แรงงานต่างด้าวยึดไซต์ก่อสร้างบ้าน-คอนโด กลุ้มจ้างแพงแต่ไร้ฝีมือ จี้รบ.เจรจาจีทูจีแก้ปัญหาขาดแคลน

แหยงข้อเรียกร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 360 บาท อสังหาฯค้านแหลก เผยทุกวันนี้ไซต์ก่อสร้างบ้าน-คอนโดฯใช้แรงงานต่างด้าวเฉียด 100% มีแต่แรงงานไร้ฝีมือทำงานกรรมกร-แบกปูน จี้รัฐบาลจัดทำ "มาตรฐานฝีมือ" เป็นตัวชี้วัดขึ้นค่าแรง หวั่นกระทบราคาอสังหาฯ เตือนผู้ซื้อบ้านราคา 2-5 ล้านน่าห่วงสุด ทุกวันนี้ซื้อบ้านลำบากอยู่แล้ว จี้รัฐเจรจาจีทูจีหาคนป้อนงานเมกะโปรเจ็กต์

 

ประเด็นตัวแทนลูกจ้างนำเสนอการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จากวันละ 300 บาท เป็น 360 บาท กับเงื่อนไขเวลาวันที่ 1 มกราคม 2559 ที่มีข้อตกลงว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายค่าแรงลอยตัว นำไปสู่การเสนอข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ประกอบการ รวมทั้งภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีการใช้แรงงานเข้มข้น

แพง 2 เด้ง ที่ดิน+ค่าแรงขั้นต่ำ

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แรงงานก่อสร้างนับเป็นต้นทุนสำคัญตัวหนึ่งของราคาสินค้า ก่อนหน้านี้เมื่อ 3 ปีที่แล้วรัฐบาลเพิ่งจะปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 220 บาท เป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคอสังหาฯ ทำให้มีการปรับราคาขึ้นสูงกว่าปกติกล่าวคือ เดิมค่าแรงก่อสร้างมีการปรับขึ้นปีละ 3-4% แต่ผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวทำให้ค่าแรงก่อสร้างแพงขึ้นเฉลี่ยปีละ 7-8% ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปีมาแล้ว

โดยค่าแรง 300 บาทกระทบต้นทุนต่อซัพพลายเออร์ เพียงแต่ไม่สามารถบวกเพิ่มทันทีในปีเดียวได้ เพราะจะทำให้ราคาอสังหาฯสูงมากเกินไป จึงใช้วิธีทยอยบวกเพิ่มในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และเพิ่งจะมีปีนี้ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นจึงถือว่าเป็นปีที่มีการพักฐานในด้านต้นทุนค่าแรงงานก่อสร้าง

นอกจากนี้ราคาอสังหาฯยังเจอผลกระทบต้นทุนค่าที่ดินแพงขึ้นเฉลี่ยขยับราคาปีละ10% ทำให้ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2555-2557) ตลาดเมืองไทยมีภาวะที่เรียกว่าความสามารถลูกค้า (Affordable) ติดลบ เนื่องจากราคาอสังหาฯเพิ่มสูงขึ้นกว่าความสามารถในการซื้อ

"เท่าที่ทราบค่าแรงขั้นต่ำที่เรียกร้องวันละ360บาททางรัฐบาลไม่เห็นด้วยดังนั้น ผมคงแชร์แค่ในมุมผลกระทบภาคอสังหาฯ ความเห็นคือค่าแรงวันละ300 บาทเพิ่งปรับขึ้น และปัจจุบันยังมีปัญหาต้นทุนแพง น่าจะรออีกสักหน่อยให้สถานการณ์ผ่อนคลายกว่านี้ ให้ประชาชนได้ปรับตัวกับค่าครองชีพได้ดีกว่านี้ และตามปกติไม่มีประเทศไหนในโลกอยากให้ราคาอสังหาฯขึ้นต่อเนื่อง ปีนี้ต้นทุนแรงงานก่อสร้างเพิ่งจะได้พักฐาน คงไม่เหมาะสมที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้" นายไตรเตชะกล่าว


ไซต์ก่อสร้างพึ่งต่างด้าว 80-95%

นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกรรมการผู้จัดการ บริษัทกานดา พร็อพเพอร์ตี้กรุ๊ป กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในมุมผู้ใช้แรงงานเห็นด้วยที่จะมีค่าแรงขั้นต่ำเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับแรงงานฝีมือ แต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นดาบสองคม เพราะจะกระทบกับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กหรือเอสเอ็มอีโดยตรง เพราะส่วนใหญ่เป็นระบบธุรกิจครอบครัว

สำหรับผลกระทบภาคอสังหาฯนายอิสระกล่าวว่า สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรเพิ่งจะรวบรวมข้อมูลโดยสำรวจจากสมาชิกบริษัทพัฒนาที่ดินพบว่า ปัจจุบันมีการใช้แรงงานก่อสร้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวสูงถึง 80-85% ในไซต์งาน บางไซต์สูงถึง 95% หรือแทบจะไม่มีแรงงานไทยแล้ว ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเมียนมา รองลงมาคือ ลาว กัมพูชา

ปัญหาอยู่ที่คุณภาพ เพราะเมื่อมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำ เดิมค่าแรง 250 บาท แรงงานต่างด้าวที่เป็นแรงงานก่อสร้างทำงานได้สารพัด ปัจจุบันพอปรับเป็น 300 บาท ปรากฏว่าจ้างได้แค่แรงงานไร้ฝีมือที่ทำงานพื้นฐานหรือเริ่มต้นจากงานกรรมกร ถ้าเริ่มเป็นแรงงานฝีมือจะต้องบวกค่าแรงเพิ่มตามชนิดของงาน

"ค่าแรงก่อสร้างสูงกว่า 300 บาทไปนานแล้ว ถ้าเป็นแรงงานฝีมือจะมีรายได้ตก 700-800 บาทก็มี เช่น ช่างปูกระเบื้อง แรงงานไทยคนไหนถ้าเริ่มมีประสบการณ์ มีฝีมือ ก็จะปรับตัวเป็นผู้รับเหมารายย่อย มีลูกน้อง 2-3 คน รับงานเป็นจ็อบ นี่คือข้อเท็จจริงในไซต์ก่อสร้างบ้านและคอนโดมิเนียม คนที่รับค่าแรง 300 จึงเป็นแรงงานไร้ฝีมือหรือต่างด้าวเป็นหลัก"

จี้รัฐทำมสตรฐานแรงงานฝีมือ

สำหรับข้อเสนอแนะนโยบายค่าแรงขั้นต่ำนายอิสระกล่าวว่าจากข้อเท็จจริงที่ไซต์งานมีการใช้แรงงานต่างด้าวสูงถึง80-95%แสดงให้เห็นถึงภาวะขาดแคลนแรงงานก่อสร้างหนักมาก ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการบริหารจัดการระดับรัฐต่อรัฐอย่างเร่งด่วน เพราะประเทศไทยกำลังจะมีการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ที่ต้องการแรงงานก่อสร้างอีกจำนวนมหาศาล

ในเวลาเดียวกันมีข้อเสนอด้วยว่าระบบค่าแรงขั้นต่ำเพื่อให้เป็นหลักประกันสำหรับแรงงานฝีมือแต่ข้อเท็จจริงค่าแรงสูงแต่จ้างได้เพียงแรงงานไร้ฝีมือดังนั้น ภาครัฐควรจะต้องเร่งเข้ามาดูแลและจัดให้มีมาตรฐาน 2 เรื่อง 1.มาตรฐานแรงงานฝีมือขั้นต่ำ 2.มาตรฐานฝีมือตามประเภทอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคเอกชนมีมาตรฐานกลางในการพิจารณาขึ้นค่าแรงตามประสิทธิภาพผลงาน


ห่วงคนซื้อบ้านลำบากขึ้น

นายรุ่งอนันต์ลิ่มทองแท่งรองกรรมการผู้จัดการบริษัท ซื่อตรง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ภาคอสังหาฯต้องดูดซับต้นทุนการขึ้นค่าแรง 300 บาทมาแล้วรอบหนึ่ง ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มปรับตัวได้คงที่ระดับหนึ่ง แต่ถ้ามีการจุดประเด็นเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งจะกระทบต่อต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที หากเป็นเช่นนั้นจริงจะกระทบทำให้ราคาบ้านแพงขึ้นเพราะต้องผลักภาระให้ผู้บริโภคตามกลไกต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

"ขณะนี้น้ำมันขาลงดอกเบี้ยต่ำทำให้ราคาอสังหาฯยังพอไปได้อยู่อย่างไรก็ตาม ต้นทุนแบบนี้ทางฝั่งผู้บริโภคก็ยังยากลำบากที่จะซื้ออสังหาฯ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าระดับซี ราคา 2-5 ล้าน มีปัญหาในการกู้ซื้อบ้านอยู่แล้ว จึงไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในตอนนี้"

นายรุ่งอนันต์กล่าวต่อว่า แรงงานก่อสร้างมีปัญหาขาดแคลนเช่นเดียวกันธุรกิจประมง เพราะเป็นงานหนัก สกปรก เสี่ยงอันตราย ทำให้แรงงานไทยหายาก ต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก ผลปรากฏว่าแรงงานต่างด้าวก็มักจะมีแต่แรงงานไร้ฝีมือเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพการทำงานถือว่าค่าแรง 300 บาทจ้างได้แต่แรงงานไร้ฝีมือ

"ทุกวันนี้ผลกระทบของค่าแรง 300 บาทถูกส่งต่อมาหลายทอดทั้งทางตรงและทางอ้อม คำนวณคร่าว ๆ ต้นทุนแรงงานมีผลต่อราคาบ้านประมาณ 10% ซึ่งสูงมาก ดังนั้น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยไม่ใช่แรงงานฝีมือจะยังซ้ำเติมทำให้ราคาอสังหาฯแพงขึ้น และกลุ่มที่ได้รับประโยชน์น่าจะเป็นแรงงานต่างด้าวมากกว่าแรงงานไทย" นายรุ่งอนันต์แสดงข้อคิดเห็น


ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline

ทวิตเตอร์ @prachachat




Create Date : 23 มิถุนายน 2558
Last Update : 23 มิถุนายน 2558 10:00:21 น.
Counter : 708 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 922554
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



มิถุนายน 2558

 
1
7
10
14
15
16
19
20
21
22
28
 
 
All Blog