Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
11 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 
ปั่นจักรยานพิชิตเก๊าต์



ด้วยความเป็นคนชอบรับประทานอาหารประเภทสัตว์ปีก เนื้อวัว และเครื่องในสัตว์ เป็นชีวิตจิตใจ
จู่ๆวันหนึ่ง เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เก๊าต์ก็เข้าจู่โจมให้คุณธริษตรี จุลกทัพพะ หรือคุณเจี๊ยบ
ตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากนกปีกหักโดยไม่ทันตั้งตัว

“วันนั้นไปกินนกพิราบที่สีลมกับเพื่อนๆ พอเช็คบิล ก็ปวดระบมไปทั้งตัว โดยเฉพาะที่หัวเข่า ลุกเดินไม่ได้
ต้องหิ้วปีกเข้าลิฟต์ลงมา ตอนนั้นปวดมาก เชื่อไหมว่ากลับมานอน เปิดพัดลมโดนผิวยังปวดเลย”

คุณเจี๊ยบโขยกเขยกไปหาหมอ เมื่อรู้ว่าเป็นเก๊าต์และตัวกระตุ้นชั้นดีก็มาจากเรื่องอาหารการกิน
คุณเจี๊ยบจึงงดอาหารแสลง ทั้งไก่ เป็ด ห่าน นก แตงกวา ผักกระถิน
หน่อและยอดผักต่างๆ ที่เคยเป็นของโปรดทันที จนทำให้อาการดีขึ้น

เขาได้คิดว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรคที่อาจจะหลบซ่อนอยู่นานปี
มากำเริบจนแสดงตัวออกมาในครั้งนี้ คือการห่างหายจากการปั่นจักรยานที่ทำเป็นประจำ
เพราะก่อนหน้านี้เขาเองไม่เคยมีปัญหาเรื่องกระดูกหรือแขนขาเลย แถมยังแข็งแรงกว่าคนวัยเดียวกันด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุนี้คุณเจี๊ยบจึงมั่นใจว่าหากตัวเองหันมาปั่นจักรยาน ก็จะเอาชนะโรคร้ายนี้ได้อย่างแน่นอน

“ไม่กินยาเลยแม้แต่เม็ดเดียว แต่วันแรกๆ ที่ยังปวดมากอยู่ ก็ยังปั่นไม่ได้
ระหว่างนี้ก็พยายามดื่มน้ำมากๆ เพื่อไล่กรดยูริกที่สะสมอยู่ตามข้อ ผ่านไปอาทิตย์หนึ่งพอจะปั่นได้ ก็ปั่นเลย”

คุณเจี๊ยบเล่าถึงขั้นตอนการปั่นจักรยานหนีเกาต์อย่างละเอียดลออว่า
“ต้องปั่นอย่างต่อเนื่องโดยใช้เกียร์เบา แต่ไม่เบาซะทีเดียว ปั่นด้วยแรงที่พอตึงๆ เท้า
แต่พยายามปั่นให้ได้ความเร็วรอบขาราวๆ 80-100 รอบต่อนาที อย่าหักโหมจนเหนื่อยมาก ให้ยังพอคุยรู้เรื่อง
ชีพจรเต้นประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ อย่างอายุ 40 ก็อยู่ประมาณ 120 ต่อนาที
ระหว่างปั่นจะกินน้ำไปด้วย ชั่วโมงหนึ่งดื่มเป็นลิตรถึงสองลิตร”

โดยส่วนตัวคุณเจี๊ยบเข้าใจว่าด้วยวิธีดังกล่าว นอกจากจะทำให้ร่างกายได้เหงื่อแล้ว
ยังได้ออกซิเจนเข้าไปเผาผลาญพวกไขมันที่เกาะอยู่ตามข้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
หลังจากนั้น 2 อาทิตย์ คุณเจี๊ยบก็เพิ่มเวลาในการปั่นขึ้นตามลำดับ

“หลังจากที่ปั่นวันละครึ่งชั่วโมงปั่นเกือบสองอาทิตย์ ก็เพิ่มมาปั่นต่อเนื่องให้ได้อย่างน้อย 45 นาที
อาจเป็นชั่วโมงหนึ่งบ้าง 45 นาทีบ้างก็แล้วแต่ แต่พยายามไม่ให้ต่ำกว่าวันละ 45 นาที
การปั่นเพื่อรักษาต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ช่วงนั้นปั่นจักรยานอาทิตย์ละ 5 วัน
เสาร์อาทิตย์ปั่นไปบนถนนกับเพื่อนๆ วันละชั่วโมง สองชั่วโมงทุกอาทิตย์
ถ้าเป็นวันธรรมดาก็จะปั่นอยู่กับที่ในบ้าน”

“จักรยานที่ใช้เป็นจักรยานแบบที่เราขี่เป็นประจำคือ เสือหมอบหรือจะเป็นจักรยานมีเกียร์อื่นๆ ก็ได้
แล้วใส่เครื่องที่จับล้อล๊อคล้อแล้วก็ปั่นอยู่กับที่ ปั่นไปด้วยดูทีวีดูละครไปด้วย ด้วยความความเร็วรอบขาเหมือนกัน
ปั่นแบบนี้เราก็ต้องพยามยามระวังตัวเองไม่ให้ออกแรงจนดุเดือด
ปั่นให้พอหายใจพริ้ว ให้เหงื่อออก แล้วก็ดื่มน้ำไปด้วย”

หลังจากตั้งหน้าตั้งตาปั่นจักรยาน ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะเป็นทางออกที่แท้จริง
โดยไม่ต้องพึ่งพายาที่อาจทิ้งผลเสียไว้กับร่างกาย ก็พิสูจน์ได้ว่าอาการค่อยๆ พลิกกลับมาดีวันดีคืนขึ้นตามลำดับ

“หลังจากปั่นจักรยานแบบจริงจัง ต่อเนื่อง ไม่กี่วันอาการก็ดีขึ้น หัวเข่าที่เคยบวม เหมือนบวมน้ำก็ยุบลง
อาการปวดก็ดีขึ้นเรื่อยๆ พอได้สักเดือนหนึ่ง หายเลย คือหายแบบไม่เจ็บไม่บวม ไม่เป็นอะไรอีกเลย”

แม้ร่างกายจะกลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว
แต่สำหรับคุณเจี๊ยบ โรคเก๊าต์ที่เป็นอยู่ ยังมีปัจจัยอื่น นอกเหนือจากอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วย
นั่นคือ พันธุกรรมจากคุณพ่อ ดังนั้นจะต้องมีความพยายาม ที่จะรู้รักษาตัวให้ดียิ่งกว่าผู้ป่วยโรคเกาต์คนอื่นๆ
เพราะหากละเลยตัวเองกลับไปเดินในเส้นทางที่ทำลายสุขภาพเข้าอีก
ศัตรูถาวรอย่าง ”เกาต์” ก็พร้อมที่จะเล่นงานเสมอ

“ปัจจุบันไม่ได้ปั่นมากเท่าเดิม แต่ก็พยายามปลีกเวลาปั่นให้ได้ในวันเสาร์อาทิตย์
พยายามรักษาไว้สัปดาห์ละวันสองวันอย่างนี้ แล้วก็ควบคุมอาหาร กินพวกของแสลงน้อยลง
ผลที่ออกมาก็คือไม่เป็นอะไรเลย นี่ขนาดปั่นแค่อาทิตย์ละวันสองวันนะ”


สุขภาพดีเพราะขี่จักรยาน

“ที่ปฏิเสธยาและการรักษาของหมอ เพราะทั้งโดยส่วนตัวและประสบการณ์ที่ได้จากการปั่นจักรยาน
ทำให้เชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ การรักษาด้วยวิธีธรรมชาติน่าจะดีที่สุด
อย่างก่อนหน้านี้เป็นทอนซิลอักเสบทุกปีก็หายขาดไปเลย พอมาถึงเกาต์จึงเชื่อว่าจักรยานต้องช่วยได้”

ประโยชน์ต่อสุขภาพที่ดีอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีกคือ
การมีกลุ่มเพื่อนที่รักสุขภาพเข้ามา เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพกันและกัน


“เชื่อไหมว่าคนที่แรกๆ อาจมาปั่นเอาสนุก แต่เมื่อปั่นเยอะขึ้นจะกลายเป็นคนรักสุขภาพไปในตัว
จะเริ่มคุยกันเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา เรื่องอาหาร ปั่นๆ ไปแล้ว รู้สึกดี สุขภาพดีขึ้น ได้สังคม
พวกเก่าๆ ก็เริ่มสอน เราก็ได้จากตรงนี้ติดตัวมา”

ก่อนจากกัน คุณเจี๊ยบฝากมาบอกสำหรับคนที่จะเริ่มอยากปั่นจักรยานว่า
“จักรยานดีต่อสุขภาพ การจะมีจักรยานซักคันไม่ได้สำคัญที่ราคา ถ้าซื้อมาคันละแค่ไม่กี่บาท แต่ไม่ปั่นก็ถือว่าแพง”


ข้อมูลโดย : นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 226
ที่มา : //www.cheewajit.com


Create Date : 11 กรกฎาคม 2553
Last Update : 11 กรกฎาคม 2553 17:04:24 น. 0 comments
Counter : 2139 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.