ภัยแห่งสังสารวัฏนั้น น่ากลัวยิ่งกว่าภัยอื่นใด - อัสติสะ
Group Blog
 
All blogs
 

๔๙๐ - ทุกข์ในความผิดพลาด


จริง ๆ ชีวิตคนเรามีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวเป็นของที่คู่กัน มันเป็นรูปแบบตายตัวที่อยู่คู่กับโลกนี้ มนุษย์ยุคถ้ำออกล่าสัตว์ มีทั้งได้สัตว์กลับมาเป็นอาหาร หรือ บางคนก็ต้องบาดเจ็บล้มตาย หรือ บางคนก็อาจจะกลายเป็นอาหารเสีย

ทุกอย่างจากความผิดพลาด หล่อหลอมมาเป็นเราทุกวันนี้ แต่ ดีเอ็นเอ ของความแสวงหาสิ่งใหม่ และการค้นหาทดลอง มันยังฝังอยู่ในแผนผังการทำงานระดับยีนส์ ซึ่งไม่อาจจะลบล้างหายไปได้ เพียงชั่วอายุคน

ผมผ่านชีวิตการทำงานมาพอสมควร จะเรียกว่าอยู่ในวัยกลางคน ที่สมควรจะประสบกความสำเร็จในชีวิตได้แล้ว และต้องมีเรื่องราวให้เล่าขานของความสำเร็จแก่ผู้อื่น

แต่ทว่า วันนี้ผมกลับรู้สึกไม่มีอะไรเลย ถ้าเอาตาช่างมาวัดเทียบระหว่างความสำเร็จกับความล้มเหลว ผมรู้สึกมันเอียงมาทางความล้มเหลวมากกว่า

การจะมีเรื่องเล่าอะไร ผมว่าเรื่องเล่าของความล้มเหลวนี่ท่าจะเหมาะสมกับผมมากกว่าความสำเร็จ ผมเชื่อว่าอย่างนั้นนะ

ผมนั่งดูยูทูปเบอร์ที่อายุคราวเดียวกัน พูดเรื่องราวชีวิตของคนวัย สี่สิบต้น ๆ รู้สึกถึงเหมือนกันเลยว่าใช่ มันเป็นวัยที่คนภายนอกมองเข้ามาดูดี แต่ภายในใจต้องแบกรับอะไรไว้อย่างมากมาย เดินถอยหลังไม่ได้ ยิ่งเดินหน้ายิ่งลำบาก ความกดดันมันมีกว่าวัยสามสิบปี ผมได้ฟังแล้วก็เออ ใช่ เลยทีเดียว ทำไมมันตรงกับช่วงชีวิตช่วงนี้ผมพอดี

หรือบางทีคนที่ประสบความสำเร็จในวัยใกล้เคียงกับผมจะเป็นหรือเปล่า อันนี้ก็ไม่แน่ใจ

แต่อย่างไรก็ชีวิตวันก็ต้องเดินไป เส้นทางข้างหน้ามองดูแล้วยากลำบาก ก็คงต้องกัดฟันทนต่อ

 




 

Create Date : 21 สิงหาคม 2566    
Last Update : 21 สิงหาคม 2566 19:58:44 น.
Counter : 161 Pageviews.  

๔๘๙ - แวะเวียน


น่าใจหายเหมือนกัน นี่สามปีแล้วที่ไม่ได้แวะมาเขียน Blog หรือ แม้กระทั่งเปิดมายัง Bloggang หลาย ๆ อย่างในชีวิตเปลี่ยนแปลงไป หน้าที่การงานและความรับผิดชอบมันล้นมือมาก พอ ๆ กับความทุกข์ที่ถาโถมเข้าอย่างไม่หยุดหย่อน ก็เลยมานั่งมองหาความสุขอีกครั้ง อะไรที่ทำให้เรามีความสุขเหมือนแต่ก่อน การเขียน Blog ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ของคำตอบ แต่ก็นั่นเอง ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว ผมอ่านหนังสือน้อยลงมาก ติดกับเวลาบนงาน บนโซเชี่ยลเนตเวิคมากเกินไป มากจนกระทั่งเราหลงลืมบางอย่าง

เวลาในชีวิตของแต่ละวันมีจำกัด แต่สิ่งที่ต้องทำประจำวันนั้นเยอะมาก หรือว่าบางทีมันอาจจะไม่เยอะหรอก เพียงแต่เรารู้สึกไปเอง ไปทำสิ่งอื่น เลยละเลยสิ่งจำเป็น หรือ มองข้ามความรู้สึกเบื้องลึกของเราไป

วันนี้แวะไปวัดสังฆทาน ก็เลยนั่งนึกทบทวนเรื่องความสุข การเขียนอยู่ ๆ ก็ผุดขึ้นมาในหัว วันนี้ก็เลยไปค้นหา user & password มา login ปรากฎว่ายังสามารถเข้าได้

ความรู้สึกเก่า ๆ มันกลับมา แม้ว่าตอนนี้จะเงียบเหงา คนไม่ค่อยได้อ่าน Blog กันแล้ว แม้แต่ตัวผมเองก็ยังไม่ได้หาอ่าน มันเป็นเหมือนบันทึกของประวัติศาสตร์ส่วนตัวก็เป็นไปได้ ตราบใดที่ server pantip จะยังคงเปิดบริการอยู่

ก็คิดว่าจะพยายามกลับมาเขียนกลับมาเรียบเรียงความรู้สึกนึกคิดอีกครั้ง และ คิดถึงเพื่อนเก่า ๆ ในนี้มากเหมือนกัน ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง



 




 

Create Date : 20 สิงหาคม 2566    
Last Update : 20 สิงหาคม 2566 21:24:31 น.
Counter : 119 Pageviews.  

๔๘๘ - ชีวิตกับความเกิด


บางครั้ง ก็มักจะเกิดคำถามอยู่เสมอ ว่าทำไมเราถึงเกิดมา แล้วเกิดมาทำอะไร แล้วจุดหมายของชีวิตหรือของเรา คืออะไร

คำตอบที่ได้มันแทบจะไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับช่วงอายุวัย หรือ เหตุการณ์ที่ประสบอยู่ในขณะนั้น น้อยคนที่จะมีคำตอบตายตัวและถูกต้อง จริง ๆ จะเรียกว่าถูกต้องก็ไม่น่าจะใช้คำนี้ เพราะปัจจัยพื้นฐานความคิด ประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน
เราอาจจะคิดว่าความตอบของคำถามเรานั้นถูก แต่พอลองมองคำตอบของคนอื่นดู เราอาจจะเข้าใจผิดมาตลอดชีวิตก็ได้ ชีวิตและความคิดของมนุษย์ จึงเป็นอะไรที่ยืดหยุ่นหาความคงที่ได้ยาก

คำตอบของคำถาม เกิดมาทำอะไร จึงต้องแบ่งออกเป็นหลายแง่มุม ในแง่มุมของสิ่งมีชีวิต ก็เพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ ในแง่มุมของศาสนาก็มีเหตุผลต่างกันตามความเชื่อของแต่ละศาสนา เช่น ในศาสนาพุทธ การเกิดมาจากผลของอวิชชา และการรับผลของกรรม การกระทำ ในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ การเกิดน่าจะหมายถึงการวิวัฒฯ การพัฒนา การสืบ DNA จากรุ่นสู่รุ่น จริง ๆ น่าจะยังมีอีกหลายแง่หลายมุม แต่ก็ยังคิดไม่ออก ก็เอาไว้ประมาณนี้ก่อน

ทำไมเราถึงชอบการเกิด เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก คำตอบอาจจะประมาณได้ว่า เพราะเหตุที่เราต่างประสบความสุขและความทุกข์ปะปนกันไป เหตุนั้นเราจึงปรารถนาการเกิดอย่างไม่สิ้นสุด คนที่ประสบปัญหาชีวิตรุ่นแรงถึงอยากฆ่าตัวตาย ก็อยากจะหนีต่อปัญหา และเกิดใหม่เพื่อรีเซตปัญหาที่รุงรังในภพนี้ (อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ) ตรงกันข้าม คนที่สุขสบายไม่ค่อยประสบปัญหาชีวิตรุนแรง ก็อยากเกิดใหม่ให้ได้อัตภาพเดิมตอนจบชีวิตลงตามอายุขัย สรุปแบบย่อ ๆ เราปรารถนาการเกิดนั้น เพราะเหตุของความไม่รู้ พอคำตอบเป็นความไม่รู้ ก็เกิดคำถามอื่น ๆ ตามมาเป็นขบวนรถไฟ ซึ่งอธิบายต่อยาวเหยียดเป็นหนังสือได้หลายเล่ม

ความไม่รู้ในศาสนาพุทธเรียก อวิชชา เป็น ๑ ใน สังโยชน์ ๑๐ ประการ (กิเลสเครื่องร้อยรัด) มันเหมือนมีแม่น้ำน้อยใหญ่ ๑๐ สายที่เราต้องทำให้มันแห้ง อวิชชาจึงเปรียบเสมือนแหล่งกำเนิดของแม่น้ำใหญ่ และเป็นต้นตอของแม่น้ำทั้งหลาย หากเราสามารถกำจัดจัดอวิชชาได้ ก็เท่ากับกำจัดต้นตอของกิเลสทั้งปวงได้ รวมทั้งการเกิดทั้งหลายในภพด้วย

คราวนี้ถ้าเราไม่เชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ตัวอวิชชา และ กรรมทั้งหลายจะยังมีผลไหม แล้วเราไม่เชื่อเรื่องเกิด เราก็ไม่ต้องเกิดอีกจริงไหม เราไม่เชื่อในผลของกรรม เราก็ไม่ต้องรับกรรมจริงไหม เรื่องนี้คล้าย ๆ กับเรามีความกลัวบางอย่าง เช่น สัตว์ร้าย หรือ ทูตผี แล้วมีคนบอกว่า ลองหลับตาสิ เดี๋ยวสิ่งเหล่านี้ก็จะหายไปเอง นั่นเป็นอาการหลอกตัวเอง

กฎแห่งกรรม มันคล้าย กับกฎธรรมดา ๆ บนโลกที่เราอาศัยอยู่ เช่น วัตถุตกลงพื้นโดยแรงโน้มถ่วง ทำให้เราไม่ลอยออกไปนอกอวกาศ เราอาจจะปฏิเสธการรับรู้ใด ๆ ก็ได้ หรือ หาความรู้มาอธิบายได้ร้อยแปด แต่เราก็ยังต้องตกอยู่ในกฎนี้เสมอ ๆ




 

Create Date : 02 มีนาคม 2563    
Last Update : 2 มีนาคม 2563 14:51:30 น.
Counter : 931 Pageviews.  

๔๘๗ - นามรูปัง ฯ

หลายปีก่อน (๑๐ +) ที่เริ่มศึกษาธรรมะ ได้มีโอกาสไปงานศพของญาติเพื่อน ในระหว่างที่บรรดาญาติ ๆ เขากำลังทอดผ้าสำหรับบังสุกุล ก็จะคนที่คอยเกริ่นนำ มีบทหนึ่งให้ท่องตาม

“นามรูปัง อนิจจัง นามรูปัง ทุกขัง นามรูปัง อนัตตา” ว่าโดยความหมายก็คือ นาม รูป (ขันธ์ ๕) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนสำหรับความยึดถือ แยกคำออกมาจะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสามัญลักษณะที่สัตว์ทั้งหลาย (หมายถึงสิ่งที่วนเวียน ตาย เกิด ในวัฏสงสาร) ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์นี้ ถ้าเราศึกษาธรรมะมาพอสมควร เราก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก และมองเห็นสภาพธรรมะที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า แต่คนทั่วไปก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นบทที่ต้องพูดตามพิธีกรรม หรือ บทส่งวิญญาณอะไรไปทำนองนั้น ที่บทธรรมบทเดียวนี้มันแทบจะย่นย่อธรรมะของพระพุทธเจ้าได้จากพระไตรปิฎกหลาย ๆ เล่มเลยทีเดียว เพราะสุดท้ายปลายทางก็การปล่อยวางจากนามรูปที่เรายึดถือนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ก็ได้รับหนังสือจากกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง ที่ไม่ได้รู้จักกันใด ๆ แต่เป็นเพื่อนของเพื่อนข้าพเจ้า เขารู้ว่าเราสนใจศาสนา ก็เลยเอา CD และหนังสือ ๗ เดือนบรรลุธรรม (ของคุณดังตฤณ) กับ คู่มือมนุษย์ ของพระพุทธทาสภิกขุ ซึ่งได้อ่านจนจบ และยอมรับว่าเป็นหนังสือสรุปหลักธรรมทางพุทธศาสนาได้อย่างเข้าใจง่าย โดยเฉพาะกฎแห่งไตรลักษณ์นี้ แต่ตอนนั้นอ่านจบใหม่ ๆ มาก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จนสัปดาห์เดียวกันมางานเผาศพญาติเพื่อนที่อธิบายข้างต้น ก็เลยเข้าใจ บทสรุปของมัน “นามรูปัง อนิจจัง นามรูปัง ทุกขัง นามรูปัง อนัตตา” ตามที่ว่ามา

เวลาที่อยู่คนเดียว ก็ชอบที่จะพิจารณาตรองดูเสมอ พิจารณาถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งรอบ ๆ ตัว ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันเกิดได้ทุก ๆ ขณะ แม้แต่อารมณ์ ความคิดเราก็มีเกิดขึ้น มีการสืบดำรงอยู่ และดับจางหายไป จากนั้นก็เกิดอารมณ์ ใหม่รองรับ วนเวียนไปอย่างนี้ ไม่สิ้นสุด เมื่อเราตั้งใจพิจารณา ส่วนใหญ่จะมองเห็นความเกิดขึ้นของอารมณ์ แต่อารมณ์ดับไปตอนไหน ก็จับไม่ค่อยทัน ทำให้คนทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติ รู้ไม่เท่าทัน กลายเป็นความยึดว่าเราเป็นของเรา ยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็นเราเป็นของเราไป เมื่อถึงเวลาความพรากจากไปของสิ่งนั้น เราก็ย่อมมีความโศก เพราะความยึดนั้น

โดยแท้แล้วธรรมชาติทั้งหลายรอบ ๆ ตัว มีเกิดขึ้นเพราะมีเหตุและปัจจัย เสื่อมสลายไปก็เพราะเหตุและปัจจัย การตั้งตนอยู่เป็นรูปร่างที่เรายึดถือนั้น ก็เกิดจากธาตุทั้งหลายมาประชุมกัน เกิดเป็นตัวตน เป็นคน สัตว์ สิ่งของ ต่าง ๆ ความยึดถือโดยมาก ภาษาโลกเรียกความรัก ความหวง ในสิ่ง ๆ หนึ่ง มากไปหรือน้อยไปก็เกิดโทษเสมอ ความเกลียด ความผลักไส ความไม่อยากได้ อยากเป็น นั้น เป็นสิ่งตรงข้ามกันกับความรัก ความปรารถนา แต่หากเราลองพิจารณาให้ดี มันก็เป็นสิ่งเดียวกัน นั่นเพราะความที่เรายึดถือในสิ่ง ๆ หนึ่ง เมื่อไม่ถูกใจเราก็เกลียดชัง เมื่อถูกใจเราก็เกิดความรัก ความชอบ อย่างนั้น

นามรูปัง จึงเป็นตัวแทนของสิ่ง ๆ หนึ่งที่เรายึดมาตั่งแต่เกิด ไปจวบจนวันตาย หากไม่ได้บรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่ง เราก็จะตกเป็นทาสของขันธ์ ๕ ตลอดสังสารวัฏอันยาวนานแสนนานทีเดียว




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2563    
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2563 22:36:04 น.
Counter : 2943 Pageviews.  

๔๘๖ - บุคคลย่อมเศร้าโศกเพราะของรัก

[๒๖] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้กล่าว
คาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
คนมีบุตรย่อมยินดีเพราะบุตรทั้งหลาย คนมีโค ย่อมยินดี
เพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น เพราะอุปธิเป็นความดีของ
คน บุคคลใดไม่มีอุปธิ บุคคลนั้นไม่มียินดีเลย ฯ
[๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลมีบุตร ย่อมเศร้าโศกเพราะบุตรทั้งหลาย บุคคลมีโค
ย่อมเศร้าโศกเพราะโคทั้งหลายเหมือนกันฉะนั้น เพราะอุปธิ
เป็นความเศร้าโศกของคน บุคคลใดไม่มีอุปธิ บุคคลนั้น
ไม่เศร้าโศกเลย ฯ

จากนันทิสูตรที่ ๒


พุทธพจน์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ยังวนเวียนอยู่ในหัวมานานหลายปี ธรรมดาคนเรามักยินดีในสิ่งที่ตนได้มา หรือ ปรารถนาแล้วได้สิ่ง ๆ นั้น เมื่อสิ่งนั้นจากไป ก็มีความเศร้าโศก เสียใจเป็นธรรมดา วิธีทำลายความโศกทั้งหลายคือความไม่มี ไม่ติดในความยินดีและยินร้ายทั้งหลาย คงต้องตัดสังโยชน์เบื้องสูงได้ จึงจะเข้าถึงธรรมเหล่านั้น ธรรมดาปุถุชนผู้ข้องอยู่ ก็ไม่อาจจะเข้าถึงธรรมในข้อนั้นได้เลย แม้จะเข้าใจในข้ออรรถ แต่การได้เข้าถึงสภาวะนั้นเป็นของยากยิ่ง ธรรมนี้จึงเป็นของบัณฑิต เป็นของผู้รู้ เป็นผู้ใคร่ครวญเสมอ ๆ

กลับมาย้อนดูตัวเองบ้าง เราอาจจะไม่มีบุตร ไม่มีโค แต่ก็มีสิ่งอื่นที่เทียบเคียงกันได้ หลายต่อหลายครั้งลองจินตนาการว่า สิ่งของที่เรารักต้องเสียหาย หรือ ถูกพรากจากไป หรือ คนที่เรารักจากไป เราจะรู้สึกอย่างไร คำตอบมันก็คือรู้สึกเสียใจ บางทีแค่คิด น้ำตามันก็ไหล นั่งเศร้าใจเป็นชั่วโมง ๆ ทั้งที่เหตุการณ์เหล่านั้นยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ จริง ๆ เราอ่อนไหวเกินไปไหม คำตอบก็ต้องว่าใช่ เหตุเพราะความไม่รู้ ความกลัว ทำให้เราเสียใจ เสียน้ำตามามายนัก

พระศาสดามักจะเปรียบเทียบเสมอว่าน้ำตาที่เราร้องไห้ให้กับโลกนี้ หากไม่เหือดแห้งหายไป ก็จะมีปริมาณมากมายกว่าน้ำในมหาสมุทร แต่ถึงเป็นแบบนี้ เราก็ยังไม่อาจจะอดกลั้นความเศร้าโศกไปได้

ธรรมชาติมักจะมีวิธีเยียวยาให้เราเสมอ สิ่งนั้น คือ เวลา เวลาจะค่อย ๆ บรรเทาความเศร้าโศกในครั้งนี้ พร้อมกันนั้น เวลาก็จะนำพาความเศร้าโศกครั้งใหม่มาให้เราเสมอ ๆ มันก็วนเวียนเป็นวัฏจักรอย่างไม่มีสิ้นสุด เหมือนคบเพลิงที่ลุกโพรงด้วยไฟ ติดไฟได้สักระยะหนึ่ง และกำลังใกล้มอดดับ ก็มีคบเพลิงอีกอันมาต่อไฟอีก เป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ

เช่นกันวันนี้ เราเสียน้ำให้กับคนที่เรารัก วันหนึ่งคนที่รักเรา เขาก็จะเสียน้ำตาให้กับเรา สืบต่อกับเป็นทอด ๆ เหมือนดั่งคบเพลิงที่อุปมาไว้ข้างต้น




 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2563    
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2563 21:08:04 น.
Counter : 365 Pageviews.  

1  2  

อัสติสะ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




ทุกข์ใดจะทุกข์เท่า การเกิด
ดับทุกข์สิ่งประเสริฐ แน่แท้
ทางสู่นิพพานเลิศ เที่ยงแท้ แน่นา
คือมรรคมีองค์แก้ ดับสิ้นทุกข์ทน






Google



New Comments
Friends' blogs
[Add อัสติสะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.