ภัยแห่งสังสารวัฏนั้น น่ากลัวยิ่งกว่าภัยอื่นใด - อัสติสะ
Group Blog
 
All blogs
 

๓๓๐ - จิตผูก ผูกจิต




การนำจิตให้คล้อยตามกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เข้ามากระทบโดยความไม่รู้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอารมณ์นั้น ๆ ย่อมเป็นไปในการผูกตัณหา เป็นการนำไฟร้อน ๆ เข้ามาสุมยังบ้านคือเรือนใจให้ได้รับความร้อน ความกระวนกระวาย เมื่อสิ่งที่เคยกระทบนั้นไม่ได้สมดังใจหรือไม่ได้รับการตอบสนองที่ถูกใจ หรือเมื่อสิ่งเหล่านั้นได้พลัดพรากจากไปแล้ว จิตย่อมเกิดความทุกข์ และความเศร้าหมองเข้ามาเยือน เหตุนี้เองเพราะความไม่รู้เท่าทันแห่งการปรุงแต่งของรูปที่เข้ามากระทบ เมื่ออินทรีย์ยังอ่อนล้า พละยังอ่อนแรง การเลี่ยงต่อสิ่งเหล่านี้ได้ย่อมเป็นผลดีต่อการปฏิบัติธรรม

แต่หากเรายังไม่อาจจะมีภูมิคุ้มกันทางจิตที่ดีพอ และยังต้องเผชิญต่อสิ่งเปลี่ยนแปลงทางภายนอกและภายในอยู่ตลอดเวลา อย่างการใช้ชีวิตร่วมกับสังคมที่วุ่นวายในปัจจุบันเช่นนี้ ความลุ่มหลง หลงไหล ที่สิ่งที่ปรารถนา และการผลักไสในสิ่งที่ไม่ปรารถนา จึงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อเชื่อขณะ ในช่วงที่กำลังประสบต่อสิ่งที่เข้ามากระทบสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่


จิตที่เข้าไปผูกกับสิ่งที่เข้ามากระทบ เพราะไม่ทราบถึงความเป็นไป และการตอบสนองของกระบวนการที่เกิดขึ้น เหตุนั้นเนื่องจากจิตเกิดดับรับรู้สัมผัสได้อย่างรวดเร็วมากถึงมากที่สุด จนสติ ปัญญาของมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายไม่อาจจะเข้าไปแทรกกั้นระหว่างการสืบต่อได้ทัน นี่จึงเป็นที่มาของตัณหาและความลุ่มหลง เนื่องจากจิตเข้าไปผูกกับสิ่งที่เข้ามากระทบนานเกินไป การสร้างความมีตัวตนจึงเกิดขึ้นมา และค่อย ๆ ฝังแน่นเนื่องจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต ตราบนั้นก็ยังไม่สามารถละอุปาทานความยึดมั่นในความเป็นตัวเป็นตนอยู่ สิ่งนี้จึงเป็นแรงดูดสำคัญทำให้สัตว์ทั้งหลายแสวงหาภพใหม่สร้างกระบวนการเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่รู้เบื่อ



ตัณหามีทั้งความยินดีในรสของกาม และรูปสัมผัสที่ชอบ และการผลักไสในสิ่งที่ไม่ชอบ มันก็วน ๆ เวียนอยู่อย่างนี้ มีความทุกข์บ้างสุขบ้าง บางครั้งก็เป็นความสุขแบบดิบ ๆ หมายถึง มันไม่ใช่ความสุขที่แท้ เป็นความสุขแบบแห้ง ๆ ไม่ช้าไม่นานก็จะถูกความทุกข์บางอย่างเข้าครอบงำ กลายเป็นความทุกข์ไป เมื่อมีความทุกข์มนุษย์ก็วนเวียนไขว่คว้าหาความสุขอีก เพื่อนำมาบรรเทาความทุกข์ที่เพิ่งเข้ามาเบียดเบียน แต่นั่นเป็นเพียงการบรรเทา แต่ไม่ใช่แนวทางแห่งการดับทุกข์อย่างแท้จริง ไม่ช้าปัญหาเช่นเดิมก็จะวนเกิดอีกครั้งอย่างแน่นอน

ในคราวที่พระพุทธเจ้าท่านไปเรียนวิชา อาฬารดาบส อุทกดาบส ท่านสำเร็จฌาณขั้นสูงสุด มีความสงบเยือกเย็นเหลือประมาณ ความทุกข์ในขณะที่อยู่ในฌาณไม่สามารถเข้ามาเยือนได้เลย แต่นั่นก็ยังไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์เป็นเครื่องบรรเทาชั่วคราวเท่านั้น

และเมื่อจิตของเราเข้าไปผูกกับสิ่งที่นำมากระทบอย่างใดอย่างหนึ่ง แนวทางที่เราจะสามารถฝึกตัวเองให้ได้ นั่นคือการเรียนรู้การผูกจิต นั่งท่องเอาไว้เสมอ

"เมื่อจิตผูก....ก็ผูกจิต"


อย่าให้มันลุ่มหลงไปกับตัณหามากเกินไป ดั่งเช่น วัวพยศที่ชาวนาผูกไว้ มันย่อมกระวนกระวายในการดิ้นรน เพื่อความต้องการของมัน เช่น มันอยากอาหาร มันอยากไปหาวัวเพศเมีย มันอยากวิ่งเล่นมันอยากได้อิสระภาพ ฯ จิตของเรามันก็มีความอยากประเภทนี้เหมือนกัน แต่เราจะปล่อยวัวพยศนี้ไปโดยไม่ผูกไม่ดึงไว้บ้างไม่ได้ เพราะ เราก็จะไม่มีทางฝึกให้วัวตัวนี้ทำงานไถนาหรือใช้ลากเกวียนได้เลย ฉันใดก็ฉันนั้น จิตเราก็ต้องเรียนรู้ในการผูกไม่ให้หลงไปกับกิเลสไว้บ้าง เพื่อให้เราสามารถฝึกจิตที่กล้าแข็งต่ออกุศลมากขึ้น เมื่อใดที่มีสติระลึกรู้ว่ากำลังจะหลงไปในทางที่ไม่ดี ก็ดึงจิตกลับมาที่หลักคือสติ แรก ๆ เชือกที่ใช้ผูกก็จะมีความยาวหน่อย เพราะหากสั้นเกินไป จะมีความเครียดเกินไป ย่อมเป็นไปด้วยความเบื่อหน่ายสุดท้าย โอกาสที่จะคิดเลิกปฏิบัติจึงมีสูง

การผูกที่ดีคือต้องค่อยเป็นค่อยไป รู้ว่าจิตเรามันหลงอะไร และมันกำลังจะทำอะไรต่อไป ก็ปล่อยไปก่อน เมื่อถึงเวลาก็ดึงมันกลับมายังฐานที่ตั้งแห่งสติ เมื่อเกิดขึ้นมาอีกก็ดึงกลับมาอีก เป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ บางครั้ง เราอาจหลงเพลิดเพลินอยู่กับความคิดนานเป็นชั่วโมง (ปล่อยเชือกยาวไปหน่อย) ซึ่งก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะความกระทบกระทั่งของปุถุชนมีมาก และจัดการได้ยาก ตัวอย่างเช่น ตัวข้าพเจ้าเอง ซึ่งบางครั้งนั่งสมาธิแล้ว หลงอยู่กับความคิด บ้างก็เรื่องที่ชอบและไม่ชอบ มารู้ตัวอีกทีก็ครึ่งชั่วโมงไปแล้วเป็นต้น อย่างนี้เป็นความหลงที่ใช้ไม่ได้ (นักปฏิบัติอย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง)

ที่เล่าให้ฟังนี้ก็เป็นแนวทางเล็ก ๆ สำหรับการเรียนรู้กับสิ่งที่เข้ามากกระทบ และไม่ให้จิตเราหลงไหลกับสิ่ง ๆ นั้นมากเกินไปจนเกินความจำเป็น เอาไว้เป็นอุบายในการปฏิบัติ ที่เขียนมานี้ก็เป็นของง่ายต่อการเขียน เป็นทฤษฏี แต่ท่านลองปฏิบัติดูจะรู้ว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายทีเดียว เพราะการวิ่งสังเกตุและไล่จับความคิดตัวเอง แล้วดึงกลับมาได้นี่...มันเหนื่อยไม่ใช่เล่นจริง ๆ

10 ภาพพัฒนาจิต จากเวบ thai.mindcyber.com เข้าไปอ่านแล้วชอบ ๆ และสอดคล้องกับเนื้อหาในบทนี้ เลยเอามา share กัน

และขอขอบคุณ รูปภาพงาม ๆ จาก //www.rayongphotoclub.com มากมายเช่นเคย ครับ
สารบัญ




 

Create Date : 24 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2554 21:07:42 น.
Counter : 1083 Pageviews.  

๓๒๙ - โมฆะบุรุษ



โมฆะบุรุษ คือ ผู้ว่างเปล่าจากการทำความดี เป็นผู้ที่ได้อัตภาพการเป็นมนุษย์แต่ใช้อัตภาพนั้นเป็นไปในหนทางแห่งการทำความชั่ว มีการกระทำผิดศีลธรรมต่าง ๆ ที่ชัดเจนที่สุดคือการผิดศีลห้าประการ อันมีตั่งแต่การ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ และการดื่มสุราของมึนเมา พุทธศาสนาไม่ได้กล่าวเรื่องศีลห้านี้เป็นข้อห้าม เราจึงเป็นชาวพุทธผิดศีลเหล่านี้กันโดยมาก แต่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นองค์ศาสดา ท่านชี้ให้เห็นเป็นทางเลือกมากกว่า

ท่านอธิบายให้เห็นว่า หากทำแล้วได้อะไร ไม่ทำแล้วจะเกิดอะไร แล้วแต่ใครจะทำหรือไม่ทำ ศีลเหล่านี้เป็นข้อเว้นสำหรับชั้นฆราวาสที่สนใจการปฏิบัติ แต่ในธรรมวินัยสำหรับพระ ถือว่าเรื่องศีลนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เป็นข้อห้ามที่เด็ดขาดและมีโทษตามระเบียบวินัย เพราะธรรมวินัยนั้น เป็นสิ่งสำคัญส่วนหนึ่งที่จะเป็นตัวกำหนดอายุขัยของพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านจึงบรรยัติบทลงโทษสำหรับภิกษุผู้ผิดต่อพระธรรมวินัย

แต่ในชั้นฆราวาสแล้วจะไม่มีโทษอย่างนั้น ท่านชี้เพียงเรื่องศีลห้าเป็นเพียงเครื่องเว้น ส่วนโทษนั้นเป็นเรื่องกรรมวิบาก ซึ่งจะส่งผลเองในอนาคต ไม่มีใครมาพิพากษา เพราะมันเป็นกฎของกรรมตามธรรมชาติ เหมือนกับกฎฟิสิกส์ข้อสามของนิวตัน "ทุกแรงกิริยาย่อมมีแรงปฏิกิริยาที่มีขนาดเท่ากันแต่ทิศทางตรงกันข้ามเสมอ" แรงนั้นก็จะมีผลสะท้อนกลับมาหาเราเช่นกัน เช่น ตัวอย่างของการขว้างบอลเข้าหากำแพง กำแพงเองก็จะมีแรงสะท้อนกลับลูกบอลย้อนมาหาเรา เป็นต้น

การเกิดเป็นโมษะบุรุษ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ว่ารวมหมายถึงสตีด้วยก็ได้ มีให้เห็นอยู่ในสังคมอย่างกลาดเกลื่อน ผู้คนมากมายต่างสับสนวุ่นวายการภาระหน้าที่การงาน บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นน้อยต่อชีวิต แต่เราใช้เวลากับสิ่งนั้นมากมาย แต่เรื่องการทำความดี เป็นสิ่งที่มีค่าต่อตัวเราเองและสังคมโดยรวม เรากับให้เวลาและคุณค่ามันน้อยจนเกินไป เพราะศีลธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องค้ำจุน และรับประกันความร่มเย็นของสังคมมนุษย์ หากเราขาดสิ่งนี้ หรือว่ามีน้อยเต็มที สังคมโดยรวมหรือแต่ตัวเราเองก็จะประสบกับความวุ่นวายทางด้านจิตใจ และร่างกายอย่างไม่รู้จบ

เพราะฉนั้นหากเรามีเวลาก็หมั่นทำความดี เจริญทาน ศีล สมาธิภาวนา กันบ้าง โดยเฉพาะการภาวนานั้น เป็นสิ่งสำคัญ เราไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิ หรือ เดินจงกรม เพียงแต่เราค่อย ๆ ทำใจให้สงบแม้ในยามลืมตานั่นแหละ พยายามสลัดความทุกข์ยากอันเกิดจากความคิด จำไว้ว่าความทุกข์ที่ร้ายแรงของมนุษย์ส่วนใหญ่แล้วก็มาจากความคิด ฟุ้งซ่าน ความกลัวที่ไร้สาเหตุ แต่หากหมั่นเจริญภาวนา แล้วเราก็จะเริ่มมีสติ มองเห็นความคิดของเราเอง และปัญหาทั้งหลายก็จะถูกแก้ไขด้วยสติและปัญญา หากแก้ไขไม่ได้ก็จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ในที่สุด จึงอยากฝากเรื่องการเจริญภาวนาไว้สำหรับหลายท่านที่กำลังเกิดวิกฤติการณ์ในชีวิต อย่ารอให้เรามีความทุกข์ก่อนแล้วค่อยหาทางแก้ไข แต่เราควรจะหาวิธีรับมือกับมันก่อนจะดีกว่า เพื่อให้เราเกิดมาชาตินี้จะได้ไม่เป็นโมฆะบุรุษ โมฆะสตรีกัน

ขอขอบคุณ รูปภาพงาม ๆ จาก //lukkaew.diaryclub.com มากมาย ครับ




 

Create Date : 22 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2554 20:49:52 น.
Counter : 1795 Pageviews.  

๓๒๘ - แพมด



จำได้ว่าในสมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก ในช่วงฤดูน้ำหลากคือ ประมาณเดือน สิงหาคม – กันยายน ก็จะรู้สึกสนุกแบบเด็ก ๆ เพราะเราจะได้เห็นน้ำในแม่น้ำเยอะมากอย่างผิดปกติ ข้าพเจ้ามักจะตามไปดูน้ำในแม่น้ำกับผู้ปกครอง เห็นสิ่งต่าง ๆ ลอยตามน้ำมา แต่วิถีของคนชนบทก็ยังสามารถที่จะเรียนรู้และอยู่กับน้ำได้ เช่น การหาปลาตอนน้ำหลาก เป็นต้น

ในวันหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้ามองดูสายน้ำกับพวกเพื่อนสมัยเด็กนั้น ก็เห็นวัตถุแปลก ๆ เป็นก้อนดำ ๆ ลอยมากับน้ำ ด้วยความเป็นเด็กก็เลยเอาไม้ไปเงี่ย ๆ ดู ซึ่งก็รู้ได้ว่าวัตถุที่ลอยตามน้ำมานั้นไม่ใช่อะไร แต่เป็นฝูงมดดำที่รวมตัวกันลอยเป็นแพเพื่อหนีน้ำ ตามวิสัยของมดย่อมไม่ค่อยชอบกับน้ำอยู่แล้ว อย่างเช่น หากเราเอาน้ำไปเทลงใต้ต้นไม้ที่มีรังมดอยู่ รับรองสักพักพวกมมันคงต้องช่วยกันขนไข่มดออกมากระเจิงอยู่นอกรัง แต่หากถึงขั้นวิกฤตที่มันไม่สามารถที่จะหนีไปได้แล้ว พวกมันก็จะรวมตัวกันต่อเป็นแพ แล้วก็ลอยตามน้ำเพื่ออพยบ ไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่ เพราะลำพังหากมดหนีแบบตัวใครตัวมันรับรองว่า จมน้ำตายกันได้หมดแน่

สัตว์เล็กมีกำลังน้อย ยังรู้จักสามัคคีกัน แต่สัตว์ใหญ่กว่าสติปัญญามากกว่า แต่มีความทนงตัวสูง ในยามที่ภัยมา คาดว่าสามารถเดินคนเดียว หนีคนเดียวได้ หรือรอคอยการช่วยเหลือเพียงคณะทำงานเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ไม่ช้าบ้านเมือง และสังคมส่วนใหญ่ของเราก็ไปไม่รอด เกิดความระส่ำระส่ายโกลาหล

กลุ่มสังคมก็เหมือนเช่นเดียวกับกลุ่มของมด เรี่ยวแรงของมนุษย์ก็มีอย่างจำกัด แม้จะมีสติปัญญามากกว่าสัตว์อื่น ๆ ก็ตามที แต่หากเรารวมกลุ่มกันช่วยเหลือกัน เราก็จะสามารถรอดจากวิฤติครั้งนี้ไปได้ และร่วมกันสร้างสังคมใหม่ ทรัพย์สินที่สูญเสียไปย่อมหาเอาใหม่ได้ แต่ชีวิตของเราต่างหากที่สำคัญมากว่าสิ่งใด ได้ยินข่าวบางคนเครียดเรื่องน้ำมากถึงกับต้องฆ่าตัวตายก็มี นั่นเป็นการหาทางออกที่ผิดวิธี เพราะความเห็นที่ผิด เสาะหาวิธีพ้นทุกข์แต่เป็นการเพิ่มทุกข์ให้กับคนรอบข้างและตัวเองในภพหน้า

ชีวิตของมด ปลวกนั้นเป็นสิ่งที่เราน่าศึกษามาเป็นแบบอย่าง หลายคนบอกว่ามันเป็นสัตว์ที่ไม่มีสมอง แต่มันมีชีวิตและการกระทำเดินไปตามสัญชาตญาณ แต่ก็เคยมีข่าวหรืองานวิจัยบางอย่างบอกว่า ในช่วงที่ก่อนจะเกิดภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม หรือแผ่นดินไหว ก็ให้สังเกตุจากสัตว์เหล่านี้ เพราะสัตว์เหล่านี้จะมีสัมผัสพิเศษที่จะรู้ภัยได้ล่วงหน้า เป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มา เพื่อทดแทนมันสมองอันน้อยนิด ในสมัยก่อน ปู่ของข้าพเจ้ามักจะสอนให้สังเกตุมดดำตรงเสาบ้านให้ดี ถ้าพวกมันอพยบเมื่อไหร่ นั่นแหละ อีกไม่เกินสองถึงสามวัน น้ำจะท่วม ซึ่งก็จริงอย่างที่ท่านว่ามา น่าเสียดายที่มนุษย์เราไม่มีสัญชาตญาณในการเตือนภัยเช่นสัตว์จำพวกนี้ แต่ก็อย่างว่ามา เพราะธรรมชาติให้สมองอันใหญ่โตของมนุษย์มาแล้ว จึงไม่มีที่ว่างสำหรับเรดาห์เตือนภัยก็เป็นไปได้


****ส่วนเสริม****
เดี๋ยวอ่านแล้วจะน้อยใจ อยากเกิดเป็นมดจริง ๆ ขึ้นมา จึงขอเสริมว่าการที่เกิดเป็นมนุษย์นับว่าเป็นผู้ที่ได้ฝึกอบรมปัญญา เป็นผู้ที่สามารถฝึกอบรมตนเองได้ได้ ปัญญาที่ถูกฝึกดีแล้วนี่ จะเป็นสัญญาณเตือนภัยและสามารถมองเห็นพิษภัยต่าง ๆ ได้อย่างดี

> ภัยชนิดไหนเล่าจะร้ายแรงที่สุด ?
> คำตอบคือ ภัยจากวัฏฏะ เป็นภัยจากการเวียนเกิด เวียนตาย นั่นแหละน่ากลัวที่สุด เพราะหากเรายังเกิดอยู่เรื่อยไป ชาตินี้ทั้งชาติเราอาจจะพ้นภัยธรรมชาติได้ แต่จะมีผู้ใดรับประกันได้ว่าภัยแบบเดียวกันนี้ ในภพหน้าจะไม่มีอีก

มนุษย์ที่ได้ฝึกแล้ว และมีปัญญาในการเห็นภัยในวัฏฏะ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่น่านับถือ แต่มนุษย์ผู้ที่เห็นภัยแห่งวัฏฏะแล้วยังปรารถนาช่วยสัตว์โลกผู้อื่นให้พ้นภัยไปด้วย ยิ่งน่าเคารพยกย่องเป็นอย่างยิ่ง

เพราะฉนั้นจริง ๆ แล้วธรรมชาติเองก็ไม่ได้โหดร้ายสำหรับมนุษย์ แต่ให้สิ่งที่ประเสริฐกับมนุษย์มาแล้ว เพียงแต่เราต้องรู้จักใช้มันให้เป็นเท่านั้น …



ขอขอบคุณ รูปภาพงาม ๆ จาก //cdn.zmescience.com มากมาย ครับ




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2554 15:01:11 น.
Counter : 578 Pageviews.  

๓๒๗ - ไฟป่าล้าง



ความร้อนจากไฟ ใคร ๆ ก็ต้องทราบดีกว่ามันมีอานุภาพในการทำลายล้างมากมายขนาดไหน แม้ไฟขนาดเล็กเท่าไม้ขีด ซึ่งมีขนาดเล็กนิดหน่อยก็ไม่อาจจะดูถูกได้ เพราะหากได้เชื้อแห่งการลุกไหม้ไปแล้วย่อมทำให้เกิดหายนะได้อย่างคาดไม่ถึง

ฤดูร้อนที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้ยินข่าวเรื่องไฟไหม้ป่ามากนัก อาจจะเป็นเพราะหน้าร้อนที่ผ่านมานั้นมีความชื้นจากมรสุมเข้ามาเยอะ จนทำให้อากาศไม่ค่อยร้อนมาก แต่โดยธรรมชาติแล้ว ป่าก็มักจะเกิดการติดไฟที่เรียกว่า "ไฟป่า” ได้เป็นปกติ (ยกเว้นฝีมือของมนุษย์) การเกิดไฟป่าเหมือนดูจะอันตรายเพราะมันเผาไหม้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่นั่นก็เป็นการรักษาสมดุลอย่างหนึ่งของธรรมชาติ และเพื่อเป็นการให้โอกาสแก่พืชชนิดอื่นได้มีโอกาสเติบโต หลังจากไฟป่าในหน้าร้อนไม่นาน ก็เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นโอกาสของเมล็ดพันธุ์ที่รอดพ้นจากการเผาไหม้ และต้นไม้บางต้นที่ยังไม่ตายจากความร้อนพร้อมที่จะแตกหน่อขึ้นใหม่ เพื่อสร้างสีสันให้แก่โลกต่อไป สิ่งมีชีวิตจำพวกเถาวัลย์ก็จะตายลงไปพร้อมกับไฟ มองในแง่ดีเป็นการช่วยให้ต้นไม้ในป่าได้ขจัดเสี้ยนหนามออกไปได้บ้าง

เรามองว่าภัยพิบัตินั้นไม่น่าจะมีอะไรดี แต่ในความเป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างมันมีความสมดุลกันอย่างน่าประหลาด และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็จะสามารถปรับตัวตามสภาพได้อย่างลงตัว เป็นอัศจรรย์ของธรรมชาติอย่างหนึ่ง หรือจะเรียกว่าเป็นธรรมชาติของสสารก็ว่าได้ (หมายถึงมีการเปลี่ยนสอดคล้องซึ่งกันและกัน)

คราวนี้มาสำรวจดูจิตใจของเราบ้าง จิตใจของเรานั้น บางครั้งก็ครุกรุ่นไปด้วยไฟโทสะ ราคะ( โลภะ ) โมหะ มันพอกพูลสะสมอยู่ในกมลจิตสันดาน ของเรามานาน เราจะหาสิ่งใดมากวาดล้างสิ่งเหล่านี้ออกมานั้นได้อยากเต็มที ยิ่งคนที่ไม่สามารถมองเห็นกิเลสในตนเองแล้วยิ่งยากแสนยาก ที่จะทำลายสิ่งเหล่านี้ให้สามารถสลายออกจากจิตของเราได้ และสิ่งที่จะมาสลายกิเลสเหล่านี้คือ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เราน้อมเข้ามาฝึกอบรมอบรมศีล อบรมสมาธิ และอบรมจิตภาวนา จนเกิดดวงปัญญาในการรู้แจ้งความเป็นไปทั้งหลายของกระบวนการเกิดของสัตว์ และทำลายกิเลสได้อย่างราบคาบเรียกได้ว่า เป็นไฟป่าที่มาครั้งเดียวเผาไหม้หมดเกลี้ยง ไม่เหลือเชื้อให้ต้นไม้ดอกไม้ชนิดใด ๆ ได้เจริญงอกงามได้อีก สิ่งนี้เป็นสุดยอดปลายทางของคำสอนในพุทธศาสนา เป็นสภาวะแห่งการไม่มีเชื้อให้เกิด ส่วนใครจะมาถามว่าตายแล้วไปไหน ก็ไม่มีคำตอบที่ถูกหูให้ฟัง เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัตตัง คือ รู้ได้เฉพาะตัวเราเอง มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถรู้ได้ด้วยการนึกคิดธรรมดา ๆ และไม่ใช่การตรึกนึกเอาเอง แต่เป็นปัญญาอันพอกพูลงอกงาม จนสามารถรู้แจ้งในภายใน เผาไหม้ซากแห่งเชื้อที่ทำให้เกิดภพ เกิดชาติได้สำเร็จ

นี่แหละเป็นไฟป่าแห่งวิถีจิตที่สามารถเผาไหม้กิเลสได้อย่างแท้จริง แต่ก็มีลำดับขั้นที่เหมือนจะสามารถเผาทุกอย่างได้จริง แต่คราวที่เกิดพายุฝนมา ต้นไม้ทั้งหลายก็สามารถเจริญงอกงามได้อีก เหมือนกับการทำฌาน สมาธิ จนถึงขั้นที่เรียกว่านิ่งจนกิเลสไม่สามารถงอกเงยได้ แต่ความจริงแล้วเชื้อของมันยังมีอยู่รอการเกิดใหม่อยู่ สภาพนี้ส่วนใหญ่เกิดกับบรรดาเหล่าพรหมทั้งหลาย ที่ไม่ได้สดับฟังพระสัจธรรม และประมาทคิดว่าตนเองนั้นได้มรรคผล นิพพานแล้วนั่นเชียว...

ขอขอบคุณ รูปภาพงาม ๆ จาก //news.mthai.comมากมาย ครับ





 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2554 9:25:21 น.
Counter : 1639 Pageviews.  

๓๒๖ - ไฟนรกกับหินร้อน ๆ



ปีที่แล้วได้มีโอกาสไปเที่ยวยังพุทธมลฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพ ฯมากนัก ใช้เวลาขับรถไม่เกินชั่วโมงจากใจกลางเมืองและในสภาวะการจราจรปกติ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็หาเวลาไปยังสถานที่แห่งนี้อยู่บ่อย ๆ ในช่วงหลังมานี้ พุทธมลฑลได้ปรับปรุงบริเวณโดยรอบให้สวยงามมากขึ้น แต่ก็ไม่วายที่จะมีข่าวพวกวัยรุ่นเข้าไปพอดรักฟัดเหวี่ยงกันยังสถานที่แห่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ มันน่าเศร้าใจอย่างมาก ข้าพเจ้าได้ยินข่าวแล้วก็ไม่ค่อยจะสบายใจและรู้สึกจิตตก เวทนาทุกครั้ง แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่เปิด คนส่วนใหญ่เลยอาจจะมองว่าเป็นสวนสาธารณะมากกว่าที่จะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเหมาะสำหรับเอาไว้สำหรับเคารพบูชาไม่ใช่สถานที่ที่จะมานั่งปิคนิคพอดรักกัน ก็เลยอยากจะเชิญชวนให้พวกเราคอยเป็นหูเป็นตาช่วยกันรักษาสถานที่แห่งนี้ ให้เกิดภาพที่งดงาม เป็นที่น่าเคารพบูชา เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นพุทธในสยามประเทศ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาติ ศาสนาของเราสืบไปในอนาคต

แต่ก็นั่นเองคนเราในสังคมมันมีคนหลายประเภทปะปนกันไป การที่เราจะทำให้คนสวนมากมีความคิดเห็นเสมอด้วยกันแล้วเป็นเรื่องยาก แต่ก็ดีกว่าที่เราไม่คิดจะทำอะไรเลย และปล่อยให้เรื่องราวเหล่านี้เข้ามาปลอมปนในศาสนา (อ่านดูอาจเครียดไปสักหน่อย)

บริเวณใจกลางพุทธมลฑลมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ชื่อ พระศรีศากยะทศพลญาณ ซึ่งเป็นองค์ประธานในพุทธมลฑลสถาน ลักษณะเป็นรูปพระพุทธเจ้าเสด็จยืนปรางลีลา (เป็นชื่อเรียกปางของพระพุทธรูปลักษณะกำลังก้าวพระบาท (ก้าวเดิน)) ซึ่งถ้ามองในลักษณะของงานศิลป์แล้วจัดได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามมากทีเดียว ข้าพเจ้าไปคราใดก็อดประทับใจไม่ได้ทุกครั้ง ยิ่งมองมุมใดก็เผยให้เห็นพุทธลักษณะที่งดงามของพระพุทธรูปองค์นี้ รอบ ๆ องค์พระพุทธรูปก็มีลานสำหรับให้กราบไว้บูชา เป็นลานหินอ่อน ยิ่งหากไปในช่วงบ่ายแล้วล่ะก็อากาศร้อนนี้ทำให้พื้นละอุร้อนมาก ซึ่งก่อนขึ้นไปก็ต้องทำการถอดรองเท้าก่อน เพื่อเป็นการเคารพสถานที่ แต่บางคนก็ไม่ถอดเพราะเข้าใจว่าพื้นนั้นร้อนจริง ๆ

ข้าพเจ้าไปครั้งแรกจำได้ว่าถอดรองเท้าขึ้นไปพื้นนั้นร้อนจริง จิตหนึ่งก็แวบนึกขึ้นมา "ความร้อนแค่นี้เองหรือ ? ...มันยังไม่เท่าเศษเสี้ยวแห่งความร้อนในนรกด้วยซ้ำ แล้วเราจะกลัวอะไร..." มันได้กำลังใจขึ้นมา เท้ามันจะเป็นอะไรสักแค่ไหนเชียว ก็กัดฟันสู้เดินขึ้นไปกราบได้สำเร็จ แต่ก็ด้วยความรวดเร็ว



สิ่งเหล่านี้ หากคิดให้ดี คิดให้เป็นมันเป็นสัญลักษณ์ ที่แจ้งให้เรารู้ในความอดทน รู้จักความทุกข์ รู้จักความพยายาม หากเรามีศรัทธาเราก็จะฝ่าสิ่งเหล่านี้ไปได้ อย่างที่บอกว่าความร้อนแค่นี้ มันไม่เท่ากับความร้อนในนรกหรอก ท่านทั้งหลายที่สวมรองเท้าขึ้นไปคงจะเกิดเป็นเทวดากันมานานหลายกัปล์ เลยหวนนึกไม่ได้ เพราะถ้าร้อนมากจนขึ้นไปข้างบนไม่ได้ ก็ขอบอกว่าไม่ต้องขึ้นไปหรอก ให้กราบไว้หรือทำใจระน้อมระลึกอยู่ข้างล่างก็ได้

เพราะไม่แน่เศษกรรมนี้มันอาจจะส่งผลให้เราในชาติภพเบื้องหน้าอย่างคาดไม่ถึงก็ได้ ดังเช่น เรื่องมีอยู่ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร หลังจากถูกลูกชายคือพระเจ้าอชาตศรัตรูยึดอำนาจแล้ว พระองค์ก็ถูกกักขังจองจำอยู่ในถ้ำ ไม่ให้อาหารกิน โดยพระเจ้าอชาตศรัตรูหวังเพื่อปลงพระชนม์พระราชบิดาอย่างช้า ๆ แต่พระเจ้าพิมพิสารก็ไม่สวรรคตเสียที เพราะพระองค์มีกำลังใจดีเยี่ยม สามารถปฏิบัติธรรม เดินจงกรมระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเสมอ หลังจากที่พระเจ้าอชาติศรัครูสืบรู้สาเหตุแล้ว ก็ให้ช่างตัดผม เอามีดไปกีดเท้าของพระเจ้าพิมพิสาร เพื่อไม่ให้สามารถเดินจงกรม ปฏิบัติธรรมได้อีกต่อไป จนในที่สุดพระเจ้าพิมพิสารก็สิ้นพระชนม์

***กรรมที่ทำให้พระเจ้าพิมพิสารได้รับอย่างนั้น  พระโบราณาจารย์ได้กล่าวไว้  ดังปรากฎในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ปฐโม ภาโค  หน้าที่   ๓๙ บรรที่ ๒ นับลงว่า
         ราชา  กิร  ปุพฺเพ  คนฺธปุปฺผาทีหิ  ปูชนฏฺฐานเจติยงฺคเณ สอุปาหโน  อโหสิ ฯ  ภิกฺขุสงฺฆสฺส  นิสีทนตฺถาย  ปญฺญตฺตํ  กฏสารกํ  อโธเตหิ  ปาเทหิ  อกฺกมิ  ตสฺสายํ  นิสฺสนฺโทติปิ  วทนฺติ  ฯ
         เรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า  ปุพฺเพ  เมื่อก่อน ราชา พระเจ้าพิมพิสาร  สอุปาหโน อโหสิ  ได้สวมรองเท้า  คนฺธปุปฺผาทีหิ  ปูชนฏฺฐานเจติยงฺคเณ  เสด็จดำเนินไปที่ลานพระเจดีย์ อันเป็นสถานที่ที่เขาบูชาด้วยธูปเทียน ดอกไม้และของหอมเป็นต้น  ฯ  อโธเตหิ  ปาเทหิ  ทั้งที่พระบาทของพระองค์ยังได้ทรงล้าง  อกฺกมิ กลับเหยียบ  กฎสารกํ  เสื่อลำแพน  ภิกฺสงฺฆสฺส  นิสีทนตฺถาย  ปญฺญตฺตํ  ที่เขาปูลาดไว้เพื่อให้พระสงฆ์ได้นั่ง  พระโบราณาจารย์ได้สรุปลงด้วยคำว่า  ตสฺสายํ  นิสฺสนฺโท  การกระทำในครั้งนั้น เป็นผลกรรมที่พระองค์ได้รับในครั้งนี้***


ก็อยากจะเชิญชวนให้เรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลายช่วยกันเคารพสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นการสวมหมวกเข้าไปในศาลา หรือ โบสถ์วิหาร การสวมรองเท้าในที่ที่ไม่เหมาะสม การแต่งการที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะสุภาพเรียบร้อยแต่ไม่ถูกกับกาลสถานที่ เป็นต้น (ช่วยกันหน่อยนะครับ )

***ที่มา //www.gotoknow.org/blogs/posts/446073 โทษของการสวมรองเท้าเข้าสู่ปูชนียสถาน


ขอขอบคุณ รูปภาพงาม ๆ จาก //www.hotelbeep.com มากมาย ครับ




 

Create Date : 14 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2554 8:40:44 น.
Counter : 576 Pageviews.  

1  2  

อัสติสะ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




ทุกข์ใดจะทุกข์เท่า การเกิด
ดับทุกข์สิ่งประเสริฐ แน่แท้
ทางสู่นิพพานเลิศ เที่ยงแท้ แน่นา
คือมรรคมีองค์แก้ ดับสิ้นทุกข์ทน






Google



New Comments
Friends' blogs
[Add อัสติสะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.