Apple has lost a visionary and creative genius, and the world has lost an amazing human being.

But his spirit will forever be the foundation of Apple. 6 October 2011

<<
กันยายน 2566
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
18 กันยายน 2566

จารึกวัดพระงาม : ทวารวตีวิภูติ (4)





ศรีทวารวดี ศรวรปุญย ที่ปรากฏบนเหรียญเงินที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับทวารวดี 
แต่ก็มีคนอ่านต่างกันเป็นสองความเห็น

พระเจ้าศรีทวารวดี ผู้มีบุญอันประเสริฐ หรือ
บุญของผู้เป็นใหญ่ แห่งทวารวดี

ซึ่งทั้งสองคำนี้มีความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง

คำแรกทวารวดีใช้ในความหมายถึง ชื่อกษัตริย์คือพระเจ้าศรีทวารวดี
ส่วนคำหลังทวารวดีใช้ในความหมายถึง ชื่อของรัฐคือศรีทวารวดี  
เพราะคำว่าศรี ที่แปลว่าดีนั้นสามารถใช้ได้ทั้งกับ เมืองหรือกษัตริย์ก็ได้
เช่น พระเจ้า
ศรียโสวรมัน เป็นผู้สถาปนาเมืองศรียโสธรปุระ

ส่วนคำว่า ศรวร-ปุญย นั้นค่อนข้างชัดว่าคือ บุญอันยิ่งใหญ่ 
แล้วศรีทวารวดีจากเหรียญเงินนี้ คือชื่อของกษัตริย์หรือชื่อแคว้น

20 ก.ค. 2566 นิตยสารศิลปะและวัฒนธรรมได้เผยแพร่บทความออนไลน์
ถึงการค้นพบเหรียญทองคำที่เมืองโบราณยะรัง เมื่อเดือน ธ.ค. 2565
ด้านหนึ่งเป็นรูปหม้อปูรณฆฎะ อีกด้านมีอักษรปัลลวะจารึกว่า 

ศฺรีลงฺกาโศเกศฺวรปุณฺย (ศรี - ลงกา - โศก - อีศวร - ปุญญะ)
 
แปลว่า 
บุญแห่งพระเจ้าโศกิศวรแห่งศรีลังกา
หรือ บุญกุศลของพระศรีลังกาโศเกศวร
นี่อาจเป็นหลักฐานของรัฐลังกาสุกะในตำนานหรือเปล่า
แต่ให้ข้อมูลเพิ่มว่า เหรียญเงินทวารวดีนั้น เป็นสิ่งที่ใช้ถวายแด่ศาสนสถาน
เพราะเหรียญที่เมืองโบราณยะรังนั้น เป็นทองคำที่มูลค่าสูงยิ่ง
ไม่ใช่เหรียญที่ชาวบ้านทั่วไป ใช้สำหรับการซื้อขาย

แล้วสรุปว่าจะแปลว่า ทวารวดีกับศรีลังกา เป็นชื่อแคว้นหรือไม่
เราได้สรุปไก่อนหน้าว่า จารึกวัดป่ามะม่วง บ่งชื้ว่า
พระปฐมเจดีย์คือเมืองพระกฤษณ์ ตรงกับชื่อทวารวดี
ที่พระกฤษณะเป็นผู้ปกครอง ดังนั้น เราจะตีความว่านี่คือชื่อแคว้น
 


แต่หากสนใจหลักฐานที่เป็นของบ้านเรา ก็จะพบว่ามีจารึกที่กล่าวถึง
ทวารวดีเพียงไม่กี่ชิ้น แต่นั่นก็ยิ่งทำให้มันสำคัญมาก จารึกวัดจันทิก
จังหวัดนครราชสีมา เป็นชิ้นส่วนจารึกฐานพระพุทธรูป อักษรปัลลวะ
ภาษาสันสกฤต อ่านได้ 2 บรรทัด ความว่า

พระเทวี  ...ได้คิดสร้างรูปอันเป็นคตินี
 
ต่อมาในราว พ.ศ. 2532 พบจารึกอีกชิ้นที่เข้ากันได้จากพิพิธภัณฑสถานพิมาย
ทำให้ได้ข้อความยาว 4 บรรทัด แต่บรรทัดที่ 1 นั้นเลือนหายไป
เหลือ 3 บรรทัด

สุตาทวารวตีประเต - มูรฺตฺติ มสฺถาปยทฺเทวี- นฺตาถาคตีมามุ
พระเทวีของเจ้าแห่งทวารวดีทรงให้พระธิดาสร้างรูปพระตถาคตนี้ไว้
 
แม้ไม่มีความรู้ทางภาษา แต่สิ่งที่ผมคิดต่างในการแปลความจารึก
ทวารวดีประเต ไม่น่าจะแปลว่า เจ้าแห่งทวารวดี 
เราไม่เคยพบคำนี้มาก่อน แต่หากไปดูชื่อหลายรัฐในอินเดียปัจจุบัน
ก็จะพบคำลงท้ายว่า Pradesh
 
หากคำว่าปะเต คือประเทศ
ทวารวดีย่อมมีฐานะเป็นรัฐหรือแคว้น
สุตาทวารวดีประเต ควรจะแปลว่า ธิดาแห่งแคว้นหรือรัฐทวารวดี
หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็อาจจะให้ภาพทวารวดีแจ่มชัดมากขึ้นว่า
 
เป็นรัฐที่มีกษัตริย์ปกครอง นับถือทั้งศาสนาพราหมณ์และพุทธ
ซึ่งอาจจะแยกกันระหว่างชนชั้นปกครองกับชาวบ้านก็ได้
มีขอบเขตของรัฐที่แน่ชัด ไกลสุดอย่างน้อยก็ถึงนครราชสีมา
แล้วถ้าในช่วงนั้นตรงกับที่พระเจ้าจิตรเสนรบเพื่อสร้างอาณาจักรเจนละ

นี่เป็นเหตุให้พระธิดาแห่งรัฐทวารวดีขึ้นมาสร้างพระพุทธรูปนี้ไว้หรือไม่

ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก สุโขทัย
พบพระพุทธรูปศิลปะแบบอู่ทอง กำหนดอายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 
มีจารึกที่ฐานว่า
ตนนี้ก่อพระเจ้าแม่เอินไว้ในบุรพารามนี้
เมื่อเชื่อมโยงไปยังจารึกวัดบุพาราม สุโขทัย ทำให้เป็นไปได้ว่า

เป็นสิ่งของถวายจากพระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์
จากราชวงศ์อู่ทอง ผู้เป็นพระมเหสีใน พระมหาธรรมราชาลิไท
ทำให้เห็นขนบโบราณ ที่ใช้การแต่งงานเชื่อมโยง
ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างราชวงศ์


 
ในรายงานการวิจัย  เรื่อง
จารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน
ซึ่งเป็นพระนามหลังการขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายจิตรเสน
โดย
อ. กังวล คัชชิมา กล่าวถึงจารึกที่พบใหม่ ในอำเภอวังน้ำเขียว
ซึ่งผู้พบอ้างว่า ขุดได้จากไร่ในที่ดินของตนเอง และนำมาเก็บไว้
 
หากเป็นเช่นนั้น นี่จะเป็นจารึกที่ระบุสถานที่ได้ไกลที่สุดของพระองค์
จากลุ่มแม่น้ำโขงมาตามลำน้ำมูล ลึกเข้ามาในภาคอีสานถึงนครราชสีมา
ซึ่งตรงนี้หากย้อนไปกลับที่
จารึกจันทิก ที่คาดว่าได้จากเมืองเสมา
บ้านเมืองที่เจ้าชายจิตรเสนรบชนะนั้น อาจเข้ามาบรรจบกับรัฐทวารวดี
 
เพื่อที่จะหาภาพการปะทะระหว่างอาณาจักรเจนละกับรัฐทวารวดี
เราจะกลับไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี
ที่นี่เก็บจารึกที่สำคัญชิ้นหนึ่งไว้
จารึกช่องสระแจง
พบที่บริเวณปราสาทเขาช่องสระแจง บ้านตาพระยา ในปัจจุบัน
 
เป็นจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมัน ความยาว 4 บรรทัด
แต่จารึกนี้ไม่ได้เป็นรูปสี่เหลี่ยมกลับสลักบนหินทรงโค้งคล้ายใบเสมา
รวมถึงเนื้อความนั้นไม่ได้กล่าวถึงชัยชนะ
หรือการสถาปนาศิวลึงค์เหมือนกับจารึกหลักอื่นๆ


พระเจ้าแผ่นดินองค์ใดปรากฏพระนามว่าศรีมเหนทรวรมัน
ทรงเป็นเหมือนพระอินทร์ผู้ยิ่งใหญ่
พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นได้ทรงขุดบ่อนํ้านี้
อันมีชื่อว่าบ่อนํ้าศังกร

ในขณะที่จารึกหลักอื่นของพระเจ้ามเหนทรวรมันเป็นทรงสี่เหลี่ยม 
จารึกแบบใบเสมาจึงอาจเป็นการผสมผสานความเชื่อกับพุทธทวารวดี

 

หลังพระเจ้ามเหนทรวรมันสร้างเจนละขึ้นมา
ในปีราว พ.ศ. 1159 ก็มีบันทึกของจีนกล่าวว่า
อีศานวรมันที่เป็นโอรสของมเหนทรวรมันส่งทูตไปเมืองจีน
และจีนได้บันทึกว่า อาณาจักรเจนละรบชนะอาณาจักรฟูนัน
และสร้างเมืองหลวงชื่ออีศานปุระ ปัจจุบันเชื่อว่าอยู่ที่ สมโบไพรกุก
 
ในปีที่บันทึกไว้ พ.ศ. 1159 อาจอนุมานได้ว่า
พระเจ้ามเหนทรวรมันสิ้นพระชนม์
หลังจากนั้นพระเจ้าอีศานปุระได้สานต่องานจากพระราชบิดา
ในการรวบรวมอาณาจักรและสถาปนาเมืองหลวงตามชื่อของพระองค์

จากนั้นก็มาถึงรัชกาลของพระเจ้าภววรมันที่ 2 จารึกอักษรปัลลวะ
ที่สามารถกำหนดอายุได้เก่าที่สุดของประเทศไทย พบที่สระแก้ว
คือ
จารึกเขารัง ระบุศักราช พ.ศ. 1180
และ
จารึกเขาน้อย ระบุศักราช พ.ศ. 1182

ในจารึกเขารังของพระเจ้าภววรมันที่ 2 กล่าวถึง
การถวายสิ่งของให้วิหารซึ่งเป็นคำเฉพาะที่ใช้กับวัด
ซึ่งอาจจะ
สัมพันธ์กับจารึกช่องสระแจงที่เป็นใบเสมา
ที่กล่าวไว้ก่อนหน้าว่า ที่นี่อาจจะเป็นเมืองพุทธหรือไม่
 
ในขณะที่จารึกเขาน้อยกล่าวขึ้นต้นการบูชาพระวิษณุ
ซึ่งเป็นขนบการเขียนจารึก สงครามที่อาจจะเป็นการชิงราชบัลลังค์
ลำดับญาติวงศ์ และจบลงด้วยการถวาย ทาสและสิ่งของ
แต่เนื้อหาที่น่าสนใจ อยู่ในบรรทัดที่ 4 และ 5
 

 จารึกเขารัง ภาพจาก 
https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/52 

การต่อสู้ของพระศรี - - วรมัน - - - - -  ราชสมบัติของเจ้าชาย -
 ต่อมาเชยษฐปุรสวามี  ในกรรมสิทธิ์ที่รักษาของเชยษฐปุระอีก
 
ปรกติชื่อกษัตริย์ต้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
เมื่อเข้าไปดูตัวสำเนาจารึก ดูเหมือนว่าตรงที่ควรจะเป็น ศรีภววรมัน
ถูกขีดฆ่าอย่างตั้งใจ รวมถึงอีกหลายแห่งตรงด้านใต้ด้วย

เป็นไปได้ว่า จารึกนั้นเป็นการกัลปนาที่ดินถวายเทวสถาน
ซึ่งเมื่ออำนาจรัฐเดิมนั้นเสื่อมลง ก็มีใครสักคนต้องการพื้นที่นั้น
จึงขีดฆ่าชื่อผู้ออกโองการ แนวเขต หรือคำสาปแช่งออกไป

แต่เนื้อหาจารึกที่เหลือไว้ ก็มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่หลายอย่าง 
 

หนึ่ง ดูเหมือนพระเจ้าภววรมันที่ 2 จะชิงราชสมบัติมา
สอง สระแก้วน่าจะเริ่มเป็นที่มั่นสำคัญของอาณาจักรเจนละ
สาม เชษยฐปุระอาจเป็นชื่อเดิมของเมืองสระแก้ว
สี่ คำขึ้นต้นเป็นการบูชาเทพเจ้า ในกรณีนี้เป็นพระวิษณุ

ซึ่งไม่เหมือนกับจารึกสมัยพระเจ้ามหเหนทรวรมันซึ่งบูชาพระศิวะ 

ห้า เนื้อหาส่วนถัดไปที่เขียนด้วยภาษาเขมรไม่ใช่สันสกฤต
หก คำศัพท์และรายชื่อทาสบางแห่งที่ดูจะเป็นภาษามอญ
 
จารึกทั้งสามชิ้นจึงอาจจะเป็นหลักฐานว่า
สถานที่นี้เดิมตรงนี้อาจจะเป็นพื้นที่ของชาวมอญที่นับถือพุทธศาสนา
ก่อนที่จะถูกพระเจ้าจิตรเสนแห่งเจนละเข้ามารุกราน

แต่มีการประนีประนอมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งกว่า
บ้านเมืองตามลำน้ำมูล ที่พระเจ้าจิตรเสนเคยรุกเข้าไป
จนยอมที่จะสร้างจารึกแบบใบเสมา ไม่ใช่แบบเสาสี่เหลี่ยม
 และไม่มีกล่าวถึงการสถาปนาศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษ์ของไศวนิกาย

ก่อนที่พื้นที่นี้จะถูกปกครองอย่างชัดเจน ในสมัยพระเจ้าภววรมันที่ 2
ตามที่ปรากฏเนื้อหา ในจารึกเขารังและจารึกเขาน้อย
รวมถึงการสถาปนาปราสาทในลัทธิไศวนิกายขึ้นไว้ที่นี่ด้วย




 

Create Date : 18 กันยายน 2566
2 comments
Last Update : 23 เมษายน 2568 16:35:27 น.
Counter : 1198 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณtuk-tuk@korat, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณหอมกร, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณhaiku, คุณnewyorknurse

 

จันทึกอยู่ฝั่งตะวันตกของเขื่อนลำตะคอง
ถ้าคิดว่าตอนนั้นไม่มีเขื่อน ก็อยู่ฝั่งตะวันตกของลำตะคองเหนือปากช่อง
ไม่ไกลจากเมืองเสมาเท่าไร
แถวหลังวัดสรพงษ์(สีคิ้ว) ก็เคยพบฐานแบบขอม น่าจะมีจารึก หรือเทวรูป จำไม่ได้แน่ ด้วยค่ะ

 

โดย: tuk-tuk@korat 18 กันยายน 2566 14:20:10 น.  

 

โบราณคดีหนีไม่พ้นคำว่าข้อสันนิษฐานจ้า

 

โดย: หอมกร 18 กันยายน 2566 18:28:13 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]




[Add ผู้ชายในสายลมหนาว's blog to your web]