อสังหา-รับสร้างบ้านเฮรับกม.อำนวยสะดวก แนะรัฐทำKPIชี้ขั้นตอนขอใบอนุญาตก่อสร้างเฉื่อยสุด1-3เดือน
อสังหาฯ-รับสร้างบ้านขานรับท่วมท้น "กม.ปราบคอร์รัปชั่น" ชี้มีดีกว่าไม่มี แต่ยังห่วงไม่อยากฟ้องร้องเผชิญหน้าเจ้าหน้าที่ แนะรัฐบาลทำดัชนี KPI ประเมินผลงานข้าราชการ-ตั้งวันสต็อปเซอร์วิสประกบคู่ แก้ปัญหาพิจารณาล่าช้าแบบถาวร แฉใบอนุญาตก่อสร้างเฉื่อยสุด ตีความไม่ตรงกัน รอเฉลี่ย 1-3 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาล คสช.ผลักดันกฎหมายใหม่หลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ 21 ก.ค. 2558 เป็นต้นไป สาระสำคัญของ กม. กำหนดขั้นตอนและเวลาในการติดต่อขออนุญาตกับส่วนราชการจะต้องรวดเร็ว มีเวลาแล้วเสร็จที่แน่นอนตายตัว เพื่อแก้ปัญหาการขออนุญาตมีความล่าช้าจนกลายเป็นช่องทางให้มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะแลกกับการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาให้รวดเร็วขึ้นโดยหนึ่งในผู้ร่างกม.ฉบับนี้เรียกขานว่าเป็น"กม.ปราบคอร์รัปชั่น"ปรากฏว่าภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขานรับอย่างกว้างขวางโดยระบุว่าการพัฒนาโครงการจะต้องติดต่อส่วนราชการอย่างน้อย 16 แห่งด้วยกัน

เอกชนขอวันสต็อปเซอร์วิส

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กม.ใหม่ช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง แม้ว่าอาจจะไม่สามารถอุดช่องโหว่ได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่าความพอใจของผู้รับบริการจะเพิ่มขึ้น

สำหรับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมาต้องติดต่อหน่วยงานราชการนับ10แห่งเพื่อขออนุญาตต่างๆเช่นการก่อสร้างระบายน้ำทำเขื่อน สร้างสะพาน ฯลฯ สภาพปัญหาที่พบส่วนใหญ่มีความล่าช้าจากหลายสาเหตุ อาทิ เจ้าหน้าที่ปฏิเสธรับเรื่อง, การพิจารณาไม่ชัดเจน เนื่องจากเป็นการอนุญาตโดยอาศัยดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา ฯลฯ

ซึ่งผลของความล่าช้าทำให้ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ส่งผลกระทบกลายเป็นต้นทุนที่ถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภค โดยบวกค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเข้าไปในราคาสินค้า

ทั้งนี้ กฎหมายอำนวยความสะดวกฯเพียงฉบับเดียวอาจไม่เพียงพอ ข้อเสนอคือรัฐบาลควรผลักดันให้มีกฎหมายจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือวันสต็อปเซอร์วิส สำหรับธุรกิจอสังหาฯ โดยเฉพาะ "กฎหมายจัดตั้งวันสต็อปฯให้ยื่นเอกสารที่นี่แห่งเดียว ถ้าเกิดขึ้นได้จะแก้ปัญหาความล่าช้าได้สมบูรณ์ เพราะธุรกิจอสังหาฯจะพัฒนาโครงการ ต้องติดต่อหน่วยราชการ 16 แห่ง" นายอธิปกล่าว

จี้ทำ KPI วัดผลงานข้าราชการ

แหล่งข่าวจากวงการพัฒนาที่ดินรายหนึ่งกล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาโครงการ 1 โครงการจะต้องติดต่อหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจมากกว่า 10 แห่ง อาทิ การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมชลประทาน ฯลฯ ที่ผ่านมายอมรับว่าบางแห่งทำได้รวดเร็วตรงเวลาที่กำหนด แต่เท่าที่พูดคุยสอบถามส่วนใหญ่ยังมีความล่าช้า ยุ่งยากและบางครั้งมีข้อร้องเรียนการเรียกรับเงินเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ จึงมองว่า กม.ใหม่เป็นสิ่งที่ดีที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งก็คือประชาชนและภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติเอกชนยังมีข้อกังวล เนื่องจากกรณีที่ไม่ได้รับความสะดวกหรือล่าช้า ให้ทำการฟ้องร้องหรือร้องเรียน มองว่าอาจไม่คุ้มค่าเพราะต้องเสี่ยงกับการถูกกลั่นแกล้ง เพราะการพัฒนาที่ดินไม่ได้ทำเพียง 1-2 โครงการแล้วจบ แต่ในอนาคตยังมีโครงการใหม่ ๆ ที่ต้องขออนุญาต อาจไม่เป็นผลดีในระยะยาว ถ้าจะให้เอกชนเป็นคนฟ้องร้องกล่าวโทษข้าราชการโดยตรง

"เนื่องจากเป็น กม.ใหม่ ต้องรอดูผลการบังคับใช้ก่อนว่ามีความเข้มงวดในการลงโทษข้าราชการจริง ๆ หรือไม่ อยากเสนอแนะให้รัฐบาลจัดทำดัชนีชี้วัดผลงาน หรือ KPI ว่า ข้าราชการสามารถอำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการได้มากน้อยแค่ไหน โดยหน่วยราชการเป็นผู้จัดทำ วิธีการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเผชิญหน้าระหว่างบริษัทเอกชนกับข้าราชการได้ในระดับหนึ่ง" แหล่งข่าวกล่าว

ใบอนุญาตก่อสร้างรอ 1-3 เดือน

นายวิสิฐษ์ โมไนยพงศ์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ในส่วนของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านมีความเข้าใจกฎหมายเทศบัญญัติเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาถึงแม้จะเป็นการขออนุญาตกฎหมายเดียวกัน เช่น ใบอนุญาตปลูกสร้างอาคาร หน่วยราชการที่อยู่คนละพื้นที่มีการตีความแตกต่างกัน ทำให้การพิจารณาอนุญาตช้าหรือเร็วแตกต่างกันไปด้วย

นายปราโมทย์ ธีรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟร์พัฒนา จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยกับ กม.ใหม่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการควบคุมกติกาให้เป็นไปตามใบอนุญาตและระเบียบข้อบังคับของ กม.แต่ละฉบับ เช่น กม.ปลูกสร้างอาคารที่กำหนดระยะร่นตัวอาคารกับรั้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ก่อสร้างไม่ล้ำเข้าไปในเขตที่ดินข้างเคียง เป็นต้น

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจรับสร้างบ้านรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ประสบการณ์ในการติดต่อราชการ หน่วยงานราชการบางแห่งมีความยุ่งยากในการพิจารณา โดยเฉพาะการขออนุญาตภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งต้องมีลายเซ็นของวิศวกร สถาปนิก ทำให้การก่อสร้างบ้านบางหลังเคยรอนานถึง 3 เดือน เป็นต้น

สำหรับธุรกิจรับสร้างบ้าน มีการติดต่อขอใบอนุญาต ดังนี้ การขออนุญาตติดตั้งน้ำประปา ไฟฟ้า, การยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคารตามที่ตั้งที่ดินของลูกค้า ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯต้องติดต่อฝ่ายโยธา สำนักงานเขต ในต่างจังหวัด ระดับเทศบาลและอำเภอ ติดต่อฝ่ายกองช่าง ระดับตำบลติดต่อวิศวกรประจำองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยมีนายก อบต.เป็นผู้อนุมัติ ขั้นตอนนี้ต้องรอเฉลี่ย 1-3 เดือน, เมื่อก่อสร้างคืบหน้า 90% ต้องติดต่อขอบ้านเลขที่ ณ ฝ่ายทะเบียน เป็นต้น

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat




Create Date : 13 สิงหาคม 2558
Last Update : 13 สิงหาคม 2558 10:30:50 น.
Counter : 800 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 922554
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



สิงหาคม 2558

 
 
 
 
 
 
2
5
7
8
9
11
12
14
15
16
17
20
21
23
25
27
29
30
 
 
All Blog