Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 
7 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 

งามอย่างแท้จริง

งามอย่างแท้จริง

คนเราจะสวยสดงดงาม แต่เพียงสรีระร่างกาย และเครื่องประดับนั้น ยังไม่เพียงพอ
ต้องงดงามทางด้านจิตใจด้วย

คำกล่าวที่ว่า “ ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง ” เป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง โดยปราศจากข้อสงสัย
ถ้าไม่เชื่อ ลองหลับตา นึกภาพของไก่ที่ถูกถอนขนวิ่งโทง ๆ นอกจากจะดูไม่สวยงามแล้ว ยังดูน่าเกลียดพิลึก
หรือดูแล้วกลายเป็นเรื่องน่าขบขัน หรือน่าสังเวช
ทั้งนี้ เพราะไก่นั้น มีขนเป็นอาภรณ์ปกปิดกาย และป้องกันอากาศร้อนและหนาว

มนุษย์เราก็เหมือนไก่ คือต้องมีเสื้อผ้าอาภรณ์ประดับกายเพื่อความงดงาม และปกปิดอวัยวะที่ไม่ควรเปิดเผย
อันเป็นที่ตั้งแห่งความละอาย และเสื้อผ้าอาภรณ์ ที่นำมาตกแต่งร่างกายนั้น
ยังเป็น เครื่องป้องกันความร้อนและหนาวได้อย่างดี ทำให้คนเราประกอบกิจการให้ลุล่วงไปได้
โดยไม่ต้องกังวลกับอากาศร้อนหนาว และการสัมผัสยุง มด แมลง ทั้งหลายที่จะมารบกวน

ดังนั้น มนุษย์เรา จึงแสวงหาเครื่องประดับตกแต่งกันอย่างสุดความสามารถ
มีเสื้อผ้าแล้วยังไม่พอ ต้องมีเครื่องประดับอย่างอื่นเข้ามาเสริม เช่น สร้อยคอ ต่างหู เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมี เครื่องบำรุงผิว ให้ดูงดงามตามยุค ตามสมัยแต่งแต้มสีสัน กันจนกลายเป็น แฟชั่นยอดนิยม

ที่กล่าวมานี้ เป็นการตกแต่งในทางร่างกายเท่านั้น แต่ไม่มีการตกแต่งทางจิตใจ
และ เครื่องประดับตกแต่งจิตใจ นั้นก็ไม่มีบริษัทห้างร้านใดผลิตออกมาขาย เพราะฉะนั้น ก็อยากจะบอกว่า
คนเราจะสวยสดงดงามแต่เพียงสรีระร่างกาย และเครื่องประดับนั้น ยังไม่เพียงพอ ต้องงดงามทางด้านจิตใจด้วย
การที่จิตใจจะงดงามนั้น ท่านกล่าวถึงธรรมะ ๒ ประการ ที่จะทำให้คนเรางดงามอย่างสมบูรณ์ นั่นคือ
๑. ขันติ – ความอดทน
๒. โสรัจจะ – ความสงบเสงี่ยม

ขันติ เป็นธรรมที่มีกล่าวไว้ ในที่หลายแห่ง ในโอวาทปาติโมกข์ ในมงคลสูตร แม้ในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ
หรือในบารมี ๑๐ ก็มีกล่าวเอาไว้ เพราะถือว่า เป็นธรรมสำคัญที่จะขาดไม่ได้
ใครจะปฏิบัติธรรมสูง เพียงใดก็ตาม ต้องมีความอดทนเป็นพื้นฐาน
และในชีวิตประจำวัน ยิ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคนเราต้องสมาคม สังคมกับคนรอบข้าง ซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี

ความอดทน จำแนกออกเป็น ๓ อย่างคือ

๑. อดทนต่อความยากลำบาก
ในการทำงานหรือประกอบกิจการ ในการดำเนินชีวิต ที่ต้องอดทนต่อสู้กับดินฟ้าอากาศที่ร้อนและหนาว เป็นต้น
จนนำพากิจการงานนั้น ๆ ให้ผ่านพ้นลุล่วงไปด้วยดี

๒. อดทนต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย
ทนต่อทุกขเวทนา ไม่โอดโอยร้องครวญครางให้เป็นที่น่ารำคาญคนอื่น
เช่น พยาบาลและหมอ หรือคนใกล้ชิด ที่ให้การดูแลรักษาทั้งไม่บ่นจู้จี้จุกจิกจนกลายเป็นคนเอาใจยาก
ก็จะเป็นความงาม ที่ไม่ต้องอาศัยอาภรณ์ใด ๆ มาประดับ เป็นความงดงามของจิต อย่างแท้จริง

ในทางตรงข้าม ถ้าคนเราประดับตกแต่งร่างกายสวยงาม ด้วยอาภรณ์อันมีค่า
แต่เวลาป่วยไข้แล้วไม่อดทนต่อทุกขเวทนา ส่งเสียงโอดครวญ ให้เกิดความรำคาญแก่ผู้รักษาพยาบาล
หรือผู้ใกล้ชิด เครื่องประดับตกต่างเหล่านั้นก็ไม่สามารถจะทำให้คนคนนั้นน่ารักยินดีได้เลย
เพราะความงดงามทางจิต คือความอดทนนั้น ไม่มีอยู่ในจิต
ซึ่งจะทำให้คน คนนั้นมีสภาพเหมือนเด็ก ๆ ที่ขาด การควบคุมตนเอง

๓. อดทนต่อความเจ็บใจ หรืออดทนต่อการกระทบกระทั่งทางจิตใจ
ในการอยู่รวมกันในสังคมของคนส่วนใหญ่ย่อมมีอยู่บ้างที่จะต้องมีการกระทบกระทั่งทางกาย ทางวาจา
เพราะคนในสังคมนั้น บางคนเป็นคนดี บางคนเป็นคนไม่ดี คนดีไม่จำเป็นต้องพูดถึง เพราะคนดีมีประโยชน์และ
ทำในสิ่งที่ดีที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่คนไม่ดีนี่สิก่อปัญหาความเดือดร้อนไม่สิ้นสุด
เพราะฉะนั้น เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับคนไม่ดี ต้องมีความอดทนอดกลั้นอย่างยิ่ง มิฉะนั้น
ตัวเราเองจะเป็นผู้ที่ทำอะไร ๆ ให้เสียมรรยาทในสังคม รวมทั้งความเป็นผู้มีชื่อเสียงไปในทางติดลบได้ง่าย ๆ

คนบางคนแต่งตัวดี ดูดีไปหมด แต่พอถูกคนกระแหนะกระแหนเท่านั้น ก็โกรธฉุนเฉียว อดกลั้นอารมณ์ไม่อยู่
แสดงอาการโกรธตอบทันที ชุดเสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องประดับต่าง ๆ ไม่ช่วยให้เกิดความงามขึ้นมาเลย

ครูบางคนลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ ก็เพราะทนกิริยาท่าทางของเด็กนักเรียนที่แสดงออกต่อครูไม่ได้
เพราะ ครูตั้งมาตรฐานตัวเองไว้ว่า เด็กทุกคนต้องเคารพครู แต่ครูมีความรู้สึกว่า เด็กไม่เคารพและมีท่าทีก้าวร้าว
ท้าทาย ครูอาจทำอะไรรุนแรงแกนักเรียน จนกลายเป็นผู้ร้ายของนักเรียนไปได้ในชั่วพริบตา
ความงดงามในความเป็นครู ในความเป็นผู้ให้ความรู้อบรมบ่มนิสัยที่ดีของเยาวชนก็จะหมดไป
เครื่องหมายความเป็นครู จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ กลบความดีที่เกิดขึ้นช้า ๆ และสั่งสมเป็นเวลานาน
แต่ความชั่วเกิดแผล็บเดียว ทำลายความดีไม่ให้เหลืออยู่เลย

อีกอย่างหนึ่ง ความอดทน ต้องแยกออกมาให้ชัดเจน ในการควบคุมตัวเอง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งยั่วยุที่ไม่ดี คือ
อดที่จะไม่โกรธตอบ หรืออดต่อการที่จะนำเข้ามาไว้ในใจ คือไม่นำเอาสิ่งที่ได้ยินได้เห็นที่ไม่ดีเข้ามาไว้ในใจเรา
แล้วก็ทน คือทนต่อการเจ็บใจ การเสียดแทงทางใจ ที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจเหล่านี้
หรือในบางครั้งเราพบเห็นสิ่งที่น่ายินดี น่ารักใคร่ แล้วเกิดอยากได้ เช่น เดินไปในห้างสรรพสินค้า
พบของที่ถูกใจมากมายอยากได้ไปหมด ก็ต้องใช้ความอด คืออดใจไว้ไม่ให้สิ่งที่เราอยากได้เข้าอยู่ในใจเรา
แล้วก็ทนที่จะต้องไม่มีสิ่งเหล่านั้นให้ได้ เราก็จะได้ไม่ต้องจ่ายเงินออกไป
เพราะ พอเราพ้นออกมาจากห้างสรรพสินค้าไม่นานเท่าไหร่ เราก็อาจลืมความอยากได้ไปแล้ว ใช่หรือไม่ ?

ความอดทนต่อการกล่าวร้ายป้ายสี การด่าว่าจากบุคคลอื่นนั้น
พระพุทธเจ้าทรงกระทำให้เป็นตัวอย่างมาแล้ว เรื่องของเรื่องมีว่า

พราหมณ์คนหนึ่งพบพระพุทธเจ้าทีไร แกก็จะด่าว่าพระพุทธเจ้าเสีย ๆ หาย ๆ อยู่ร่ำไป
เพราะโกรธที่พระพุทธเจ้าบวชน้องชายแก เพราะแกเป็นพราหมณ์ ไม่เลื่อมใสพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าเห็นว่าพราหมณ์ด่าว่าอยู่เสมอ ไม่เลิกราเสียที ก็เลยตรัสถามว่า
“ พราหมณ์ ในเรือนของท่านนั้น มีแขกมาเยือนหรือไม่ ?”
พราหมณ์ก็ตอบว่า “ ในเรือนของข้าพเจ้านั้นมีแขกมาเยือนเสมอ ”
จึงตรัสถามต่อไปอีกว่า “ เมื่อมีแขกมาเยือน ท่านต้อนรับอย่างไร ”
พราหมณ์ก็ตอบว่า “ ข้าพเจ้าก็ต้อนรับด้วยอามิสสิ่งของเครื่องบริโภคตามสมควรแก่ฐานะของแขกผู้มาเยือน ”
พระองค์จึงตรัสว่า
“ พราหมณ์ เมื่อแขกที่มาเยือนท่าน ไม่รับของต้อนรับจากท่าน สิ่งของเหล่านั้นจะตกเป็นของใคร ”
พราหมณ์ก็ตอบว่า “ ก็ตกเป็นของข้าพเจ้า ”
ดังนั้นจึงตรัสว่า “ พราหมณ์ การที่ท่านด่าเราทุกวัน ๆ เราไม่ได้รับเอาไว้ คำด่าเหล่านั้นจะตกเป็นของใครเล่า ?”
พราหมณ์เลยจำนนต่อพระดำรัส แล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนาแต่นั้นมา

เพราะฉะนั้น การอดทนก็คือ การไม่รับเอา หรือการที่ไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีนั้น มามีอำนาจอยู่เหนือใจตน
อย่าไปรับเอา เมื่อเราไม่รับสิ่งนั้นก็จะกลับไปหาเจ้าของนั่นเอง ทำใจให้สบาย ๆ

การที่เรามีความอดทนอดกลั้นเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่พอที่จะทำให้เป็นคนมีความงามอย่างแท้จริงได้
ต้องมีธรรมะอื่นเข้ามาร่วมเติมต่อ ธรรมะที่คู่กับขันติ ก็คือ โสรัจจะ ความสงบเสงี่ยม

ความสงบเสงี่ยมคือ ความที่มีจิตชื่นบาน ประณีต มีจิตที่ราบเรียบ ไม่ว่าจะเผชิญกับภาวะที่น่าพอใจรักใคร่
หรือภาวะที่ไม่น่าพอใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะไม่แสดงอาการให้ ผิดแผกไปจากเดิม

คนเรารู้จักอดทนอดกลั้น ไม่โกรธต่อผู้อื่นก็จริง แต่ในความอดทนนั้นอาจจะมีสีหน้าที่บึ้งตึ้ง
หรือสีหน้าที่แสดงความไม่พึงพอใจ ต่อเมื่อมีโสรัจจะ คือ ความแช่มชื่นเข้ามากำกับ
ก็จะทำให้ผู้นั้นมีความอดทนที่งดงามปรากฏแก่ผู้พบเห็น เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของผู้อื่น
โสรัจจะจึงทำหน้าที่เสริมความอดทนให้งดงามเด่นชัดขึ้น

ขันติ ความอดทน และโสรัจจะ ความสงบเสงี่ยมนี้ เป็นธรรมคู่กัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
เพราะมีทั้งสองอย่างอยู่ร่วมกัน จึงเป็นธรรม ที่จะทำให้บุคคลงดงาม อย่างแท้จริง
งามยิ่งกว่า อาภรณ์ทั้งปวงที่มีในท้องตลาด

บอกต่อ ๆ กันไปด้วยว่า ขันติและโสรัจจะนั้น ไม่มีใครทำขาย
ถ้าอยากได้ต้องทำเอง โรงงานก็อยู่ที่ใจท่านนั่นแหละ

จาก หนังสือธรรมลีลา
โดย ธมฺมจรถ




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2552
0 comments
Last Update : 7 มิถุนายน 2552 21:34:34 น.
Counter : 1026 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.