เมื่อตะวันยอแสง..เรี่ยวแรงก็เริ่มอ่อนล้า..พักลงตรงนี่ที่เดิมแล้วหลับตา..
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2555
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
17 ตุลาคม 2555
 
All Blogs
 
ท่องแดนพญานาค เลียบริมโขง โยงสัมพันธ์ “หนองคาย – บึงกาฬ”

สะพานมิตรภาพไทย - ลาว เเห่งเเรก
จังหวัดน้องใหม่ล่าสุด อย่าง “บึงกาฬ” ที่เพิ่งแยกตัวออกมาจากจังหวัดหนองคายเมื่อปีที่แล้ว แต่ถึงจะแยกจากกัน ก็คล้ายจะจากกันเพียงกาย แต่ยังเชื่อมร้อยความสัมพันธ์กันไว้ด้วยเส้นทางเลาะเลียบริมแม่น้ำโขง อันเป็นที่มาของเส้นทางท่องเที่ยวเลาะเลียบฝั่งโขง “หนองคาย - บึงกาฬ” ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานอุดรธานี(รับผิดชอบพื้นที่ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ) ร่วมกับนิตยสาร Voyage ร่วมกันส่งเสริมให้เป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวอันน่าสนใจในภาคอีสาน อันเป็นเป้าหมายในการออกทัวร์ของ “ตะลอนเที่ยว” ในทริปนี้

“หลวงพ่อพระใส” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหนองคาย
เส้นทางนี้เริ่มต้นกันที่ “วัดโพธิ์ชัย” ใน อ.เมือง จ.หนองคาย ซึ่งภายในพระอุโบสถประดิษฐาน “หลวงพ่อพระใส” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหนองคาย ซึ่งถ้าใครจะไปสักการะนั้น ต้องจุดธูปเทียนบูชาภายนอกพระอุโบสถก่อน จึงจะเข้าไปกราบหลวงพ่อพระใสที่ด้านใน

“หลวงพ่อพระใส” เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก และเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปสามพี่น้อง คือ “พระเสริม พระสุก พระใส” ซึ่งมีตำนานการสร้างว่า พระธิดาสามพี่น้องของกษัตริย์ล้านช้าง (บ้างก็ว่าเป็นธิดาของพระไชยเชษฐาธิราช) ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ขึ้น 3 องค์ ตามลำดับ จากนั้นก็ประดิษฐานไว้ที่อาณาจักรล้านช้าง

อุโบสถวัดโพธิ์ชัย ที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระใส และ พระธาตุอรหันต์
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้นที่เมืองเวียงจันทน์ จึงมีการยกพลมาปราบ เมื่อสำเร็จแล้วก็ได้มีการอันเชิญ พระเสริม พระสุก และพระใส ประดิษฐานมาบนแพไม้ไผ่ล่องมาตามแม่น้ำงึม เพื่อจะมาที่หนองคาย แต่เกิดพายุแรงจนพัดพระสุกจมลงน้ำหายไป และได้อัญเชิญองค์พระที่เหลือคือพระเสริม ประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย และพระใส ประดิษฐานไว้ที่วัดหอก่อง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระใสและพระเสริมมาประดิษฐานไว้ที่วัดปทุมวนาราม โดยนำขึ้นประดิษฐานบนเกวียน เมื่ออัญเชิญหลวงพ่อพระใสมาถึงวัดโพธื์ชัย ก็มีการแสดงปาฏิหาริย์จนเกวียนหักจึงได้อัญเชิญหลวงพ่อพระใสมาประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัยจนถึงปัจจุบัน และได้สมญาว่า "หลวงพ่อเกวียนหัก" ส่วนพระเสริมนั้นลงมาประดิษฐานที่ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ

บรรยากาศร้านค้าภายในตลาดท่าเสด็จ
มาถึงหนองคายทั้งที จะให้เข้าวัดเข้าวาเพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่ได้ ไหนๆ ก็มาเลาะเลียบริมแม่น้ำโขง ก็ต้องมาแวะที่ “ตลาดท่าเรือ” หรือ “ตลาดท่าเสด็จ” ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย ที่เป็นตลาดริมแม่น้ำโขง และหากมองไปยังฝั่งตรงข้ามก็คือ นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว

ท่าเสด็จยามพลบค่ำ
ตลาดท่าเสด็จเป็นตลาดการค้าของไทย-ลาว มาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีต เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าจากแถบอินโดจีนและยุโรปตะวันออก ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารแปรรูปต่างๆ และอาหารท้องถิ่นของชาวหนองคายที่ไม่ควรพลาดจะลองลิ้ม เพื่อจะได้การันตีว่ามาถึงถิ่นแล้วแน่ๆ

เลือกชมเลือกชิมให้อิ่มท้อง แล้วมาอิ่มตาอิ่มใจกับบรรยากาศสบายๆ ริมแม่น้ำโขง บางแห่งก็ยังเป็นจุดโพสต์ท่าถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก หรือใครมีเวลามากหน่อย อาจจะทำเรื่องผ่านแดน ข้ามสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว (แห่งที่ 1) ไปเที่ยวยังฝั่งเพื่อนบ้านของเราได้ด้วย

ศาลาแก้วกู่
เที่ยวหนองคายจนเพลิน และอิ่มหนำไปกับการช้อปปิ้งของกินของใช้แล้ว ก็ไปต่อกันบนเส้นทางสู่บึงกาฬ แต่ก่อนนั้นขอแวะพักเที่ยวที่ “ศาลาแก้วกู่” หรือ “วัดแขก” ที่มองแล้วคล้ายพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งขนาดใหญ่ เพราะจัดแสดงรูปปั้นทางศาสนา ตามความเชื่อของหลวงปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ ที่ว่า หลักคำสอนของทุกศาสนาสามารถนำมาผสมผสานกันได้ จึงทำให้ที่นี่มีทั้งพระพุทธรูปปางต่างๆ เจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้าในศาสนาฮินดู รูปปั้นในศาสนาคริสต์ รูปปั้นจากเรื่องรามเกียรติ์ และรูปปั้นจากตำนานพื้นบ้านต่างๆ

รูปปั้นต่างๆ ตามความเชื่อของหลวงปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์
ภายในความกว้างใหญ่ของสถานที่ที่จัดแสดงรูปปั้นมากมาย หากเดินชมไปเรื่อยๆ นอกจากจะได้ชมศิลปะการปั้นแล้ว ก็ยังจะได้ความรู้และคติเตือนใจจากคำบรรยายของรูปปั้นต่างๆ เดินดูเดินอ่าน แล้วก็คิดตามไปด้วย เชื่อว่าคงได้ประโยชน์กับตัวเองไม่มากก็น้อย

จากศาลาแก้วกู่ “ตะลอนเที่ยว” เดินทางเลาะเลียบฝั่งโขง มุ่งหน้าสู่ จ.บึงกาฬ จังหวัดน้องใหม่ของไทย ที่เพิ่งผ่านวันเกิดครบ 1 ขวบปีมาได้ไม่นาน

ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค
ในเส้นทางนี้ ระหว่างทางนั้นจะผ่าน อ.โพนพิสัย และ อ.รัตนวาปี ของจังหวัดหนองคาย ก่อนจะเข้าสู่ อ.ปากคาด จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเส้นทางนี้นอกจากจะลัดเลาะเลียบริมแม่น้ำโขงแล้ว หากใครที่รู้จักกับบั้งไฟพญานาค จะต้องรู้จักชื่อของอำเภอโพนพิสัยเป็นอย่างดี จากปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือช่วงคืนวันออกพรรษา

ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคนั้นจะปรากฏให้เห็นในวันออกพรรษา ซึ่งจะมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศมารอชมลูกไฟกลมๆ สว่างๆ ที่ผุดขึ้นจากน้ำ ลอยขึ้นไปบนฟ้า แล้วหายไปในอากาศ แม้จะยังอธิบายอย่างแน่ชัดไม่ได้ แต่ปรากฏการณ์นี้ก็ทำให้ผู้คนหลั่งไหลกันมาอย่างมืดฟ้ามัวดิน มาที่ อ.โพนพิสัย รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง มารอชมความน่าอัศจรรย์ของปรากฏการณ์นี้

วัดอาฮงศิลาวาส
เมื่อมาถึงบึงกาฬ จุดแรกที่พลาดไม่ได้ก็คือ “วัดอาฮงศิลาวาส” ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งประดิษฐาน “พระพุทธคุวานันท์ศาสดา” พระพุทธรูปที่งดงามลักษณะเดียวกันกับพระพุทธชินราช และมีความเชื่อว่า หากใครมาสักการะก็จะประสบความสำเร็จด้านโชคลาภ และเมตตามหานิยม

พระพุทธคุวานันท์ศาสดา
อีกจุดสำคัญก็คือ “แก่งอาฮง” แม่น้ำโขงบริเวณหน้าวัดอาฮง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง เรียกกันว่า “สะดือแม่น้ำโขง” ซึ่งเคยมีการวัดความลึกโดยใช้เชือกผูกกับก้อนหินหย่อนลงไปด้านล่าง วัดได้ถึง 98 วา (ประมาณ 196 เมตร) ชาวบ้านเชื่อว่า ณ จุดสะดือแม่น้ำโขงนี้ก็คือวังบาดาลของพญานาค และเป็นจุดชมบั้งไฟพญานาคอีกแห่งหนึ่งของลำน้ำโขง

แก่งอาฮง-สะดือแม่น้ำโขง
มาที่ “แก่งอาฮง” หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจในบึงกาฬ นอกจากจะมาชมบั้งไฟพญานาค ในวันออกพรรษา ก็ยังสามารถมาชมทัศนียภาพของที่นี่ได้ทั้งปี โดยในช่วงน้ำหลาก กระแสน้ำจะไหลวนเป็นกรวยขนาดใหญ่ และเมื่อกรวยน้ำแตกจะได้ยินเสียงคล้ายกระแสน้ำไหลเซาะโขดหิน แต่หากมาในช่วงน้ำแล้ว ก็จะสามารถมองเห็นแก่งได้อย่างชัดเจน และกลุ่มหินที่ปรากฏบริเวณแก่งอาฮงจะมีชื่อเรียกตามลักษณะของหิน เช่น หินลิ้นนาค หินปลาเข้ ถ้ำปลาสวาย เป็นต้น

หลวงพ่อพระใหญ่วัดโพธาราม พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองบึงกาฬ
ส่วนพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวบึงกาฬ ก็คือ “หลวงพ่อพระใหญ่” แห่งวัดโพธาราม พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านบอกว่า มีการพบหลวงพ่อพระใหญ่บริเวณป่าทึบเมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว (บ้างก็ว่าท่านลอยน้ำมาติดที่ริมน้ำโขง)

วิธีแก้บนโดยใช้บั้งไฟหรือตะไล เอกลักษณ์ของวัดโพธาราม
สมัยก่อนนั้นหากมีผู้มาขอพร เมื่อได้รับพรสมความปรารถนาแล้ว ก็จะนำสีเหลืองมาทาองค์หลวงพ่อ ทำให้ในปัจจุบัน หลวงพ่อพระใหญ่มีสีเหลืองทอง ส่วนการแก้บนวิธีอื่นๆ ก็จะใช้บั้งไฟ หรือ ตะไล มาแก้บนกับองค์หลวงพ่อ โดยการจุดบั้งไฟน้อย 9 ลูก ยิงข้ามไปยังฝั่งโขง นับเป็นการแก้บนที่มีเอกลักษณ์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้ที่มากราบไหว้ก็มีความเชื่อว่า จะทำให้เจริญรุ่งเรือง มีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่ขึ้น และมีโชคลาภ แคล้วคลาดปลอดภัย แต่ข้อห้ามของที่วัดนี้ก็คือ สงวนสิทธิ์การขึ้นไปกราบไหว้บูชาภายในพระอุโบสถให้เฉพาะผู้ชาย ส่วนผู้หญิงนั้นห้ามขึ้น ให้กราบไหว้สักการะได้บริเวณหน้าโบสถ์เท่านั้น

“ภูทอก” วัดเจติคีรีวิหาร
สถานที่อีกแห่งที่ “ตะลอนเที่ยว” อยากจะแนะนำเพราะเป็นสถานที่ขึ้นชื่อและโดดเด่นของจังหวัดบึงกาฬ นั่นก็คือ “ภูทอก” แห่งวัด “วัดเจติคีรีวิหาร” หรือ “วัดภูทอก” ใน อ.ศรีวิไล

ภูทอก เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่ทางวัดเจติคีรีวิหาร เปิดให้ประชาชนทั่วไปขึ้นไปเที่ยวชมได้ ดังนั้นการขึ้นเที่ยวชมภูทอกต้องสำรวม ไม่ส่งเสียงดัง เคารพสถานที่ และแต่งกายให้สุภาพ ผู้หญิงที่นุ่งสั้นทางวัดไม่อนุญาตให้ขึ้น

บรรยากาศชั้นที่ 5 ซึ่งสามารถที่จะกราบไหว้ขอพรและนั่งพักตากลมชมวิว
คำว่า “ภูทอก” ในภาษาอีสานนี้หมายถึง ภูเขาที่โดดเดี่ยว และก็น่าจะโดดเดี่ยวตามชื่อ เพราะต้องเดินผ่านเส้นทางวนขึ้นเขาถึง 7 ชั้น ก่อนจะขึ้นไปชมทัศนียภาพรอบๆ และขึ้นไปถึง “วัดเจติคีรีวิหาร” หรือ “วัดภูทอก” ซึ่งเส้นทาง 7 ชั้นที่ว่านี้ เป็นสะพานไม้ที่สร้างด้วยแรงศรัทธาของพระสงฆ์ สามเณร และชาวบ้าน รวมเวลากว่า 5 ปี จึงจะแล้วเสร็จ

เส้นทางในการเดินขึ้นในแต่ละชั้นทำให้เหนื่อยเมื่อยล้าพอควรเพราะมีความลาดชัน แต่ด้วยความสวยงามและความร่มรื่นของเส้นทางก็ทำให้พอหายใจหายคอได้สะดวก เมื่อถึงชั้นที่ 5 ก็จะพบกับศาลาและกุฏิพระ ซึ่งก็สามารถที่จะกราบไหว้ขอพรและนั่งพักตากลมชมวิวได้เช่นกัน ส่วนจุดชมวิวที่สวยที่สุดนั้น ก็คือบริเวณทางขึ้นระหว่างชั้น 5 ชั้น 6 และชั้น 7 จะมีลักษณะเป็นสะพานไม้เวียนรอบเขาที่สูงชัน ระหว่างเดินอาจเกิดความหวาดเสียวสักเล็กน้อย แต่ใครที่กลัวความสูงหรือใจไม่กล้าพอก็อาจจะต้องถอดใจ

สะพานไม้สุดเสียวขึ้นภูทอก
แม้ว่าจะเสียว แต่เส้นทางนี้ก็มีทิวทัศน์ที่ถือว่างดงามมาก และนับเป็นไฮไลท์ในการมาที่ภูทอก ระหว่างทางเดินนั้น มีบางมุมที่สามารถมองไปถึงภูลังกาที่อยู่ห่างออกไป (จะมองเห็นหากท้องฟ้าเปิดโล่ง) หรือบางมุมก็เห็นไปไกลถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับจังหวัดนครพนม สำหรับการเดินบนเส้นทางนี้ต้องใช้ความระมัดระวังพอควร เนื่องจากเป็นจุดที่อยู่สูงมาก แต่ถึงจะเหนื่อย เมื่อย และเสียว พอได้เห็นภาพในมุมสูงที่สวยประทับใจแล้ว ก็ทำให้ลืมความรู้สึกเหนื่อยเมื่อยไปได้เลย

ทัศนียภาพมุมสูงบนภูทอก

เส้นทางการท่องเที่ยวในบึงกาฬยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ น้ำตกภูถ้ำพระ น้ำตกชะแนน น้ำตกสะอาม หรือใครที่นิยมชมชอบการกินนั้น ก็ยังมีตลาดลาวในอำเภอเมืองให้ได้แวะลองชิมอาหารพื้นถิ่นและเลือกซื้อสินค้ามากมาย ซึ่งตลาดจะเปิดเฉพาะวันอังคารและวันศุกร์ โดยจะมีพ่อค้าแม่ขายชาวลาวมาขายของให้เราได้จับจ่าย

และนี่ก็คือเสน่ห์ของ 2 ดินแดนริมฝั่งโขง “หนองคาย-บึงกาฬ” ที่แม้ปัจจุบันจะถูกแยกเป็นคนละจังหวัดกัน แต่ในความสัมพันธ์ที่มีมาแต่ดั้งเดิมนั้นยังคงแนบแน่น ไม่ได้เสื่อมคลายหายไปไหน

***************************************************
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลการท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร และการเดินทาง ใน จ.หนองคาย-บึงกาฬ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุดรธานี (ดูแลพื้นที่ อุดรฯ หนองคาย บึงกาฬ) โทร.0-4232-5406-7



โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์




Create Date : 17 ตุลาคม 2555
Last Update : 17 ตุลาคม 2555 19:07:21 น. 0 comments
Counter : 1937 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สาว17
Location :
ลูกสาวเมืองสิงห์ Germany

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Color Codes ป้ามด







เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตครอบครัว
มีบางครั้งที่เราต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ
มีบ้างบางครั้งที่เราต้องเลิกทำในสิ่งที่ชอบ
เพื่อความก้าวหน้าของชีวิตครอบครัว
มีบ่อยครั้งที่เราต้องรู้จักใช้สติ
ต้องรู้จัก อดทน และให้อภัย
ดูอย่างต้นไม้ซิ
มันไม่เคยที่จะผืนลิขิตของฤดูกาล
มันไม่คิดจะขัดธรรมชาติ
เมื่อถึงคราวต้องทิ้งใบก็ยินยอมแต่โดยดี
อดทนและอดทน
เพื่อผลิใบ และดอกผลเมื่อฝนมา
เพราะเมื่อเวลามาถึงทุกสิ่งจะดำเนินไป
ชีวิตที่เรียบง่ายคือชีวิตที่มีสุข








Free Hit Counter ทีเว็บมาสเตอร์ รวมพลคนทำเว็บ
Google
New Comments
Friends' blogs
[Add สาว17's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.