Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2553
 
20 กุมภาพันธ์ 2553
 
All Blogs
 
ระงับความเศร้าโศกถึงคนตาย



พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภ กฎุมพีคนหนึ่ง ผู้ที่บิดาตายไป
จึงตรัสคำเริ่มต้นนี้ว่า กึ นุ อุมฺมตฺตรูโปว ดังนี้.

ได้ยินว่า ในกรุงสาวัตถี บิดาของกฏุมพีคนหนึ่งได้ตายไป เพราะบิดาตายไปเขาจึงเศร้าโศก ร้อนรุ่มกลุ้มใจ
เที่ยวร้องไห้เหมือนคนบ้า ถามผู้ที่ตนพบเห็นว่า ท่านเห็นบิดาของฉันบ้างไหม ?
ใครๆ ไม่อาจจะบรรเทาความเศร้าโศกของเขาได้
แต่อุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลยังโพลงอยู่ในหทัยของเขา เหมือนประทีปที่โพลงอยู่ในหม้อ

ในเวลาเช้ามืด พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลก ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของเธอ ทรงพระดำริว่า
เราควรจะนำเหตุที่เป็นอดีตของกุฏุมพีนี้มา แล้วระงับความเศร้าโศก ให้โสดาปัตติผลแก่เธอ ดังนี้แล้ว
วันรุ่งขึ้น จึงกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตร ไม่ได้พาใครเป็นปัจฉาสมณะไป
(คือเสด็จไปพระองค์เดียว - ธัมมโชติ) ไปยังประตูเรือนของกฏุมพีนั้น

เขาได้ทราบว่าพระศาสดาเสด็จมา จึงต้อนรับ นิมนต์พระศาสดาให้เสด็จเข้าไปยังเรือน
เมื่อพระศาสดา ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาบรรจงจัดไว้ ตนเองก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง จึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงทราบสถานที่ที่บิดาของข้าพระองค์ไปแล้วหรือ ?

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า ดูก่อนอุบาสก เธอถามถึงบิดาในอัตตภาพนี้หรือ
หรือว่าในอัตตภาพที่ล่วงไปแล้ว (คือบิดาในชาตินี้ หรือว่าบิดาในชาติก่อนๆ - ธัมมโชติ)

เขาได้ฟังดังนั้น จึงคิดว่า ได้ยินว่าเรามีบิดามาก
ดังนี้ จึงมีความเศร้าโศกเบาบาง ได้รับความเศร้าโศกเพียงปานกลาง

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสธรรมกถาอันเป็นเครื่องบรรเทาความเศร้าโศกแก่เขา
ทรงทราบว่าเขาปราศจากความเศร้าโศก มีจิตสมควร จึงให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ด้วยสามุกังสิกธรรมเทศนา
(คือเทศนาเรื่องอริยสัจ ๔ จนบรรลุเป็นโสดาบัน - ธัมมโชติ) แล้วได้เสด็จไปยังพระวิหาร

ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในธรรมสภาว่า อาวุโส ท่านทั้งหลาย จงดูพุทธานุภาพเถิด
อุบาสกผู้เพียบพร้อมด้วยความเศร้าโศก และร่ำไรเช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ยังทรงแนะนำในโสดาปัตติผลโดยขณะนั้นนั่นเองได้

พระศาสดาเสด็จไปในที่นั้น ประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่เขาบรรจงจัดไว้แล้ว จึงตรัสถามว่า
ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ?
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลความนั้น แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่
ที่เรากำจัดความเศร้าโศกของกฏุมพีนี้ออกไป แม้ถึงในกาลก่อน ก็ได้กำจัดออกไปเหมือนกัน
ดังนี้แล้ว อันภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตมาว่า :-

ในอดีตกาล ในกรุงพาราณสี บิดาของคฤหบดีคนหนึ่งได้ตายไป
เพราะบิดาตายไป เขาจึงเพียบพร้อมไปด้วยความเศร้าโศก มีหน้านองไปด้วยน้ำตา นัยน์ตาแดง
คร่ำครวญอยู่ เดินเวียนขวาเชิงตะกอน

บุตรของเขาชื่อว่าสุชาตะ ยังเป็นเด็ก แต่เป็นคนฉลาดเฉียบแหลม สมบูรณ์ด้วยปัญญา
จึงคิดหาอุบายเครื่องกำจัดความเศร้าโศกของบิดา วันหนึ่งเห็นโคตัวหนึ่งตายภายนอกเมือง
แล้วนำเอาหญ้าและน้ำมาวางไว้ข้างหน้าของโคที่ตายแล้วนั้น
พลางยืนกล่าวว่า เอาจงกิน จงกินเสีย จงดื่ม จงดื่มเถิด

คนผ่านไปผ่านมาเห็นเข้าจึงกล่าวว่า สหายสุชาตะ ท่านเป็นบ้าไปแล้วหรือ
ที่ท่านน้อมนำหญ้าและน้ำไปให้โคที่ตายแล้ว เขาไม่ได้โต้ตอบอะไรๆ พวกมนุษย์จึงพากันไปหาบิดาของเขา
แล้วกล่าวว่า บุตรของท่านเป็นบ้าไปเสียแล้ว เอาหญ้าและน้ำให้โคที่ตายกิน

ก็เพราะได้ฟังดังนั้น กฏุมพีก็คลายความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเพราะปรารภถึงบิดา เขาถึงความสลดใจว่า
ได้ยินว่า บุตรของเรากลายเป็นคนบ้าไป จึงรีบไป พลางท้วงว่า นี่แน่พ่อสุชาตะ เจ้าเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม
สมบูรณ์ด้วยปัญญามิใช่หรือ แต่เหตุไฉน เจ้าจึงเอาหญ้าและน้ำให้โคที่ตายกิน จึงกล่าว ๒ คาถาว่า :-

เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือ จึงเกี่ยวหญ้าที่เขียวสด
แล้วบังคับโคแก่ที่เป็นสัตว์ตายแล้วว่า จงกิน จงกิน
อันโคตายแล้ว ย่อมไม่ลุกขึ้นกินหญ้าและน้ำมิใช่หรือ
เจ้าเป็นทั้งคนพาล ทั้งเป็นคนทรามปัญญา
เหมือนคนอื่นที่มีปัญญาทราม ฉะนั้น.

สุชาตกุมารได้ฟังดังนั้น เมื่อจะประกาศความประสงค์ของตน เพื่อให้บิดายินยอม จึงได้กล่าว ๒ คาถาว่า :-

โคตัวนี้ยังมีเท้าทั้ง ๔ ข้าง มีศีรษะ มีตัว
พร้อมทั้งหาง นัยน์ตา ก็มีอยู่ตามเดิม
ข้าพเจ้าคิดว่า โคตัวนี้จะพึงลุกขึ้นกินหญ้าสักวันหนึ่ง
ส่วน มือ เท้า กาย และศีรษะของคุณปู่ไม่ปรากฏ
แต่คุณพ่อมาร้องไห้ถึงกระดูกของปู่
ที่บรรจุไว้ในสถูปดิน จะไม่เป็นคนโง่ไปดอกหรือ

ความแห่งคาถานั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้ :
สังขารทั้งหลายมีความแตกไปเป็นธรรมดา ย่อมแตกไป ผู้รู้แจ้งในข้อนั้นจะมีความร่ำไรไปทำไม.

บิดาของพระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงคิดว่า บุตรของเราเป็นบัณฑิต ได้ทำกรรมนี้เพื่อให้เราเข้าใจ
เมื่อจะสรรเสริญบุตรว่า พ่อสุชาตเอ๋ย เราได้รู้แล้วว่า สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นธรรมดา
ตั้งแต่นี้ไป เราจะไม่เศร้าโศก คนมีปัญญาอันชื่อว่าสามารถขจัดความเศร้าโศกเสียได้ พึงเป็นเช่นกับเจ้านี่แหละ
จึงได้กล่าวคาถาว่า :-

เจ้าดับความกระวนกระวายทั้งปวง ของเราผู้เร่าร้อนอยู่ให้หาย
เหมือนบุคคลเอาน้ำดับไฟที่ราดด้วยน้ำมัน
ได้ถอนขึ้นแล้วหนอซึ่งลูกศรคือความเศร้าโศก อันเสียบหทัยของบิดา
บิดาผู้มีลูกศรอันถอนได้แล้ว เป็นผู้เย็น สงบแล้ว
ดูก่อนมาณพ ต่อไปนี้ บิดาจะไม่เศร้าโศก จะไม่ร้องไห้ เพราะฟังคำของเจ้า
ชนเหล่าใดที่มีปัญญา มีความอนุเคราะห์ต่อมารดาบิดา
ชนเหล่านั้นย่อมทำอย่างนี้ ย่อมยังมารดาบิดาให้หายจากความเศร้าโศก
เหมือนพ่อสุชาตะทำให้บิดาหายเศร้าโศก ฉะนั้น.

บิดาฟังคำของมาณพแล้ว เป็นผู้ปราศจากความโศก จึงสนานศีรษะ
(สนาน = การอาบน้ำ - ธัมมโชติ) บริโภคอาหาร ประกอบการงาน.


พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ อุรควรรคที่ ๑
อรรถกถาโคณเปตวัตถุที่ ๘


ผู้รวบรวม : ธัมมโชติ
ที่มา : //www.tmchote.0fees.net


Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2553 20:53:59 น. 0 comments
Counter : 1117 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.