|
 |
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | |
|
|
 |
17 กุมภาพันธ์ 2562
|
|
|
|
พระแก้วนาคสวาท : พระแก้วในรัชกาลที่ 3
 พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย
หลังจากเขียน blog ที่แล้ว รู้สึกว่า เนื้อหายังไม่มากพอ ก็เลยย้อนไปอ่านพงศาวดาร ฉบับต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงของรัชกาลที่ 3 ตอนการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญลงมา
อนึ่งพระพุทธรูปสำหรับเมืองเวียงจันทน์ พระบางหายไปว่าข้าพระพาเอาไปฝังเสีย สืบยังหาไม่ได้ ได้ แต่พระเสริม พระไส พระศุก พระแส้คำ พระแก่นจันทน์ พระสงรงน้ำ พระเงินหล่อ พระเงินบุรวม 9 องค์
แต่จะเอาลงไปกรุงเทพมหานครได้แต่พระแซ่คำองค์หนึ่ง ได้พระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระแซ่คำ 100 พระองค์ กับได้พระเจ้าฉันสมอหน้าตัก 20 นิ้ว พระองค์หนึ่ง พระนาคสวาดหน้าตัก 10 นิ้ว พระองค์หนึ่งหนัก 17 ชั่ง
พระนาคสวาดหน้าตัก 8 นิ้ว หนัก 3 ชั่ง 10 ตำลึง พระนาคปรกศิลาดีกระบือหน้าตัก 5 นิ้ว พระองค์หนึ่ง แต่พระนาคสวาด 2 องค์นั้น เห็นจะแก้เอาดีได้จะต้องแก้มากอยู่
และพระพุทธรูปจัดส่งไปกรุงเทพมหานครมิได้นั้น ได้ให้ก่อพระเจดีย์ ณ ค่ายหลวง เมืองพันพร้าวเหนือวัด ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศทรงสร้างไว้ เมื่อเสด็จขึ้นมาตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งก่อน ฐานกว้าง 5 วางสูง 8 วา 2 ศอก จะบรรจุพระพุทธรูปไว้เป็นที่สักการบูชา
สิ่งติดใจคือพระนาคสวาดคือพระอะไร ทำให้ต้องไปค้นหาต่อ แล้วก็พบว่า พระพุทธรูปองค์นี้ต่อมาจะเป็นพระแก้วในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่พระนาม พระนาคสวาสดิ์ และ พระเรือนแก้ว นั่นเอง
เริ่มจาก พระพุทธรูปองค์นี้มีสีเขียว จึงเป็นที่มาของชื่อเดิม ด้วยความเชื่อว่าเกิดจากเลือดของนาคเมื่อถูกครุฑจับฉีกเนื้อกิน นาคกระอักเลือดออกมาเป็นหินสีเขียว เรียกว่า นาคสวาท เชื่อกันว่าเป็นของวิเศษ สามารถใช้แก้พิษงูได้
ผมเคยเล่าไว้ในตอน พิพิธภัณฑ์ช้างต้น ว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์โดยพระชาติกำเนิดเป็นราชสกุลชั้นพระองค์เจ้า ดังนั้นเมื่อขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์จึงทรงมีพระราชประสงค์หลายอย่าง ที่จะแสดงให้ประจักษ์ว่าพระองค์ก็ทรงมีพระบารมีเป็นดั่งพระจักรพรรดิราช
ผู้ทรงครอบครองมณีรัตนะอันเป็น 1 ใน 7 ของสัปตรัตนะคู่พระบุญญาธิการด้วย
ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ทรงได้พระแก้วมรกต ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็ทรงได้พระแก้วผลึก เมือเจ้าพระยาบดินเดชาฯ ได้พระนาคสวาทมาจากราชการสงครามเมืองวียงจันทน์ จึงเป็นที่เลื่อมใสของพระองค์ที่ทรงได้พระแก้วอันเป็นของประเสริฐประจำรัชกาล
รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชดำริว่าการที่ทรงได้ พระแก้วนาคสวาทองค์นี้ มาในปีที่ 3 ของรัชกาล นับเป็นบารมีเหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ 2 ทรงได้พระแก้วผลึกในปีที่ 3 ของรัชกาลเช่นกัน โปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนเรือขึ้นไปรับที่ตำบลตลาดแก้ว และมีมหกรรมการฉลอง
เมื่อนำมาประดิษฐานในพระบรมมหาราชวังแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดเนื้อหินที่ยาวเกินประมาณออกมาจากฐานของพระพุทธรูปทิ้ง แล้วให้ช่างมีฝีมือแก้รูปทรงให้ใกล้เคียงกับพระแก้วผลึก พระพุทธรูปทอง พระพุทธรูปนาก พระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปเมฆพัดทั้งห้าพระองค์นั้น
แล้วให้สร้างครอบพระเศียรทองมีเพชรขนาดเมล็ดงาประดับเป็นพระศก พระรัศมีประดับเพชร หุ้มทองคำประดับพลอยลายกุดั่นที่ฐานสำริด มีฉัตรคันดาลประดับพลอยลงยาราชาวดี 5 ชั้น เหมือนพระแก้วผลึก แต่พระสังวาลเฟื่องประดับด้วยมรกต ต่างจากพระแก้วผลึกที่เป็นเพชร
ทรงเชิญพระนาคสวาทไปในการพระราชพิธีสำคัญทุกครั้งคู่กับพระแก้วผลึก เช่น การอัญเชิญไปสรงน้ำด้วยทรงสำคัญว่าเป็นของคู่พระบารมีดุจเดียวกัน

พระแก้วนาคสวาท
เมื่อล่วงเข้าสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริว่าการที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงเชิญพระพุทธรูปทอง นาก เงิน เมฆพัดประดิษฐานเป็นสำรับเดียวกับพระแก้วผลึก หรือการที่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทรงเชิญพระแก้วนาคสวาทมาประดิษฐาน สรงน้ำด้วยกันกับพระแก้วผลึกดูจะไม่สมควร
เพราะว่าแก้วมีเนื้อใสงดงามที่ใช้ทำพระแก้วผลึกนั้นเป็นของวิเศษหายาก ในขณะที่ ทอง นาก เงิน เมฆพัด เป็นสิ่งที่หาได้ง่ายดายมาก หรือแม้นาคสวาทก็หาได้ทั่วๆ ในลำแม่น้ำโขงจะทำสักหลายร้อยองค์ก็ย่อมได้ ไม่ควรจะนำมาเทียบว่าเป็นของสำรับเดียวกัน
ในรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา พระนาคสวาทก็ได้หายไปจากความสำคัญ ในการนำมาประดิษฐานเช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น คงเชิญแต่พระนาคสวาทเรือนแก้วขึ้นประดิษฐานแทนนับแต่นั้น (ไม่มีข้อมูลว่า พระนาคสวาทเรือนแก้วนั้นได้แก้ไขในสมัยรัชกาลที่ 3 หรือรัชกาลที่ 4)
เป็นธรรมเนียมต่อๆ กันมาที่จะมีการตั้งพระแก้วประจำรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระแก้วเชียงแสน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระบุษยรัตน์น้อย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระแก้วมรกตน้อย
การเลือกพระแก้วองค์ใดเป็นพระแก้วประจำรัชกาลนั้น ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลต่อมา ดังพระบรมราชาธิบายในรัชกาลที่ 5 ว่า ไม่เป็นสลักสำคัญอันใด ไม่ได้ตั้งมาแต่แรก เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน โปรดพระองค์ใด ถึงได้มาภายหลังก็ตั้งเพิ่มขึ้น
พระนาคสวาท
พระนาคสวาทเป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบล้านนารุ่นหลัง ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ขนาดหน้าตักกว้าง 8 เซนติเมตร สูงเฉพาะองค์พระ 11.80 เซนติเมตร สูงจากฐานถึงยอดฉัตร 52.50เซนติเมตร สูงจากฐานถึงยอดเรือนแก้ว 32 เซนติเมตร วัสดุหินสีเขียวคล้ายหยก
ประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ ทรงครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิแถบกว้างพาดพระอังสะ ร่องพระพาหาซ้ายปราศจากจีวรกำบัง ครอบพระเศียรและพระเกตุมาลาทำจากทองคำ พระศกประดับเพชร ทรงสังวาลทองคำฝังมรกต ประทับบนฐานบัวทำจากทองคำเกลี้ยง มีผ้าทิพย์เป็นทองคำฝังอัญมณีฐานและฉัตรเป็นทองคำลงยาราชาวดี
ถ้าย้อนขึ้นไปตามพงศาวดาร กลับเป็นปริศนาถึงขนาด เพราะมีพระนาคสวาท 2 องค์ องค์หนึ่งมีขนาดหน้าตัก 8 นิ้ว องค์หนึ่งมีขนาดหน้าตัก 10 นิ้ว ซึ่งไม่ตรงกับขนาดของพระนาคสวาท ซึ่งเชื่อว่าคือพระพุทธรูปศิลาเขียวในหอพระสุลาลัยพิมาน
พระนาคสวาทเรือนแก้ว
พระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระนลาฏกว้าง พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่งกับทั้งพระโอษฐ์เรียว พระกรรณยาวจรดพระอังสา พระเศียรประดับด้วยครอบพระเศียรประดับด้วยขมวดพระเกศา มีพระเกตุมาลาและพระรัศมีรูปเปลวเพลิงล้วนเป็นทองคำ
องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์ห่มเฉียงเรียบเปิดพระอังสาขวามีสังฆาฏิ ซ้อนทบพาดเหนือพระอังสาซ้ายปลายตัดเป็นเส้นตรงยาวจรดพระนาภี อันตรวาสกที่ปรากฏขอบใต้พระนาภีและบริเวณทั้งสองข้าง
มีแผ่นเบื้องหลังประทับนั่งเหนือฐานปัทมาสน์เป็นกลีบบัวคว่ำบัวหงาย ภายในซุ้มเรือนแก้วเป็นกนก ประกอบกับทั้งมีฉัตรทองคำ 5 ชั้น ฉลุลายกางกั้นอยู่เบื้องบน ฐานพระพุทธรูปแอ่นโค้งย่อมุม 2 ข้าง ประดับด้วยลายแข้งสิงห์ มีผ้าทิพย์ประดับอยู่เบื้องหน้า และมีสุวรรณฉัตร 3 ชั้น ประดับอยู่ทั้งสองข้างของซุ้มเรือนแก้ว
พระนากสวาดิเรือนแก้วมีสีเขียวคล้ายหยก และเนื่องจากมีซุ้มประกอบจึงมีพระนามว่าพระนากสวาดิเรือนแก้ว เนื่องจากพระพุทธรูปสำคัญหารูปประกอบได้ยากยิ่ง ทำให้ยากที่จะพิจารณาขนาด แต่เมื่อไปค้นข่าวได้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561

พระนาคสวาดิเรือนแก้ว
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต จากรูปเชื่อว่า พระนาคสวาทเรือนแก้ว น่าจะมีขนาดเล็กกว่า
ถ้าจะให้สรุปเรื่องนี้ก็คือ น่าจะมีความผิดพลาดในระบบมาตราโบราณ เพราะพระแก้วศิลาเขียวที่มีขนาดองค์ใหญ่กว่า ก็มีข้อมูลว่า มีขนาดหน้าตักเพียง 4 นิ้ว พระนาคสวาทเรือนแก้วน่าจะมีหน้าตักย่อมลงมาอีก แต่ทั้งสององค์ น่าจะเป็นพระนาคสวาทที่รัชกาลที่ 3 ได้มาจากเมืองเวียงจันทน์
ผมเคยเขียน blog ที่ยืดยาวเพื่อคลายความสงสัยว่า พระพุทธสิหิงค์องค์ใด คือองค์ที่แท้จริงซึ่งยังคงมีปริศนาว่า สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งเคยเห็นพระพุทธสิหิงค์องค์จริงแน่นอนก่อนการเสียกรุง เหตุใดจึงอันเชิญ พระพุทธสิหิงค์องค์ที่ไม่ตรงกับพุทธลักษณะ คือปางสมาธิลงมา
ดูเหมือนว่า ปริศนานั้นจะคลี่คลาย เมื่อเราเอาหลายสิ่งหลายอย่างมาประกอบกัน รวมทั้ง blog นี้ที่กล่าวถึงพระแก้ว เพราะทุกอย่างล้วนย้อนกลับไปที่พระแก้วมรกต พระพุทธรูปจากหินมีค่าสีเขียวขนาดใหญ่ที่เป็นพระพุทธรูปสำคัญในรัชกาลที่ 1 มีพุทธลักษณะปางสมาธิ ซึ่งแตกต่างจากพระประธานทั่วไปที่เป็นปางมารวิชัย
เพราะพระพุทธสิหิงค์องค์ใดเป็นองค์ที่แท้จริงนั้นไม่สำคัญเท่ากับ พระพุทธสิงหิงค์องค์ใดที่เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ นั่นเอง
ต่อเนื่องกันไป เนื่องจากผมไม่มีเวลาเขียน blog มากอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันและอยากบันทึกไว้ เพราะปีนี้มีการอัญเชิญพระแก้ว หลายองค์ออกมาให้ประชาชนได้กราบไหว้ ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ตามข่าว
เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2562 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมพิเศษ สักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน :นพปฏิมารัตนมารวิชัย โดยมีพระพุทธสิหิงค์เป็นประธาน และได้อัญเชิญพระแก้วปางมารวิชัย 9 องค์
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปมงคลโบราณที่มีประวัติความเป็นมาและสร้างขึ้นตามคติอันเป็นมงคล ออกให้ประชาชนกราบสักการบูชาในคราวเดียวกันเพื่ออำนวยความสุขสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล ในวาระแห่งการเริ่มต้นสู่ศักราชใหม่ ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 27 มกราคม 2562 ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ถ้าใครอยากเห็นพระแก้วที่หลากหลายกว่าที่กล่าวไว้ว่าเป็นพระแก้วประจำรัชกาล ปีหน้า ถ้ามีการจัดกิจกรรมเช่นนี้อีก อย่าลืมไปชมกันนะครับ
Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2562 |
|
10 comments |
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2562 12:26:34 น. |
Counter : 4083 Pageviews. |
 |
|
|
| |
โดย: อุ้มสี 19 กุมภาพันธ์ 2562 10:04:22 น. |
|
|
|
| |
โดย: ภาวิดา (คนบ้านป่า ) 20 กุมภาพันธ์ 2562 7:13:38 น. |
|
|
|
| |
โดย: kae+aoe 20 กุมภาพันธ์ 2562 8:43:09 น. |
|
|
|
| |
โดย: ภาวิดา (คนบ้านป่า ) 22 กุมภาพันธ์ 2562 9:22:03 น. |
|
|
|
| |
โดย: Sai Eeuu 23 กุมภาพันธ์ 2562 17:08:10 น. |
|
|
|
| |
|
 |
ผู้ชายในสายลมหนาว |
|
 |
|
|