Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 
26 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
สูตรมงคลชีวิต '3-4-6' 'คู่มือชาวพุทธ' 'สร้างสุข' ได้พอเพียง

สูตรมงคลชีวิต '3-4-6' 'คู่มือชาวพุทธ' 'สร้างสุข' ได้พอเพียง

เพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 พระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ อันเป็น “วันวิสาขบูชา”
วันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน
ซึ่งเกิดขึ้นตรงกันในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เวียนมาบรรจบอีกครั้งในเดือน พ.ค.นี้
ก็เป็นอีกวาระที่ชาวพุทธทั้งหลาย จะได้ร่วมกันทำกิจกรรมสืบสานพระพุทธศาสนา

ทั้งสงฆ์-ฆราวาส...ได้ร่วมกันประกอบพิธีอันเป็นกุศล
ได้ปฏิบัติตน...เพื่อประโยชน์สุขส่วนบุคคลและสังคม

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับฆราวาสพุทธศาสนิกชนทั่วไปนั้น
เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชาก็เป็นวาระสำคัญที่จะได้ “น้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์”
ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่างๆ กระทำการบูชาปูชนียวัตถุ
อันได้แก่ พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมา ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถ อย่างใดอย่างหนึ่ง

ข้อแนะนำการปฏิบัติของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
การบูชาก็กระทำด้วยเครื่องบูชา มีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น พร้อมทั้ง “สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย”
ด้วยบทสวดมนต์ตามลำดับคือ... สรรเสริญพระพุทธคุณ, สรรเสริญพระธรรมคุณ, สรรเสริญพระสังฆคุณ
จากนั้นก็จะกระทำประทักษิณ หรือ “เวียนเทียน” รอบพระธาตุเจดีย์หรือพระพุทธปฏิมาในพระอุโบสถ
ด้วยการเดินเวียนขวาสามรอบ
โดยรอบแรกจะสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ
รอบที่สองสรรเสริญพระธรรมคุณ
และรอบที่สามสรรเสริญพระสังฆคุณ เมื่อครบ 3 รอบแล้วจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์
หรือพระพุทธรูป ณ ที่บูชาอันควร เป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียน

นอกจากนี้ตามวัดต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีการแสดงพระธรรมเทศนา
ซึ่งปกติจะมีเทศน์ปฐมสมโพธิ เป็นเรื่องพระพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน
พิธีเริ่มตั้งแต่ประชุมฟังพระทำวัตรสวดมนต์ แล้วจึงฟังเทศน์

“วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะได้บำเพ็ญประโยชน์
และสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่อย่างถูกต้องตรงทาง เพื่อประโยชน์สุขของตนและผู้อื่นตลอดกาลนาน”

อย่างไรก็ดี หากจะโฟกัสเจาะจงถึง “สิ่งที่ควรยึดปฏิบัติเนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชา”
ก็เช่นเดียวกับสิ่งที่ควรยึดปฏิบัติใน “วันมาฆบูชา” วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์
หรือว่าที่จริงก็เป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรยึดปฏิบัติเป็นนิจ นั่นก็คือ “หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 วิธีการ 6” ดังนี้คือ.....

“หลักการ 3” ได้แก่...

1. ไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่ การงดเว้น การลด ละเลิก ทำบาปทั้งปวง
ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ทางแห่งความชั่วสิบประการ อันเป็นความชั่วทางกาย วาจา ใจ
ความชั่วทางกาย ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม
ความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ
ความชั่วทางใจ ได้แก่ การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม


2. ทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่าง
ซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี 10 อย่าง อันเป็นความดีทางกาย วาจา ใจ

ความดีทางกาย ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นมีแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
การไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
และการไม่ประพฤติผิดในกาม

การทำความดีทางวาจา ได้แก่ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อพูดแต่คำจริง
พูดคำอ่อนหวาน พูดคำให้เกิดความสามัคคี และพูดถูกกาลเทศะ

การทำความดีทางใจ ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่น มีแต่คิดเสียสละ
การไม่ผูกอาฆาตพยาบาท มีแต่คิดเมตตาและปรารถนาดี
และมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว


3. ทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส
ปราศจากสิ่งซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ มี 5 ประการ ได้แก่
1.ความพอใจในกาม
2.ความอาฆาตพยาบาท
3.ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน
4.ความฟุ้งซ่าน รำคาญ
และ 5.ความลังเลสงสัย เช่น สงสัยในการทำความดีความชั่ว ว่ามีผลจริงหรือไม่
วิธีการทำจิตให้ปฏิบัติสมถะผ่องใส ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการละบาปทั้งปวง
ด้วยการถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม และวิปัสสนาจนได้บรรลุอรหัตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง


“อุดมการณ์ 4” ได้แก่...
1. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ,
2. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวน หรือเบียดเบียนผู้อื่น,
3. ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ,
4. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
เกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8


“วิธีการ 6” ได้แก่...
1. ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือกล่าวโจมตีใคร,
2. ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น,
3. สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎกติกา กฎหมาย
รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม,

4. รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารหรือการใช้สอยสิ่งต่างๆ,
5. อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม,
6. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบ มีสุขภาพ คุณภาพ และประสิทธิภาพที่ดี


เหล่านี้คือ “ข้อควรปฏิบัติ” ในโอกาส “วันวิสาขบูชา”
และที่จริงคือข้อควรปฏิบัติในทุกๆ วันสำหรับชาวพุทธ แม้ทำได้แค่บางส่วนไม่ทั้งหมด...ก็ยังดี “มีประโยชน์”


ข้อมูลโดย : //www.dailynews.co.th
ที่มา : //www.dmh.go.th



Create Date : 26 พฤษภาคม 2553
Last Update : 26 พฤษภาคม 2553 20:30:04 น. 0 comments
Counter : 1287 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.