Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 
28 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 

ปัญหาที่เกิดจากปาฏิหาริย์ โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ

พุทธทาสภิกขุ,ข้อคิดธรรมะ

อะไรที่มันมีปาฏิหาริย์แก่จิตใจเรา เราก็ควรจะรู้จัก สิ่งใดที่เราไปมองเข้าหรือไปเกี่ยวข้องเข้าแล้ว
มันดึงเอาจิตใจของเราไปหมด, นี้ก็เรียกว่าปาฏิหาริย์ แต่มันจะเหมือนกันทุกคนไม่ได้
เพราะว่าคนเราเกิดมาต่างกันมันมีการศึกษาต่างกัน มีความรู้สึกสูงต่ำกว่ากัน,
แม้จะไม่มากเท่ากับว่าความแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์ มันก็เกือบจะน้องๆ กันไป
ในระหว่างคนบางหมู่บางพวก หรือว่าคนบางคน.

ดังนั้น เราจึงเห็นบางคนหลงใหล ในสิ่งที่คนอื่นไม่หลงใหล นี่ขอให้มองดูที่ความจริงข้อนี้กันเสียก่อน
หรือแม้คน ๆ เดียวกัน ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง หรือวัยหนึ่ง ก็ไม่หลงใหล, แต่ในวัยหนึ่ง มันก็หลงใหลเอามากๆ.
เช่น วัยเด็กก็ไม่หลงใหล ในเรื่องกามารมณ์มากเท่ากับวัยหนุ่มสาว อย่างนี้เป็นต้น.

ฉะนั้น กามารมณ์นั้น มันก็เพิ่งจะเป็นปาฏิหาริย์ขึ้นมา เมื่อคนเรามันถึงวัยที่จะหลงใหล เรามันก็มีวัฒนธรรมต่างกัน
คนที่เล่าเรียนมากศึกษามากนั้นแหละ จะลำบากมาก เพราะมันมีความคิดละเอียดอ่อนลึกซึ้ง คือ
คิดได้เก่งกว่าคนที่ไม่มีการศึกษา ดังนั้น ปัญหาจึงมีมากกว่า.

ปู่ย่าตายายของเราเคยพูดไว้ว่า รู้มากยากนาน หมายความว่า รู้มากจะลำบากมาก ยิ่งรู้มากจะยิ่งลำบากมาก
จะยิ่งมีปัญหามาก. ถ้ารู้น้อยก็ไม่ค่อยมีปัญหาไม่ค่อยลำบาก เพราะคนรู้มากเรียนมากมันคิดเก่ง
ฉะนั้น จึงทำปัญหาขึ้นได้มาก, แล้วบางทีก็เตลิดเปิดเปิงเกินไป.

ยกตัวอย่างง่ายๆ เดี๋ยวนี้เช่น ศิลปะที่กำลังมีอิทธิพล ศิลปใหม่พวก abstract พวกอะไรต่างๆ นี้
มันมีขึ้นมาได้ จากการศึกษาที่มีมากในทางนั้น แล้วก็เกินจำเป็น ไม่มีอิทธิพลแก่ชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนา
แล้วก็ไปมีอิทธิพลแก่ผู้ที่ศึกษาแต่ในทางนั้น, เข้าใจไปตามแบบที่เขาวางไว้ หรือว่าจำกัดไว้.
เรามอบตัวไปเป็นทาสของการตีความหมายอย่างนั้น หรือความลุ่มหลงอย่างนั้น
มันก็ลุ่มหลงใน artsหรือในศิลปะนั้นอย่างมาก ซึ่งชาวนาชาวไร่เขาจะไม่มีปัญหาอะไรเลย,
คือว่าไม่ลุ่มหลงอะไรเลย.
ดังนั้น เราจะเห็นหรือจะได้ยินข่าวว่า รูปภาพเขียนแบบศิลปะบางแผ่นขาย ๗๐๐,๐๐๐ ปอนด์
จากประเทศฝรั่งเศสไปประเทศอังกฤษ เหล่านี้หมายความว่า คนต้องเป็นทาสของกิเลส
หรือของอะไรที่มันจะเป็นเหยื่อของปาฏิหาริย์ ที่มันมีอยู่ในภาพแผ่นนั้น, แล้วก็เฉพาะแก่บุคคลคนนั้น
หรือพวกนั้น หรือที่มีความคิดนึก ศึกษามาอย่างนั้น เอามาขายชาวนา ๕ บาทก็ไม่ซื้อ.

นี่คือความที่มันถลำลึกเข้าไปในอะไรบางอย่าง ที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง เพื่อให้ตัวเองตกหล่มชนิดนี้
มันเหมือนกับขุดหลุมหลอกตัวเอง ฝังตัวเอง สิ่งที่ไม่มีปาฏิหาริย์ก็กลายเป็นปาฏิหาริย์ขึ้นมา.

นี่ดูโลกในปัจจุบันนี้ มันเป็นอย่างนี้มากขึ้น เพราะว่ายิ่งโง่เท่าไรมันก็ยิ่งตกเป็นเหยื่อของความลำบากมากเท่านั้น,
แล้วยิ่งฉลาดมากก็ยิ่งโง่ได้ลึก. ขอให้เปรียบดูด้วยตัวอย่างที่ว่ามานี้ นี่เราก็มัวแต่ก้าวหน้ากันแต่ในทางอย่างนี้
คือ ฉลาดมาก สำหรับจะโง่มาก ก็จะตกเป็นเหยื่อของสิ่งที่เราทำขึ้น เพื่อหลอกตัวเอง.

ปาฏิหาริย์อย่างนี้ เรียกว่า น่าอันตราย น่ากลัว น่าหวาดเสียว มันไมใช่วัตถุล้วนๆ เป็นปาฏิหาริย์
มันเป็นความโง่ของมนุษย์เอง ที่ฝังอะไรลงไปในวัตถุนั้น ทำให้วัตถุนั้นกลายเป็นมีปาฏิหาริย์มีค่ามีอะไรขึ้นมา,
แล้วก็ทำแก่มนุษย์เหล่านั้นให้ลำบากมาก. ถ้าอย่ามีเรื่องนี้มันก็ไม่มีเรื่องอะไร มันก็ยังอยู่สบาย.
หรือว่าอยู่ง่ายๆไปตามประสาธรรมชาติ.

เดี๋ยวนี้เราไปทำเรื่องอย่างนี้ขึ้นมา มากยิ่งขึ้นๆๆๆเราก็ต้องลำบากมากยิ่งขึ้น,
แล้วสิ่งนั้นก็ไม่ให้ความสุขอันแท้จริง นอกจากความสุขที่มาจากความโง่ คือเมา, เมาแล้วก็ต้องรู้สึกเป็นสุข,
ไม่ว่าอะไร ถ้าเกิดเมาขึ้นแล้วต้องรู้สึกเป็นสุข; จะเมาเหล้าหรือเมาอะไรก็สุดแท้ มันจะรู้สึกเป็นสุข,
เมากามารมณ์ก็ตามหรือเมาศิลปะ ศิลปิน ที่เขาประดิษฐ์ให้มันลึงลงไปแล้วสร้างความนิยมขึ้นมาได้สำเร็จนี้
ก็เรียกว่าเมา. เดี๋ยวนี้โลกเรากำลังถูกครอบงำด้วยอิทธิพล หรือปาฏิหาริย์ของสิ่งชนิดนี้.

ทีนี้ย้อนมาดูตามธรรมชาติตามธรรมดาบ้าง ก็จะเห็นว่ามันก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกันแล้วก็ต่างๆกัน.
ยกตัวอย่างเช่น ดอกไม้ เราก็ชอบดอกไม้ พอเห็นเข้า มันก็มีปาฏิหาริย์ แก่จิตใจของเราเสียแล้ว,
นี่ว่าถึงคนทั่วๆไป คนธรรมดาสามัญทั่วๆ ไปเห็นดอกไม้ที่เราชอบ มันก็มีปาฏิหาริย์เหนือจิตใจเราแล้ว
มันยังแตกต่างกันไป ตามความหมายของดอกไม้หลายๆ ชนิด ที่เราไปให้ความหมายแก่มันโดยไม่รู้สึกตัว
แล้วมันก็พอดีกันด้วย กับที่ธรรมชาติสร้างมา เราไปเพิ่มให้อีก ความหมายนั้นก็มีมากแล้วก็แตกต่างกัน.

เช่น เราเห็นดอกกุหลาบ เราเป็นคนชอบดอกกุหลาบ
มันก็มีปาฏิหาริย์แก่จิตใจของเราให้รู้สึกไปทำนองใดทำนองหนึ่ง;
แต่พอเราไปเห็นดอกบัว รูปและกลิ่นและสีอะไรของดอกบัว
มันทำให้เกิดปาฏิหาริย์แก่จิตใจเราไปในอีกทางหนึ่งก็ได้ เช่น ดอกกุหลาบส่งเสริมความรู้สึกเป็นไปในทางเพศ,
แต่ดอกบัวส่งเสริมความรู้สึกไปในทางไม่เกี่ยวกับเพศ คือ จะให้ห่างไกลไปจากเพศ, จนกระทั่งดอกไม้บางชนิด
เช่น ดอกลำเจียก ดอกลำดวน เหล่านี้ไปดมเข้า มันรู้สึก แปลกกว่า ที่ไปดม ดอกพิกุล หรือ ดอกจำปา นี้
บางชนิดทำให้เกิดความรู้สึกไปในทางเพศไม่มากก็น้อย, บางชนิดไม่ทำให้เกิดความรู้สึกทำนองนั้น.
นี้แปลว่า สิ่งเหล่านี้ที่แวดล้อมเราอยู่มันก็มีปาฏิหาริย์ แต่เป็นเรื่องละเอียด แล้วเราก็ถูกครอบงำ.

ทีนี้ที่ตรงกันข้าม มีปาฏิหาริย์ที่ทำให้เราทนอยู่ไม่ได้ กระสับกระส่าย, คือที่มันเหม็น ที่มันมีกลิ่นเหม็น
มีรูปร่างน่าเกลียด ที่มันมีกลิ่นหอมมันก็ทำให้เกิดความรู้สึกไปอีกทางหนึ่ง,
แล้วก็ยังเปลี่ยนแปลงไปตามความรู้สึกของคนเรา ที่โง่มากโง่น้อย ยึดถือมากยึดถือน้อย
ตีความหมายเก่ง หรือตีความหมายไม่เก่ง.

อิทธิพลของสิ่งต่างๆทำให้เกิดอภิชณา หรือโทมนัส.
ตั้งแต่เกิดมาจนบัดนี้ เรามันถลำลงไป ในทางที่จะเป็นทาสของสิ่งที่มีปาฏิหาริย์เหล่านี้;
เพราะฉะนั้น เราจึงติด ในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ตามมากตามน้อย ตามแต่บุคคล ไม่เหมือนกันทุกคน.
บางคนมีจิตใจกระด้าง จนดอกไม้ที่สวย ที่หอม ที่อะไรก็ไม่ทำให้เขารู้สึกหวั่นไหวอะไรได้,
หรือว่าเขามีความโง่มาก ถึงขนาดที่ไม่รู้ความหมายของมัน, ก็ไม่มีอิทธิพลต่อใจของเขา.
เรานี้มันไปโง่ชนิดที่จะให้สิ่งเหล่านั้นมันมามีอิทธิพลเหนือจิตใจของเรา
มันก็เลยมีความหมาย ที่จะทำให้เกิดความยินดียินร้าย.

ภาษาธรรมะ เขามีอยู่ ๒ คำเท่านั้นแหละ ยินดี กับ ยินร้าย คือ ชอบ กับ ไม่ชอบ,
ภาษาบาลี เขาว่าอภิชณา คำหนึ่ง คือว่า ชอบ, แล้ว โทมนัส อีกคำหนึ่ง คือ ไม่ชอบ.
ภาษาธรรมะ โดยตรง ๒ คำนี้มีความหมายอย่างนี้ โทมนัส คือ ไม่ชอบ อภิชณา คือ ชอบ.

สิ่งต่างๆ มันมีอิทธิพลแก่จิตใจของเรา ๒ อย่าง คือทำให้ ชอบ หรือให้ไม่ชอบ,
ถ้ามันเป็นแรง มันเป็นถึงขนาดเป็นปาฏิหาริย์ คือให้เรา ไม่ชอบขนาดหนักหรือว่า ชอบขนาดหนัก.
ส่วนที่ชอบก็ยังชอบต่างๆกันโดยความหมายอย่างนี้อย่างนั้น อย่างโน้น แต่รวมแล้วก็เรียกว่าชอบ;
ส่วนที่ไม่ชอบก็มีความหมายต่างๆหลายอย่างรวมกันแล้วก็เรียกว่าไม่ชอบ,
พอจิตใจของเราไหวไปในทาง ๒ ทางนี้ แล้วก็เรียกว่า เราพ่ายแพ้แก่สิ่งนั้น,
แล้วเราจะพ่ายแพ้มากขึ้นในเมื่อเรามีความยึดมั่นมากขึ้น หลงใหลมากขึ้น
เพราะมีความยึดมั่นในค่าของสิ่งเหล่านั้น, เป็นความต้องการอย่างนั้น อย่างนี้.
ของสวยของงามเหล่านี้ ไม่มีค่าสำหรับคนที่ไม่รู้จักสวยไม่รู้จักงาม, เขาก็รอดตัวไปอย่างหนึ่งเหมือนกัน,
แต่เราก็ประณามเขาว่าป่าเถื่อน. ทีนี้สัตว์เดียรฉาน ก็ยิ่งแล้วเลย จะไม่รู้จักค่าของดอกกุหลาบ หรือ ดอกบัว
หรือดอกจำปีจำปา หรือดอกอุตพิต เหมือนกับมนุษย์รู้ มันก็เลยไม่มีปัญหา มันก็รอดตัวไป.

เดี๋ยวนี้มนุษย์เรามีปัญหามากขึ้น เท่าที่เรามันฉลาดคิดให้มันมากขึ้นละเอียดมากขึ้น, ให้ความหมายเก่งขึ้น
กระทั่งให้ความหมาย เส้นขีดๆ ยุ่งๆ เป็นภาพที่ดีที่มีราคาแล้วยืนดูกันเป็นวันๆ เป็นต้น.
นั้นก็เรียกว่าถูกสิ่งนั้นซึ่งมีปาฏิหาริย์ ใช้ปาฏิหาริย์เข้าแล้ว,
หรือว่าโดยบุคคลคนใดคนหนึ่ง เขาใช้ปาฏิหาริย์ทางสิ่งที่ประดิษฐ์นั้นขึ้นมา นี้มันคล้ายๆ กับว่า
ดอกบัวมีปาฏิหาริย์แก่จิตใจของเรา, ดอกกุหลาบมีปาฏิหาริย์แก่จิตใจของเรา,
ดอกไม้ที่เหม็นก็มีปาฏิหาริย์แก่จิตใจของเรา ทำนองเดียวกันนี้ โดยเราสร้างความหมายหรือค่าของมันขึ้นมา.

นี้เป็นเรื่องทางธรรมะ หรือหลักเกณฑ์ทางธรรมะ, เราไปให้ค่าแก่มัน แล้วเราอยากได้ในสิ่งที่มันมีค่า.
คำพูดหรือหลักเกณฑ์อันนี้ก็คล้ายๆ กับเรื่องวิชาเศรษฐกิจ
สิ่งที่มันมีค่าขึ้นมาก็เพราะมันตรงกับความอยากของคน, ความต้องการของคน มันจึงมีค่าขึ้นมา.
พอมันมีค่าขึ้นมามันก็มีปาฏิหาริย์ แก่จิตใจของมนุษย์.
แต่นั้นมันเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเงิน เรื่องของ เรื่องสังคม เป็นเรื่องโลกๆ.

ทีนี้เรื่องทางธรรมก็เหมือนกัน พอจิตใจมันไปหลงทำให้เกิดค่าขึ้นมา แม้ไม่เป็นเรื่องจริงมันก็มีค่าขึ้นมา;
ถ้าลงมีความหลงมีความต้องการแล้วมันก็มีค่า;
ฉะนั้น ก็เลยเป็นเรื่องที่จะให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา คือ ความต้องการด้วยอำนาจของความโง่
แล้วก็มีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็มีความทุกข์ อย่างที่ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้.
นี้ก็เรียกว่า ปาฏิหาริย์ของอารมณ์ ที่จะเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กระทั่งทางจิตใจ;
แต่ส่วนใหญ่ก็มีอยู่ข้างนอกนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เป็นที่อันตรายมาก
ฉะนั้นสิ่งเหล่านั้นมันมีปาฏิหาริย์เหนือมนุษย์, แต่เป็นไปในทางที่จะให้มีความทุกข์.


พระธรรมเป็นปาฏิหาริย์อย่างยิ่งอยู่ในตัวเอง.
ทีนี้ก็มีสิ่งหนึ่ง ส่วนหนึ่งประเภทหนึ่ง ที่ตรงกันข้าม คือ พระธรรม หรือ ธรรมะหรือความจริง,
มีปาฏิหาริย์อยู่ในตัวเอง ที่จะดึงคนออกมาเสียจากความหลงใหลในสิ่งที่เป็นทุกข์.
ดังนั้นเราจึงต้องหันหน้าไปหาธรรมะคือหาความจริง ซึ่งก็มีปาฏิหาริย์อย่างยิ่งอยู่ในตัวมันเอง
พอที่จะดึงเราหลุดออกมาได้ จากความผูกพันของสิ่งที่มีปาฏิหาริย์มายา หลอกลวง ที่จะดึงไปหาความทุกข์.
ฉะนั้นเราจึงต้องมีการฝักใฝ่ข้างฝ่ายธรรมะหรือความจริง
ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านแนะวิธีไว้ให้ ว่าจะเข้าถึงได้อย่างไร จะมีได้อย่างไร.

ทีนี้ ก็มาถึงคำพูดที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆว่า ธรรมะนั่นแหละคือพระพุทธเจ้า
ไม่ใช่บุคคลที่พูดได้เดินได้ ยืนได้เป็นพระพุทธเจ้า แต่ว่า ธรรมะที่ทำความดับทุกข์ได้เป็นพระพุทธเจ้า,
ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม, ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา, ผู้ที่ไม่เห็นธรรมไม่มีทางจะเห็นเรา
แม้ว่าจะเกาะขาเกาะแขนเราอยู่. ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า ธรรมนี้คืออะไร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษากันต่อไป.

พอมาถึงตรงนี้ ก็อยากจะนำเอา พระพุทธภาษิตที่สำคัญอยู่ข้อหนึ่ง คือตรัสว่า
มีตนเป็นที่พึ่งอย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง; ให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง.
พูดสองที ใช้คำว่า ตนทีหนึ่ง ใช้คำว่าธรรมทีหนึ่ง; ที่เราได้ยินแต่คำว่า มีตนเป็นที่พึ่ง แก่ตนนั้นมันครึ่งเดียวนะ,
พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตรัสครึ่งเดียวอย่างนั้น แต่เรามักจะได้ยินกันเพียงครึ่งเดียว
ในบาลีที่มีหลักฐานจะเต็มบริบูรณ์ว่า มีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นที่พึ่ง.


ศึกษาให้เข้าใจคำตรัสว่า "ตนเป็นที่พึ่ง".
ทีนี้ตนนี้มันมีสองคน คือว่า ตนมายา, คนที่กิเลสโดยเข้าใจว่าตน นั้นตนหนึ่ง,
ทีนี้ตนที่พระพุทธเจ้าเอามาใช้แทนคำว่า ธรรม ให้เป็นคำเดียวกับคำว่า ธรรม. มีตนเป็นที่พึ่ง ก็คือมีธรรมเป็นที่พึ่ง,
มีธรรมเป็นที่พึ่งก็คือมีตนเป็นที่พึ่ง ตนอย่างนี้หมายถึงธรรม.
พูดให้มันง่ายๆจำง่ายๆ คือว่า ถ้าเราอยากจะมีตน มีตัวมีตน กันบ้างแล้วก็ ขอใหถือเอาธรรมเป็นตัวตน,
อย่าเอาร่างกายและจิตใจนี้ว่าเป้นตัวตน คือให้มีธรรมเป็นที่พึ่งเท่ากันมีตนเป็นที่พึ่ง,
มีตนเป็นที่พึ่งเท่ากับมีธรรมเป็นที่พึ่ง, มันเนื่องกันมันแยกออกจากกันไม่ได้ คือต้องทำตนให้ถึงธรรม
ให้ธรรมเข้ามาเป็นตน, จะพูดอันไหนก่อนก็ได้ จะต้องทำตนนี้ให้มันเป็นธรรม ให้ทำธรรมนั่นแหละให้เป็นตน,
แล้วตนนั้นก็จะเป็นที่พึ่ง และธรรมนั่นแหละจะเป็นที่พึ่ง.

ทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนอย่างไร; นี้เรื่องของชาวบ้าน ก็จะต้องพูดไปทำนองว่า เราต้องช่วยตัวเอง,
ต้องทำงานเอง, ต้องหาเงินเอง, ต้องอะไรเอง, นั่นภาษาชาวบ้านก็จะเป็นอย่างนั้น,ที่ว่า ทำตนให้เป็นที่พึ่งนั้น.
แต่ในภาษาธรรม หรือเป็นเรื่องในทางธรรม ทำตนให้เป็นที่พึ่งนั้นคือการทำตนให้เห็นธรรม;
ระบุชัดลงไปเลยว่าให้พยายามปฏิบัติ จนเห็นตามที่เป็นจริงว่า
ความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นเป็นตัวทุกข์, แล้วความไม่ยึดมั่นก็เป็นตัวไม่ทุกข์.
นี่พอเห็นอันนี้เท่านั้นแหละ เห็นความจริงอันนี้เท่านั้น ตนจะเป็นที่พึ่งแก่ตน, คือธรรมะจะเป็นที่พึ่งแก่ตนเพราะว่า
ธรรมะหรือความจริงที่เห็นนี้ มันมีปาฏิหาริย์อยู่ในตัวมันเอง ที่จะครอบงำจิตใจ, คือว่าธรรมะหรือความจริงนี้
มันมีอำนาจอย่างสูงสุดที่จะครอบงำจิตใจ เปลี่ยนแปลงจิตใจให้เป็นไปในทางที่ตรงกันข้าม ก็เลยไม่มีความทุกข์,
เพราะไม่มีความทุกข์นี้จึงเรียกว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตนให้เสร็จแล้ว หรือว่ามีธรรมเป็นที่พึ่ง แก่ตนได้เสร็จแล้ว.

ดังนั้น เรารู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรม หรือ ธรรมะนี้ ว่ามีอยู่อย่างไรในกรณีเช่นนี้
เรียกเอานั้นเป็นตน ที่จะเป็นที่พึ่งแก่ตนได้, มองในแง่นิดหนึ่งก็มองได้เหมือนกันว่า
ต้องใช้ตนทำเอง คนอื่นทำแทนไม่ได้, นี้ก็ถูกแล้ว. นี้ก็รวมอยู่ในความหมายของคำว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน.


ปาฏิหาริย์ของธรรมะเปลี่ยนแปลงได้.
แต่ทีนี้มัน มีปัญหาเหลืออยู่ว่าทำอะไรทำอย่างไรนี้ ที่จะทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตน ต้องทำตนให้ถึงธรรม,
ให้ธรรมะลงมาเป็นตน, คนก็กลายเป็นธรรม ธรรมก็กลายเป็นคน เป็นสิ่งเดียวกันไปอย่างนี้,
ก็เป็นอันว่าหมดปัญหา คือไม่มีความทุกข์เหลืออยู่, อย่างนี้เราเรียกว่าโดยอำนาจของธรรมด้วยอิทธิพลของธรรม
หรือว่าใช้คำสุดท้ายคือ ปาฏิหาริย์ของธรรม; หมายความว่าธรรมนำเอาจิตใจของเราไปเสียอย่างเป็นปาฏิหาริย์
คือเอาไปหมด, เอาไปทำให้เปลี่ยนแปลงอย่างที่ตรงกันข้าม; นี้เรียกว่าความจริงมีปาฏิหาริย์อยู่ในตัวมันเอง.

พอเข้าถึงความจริงนั้นเท่านั้น มันจะทำหน้าที่ของมันเอง, จะมีปาฏิหาริย์เหนือเรา
เปลี่ยนเราให้ละความไม่จริงไปสู่ความจริง, ไปถือหลักที่เป็นความจริงหรือกลายเป็นความจริง
เป็นตัวความจริงไปเสียเลย. จิตใจของคนเราเปลี่ยนแปลงได้ถึงอย่างนี้.
นี้โดยอำนาจโดยปาฏิหาริย์ของสิ่งที่เรียกว่า ธรรม หรือ พระธรรม, หรือพระธรรมเจ้า
หรือจะไปพลอยยืมคำว่าพระเจ้ามาใช้ก็ได้ ถ้าใครอยากจะมีพระเจ้าก็จงมีสิ่งอย่างนี้เป็นพระเจ้า,
พระเจ้าก็จะช่วยให้หมดความทุกข์หมดปัญหา. พระเจ้าอย่างบุคคลนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แม้จะเป็นเทวดาหรือเป็นอะไรก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่อย่างเดียวกัน.
สิ่งที่จะช่วยทำหน้าที่พระเจ้าให้ได้จริงๆ ก็คือความจริงหรือพระธรรม ซึ่งมีปาฏิหาริย์มากถึงที่สุด.

เรื่องที่เราพูดค้างไว้ในตอนนี้ ก็คือเรื่องที่ว่า เป็นลูกของพระพุทธเจ้าให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
มันก็มีเครื่องวัดที่ตรงนี้, เข้าถึงความจริงได้มากเท่าไร,
เข้าถึงธรรมะได้มากเท่าไร ก็เป็นลูกของพระพุทธเจ้าได้มากเท่านั้น.
เป็นลูกของพระพุทธเจ้า คือเป็นลูกของพระธรรม, เป็นลูกของพระธรรม คือเป็นตัวธรรมเสียเอง มากไปเท่านั้น.
ให้ตัวธรรมะตัวพระธรรมนี้พาไป คือชนะจิตใจของเรานี้เรากินดี เราสมัคร หรือเราต้องการ,
บางทีเราก็อธิษฐานว่าขอให้เป็นอย่างนั้น; แต่ถ้าอำนาจของสิ่งอื่น คือเป็นปาฏิหาริย์ของกิเลส
เป็นปาฏิหาริย์ของสิ่งอันเป็นที่ตั้งแก่กิเลส จนกระทั่งเป็นปาฏิหาริย์ของความหลอกลวงนี้เราไม่ต้องการ,
เราเกลียด เราขยะแขยง, อย่างพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าท่านขยะแขยงในปาฏิหาริย์เหล่านั้น
ซึ่งมันเต็มไปด้วยความหลอกลวง แล้วมันก็พอไปหาสิ่งที่ไม่ดับทุกข์ได้

เพราะฉะนั้นเราจึงแยกปาฏิหาริย์ออกเป็นสองประเภท : ปาฏิหาริย์ที่จะพาเราไปต้มไปแกงไปทำให้เสียหาย,
และ ปาฏิหาริย์ที่จะทำให้เราเป็นอิสระหรือหลุดพ้นจากความทุกข์ ดับทุกข์ได้ เป็นนิพพาน.
ของอารมณ์ของกิเลสก็พาไปหาความทุกข์, ปาฏิหาริย์ของพระธรรมก็จะพาไปหาความดับทุกข์.
เรายอมรับว่าเป็นปาฏิหาริย์ด้วยกัน มีฤทธิ์ร้ายกาจด้วยกัน ถ้ามันไม่มีฤทธิ์ร้าายกาจ มันไม่ทำแก่เราได้ถึงอย่างนี้,
ใช้สำนวนที่ว่ากำปั้นทุบดินนี้.

เดี๋ยวนี้เราเกิดมาต้องลำบาก ต้องหาทางต่อสู้ กระทั่งมาบวช, กระทั่งต้องเป็นไปตามกรรม,
ตามอะไรอีกมากมายนั้น มันเป็นปาฏิหาริย์ของฝ่ายตรงกันข้าม.
ทีนี้ลำพังคนแท้ๆนี้สู้ไม่ได้ต้องไปหาพระธรรมมาเป็นที่พึ่ง, พึ่งพระธรรม มีธรรมะเป็นที่พึ่ง แล้วก็สู้กับมันได้;
เพราะว่า พระธรรมนั้นแหละมีปาฏิหาริย์ที่จะสู้กับสิ่งเหล่านี้ได้. นี่เรื่องที่จะต้องเข้าใจกันให้ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป
เกี่ยวกับจิตใจที่จะเป็นทุกข์ หรือที่จะค่อยๆถอยออกมาเสียจากความทุกข์มาสู่ความเป็นอิสระจากความทุกข์.
ทีนี้มาเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ก็คือเพื่ออย่างนี้;
ฉะนั้นจึงต้องทำหน้าที่ของตน ด้วยการเข้าถึงธรรมยิ่งขึ้นไปตามลำดับๆๆ.

ดังนั้น เราอย่ามัวทำเล่น เราอย่ามัวประมาท เวลานี้ควรถือว่ามีน้อย, อย่างบวช ๓ เดือนเวลาก็ยิ่งมีน้อย-ยิ่งมีน้อย,
คือเขาพูดไว้ในทำนองว่า ต่อให้ตลอดชีวิตก็เรียกว่ายังเป็นเวลาที่น้อยอยู่. ดังนั้น อย่าได้ประมาทเลย
รีบทำมันให้เข้าถึงธรรม ให้เป็นธรรม, เป็นตัวธรรมไปเสียเลย โดยรีบด่วน.
ทุกคนจะบวชหรือจะไม่บวชก็ต้องทำหน้าที่อันนี้.
นี้บวชก็คือจะเป็นโอกาสที่จะทำให้เร็วขึ้นสะดวกขึ้นและเร็วขึ้น, เรารีบถือเอาโอกาสนี้ ทำให้ได้มาก
อย่าไปเหลวไหลโลเล เหลาะแหละ เหมือนอย่างที่พูดกันแล้ววันก่อนๆนั้น ไม่ต้องพูดอีก.

เมื่อไม่โลเลเหลาะแหละแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ให้มันไปเร็วเข้าในการที่จะถึงธรรม
ให้ธรรมะช่วยได้อย่างมีปาฏิหาริย์ทีเดียว? คำแนะนำต่างๆที่ได้พูดมาแล้ววันก่อนๆนั้นแหละ ประมวลกันเข้า
ในที่สุดก็ได้ความว่า ให้มีความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง ตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนท่านแนะไว้
ให้เป็นอยู่อย่างถูกต้อง โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์.

พุทธทาสภิกขุ.
ธรรมโฆษณ์ ชุด นวกานุสาสน์
น.๑๙๖-๒๐๕




 

Create Date : 28 มิถุนายน 2552
1 comments
Last Update : 28 มิถุนายน 2552 21:47:42 น.
Counter : 1044 Pageviews.

 

สาธุ

 

โดย: iam_saaikaew 30 ธันวาคม 2552 10:45:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.