Apple has lost a visionary and creative genius, and the world has lost an amazing human being.

But his spirit will forever be the foundation of Apple. 6 October 2011

<<
กรกฏาคม 2567
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
5 กรกฏาคม 2567

The golden boy : รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 (agian)




จาก blog เก่าที่เล่าไว้ ก่อนจะได้ไปดูจริง
ผมตั้งธงเอาไว้ว่า golden boy อาจจะเป็นพระเมตไตรยะ
จากสัญลักษณ์รูปสามเหลี่ยมเหนือมงกุฎได้หรือไม่
แต่จะให้เสียเงินไปดูเทวรูปชิ้นเดียวก็คงไม่น่าลงทุน
 
จนกระทั่ง BEM ได้มีงานประจำปี Happy journey 
ผมได้สมัครเข้าร่วมฟังบรรยายในช่วงบ่าย วันที่ 14 มิ.ย. 2567

ศรีเทพ มรดกโลกแห่งใหม่ โบราณวัตถุล้ำค่าชิ้นใหม่ golden boy
โดย อ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 
ในการบรรยายก็เน้นไปที่เรื่องเมืองศรีเทพ ซึ่งเราฟังบ่อยแล้ว
ใจจึงจรดจ่อรอการพุ่งตัวเพื่อไปชมพิพิธภัณฑ์ฟรี
โดยกำหนดการ มีรูปแบบการเดินเข้าชม
แต่เราและคนส่วนใหญ่ล้วนรีบมุ่งไปที่โซนจัดแสดง golden boy
 
และก็พบกับความผิดหวัง ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดไว้
สามเหลียมที่คาดว่าเป็นเจดีย์นั้นเป็นเพียงลวดลาย
ซึ่งมันก็ควรเป็นเช่นนั้น เพราะคนอื่นคงรู้มากกว่าเราอีก
ถ้าเป็นรูปเจดีย์ ก็ต้องมีคนตั้งข้อสังเกตก่อนหน้านี้มานานแล้ว
 
เราคงต้องกลับไปแกะปริศนาเทวรูปองค์นี้ใหม่อีกครั้ง    
แต่ก่อนอื่นนั้นเราจะขอกล่าวถึงเทวรูปชุดนี้ก่อน




1. นารายณ์บรรทมสินธุ์ พบที่ปราสาทแม่บุญตะวันตก
เมื่อปี พ.ศ. 2479 ความสูง 1.22 เมตร กว้าง 2.2 เมตร
ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภันฑสถานแห่งชาติ พนมเปญ


2. ทวารบาล พบที่ประสาทสระกำแพงใหญ่ จ. ศรีสะเกษ
เมื่อปี พ.ศ. 2532 ความสูง 1.4 เมตร รวมฐานสูง 1.8 เมตร

 3. 
Golden boy พบที่ปราสาทบ้านยาง บุรีรัมย์ เมื่อปี พ.ศ. 2518
ความสูง 1.29 เมตร  และ 4. สตรีพนมมือ พบพร้อม golden boy
ความสูงประมาณ 0.43 เมตรได้รับมอบคืนจาก MET เมื่อปี พ.ศ. 2567


เมื่อประเทศไทยได้รับรูปสำริดชุดนี้มา จึงเป็นที่สังเกตว่า
รูปสำริดทั้งหมดมีเครื่องประดับที่เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรมีอายุรุ่นเดียว

เทวรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่มีหลักฐานว่า พบที่ปราสาทแม่บุญตะวันตก
สามารถใช้การกำหนดอายุจากตัวปราสาทได้

กำหนดให้อยู่ในสมัยรัชกาลพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2
ศิลปะแบบบาปวน สอดคล้องการนุ่งผ้าเว้าสูงของรูปสำริดเหล่านี้
ต่อมาเราจะกล่าวถึงรายชื่อกษัตริย์เมืองพระนครกัน 


ราชวงศ์สุริยวรมัน
พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1549-1593) ศิลปะแบบปลายคลัง ต้นบาปวน
พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1593-1609) ศิลปะแบบบาปวน
พระเจ้าหรรษาวรมันที่ 3 (พ.ศ. 1609-1623)
 
ราชวงศ์มหิธรปุระ
พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 (พ.ศ. 1623-1650) ศิลปะเฉพาะ พิมาย?
พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1(พ.ศ. 1650-1656) 
พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1656-1688) ศิลปะแบบนครวัด




 เราจะกลับไปที่ golden boy กันใหม่ Martin Lerner ภัณฑารักษ์
ของพิพิธภัณฑ์ MET ก็เคยสงสัยและบันทึกไว้ว่าตอนรับเทวรูปมาว่า
อาจจะเป็นรูปของเทวะราชาก็เป็นไปได้
แต่เมื่อไม่มีหลักฐานอะไร ก็เลยตีความว่าเป็นเทวรูปไว้ก่อน
 
Standing Shiva?? เพราะพระศิวะเองก็มีหลายปางมาก
เป็นไปได้ว่า จะเป็นปางที่ไม่แสดงสัญลักษณ์ของพระองค์
 
ความคิดนี้จึงถ่ายทอดมายังนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง
ที่ตีความว่า golden boy ไม่ใช่รูปพระศิวะ
โดยดึงให้เข้ากับสถานที่ค้นพบว่า เป็นรูปหล่อของบูรพกษัตริย์
คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ต้นราชวงศ์มหิธรปุระ
 
ต่อมามีแนวคิดที่สอง โดย อ. รุ่งโรจน์ ได้ออกมาแสดงความเห็นด้วย
เพราะในสมัยอยุธยาก็มีการกล่าวถึงการไปสักการะรูปพระเชษฐบิดร
ทำให้เชื่อว่าการสร้างรูปเคารพของอดีตพระมหากษัตริย์ดูเป็นได้
 
แต่หากดูอายุศิลปะแล้วจะต้องเป็นรูปบูรพกษัตริย์ ก็ควรเป็นรูปของ
พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ที่สร้างในสมัยพระเจ้าหรรษาที่ 3
ไม่ควรจะใหม่ลงไปจนถึงรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6
ที่การนุ่งผ้าในภาพแกะสลักปราสาทพิมาย
ที่เชื่อว่าสร้างเสร็จในรัชกาลของพระองค์นั้นเปลี่ยนไปแล้ว
 


และหากเป็นรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จริง ก็ควรสร้างในรัชกาลของ
พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 เพราะคงไม่สร้างในสมัยพระองค์มีชีวิตอยู่
ทำให้ช่วงเวลายิ่งห่างไกลจากศิลปะ ที่ใช้กำกับอายุรูปสำริดไว้ด้วยกัน
 
นอกจากนี้ท่านยังได้กล่าวถึงรูปสำริดที่เชื่อว่าเป็นทวารบาล
จากปราสาทสระกำแพงใหญ่ ว่าเป็นรูปสำริดกะไหล่ทองขนาดใหญ่
เหตุใดจึงเชื่อว่าเป็นทวารบาลที่ต้องตั้งไว้นอกปราสาท
ดังนั้นอาจจะเป็นรูปบุคคลเช่นกัน แต่ท่านก็ไม่ได้ชี้เฉพาะลงไปว่าเป็นผู้ใด
 
ถึงตรงนี้เหมือนทั้งหมดจะเห็นตรงกันว่า เป็นรูปของบุคคล
จึงเป็นหน้าที่ของคนฟังว่าจะเชื่อใครดี เพราะหากเชื่อว่า golden boy
เป็นรูปแทนพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 6
ก็จะไม่ตรงกับอายุของศิลปะดังที่ อ. รุ่งโรจน์ ได้ให้ข้ออธิบายไว้
 
แต่หากเชื่อว่าเป็นรูปของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ตาม อ. รุ่งโรจน์ ว่า
ก็ต้องมีคำถามว่า ทำไมเอาเทวรูปของกษัตริย์คนละราชวงศ์
อย่างพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 มาไว้ที่ปราสาทหลังเล็กๆ
ที่ห่างไกลจากเมืองพระนครเพื่อการสิ่งใด
 
ยังไม่รวมเรื่องราชวงศ์มหิธรปุระนั้นก็แข่งอำนาจกับราชวงศ์
ที่เมืองพระนคร อยู่ดีๆ จะหล่อรูปปั้นมาตั้งบูชา
โดยที่ไม่เกี่ยวข้องสายตระกูลของตนเองเพื่ออะไร
ดูเหมือนทั้งสองฝ่าย ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้



 
ถึงบรรทัดนี้ ผมก็อยากจะเสนอแนวคิดที่ 3 ว่า
นี่เป็นรูปของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แม้ไม่หลักฐานว่าพระองค์มาจากไหน
แต่การเข้ามาปราบพื้นที่ภาคอีสานของไทยให้เข้ามาอยู่ใต้อำนาจ
เห็นได้จากการปราสาทหินในประเทศไทยส่วนใหญเป็นศิลปะบาปวน
 
ปราสาทสระกำแพงใหญ่ที่พบรูปทวารบาลนั้น
ก็มีความสัมพันธ์กับปราสาทพระวิหาร ว่าสร้างในรัชกาลเดียวกัน
มีข้อความจากจารึกพระวิหาร 1 กำหนดศักราชพ.ศ. 1581 ว่า

พระกมรเตงอัญศรีราชปติวรมันแห่งอวัธยปุระ
ได้กราบทูลกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ถึงความจงรักภักดีของศรีสุกำสเตงหงิ

ในขณะที่ทำรั้วในกมรเตงศรีพฤทเธศวร (สระกำแพงใหญ่)
พระองค์จึงพระราชทานเมืองวิเทภะ ซึ่งเดิมเป็นของมรตาญ
ศรีปฤถิวีนเรนทร อันอยู่ในความดูแลของกำสเตงศรีมหิธรวรมัน
ให้อยู่อาศัย พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นกุรุเกษตร
 
ซึ่งข้อความจารึกหลักนี้ถูกนำไปใช้อ้างอิงถึงราชวงศ์มหิธรปุระ
แล้ววิเทภะ เมืองของกำสเตงศรีมหิธรวรมัน ล่ะอยู่ที่ใด
จารึกปราสาทปลายบัต 1 กำหนดศักราช ปี พ.ศ. 1468
หรือหนึ่งร้อยปีก่อนหน้านั้นในรัชกาลพระเจ้าอีศานวรมันที่ 2 กล่าวว่า
 

ทรงประกาศให้เหล่าขุนนางได้แก่ กัมรเตงอัญศรีปรถิวีนทรวรมัน
กัมสเตงอัญศรีมหิธรวรมัน และกัมสเตงอัญศรีลักษมีปติวรมัน
ทราบว่า พระกมรเตงอัญที่พนมกาจโตน (ปราสาทปลายบัต)
ไม่ต้องอยู่ในอำนาจผู้ใด รวมถึงผู้คนในบริเวณนี้ ก็ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน
ให้ทำหน้าที่ดูแลศาสนสถานเท่านั้น
 
เป็นอีกหนึ่งข้อความที่กล่าวถึงมหิธรปุระ ว่ามีอำนาจในพื้นที่แถบพนมรุ้ง
เมืองต่ำและปลายบัตมาก่อน แต่เมื่อถึงสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1
จึงเอาคนที่พระองค์ไว้ใจเข้ามาปกครอง และย้ายขุนนางเดิมออกไป
เมืองวิเทภะเมืองจึงน่าจะเป็นเมืองต่ำในปัจจุบัน ที่มีพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์
 


อะไรคือสิ่งยืนยันความเชื่อว่าวิเทภะคือเมืองต่ำ 
ลักษณะพิเศษของเมืองต่ำคือบารายขนาดใหญ่ที่อยู่หน้าปราสาท
สัมพันธ์กับข้อความในจารึกว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 
ได้ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองวิเทภะนี้เป็นกุรุเกษตร

ชื่อกุรุเกษตรนั้นสำคัญอย่างไร ย้อนกลับไปยังจารึกเทวานิกะ
พบที่เมืองจำปาสัก ที่กล่าวกันว่าเก่าที่สุดภูมิภาคนี้  
กล่าวถึงการมาถึงที่นี่ของเจ้าชายจากอินเดีย
พระองค์ได้สถาปนายอดวัดภูให้เป็นลึงคบรรพต

และสถาปนาบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงหน้าวัดภูให้เป็นกุรุเกษตร
สถานที่ที่ไม่ว่าผู้ใดได้ลงอาบน้ำจะถือเป็นการชำระบาปออกไป
วัดภูจึงเป็นศาสนสถานที่สำคัญสูงสุดมาตั้งแต่นั้น จากอาณาจักรเจนละ
จนถึงสิ้นอำนาจเมืองพระนครในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

เราทราบจากจารึกว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ได้สถาปนาศิวลึงค์
ไว้ที่ศรีศิขเรศวร (พระวิหาร) โดยการกล่าวว่าขอให้พระศิวะ
ทรงแบ่งภาคจากภัทเรศวร (วัดภู) มาสถิตอยู่ ณ ที่แห่งนี้

การเปลี่ยนชื่อเมืองเวเทภะให้เป็นกุรุเกษตรจึงมีความเกี่ยวพันกัน
ในฐานะของการย้ายความสำคัญมายังภาคอีสานของไทย
เราอาจไม่รู้ว่าทำไม แต่มันได้เกิดขึ้น

แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้ก็คือความจงรักภักดีของขุนนาง
ถือเป็นวาระสำคัญที่สุดในรัชกาลของพระองค์
ดังคำกล่าวสัตย์สาบานของเหล่าขุนนางที่ให้จารึกไว้บนประตูพระราชวัง
จารึกหลายหลักในสมัยของพระองค์ล้วนจบลงด้วยคำสาปแช่ง

เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เสด็จสวรรคต จารึกพนมวัน 2
กำหนดศักราช พ.ศ. 1598 กล่าวว่า
พระเจ้าอุทัยทิตยวรมัยที่ 2 ก็ยังได้รับในการเคารพ
ในฐานะผู้สืบทอดอำนาจจากกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่


ต่อจากนี้คือจินตนาการส่วนบุคคล ไม่ใช่ข้อเท็จจริง



ด้วยความสามารถของกลุ่มคนที่มาใหม่ที่เริ่มเข้ามาในพื้นที่
ได้นำเทคโนโลยีการทำกะไหล่ทองจากประเทศจีนติดตัวมาด้วย
เจ้าเมืองอวัธยปุระได้ขอพระราชทานหล่อรูปของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1
ไว้พฤทเธศวร เพื่อแสดงความเคารพต่ออดีตกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่
 
ความงามของเทวรูปนี้ ทราบถึงพระเจ้าพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2
พระองค์โปรดให้ช่างกลุ่มนี้ลงไปหล่อเทวรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์
ไว้ที่ปราสาทแม่บุญบนเกาะกลางบารายตะวันตกของเมืองพระนคร

เมื่อพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 สวรรคต
พระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 ขึ้นครองราชย์
10 ปี สุดท้ายในรัชกาลของพระองค์นั้นเต็มไปด้วยการกบฏภายใน
รวมไปถึงการรุกรานจากภายนอกของอาณาจักรจามปา
 
พ.ศ. 1623 เพียง 30 ปี หลังรัชกาลที่รุ่งเรืองมากที่สุดสมัยหนึ่ง
อำนาจเมืองพระนครเริ่มเสื่อมลง ตระกูลมหิธรปุระที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1
เคยเนรเทศจากเมืองต่ำไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ใช้โอกาสนี้
รวบรวมอำนาจและประกาศตนไม่ขึ้นกับเมืองหลวงอีกต่อไป
 
พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สถาปนาภาคอีสานเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ
โดยไม่เคยเหยียบย่างไปที่เมืองพระนครเลย  

คำถามคือ พระองค์ครองราชย์อยู่ที่ใด?
คนส่วนใหญ่น่าจะเชื่อว่าคือพิมาย ด้วยเป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุด
ในประเทศไทย แต่จารึกกลับบอกสิ่งที่แตกต่างกันออกไป



จารึกพิมาย 2 กำหนดศักราชเริ่มต้นที่ พ.ศ. 1651
หนึ่งปีหลังพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เสด็จสวรรคต
กล่าว่า
พระกมรเตงอัญศรีวิเรนทราบดี เมืองโฉกวกุล
สถาปนากมรเตงชคตไตรโลกโลกยวิชัย ซึ่งเป็นเสนาบดีแห่งกมรเตงชคตพิมาย

พ.ศ. 1652 ทำพิธีฉลองครอบรอบปี กำหนดอาศรมว่า วิเรนทราศม
ได้สร้างเมืองบนพื้นที่ว่างเปล่า กั้นรั้วรอบวิเรนทราศม
กมรเตงอัญศรีวีรพรม มอบสิ่งของและข้าพระถวายแก่กมรเตงชคต
ไตรโลกโลกยวิชัยเพื่อเป็นบุญแก่พระบาทกมรเตงอัญศรีธรณินทรวรมะ

เราทราบกันดีว่า ปราสาทพิมายถูกสถาปนาขึ้นตั้งแต่พระเจ้าชัยวีรวรมัน
ซึ่งถูกพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 รุกไล่ถอยร่นมาปรากฏจารึกหลักสุดท้ายที่วัดจงกอ

เป็นไปได้ที่ปรางค์ประธานปราสาทพิมายจะสร้างขึ้นในสมัย
พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เและเสร็จลงเมื่อสิ้นรัชกาลพอดี จึงมีจารึกปรากฏอยู่

แต่เหตุใดจารึกพิมาย 2 ที่เป็นจารึกสำคัญ มีข้อความหลายบรรทัด
จึงเป็นจารึกของขุนนาง หาใช่จารึกพระราชโองการของกษัตริย์
แตกต่างจากปราสาทหลังอื่นๆ ถ้าที่นี่เป็นมหิธรปุระจริง
ใครจะกล้ามาสร้างจารึกไว้ที่ วัดหลวงของเมืองพระนคร

สอดคล้องกับคำจารึกว่า ใน พศ 1652 สร้างเมืองขึ้นบนพื้นที่ว่างเปล่า
ดังนั้นตลอดรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ที่นี่ไม่เคยเป็นเมือง
สิ่งเดียวที่ปราสาทพิมายจะเป็นได้ คือศาสนสถานที่เป็นศูนย์กลาง
ของพุทธศาสนามหายานของพื้นที่นี้ในเวลานั้น

ดังนั้นพื้นที่การปกครอง ที่มีเมืองอันใหญ่โตที่เป็นไปได้ในเวลานั้น
คือการที่พระองค์จะย้อนกลับไปสถาปนาฐานอำนาจเดิมของมหิธรปุระ
คือเมืองวิเทภะ ที่มีคนอาศัยอยู่มาอย่างยาวนานเป็นเมืองหลวง



มีการปรับปรุงปราสาทเมืองต่ำเป็นปราสาทประจำรัชกาล
ซึ่งเป็นศิลปะเฉพาะแบบคลังบาปวน ที่มีอายุร่วมสมัยกันได้
แต่เมื่อไม่มีจารึกปรากฏอยู่ เมืองนี้ก็ยังเป็นปริศนา

แล้วในรัชกาลของพระองค์มีจารึกหรือเปล่า เท่าที่หาดูคร่าวๆ มี 2 แห่ง
จารึกพนมวัน 3 กำหนดศักราช 1625 
เนื้่อหากล่าวพระราชโองการของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ให้ขุนนางกลุ่มหนึ่ง
เข้ามาดูแลพื้นที่นี้ แสดงให้เห็นว่าเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์
ก็มีการย้ายขุนนางที่ไว้ใจให้เข้ามาปกครองพื้นที่สำคัญเช่นกัน

จารึกสำนักนางขาว อ. นาดูน จ. มหาสารคาม
ไม่มีศักราชกำหนด กาษาเขมรโบราณ

ให้จารึกชื่อมรตาญศรีราชปติวรมัน พระกมรเตงอัญศรีราชปรติวรมัน
กำเสตงศรีราชปติวรมัน ซึ่งพระบาทกมรเตงอัญศรีชัยวรมันเทวะ
โปรดเกล้าให้จารึกสุพรรณบัฏทองคำเพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ในกมรเตงชคต..


กลับมาตอนที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์
สิ่งที่พระองค์ไม่มีในตอนนี้ ก็คือความชอบธรรม
ผ่านการเชื่อมโยงทางสายเลือดกับกษัตริย์เมืองพระนครในอดีต

จึงเป็นได้ว่าพระองค์ทรงสั่งให้ช่างจำลองเทวรูปพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1
ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ทุกคนในพื้นที่อีสานรู้จักกันจากสระกำแพงใหญ่
แต่เปลี่ยนจากท่วงท่าอันขึงขังมาเป็นกรฏมุทราที่สามารถเสียบดอกไม้
ไว้ที่ปราสาทบ้านยาง

โดยหล่อสตรีวันทาเพื่อเป็นการถวายสักการะด้วย
เพื่อสถาปนาเป็นเทวรูปที่ตระกูลมหิธรปุระจะเคารพ 
ปราสาทบ้านยาง คือเมืองที่ตระกูลมหิธรปุระถูกสั่งให้อพยพย้ายมา
ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1



อะไรคือความเชื่อว่าจะมีสร้างเทวรูปพระเจ้าสุริริยวรมันที่ 1 ไว้เพื่อบูชา
เหตุการณ์ในจารึกมักจะเป็นบันทึกแต่สิ่งที่เป็นเรื่องทางศาสนา
แต่บันทึกของราชฑูตอย่างโจวต้ากวนที่เข้ามาในปี พ.ศ. 1839
ได้เล่าเรื่องราวกิจวัตรของกษัตริย์ที่น่าสนใจไว้ประการหนึ่ง


ทุกคืนก่อนกษัตริย์จะเข้าบรรทมจะต้องเสด็จไปที่ปราสาททองคำ
(พิมานอากาศ) เพื่อหลับนอนกับภูติงูเก้าหัวที่เป็นเจ้าที่ 
หากวันใดไม่เสด็จไป ชีวิตของพระองค์ก็จะตกอยู่ในอันตราย

แน่นอนว่างูเก้าหัวย่อมไม่มีอยู่จริง แต่สิ่งที่เป็นจริงได้คือ เจ้าที่
เราไม่รู้ว่าประเพณีการขึ้นไปไหว้ผีบรรพบุรุษนั้นเริ่มมาแต่เมื่อใด
แต่เราทราบว่าปราสาทพิมานอากาศสร้างขึ้นในรัชกาลของ
พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ซึ่งน่าสนใจว่ามีอะไรตั้งอยู่บนนั้น


พ.ศ. 1650 พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เสด็จสวรรคต
พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 พระเชษฐาของพระองค์ขึ้นครองราชย์

พ.ศ. 1658  พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 เสด็จสวรรคต

หลังจากนั้นเป็นรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
ซึ่งจารึกในเมืองพระนครกล่าวว่า
พระองค์ทรงเอาชนะกษัตริย์ถึงสองพระองค์ก่อนขึ้นครองราชย์
ซึ่งตรงนี้เราคงเดาได้ว่า หนึ่งคือผู้ที่มีสิทธิ์ในบัลลังค์มหิธรปุระ
และสองคือผู้ที่ครองเมืองพระนครในเวลานั้น




จารึกพนมรุ้ง 7 ด้านที่ 1 เล่าย้อนเหตุการณ์กลับไปว่า
หิรัญวรมันและหิรัญยลักษมี ครองเมืองกษิตีนทรคราม
ทั้งสองคนได้ให้กำเนิดกษัตริย์ถึงสองพระองค์คือ 
พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 และพระเจ้าธรนิณธรวรมันที่ 1

หลังจากนั้นกษิตีนทราทิตย์หลานของหิรัญวรมัน ได้แต่งงานกับ
ลูกสาวของลูกสาวของหิรัญยลักษมี และให้กำเนิดพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
ดังนั้นถ้าต้นวงศ์ของมหิธรปุระ อยู่ที่กษิตีนทรคราม
นี่ก็คงเป็นชื่อเดิมของปราสาทบ้านยางนั่นเอง

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ก็คือสร้อยชื่อของเจ้าเมืองว่า - ทราทิตย์
เพราะเพียงแค่เติมคำว่าศรีอิน ลงไปข้างหน้า เราน่าจะคุ้นชื่อนี้กัน

พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 จะนำความงามของปรางค์ประธานพิมาย
ไปเป็นต้นแบบเพื่อสร้างปราสาทนครวัดอันยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียง


นเรนทราทิตย์ผู้เกิดจากภูปตีนทรลักษมี พระธิดาของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
ในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้ออกบวชเป็นฤาษี และสร้างปราสาทพนมรุ้ง
เหนือเมืองวิเทภะ ฐานอำนาจเก่าของมหิธรปุระนั่นเอง
 

จารึกพนมรุ้ง 7 ด้านที่ 4 กล่าวว่า เมื่อหิรัญยะบุตรของนเรนทราทิตย์
อายุได้ 20 ปี ได้ให้ช่างหล่อรูปของบิดาขึ้นด้วยทอง
นี่เป็นอีกหนึ่งในหลักฐานว่า การสร้างรูปบุคคลเพื่อบูชานั้นมีอยู่จริง
ส่วนรูปนั้นจะเป็น golden boy ได้หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าไม่




ด้วยความสำคัญของนเรนทราทิตย์น่าจะเป็นเพียงรูปขนาดเล็ก
ไม่ใหญ่ขนาดเท่า golden boy ได้ สองสถานที่ค้นพบก็ไม่ตรงกัน
สามการนุ่งผ้าของรูปนี้จะต้องเป็นสมัยนครวัดที่หลังจากนั้นไปมาก
และอย่างสุดท้ายก็คือเครื่องประดับที่ไม่อาจแต่งเหมือนกษัตริย์ได้แน่ๆ


กลุ่มคนผู้หล่อรูปสำริดกะไหล่ทองในเวลานั้น รวมตัวกันสร้างบ้านเมือง
ในที่ใดสักที่ อันห่างไกลจากอำนาจของพระนคร
พวกเค้ามีกองทัพที่ปรากฏชื่อในภาพสลักของปราสาทนครวัด

 ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ว่า แนะสยำกุก

ในอีก 150 ปี ต่อมา พวกเค้ามีจำนวนมากขึ้นและทยอยกันเข้ามา
ปรากฏตัวในเมืองพระนคร ตามบันทึกของโจวต้ากวนที่ว่า


พวกเสียนผู้มาใหม่แต่งกายด้วยผ้าไหมแพรบางสีดำ
ซึ่งพันธ์ุไหมและพันธ์ุต้นหม่อนนั้น นำมาจากประเทศเสียน  
ในขณะที่ชาวพื้นเมืองใช้เสื้อผ้าที่ทอจากต้นปอกระเจา
เมื่อชาวพื้นเมืองทำผ้าขาด ก็ต้องไปจ้างชาวเสียนปะชุนให้

 
การหล่อโลหะและการทำกะไหล่ทอง จะยังคงตกทอดกันมา
เป็นการทำพระพุทธรูปยืนปางแสดงธรรมสองพระหัตถ์
ที่พบกระจายในเมืองหลักๆ ของประเทศไทยหลังสมัยบายน
ซึ่งตรงกับช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18
 
จากหลายเมืองรวมกันเป็นเหล่าเครือญาติ
ผู้ปกครองคนหนึ่งที่สืบทอดอำนาจมาจากสายมหิธรปุระ
จะได้เกี่ยวดองกับผีฟ้าเจ้าเมืองยโสธรปุระได้นาม ศรีอินทรบดินทราทิตย์
ร่วมมือกับเจ้าเมืองบางยางโค่นล้มอำนาจของขอมสบาดโขลญลำพง
สถาปนาอาณาจักรใหม่อย่างสุโขทัยขึ้นมาได้

พวกเค้าจะทิ้งฝีมือไว้ในเทวรูปชุดพระศิวะและเทวะสตรีอันงดงาม
จากเทวสถานเมืองสุโขทัยที่แสดงกรฎมุทราและการกะไหล่ทอง
ไม่ต่างไปจากเทวรูป golden boy เลย
ฟังแล้วดูเหมือนนิยายชวนฝัน ก็ประมาณนี้ล่ะ



Create Date : 05 กรกฎาคม 2567
Last Update : 9 มกราคม 2568 20:55:17 น. 3 comments
Counter : 793 Pageviews.  

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณอุ้มสี, คุณปัญญา Dh, คุณหอมกร, คุณ**mp5**, คุณtuk-tuk@korat, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ


 
คุ้นๆ ว่าเห็นที่ไหนหรอ
ในบรรดาปราสาทที่ไปมา
สดก็อกก็อกธม
หรือพนมรุ้งหนอ


โดย: อุ้มสี วันที่: 5 กรกฎาคม 2567 เวลา:20:59:50 น.  

 
ถ่ายได้ชัดมากจ้า



โดย: หอมกร วันที่: 6 กรกฎาคม 2567 เวลา:21:04:40 น.  

 
นี่ถ้าไม่เคยศึกษา
จนนำมาเขียนเรื่องทับหลังจะไม่มีวันนึกออกเลย
แต่ถึงตอนนี้ก็ยังต้องค้นอ่านอีกที
ขอบคุณค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 11 กรกฎาคม 2567 เวลา:13:00:48 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]




[Add ผู้ชายในสายลมหนาว's blog to your web]