นิทรรศการ : วังน่านิมิต
https://www.bacc.or.th/event/1997.html
คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่น่าจะเคยมาเดินสยามเซนเตอร์ แต่เพียงฟากถนนกั้นน้อยคนนักที่คงเคยไปเยี่ยมชมหอศิลป์กรุงเทพ ผมเองก็เช่นกันที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงเป็นการมาถ่ายภาพในงาน 1600 panda+ งานศิลปะกับผมคงเป็นสิ่งที่ไม่เข้ากัน
จนกระทั่งโครงการวังน่านิมิตได้มาจัดแสดงนิทรรศการที่นี่ ระหว่างวันที่10 ถึง 27 มิถุนายน 2561 โดยมีการจัดการบรรยายประกอบนิทรรศการ ในวันเสาร์ที่16 มิถุนายน เวลา 14.00 น. จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้ไปสถานที่แห่งนี้เสียที การเดินทางก็ไม่ยากนั่งรถไฟฟ้ามาลงสถานีสยามแล้วเดินย้อนกลับมา
โครงการนิทรรศการวังน่านิมิตสื่อถึงกระบวนการการสืบค้น และรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งที่เป็นเอกสาร และภาพถ่าย ที่อยู่ในความดูแลของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รวมถึงที่เก็บรวบรวมโดยนักสะสมทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนรูปสันนิษฐานของสถาปัตยกรรมที่ไม่ปรากฏอยู่แล้วในปัจจุบัน
โดยคณะทำงานนิทรรศการนำข้อมูลหลักฐานดังกล่าวมาตีความอีกครั้ง ผ่านระบบการกรอง ที่แปลงค่าออกมาเป็นภาษาภาพโดยถ่ายทอดเรื่องราว ที่แฝงอยู่ในชุดข้อมูลผ่านนิทรรศการที่เน้นการปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม เพื่อกระตุ้นความตระหนักรู้ในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และความทรงจำของเมืองที่เลือนรางไปตามกาลเวลา

https://www.bacc.or.th/event/1997.html
การบรรยายไม่ได้เน้นเนื้อหาทางวิชาการมากแต่เล่าที่มาที่ไปของโครงการนี้ ปรกติการจัดนิทรรศการพิเศษของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ก็เป็นเพียงการนำโบราณวัตถุมาจัดแสดงให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งอาจจะเรียกว่ามี theme ร่วมกัน ที่เหลือให้ผู้เข้าชมไปจินตนาการเอง
แต่นิทรรศการนี้ผ่านการบ่มย่อยเรื่องราวของวังหน้าที่ต้องการนำเสนอ ผ่านอาคาร 3 หลัง ทั้งที่เคยมี ทั้งที่หลงเหลือบางส่วนและที่ยังคงอยู่ นั่นคือพลับพลาสูง พระที่นั่งคชกรรมประเวศและพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย โดยการจัดแสดงในรูปแบบที่ใช้เทคนิคการนำเสนอด้วยเทคนิคสมัยใหม่
โดยรวมผมไม่ค่อยอินไปกับนิทรรศการนี้มากเท่าไหร่ เนื่องจากอาจจะมีข้อมูลในหัวมากพอ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นเป้าหมาย ก็อาจจะร้องว้าว ในสิ่งที่ตนเองไม่เคยรู้มาก่อนซึ่งเป็นโจทย์ของผู้จัดนิทรรศการนี้ โดยพยายามที่จะไม่ยัดเยียดข้อมูลมากเกินไป แต่เน้นเรื่องเดียวที่สำคัญคือ
ฐานานุศักดิ์
 https://thestandard.co/national-museum-history-of-wangna-palace-9/
ซึ่งเป็นสิ่งที่ถือกันมากในสังคมไทย ไพร่จะไม่ปลูกเรือนเทียมเจ้า ในขณะเดียวกัน วังหน้าก็จะไม่ปลูกสิ่งก่อสร้างเทียมกับวังหลวง พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยเป็นตัวแทนของสิ่งนี้ที่ยังหลงเหลืออยู่มาให้เห็น ตั้งแต่การสร้างที่จะไม่ยกพื้น เครื่องลำยองจนถึงแบบกระเบื้องหลังคา
ถ้าย้อนตามประวัติไปก็มีสิ่งก่อสร้างที่เป็นปัญหานับมาแต่รัชกาลที่ 1 ที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดจะให้สร้างพระที่นั่งพิมานดุสิตา ไว้เป็นที่พักผ่อนพระอัธยาศัยโดยหมายจะให้เป็นเรือนปราสาทยอด แต่มีเหตุการณ์ร้ายเป็นเหตุให้พระองค์หยุดการก่อสร้างไว้เสียก่อน
ล่วงมาในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ มีพระประสงค์จะสร้างวัดพระแก้ววังหน้าถวายแด่พระพุทธสิหิงค์ โดยแบบนั้นจะเป็นจัตุรมุขยอดปรางค์ ซึ่งรัชกาลที่ 3ก็ทรงทักท้วงว่า ไม่เคยมีธรรมเนียมวังหน้าที่จะสร้างอาคารยอดปรางค์จึงทรงเปลี่ยนแบบ
จนกระทั่งลุเข้าสมัยรัชกาลที่ 4 ที่วังหน้ามีศักดิ์เป็นกษัตริย์ร่วมแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าจึงทรงสร้างพระที่นั่งเรือนยอด 1 หลัง เพื่อเป็นเกียรติยศในปี พ.ศ. 2394 เป็นอาคารเครื่องยอดซ้อน 5 ชั้น มีเทียบสำหรับเกยเทียบช้างด้านหน้า นามพระที่นั่งประเวศคชกรรม 
https://thestandard.co/national-museum-history-of-wangna-palace-7/
นอกจากนี้วังหน้าในอดีตนั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่กว่าในปัจจุบันมาก โดยรวมพื้นที่มหาวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน และสนามหลวงฝั่งทิศเหนือ ซึ่งเทียบกับปัจจุบัน แม้รวมพิพิธภัณฑ์โรงละครและสถาบันบัณฑิต จะมีพื้นที่เพียง 1/3 ของเดิมเพียงเท่านั้น
เมื่ออ่านพงศาวดารรัตนโกสินทร์ เราจะจินตนาการได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่วังหน้าเอาปืนใหญ่ตั้งบนกำแพงวัง ที่ตั้งอยู่ในแนวกึ่งกลางสนามหลวงหันไปทางวังหลวงนั้นตึงเครียดเพียงใด ส่วนกำแพงด้านทิศเหนือที่หันไปทางคลองหลอดนั้นในสมัยสมเด็จพระปิ่นเกล้า ก็มีการสร้างอาคารบนยอดกำแพงสำหรับไว้ชมขบวนแห่เรียกว่าพลับพลาสูง
ซึ่งนำรูปแบบสถาปัตยกรรมและลักษณะการใช้งานมาจากพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวังออกมุข 2 มุข ลดชั้นหลังคา 4 ชั้น แต่หลังคาไม่ทำยอดมณฑป แต่สิ่งที่น่าสนใจคือมีการทำเครื่องลำยองเป็นนาคสะดุ้ง แต่ส่วนอื่นนั้นยังไม่เห็นชัด
แต่อนุมานได้ว่าทั้งหมดเป็นการเฉลิมฐานานุศักดิ์อย่างที่ไม่มีแบบในวังหน้ามาก่อน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าสวรรคตพระราชโอรสมีได้มีฐานันดรศักดิ์เท่า แต่อาคารทั้งสองหลังนี้ก็ยังคงอยู่จนกระทั่งวังหน้าถูกทิ้งร้างลง เมื่อกรมพระราชวังบวรวิเศษไชยชาญทิวงคตในปีพ.ศ. 2428 พระที่นั่งประเวชคชกรรมรื้อลงเมื่อ พ.ศ. 2443 ส่วนพลับพลาสูงรื้อลงเมื่อปี พ.ศ. 2447 เมื่อมีการปรับพื้นที่สนามหลวง
 มีการแชร์เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับละครหนึ่งด้าวฟ้าเดียว หนึ่งในนั้นคือเจดีย์ที่เก็บอัฐิของที่พระยาพิชัยดาบหักที่วัดราชคฤห์ ไม่ต้องมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ว่าเจดีย์นี้กำหนดอายุได้เมื่อใด
แต่ตามฐานานุศักดิ์เจดีย์ทรงปรางค์ที่มีพระพุทธรูปยืนบรรจุอยู่ในซุ้มจรนำ เราก็วิเคราะห์ได้ว่าควรเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของสามัญชนหรือไม่ ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า อยุธยาสืบขนบมาจากขอม
เจดีย์ทรงปรางค์คือวิวัฒนาการมาจากปราสาทขอมถูกใช้เป็นเจดีย์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นมหาธาตุกลางเมืองจนกระทั่ง ราชวงศ์อู่ทองเสื่อมอำนาจสุพรรณภูมิและสุโขทัยเลือกใช้ทรงระฆัง แต่เมื่อราชวงศ์ปราสาททองก้าวขึ้นสู่อำนาจปรางค์กลับถูกมาให้ความสำคัญ เห็นได้จากเจดีย์ประธานวัดไชยวัฒนารามที่เป็นทรงปรางค์เช่นกัน
ภาพวาดร่วมสมัยก็มีเหตุผลให้เชื่อว่างานพระเมรุของของพระเจ้าปราสาททอง ตัวพระเมรุมาศนั้นใช้ทรงปรางค์เป็นขนบเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ธรรมเนียมกำหนดให้พระเมรุงานพระบรมศพต้องเป็นทรงปรางค์เท่านั้น
จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีพระราชวินิจฉัยว่า เจดีย์ที่เป็นแบบพุทธกาลนั้น เป็นทรงระฆังหรือทรงโอคว่ำเท่านั้นดังนั้นเจดีย์ประธานที่สร้างในวัดช่วงนี้ จึงเป็นแบบทรงระฆังเช่นการครอบเจดีย์ทรงปรางค์ที่พระปฐมเจดีย์ แต่พระเมรุในงานพระบรมศพของพระองค์ก็ยังคงเป็นยอดปรางค์เช่นเดิม
การเปลี่ยนแปลงตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงให้มีการลดทอนลง นับจากงานพระเมรุพระราชโอรสพระราชธิดาที่เหลือเพียงพระเมรุทองทรงบุษบก ที่เคยอยู่ตรงกลางเพียงหลังเดียว ทำให้เรื่องฐานานุศักด์ของเจดีย์ทรงปรางค์ ที่มีมานับแต่อยุธยาตอนปลาย ถูกใช้เป็นเรือนยอดที่มีฐานานุศักดิ์สูงสุดนั้นเลือนลางไป
สถาปัตยกรรมที่จะใช้เป็นเพียงเป็นเจดีย์ประธานอาคารในวังหลวง หรือพระเมรุเท่านั้น
Create Date : 21 มิถุนายน 2561 |
Last Update : 4 กรกฎาคม 2561 9:40:31 น. |
|
5 comments
|
Counter : 1622 Pageviews. |
|
 |
|