ศก.อัมพาตคนกรุงเบี้ยวจ่ายภาษี9พันราย หอพัก-อพาร์ตเมนต์นำโด่ง"กทม."สแกนยิบล่ารายได้6หมื่นล้าน
เศรษฐกิจซบเซาหนัก คนกรุงเบี้ยวจ่ายภาษีพุ่งกว่า 8.6 พันราย กว่า 410 ล้าน เผยธุรกิจอพาร์ตเมนต์ หอพัก โรงเรียนมากสุด กทม.กุมขมับ หวั่นจัดเก็บรายได้ 3 ภาษี โรงเรือน-ที่ดิน บำรุงท้องที่ และป้ายไม่เข้าเป้า 6.5 หมื่นล้านหลังยอดจัดเก็บ 10 เดือนยังติดลบเล็งรีดภาษีใหม่เพิ่ม ดีเดย์ ต.ค.นี้เก็บภาษีน้ำมัน 800 ปั๊ม 50 สตางค์/ลิตร ปี"59 เตรียมใช้แผนที่ภาษีมาสแกนทุกตารางนิ้ว หวังเก็บรายได้เพิ่ม หาเงิน 7 หมื่นล้านลงทุนโครงการปีหน้า สร้างสารพัดโครงการ ทั้งรถไฟฟ้าโมโนเรล อุโมงค์น้ำยักษ์ และถนน

นางสมรรัตน์ อรรถนิตย์ ผู้อำนวยการกองรายได้ สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปีงบประมาณ 2558 กทม.ได้ตั้งเป้ารายรับไว้จำนวน 65,000 ล้านบาท ขณะนี้ได้มีการจัดเก็บไปแล้วประมาณ 90% หรือประมาณกว่า 57,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเร่งรัดการเก็บได้ครบ 100% ก่อนหมดปีงบประมาณ 2558 ยังเหลือเวลาอีก 2 เดือนนับจากนี้




เบี้ยวจ่ายภาษีพุ่งกว่า 8 พันราย

อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดีทำให้การจัดเก็บรายได้ในช่วงที่ผ่านมาของ กทม.ต่ำกว่าเป้า โดยสะท้อนจากการจัดเก็บภาษี โดยพบว่าสถิติการจัดเก็บรายได้ 3 ภาษี ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2557-วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ประกอบด้วย 1.ภาษีโรงเรือนและที่ดินจัดเก็บได้ 9,356.24 ล้านบาท ต่ำจากเป้ากำหนด 11,132 ล้านบาท อยู่ประมาณ 15.95% 2.ภาษีบำรุงท้องที่จัดเก็บได้ 118.04 ล้านบาท ต่ำจากเป้ากำหนด 133 ล้านบาท อยู่ประมาณ 11.25% และ 3.ภาษีป้ายจัดเก็บได้ 709.68 ล้านบาท ต่ำจากเป้ากำหนด 783.5 ล้านบาท อยู่ประมาณ 9.42%

ผู้อำนวยการกองรายได้กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าปีนี้มีผู้ไม่มาชำระภาษีมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาปรากฏว่ามีจำนวนลูกหนี้ค้างชำระอยู่หลายรายในแต่ละสำนักงานเขตเนื่องจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจนทำให้ประชาชนขาดสภาพคล่องจำนวนรวม 8,691 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 410.77 ล้านบาท

ธุรกิจอพาร์ตเมนต์-หอพักมากสุด

แบ่งเป็นภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 2,267 ราย จำนวนเงิน 393.42 ล้านบาท ภาษีบำรุงท้องที่จำนวน 6,334 ราย จำนวนเงิน 3.09 ล้านบาท และภาษีป้ายจำนวน 81 ราย จำนวนเงิน 14.26 ล้านบาท โดยธุรกิจส่วนใหญ่ที่ค้างชำระ อาทิ ธุรกิจอพาร์ตเมนต์ หอพัก โรงเรียน เป็นต้น

สำหรับพื้นที่เขตมีการจัดเก็บภาษีได้มากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ 1.เขตวัฒนา จำนวนกว่า 652 ล้านบาท 2.เขตลาดกระบัง 295 ล้านบาท 3.เขตพระนคร 197 ล้านบาท 4.เขตบางกอกน้อย 152 ล้านบาท 5.เขตมีนบุรี 144 ล้านบาท 6.เขตบางพลัด 129 ล้านบาท 7.เขตราษฎร์บูรณะ 102 ล้านบาท 8.เขตดุสิต 85 ล้านบาท 9.เขตหนองจอก 62 ล้านบาท และ 10.เขตทวีวัฒนา 41 ล้านบาท


ปีหน้าใช้แผนที่มาสแกนภาษี

ด้านนายกฤษฎา ศิริพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักการคลัง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2559 กทม.มีโครงการจะจัดทำแผนที่ภาษีเพื่อให้การจัดเก็บภาษีครบถ้วนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงนำมาเป็นข้อมูลเพื่อจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน เนื่องจากแผนที่ภาษีจะมีการลงรายละเอียดว่าพื้นที่ไหนที่มีการจัดเก็บภาษีไปแล้วและเป็นจำนวนเท่าไหร่ โดย กทม.จะประสานไปยังกรมที่ดินเพื่อขอรายละเอียดโฉนดที่ดิน แล้วนำพื้นที่ที่ต้องการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินใส่ลงไปในแผนที่

"พื้นที่ไหนหากมีการจัดเก็บแล้วก็จะเป็นสีแดง ยังไม่ได้จัดเก็บก็จะเป็นสีเหลือง จะมีความสอดคล้องกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐบาลที่มีนโยบายจะจัดเก็บด้วย"


รีดภาษีเพิ่ม-ประเดิมน้ำมันต.ค.นี้

นายกฤษฎากล่าวต่อว่ามีแนวโน้มปีนี้การจัดเก็บรายได้ของกทม.จะไม่เข้าเป้า 65,000 ล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่ค่อยดีทำให้การจัดเก็บภาษีต่าง ๆ ลดลง ทั้งนี้ได้เร่งรัดให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงเพิ่มการจัดเก็บรายได้และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้มากขึ้น และเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้มากขึ้น จะมีการจัดเก็บภาษีใหม่เพิ่มคือภาษีน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมในอัตรา 5 สตางค์ต่อลิตร จากสถานประกอบการค้าปลีก จำนวน 800 แห่ง จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 400-500 ล้านบาทต่อปี และยังมีการจัดเก็บค่าที่จอดรถยนต์ที่สาธารณะด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับงบประมาณปี 2559 กทม.ได้ยื่นเสนอขอจัดสรรงบประมาณต่อสภาไว้จำนวน 70,700 ล้านบาท มากกว่าปีงบประมาณปี 2558 ประมาณ 5,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติจากสภา กทม. คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ โดยแบ่งเป็นงบประมาณสำหรับดำเนินการจำนวน 53,000 ล้านบาท และงบลงทุนจำนวน 17,000 ล้านบาท


เร่งลงทุนโมโนเรล-อุโมงค์ยักษ์

โดยแผนงานโครงการใหม่ที่สำคัญคือโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว(โมโนเรล) สายสีเทาระยะแรก ช่วงวัชรพล-ลาดพร้าว-ทองหล่อ และเส้นทางบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา, โครงการก่อสร้างถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า เป็นต้น

สำหรับหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุดใน 5 ลำดับแรก คือ 1.สำนักการระบายน้ำ จำนวน 8,700 ล้านบาท 2.สำนักสิ่งแวดล้อม จำนวน 8,400 ล้านบาท 3.สำนักการโยธา จำนวน 5,400 ล้านบาท 4.สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) จำนวน 4,320 ล้านบาท และ 5.สำนักการคลัง จำนวน 3,430 ล้านบาท


 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat




Create Date : 03 สิงหาคม 2558
Last Update : 3 สิงหาคม 2558 11:39:29 น.
Counter : 554 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 922554
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



สิงหาคม 2558

 
 
 
 
 
 
2
5
7
8
9
11
12
14
15
16
17
20
21
23
25
27
29
30
 
 
All Blog