Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
16 พฤศจิกายน 2551
 
All Blogs
 
สร้างความสำเร็จด้วยพลังอันดีงาม


เมื่อก่อนพุทธกาลราว ๑๐๐ ปี มีลัทธิเชนเกิดขึ้นในโลก ประกาศว่า ชีวิตและทุกอย่างในชีวิตเป็นผลของกรรมเก่า ชีวิตทุกคนล้วนเป็นไปตามยถากรรม เราเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม เมื่อใช้กรรมเก่าหมดแล้วก็จะหลุดพ้น พวกนี้จึงชอบทรมานตน เพื่อให้กรรมเก่าหมดไปโดยเร็ว แต่ปรากฏว่า ทำอย่างไรก็ไม่หมด เพราะกรรมนั้นเป็นอจินไตย หาที่สิ้นสุดไม่เจอ ปละการทรมานตนก็กลายเป็นกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นพัวพันอีก จึงไม่หลุดพ้นสักที
จนกระทั่งพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ จึงประกาศว่า การประพฤติตามใจกิเลสก็ดี การทรมานตนก็ดี มิใช่ทางหลุดพ้น บุคคลอาจหลุดพ้นได้โดยการประพฤติพอดี ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งเรียกว่า ทางสายกลาง
และทรงสอนในเรื่องกรรมว่า ชีวิตทั้งหลายมิได้เกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่าเท่านั้น แต่เกิดมาเพื่อวิวัฒน์ตนให้หลุดพ้นจากกรรมทั้งปวง กรรมทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่เราเป็นผู้สร้างขึ้นมาเอง โดยธรรมดาผู้สร้างย่อมมีอำนาจเหนือสิ่งที่ถูกสร้าง จึงสามารถจัดสรรกรรมได้ บุคคลจึงอาจบริหารชะตาชีวิตให้ดีขึ้นได้ด้วยพลังอันดีงาม (ท่านที่สนใจรายละเอียด ศึกษาได้จากหนังสือ “การบริหารชีวิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด” โดยผู้เขียนท่านเดียวกัน)
ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาที่สอนให้บุคคลมีความเพียร สร้างพลังอันดีงาม เพื่อยกระดับตนให้สูงส่งขึ้น ไม่ปล่อยชีวิตเหมือนปลาตายที่ลอยไปตามยถากรรม
การสร้างความสำเร็จด้วยพลังอันดีงามนั้นมีมากมาย แต่ในที่นี้จะแนะนำพลังเบื้องต้นที่ทุกคนสามารถสร้างได้ดดยไม่ยากนัก นั่นคือ

พลังแห่งความสำเร็จห้าประการได้แก่
๑. พลังศรัทธา
๒. พลังวิริยะ
๓. พลังสติ
๔. พลังสมาธิ
๕. พลังปัญญา
พลังอันดีงามทั้งห้าประการนี้จะเกิดโดยลำดับหนุนเนื่องกันดังนี้
พลังแห่งศรัทธา

ศรัทธา แปลว่า ความยินดีอย่างยิ่งใน... พอยินดีอย่างยิ่งแล้วก็จะเชื่อโดยง่าย
ศรัทธาเกิดจาก ๔ ฐาน คือ
๑. ศรัทธาอันไหลตามๆกันมา คือ ศรัทธาที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโดยศรัทธาของผู้อื่น คือเห็นผู้อื่นศรัทธาก็ศรัทธาบ้าง ศรัทธาประเภทนี้มีความแปรปรวนสูง เกิดง่าย หายง่าย พลังต่ำ
๒. ศรัทธาบนพื้นฐานของอารมณ์ คือ ศรัทธาอันเกิดจากความชื่นชม เมื่อพบเห็นสิ่งที่ถูกใจ ชอบใจ ศรัทธาประเภทนี้ไม่ถาวร แปรไปได้ตามเหตุแห่งอารมณ์ มีพลังตามความเข้มของอารมณ์
๓. ศรัทธาบนพื้นฐานของปัญญา คือศรัทธาที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดปัญญาแล้วจากสิ่งนั้น เช่น ศรัทธาของพระอริยเจ้าที่มีต่อ พระพุทธ และพระธรรม ศรัทธาประเภทนี้ถาวรและมีพลังสูงยิ่ง
๔. ศรัทธาบนพื้นฐานของอารมณ์ผสมปัญญา ศรัทธาประเภทนี้เกิดจากปัญญา เห็นแจ้งจริง ปละมีอารมณ์พึงพอใจเป็นพิเศษด้วย

พฤติกรรมของพวกที่มีศรัทธาแบบนี้จะเป็นพฤติกรรมแบบสุดขั้ว (Extreme) และมีพลังสูงสุด
พลังศรัทธาที่ใช้ได้ดี ไม่มีผลข้างเคียงคือศรัทธาบนพื้นฐานของปัญญา รองลงมาคือ ศรัทธาบนพื้นฐานของปัญญาผสมอารมณ์ รองลงไปคือศรัทธาบนพื้นฐานของอารมณ์ล้วน ๆ
อย่างไรก็ตาม อำนาจของศรัทธานั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเหนี่ยวนำให้บุคคลทุ่มเท ยินดีเสียสละเพื่อสิ่งที่ตนศรัทธา
ดังนั้น หากประสงค์จะประสบความสำเร็จในสิ่งใด ก็จงปลูกศรัทธาในสิ่งนั้น ๆ ให้เต็มเปี่ยม เมื่อศรัทธาเต็มเปี่ยมแล้ว ก็จะเกิดความพากเพียรตามมา
พลังแห่งวิริยะ

วิริยะ คือ ความอุตสาหะพากเพียร พยายามกระทำอยู่เสมอ อย่างไม่ย่อท้อ แม้จะยากลำบากเพียงใดก็เต็มใจทำ
เมื่อมีวิริยะในเรื่องใดแล้ว จิตใจก็จะจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น
ดังนั้น เมื่อปลูกศรัทธาในสิ่งที่ต้องการบรรลุความสำเร็จแล้ว ก็จงเพิ่มวิริยภาพในสิ่งนั้นให้ถึงที่สุด แต่อย่าลืมว่า วิริยะจะถึงที่สุดได้ ศรัทธาจะต้องเต็มเปี่ยม ถ้าศรัทธาไม่เต็มแล้ว วิริยะก็จะกระท่อนกระแท่น
เมื่อมีความเพียรอยู่ตลอดเวลา จิตจะจอจ่อก็จะได้สติตามมา
พลังแห่งสติ

เมื่อจิตใจจดจ่ออยู่ตลอดเวลาด้วยวิริยะ จิตจะอยู่กับสิ่งนั้น การที่จิตอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไม่เสียการทรงตัวนั้นเรียกว่า สติ
สติ แปลว่า ระลึกล่วงรู้ ดังนั้น จิตที่มีสติ คือจิตที่สามารถระลึกล่วงรู้ได้ในทุกขณะ
ก็อะไรเล่าที่จิตควรระลึกล่วงรู้ สิ่งที่จิตต้องรู้ให้ครบถ้วนเสมอในทุกรอบแห่งการรู้ คือ
๑. จิตรู้จิตเอง หรือ จิตรู้ผู้รู้
๒. จิตรู้ปรากฏการณ์ หรือ จิตรู้สิ่งที่ถูกรู้
๓. จิตรู้ในความรู้ที่เกิด หรือ จิตรู้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้

อันนี้สำคัญมาก สติจะมีพลังเมื่อจิตสามารถรู้ได้ทั้งสามสิ่งในหนึ่งรอบแห่งการรู้ คือ จิตรู้ผู้รู้ จิตรู้สิ่งที่ถูกรู้ และรู้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้และสิ่งที่ถูกรู้ เมื่อรู้ทั้งสามสิ่งในหนึ่งรอบการรู้ จิตก็จะไม่เสียการทรงตัว เมื่อไม่เสียการทรงตัว เรียกว่า สติดีอยู่กับเนื้อกับตัว
คนทั่วไปที่ไม่ได้ฝึกฝน เมื่อรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จิตมักจะไหลไปกับสิ่งที่ถูกรู้นั้น จนลืมรู้จิตอันเป็นผู้รู้เอง สติจึงไม่สมบูรณ์ ทำให้ไม่รู้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ อันคือความรู้ได้ชัด จึงมักถูกอวิชชาแทรก กิเลสปรุงแต่ อุปาทานครอบงำได้โดยง่าย
ดังนั้น หากอยากประสบความสำเร็จในสิ่งใด เมื่อบำเพ็ญเพียรดีแล้ว ก็หมั่นรักษาสติให้สมบูรณ์ในการประกอบกิจนั้นเสมอ ก็จะได้ประโยชน์มหาศาล
ครั้นมีสติต่อเนื่องดีแล้ว พลังต่อมาที่จะได้ คือสมาธิ
พลังแห่งสมาธิ

สมาธิ คือ ใจที่มีความสม่ำเสมอเป็นที่ยิ่ง
ซึ่งใจจะสม่ำเสมอตั้งมั่นได้นั้น ต้องมีความสะอาดโดยสมควร คือสะอาดจากกาม จากความพยาบาท จากความสงสัย จากความฟุ้งซ่าน จากความง่วง หดหู่ ซึมเซา
เมื่อใจสะอาดแล้ว ก็จะไม่เสียวสะดุ้งไปกับเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงสม่ำเสมอ โปร่งเบา สบายอยู่ตลอดเวลา
การจะพัฒนาเข้าสู่สมาธิได้นั้น ต้องมีสติเป็นพื้นฐานที่ดีมาก่อน ถ้าสติไม่ดี จะเข้าสมาธิไม่ได้
เมื่อได้สมาธิแล้ว พลังแห่งสมาธินั้นมีอานุภาพมหาศาล อาทิเช่น
๑. ก่อให้เกิดการพักลึกที่ทรงพลังตลอดเวลา
๒. ก่อให้เกิดความสุขที่โปร่ง เบา สบาย ล้ำลึก
๓. มีอำนาจเหนี่ยวนำสิ่งต่าง ๆ ให้คล้อยตาม
๔. ก่อให้เกิดปัญญา
ดังจะกล่าวต่อไปฯลฯ

เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ นักธุรกิจซึ่งเป็นผู้หมั่นฝึกสมาธิอยู่เป็นประจำ และขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เป็นนิจ เขาได้ย้ายออกจากครอบครัวไปอยู่บ้านใหม่ที่เพิ่งตกแต่งเสร็จ เมื่อเขาไปอยู่ที่บ้านใหม่แล้วก็มีความดำริว่า น่าจะว่าจ้างบริษัทกำจัดปลวกคอยดูแลตรวจตราเป็นประจำ แต่ไม่รู้จะไปหาที่ไหนดี ภายในเวลาไม่นานนั้น ก็มีโทรศัพท์ดังขึ้น ปรากฏว่าถามหาบุคคลที่ไม่มีอยู่ในบ้านนี้ คือ หมุนหมายเลขผิด แต่หลังจากการสอบถามกันไปมา จึงทำให้รู้ว่า บุคคลที่โทรมาเป็นผู้จัดการบริษัทกำจัดปลวก เขาจึงได้เรียกมาดูสถานที่และทำการตกลงว่าจ้างกันตามที่ต้องการ
คนที่ยังไม่รู้จักสมาธิ และยังไม่ฉลาดพอที่จะเริ่มเรียนรู้หรือทดลอง อาจจะตีความว่าเป็นเหตุบังเอิญ แต่ลองคำนวณดูเถิดว่า ค่าความน่าจะเป็นมีเพียงใด และในความเป็นจริง บุคคลท่านนี้มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก
อย่างไรก็ดี พลังที่สามารถเหนี่ยวนำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามปรารถนาได้นั้น ต้องอาศัยสมาธิประกอบกับบุญในการช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เป็นนิจ จึงสำเร็จได้โดยง่าย ถ้ามีพลังอย่างใดเพียงอย่างเดียวนั้น ต้องมีความเข้มสูงมาก จึงจะเกิดได้
นี่เป็นตัวอย่างเรื่องจริงที่แสดงถึงพลังเล็ก ๆ น้อย ๆ ของสมาธิ พลังแห่งสมาธินั้น ถ้าจะพรรณนากันแล้วเห็นจะไม่จบง่าย ๆ จะแยกไว้แจงรายละเอียดในโอกาสอื่นที่อำนวย
บุคคลใดก็ตามที่ต้องการประสบความสำเร็จในกิจใด เมื่อเจริญสติดีแล้ว ก็พัฒนาเข้าสู่สมาธิเลย แล้วจะสำเร็จกิจนั้นโดยง่ายดายยิ่งขึ้น
เมื่อเจริญสมาธิสมบูรณ์แล้วก็จะได้ปัญญาตามมา
พลังแห่งปัญญา

ปัญญา คือ ความรู้ทุกสิ่งตามเป็นจริง รู้แม้ว่าอะไรกำลังเป็นอย่างไร เพราะอะไร และจะจัดการอย่างไร จึงจะเหมาะเจาะพอดีที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่ายในทุกกาล
เรื่องเคยมีมาแล้ว สมัยหนึ่ง มีเจ้าของที่ดิน ประสงค์จะขายที่ดินของตนในภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงตั้งราคาขายไว้อย่างเกรงใจ ตารางวาละ ๓๕,๐๐๐ บาทแต่ถ้าผู้ซื้อต่อ ก็จะยอมลดให้จนเหลือ ๓๐,๐๐๐ บาท แต่จริง ๆ แล้วเขาต้องการราคาที่ ๓๕,๐๐๐ บาท เพราะเป็นราคาที่ได้กำไรพอสมควร เพียงเพราะตลาดการซื้อขายที่ดินซบเซามากจึงตั้งใจเผื่อต่อไว้
เมื่อเขาได้ประกาศขายแล้ว วันหนึ่ง มีคนเข้ามาหาเขา ขอให้พาไปดูที่ ครั้นดูที่กันแล้ว ก็มานั่งเจรจาเพื่อตกลงราคากัน เจ้าของที่ดินได้สำรวมจิตเข้าสมาธิ จนจิตว่างในชั่วประมาณ ๑ นาที ก็มีญาณรู้ว่า หากเขายืนราคา ๓๕,๐๐๐ บาทต่อตารางวา ก็จะสามารถขายได้ เขาจึงยืนยันราคา ๓๕,๐๐๐ บาท โดยไม่ยอมลด และในที่สุดเขาก็สามารถขายได้ในราคานั้นจริง ๆ
นี่เป็นตัวอย่างของการใช้ปัญญา อันเกิดจากสมาธิให้เป็นประโยชน์ บุคคลทั่วไปก็มักเคยมีประสบการณ์ในเรื่องทำนองนี้อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่มักปรากฏในรูปของลางสังหรณ์ ลางสังหรณ์นั้นมีปัญญาญาณบ้าง แต่เลือนลางมาก ต้องเพิ่มพูนสมาธิให้มากขึ้น ปัญญาญาณก็จะแจ่มชัดขึ้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง
ดังนั้น ปัญญาจึงเสมือนแสงสว่างที่ส่องให้เห็นความเป็นจริง แสงแห่งปัญญานี้ กระจ่างกว่าแสงแดด ในขณะที่แสงแดดส่องให้เห็นได้แค่ปรากฏการณ์ แต่แสงแห่งปัญญานั้น ส่องให้เห็นได้ถึงกฎเกณฑ์และกลไกของสิ่งทั้งปวง
เมื่อพัฒนาสมาธิมั่นคงดีแล้ว จิตจะทรงตัวยอดเยี่ยม ก็น้อมจิตอันเป็นสมาธินั้น พิจารณาธรรมชาติทั้งโดยปรากฏการณ์ กฎเกณฑ์ กลไก และคุณค่า แล้วพิจารณาธรรมบริสุทธิ์ ที่อยู่เหนือธรรมชาติและวิ๔สู่ธรรมบริสุทธิ์นั้น แล้วดำเนินจิตสู่ความบริสุทธิ์นั้น เมื่อจิตบริสุทธิ์ก็จะเข้าใจทุกสิ่งที่ควรเข้าใจได้อย่างปรุโปร่ง
พลังปัญญานั้นมีอานุภาพยิ่งนัก พอจะประมาณโดยสังเขปได้ดังนี้

๑. มีอานุภาพส่องสว่างให้รู้และเห็นความเป็นจริงและวิธีที่จะบริหารความเป็นจริงให้เอื้อต่อประโยชน์สูงสุด
๒. มีอานุภาพเหนี่ยวนำให้ซึมซาบความบริสุทธิ์โดยลำดับ
๓. มีอานุภาพสร้างความสุขอันไร้ขอบเขต
๔. มีอานุภาพปลดปล่อยจิตให้เป็นอิสระ


เมื่อจิตเป็นอิสระด้วยการปลดปล่อยโดยปัญญาความไม่รู้อันหนักอึ้ง อันเป็นเหตุแห่งความผิดพลาดและเหน็ดเหนื่อยอันตรธานไปแล้ว จิตก็จะบรรลุความเบิกบาน บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว มากน้อยตามกำลังปัญญาที่บังเกิด และตามการขาดสูญไปของพันธนาการทางใจ
เมื่อปัญญาสมบูรณ์ขึ้น การจะประกอบกิจการใดให้สำเร็จนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเลย ที่ยากกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะปัญญายังไม่สมบูรณ์ เมื่อปัญญาสมบูรณ์แล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล
นี่คือ การใช้พลังอันดีงามสร้างความสำเร็จแก่ชีวิตและกิจการงานทั้งปวง
แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ อุปสรรคในการใช้พลังอันดีงามเหล่านี้ ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้จะออกมาในรูปของอารมณ์แห่งใจที่คอยทำลายพลังในตน ดังนั้นจึงควรต้องระวัง กำราบ และขจัดอุปสรรคที่บั่นทอนพลังอันดีงามออกไปให้สิ้น อุปสรรคดังกล่าวนั้นคือ

๑. ความละโมบ
๒. ความคิดร้ายต่อผู้อื่นหรือตนเอง
๓. ความหลงใหล
๔. ความถือตัว
๕. ความเข้าใจผิด
๖. ความสงสัย ลังเล
๗. ความท้อแท้ หดหู่
๘. ความฟุ้งซ่าน
๙. ความไม่ละอาย
๑๐. ความไม่เกรงกลัวบาปภัย
เมื่อคอยขจัดอุปสรรคที่คอยบั่นทอนพลังอันดีงามนี้ออกไปได้แล้ว ก็จะสามารถใช้พลังอันดีงามที่เพียรสร้างสมมาได้เต็มที่ เพื่อความสำเร็จตามปรารถนา

โดย ดร. ไชย ณ พล
พิมพ์เป็นบรรณาการโดย
พล.ต.ต.สถาพร – วิไล วิมุตตานนท์
สุวิทย์ – ศศินา วิมุตตานนท์
และสมาชิกครอบครัว เวิลด์ คลาส ไลฟ์

ที่มา
//dharma-gateway.com/ubasok/chai-na-pol/chai-na-pol-07.htm


Create Date : 16 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2551 11:53:13 น. 3 comments
Counter : 822 Pageviews.

 
แวะมาอ่านสาระดีขอบคุณที่ไปเยี่ยมที่บล็อกนะค่ะ


โดย: kobnon วันที่: 18 พฤศจิกายน 2551 เวลา:19:28:49 น.  

 
บทความนี้ดีมากเลยค่ะ

ขอบคุณที่นำมาฝากกันนะคะ


โดย: นางฟ้าของชาลี วันที่: 22 พฤศจิกายน 2551 เวลา:4:21:35 น.  

 
ดรีมทีม


โดย: ดรีมทีม (mlmboy ) วันที่: 27 พฤศจิกายน 2551 เวลา:2:43:41 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.