 |
23 มกราคม 2555
|
|
|
|
เหตุการณ์ รศ. 112 (6)

แผนที่แสดงป้อมต่างๆ ที่เมืองสมุทรปราการและแนวทางรถไฟสายปากน้ำ
4 กรกฎาคม พ.ศ.2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสด็จพระราชดำเนิน เป็นการลับที่ปากน้ำเจ้าพระยาโดยรถไฟพิเศษไปทอดพระเนตรป้อมเสือซ่อนเล็บ แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรป้อมพระจุลจอมเกล้าซึ่งมีทหารประจำอยู่ 600 คน ปืนกรุปได้วางที่แล้วได้เรียกทหารขึ้นประจำป้อมทดลองดูทหารทำได้พรักพร้อม แล้วเสด็จไปตรวจเรือที่จมตั้งแต่ฟากตะวันออกจนถึงเรือแดง
การจมเรือทำไปมากแล้วแต่ยังไม่พอขาดเรือลำเลียงอีก 4 ลำ เรือที่จมนั้นกระแสน้ำพัดเชี่ยวพาเรือเคลื่อนที่ไปห่างจากจุดที่หมายไว้ แล้วมาตรวจทางฟากตะวันตกตรงมุมป้อมแนวนี้ปักไม้หลักแพต้นหนึ่งเป็นขาทราย ค้ำด้วยอีกสองต้น ไม้เหล่านี้ปักลงดิน 8 ศอกขัดด้วยโซ่ดูเป็นการแน่นหนาดี
ทรงมีพระราชดำรัสว่าอย่าว่าแต่จะจมเรือหรือจะทำเขื่อนเพียงเท่านี้เลย อย่างไร เรือของเขาก็คงที่ทำลงนี้พอเป็นสังเขปสำหรับที่จะห้ามถ้าขืนดันเข้ามาก็ต้องยิงกันเท่านั้น แล้วเสด็จมาจอดที่ริมช่องทางเดินเรือลองระเบิดตอร์ปิโดขนาดเล็กซึ่งทำที่กรุงเทพหนึ่งลูก ปรากฏว่าเป็นผลดีมีอำนาจมากจากนั้นไปตรวจเรือบรรจุตอร์ปิโดที่บรรจุเสร็จแล้ว 7 ลูก จากนั้นได้เสด็จขึ้นเรือฟิลลาเสวยกลางวันแล้วเสด็จขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ
5 กรกฎาคม พ.ศ.2436 นายนาวาเอกแมคเคลาด์ ผู้บังคับการเรือพาลลาส ได้ติดต่อ พระยาชลยุทธโยธินทร์ขอเรือกลไฟเล็กลำหนึ่งเพื่อเดินทางกลับไปเรือพาลลาส ซึ่งจอดอยู่นอกสันดอนเรือพาลลาสจะย้ายไปจอดที่เกาะสีชังและขอพักบนเกาะสีชัง เพื่อให้ทหารที่เจ็บป่วยได้ขึ้นพักบนเขา ขอส่งทหารจำพวกสัญญาณไปประจำที่เสาธงเกาะสีชัง
กับขอน้ำจืดสำหรับหม้อน้ำ หากมีข่าวการเคลื่อนไหวของฝรั่งเศสก็ขอทราบด้วย และจะได้มาจอดอยู่ที่นอกสันดอนอีก เมื่อพระยาชลยุทธโยธินทร์นำความขึ้นกราบบังคมทูล ก็ทรงอนุญาตตามที่ผู้บังคับการเรือพาลลาสร้องขอมา และกำหนดว่าจะให้เรือจำเริญ ซึ่งจะกลับจากเกาะกงในอีก 2 - 3 วัน ลากเรือโป๊ะบรรทุกน้ำจากกรุงเทพไปส่งให้
7 กรกฎาคม พ.ศ.2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับ ตรวจป้อมแผลงไฟฟ้าที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ ปรากฏว่าปืนกรุปสำหรับจะยิงสลุตรับ เจ้าชายออสเตรียจัดไว้พร้อมแล้ว ทรงเห็นว่าป้อมนี้มีทางปืนดีและเป็นที่แคบ สามารถใช้ตอร์ปิโดได้ถนัด มีรับสั่งให้จัดการวางตอร์ปิโดไว้ด้วย
9 กรกฎาคม พ.ศ.2436 พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์มีหนังสือกราบบังคมทูลว่า ควรจัดเตรียมป้อมวิชัยประสิทธิ์เตรียมไว้รับข้าศึกอีกป้อมหนึ่ง ทรงมีพระราชดำริว่าจะหมดเปลืองการใช้จ่ายมากไป ให้แต่เพียงถากถางบริเวณป้อมและกะที่จะตั้งปืนเท่านั้น

ภาพลายเส้นโคร้งสร้างป้อมปีกกา
10 กรกฎาคม พ.ศ.2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลายพระหัตถ์ถึง พระยาชลยุทธโยธินทร์ ความว่า กำหนดเรือรบฝรั่งเศสจะเข้าในวันที่ 13 กรกฎาคม และฝ่ายเราไม่ยอมนั้น ให้พระยาชลยุทธโยธินทร์คิดวางตอร์ปิโดเสียให้เต็มช่อง ถ้าเข้ามาเมื่อไรจำเป็นที่จะต้องระเบิด อย่าให้ต้องรอคำสั่งอีกเลยและถ้าเขายิงก่อนแล้วเราต้องยิง
กรมยุทธนาธิการกราบบังคมทูลว่าให้จัดทหารสำหรับรักษาพระนคร แบ่งออกเป็น 4 กอง คือภายในกำแพงพระนคร 1 กอง อยู่ที่ตำบลปทุมวัน 1 กอง ที่ตำบลบางรัก 1 กอง และที่ฝั่งธนบุรี 1 กอง พระยาสุรศักดิ์มนตรี ขอรับอาสาเรียก ทหารเก่าที่เคยไปราชการทัพคราวปราบฮ่อด้วยกัน จำนวนกว่าหนึ่งพันคนมาสมทบ
ม.ปาวีได้ออกหนังสือทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ความว่ารัฐบาลฝรั่งเศสขอให้แจ้งว่าการที่รัฐบาลอังกฤษ ได้ส่งเรือรบหลายลำเข้ามาในกรุงเทพ อ้างว่ามีเหตุจำเป็นจะให้มาป้องกันรักษาคนในบังคับอังกฤษ เหตุนี้รัฐบาลฝรั่งเศสจึงตั้งใจจะกระทำตามบ้าง โดยจะส่งเรือรบสองลำคือโคแมตและแองดองสตังค์
ให้เข้ามาอยู่ร่วมกับเรือลูแตงที่กรุงเทพ จะเดินทางมาถึงสันดอนในวันที่ 15 กรกฎาคม จึงขอได้โปรดมีคำสั่งให้มีนำร่องคอยไว้สำหรับเรือรบสองลำนี้
เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยได้มีหนังสือถึง ม.ปาวี ความว่า จนถึงเวลานี้ รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังไม่ได้รับคำแจ้งความจากรัฐบาลอังกฤษเลยว่า จะให้เรือรบเข้ามาถึงกรุงเทพ สมุทรปราการ หรือที่แห่งใดแห่งหนึ่งในลำน้ำเจ้าพระยา นอกจากเรือสวิฟท์ที่จอดอยู่ที่หน้าสถานฑูตอังกฤษ เหมือนกับเรือลูแตงที่จอดอยู่ที่หน้าสถานฑูตฝรั่งเศส
เรือลูแตงได้กำหนดว่าจะกลับออกไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2436 ครั้นถึงกำหนด จะกลับออกไปแล้วก็หาไปไม่ กลับได้รับคำสั่งให้รออยู่ไปก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งมาอีกภายหลัง จึงเห็นว่า ถ้าเรือลูแตงกลับไปจากกรุงเทพ เรือรบลำอื่น ๆ ก็จะคงไม่อยู่ที่นี่ต่อไป และความยุ่งยากก็คงจะสงบเรียบร้อยเป็นปกติดังเดิม ตามเหตุที่กล่าวข้างต้น ท่านคงจะมีโทรเลขบอกไปยังแม่ทัพเรือ ชี้ให้เห็นว่าเหตุที่จะให้เรือรบเข้ามานั้นไม่มีเสียแล้ว
11 กรกฎาคมพ.ศ. 2436 มีพระบรมราชโองการถึงพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ผู้บัญชาการทหารเรือเกี่ยวกับการป้องกันมิให้เรือรบฝรั่งเศสแล่นเข้ามากรุงเทพฯ เป็นเด็ดขาด
ม.ปาวี ได้มีหนังสือทูลเสนาบดีการต่างประเทศของไทยความว่า ได้แจ้งข้อความไปยังรัฐบาลฝรั่งเศสและแม่ทัพเรือแล้วว่ารัฐบาลของสยามได้คัดค้าน ไม่ยอมให้เรือรบเข้ามาในลำแม่น้ำเจ้าพระยา และได้แจ้งไปด้วยว่าให้จอดอยู่ที่สมุทรปราการ รอคอยจนกว่าจะได้รับตำตอบมา และ จึงขอโปรดให้เข้าเฝ้าในเวลาพรุ่งนี้ตามที่จะทรงกำหนด
เสนาบดีว่าการต่างประเทศของไทยมีหนังสือถึง ม.ปาวีความว่ายินดีจะพบ ม.ปาวี ในวันพรุ่งนี้เวลาย่ำค่ำและข้อคัดค้านที่ไม่ยอมให้เรือแองดองสตังค์ล่วงสันดอนเข้ามานั้น ย่อมเป็นข้อคัดค้านตลอดทั่วไป เนื่องจากไม่มีเรือรบอังกฤษลำใดนอกจากเรือสวิฟท์อยู่ เหตุที่ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งเรือแองดองสตังค์ และเรือโกเมตเข้ามานั้นย่อมเสียไป
Create Date : 23 มกราคม 2555 |
Last Update : 23 มกราคม 2555 16:31:11 น. |
|
4 comments
|
Counter : 2649 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: NATSKI13 วันที่: 24 มกราคม 2555 เวลา:15:40:39 น. |
|
|
|
โดย: addsiripun วันที่: 24 มกราคม 2555 เวลา:17:53:35 น. |
|
|
|
| |
|
 |
ผู้ชายในสายลมหนาว |
|
 |
|
|