ภัยแห่งสังสารวัฏนั้น น่ากลัวยิ่งกว่าภัยอื่นใด - อัสติสะ
Group Blog
 
All blogs
 
๔๘๗ - นามรูปัง ฯ

หลายปีก่อน (๑๐ +) ที่เริ่มศึกษาธรรมะ ได้มีโอกาสไปงานศพของญาติเพื่อน ในระหว่างที่บรรดาญาติ ๆ เขากำลังทอดผ้าสำหรับบังสุกุล ก็จะคนที่คอยเกริ่นนำ มีบทหนึ่งให้ท่องตาม

“นามรูปัง อนิจจัง นามรูปัง ทุกขัง นามรูปัง อนัตตา” ว่าโดยความหมายก็คือ นาม รูป (ขันธ์ ๕) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนสำหรับความยึดถือ แยกคำออกมาจะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสามัญลักษณะที่สัตว์ทั้งหลาย (หมายถึงสิ่งที่วนเวียน ตาย เกิด ในวัฏสงสาร) ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์นี้ ถ้าเราศึกษาธรรมะมาพอสมควร เราก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก และมองเห็นสภาพธรรมะที่ปรากฏอยู่ข้างหน้า แต่คนทั่วไปก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นบทที่ต้องพูดตามพิธีกรรม หรือ บทส่งวิญญาณอะไรไปทำนองนั้น ที่บทธรรมบทเดียวนี้มันแทบจะย่นย่อธรรมะของพระพุทธเจ้าได้จากพระไตรปิฎกหลาย ๆ เล่มเลยทีเดียว เพราะสุดท้ายปลายทางก็การปล่อยวางจากนามรูปที่เรายึดถือนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ก็ได้รับหนังสือจากกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง ที่ไม่ได้รู้จักกันใด ๆ แต่เป็นเพื่อนของเพื่อนข้าพเจ้า เขารู้ว่าเราสนใจศาสนา ก็เลยเอา CD และหนังสือ ๗ เดือนบรรลุธรรม (ของคุณดังตฤณ) กับ คู่มือมนุษย์ ของพระพุทธทาสภิกขุ ซึ่งได้อ่านจนจบ และยอมรับว่าเป็นหนังสือสรุปหลักธรรมทางพุทธศาสนาได้อย่างเข้าใจง่าย โดยเฉพาะกฎแห่งไตรลักษณ์นี้ แต่ตอนนั้นอ่านจบใหม่ ๆ มาก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ จนสัปดาห์เดียวกันมางานเผาศพญาติเพื่อนที่อธิบายข้างต้น ก็เลยเข้าใจ บทสรุปของมัน “นามรูปัง อนิจจัง นามรูปัง ทุกขัง นามรูปัง อนัตตา” ตามที่ว่ามา

เวลาที่อยู่คนเดียว ก็ชอบที่จะพิจารณาตรองดูเสมอ พิจารณาถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งรอบ ๆ ตัว ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันเกิดได้ทุก ๆ ขณะ แม้แต่อารมณ์ ความคิดเราก็มีเกิดขึ้น มีการสืบดำรงอยู่ และดับจางหายไป จากนั้นก็เกิดอารมณ์ ใหม่รองรับ วนเวียนไปอย่างนี้ ไม่สิ้นสุด เมื่อเราตั้งใจพิจารณา ส่วนใหญ่จะมองเห็นความเกิดขึ้นของอารมณ์ แต่อารมณ์ดับไปตอนไหน ก็จับไม่ค่อยทัน ทำให้คนทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติ รู้ไม่เท่าทัน กลายเป็นความยึดว่าเราเป็นของเรา ยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็นเราเป็นของเราไป เมื่อถึงเวลาความพรากจากไปของสิ่งนั้น เราก็ย่อมมีความโศก เพราะความยึดนั้น

โดยแท้แล้วธรรมชาติทั้งหลายรอบ ๆ ตัว มีเกิดขึ้นเพราะมีเหตุและปัจจัย เสื่อมสลายไปก็เพราะเหตุและปัจจัย การตั้งตนอยู่เป็นรูปร่างที่เรายึดถือนั้น ก็เกิดจากธาตุทั้งหลายมาประชุมกัน เกิดเป็นตัวตน เป็นคน สัตว์ สิ่งของ ต่าง ๆ ความยึดถือโดยมาก ภาษาโลกเรียกความรัก ความหวง ในสิ่ง ๆ หนึ่ง มากไปหรือน้อยไปก็เกิดโทษเสมอ ความเกลียด ความผลักไส ความไม่อยากได้ อยากเป็น นั้น เป็นสิ่งตรงข้ามกันกับความรัก ความปรารถนา แต่หากเราลองพิจารณาให้ดี มันก็เป็นสิ่งเดียวกัน นั่นเพราะความที่เรายึดถือในสิ่ง ๆ หนึ่ง เมื่อไม่ถูกใจเราก็เกลียดชัง เมื่อถูกใจเราก็เกิดความรัก ความชอบ อย่างนั้น

นามรูปัง จึงเป็นตัวแทนของสิ่ง ๆ หนึ่งที่เรายึดมาตั่งแต่เกิด ไปจวบจนวันตาย หากไม่ได้บรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่ง เราก็จะตกเป็นทาสของขันธ์ ๕ ตลอดสังสารวัฏอันยาวนานแสนนานทีเดียว



Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2563
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2563 22:36:04 น. 0 comments
Counter : 2880 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อัสติสะ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




ทุกข์ใดจะทุกข์เท่า การเกิด
ดับทุกข์สิ่งประเสริฐ แน่แท้
ทางสู่นิพพานเลิศ เที่ยงแท้ แน่นา
คือมรรคมีองค์แก้ ดับสิ้นทุกข์ทน






Google



New Comments
Friends' blogs
[Add อัสติสะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.