใหม่ ยังเป็นยาที่ดี มีประสิทธิภาพสูง ในราคาที่เบิกได้ เภขอให้กำลังใจบุคคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทุกท่านค่ะ

เครดิตรูปจาก freepik

#แสงทองเภสัชหาดใหญ่
#เรื่องยาปรึกษาเภสัชกร

https://www.facebook.com/HatyaiPharmacy/photos/a.2052106851740223/2545780385706198/?type=3&theater


แถมความเห็นจากเฟส หมอยา Utai Sukviwatsirikul

5. (อันนี้เราก้อเผือก) คือ ในโลกใบนี้ของเรา มีคนทำดี ตั้งใจทำดี แต่ผลกรรมของระบบ อาจจะตกปุ๊ ลงกระบาลคนตั้งใจทำดี เมื่อไหร่ก้อไม่รู้

ผลกรรมของความดีที่เราตั้งใจทำ อาจเป็นความซวยมากมาย

ดังนั้นหากจะทำดี ต้องรอบคอบ มองถึงปัจจัยรอบด้าน

เราเองจึงแอบมองอยู่เงียบๆ และดุว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรา จะปล่อยให้เรื่องนี้ เป็นภาระของผู้ป่วยเหรอ???

https://www.facebook.com/utai.sukviwatsirikul/posts/2928977070466755?__tn__=-R


****************************************
แถม ภาพนี้ ...  ขำ แบบ ขมขื่น  T_T



******************************************
แถมความเห็นของ เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา 
Methee Wong

สรุปtimeline ปัญหาการห้ามฉีด Diclofenac ..

ขึ้นต้นเป็นลําไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา

สปสช.รับรายงานการเกิดSciatic nerve injuryจากการฉีด Diclofenac "IM" เฉลี่ยปีละ ๕ ราย.....ปัญหาไม่ใช่เรื่อง drug allergy !!!!!

รายงานไปที่ อย. กรม.สบส. สำนักสถานพยาบาลกองประกอบโรคศิลป์ และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์

ทำให้มีการทบทวนข้อมูลและสอบทานที่มาของปัญหา...

สรุป...เทคนิคการฉีดยาเข้า "กล้าม" ที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิด Sciatic nerve injury...ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ยืนยันว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากคุณภาพยา...
แต่เป็นเรื่องผู้ฉีดยา ที่ฉีดยาเข้ากล้ามผิดเทคนิค ทำให้เกิด Sciatic nerve injury

ผลสรุปนี้สอดคล้องกับรายงานในตปท. ที่ยืนยันว่า ยานี้มีข้อห้ามร้ายแรง (Absolute contraindication)เฉพาะในคนไข้ Cardiac stroke ส่วนเรื่องการแพ้ยา (Drug allergy)นั้นไม่ได้ต่างกับยาอื่น ๆ (เกิดได้ทุกตัว และตรงกับรายงานเฝ้าระวังการแพ้ยาของ อย.) ...
Mayo clinic สรุปว่า ยานี้ดี.(cost/effectiveness)............
.....พยาบาลหรือผู้ที่ได้รับฝึกฝนอย่างถูกต้อง สามารถบริหารยานี้ให้แก่คนไข้อย่างปลอดภัย...

สรุป "ในตปท. ไม่ได้ห้ามพยาบาลฉีด" แต่ให้ฉีดอย่างถูกเทคนิค (ตรงกับที่ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ทบทวนวรรณกรรมและทำหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)

ในประเทศไทยจึงมีหนังสือเวียน เตือนกันเป็นขั้นตอน ซึ่งถูกต้องแล้ว..... เพื่อแจ้งให้พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทราบและระมัดระวังให้ฉีดอย่างถูกเทคนิค

แต่เหลาไปเหลามา กลายเป็นห้ามพยาบาลฉีดทั้ง IV และ IM !!!!!!!

ซึ่งหมายความว่า .................(จงเติมคำในช่องว่าง)

ปัญหาที่ตามมาคือ

DYNASTAT หรือ KETOLORAC จะเบิกไม่ได้ในผุ้ป่วยหลักประกันสุขภาพ (ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง!!!!!).....หากผู้ป่วยไม่พอใจว่า "ทำไมต้องจ่ายเงินเอง!!!!"...ก็ต้องไปถามเอากับ.........?

จะหันมาฉีด TRAMAL ก็ออกฤทธิ์สู้ Diclofenac ไม่ได้ในผู้ป่วย Severe Low back Pain, Dysmenorrhea, Ureteric stone ...เพราะกลไกออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน ตัวหนึ่งเป็น NSAIDs อีกตัวเป็นอนุพันธ์ของฝิ่น..มีกลไกออกฤทธิ์ต่างกัน

Episode 2....https://www.facebook.com/methee.wong.7/posts/3144226535604889

Diclofenac .....ปรากฎการณ์ "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" (The butterfly effect)

(Episode I....https://www.facebook.com/methee.wong.7/posts/3139246792769530)

ปรากฎการณ์ Diclofenac ไม่ต่างอะไรจากการจับผู้ป่วยเป็นตัวประกัน

สุดท้ายคนที่เดือนร้อนที่สุดคือ "ผู้ป่วย" ที่ขาดโอกาสการใช้ยาที่มีคุณภาพและราคาสมเหตุสมผล (Cost/Effectiveness) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ป่วยด้วยอาการปวดหลังรุนแรง เข่าเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอย์ด กลุ่มอาการปวดประจำเดือน

และรพ...... โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น (ยกเว้น ผู้ป่วยทุกสิทธิ ยอมรับที่จะจ่ายค่ายาในราคาแพงมาก ซึี่งไม่รู้ว่าจะมีประสิทธิภาพดีเท่ายาเดิมหรือไม่ )

หน่วยงานที่น่าจะงง งวยที่สุด คือ อย. กรม สบส. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ที่ตั้งคณะกรรมการศึกษาแล้วสรุปชัดเจนว่า ยานี้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องคุณภาพ หรืออันตรายจนน่ากลัวตามประกาศที่ออกมาแต่อย่างใด ...เพียงแต่ต้องบริหารยาให้ถูกวิธีการเท่านั้น....ซึ่งหวังดีว่าผลสรุปนี้จะนำไปสู่การปรับปรุงและถ่ายทอดเทคนิคการฉีดยาที่ถูกวิธีโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป...กลับกลายเป็นการเปลี่ยนสาส์นด้วยคำสั่งว่า ...ให้เลิกฉีดยา ซะดื้อ ๆ

จริง ๆ แล้ว หากยาตัวนี้มีอันตรายจริง....คำสั่งที่ถูกต้องคือ "ถอนยาออกจากระบบไปเลย ...ไม่ใช่การปฏิเสธการฉีด ...และสั่ง(กลาย ๆ)ให้คนอื่นฉีดแทน"...เพราะมันไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย ....นอกจากทำให้สหวิชาชีพกินแหนงแคลงใจกันโดยใช่เหตุ....

อย่าลืมว่า เมื่อแพทย์ป่วยเอง ก็ต้องการพยาบาลในการดูแล
ในขณะที่เมื่อพยาบาลป่วย ก็ต้องการแพทย์มาดูแลเช่นกัน
และที่สำคัญที่สุดคือ ที่สุดแล้ว..ทั้งสองวิชาชีพ ต้องไปดูแลผู้ป่วยทุกคน

Episode I....https://www.facebook.com/methee.wong.7/posts/3139246792769530

*******************************




ถ้าคุณยังสงสัย
นี่คือการรีวิววรรณกรรมครั้งสำคัญ

อาการไม่พึงประสงค์
สถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ที่รวบรวมโดยผู้ทรงคุณวุฒิของสภาการพยาบาล

เราไม่ได้ทำเพื่อใคร
แต่เราทำเพื่อ
"ปกป้องประชาชน ปกป้องวิชาชีพ"

เพราะความเสี่ยงไม่ควรเกิดกับใคร

อ่านได้ที่
https://drive.google.com/file/d/1EQnx2jWLoZbfdzDjN44hoL2WPIuhK55D/view?usp=sharing

ที่มา เพจ คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ สภาการพยาบาล  26 ธันวาคม 2562
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=186589065728437&set=a.102781334109211&type=3&theater


********************************************

Episode I....https://www.facebook.com/methee.wong…/posts/3139246792769530 . ....ห้ามฉีดdiclofenacทั่วไทย

Episode 2....https://www.facebook.com/methee.wong.7/posts/3144226535604889 .....เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว (Butterfly effect)

Episode 3...https://www.facebook.com/methee.wong.7/posts/3169910976369778 ...... บทเรียนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

จนถึงตอนนี้ประมาณเกือบสองสัปดาห์หลังจากมีคำสั่งห้ามพยาบาลทั่วประเทศฉีดยา diclofenac ทั้งการฉีดเข้ากล้าม (IM) และเข้าเส้น (IV) ด้วยเหตุผลว่ามีรายงานว่าผู้ป่วยบางราย มีปัญหาบาดเจ็บเส้นประสาท Sciatic (ทำให้ขาข้างที่เดียวกับก้นที่ได้รับการฉีดยา มีอาการอ่อนแรง) ......ยังไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะต้นทางอย่าง สปสช....อย....ราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง...คณะกรรมการการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล..... ว่าจะเอาอย่างไรกันกับคำสั่งนี้ ...เพราะนอกจากจะสวนทางกับคำแนะนำเพื่อแก้ปัญหาที่ถูกต้องแล้ว คำสั่งนี้ยังมีปัญหาเรื่องตรรกะความสมเหตุสมผล ...เพราะ
.....
...........
(๑) ถ้าdiclofenacเป็นยาอันตรายจริง..หน่วยงานภายใต้กำกับกท.สธ. อย่าง อย.ต้องเพิกถอนยาออกจากระบบด้วยตนเอง ...ใยต้องรอให้สภาการพยาบาลมาออกคำสั่งห้ามฉีด (ซึ่งหากเป็นจริง..ว่ายานี้มีอันตราย..ก็ต้องขอบพระคุณสภาการพยาบาลที่ออกมานำร่องเป็นหัวขบวนเพื่อความปลอดภัยของคนไทย)
....
(๒) ถ้าการฉีดเข้ากล้ามบริเวณก้น เป็นวิธีอันตรายจริง...องค์การอนามัยโลกก็ต้องมีคำสั่งหรืออย่างน้อยคำเตือนไปทั่วโลกว่า ให้ยกเลิกการฉีดยาเข้ากล้ามบริเวณก้น โดยสิ้นเชิง..ไม่ใช่พยาบาลฉีดไม่ได้ แต่แพทย์ฉีดได้แบบที่สภาการพยาบาลออกคำสั่งให้แพทย์เป็นผู้ฉีดเอง...ปัญหาคือ องค์การอนามัยโลก หรือหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ยังไม่เคยมีคำสั่งนี้ออกมาแต่อย่างใด ...แต่มีคำแนะนำ (Guideline, Recommendation)การบริหารยาที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าว (It is preventable by …รออ่านต่อ..)
........
(๓) ถ้าการฉีดdiclofenacเข้ากล้ามเป็นอันตรายจริง คำสั่งที่ควรมีออกมาคือ ห้ามพยาบาลฉีดยาตัวนี้เข้ากล้าม ให้ฉีดเฉพาะเข้าเส้นได้เท่านั้นเพราะการฉีดเข้าเส้นไม่ทำให้เกิดSciatic nerve injuryแน่นอน.......แต่คำสั่งที่ออกมากลายเป็นเหมาเข่ง ห้ามฉีดทั้งเข้ากล้าม + เข้าเส้น.....โดยยังขาดเหตุผลที่เหมาะสมมารองรับ???
......
(๔) ถ้าการฉีดยานี้เข้ากล้ามอันตรายจริง ...การให้แพทย์ฉีดเองจะปลอดภัยกว่าพยาบาลฉีดได้อย่างไร...หรือแพทย์ทราบอะไรที่พยาบาลไม่ทราบ...แทนที่จะแจ้งให้พยาบาลทราบ แต่กลับเงียบไม่บอก และยังออกคำสั่งให้พยาบาลไปฉีดยานี้แก่ผู้ป่วยกระนั้นหรือ?

......
..............
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกคนยามเมื่อเจ็บป่วย.. ถ้าต้องถึงขนาดมีการทำหัตถการหรือการผ่าตัด..ย่อมต้องการให้แพทย์เป็นผู้ลงมือทำเอง ทว่าหากต้องการได้รับการฉีดยาหรือเจาะเลือด.. ก็ย่อมต้องการให้พยาบาลเป็นผู้ลงมือ .โดยเฉพาะตัวแพทย์หรือพยาบาลเอง(รู้ดี รู้มาก) ..ย่อมเรียกร้องให้พยาบาลผู้มากประสบการณ์เป็นผู้ลงมือฉีดยาหรือเจาะเลือดเอง ...คนไข้ที่เวียนเข้าออกรพ.บ่อย ๆ รู้ดีว่า แพทย์ทั่ว ๆ ไปนั้นเมื่อจบออกมาจากรร.แพทย์แล้ว....อาจจับมีดผ่าตัดได้คล่องแคล่ว แต่การจับเข็มฉีดยานั้น มันคนละเรื่องกันแลย.!!!!

....
.......
ความจริงแล้วปัญหาการเกิด Sciatic nerve injury นั้น มีมานานแล้ว...ไม่ได้เกิดเฉพาะเมืองไทย ยาที่ใช้ก็เป็นยาเก่าแก่ที่มีการติดตามการใช้ยาอย่างยาวนาน ในตปท.ก็มีรายงานแบบนี้เช่นกัน...มีการฟ้องร้องเช่นกัน.......วิธีจัดการปัญหาเป็นอย่างไร..ที่แน่ ๆ คือไม่เคยมีการห้ามพยาบาลฉีด และยิ่งไม่มีการบอกว่าแพทย์ต้องเป็นผู้ฉีดเอง

https://www.facebook.com/methee.wong.7/posts/3169910976369778


*********************************************


#ประกาศแพทยสภา

"เรื่อง การใช้ยาฉีด ไดโคลฟีแนค (Diclofenac)"
.
แพทยสภามีหน้าที่ทำให้การรักษามีมาตรฐานและคุณภาพที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยและให้ความรู้แก่ประชาชน และส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพทางการแพทย์ แพทย์จะร่วมรับผิดชอบต่อผลการรักษาที่เกิดจากทีมสหสาขาวิชาชีพเสมอ
.
แพทยสภาตระหนักดีว่า การใช้ยาทุกขนานมีทั้งเกิดผลดีและฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์หรืออาการแพ้ได้ แพทย์จะดูแลการใช้ยาให้ตรงตามข้อบ่งใช้ ระมัดระวังการเกิดฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์หรืออาการแพ้ และแก้ไขอย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์และอาการแพ้ดังกล่าว เมื่อเกิดเหตุที่ไม่พึงประสงค์หรืออาการแพ้ แพทยสภาจะช่วยประเมินว่า กระบวนการรักษาดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาหรือไม่ หากตรวจพบว่า มีจุดที่สมควรจะพัฒนาในกระบวนการรักษาให้ดีขึ้น เพื่อลดการเกิดฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์หรืออาการแพ้ดังกล่าว แพทยสภาจะช่วยให้ความรู้และให้ข้อเสนอแนะในกรณีดังกล่าวแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนากระบวนการรักษาต่อไป
.
แพทยสภาเห็นว่า ยา Diclofenac มีประโยชน์ทางการแพทย์และมีข้อบ่งใช้ เป็นยาที่มีราคาถูก อยู่ในบัญชียาหลัก มีการใช้แพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ สามารถบริหารได้ทั้งการกินโดยใช้ชนิดเม็ดหรือชนิดยาซองละลายน้ำ ยาเหน็บและยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหยดเข้าหลอดเลือดดำ
.
การฉีดยา Diclofenac เข้ากล้ามเนื้อ สามารถฉีดได้ด้วยความระมัดระวัง และให้ติดตามอาการข้างเคียงหลังการฉีดเช่นเดียวกับยาขนานอื่น การกินยาอาจจะออกฤทธิ์ช้ากว่าการฉีดยาได้บ้าง
.
การให้ยา Diclofenac อีกวิธีหนึ่งคือ การให้ยาแบบหยดเข้าหลอดเลือดดำ แพทยสภามีคำแนะนำ วิธีการให้ยา Diclofenac หยดเข้าหลอดเลือดดำ ดังนี้
.
๑. ห้ามฉีดทั้งแบบ bolus หรือ push
.
๒. ให้ผสมยา Diclofenac กับ NSS หรือ D5W ที่มีปริมาณ ๑๐๐ ถึง ๕๐๐ มล. ก่อน แล้วเติมสารละลาย Sodium Bicarbonate เป็นสาร buffer ในปริมาณ ๐.๕ มล. หากใช้ NaHCO3 ชนิดความเข้มข้นร้อยละ ๘.๔ หรือในปริมาณ ๑.๐ มล. หากใช้ NaHCO3 ชนิดความเข้มข้นร้อยละ ๔.๒
.
๓. เขย่าขวดหรือถุงให้ยาละลายเข้ากัน จะต้องได้สารละลายสีใสก่อนจะเริ่มหยดให้ทางหลอดเลือดดำ
.
๔. โดยทั่วไป ให้หยดนาน ๓๐ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง

#ขนาดยาที่หยดเข้าหลอดเลือดดำตามข้อบ่งใช้

#ข้อบ่งใช้ในการลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด
.
• ควรใช้ขนาด ๗๕ มก. หยดเข้าหลอดเลือดดำนาน ๓๐ นาทีถึง ๒ ชั่วโมง อาจจะให้ซ้ำอีกครั้งได้หลังจากให้ครั้งแรก ๓ ชั่วโมง แต่ไม่ควรยาให้เกิน ๑๕๐ มก. ต่อ ๒๔ ชั่วโมง
ข้อบ่งใช้ในการป้องกันความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด
.
• ควรใช้ขนาด ๒๕-๕๐ มก. หยดเข้าหลอดเลือดดำนาน ๑๕ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง และให้หยดยาแบบต่อเนื่องในขนาด ๕ มก.ต่อ ชม. แต่ไม่ควรให้เกิน ๑๕๐ มก. ต่อ ๒๔ ชั่วโมง
.
#ข้อควรหลีกเลี่ยงการให้ยา_Diclofenac_หยดเข้าหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่มีภาวะดังนี้
.
1. กำลังได้รับยา NSAID หรือยา Anticoagulant รวมถึง Heparin ร่วมด้วย
.
2. มีประวัติเลือดออกง่าย เช่น ในระบบทางเดินอาหารและในระบบประสาท
.
3. มีประวัติเป็นหอบหืด ลมพิษ
(โดยเฉพาะผู้เป็นหอบหืดจากการได้ยา แอสไพริน, Ibuprofen หรือ NSAID)
.
4. มีภาวะไตพิการโดยมีค่า Serum Creatinine มากกว่า ๑.๘ มก./ดล. หรือ ๑๖๐ ไมโครโมลต่อลิตร
.
5. มีภาวะ Hypovolemia หรือขาดสารน้ำชัดเจน
.
#เอกสารอ้างอิง
.
1. Campbell WI, Watters CH. Venous sequelae following I.V. administration of diclofenac. Br J Anaesth 1989;62:545-547.
.
2. McNicol ED, Ferguson MC, Schumann R. Single-dose intravenous diclofenac for acute postoperative pain in adults. Cochrane Database of Systematic Reviews 2018, Issue 8. Art. No.: CD012498. DOI: 10.1002/14651858.CD012498.pub2
.
3. Hoy SM. Diclofenac sodium bolus injection (Dyloject(TM)): a review in acute pain management. Drugs. 2016 Aug;76(12):1213-20. doi: 10.1007/s40265-016-0619-7.

#แพทยสภา : 21 มกราคม 2563

หมายเหตุ: คณะกรรมการแพทยสภารับรองในการประชุมครั้งที่ 1/2563 วันที่ 9 มกราคม 2563

https://www.facebook.com/ittaporn/posts/2840885359305585

*************************************************

เพิ่มเติม จากเฟส Ittaporn Kanacharoen
https://www.facebook.com/ittaporn/posts/2840885359305585

ประกาศแพทยสภาเรื่อง Diclofenac 21 มค.2563

"แพทยสภาเห็นว่า ยา Diclofenac มีประโยชน์ทางการแพทย์และมีข้อบ่งใช้ เป็นยาที่มีราคาถูก อยู่ในบัญชียาหลัก มีการใช้แพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ สามารถบริหารได้ทั้งการกินโดยใช้ชนิดเม็ดหรือชนิดยาซองละลายน้ำ ยาเหน็บและยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหยดเข้าหลอดเลือดดำ
.
การฉีดยา Diclofenac เข้ากล้ามเนื้อ สามารถฉีดได้ด้วยความระมัดระวัง และให้ติดตามอาการข้างเคียงหลังการฉีดเช่นเดียวกับยาขนานอื่น การกินยาอาจจะออกฤทธิ์ช้ากว่าการฉีดยาได้บ้าง
.
การให้ยา Diclofenac อีกวิธีหนึ่งคือ การให้ยาแบบหยดเข้าหลอดเลือดดำ แพทยสภามีคำแนะนำ วิธีการให้ยา Diclofenac หยดเข้าหลอดเลือดดำ ดังนี้..."






************************************************

บล๊อก ที่เกี่ยวข้อง

ศาลฎีกาได้พิพากษากลับ กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาฉีด diclofenac ให้แพทย์และรพ.ชดใช้แก่ทายาทผู้ตาย    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-09-2022&group=27&gblog=66

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=11-01-2019&group=27&gblog=65

สภาการพยาบาลออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ไดโคลฟีแนค ... (ลำดับเหตุการณ์จากเวบ hfocus และ FB )    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-12-2019&group=27&gblog=61


ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ( เอนเสด ) ... ไม่ใช่ขนมนะครับ จะได้กินกันไปเรื่อย ...    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=08-08-2008&group=28&gblog=3

แพ้ยา ผลข้างเคียงของยา ???    
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-06-2008&group=28&gblog=1

 




Create Date : 24 ธันวาคม 2562
Last Update : 4 ตุลาคม 2565 15:08:56 น. 1 comments
Counter : 5436 Pageviews.  

 
ศาลฎีกาได้พิพากษากลับ กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาฉีด diclofenac ให้แพทย์และรพ.ชดใช้แก่ทายาทผู้ตาย
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=29-09-2022&group=27&gblog=66

แนะถอน ‘ยาไดโคลฟีแนค’ ออกจาก รพ.สต. ก่อนมีความชัดเจนว่ามีผลต่อเส้นประสาทหรือไม่
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=11-01-2019&group=27&gblog=65

สภาการพยาบาลออกประกาศ ห้ามพยาบาลฉีดยา ไดโคลฟีแนค ... (ลำดับเหตุการณ์จากเวบ hfocus และ FB ) https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-12-2019&group=27&gblog=61

แพ้ยา ผลข้างเคียงของยา ???
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=13-06-2008&group=28&gblog=1

ฉีดยา อันตรายที่ถูกเมิน
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=02-02-2008&group=4&gblog=8


โดย: หมอหมู วันที่: 30 กันยายน 2565 เวลา:15:56:49 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]