Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2553
 
10 กุมภาพันธ์ 2553
 
All Blogs
 
อานิสงส์ศีล



พระศาสดาประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อำมาตย์ของพระเจ้าโกศลคนหนึ่ง มีอุปการะเป็นอันมากแก่พระราชา เป็นผู้จัดกิจทั้งปวงให้สำเร็จ
พระราชาทรงดำริว่า อำมาตย์นี้มีอุปการะแก่เรามาก จึงประทานยศใหญ่โตแก่อำมาตย์นั้น

อำมาตย์พวกอื่นทนไม่ได้ ก็ยุยงพระราชาให้ทำลายอำมาตย์นั้น
พระราชาทรงเชื่อคำยุยง มิได้ทรงพิจารณาให้รอบคอบ รับสั่งให้จองจำอำมาตย์ผู้มีศีลผู้หาโทษมิได้ ด้วยโซ่ตรวน
แล้วนำไปขังไว้ในเรือนจำ อำมาตย์นั้นตัวคนเดียวอยู่ในเรือนจำ อาศัยศีลสมบัติทำจิตให้แน่วแน่ในอารมณ์เดียว
พิจารณาสังขารทั้งหลายได้บรรลุโสดาบัน

ในกาลต่อมา พระราชาทรงทราบว่า อำมาตย์นั้นไม่มีโทษ
จึงรับสั่งให้พ้นจากจองจำ แล้วได้พระราชทานยศอันยิ่งใหญ่กว่าครั้งแรก

(อรรถกถาเสยยชาดก ติกนิบาต)



ชนจำนวนมากได้ไปค้าขายทางทะเล ในวันที่เจ็ดเรือถูกคลื่นใหญ่ซัด จึงเต็มไปด้วยน้ำ
เมื่อเรือกำลังจะจมลง มหาชนตกใจกลัวพากันคร่ำครวญถึงเทวดาที่ตนนับถือ อ้อนวอนขอให้มาช่วย

บุรุษผู้หนึ่งไม่ร้องไห้คร่ำครวญเมื่อประสบภัยร้ายแรงเช่นนี้
เพราะระลึกถึงสรณะและศีลอันบริสุทธิ์ของตน จึงนั่งขัดสมาธิดุจพระโยคี

คนทั้งหลายถามว่า ทำไมไม่กลัว บุรุษผู้เป็นบัณฑิตนั้นตอบว่า เราได้ถวายทานแก่หมู่ภิกษุในวันที่ขึ้นเรือ
ได้รับสรณะ (ยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง) และศีล ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่กลัว
ชนเหล่านั้น จึงกล่าวว่า ก็สรณะและศีลสมควรแก่คนอื่นบ้างหรือไม่
บัณฑิตนั้นตอบว่า ย่อมสมควรแม้แก่พวกท่าน ชนเหล่านั้นจึงกล่าวว่า ขอท่านจงให้แก่เราบ้าง
บัณฑิตนั้นจึงให้คนเหล่านั้นรับศีลห้า แล้วประกาศด้วยเสียงกึกก้องว่า
ที่พึ่งอื่นของพวกท่านไม่มี พวกท่านจงรักษาศีลให้ดี

บุคคลทั้งหมดจมน้ำตายในทะเล ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะอาศัยศีลที่ตนรับในเวลาใกล้ตาย
วิมานของเทวดาเหล่านั้นจึงเกิดเป็นหมู่เดียวกัน วิมานทองของอาจารย์เกิดในท่ามกลางและใหญ่กว่าวิมานทั้งหมด

(อรรถกถาสัพภิสูตร สารัตถปกาสินี ภาค ๑)


ชายไทยสูงอายุมาซื้อเครื่องถวายพระที่เขาจัดไว้เป็นถาดแล้ว ได้เกิดโต้เถียงกับจีนเจ้าของร้านซึ่งสูงอายุพอๆ กัน
ทั้งสองถกเถียงกันอย่างหน้าดำหน้าแดง ด้วยเรื่องที่ออกจะแปลกผิดจากที่คนทั่วไปถกเถียงกัน

เถ้าแก่ : อาพี่ชาย ลื้อคิดดูดี ๆ นา ลื้อซื้อของ ๘ บาท เอาแบงก์ใบละ ๒๐ มาให้อั๊ว
อั๊วก็ทอนให้ลื้อ ๑๒ บาทไม่ถูกหรือ อั๊วไม่ต้องการเงินลื้อเกินหรอกน่า

ชายไทย : อั๊วให้ลื้อใบละ ๑๐ บาทไม่ใช่ ๒๐ ทอนให้อั๊วเพียง ๒ บาทเท่านั้น ลื้อทอนให้อั๊วมากไป
อั๊วไม่อยากได้ของใคร เงินที่ลื้อทอนเกินเอาคืนไป อั๊วถือศีล ๕
เงินจะมาทำลายศีล ๕ ให้อั๊วเกิดความโลภไม่ได้
(สมัยนั้นค่าเงินสูง ค่าครองชีพต่ำ มีสิบสตางค์ไปโรงเรียนก็เหลือ)

เถ้าแก่ : พี่ชาย อั๊วว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน อั๊วขอมอบเงิน ๑๐ บาทนี้ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นของใครให้ลื้อ
ช่วยเอาไปถวายพระที่พี่ชายเอาของไปถวายด้วย คิดว่าเป็นเงินของเราทั้งสองทำบุญร่วมกันก็แล้วกัน

ชายไทย : เถ้าแก่ ลื้อพูดอย่างนี้น่าฟังมาก อั๊วไม่นึกว่าจะมาพบคนดีๆ อย่างลื้อ ทำให้อั๊วดีใจมาก
พระที่อั๊วจะเอาของไปถวายองค์นี้ ท่านเคยเป็นอุปัชฌาย์บวชให้อั๊วมาก่อน อั๊วเคารพท่านมาก
ก่อนเข้าพรรษาอั๊วก็นำของไปถวายท่านทุกปี แต่ท่านอายุมากแล้วไม่ยอมรับเงิน
ฉะนั้นอั๊วก็รับไปถวายท่านไม่ได้ พระองค์อื่นก็ไม่รู้จักดีเท่าท่าน

เถ้าแก่ : ไม่เป็นไร อั๊วจะจัดการให้ลื้อนำของไปถวายท่านอีกให้ครบ ๑๐ บาท คิดว่าเราทำบุญร่วมกัน
พี่ชาย อั๊วขอให้ลื้อเข้ามานั่งกินน้ำชาคุยกันก่อน ลื้อเป็นคนดีมาก อั๊วนับถือ

ร้านนั้นเถ้าแก่ชื่อ "เอ็ง" เถ้าแก่ผู้นี้ ต่อมามีชื่อเสียงว่าเป็นคนดี มีสัตย์ เป็นที่น่าไว้วางใจ
ทั้งพระทั้งชาวบ้านต่างก็แนะนำกันให้ไปติดต่อหาซื้อของที่ร้าน จนเถ้าแก่เอ็งร่ำรวย
เห็นจะเป็นเพราะความดีของเถ้าแก่เอ็ง ทำให้ชายไทยสูงอายุนั้น ไปเที่ยวบอกเล่าให้พระและชาวบ้านทั่วไปรู้

(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์)


ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้

๑. แม้อำมาตย์ถูกใส่ความจนต้องติดคุก ก็ไม่เดือดร้อนใจ เพราะไม่ได้ทำความผิด
จึงไม่กลัวว่าจะถูกพระราชาสอบสวน ไม่กลัวว่าคนอื่นจะขุดคุ้ยเบื้องหลังการกระทำของตนไปเปิดเผย
เมื่อไม่กลัวจิตใจ ก็สงบสุข เป็นการเข้าถึงสุคติในชาติปัจจุบัน (เป็นสวรรค์ในอก)
ส่วนพวกที่รับศีลแล้วจมน้ำตายไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นสวรรค์ที่เป็นปรโลก
เป็นการเข้าถึงสุคติในชาติหน้า ตรงกับอานิสงส์ของศีลที่ว่า "ศีลย่อมยังบุคคลให้ถึงสุคติ"

๒. การที่อำมาตย์ได้รับพระราชทานยศสูงขึ้นกว่าเดิม การที่เถ้าแก่เอ็งค้าขายจนร่ำรวย
ตรงกับอานิสงส์ของศีลที่ว่า "ศีลทำให้ถึงพร้อมด้วยโภคะ"

๓. โภคสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยโภคะ หมายถึง มีของกินของใช้และได้กินได้ใช้อย่างเต็มที่
ไม่ต้องรับผลของบาปกรรมในอนาคตด้วย เพราะได้มาโดยสุจริต ถ้ามีรถยนต์ แต่ขโมยเขามา ย่อมไม่กล้าใช้
ทั้งยังต้องรับผลของบาปกรรมในชาตินี้หรือชาติหน้า จึงไม่เป็นโภคสัมปทา
๔. การที่อำมาตย์อาศัยศีลสมบัติ ทำจิตให้แน่วแน่ในอารมณ์เดียว แล้วพิจารณาสังขารทั้งหลายจนบรรลุโสดาบัน
ตรงกับอานิสงส์ของศีลที่ว่า "ศีลย่อมยังบุคคลให้ถึงพระนิพพาน"

๕. พระโสดาบัน หมายถึง ผู้แรกถึงกระแสพระนิพพาน คัมภีร์อังคุตตรนิกาย (๒๐/๕๒๗) กล่าวว่า
พระโสดาบันมี ๓ จำพวก คือ เอกพีชี โกลังโกละ สัตตักขัตตุปรมะ
พระโสดาบันเกิดอีก ๗ ชาติเป็นอย่างมาก ก็จักบรรลุอรหัต นี้เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่า ชาติหน้ามีจริง

๖. อำมาตย์นี้เป็นผู้มีปัญญา รู้จักทำประโยชน์ (บรรลุโสดาบัน) จากสิ่งที่หาประโยชน์มิได้ (ราชทัณฑ์)


โดย ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ



Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2553 22:25:50 น. 2 comments
Counter : 1404 Pageviews.

 
ขอบคุณ สาระธรรมดีๆ


โดย: น้ำเปรี้ยวsp วันที่: 11 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:3:17:45 น.  

 
สาธุค่ะ


โดย: Chulapinan วันที่: 11 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:3:26:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.