Apple has lost a visionary and creative genius, and the world has lost an amazing human being.

But his spirit will forever be the foundation of Apple. 6 October 2011

<<
กันยายน 2566
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
8 กันยายน 2566

จารึกวัดพระงาม : ทวารวตีวิภูติ (3)



ตอนนี้ในเดือนสิงหาคม 2566 เรื่องที่โด่งดังที่สุดคงไม่พ้นครูกายแก้ว
ซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ที่เมื่อก่อนหน้านั้นคนไทยแทบจะเชื่อตำนานในทุกเรื่อง
แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ที่อ้างไปถึงสมัยบายน
ถูกล้มล้างโดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จากนักวิชาการว่า มันไม่จริง
 
ครูกายแก้วถูกอ้างถึงว่า เป็นครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ซึ่งจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ก็ไม่ได้กล่าวถึงชื่อนี้ไว้
อ้างว่าสลักรูปไว้ที่ปราสาทบายน แต่กลับเอารูปที่ปราสาทนครวัดมาประกอบ
ซึ่งเป็นปราสาทที่มีมาก่อนสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 
 
และนั่นจะเป็นเรื่องที่ดีว่า ต่อไปคนทั่วไปจะฟังนักวิชาการ
มากกว่าการกล่าวเพื่อปิดปากว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
แต่เราสนใจภาพฤาษีที่อ้างอิงถึงมากกว่า ว่าเป็นภาพที่ถือว่าคุ้นตา
 
เราสามารถเห็นได้ในปราสาทหินทั่วไป ทั้งในไทยและเขมร
เมื่อเราเห็นฤาษี ก็น่าจะคิดถึงไศวนิกาย แต่ทำไมเรากลับไม่เห็น
เขมรโบราณสลักรูปพระศิวะเพื่อบูชา แต่ว่าประดิษฐานศิวลึงค์
ตอนท้ายของจารึกวัดพระงาม ก็กล่าวถึงการถวายสิ่งของแก่ปศุปติ
 
เรื่องนี้เกี่ยวพันกันอย่างไร
 


ปศุปตะเป็นลัทธิไศวนิกายแบบแรก ๆ ที่กำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย
สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 8

ปศุปติแปลว่า
เจ้าแห่งสรรพสัตว์
นิกายนี้จึงแสดงพระศิวะในภาพของ ความเป็นเจ้าแห่งสรรพสัตว์ทั้งปวง
นักวิชาการมักอ้างไปถึง ตราประทับรูปเทพเจ้าสวมเขาสัตว์
ในวัฒนธรรมโมเหนโจดาโรที่เก่าราว 3000-4000 ปีก่อน
 
มหากาพย์มหาภารตะกล่าวถึงพวกปศุปตะว่า ไม่เคร่งเรื่องวรรณะ

นิยมบูชาพระศิวะในรูปศิวลึงค์ ทาตัวด้วยเถ้าถ่านจากการเผาศพ
มีลาคุลิสะหรือนาคุลิสะเป็นศาสดาและเป็นผู้นำของนิกายนี้
โดยเป็นผู้แต่งปศุปตะสูตร ซึ่งเป็นคัมภีร์หลักว่าด้วยการปฏิบัติตน
 
โดยมีสานุศิษย์ที่สำคัญ 4 คน คือ คุสิกะ การ์กะ มิหิระ และเการุสยะ
ดังนั้นภาพฤๅษี 5 ตนที่ปราสาทพนมรุ้ง จึงอาจหมายถึงเรื่องนี้
นิกายนี้มีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือ การเป็นหนึ่งเดียวกับพระเป็นเจ้า
ด้วยการเริ่มฝึกปฏิบัติ ได้แก่ การทรมานกาย การปฏิบัติโยคะ
 
ไปจนถึงการปฏิบัติภายใน ได้แก่ การฝึกบำเพ็ญสมาธิ
ซึ่งกล่าวไว้ในจารึกภาษาสันสกฤต K.384 หรือจารึกปราสาทพนมรุ้ง 7
ภาษาสันสกฤต อักษรขอมโบราณ อายุพุทธศตวรรษที่ 18
จำนวน 4 ด้าน 76 บรรทัด ปัจจุบันเก็บที่ หอสมุดแห่งชาติ  
 

sthuladripasupata pada parayanena 
เป็นที่พึ่งของปศุปตะ แห่งสถูลาทริ (พนมรุ้ง)
 


ข้อความดังกล่าวอ้างอิงมาจากสื่อความรู้เรื่องไศวนิกาย
ณ ปราสาทพนมรุ้ง ของ facebook อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
แต่เมื่อไปเปิดในฐานข้อมูลจารึกประเทศไทย ที่รวบรวมโดย
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร กลับไม่พบข้อความดังกล่าว
 
จารึกนี้เป็นจารึกขนาดใหญ่ ที่มีผู้นำเนื้อความไปอ้างอิงมากที่สุด
รวมถึงการทรมานตนของนเรนทราทิตย์ ตามแบบของฤาษีนิกายปศุปติ
 เราจึงสนใจที่จะหาว่า ทำไมจึงไม่ปรากฏข้อความนี้ในฐานข้อมูลจารึก

จารึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ของสมเด็จพระเทพฯ
ซึ่งก็พบข้อความดังกล่าวจริงโดยปรากฏในบทที่ 65
เป็นวสันตดิลกฉันท์ ข้อความเต็มนั้นคือ
 

Sthuladripasupata pada parayanena
Yenanavadya hrdayena narendrasuryye
Sa sthula salia girisena guror narendra
Dityasya rupam akarodbhavamekabhutam
 
ผู้นี้ (หิรันยกะ) ได้สร้างรูปของนเรนทราทิตย์ผู้เป็นครู
ซึ่งเป็นศิวะที่เป็นรูปเหมือนอันเดียวกับพระศิวะแห่งสถูลไศละ
ซึ่งเท้าของท่านเป็นที่พึ่งแห่งปศุปตะแห่งสถูลาหริ (พนมรุ้ง)
ผู้มีใจอันบริสุทธิ์ต่อนเรนทรสูริยะ
 
วิทยานิพนธ์นี้ยังให้หมายเหตุไว้อีกว่า พบจารึกคำว่า ปศุปตะ
ที่เขมรโบราณครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอิศานวรมัน ราว พ.ศ. 1170
และหลังสมัยพระเจ้ายโสวรมันก็ไม่ปรากฏจารึกในลัทธิปศุปตะอีกเลย
แต่ลัทธินี้กลับมาปรากฏในจารึกปราสาทพนมรุ้ง ที่ห่างมาเป็นเวลานาน
 
ส่วนเหตุที่ไม่พบข้อความนี้ในคำแปลของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร
เนื่องจากเดิมจารึกนี้ พบแยกกันเป็นสองชิ้น
นักวิชาการเพิ่งจะทราบว่ามีจารึกอีกชิ้นที่มีเนื้อหาต่อกันกับชิ้นนี้
ฐานข้อมูลจารึก ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร
ยังใช้คำแปล ที่มีเพียงครึ่งเดียวจากการแปลครั้งแรก
 

 
จารึกเทวะนิกะพบที่เมืองโบราณวัดหลวงเก่า ใกล้กับปราสาทวัดพู
แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต
เขียนด้วยฉันท์สลับกับร้อยกรอง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11
จึงเก่ากว่าจารึกวัดพระงาม และจารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน

เนื้อหากล่าวถึง กษัตริย์ชื่อเทวะนิกะผู้มาจากแดนไกล
ได้เดินทางมาถึงที่ภูก้าว อันมีลักษณะเป็นศิวลึงค์ตามธรรมชาติ
ที่ปรากฏตามคัมภีร์ จึงได้สถาปนาและกำหนดพื้นที่ท่าน้ำ
ตรงริมแม่น้ำโขงให้เป็นท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์

ผู้ใดที่อยู่อาศัย อาบน้ำหรือตายที่นี่จะได้ผลบุญมาก
ส่วนใครที่ทำบาปหนัก ก็จะได้รับการชำระล้างไปจนหมด
 
พระเจ้ามเหนทรวรมันสถาปนาศิวลึงค์ ในสถานที่ที่พระองค์รบชนะ
ในขณะที่จารึกวัดพระงาม ก็กล่าวอ้างถึงนิกายปศุปติ
ทั้งสองสิ่งนี้ล้วนแล้วเป็นสิ่งเดียวกัน ดังนั้นกล่าวได้ว่า
ในช่วงเวลานั้น ต้องมีผู้มีวรรณะสูงจากอินเดียได้เดินทางเข้ามา
และส่งต่อความเชื่อเรื่องศาสนาให้กับผู้ปกครองในพื้นที่
 
ปราสาทวัดพูได้รับการเคารพบูชาเป็นที่แสวงบุญของกษัตริย์
ในอาณาจักรพระนครในเวลาต่อมาในนามของ ลึงคบรรพต
และแท่งหินศิวลึงค์ที่สถาปนาเป็นพระศิวะในชื่อ
ภัทเรศวร

ดูเหมือนจะมีปริศนาชิ้นใหญ่ที่ค้างคาใจผมมาโดยตลอดในเรื่องหนึ่ง
เหตุใดนักวิชาการจึงกล่าวว่า ฐานของพระธาตุพนมนั้นเป็นศิลปะจาม
ดูเหมือนศิลาจารึกแห่งวัดพูนี้จะให้คำตอบไว้

เมืองจำปาศักดิ์นั้นต้องเป็นชุมทางการค้าสำคัญมากในเวลานั้น
ก่อนการสถาปนายอดภูเก้า เพราะหากมีศิวลึงค์ในธรรมชาติ
แต่อยู่ในป่าเขาลึกผู้คนไม่สามารถเข้าถึง ก็คงไม่มีใครจะมาสถาปนา

ดังนั้นบริเวณนี้ต้องเป็นเส้นทางการค้าสำคัญ ที่เชื่อมไปถึงจามปาได้
จึงไม่แปลกที่จะพบศิลปกรรมปราสาทอิฐแบบจามปาที่ นครพนม
ซึ่งไม่ไกลจากปราสาทวัดพู แต่พวกเค้ามาที่นี่ทำไม

ดูเหมือนเหมืองทองแดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ ภูโล้น
จ. หนองคาย จะเป็นคำตอบ โลหะมีค่าที่คนทั่วโลกต้องการ
นี่อาจจะเป็นดินแดนสุวรรณภูมิ ในตำนานของพ่อค้าชาวอินเดีย
รวมถึงชื่อเมืองจำปาศักดิ์ นั้นอาจจะหมายถึง ศักดิ์แห่งจามปา
ซึ่งมาจากศักติ ในภาษาสันสกฤต ที่หมายถึง อำนาจก็เป็นไปได้ 




 

Create Date : 08 กันยายน 2566
2 comments
Last Update : 23 เมษายน 2568 13:22:59 น.
Counter : 616 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณtuk-tuk@korat, คุณหอมกร

 

ยิ่งอ่านตามยิ่งสนุกค่ะ

 

โดย: tuk-tuk@korat 8 กันยายน 2566 17:00:14 น.  

 

อู้ฮู ครูกายแก้วมีสตอรี่เสียด้วยนะนี่



 

โดย: หอมกร 8 กันยายน 2566 20:48:30 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]




[Add ผู้ชายในสายลมหนาว's blog to your web]