Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
 
26 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 
อุบายระงับความโกรธ (ที่เกิดจากถ้อยคำคน)



๒๒๗] ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับเธอทั้งหลาย ๕ ประการนี้ คือ
๑. พูดตามกาลอันสมควร หรือไม่สมควร
๒. พูดเรื่องที่เป็นจริง หรือไม่เป็นจริง
๓. พูดคำที่อ่อนหวาน หรือหยาบคาย
๔. พูดคำที่มีประโยชน์ หรือไร้ประโยชน์
๕. มีเมตตาจิตพูด หรือมีโทสะพูด

บุคคลอื่นเมื่อเขาพูด
จะพึงพูดตามกาลอันสมควร หรือไม่สมควรก็ตาม
จะพึงพูดเรื่องที่เป็นจริง หรือไม่เป็นจริงก็ตาม
จะพึงพูดคำที่อ่อนหวาน หรือคำที่หยาบคายก็ตาม
จะพึงพูดคำที่มีประโยชน์ หรือไร้ประโยชน์ก็ตาม
จะพึงมีเมตตาจิตพูด หรือมีโทสะพูดก็ตาม

ในข้อนั้นเธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า
“จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ
และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ อยู่อย่างผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิตให้บุคคลนั้นอยู่
เราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน
ไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่า อันเป็นอารมณ์ของเมตตาจิตนั้นอยู่”

อ้างอิงจาก-พระไตรปิฎก (มจร. แปล) เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๒๗ หน้าที่ ๒๓๙.



ทำใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน

[๒๒๘] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาจอบและตระกร้ามาแล้วพูดอย่างนี้ว่า
‘เราจักทำแผ่นดินใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดิน’
เขาขุดลงตรงที่นั้นๆ โกยเศษดินทิ้งลงไปในที่นั้นๆ บ้วนน้ำลายลงไปในที่นั้นๆ ถ่ายปัสสาวะรดลงในที่นั้นๆ
แล้วพูดสำทับว่า ‘เอ็งอย่าเป็นแผ่นดิน เอ็งอย่าเป็นแผ่นดิน’ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
บุรุษนั้นพึงทำแผ่นดินใหญ่นี้ ไม่ให้เป็นแผ่นดินได้หรือไม่”

“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”

“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะแผ่นดินใหญ่นี้ลึกหาประมาณมิได้
เขาจะทำแผ่นดินใหญ่นั้นไม่ให้เป็นแผ่นดิน ไม่ได้ง่าย
บุรุษนั้นจะต้องได้รับความเหน็ดเหนื่อย และความลำบากใจเป็นแน่แท้” ฯ

อ้างอิงจาก-พระไตรปิฎก (มจร. แปล) เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๒๘ หน้าที่ ๒๔๐.



ทำใจให้ว่างเหมือนอากาศ

[๒๒๙] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาครั่ง สีเหลือง สีเขียว หรือสีแดงเลือดนกมา
แล้วพูดอย่างนี้ว่า ‘เราจักเขียนรูปในอากาศนี้ ทำให้เป็นรูปปรากฏ’
เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นจะเขียนรูปในอากาศนี้ ทำให้เป็นรูปปรากฏได้หรือไม่”

“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”

“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอากาศนี้ไม่มีรูปร่าง ชี้ให้เห็นไม่ได้ เขาจะเขียนรูปในอากาศนั้น
ทำให้เป็นรูปปรากฏไม่ได้ง่ายเลย บุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อย ลำบากใจเสียเปล่าเป็นแน่” ฯ

อ้างอิงจาก-พระไตรปิฎก (มจร. แปล) เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๒๙ หน้าที่ ๒๔๑.



ทำใจให้เย็นเหมือนน้ำ

[๒๓๐] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษถือคบหญ้าที่ลุกโพลงมาแล้วพูดอย่างนี้ว่า
‘เราจักเผาแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด เดือดเป็นควันพุ่ง ด้วยคบหญ้าที่ลุกโพลงแล้วนี้’
เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
บุรุษนั้นจะเผาแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด เดือดเป็นควันพุ่งด้วยคบหญ้าที่ลุกโพลงแล้วได้หรือไม่”

“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”

“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำที่ลึกสุดประมาณ
เขาจะทำแม่น้ำคงคานั้นให้ร้อนจัด เดือดเป็นควันพุ่งด้วยคบหญ้าที่ลุกโพลงแล้วไม่ได้ง่ายเลย
บุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อย ลำบากใจเสียเปล่าเป็นแน่” ฯ

อ้างอิงจาก-พระไตรปิฎก (มจร. แปล) เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๓๐ หน้าที่ ๒๔๑-๒๔๒.



ทำใจให้อ่อนโยนเหมือนกระสอบหนังแมว

[๒๓๑] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนกระสอบหนังแมวที่ฟอกแล้ว ฟอกสะอาดแล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว
อ่อนนุ่มดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง ถ้ามีบุรุษถือเอาไม้หรือกระเบื้องมาแล้วพูดอย่างนี้ว่า
‘เราจักทำกระสอบหนังแมวนี้ที่ฟอกแล้ว ฟอกสะอาดแล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว
อ่อนนุ่มดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง ให้มีเสียงดังก้อง ด้วยไม้หรือกระเบื้อง’

เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
บุรุษนั้นจะทำกระสอบหนังแมวนี้ที่ฟอกแล้ว ฟอกสะอาดแล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว
อ่อนนุ่มดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง ให้กลับมีเสียงดังก้องขึ้น ด้วยไม้หรือกระเบื้องได้หรือไม่”

“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”

“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกระสอบหนังแมวนี้ที่ฟอกแล้ว
ฟอกสะอาดแล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง
เขา จะทำกระสอบหนังแมวนั้นให้กลับมีเสียงดังก้องขึ้น ด้วยไม้หรือกระเบื้อง ไม่ได้ง่ายเลย
บุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อย ลำบากใจเสียเปล่าเป็นแน่” ฯ

อ้างอิงจาก-พระไตรปิฎก (มจร. แปล) เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๓๑ หน้าที่ ๒๔๒-๒๔๓.



โอวาทอุปมาด้วยเลื่อย

[๒๓๒] ภิกษุทั้งหลาย หากพวกโจรผู้ประพฤติต่ำทราม จะพึงใช้เลื่อยที่มีที่จับ ๒ ข้าง เลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่
ผู้มีใจคิดร้ายแม้ในพวกโจรนั้น ก็ไม่ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น
แม้ในข้อนั้น เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า

“จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์
อยู่อย่างผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิตให้บุคคลนั้นอยู่ เราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์
เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน
ไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่า อันเป็นอารมณ์ของเมตตาจิตนั้นอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้


[๒๓๓] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรมนสิการถึงโอวาทซึ่งมีอุปมาด้วยเลื่อยนี้เนืองๆ เถิด
เธอทั้งหลายเห็นวิธีพูดที่มีโทษน้อยหรือโทษมาก ที่เธอทั้งหลายอดกลั้นไม่ได้หรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงมนสิการถึงโอวาทซึ่งมีอุปมาด้วยเลื่อยนี้เนืองๆ เถิด
ข้อนั้นจักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขแก่เธอทั้งหลายสิ้นกาลนาน”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

อ้างอิงจาก-พระไตรปิฎก (มจร. แปล) เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๓๒-๒๓๓ หน้าที่ ๒๔๔.


ที่มา //www.dmc.tv/
ภาพจาก //smart.fm/image/2383



Create Date : 26 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2552 19:45:36 น. 2 comments
Counter : 1035 Pageviews.

 
สาธุ


โดย: nathanon วันที่: 27 พฤศจิกายน 2552 เวลา:10:21:40 น.  

 
คิดได้ ทำได้จะดีมากนะครับ


โดย: น้ำเปรี้ยวsp วันที่: 29 พฤศจิกายน 2552 เวลา:1:47:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.