Group Blog
 
<<
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
4 มกราคม 2553
 
All Blogs
 
เปลี่ยนผิดให้เป็นถูก



มโนธรรมเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงอยากทำความดีด้วยกันทั้งนั้น
มโนธรรมทำให้เราหวั่นไหวเมื่อเห็นความทุกข์ของผู้อื่น และอยากช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์
แต่หากเราทำในสิ่งตรงข้าม อย่าว่าแต่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นเลย เพียงแค่ยืนดูอยู่เฉย ๆ เมื่อเห็นเขาได้รับความทุกข์
เราก็จะรู้สึกผิดขึ้นมาทันที ทุกคนย่อมรู้ดีว่าความรู้สึกผิดนั้นก่อความทุกข์ให้แก่จิตใจเพียงใด
มันทั้งกดถ่วงหน่วงทับและทิ่มแทงจิตใจ ทำให้เจ็บปวดเศร้าสลด
ยิ่งกว่านั้นมันมันยังสั่นคลอนความรู้สึกเคารพตัวเอง
บางครั้งถึงกับฉีกทำลายภาพ “ตัวตน” อันงดงามที่เคยวาดไว้ให้ย่อยยับในฉับพลัน
คำว่า “เสีย self”ดูจะเบาไปด้วยซ้ำ

ความเจ็บปวดนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อทำร้ายตัวเรา แต่เพื่อกระตุ้นให้เราทำสิ่งที่ถูกต้อง หรือหลีกหนีจากอันตราย
เมื่อนิ้วสัมผัสกับเปลวไฟหรือเหล็กแหลม ความเจ็บปวดจะทำหน้าที่กระตุกให้เราดึงนิ้วออกมา
(คนที่สูญเสียประสาทรับรู้ความเจ็บปวด ร่างกายจะเต็มไปด้วยบาดแผล
บางคนถึงกับปากแหว่งลิ้นกุดเพราะเผลอกัดซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่รู้ตัว) ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเราทำสิ่งที่ผิดพลาด
ความเจ็บปวดเพราะรู้สึกผิด จะกระตุ้นให้เราหันมาทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ทั้งของผู้อื่นและของเราเองด้วย

ความรู้สึกผิดมีหน้าที่ผลักดันให้เราเปลี่ยน “ผิด”ให้เป็น “ถูก” แต่บ่อยครั้งเรากลับพบว่าผลกลับตรงกันข้าม
หลายคนกลับทำผิดซ้ำสอง หรือทำผิดยิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น
หาเหตุผลมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่ผิดนั้น
เหตุผลที่นิยมอ้างกันโดยเฉพาะเวลาทำการทุจริตคอร์รัปชั่นก็คือ “ใคร ๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้น”

หากนิ่งเฉยเมื่อเห็นหญิงสาวถูกรุมทำร้าย เหตุผลที่ใช้บรรเทาความรู้สึกผิดก็คือ “กรรมใครกรรมมัน”
เหตุผลเหล่านี้ถูกอ้างขึ้นมาเพื่อให้การกระทำที่ผิดนั้นกลายเป็นถูก แต่ที่จริงกลับเป็นการทำผิดเป็นครั้งที่สอง
เพราะเป็นการแก้ต่างให้กับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ต่างจากการแก้ต่างให้กับโจร

แต่ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ การหันไปเล่นงานบุคคลซึ่งเป็นที่มาแห่งความรู้สึกผิดในใจตน
คนที่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ย่อมรู้สึกผิดเมื่อเห็นเพื่อนทำงานขยันขันแข็ง
คนที่ทุจริตย่อมรู้สึกผิดเมื่อรู้ว่ามีเพื่อนบางคนปฏิเสธสินบน
นักปฏิบัติที่เพลินในการนอนอาจรู้สึกผิด ที่เห็นเพื่อนร่วมห้องพากเพียรภาวนา

หลายคนบรรเทาความรู้สึกผิดดังกล่าวด้วยการหันไปกล่าวร้าย กลั่นแกล้ง หรือหาทางกำจัดคนที่ทำดีกว่าตน
ราวกับว่าเขาเป็นศัตรูกับตน เพราะตราบใดที่คนเหล่านั้นยังปรากฏอยู่ต่อหน้า
ความรู้สึกผิดก็จะยังทิ่มแทงใจตนตลอดเวลา กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือเกิดความสำคัญผิดไปว่าคนเหล่านั้น
เป็นต้นตอแห่งความทุกข์ที่กำลังกัดกร่อนใจตน
ทั้ง ๆ ที่สาเหตุแท้จริงนั้นได้แก่ การกระทำที่ไม่ถูกต้องของตัวเองต่างหาก

ความรู้สึกผิดนั้นเป็นผลผลิตของมโนธรรมก็จริง แต่สามารถก่อให้เกิดอาชญากรรมหรือความเลวร้ายได้
จะว่าไปการเบียดเบียนทำร้ายกันบ่อยครั้ง ก็เกิดจากแรงผลักดันแห่งความรู้สึกผิด และคนที่ถูกทำร้ายนั้น
หาใช่ใครที่ไหน หากเป็นคนที่เรารักหรือใกล้ชิดเรานี้เอง
การทำร้ายผู้อื่นจึงมิใช่พฤติกรรมที่สงวนไว้สำหรับคนชั่วเท่านั้น
แต่คนธรรมดา ๆ อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็สามารถลงมือได้เช่นกัน
นี้เป็นประเด็น ที่ถ่ายทอดให้เห็นอย่างชัดเจนในนิยายเรื่องเด็กเก็บว่าว ของฮาเหล็ด โฮเซนี่
(แปลโดยวิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ)

อาเมียร์ กับ ฮัสซาน เป็นเด็กวัย ๑๓ ขวบที่เติบโตในบ้านหลังเดียวกันและดื่มน้ำนมจากอกแม่นมคนเดียวกัน
แต่สถานะของคนทั้งสองต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาเมียร์เป็นบุตรชายของคหบดี ส่วนฮัสซานเป็นลูกสาวของคนใช้
รูปร่างหน้าตาที่น่าเย้ยหยันของฮัสซานนั้นตรงข้ามกับน้ำใจ ที่งดงามเปี่ยมด้วยความซื่อสัตย์ และภักดีต่ออาเมียร์
ในสายตาของฮัสซาน อาเมียร์นั้นสูงส่งกว่าเขาทั้งชาติวุฒิและคุณวุฒิ

ฮัสซานพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่ออาเมียร์ ไม่ว่าจะเกิดอะไรกับฮัสซานก็ตาม
“สำหรับคุณ(อาเมียร์) กว่านี้อีกพันเท่าก็ยังไหว” ไม่ใช่เป็นแค่คำพูดที่ฮัสซานประดิดประดอย
แต่ออกมาจากใจอันใสซื่อ แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้พิสูจน์ให้อาเมียร์เห็น

อัสเซฟเป็นลูกของผู้มีอิทธิพล ทำตัวเยี่ยงอันธพาล เกิดมีปากเสียงวิวาทกับอาเมียร์ซึ่งมีอายุอ่อนกว่ามาก
อัสเซฟกับพวกอีก ๒ คน รุมล้อมกรอบเขาและเตรียมทำร้ายด้วยสนับมือ
แต่ต้องชะงักเมื่อพบว่าฮัสซานเหนี่ยวหนังสติ๊กคู่ใจเล็งมา ที่หน้าของอัสเซฟ พร้อมกับวิงวอนขอให้ปล่อยอาเมียร์
ทั้ง ๆ ที่กลัวตัวสั่นแต่ฮัสซานพร้อมยิงนัยน์ตาของอัสเซฟ หากอาเมียร์ถูกทำร้าย

ทั้งสองผ่านเหตุการณ์วันนั้นได้ด้วยความปลอดภัย แต่ต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงลิบลิ่ว

อัสเซฟและพวกมีโอกาสชำระความแค้น เมื่อเทศกาลแข่งว่าวมาถึง
อาเมียร์สามารถปราบว่าวทุกตัวที่มาประชันบนท้องฟ้าได้หมด รวมทั้งว่าวสีน้ำเงินซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ
ขณะที่อาเมียร์ฉลองชัยชนะที่รอมานานหลายปี ฮัสซานออกไปตามเก็บว่าวสีน้ำเงินให้อาเมียร์ตามลำพัง
เป็นโอกาสที่อัสเซฟและพวกติดตามล่าไปล้างแค้น อาเมียร์เฉลียวใจเมื่อรู้ว่าฮัสซานหายไปนาน
จึงกลับไปตามหาเขา และแล้วก็พบกับเหตุการณ์ที่จะตามหลอกหลอนเขาไปอีกหลายสิบปี
อัสเซฟและพวกรุมข่มขืนฮัสซานอย่างโหดร้าย ขณะที่อาเมียร์ยืนหลบซุ่มอยู่ในมุมที่ปลอดภัย
แทนที่เขาจะวิ่งไปช่วยฮัสซาน หรือตะโกนขอความช่วยเหลือ
อาเมียร์เลือกที่จะถอยหลังกลับและวิ่งออกไปจากที่เกิดเหตุ

คืนนั้นฮัสซานกลับมาพร้อมกับว่าวสีน้ำเงินด้วยร่างกายที่บอบช้ำ อาเมียร์รู้อยู่เต็มอกว่า
ว่าวตัวนั้นเขาได้มาก็เพราะฮัสซานปฏิเสธ ที่จะมอบว่าวให้กับอัสเซฟเพื่อแลกกับความปลอดภัยของเขา
ฮัสซานยอมพลีกายเพื่อนำว่าวตัวนั้นกลับมาให้อาเมียร์ อาเมียร์รู้สึกผิดมากขึ้นเมื่อสบตากับฮัสซาน
และรู้ว่าฮัสซานเห็นเขาแอบซุ่มอยู่หลังตึกขณะที่เขาถูกรุมทำร้าย
ฮัสซานเห็นเขาแต่ไม่ร้องขอความช่วยเหลือจากเขาเลย

นับแต่วันนั้นอาเมียร์ไม่มีความสุขเลยที่เห็นฮัสซาน
ยิ่งฮัสซานปฏิบัติต่อเขาอย่างสุภาพอ่อนน้อม ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เขาก็ยิ่งเจ็บปวดที่ทรยศฮัสซาน
ยิ่งเจ็บปวดมากเท่าไรเขาก็ยิ่งอยากกำจัดฮัสซานออกไปจากบ้าน แล้ววันหนึ่งเขาก็บอกพ่อว่า
นาฬิกาและเงินของเขาหายไป ไม่นานก็พบว่าสิ่งของทั้งหมดนั้นซ่อนอยู่ใต้ฟูกนอนของฮัสซาน
เมื่อพ่อของอาเมียร์ซักถามฮัสซาน แทนที่จะปฏิเสธ ฮัสซานกลับยอมรับว่าเป็นคนขโมยไป
ไม่มีใครเชื่อว่าฮัสซานทำเช่นนั้น แต่นี่เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ฮัสซานได้พิสูจน์ถึงความภักดีต่ออาเมียร์
และเป็นครั้งสุดท้ายเพราะไม่กี่วันต่อมา ทั้งฮัสซานและพ่อก็ขอกลับบ้าน แม้จะถูกทัดทานจากพ่อของอาเมียร์ก็ตาม

อาเมียร์ดีใจที่ฮัสซานเดินออกไปจากชีวิตของเขาเสียที ต่อไปนี้ไม่มีใครที่จะเตือนใจให้เขารู้สึกผิดที่ได้ทรยศเพื่อน
ไม่มีใครที่จะเปิดเผยความลับของเขาให้โลกรู้ เขายังเป็นคนดีของพ่ออยู่ต่อไป แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด
เพราะความรู้สึกผิดยังหลอกหลอนเขาอยู่ต่อไปอีกหลายสิบปี มีทางเดียวเท่านั้นที่ความรู้สึกผิดจะเลือนหายไป
นั่นคือ การกลับไปแก้ตัวด้วยการทำความดีทดแทนความผิดพลาดในอดีต

เรื่องขออาเมียร์และฮัสซาน มิใช่เป็นแค่เรื่องราวของเด็กสองคนในอัฟกานิสถาน แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน
ใช่หรือไม่ว่าบางครั้งเราทำร้ายคนใกล้ชิด เพียงเพราะทนความรู้สึกผิดไม่ได้ ลึก ๆ เราอยากเป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น
แต่ความรู้สึกผิดกลับทำให้เรารู้สึกไม่ดีกับตัวเอง แทนที่เราจะบรรเทาความรู้สึกผิดด้วยการหันมาแก้ไขตัวเอง

บ่อยครั้งเราเลือกที่จะไปจัดการกับคนอื่นซึ่งมิใช่ใครอื่น แต่เป็นคนที่เราเคยทำผิดกับเขามาแล้ว
เราต้องการให้เขาพ้นไปจากสายตาหรือชีวิตของเรา เพื่อเราจะได้รู้สึกดีขึ้นกับตัวเอง
แต่ยิ่งแก้ปัญหาผิดจุด ความผิดพลาดก็ยิ่งพอกพูนจนส่งผลยาวไกลต่อชีวิต เช่น ทำให้ชีวิตตกต่ำลง
หรือก่อผลร้ายต่อผู้อื่นต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
ทั้ง ๆ ที่บางครั้งเพียงแค่สารภาพผิดหรือขอโทษ ก็ทำให้ความรู้สึกผิดนั้นเปลื้องออกไปจากใจได้ไม่น้อย

ความรู้สึกผิดบางครั้งถึงขั้นก่อให้เกิดอาชญากรรมได้
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยิวในยุโรปได้ตกเป็นเหยื่อของระบอบนาซี
มิใช่แต่ชาวเยอรมันเท่านั้นที่ร่วมมือในการกวาดล้างชาวยิว
ชาวยุโรปในหลายประเทศก็ให้ความร่วมมือด้วย โดยเฉพาะประเทศที่รัฐบาลนาซีเข้าไปยึดครอง
หนึ่งในนั้นคือโปแลนด์ อันเป็นที่ตั้งของค่ายกักกันนาซีที่มีชื่อเสียงก้องโลก อาทิ เอาชวิตช์
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติ ชาวยิวที่เคยถูกกักกันได้กลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอน แต่สิ่งที่ได้พบก็คือ
การถูกทำร้ายอย่างทารุณจากชาวโปลิช หลายคนถูกทุบตี จำนวนไม่น้อยถูกสังหาร
บางครั้งถึงกับถูกฆ่าหมู่เป็นเรือนร้อย แม้แต่เด็กก็ไม่ละเว้น จนชาวยิวต้องอพยพหนีจากโปแลนด์ในเวลาไม่นาน

คำถามก็คือ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร
ชาวโปลิชมีจิตใจกระด้างหรืออย่างไร จึงไม่รู้สึกเห็นใจชาวยิวที่ถูกล้างผลาญจนเกือบสิ่นเผ่าพันธุ์
ทำไมจึงซ้ำเติมพวกเขาเช่นนั้น ?

ความรังเกียจชาวยิวที่ฝังลึกมานานในสำนึกของชาวโปลิชเป็นคำตอบหนึ่ง แต่เหตุผลมีมากกว่านั้น
ตรงข้ามกับภาพที่ปรากฏ ชาวโปลิชหาได้มีจิตใจแข็งกระด้างไม่ เขามีความรู้ผิดรู้ชอบเยี่ยงเรา ๆ ท่าน ๆ
และเพราะเหตุนั้นจึงรู้สึกผิดอย่างมาก ที่ได้มีส่วนในการร่วมมือกับนาซีก่ออาชญากรรมกับชาวยิวในสงครามโลก
ดังนั้น เพียงแค่ได้เห็นชาวยิวเหล่านั้นกลับมาจากค่ายนรกในสภาพที่น่าสังเวช
ได้สบตากับคนที่เคยถูกเขากลั่นแกล้ง ทุบตี ปล้นสะดม หรือลากตัวให้นาซี เท่านี้ก็มากเกินกว่าที่เขาจะทนทานได้
ด้วยเหตุนี้จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะขจัดคนเหล่านั้น ให้ออกไปจากชีวิตของเขา
เพื่อความรู้สึกผิดจะได้ไม่มารบกวนจิตใจอีกต่อไป

น่าแปลกไหมว่า เป็นเพราะไปทำร้ายเขาจึงเกิดรู้สึกผิดขึ้นมา
และยิ่งรู้สึกผิดมากเท่าไร ก็ยิ่งอยากทำร้ายและผลักไสเขาออกไปไกล ๆ ด้วยความหวังว่าความรู้สึกผิดจะลดลง
ผลก็คือ ถลำเข้าไปในวัฏฏะแห่งความชั่วร้ายมากขึ้น
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะไม่ได้คิดจะแก้ไขที่ตัวเอง แต่มุ่งไปจัดการกับคนอื่น

ในเมื่อความรู้สึกผิดนั้นเกิดจากการกระทำที่ไม่ถูกต้องของตน ก็ต้องบรรเทาด้วยการหันมาทำสิ่งที่ถูกต้อง
อย่างน้อยเริ่มต้นจากการยอมรับผิดและขอโทษ

ความรู้สึกผิดเป็นผลผลิตของมโนธรรม เพื่อกระตุ้นเตือนให้เราทำสิ่งที่ถูกต้อง
แต่หากเราไม่ระวัง มันอาจกลายเป็นตัวผลักดันให้เราทำสิ่งผิดมากขึ้น
เพราะความรู้สึกผิดนั้นสามารถทิ่มแทงอัตตาจนอยู่เฉยไม่ได้ อัตตานั้นต้องการอวดตัวว่า “ฉันเก่ง”
“ฉันดี และดีกว่าคนอื่น” (พุทธศาสนาเรียกกิเลสแบบนี้ว่า “มานะ”)
แต่ความรู้สึกผิดนั้นกลับเป็นตัวตอกย้ำในทางตรงกันข้าม

อัตตานั้นทนไม่ได้ที่จะยอมรับว่า “ฉันผิด” “ฉันพลาด” “ฉันยังมีกิเลสอยู่”
ดังนั้นมันจึงพยายามที่จะกลบเกลื่อนความผิดพลาดดังกล่าว ด้วยการหาเหตุผลสารพัดมาเป็นข้ออ้าง
หรือไม่ก็โทษคนอื่น หรือถึงขั้นจัดการกับคนที่เป็นภาพสะท้อนหรือบ่งฟ้องความผิดดังกล่าว
ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ต่อว่าเรา กล่าวหาเรา
แต่เพียงเขาปรากฏตัวให้เราเห็น ก็มากพอแล้วที่ความรู้สึกผิดจะถูกปลุกขึ้นมาทิ่มแทงอัตตา
จนอัตตาต้องทำอะไรสักอย่าง แม้ว่านั่นจะเป็นสิ่งเลวร้ายก็ตาม
และหากเรายอมอยู่ใต้อำนาจของมันเมื่อไร ชีวิตของเราก็พร้อมตกต่ำลงเมื่อนั้น

ความรู้สึกผิดก่อให้ความรู้สึกทุกข์ขึ้นมา เพราะมันไม่เพียงส่งผลกระเทือนต่อมโนธรรมเท่านั้น
แต่ก็ยังกระทบกระแทกอัตตาอย่างจัง จุดหักเหที่สำคัญอยู่ตรงนี้ ว่าเราจะยอมเชื่อฟังมโนธรรม
เพื่อหันกลับมาทำสิ่งที่ถูกต้อง หรือว่ายอมเชื่อฟังอัตตา และพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อกลบเกลื่อนความผิด
หรือเพื่ออัตตาจะได้รู้สึกดีกับตัวเอง แม้นั่นจะหมายถึงการทำร้ายผู้อื่นก็ตาม
คนจำนวนไม่น้อยเลือกทำอย่างหลังโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงอดไม่ได้ที่จะต้องทำความผิดซ้ำสอง

แต่หากเรามีสติเท่าทันอุบายของอัตตา อัตตาย่อมชักนำให้เราทำผิดพลาดได้ยาก
แม้จะมีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเสียหน้าหรือรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง
แต่ก็รู้ดีว่าเป็นอัตตาต่างหากที่ทุกข์ ไม่ใช่ใจเราทุกข์ แทนที่จะทุกข์ร้อนไปกับอัตตา เรากลับยินดีด้วยซ้ำ
เพราะมันสมควรได้รับบทเรียนเสียบ้าง จะได้ไม่ยกหูชูหางอยู่ร่ำไป

อัตตาหากไม่ถูกทรมานเสียบ้าง มันจะเหิมเกริมครอบงำจิตใจเราไม่หยุดหย่อน
เมื่อรู้เท่าทันอัตตา เราย่อมไม่ลังเลที่จะสารภาพผิด กล่าวคำขอโทษ หรือแก้ไขสิ่งผิดให้เป็นถูก
แม้อัตตาจะทัดทานเพียงใดก็ตาม เราไม่รู้สึกเสียหน้าที่จะทำเช่นนั้น เพราะเป็นอัตตาต่างหากที่เสียหน้า ไม่ใช่เรา
และสมควรแล้วที่มันจะรู้สึกเสียหน้า จะได้ไม่คุยโวโอ้อวดอีกต่อไป
อัตตาที่ถูกสยบจนสงบเสงี่ยมต่างหาก ที่จะทำให้ชีวิตของเราเป็นอิสระและโปร่งเบา

ความรู้สึกผิด หากใช้ให้เป็นหรือเกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง
สามารถขับเคลื่อนชีวิตของเราไปในทางที่ดีงามและเป็นสุขได้

แต่หากใช้ไม่เป็น หรือปล่อยให้อัตตาเข้ามาบงการ ชีวิตก็เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
หากเราไม่เผลอไปทำร้ายคนอื่นเพื่อรักษาหน้าของอัตตาเอาไว้
ก็อาจทำร้ายตัวเองเพราะทนความรู้สึกผิดไม่ไหว ดังเป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน


โดย พระไพศาล วิสาโล
ข้อมูลจาก //www.budpage.com
ที่มา : //citecclub.org
ภาพจาก : //comment.myspace.com



Create Date : 04 มกราคม 2553
Last Update : 4 มกราคม 2553 21:05:51 น. 0 comments
Counter : 756 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.