|
 |
| 1 | 2 | 3 | 4 |
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | 29 | 30 | |
|
|
 |
20 เมษายน 2552
|
|
|
|
เรื่องเล่าแห่งมหาภารตะยุทธิ์ (10)
จาก blog ที่แล้วจะเห็นว่ามีตัวละครที่ถูกสาปโดยนางเทราปตี 3 คน คือ ทุรโยธน์ ทุหศาสัน และกรรณะ ซึ่งเรารู้ว่าสองคนแรกคือ พี่น้องเการพ แต่กรรณะล่ะ เป็นใครถึงได้เข้านอกออกใน ใกล้ชิดพี่น้องเการพเช่นนั้น สำหรับผม กรรณะเป็นตัวละครที่มีมิติมากที่สุดในเรื่องนี้เลยทีเดียว
จำเรื่องพิธีขอลูกของพระนางกุณตีได้ไหม ว่าครั้งที่นางยังเป็นวัยรุ่น ฤาษีทุรวาส ผู้หยั่งรู้เรื่องราวว่าในอนาคต ว่าราชวงศ์กุรุจะมีปัญหาในการสืบสันตติวงศ์ จึงเดินทางมายังแคว้นที่พระนางอาศัยอยู่ เพื่อมาสอนคาถาที่สามารถใช้เรียกเทพ ให้มาปรากฏกายต่อหน้าได้ หลังจากฤษีทุรวาสจากไป พระนางได้ทดสอบคาถาบทนั้นทันที พระอาทิตย์ก็มาปรากฏกาย แล้วก็ขอมีอะไรกับพระนาง
เมื่อพระนางคลอดบุตรออกมา ก็ไม่สามารถจะเลี้ยงดูไว้ได้ เนื่องจากจะเป็นทีครหานินทา เพราะยังไม่ได้แต่งงาน จึงเอาบุตรแห่งสุริยเทพ ที่เกิดมานั้นใส่ตะกร้าหวายซึ่งปูรองด้วยผ้าไหมอย่างดีลอยน้ำไป พระอาทิตย์ก็ให้พรและบอกว่าบุตรของนางจะเป็นนักยิงธนูฝีมือเยี่ยม พร้อมกับได้วางเกราะวิเศษที่ไม่มีผู้ใดจะทำลายได้ไว้กับตัวทารก
ทากรกน้อยลอยไปตามกระแสน้ำ สารถีของท้าวธฤตราษฏร์ชื่อนันทนะ และภรรยาคือนางราธาซึ่งไม่มีบุตรด้วยกันได้เก็บไปเลี้ยงไว้ เมื่อเติบโตขึ้นกรรณะก็ได้เล่าเรียนร่วมกับพี่น้องเการพและปาณฑพ แต่เมื่อถึงวิชาการยิงธนูขั้นสูง โทรณาจารย์กลับปฏิเสธที่จะสอนให้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่บุคคลวรรณะกษัตริย์เท่านั้น ที่จะมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน
กรรณะจึงออกตามหาอาจารย์ของโทรณาจารย์ ซึ่งก็คือฤๅษีปรศุรามนั่นเอง หากโทรณาจารย์มีฝีมือธนูเยี่ยมเพียงใด ปรศุรามผู้เป็นอาจารย์ย่อมเหนือกว่า แต่นิสัยของปรศุรามนั้นเกลียดวรรณะกษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง กรรณะจึงต้องโกหกว่า ตนเป็นวรรณะพราหมณ์ ปรศุรามจึงสอนวิชาให้กรรณะเหมือนดั่งลูกของตนเอง
แต่วันหนึ่งปรศุรามได้ออกไปเที่ยวป่ากับกรรณะ เมื่อเหนื่อยล้าก็ได้นอนบนตักของกรรณะ แล้วเผอิญมีแมลงตัวหนึ่งได้เข้ามากัดด้วยฟันที่แหลมคมที่ขาของกรรณะ กรรณะไม่อยากให้ฤๅษีปรศุรามที่ตนรักและเคารพเหมือนบิดาต้องตื่นขึ้น จึงทนความเจ็บปวดไว้ได้ แต่เลือดของกรรณะกลับกระเด็นเข้าที่ใบหน้าของปรศุราม ฤๅษีปรศุรามตื่นขึ้นมาและรู้ว่ากรรณะเป็นคนวรรณะกษัตริย์ เพราะมีเพียงวรรณะนี้เท่านั้น ที่จะทนกับความเจ็บปวดได้ถึงเพียงนี้ จึงสาปกรรณะว่า ในเวลาที่คับขัน ในเวลาแห่งความเป็นความตาย เจ้าจะลืมวิชาที่ข้าสอนมาจนหมดสิ้น
กรรณะจึงจำต้องเดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางนั้นได้เจอกับเสียงแปลก ๆ ด้วยสัญชาตญาณ กรรณะจึงยิงธนูออกไปยังเสียงนั้น แต่กลับกลายเป็นว่าได้ยิงธนูเข้าใส่วัวที่กำลังติดหล่มอยู่ของพราหมณ์ผู้หนึ่งตาย พราหมณ์ผู้นั้นจึงสาปว่า หากกรรณะสู้กับศัตรูก็ขอให้รถศึกของเขาติดหล่มโคลน และศัตรูนั้นจะไม่ฟังคำขอร้องของกรรณะที่ต้องการต่อสู้ที่ยุติธรรม เยี่ยงนักรบที่มีเกียรติ
เมื่อเดินทางกลับมาที่แคว้นกุรุ กรรณะก็เดินผ่านกลุ่มลูกศิษย์ของโทรณาจารย์ เห็นอรชุนกำลังคุยโอ่ถึงฝีมือการยิงธนูที่ยอดเยี่ยมของตัวเอง กรรณะจึงเดินเข้าไปท้าประลอง แต่อรชุนกลับมองด้วยสายตาที่หยามเหยียด เนื่องจากกรรณะเป็นเพียงวรรณะศูทรที่ต่ำต้อย แต่ขณะนั้นเองทุรโยทธ์ที่เห็นเหตุการณ์ จึงเดินเข้ามาแล้วตบบ่ากรรณะ แล้วบอกว่า ต่อแต่นี้เจ้าจะไม่ใช่คนในวรรณะศูทร เพราะข้าจะยกแคว้นอังคะที่ได้รับมอบในฐานะยุพราชให้เจ้าเป็นผู้ปกครอง
นั่นจึงเป็นที่มาของน้ำมิตรที่สามารถตายแทนกันได้ของกรรณะ และจุดเริ่มต้นของความเกลียดชังที่มีต่ออรชุนและพี่น้องทั้งหลาย ที่ไม่มีสิ่งใดจะมาลบเลือนมันออกไปจากใจของเค้าได้
ก่อนสงครามจะเริ่มต้นขึ้น พระอินทร์บิดาของอรชุนนั้นรู้ว่า กรรณะนั้นเป็นนักรบที่มีฝีมือของยอดเยี่ยม ในสงครามไม่แน่นักว่าอรชุนจะเอาชนะได้ และตอนที่กรรณะเกิด พระอาทิตย์ได้มอบเกราะที่สามารถต้านทานอาวุธทุกชนิดได้ พระอินทร์จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์เพื่อมาขอเกราะของกรรณะไปให้อรชุนสวมใส่ เนื่องจากเป็นธรรมเนียมของชาวอินเดียว่า เมื่อพราหมณ์ขอสิ่งใดก็จำต้องมอบให้
ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของสงคราม พระกฤษณะ ในฐานะคนกลางที่เข้ามาไกล่เกลี่ย ความขัดแย้งของพี่น้องเการพและปาณฑพได้โอกาสอยู่ตามลำพังกับกรรณะที่นอกเมือง พระกฤษณะจึงแย้มพรายที่มาของกรรณะ ว่าแท้จริงกรรณะนั้นมีที่มาที่แท้จริงเป็นอย่างไร แต่แม้กระนั้น กรรณะเองแม้จะตกใจกับการรู้ถึงชาติกำเนิดของตนด้วยน้ำตา แต่เค้ายังยืนยันที่จะออกรบในฐานะขุนศึกของทุรโยธน์
แม้ในคืนสุดท้ายก่อนสงครามจะเริ่มต้นขึ้น พระนางกุณตีได้ลอบเข้ามายังค่าย และเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่ออดีตให้กรรณะฟัง และชี้ให้เห็นว่าหากกรรรณะเลือกที่จะ เดินตามพระนางออกไป ในฐานะพี่ชายคนโดของพี่น้องปาณฑพ อรชุนก็จะเป็นได้เพียงสารถี ยุฐิธีระก็จะมีหน้าที่เพียงคนถือร่ม ภีมะก็จะเป็นเพียงองครักษ์ และนกุลและสหเทพ ก็จะต้องเดินตามหลังกรรรณะ เพราะเค้าคือพี่ชายคนโตของพี่น้องเหล่านั้น
และที่สำคัญที่สุด เหล่าพี่น้องก็จะไม่จำเป็นต้องมาฆ่าฟันกันเอง
แต่กระนั้นน้ำตาของมารดาผู้ให้กำเนิดก็ไม่อาจจะล้างน้ำใจ ที่กรรณะมีต่อสหาย อย่างทุรโยธน์ได้ กรรณะยังเข้าร่วมรบในสงครามด้วยความตั้งใจมากกว่าใคร เพราะนั่นคือการตอบแทนความรักที่มีต่อสหายเช่นทุรโยธน์ แม้จะรู้ว่าจุดจบของตัวเอง ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าด้วยคำสาปของปรศุรามและพรามหณ์เจ้าของวัวแล้วก็ตามที
กรรณะจึงเป็นบุคคลที่น่าเศร้า น่าชิงชัง น่าสงสาร น่าเคารพ ปะปนอยู่ในคนเดียว
Create Date : 20 เมษายน 2552 |
|
4 comments |
Last Update : 16 เมษายน 2553 9:55:36 น. |
Counter : 2631 Pageviews. |
 |
|
|
| |
โดย: NATSKI13 20 เมษายน 2552 12:44:28 น. |
|
|
|
| |
โดย: VET53 20 เมษายน 2552 13:24:57 น. |
|
|
|
| |
โดย: VET53 20 เมษายน 2552 16:01:07 น. |
|
|
|
| |
|
 |
ผู้ชายในสายลมหนาว |
|
 |
|
|
ถ้าไม่มีแบบย่ออย่างใน blog นี้ สงสัยผมจะไม่ได้อ่านแน่