|
 |
| 1 | 2 | 3 | 4 |
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
 |
30 มีนาคม 2560
|
|
|
|
ปริศนาบนศิลาที่หลับใหล : การส่งคืนเทวรูปกลับคืนสู่กัมพูชา
พ.ศ. 2559 มีข่าวดังทางหน้าหนังสือพิมพ์ถึงเรื่องการทวงคืนเทวรูปสำริด จากอำเภอประโคนชัย ในห้วงเวลาเดียวกัมพูชาก็ได้รับมอบเทวรูปคืน จากพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งหมดได้มาจากปราสาทเจิน ปราสาทที่ถูกทิ้งร้าง แต่กลับมีประติมากรรมหินทรายอันน่าสนใจยิ่ง

กัมพูชาจัดพิธีสมโภชฉลองการได้เทวรูปโบราณ 3 องค์ ที่ถูกโจรกรรมไปจากประเทศเมื่อกว่า 40 ปีก่อนกลับมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งรวมทั้งองค์หนึ่งที่ได้มาหลังจากการต่อสู้ทางกฎหมายที่ยาวนานในสหรัฐ
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า เทวรูปศิลปะหินทรายยุคศตวรรษที่ 10 ถูกโจรกรรมไป จากวัดเกาะแกร์ใกล้นครวัดอันเลื่องชื่อของกัมพูชาในช่วงทศวรรษที่ 1970 เทวรูปหินทรายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเทวรูปสลักนักรบทุรยุทธานา และ ภีมะจำนวน 9 องค์ถูกส่งคืนจากสหรัฐเมื่อไม่นานมานี้
และได้รับการพิจารณาว่าเป็นสมบัติล้ำค่าของประชาชนกัมพูชา และเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของกัมพูชา

นายโสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวระหว่างพิธีสมโภชเทวรูปว่า ในการเดินทางที่ยาวไกล 40 ปี รอดพ้นจากสงครามกลางเมือง การโจรกรรมการลักลอบไปขาย และการเดินทางรอบโลก ขณะนี้ เทวรูปทั้ง 3 องค์นี้ ได้รับอิสรภาพแล้ว อย่างไรก็ตาม กัมพูชาจะยังคงตามหาเทวรูปอีก 3 องค์จากเกาะแกร์ที่ยังคงสูญหายอยู่ต่อไป
ทั้งนี้ เทวรูปทุรยุทธานาถูกขโมยไปจากปราสาทเจนวัดเกาะแกร์ ในปี 2515 และถูกนำออกประมูลครั้งแรกในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษในปี 2518 ต่อมารูปสลักหินโบราณชิ้นนี้ถูกนำกลับมาประมูลที่โซเธอบีส์ในนิวยอร์ก เมื่อเดือน มี.ค.2554 แต่การประมูลครั้งนี้ต้องหยุดลงหลังทางการกัมพูชา ยื่นเรื่องผ่านองค์การยูเนสโก
หลังจากข่าวนี้ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2559 พิพิธภัณฑ์เดนเวอร์ สหรัฐอเมริกา ก้ได้คืนส่วนลำตัวของเทวรูปพระราม และพิพิธภัณฑ์เคฟแลนด์ได้คืนหนุมาน ทำให้ปัจจุบันกัมพูชาได้รับเทวรูปจากเกาะแกร์คืนมาทั้งหมด 7 องค์ คำถามคือ ทำไมเทวรูปจากเรื่องรามายณะถึงมาปะปนกับมหาภารตะ
เราจะย้อนกลับไปที่ปราสาทหลังนี้อีกครั้ง

ปี 2550 นักโบราณคดีเยอรมันใน GCAP team ได้สำรวจปราสาทเจิน แล้วพบส่วนฐานของเทวรูปตกอยู่ที่โคปุระตะวันตก เมื่อไปเปิดหนังสือภาพที่รวมไว้โดย Bunker และ Latchford ในปี 2004 เชื่อว่าฐานนี้น่าจะเข้ากันได้พอดีกับเทวรูปภีมะของพิพิธภัณฑ์ Norton Simon ตั้งอยู่ที่เมือง Pasadena ซึ่งรับซื้อรูปปั้นนี้มาตั้งแต่ปี 2523 เค้าจึงส่งจดหมายแจ้งไปยังองค์การยูเนสโก เรื่องนี้ได้เงียบหายไป
ปี 2552 Bourdonneau นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสแห่งสำนักปลายบูรพทิศ มาสำรวจปราสาทเจินเช่นกัน และก็ได้เห็นฐานหินชิ้นเดียวกับชาวเยอรมัน ที่ตอนนี้นักโนราณคดีเชื่อว่าเป็นชิ้นส่วนของเทวรูปภีมะที่พิพิธภัณฑ์ไซม่อน นอกจากนี้ยังมีอีกชิ้นที่ตกอยู่ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นชิ้นส่วนฐานของรูปสลักใด

ปี 2553 Bourdonneau ได้ไปนำเสนองานวิชาการที่พิพิธภัณฑ์กีเม่ต์ กับฐานหินปริศนาที่เค้ายังไม่ทราบว่าเป็นของรูปสลักใด ผู้เข้าร่วมประชุมได้นำรูปสลักทุรโยชน์มาให้ดูว่าน่าจะต่อเข้าด้วยกันได้ ซึ่งในตอนนั้นอยู่ในการครอบครองของสถาบัน Sortheby’s
มีนาคม 2554 สถาบัน Sortheby’s เมือง New York กำลังนำรูปสลักทุรโยชน์ ออกมาประมูล ใน Asia week catalogue ผู้สะสมคนหนึ่งได้บอกกับ Bourdonneau ว่า มันเป็นรูปสลักในศิลปะเกาะแกร์ เค้ารีบทำบันทึกถึงยูเนสโกที่กรุงพนมเปญ เพื่อให้กัมพูชายื่นเรื่องเพื่อคัดค้าน กระทรวงการวัฒนธรรมรับไปดำเนินการต่ออย่างรวดเร็ว
รัฐบาลกัมพูชาได้ทำหนังสือขอให้สถาบันดังกล่าวส่งรูปสลักคืน ทำให้การประมูลต้องยุติไป ศาลประจำรัฐนิวยอร์กได้ส่งเจ้าหน้าที่มาเพื่อสอบหาหลักฐานถึงที่มา 13 ธ.ค. 2556 ศาลได้ตัดสินให้สถาบันประมูล ต้องคืนชิ้นงานดังกล่าว
--------------------
แต่ในโคปุระทิศตะวันตกที่ปราสาทเจินยังพบชิ้นส่วนฐานอีก 3 ชิ้น ที่เข้ากันได้กับเทวรูปพี่น้องปาณฑพ (Pandava) 2 คน ที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art เมืองนิวยอร์ก และรูปสลักพลราม (Balarama) ของสถาบันประมูล Christie’s
การฟ้องร้องต่อศาล ทำให้ MET ส่งคืนรูปสลัก 2 พี่น้องปาณฑพ ให้รัฐบาลกัมพูชาในเดือนมีนาคม 2556 และสถาบันคริสตี้ได้ส่ง รูปพระพลรามคืนมาในเดือนพฤษภาคม 2557 อย่างสมัครใจ 1 ตุลาคม 2557 รูปสลักทั้งหมดถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์กรุงพนมเปญ

11 พ.ค. 2558 Cleveland Museaum of Art รัฐ Ohio ได้ส่งคืนรูปสลักหนุมานคืนแก่กัมพูชาโดยสมัครใจ โดยสถาบันได้ซื้อชิ้นส่วนที่แตกหักจากประเทศไทยในปี 2511 และ 2515 28 มี.ค. 2559 Denver Art museum ได้ส่งส่วนลำตัวของของพระราม ซึ่งพิพิธภัณฑ์ได้มาเมื่อ พ.ศ. 2529 คืนให้รัฐบาลกัมพูชาโดยสมัครใจ
สรุปถึงตรงนี้ รัฐบาลกัมพูชาได้รูปสลักคืนมาแล้ว 7 ชิ้น แบ่งเป็นของที่เคยตั้งอยู่ที่โคปุระทิศตะวันออกจากเรื่องรามายณะ 2 ชิ้น ได้แก่พระรามและหนุมาน และของที่เคยตั้งอยู่ที่โคปุระทิศตะวันตก จากเรื่องมหาภารตะ 5 ชิ้น ได้แก่ ภีมะ ทุรโยชน์ พลราม สองพี่น้องฝาแฝด
คำถามสำคัญคือ เคยมีรูปสลักกี่ชิ้นที่เคยตั้งอยู่ที่ปราสาทเจินแห่งนี้

Bourdonneau แห่งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ EFEO ได้พบหน้าบัน จากปราสาทบันทายศรีสลักเรื่องเดียวกันนี้เก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กรุงพนมเปญ ภาพทุรโยชน์กำลังโจมตีภีมะ โดยมีพี่น้องปาณฑพสี่คนเผ้ามอง บวกกับร่องรอยของชิ้นส่วนรูปสลักที่ยังคงตั้งอยู่ที่ปราสาทเจิน 9 ชิ้น ทำให้ได้ภาพสันนิษฐานออกมาเป็น 3D ดังรูป

ดังนั้นภาพสลักที่น่าจะเคยมีอยู่จากซ้ายบนคือ เทวรูปสีกรคือพระกฤษณะ เทวรูปนั่งเอามือวางที่ตักคือพลราม รูปสลักสุดท้ายน่าจะเป็นยุธิษฐิระ เพราะมีท่านั่งเหมือนกับพี่น้องปาณฑฑตรงกลางลานคือภีมะและทุรโยชน์
ฝั่งขวาเป็นเทวรูปนั่งเอามือกอดไหล่ควรเป็นพี่น้องปาณฑพที่เหลือ 3 คน อรชุน และฝาแผด นกุล สหเทพ ทำให้เทวรูปฝั่งซ้ายควรเป็นฝ่ายเการพ การดวลครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ 18 อันเป็นวันสุดท้ายในสงคราม แม่ทัพที่สำคัญคือ ท้าวภีษมะและกรรณะได้จบชีวิตลงไปก่อนหน้านี้แล้ว
คนที่เหลือรอดของฝ่ายเการพคืออัศวถามา ซึ่งจะถูกพระกฤษณะสาปให้ต้องเดินเป็นคนเร่ร่อนไปอีก 3000 ปี
--------------
กลับมาที่เทวรูปพระรามและหนุมานที่รัฐบาลกัมพูชาได้คืนมาเช่นกัน จากฐานหินที่หลงเหลือนักวิชาการเชื่อว่าอยู่ที่โคปุระทิศตะวันออก ครั้งแรกที่กล่าวว่าเป็นหนุมานผมนึกถึงตอนยอดนิยมคือ พาลีรบกับสุครีพซึ่งเกี่ยวข้องกับพระรามตรงที่พระรามจะสังหารพาลี แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง ฐานหินจะต้องเป็นเท้าของลิงคู่ที่กำลังต่อสู้กัน
ดังนั้นหากเป็นลิงนั่งเดี่ยวๆ เช่นนี้ก็คงเป็นอย่างเช่นที่หนังสือพิมพ์ว่า คือพระรามและหนุมาน ที่เดิมตั้งอยู่ในซุ้มโคปุระทางทิศตะวันออก ดูแล้วน่าอัศจรรย์ใจมากที่ปราสาทหลังเล็กขนาดไม่เกิน 20*20 ม. นี้ จะมีรูปสลักที่ถอดมาจากเรื่องมหาภารตะและรามยณะเคยตั้งบูชาอยู่

คำถามสำคัญ นอกจากเทวรูปที่ยังหายไปจากโคปุระตะวันตก ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าก็คงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วยังมีอะไรอีก ไม่มีบทความใดกล่าวถึง แต่ผมอยากจะสะกิดให้คิดว่า มีแต่การพูดถึงเทวรูปที่โคปุระ แล้วปรางค์อีกสามหลังล่ะมีอะไร
เดาได้ง่ายว่าต้องเป็นเทวรูปพระศิวะ ด้านข้างอาจะเป็นพระลักษมี ผมเชื่อว่าเทวรูปเหล่านี้อยู่ที่กีเมต์ โดยไม่มีหลักฐานว่ามาจากที่ใด และถึงจะบอกว่ามาจากปราสาทหลังนี้ กัมพูชาก็ทวงกลับมาไม่ได้อยู่ดี เพราะอยู่ในช่วงเป็นอาณานิคม ถือว่าเป็นการเคลื่อนย้ายอย่างถูกกฏหมาย
แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น หลังจากอ่านเรื่องปราสาทเทวรูปที่พลัดพราก ไปจากปราสาทเจิน สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศก็ได้ทำรูป 3D ที่เชื่อว่าประกอบขึ้นมาจากซากสลักหักพังตกอยู่ที่ปราสาทกรอฮอม ผมว่าดูน่าสนใจไม่แพ้การดวลระหว่างภีมะและทุรโยชน์เลยทีเดียว
--------------------------------
7/8/2560
ไปเจอบทความหนึ่งซึ่งเล่าเกี่ยวกับ เรื่องราวมหากาพย์มหาภารตะ ทำให้ทราบว่า รูปปั้นนี้มีที่มาอย่างไร ผมขอนำมาลงไว้เป็นความรู้ตรงนี้
เมื่อสงครามกำลังก่อตัว ฝ่ายเการพและปาณฑพต่างประสงค์ตัวพระกฤษณะ ให้มาร่วมช่วยเหลือกองทัพฝ่ายตน จึงส่งตัวแทนไปเข้าเฝ้าพระกฤษณะ ปาณฑพส่งอรชุนไป ส่วนฝ่ายเการพทุรโยธน์ไปถึงกรุงทวารกาก่อนแล้ว เมื่อไปถึงปรากฏว่าพระกฤษณะบรรทมหลับอยู่ ทุรโยธน์จึงเข้าไปนั่งที่เก้าอี้
ใกล้แท่นบรรทมตรงเหนือหัวพระกฤษณะ อรชุนนั่งลงพื้นตรงใกล้ปลายเท้า เมื่อพระกฤษณทราบว่าการมาของทั้งสองคนว่าต่างประสงค์ในสิ่งเดียวกัน เพื่อความเป็นธรรมกฤษณะให้ทั้งสองฝ่ายองค์เลือกระหว่าง ตัวพระกฤษณะเอง แต่มีข้อแม้ว่าจะไม่จับอาวุธ กับ องทัพของพระองค์อันเกรียงไกรที่ชื่อ นารายัน
โดยให้สิทธิ์ฝ่ายปาณพพเลือกก่อน เพราะพระองค์ลืมตาขึ้นมาเห็นจึงเห็นอรชุนก่อน อรชุนเลือกพระกฤษณะที่ไม่จับอาวุธ ทุรโยธน์จึงได้กองทัพของกรุงทวารกาไป
ช่วงปลายสงครามฝ่ายเการพเพลี่ยงพล้ำจนเกือบพ่ายแพ้ ทุรโยธน์หนีไป พี่น้องฝ่ายปาณฑพตามเจอว่าแอบใต้กอบัวในสระน้ำไทวปายน จึงได้ขอท้าทุรโยธน์มาสู้ตัวต่อตัว ทุรโยธน์จึงขอสู้กับภีมะด้วยคทา มีพลรามและกฤษณะมาชมการต่อสู้ในครั้งนี้ การต่อสู้ดำเนินไปอย่างดุเดือด
ทุรโยธน์นั้นเหนือกว่าภีมะมากและภีมะกำลังจะพ่ายแพ้แก่ทุรโยธน์ พระกฤษณะจึงทำเป็นคุยเสียงดังกับอรชุน ถึงคราวที่ฝ่ายปาณฑพเล่นสกาแพ้ เพื่อที่จะกระตุ้นให้ภีมะนึกถึงสิ่งที่ฝ่ายเการพทำกับฝ่ายปาณฑพรวม ให้นึกถึงความอับอายของเทราปตีมเหสีของเหล่าพี่น้องปาณฑพ
พร้อมบอกว่าการที่จะต่อสู้แบบยุติธรรมไม่สามารถเอาชนะทุรโยธน์ได้ อรชุนจึงทำท่าลูบหรือตีไปที่หน้าขาของตนส่งสัญญาณให้ภีมะรู้ ทันใดนั้น ภีมะก็ใช้คทาฟาดไปที่หน้าขาของทุรโยธน์ จนกระดูกแตกละเอียดล้มฟุบลงกับพื้นไม่สามารถขยับได้อีก
การกระทำเช่นนี้ถือว่าผิดกฎ ที่ห้ามใช้คฑาโจมตีบริเวณที่ต่ำกว่าเอว และได้สร้างความโกรธแค้นแก่พลรามในฐานะของอาจารย์ผู้สอนทั้งสองคน พลรามหยิบคันไถที่ใช้เป็นอาวุธตรงเข้าไปหมายจะสังหารภีมะ พระกฤษณะจึงเข้าขวาง และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของฝ่ายปาณฑพ
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ช่างเขมรเข้าใจในเนื้อเรื่องของมหาภารตะเป็นอย่างดี ถึงได้จับตอนที่สำคัญนี้มาแสดงเป็นรูปศิลาอันงดงามประดับปราสาทนั่นเอง
Create Date : 30 มีนาคม 2560 |
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2567 10:38:46 น. |
|
42 comments
|
Counter : 1837 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: ชีริว วันที่: 3 เมษายน 2560 เวลา:21:19:05 น. |
|
|
|
โดย: อุ้มสี วันที่: 6 เมษายน 2560 เวลา:8:23:08 น. |
|
|
|
โดย: ภาวิดา (คนบ้านป่า ) วันที่: 10 เมษายน 2560 เวลา:20:41:56 น. |
|
|
|
โดย: ภาวิดา (คนบ้านป่า ) วันที่: 16 พฤษภาคม 2560 เวลา:14:44:41 น. |
|
|
|
โดย: อุ้มสี วันที่: 19 พฤศจิกายน 2560 เวลา:16:23:40 น. |
|
|
|
| |
|
 |
ผู้ชายในสายลมหนาว |
|
 |
|
|