Apple has lost a visionary and creative genius, and the world has lost an amazing human being.

But his spirit will forever be the foundation of Apple. 6 October 2011

<<
สิงหาคม 2566
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
17 สิงหาคม 2566

จารึกวัดพระงาม : ทวารวตีวิภูติ (2)


 

หลังจากการเขียน blog ก่อนหน้า ก็มีโอกาสได้ดูสารคดี Thai PBS
ราชันแห่งลุ่มแม่น้ำมูล ทำให้ได้คำตอบในใจหลายอย่าง
ข้อสงสัยที่ว่าจารึกวัดพระงาม ถูกนำมาจากที่อื่นนั้น อาจจะไม่ใช่
จากการเชื่อมโยงกับเรื่องราว ของพระเจ้าจิตรเสนที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน
 
กล่าวคือ เราอาจจะกำหนดอายุจารึกวัดพระงามได้คร่าวๆ ว่า
อยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12 ในขณะที่การครองราชย์ของพระเจ้าจิตรเสนนั้น
กำหนด พ.ศ. 1143 ถึงราว พ.ศ. 1159 ซึ่งก็อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน
 

เรื่องแรกที่อยากจะกล่าวถึงก็คือ การไม่ปรากฏหินภูเขาไฟ
ในพื้นที่นครปฐมหมายถึง จารึกวัดพระงามมาจากที่อื่นหรือไม่

ในราชันแห่งแห่งลุ่มแม่น้ำมูล ได้พาเราไปพบจารึกของเจ้าชายจิตรเสน
ที่วัดแห่งหนึ่งฝั่งประเทศลาว โดยแผ่นหนึ่งเป็นแผ่นที่มีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์
ในขณะที่อีกแผ่นหนึ่งว่างเปล่า ทั้งสองแผ่นเป็นหินชนิดเดียวกัน ขนาดเท่ากัน
และจารึกพระเจ้าจิตรเสน หลักอื่นๆ หลายหลักที่กระจายตามพื้นที่ต่างๆ นั้น
ล้วนเป็นแบบ ขนาดและตัวอักษรเท่าๆ กัน
 
ทำให้เห็นว่าการทำจารึกต้องเริ่มต้นด้วยการจัดหาหินที่ตรงกับความต้องการ
เพราะจารึกคือพระบรมราชโองการของกษัตริย์
จึงต้องมีการจัดหาแผ่นหินที่ดีที่สุดเท่าที่หาได้ ไม่ว่าจะไกลจากไหนก็ตาม
ดังนั้นแม้เมืองนครปฐมจะไม่มีหินชนิดที่ตรงกับจารึกชิ้นนี้
ก็ไม่ได้แปลว่าจารึกนั้นทำจากอื่น แล้วจึงถูกเคลื่อนย้ายมา
 
คล้ายกับการจัดทำธรรมจักรสมัยทวารวดีที่พบได้มากกมาย
ตั้งแต่คูบัวขึ้นไปถึงนครสวรรค์  แต่ส่วนใหญ่นั้นคาดว่ามาจากแหล่งหินเดียวกัน
คือเขาย้อย เพชรบุรี หรือใบเสมาสีน้ำตาลแดงที่พบในอยุธยาและใกล้เคียง
ก็คาดว่ามาจากแหล่งหินเดียวกัน คือเขาแดง จังหวัดราชบุรี
 
ดังนั้นข้อสงสัยที่ว่า จารึกวัดพระงามไม่ได้ทำที่นครปฐม
เพราะไม่มีแหล่งหินนั้น ดูจะเป็นการตัดสินที่เกินความเป็นจริงไป
 


ข้อที่สอง คือการพบจารึกถูกนำมาใช้เป็นผนังเจดีย์ เหมือนกับการด้อยค่าหรือเปล่า
ความรู้ที่ได้จากสารคดีราชันแห่งแม่น้ำมูล คือ จารึกเจ้าชายจิตรเสนที่พบบางชิ้น
เช่น จารึกที่พบที่ศาลหลักเมืองสุรินทร์ มีร่องรอยการตัดทิ้งอย่างตั้งใจ
หรือการพบเศษหินที่น่าจะเป็นชิ้นส่วนจมูกโค ที่แหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน
ซึ่งตรงกับจารึกที่พบในบริเวณนั้นว่า มีการสถาปนาโคนนทิไว้ที่ตรงนี้
 
ทำให้เราสามารถจินตนาการได้ว่า
การทำสงครามเพื่อรวบรวมบ้านเมืองของเจ้าชายจิตรเสน
ตั้งแต่เมืองกระแจะไล่ขึ้นมาตามน้ำโขง จนเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำมูลนั้น
เมื่ออาณาจักรเจนละสิ้นอำนาจลง ก็มีการทำลายจารึก
และรูปเคารพทางศาสนาที่สถาปนาไว้ โดยชาวพื้นเมือง
 
ซึ่งมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอยู่มาถึงในสมัยหลัง
ที่โด่งดังก็เช่นการนำพระพุทธรูปไปฝังดินในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8
หรือพระอวโลกิเตศวรที่พบในเมืองไทย ก็มีร่องรอยถูกทุบทำลายเช่นกัน
นั่นอาจจะเป็นการแสดงความโกรธแค้นของชาวเมืองที่มีต่อคนต่างถิ่น
ที่เข้ามาบังคับการนับถือศาสนาที่แตกต่างไปจากสิ่งเดิมที่เคยเคารพบูชา
 

หรือในอีกมุมหนึ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะจารึกนั้นไม่ใช่เทวรูป
เราไม่พบร่องรอยการถูกทำลาย มีเพียงการกร่อนจากธรรมชาติ
สิ่งนี้อาจจะหมายความว่า เป็นคติการใช้ของที่สำคัญในอดีต
มาวางเป็นฐานของเจดีย์ เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่
 
โดยเอาจารึกพุทธศตวรรษที่ 12 มาใช้เป็นฐานเจดีย์ในพุทธศตวรรษที่ 14
ในกรณีนี้เราจะพบเห็นมาถึงปัจจุบัน เช่นการนำทับหลังสมัยบาปวน
มาประดับด้านหลังพระพุทธรูปที่วัดพระแก้ว สรรคบุรี
หรือการนำภาพสมัยทวารวดีมาประดับด้านหลังชุกชีพระศรีศาสดา วัดสุทัศน์
 
 

 

ข้อที่สามคือปัจจุบันนี้ เหลือหลักฐานใดที่สัมพันธ์กับจารึกนี้บ้าง
จะขอกล่าวถึง สิ่งเคารพที่เกี่ยวข้องกับ ปศุปตินิกาย นั่นคือศิวลึงค์
ในปัจจุบัน เราจะพบฐานโยนีที่พิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์
แต่ศิวลึงค์ที่สามารถใช้ศึกษารูปแบบนั้นได้หายไป
 
ที่เราทราบได้ เพราะมีภาพถ่ายของลูเซียง ฟูร์เนอโร (Lucien Fournereau)
นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ตีพิมพ์ภาพไว้ในหนังสือเมื่อปีปี พ.ศ. 2438
และให้ความเห็นว่า พระปฐมเจดีย์อาจจะสร้างเพื่อบูชาศิวลึงค์
ซึ่งตรงนี้หลายคนกล่าวว่า ชาวฝรั่งเศสน่าจะเข้าใจผิด โดยไม่ได้ให้คำอธิบาย
 
เราคิดว่า
หนึ่งเกิดจากคนแหล่านี้คงตีความว่า ฝรั่งมาเห็นพระปฐมเจดีย์ใหญ่โต
ก็ทึกทักว่าเป็นเขาพระสุเมรุ โดยไม่รู้เป็นของใหม่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4
และ
สอง ทวารวดีที่เป็นรัฐรับรู้กันมาว่านับถือศาสนาพุทธ 
ศิวลึงค์เหล่านี้จึงอาจเป็นการเข้ามาของ วัฒนธรรมขอมหลังทวารวดีล่มสลาย
 
แต่เมื่อดูรูปศิวลึงค์ที่เห็นในหนังสือนั้น มีลักษณะ กลม อ้วน สั้น
น่าจะกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 8-12 ซึ่งตรงกับศิวลึงค์จำนวนมาก
ที่พบที่ภาคใต้ ก่อนที่จะมีการทำศิวลึงค์ทรงสูงในสมัยเมืองพระนคร
 
และที่สำคัญอิทธิพลของเมืองพระนครที่เข้ามาในสมัยชัยวรมันที่ 7 นั้น
เป็นพุทธมหายาน และในเวลานั้นเมืองนครปฐมนั้นล่มสลายไปแล้ว
ไม่มีการพบปราสาทหรืออวโลกิเตศวรที่เมืองนี้
 
แม้จะกลับมาเป็นไศวนิกายในสมัยชัยวรมันที่ 8
ก็เป็นเวลาที่สั้นมาก  ก่อนที่จะเป็นพุทธเถรวาทต่อมา
และก็ไม่ร่องรอยว่า เขมรมีอิทธิพลต่อลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกต่อไป
 
ดังนั้นฐานโยนีและศิวลึงค์ 3 ชุด ที่พบที่เมืองนครปฐมนั้น
น่าจะเป็นหลักฐานศาสนาพราหมณ์นิกายปศุปติ
ตามที่กล่าวไว้ในจารึกวัดพระงาม
ก่อนที่จะรับพุทธเถรวาทในเวลาต่อมา ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน
ปัจจุบัน เราพบศิวลึงค์ที่น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น ที่ลานวัดพระประโทนเจดีย์
 
หรือทั้งสองศาสนาอาจจะอยู่ร่วมกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว
โดยดูจาก จารึกคาถาเยธรรมา พบที่ระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์
ปัจจุบันเก็บที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์
ตัวอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี บนหินสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 12
ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับจารึกวัดพระงาม
 

 
แล้วหากชาวฝรั่งเศสไม่ได้เข้าใจผิดล่ะ
ว่าพระปฐมเจดีย์คือเขาพระสุเมรุ อะไรคือความเชื่อมโยงนี้
น่าเสียดายที่จารึก คาถาเยธรรมา ที่กล่าวก่อนหน้าไม่รู้ว่านำมาจากที่ใด
 
แต่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ยังมีอีกหนึ่งจารึก
ที่กำหนดสถานที่พบได้ คือจารึกวัดโพธิ์ร้าง เป็นภาษามอญโบราณ
ตัวอักษรปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12 กล่าวถึง การสร้างพระพุทธรูป
การกำหนดเขตเสมาวิหารและการกัลปนาสิ่งของ
 
หากดูแผนที่ในปัจจุบัน วัดพระงามจะอยู่ทางทิศเหนือของพระปฐมเจดีย์
ส่วนวัดโพธิ์ร้าง จะอยู่แถวโรงเรียนราชินีบูรณะที่อยู่ทางทิศใต้
จะเห็นได้ว่า พระปฐมเจดีย์จะอยู่ตรงกลางของจารึกทั้งสองกลุ่ม
ทางเหนือเป็นศาสนาพราหมณ์ และทางใต้คือศาสนาพุทธเถรวาท
 
เมื่อศาสนาพราหมณ์ น่าจะเป็นสิ่งที่มาก่อน ดังนั้นพระปฐมเจดีย์
อาจจะเคยเป็นปราสาทเพื่อแทนเขาไกรลาสของพระศิวะก็เป็นไปได้
เมื่อศูนย์กลางของเมืองย้ายไปที่นครชัยศรี ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด
พระปฐมเจดีย์ก็ยังคงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่นี้
 
เขาพระสุเมรุอาจจะถูกแปลงเป็นเจดีย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
ในยุคทวารวดี เมื่อพุทธศาสนาเริ่มได้รับการนับถืออย่างเข้มข้น
เพราะการเข้ามาของพ่อค้า การเติบโตของชนกลาง พุทธศาสนาตอบโจทย์
ที่ทำให้คนเข้าถึงนิพพานได้ง่ายกว่าการแบ่งวรรณะแบบศาสนาพราหมณ์
 
ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปพร้อมกับเมืองโบราณนครชัยศรี
จบยุคของเมืองสมัยทวารวดีอย่างเป็นปริศนา
ในอีก 400 ปีต่อมา จารึกวัดศรีชุมโดยพระมหาเถรศรีศรัทธากล่าวถึง
บริเวณนี้ว่า ขอมเรียกว่าพระธม (เซเดส) ซึ่งภาษาเขอมแปลว่า ใหญ่ 

พระ มาจาก Vra ในภาษาสันสกฤต ใช้ได้กับศาสนสถาน
 ดังนั้นในเวลานั้นต้องมีศาสนสถาน ซึ่งอาจจะเป็นเจดีย์ใหญ่ 
ดังที่มหาเถรศรีศรัทธา กล่าวว่าท่านได้ก่อเจดีย์ขึ้นมาใหม่สูงร้อยสองวา
และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจดีย์นี้อยู่กลางเมืองพระกฤษณ์

เมื่อทวารวดี นั้นมาจากคำว่า ทวารกา + บดี  
และผู้ครองกรุงทวารกา คือ พระกฤษณะ
จึงค่อนข้างแน่ชัดว่า ทวารวดีในจารึกวัดพระงาม
คือเมืองนครปฐมในปัจจุบัน โดยมีศูนย์กลางที่ประปฐมเจดีย์
ตามที่พระมหาเถรศรีศรัทธา ได้กล่าวไว้ในจารึกวัดศรีชุม



ในขณะที่บางคนโยงว่า พระปฐมเจดีย์เป็นเจดีย์แห่งแรกในพุทธศาสนา 
ตามคำว่าปฐมที่แปลว่าเริ่มต้น กับการเผยแผ่ศาสนาของพระเจ้าอโศก
ว่าได้ส่งพระ
โสณะเถระและพระอุตตระเถระ มาขึ้นบกที่นี่
ซึ่งปัจจุบันแนวความคิดนี้ ยังไม่มีหลักฐานชั้นต้นสนับสนุน

แต่แทนที่จะเอาคำปัจจุบันมาตั้ง แล้วหาคำอธิบาย
เราต้องใช้หลักการว่า คำปัจจุบัน ต้องเพื้ยนมาจากคำโบราณ
ก็จะสอดคล้องจารึกของพระมหาเถรศรีศรัทธา
ว่าขอมเรียกว่าพระธม ที่จะกลายมาเป็นพระปฐม ตามคำบาลีที่คนไทยใช้กัน


จากปัจจุบันเชื่อกันว่า มีการสร้างเจดีย์แบบลังกาสมัยรัชกาลที่ 4
ครอบเจดีย์ทรงปรางค์สมัยอยุธยา ซึ่งสร้างครอบเจดีย์แบบทวารวดีไว้
คำถามคือ ทำไมไม่ทุบแล้วสร้างแบบที่อื่น นั่นแสดงว่า
สถานที่นี้มีความสำคัญ จึงต้องสร้างโดยรักษาสิ่งที่สำคัญมากไว้ภายใน

คำถามคือ เจดีย์แบบทวารวดี ทีพระมหาเถรศรีศรัทธาเห็นนั้นมีรูปร่างเช่นใด 
เราคงไม่อาจทราบได้ และมีคำถามเพิ่มว่า การสร้างที่ไม่ใช่การทุบ
แปลว่า เนินสูง อันเป็นที่ตั้งของพระปฐมเจดีย์ในปัจจุบัน
ต้องเป็นมาตั้งแต่สร้างเจดีองค์แรก ไม่เช่นนั้นจะสร้างครอบไม่ได้

เหตุผลอะไรที่ต้องสร้างเนินสูงไว้กลางเมือง ที่ไม่มีภูเขาธรรมชาติ
คำตอบนั้นง่ายมาก คือการสร้างภูเขาหรือสุเมรุจำลอง 
คำถาม ความเชื่อใดที่เหนียวแน่นกับเรื่องนี้
คำตอบคือ ไศวนิกาย ที่เชื่อเรื่องการสร้างศิวลึงค์ประดิษฐานไว้บนภูเขา

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช มีการจัดแสดงศิวลึงค์ทองคำ
ขนาด 2 ซม. จำนวน 2 ชิ้น ได้มาจากโบราณสถานเขาพลี
กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ร่วมสมัยกับจารึกวัดพระงาม
ที่กล่าวถึงความเชื่อในไศวนิกายเช่นกัน 

ซึ่งเขาพลีนั้นเป็นการนำศิวลึงค์ทองคำไปประดิษฐานในถ้ำของภูเขา
ที่มีสายน้ำไหลผ่าน โดยเชื่อว่าเป็นสถานที่มงคล หรือ ตีรถะ
ถ้านครปฐมไม่มีภูเขาธรรมชาติ ก็เพียงพูนดินขึ้นมาเป็นภูเขาจำลอง 
ก่อนที่ความเชื่อนี้จะหายไป แต่สถานที่นี้ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ตลอดมา
จนมีการสร้างเจดีย์ในพุทธศาสนา ครอบกันมาเป็นชั้นๆ จนถึงปัจจุบัน



ปริศนาอีกอย่างซ่อนอยู่ในข้อความของ พระมหาเถรศรีศรัทธา
ว่าขอมเรียกว่าพระธม นั้นหมายความอย่างไร 
หนึ่งไม่มีคำไทย ที่เรียกศาสนสถานขนาดใหญ่จึงยืมคำขอมมา 
หรือสถานที่แห่งนี้ มีชนชาวขอมมาจารึกแสวงบุญจึงเรียกชื่อเป็นขอม

ซึ่งประการหลังคงเป็นไปได้น้อยกว่า เพราะไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า
อาณาจักรพระนครเคยมีอำนาจ ทั้งโบราณวัตถุ หรือจารึกที่กล่าวถึงที่นี่
ดังนั้นน่าจะเป็นคำยืมมาใช้ เมื่อเห็นศาสนสถานขนาดใหญ่ 
ซึ่งต้องใหญ่มากจนต้องใช้คำนี้ ทั้งที่ในช่วงเวลานั้น
พระประโทนเจดีย์ก็สร้างมาก่อนในสมัยทวารวดีปรากฏอยู่แล้ว

แสดงให้เห็นว่า ในเวลานั้นพระปฐมเจดีย์อาจจะมีสภาพเป็นภูเขาดินขนาดใหญ่
ที่มนุษย์สร้างขึ้น และเคยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญประดิษฐานอยู่
พระมหาเถรศรีศรัทธาจึงให้ความสำคัญ จนต้องมาปฏิสังขรณ์
โดยไม่กล่าวถึงพระประโทนเจดีย์เลย

หลักฐานสุดท้ายอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครปฐม
นั่นคือ จารึกที่ลบเลือนไม่สามารถอ่านได้ และไม่ทราบสถานที่พบ
มีข้อมูลเพียงว่า จารึกสมัยสุโขทัย ราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 
พบที่ จ. นครปฐม

คำถามสำคัญคือ มันอยู่ที่นี่มาแต่เดิม หรือถูกเคลื่อนย้ายมาจากเมืองสุโขทัย
ในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 4 ที่มีการย้ายจารึกลงมาที่กรุงเทพ
ซึ่งอย่างหลังดูจะมีเหตุผลน้อยมาก เพราะในเวลานั้นจารึกที่อ่านไม่ได้
จะมีประโยชน์อะไร ในการเคลื่อนย้ายลงมา

ที่สำคัญคือ ทำไมต้องนำเลยจากกรุงเทพ ลงมาวางไว้ที่นครปฐม
ซึ่งสมัยนั้นก็ไม่ได้มีการค้นคว้ามากมาย ถึงความเกี่ยวพันระหว่าง
เมืองสุโขทัยกับพระปฐมเจดีย์ แล้วถ้าจารึกเคยอยู่ที่นี่ 
เป็นไปได้หรือไม่ว่า มันคือจารึกที่พระมหาเถรศรีศรัทธาได้ทำไว้

เนื่องในการบูรณะปฏิสังขรณ์พระธม ที่เป็นงานขนาดใหญ่จนสำเร็จลง
คำถามนี้ยังคงเป็นปริศนา 
 


จารึกวัดพระงามนั้นแต่งเป็นร้อยกรองทั้งหมด โดย 3 ใน 6 โศลกนั้น
เป็นฉันท์แบบ Śārdūlavikrīḍita ที่มีจังหวะราวกับเสือกระโดด
ซึ่งคนไทยรับฉันท์แบบนี้มาในชื่อของสัททุลลวิกกีฬิตฉันท์ 19
 
แต่เพิ่มความยากการแต่ง จากที่มีเพียงการกำหนดเพียงคำครุลหุ
มาเป็นการแบ่ง 1 โศลกหรือ 1 บาทให้ออกเป็น 3 วรรค
มีการบังคับสัมผัสระหว่างวรรค และบังคับสัมผัสระหว่างบาทอีกด้วย
คงเพราะคำไทยนั้นฟุ่มเฟือยมาก เหมาะแก่การแต่งพวกกาพย์กลอนฉันท์อยู่แล้ว 
 
ฉันท์แบบสารทูลวิกิตะจะนำเราไปยังจารึกอีกหนึ่งชิ้น
จารึกวัดมเหยงค์ นครศรีธรรมราช
จารึกเดิมก่อนที่จะมีการพบจารึกวัดพระงาม
ที่ได้รับการกล่าขานว่า มีการจารตัวอักษรที่สวยงามมากที่สุดในเวลานั้น

ตัวอักษรแบบปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12
หินสีดำ จำนวน 1 ด้าน 6 บรรทัด เนื้อหากล่าวถึงการการถวายเครื่องเขียน
ให้แก่พระที่น่าจะเป็นนิกายมหายาน เพราะมีคำที่กล่าวถึงปรัชญาปรมิตา
และอาหารบำรุงแก่คณะพราหมณ์ของพระอคสติมหาตมัน
จารึกนี้ทำให้เห็นภาพการอยู่ร่วมกันของพุทธมหายานและพราหมณ์ปศุปตินิกาย
 
จารึกมเหยงค์แต่งด้วยฉันท์ยาวในแบบเดียวกันกับจารึกวัดพระงาม
ทำให้เราจินตนาการได้ว่า เดิมจารึกนี้น่าจะเป็นรูปสีเหลี่ยมผืนผ้าเช่นเดียวกัน
แม้จารึกนี้จะได้รับการอ่านแปลและตีความโดยนักวิชาการมากมาย
แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีใครนำจารึกนี้ไปพิสูจน์ทางธรณีวิทยา
 
เพราะดูด้วยสายตาภายนอกแล้ว สีของหินชิ้นนี้เหมือนกับจารึกวัดพระงาม
นั่นอาจจะคลายปริศนาแหล่งที่มาของหินที่ใช้นำมาจารึกทั้งสองชิ้นนี้ได้




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2566
3 comments
Last Update : 23 เมษายน 2568 13:05:54 น.
Counter : 1558 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณhaiku, คุณtuk-tuk@korat, คุณหอมกร, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณ**mp5**, คุณnewyorknurse

 

ตอนนี้ตามอ่านของอาจารย์กังวลด้วยค่ะ
อ่านไปสนุกตื่นเต้นกับความรู้ใหม่ ๆ ไปด้วย
ในเฟสก็มีของคุณหนึ่ง
เรื่องที่ไปเจอหินจารึก เหมือนกันที่ฝั่งลาวก็จำไม่ได้ว่าใครพาไปดู

 

โดย: tuk-tuk@korat 17 สิงหาคม 2566 21:12:18 น.  

 

อ้าวเปลี่ยนมาถ่ายก้อนหินเสียแล้ว 555

 

โดย: หอมกร 18 สิงหาคม 2566 7:13:43 น.  

 

อร๊ายยยยย
น่าตามรอยไปมั่งค่ะ

 

โดย: อุ้มสี 23 สิงหาคม 2566 20:49:39 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]




[Add ผู้ชายในสายลมหนาว's blog to your web]