ภัยแห่งสังสารวัฏนั้น น่ากลัวยิ่งกว่าภัยอื่นใด - อัสติสะ
Group Blog
 
All blogs
 

โสดาปัตติมรรค-แนวทางเพื่อทรงคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน ตอน ๑๒(จบ)

มาถึงตอนนี้ก็ต้องสรุปเรื่องของพระโสดาบันลงแล้ว แต่จริง ๆแล้วพระโสดาบันจะต้องละกิเลสใหญ่อีก ๓ ตัวให้เบาบางลงคือ โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งถ้าจะแตกรายละเอียดก็ต้องต่ออีกหลายหน้ากระดาษทีเดียว แต่เชื่อว่าถ้าท่านรักษาศีล ๕ ได้ครบทุกวัน โลภะ โทสะ โมหะ ก็จะทุเลาลดน้อยลงไปเอง ยิ่งมีพื้นฐานเป็นสัมมาทิฏฐิก็ง่ายมาก

จะเห็นได้ว่าเรื่องของโสดาบันบุคคลนั้นจะว่าง่ายก็ง่ายมาก จะว่ายากก็ยาก ซึ่งทุกข้อที่เขียนมาข้าพเจ้าก็กำลังปฏิบัติอยู่ ยังไม่ได้สำเร็จอะไรเลย ไม่ต้องหวังดีเอาข้าพเจ้าไปโฆษณาหาเสียงให้ เพราะมันเป็นเรื่องเฉพาะตัว การตัดสินใจเขียนอธิบายนี่ก็ยังลังเลอยู่หลายต่อหลายวัน มันเป็นเหมือนดาบสองคมจริง ๆ เพราะให้ทั้งคุณและโทษในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าเรายอมเจ็บบ้างเพื่อสังคมส่วนใหญ่ได้มีความเห็นถูก ก็ต้องทำต่อไป

จึงอยากจะฝากไว้เป็นอนุสรณ์ถึงผู้มีศรัทธาจิตในพุทธศาสนาที่ได้อ่านบทความจนจบ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่อาจจะทำนายได้ว่าพวกท่านจะได้อะไรไปบ้าง เพราะว่าการเร่งให้ปุ๋ยหวังผลกับมะม่วงที่ยังเล็กอยู่นั้นย่อมไร้ค่า แต่ถ้าท่านเป็นมะม่วงที่เติบโตพร้อมจะออกดอกผล บทความนี้จะต้องมีประโยชน์แก่ท่านไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

แนวทางในการละกิเลสจึงต้องค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับขั้น หากท่านประสงค์จะลดวงจรของวัฏฏะสงสารให้สั้นลง แต่ถ้ายังมีใครที่ต้องการความทรมานจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่นั้นก็ตามใจ เพราะในความเป็นจริงแล้ว บุคคลธรรมดา แม้สร้างกุศลไว้มากมาย ถ้ายังไม่บรรลุธรรมขั้นใด ๆ แล้วก็ย่อมมีโอกาสตกนรกเข้าสักวันเป็นแน่แท้

เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะขอเตือนท่านทั้งหลายว่า อย่าประมาทในบุญกุศลและศีล ๕ ประการ จงพยายามรักษาให้ได้มากที่สุด พระพุทธศาสนาคือแสงสว่างที่เกิดขึ้นกับโลกแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายลืมตาออกมามองโลกตามความเป็นจริงเถิด เพราะอีกไม่นานแสงสว่างนี้ก็จะต้องดับสิ้นไป ถึงเวลานั้นต่อให้ท่านลืมตาขึ้นมาก็จะไม่เห็นอะไรอีกเลย

- จบ -




 

Create Date : 07 เมษายน 2551    
Last Update : 7 เมษายน 2551 15:19:34 น.
Counter : 626 Pageviews.  

โสดาปัตติมรรค-แนวทางเพื่อทรงคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน ตอน ๑๑

การออกไปจากสังคมเมืองจึงเป็นเรื่องที่ดี เป็นความสุข เพราะหากต้องการอารมณ์ของโสดาบัน และศีล ๕ ประการครบถ้วนก็ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เรื่องนี้เป็นสัณทิฏฐิโก คือ ข้าพเจ้ารู้ได้เพียงแต่ตัวเองผู้เดียวว่าจะเดินไปทางไหน ซึ่งบางครั้งคนอื่นมองแล้วเขาจะไม่เข้าใจ เพราะความคิด ภูมิธรรม และจุดมุ่งหมายของเราต่างกันนั่นเอง
ต่อไปนี้เป็นอุบายในการรักษาศีล ๕ ประการ ให้สำเร็จ ซึ่งข้าพเจ้าปฏิบัติแล้วพบว่าใช้ได้ดี แต่กว่าจะทำได้ครบต้องใช้เวลาหลายเดือนทีเดียว ต้องมีกำลังใจ ความเชื่อ ความศรัทธา อย่างมาก(สำหรับคนยุคโลกาภิวัฒน์)
อับดับแรกทุกวันต้องสมาทานศีล ๕ เสมอ การสมาทานศีลมีจุดประสงค์เพื่อให้ตลอดวันนั้นทั้งวันเราจะไม่พลั้งเผลอไปทำผิดศีลเข้าเนื่องจากสติเรายังช้าอยู่ ยังระลึกถึงความถูกผิดยังไม่บริบูรณ์ การสมาทานจึงจำเป็น ข้าพเจ้าทำแล้วได้ผลดีมาก ๆ

๑. เว้นการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนการดำรงชีวิตของสัตว์อื่น เพราะสัตว์ทุกตัวก็มีชีวิต ต้องการอาหาร ที่อยู่อาศัย มีครอบครัวเหมือนกับเรานั่นเอง ครั้งหนึ่งเขาก็เคยเป็นมนุษย์อย่างเราๆ ท่าน ๆ แต่เพราะเหตุของกรรมจัดสรร ให้เขาได้ไปเกิดเป็นเดรัจฉานในชาตินี้ เราก็ต้องระลึกเสมอว่าเราก็อาจจะเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้เหมือน ๆ กัน การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราจึงนับว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่าได้เห็นว่าสัตว์นั้นเล็กหรือว่าใหญ่โต ให้เมตตาเท่าๆ กัน บางคนบอกว่ารักสัตว์ เช่น หมา แมว แต่เจอสัตว์น่าเกลียดจำพวก หนู งู ต้องฆ่าให้ตาย จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

๒. เว้นการลักทรัพย์ วัตถุสิ่งของของผู้อื่น เรื่องนี้คงแก้ไขกันไม่ยากนัก เมื่อพบวัตถุสิ่งของคนอื่นเราก็ต้องแสดงถึงความไม่อยากได้ ถือว่าไม่พบไม่เห็น หรือจะเก็บไว้ให้เจ้าของก็ตามใจ ข้อนี้รวมถึงการฉ้อโกง เพื่อผลประโยชน์อันมิชอบด้วย ไม่ว่าจะให้ได้มาซึ่ง ยศ อำนาจ ชื่อเสียง บารมี(แบบผิด ๆ)ก็ตาม

๓. เว้นการประพฤติผิดประเวณี ความรักความต้องการกับเพศตรงข้ามนั้นเป็นธรรมชาติของสัตว์โลกชั้นกามาอยู่แล้ว เมื่อมีคู่แล้วก็ต้องซื่อสัตย์ต่อกัน ประเภทกุ๊ก กิ๊ก นี่ต้องเลิกให้ขาดเพราะนอกจากจะผิดศีลธรรมแล้ว ยังจะนำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองอีกด้วย

๔. เว้นการพูดเท็จ ส่อเสียด หยาบ เพ้อเจ้อ จะต้องลด ละอย่างเด็ดขาด จริง ๆ แล้วพระโสดาบันเว้นได้แต่พูดเท็จ แต่การพูดส่อเสียด หยาบ เพ้อเจ้อ ก็ยังมีอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก เพราะยังละสังโยชน์ข้อ ปฏิฆะ(ความกระทบ กระทั่งทางอารมณ์ซึ่งละได้เฉพาะพระอนาคามีขึ้นไป) ไม่ได้ ข้อมุสานี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับข้าพเจ้าและอีกหลาย ๆ ท่าน เพราะสมาคมที่เราต้องคบหาส่วนใหญ่จะต้องให้ เล่ห์เหลี่ยม โกหก บ้างเพื่อให้งานของเราราบรื่นด้วยดี แต่ก็เป็นปัญหาเฉพาะตอนทำงานอยู่ทำนั้น พอลาออกแล้วก็สบายใจขึ้นมา

๕. เว้นการดื่ม สุรา เครื่องดองของมัวเมา ก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจอีกสำหรับผู้มีกระแสเลือดในสุราทั้งหลาย เชื่อมั้ยว่าบางคนยอมตายเลย ถ้าไม่ได้ดื่มเหล้า คนพวกนี้ต้องตกนรกแน่นอนไปอย่างอื่นกับเขาไม่เป็น อุบายข้อนี้ข้าพเจ้าแก้โดยฟังธรรมะเยอะ ๆ เริ่มลดระยะการดื่ม หากิจกรรมอย่างอื่นทำ รู้จักปฏิเสธเพื่อนบ้าง ซึ่งก็แล้วแต่ละบุคคลอีกนั่นแหละ ขึ้นอยู่กับกำลังใจของแต่ละท่าน การอ่านหนังสือเรื่องนรกสวรรค์ ดูภาพศพ อสุภ ก็ช่วยได้เหมือนกัน




 

Create Date : 07 เมษายน 2551    
Last Update : 7 เมษายน 2551 15:18:11 น.
Counter : 344 Pageviews.  

โสดาปัตติมรรค-แนวทางเพื่อทรงคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน ตอน ๑๐

แม้แต่ภิกษุชาวพุทธเราก็เหมือนกัน บางท่านก็มีความเชื่อว่า ปลงอาบัติแล้วไม่เป็นไรแล้ว บาปไม่มีแล้ว ไม่ตกนรกแล้ว แต่ความเป็นจริง บาปกรรมนั้นยังคงมีอยู่ การปลงอาบัติเป็นเพียงวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระภิกษุ สารภาพความผิดต่อกัน และว่าต่อไปผมจะไม่ทำผิดวินัยข้อนี้(หรือข้ออื่น ๆ ) อีกแล้วครับ จะได้มีความละอายใจที่จะไม่ทำผิดอีก เรื่องพระวินัยและอาบัตินี้ สามารถหาอ่านหรือรับฟังเสียงธรรมของหลวงพ่อ ฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุงได้ เพราะท่านอธิบายไว้อย่างละเอียด แจ่มชัดทีเดียว

ในเรื่องศีล ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุนั้น หลายท่านก็มองข้ามไป(แม้แต่ข้าพเจ้าเอง)คิดว่าเป็นศีลของพระสงฆ์ไม่เกี่ยวกับเรา ไม่จำเป็นต้องศึกษา ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพระท่านจะปฏิบัติเอาเอง เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องผิดอีกเรื่องหนึ่ง เราชาวพุทธนั้น การศึกษาข้อสิกขาบทไว้บ้างเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เมื่อจำเป็นต้องเข้าพบหรือสนทนากับพระภิกษุสงฆ์ จะได้ไม่เป็นการทำให้ท่านต้องอาบัติ เช่น การเข้าพบพระสงฆ์เมื่อเป็นผู้หญิง หรือพูดคุยกับท่านตามลำพัง เรื่องงนี้เราชาวพุทธต้องศึกษากันให้ดี ดังเรื่องที่ข้าพเจ้าได้ฟังจากเพื่อนความว่า เธอเข้าไปปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งหนึ่ง แล้วเข้าไปสนทนากับทานเพียงลำพัง เมื่อข้าพเจ้ารู้ก็รีบบอกว่าไม่ได้นะ ทำอย่างนี้ท่านต้องอาบัติเข้าแล้ว เธอก็บอกว่าไม่เป็นไร พระท่านปลงอาบัติทุกเช้าอยู่แล้ว

เป็นอันว่าต้องอาบัติแล้วปลง ปลงแล้วก็อาบัติซ้ำ ๆ กันแล้วมันจะพ้นนรกไปได้หรือ ขอตอบแทนเลยว่าไม่ได้เด็ดขาด การแสดงธรรมต่อ ฆราวาสผู้หญิง หนึ่งต่อหนึ่งนั้นจึงเป็นสิ่งที่พระต้องระวัง เราก็ต้องระวังเช่นกัน ถึงแม้จะมีเจตนาดีกันทั้งสองฝ่าย แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วนั้นก็ต้องเคารพ หากไม่เคารพเราก็จะเป็นพระโสดาบันไม่ได้ ตายแล้วลงนรกอย่างเดียว

การยึดถือของศักดิ์สิทธิ์ น้ำมนต์ วัตถุมงคล ไสยศาสตร์ ข้าพเจ้าขอรวมเรื่องการเล่นการพนัน ทุกประเภทไว้ด้วย ผู้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพระโสดาบันต้องละให้ได้ ตัดให้ขาด และต้องไม่มีความตัดพ้อเสียใจในภายหลัง จะต้องมีพระรัตนตรัยและพระนิพพานเป็นอารมณ์อยู่เสมอ
ยังมีอยู่อย่างหนึ่งที่เราต้องรักษากันให้มั่นคง นั่นคือศีล ๕ ประการ การรักษาศีลนั้นก็ขอให้รักกันจริง ๆ จะต้องไม่มีเหตุอันไม่สมควร ใด ๆมาทำให้เราผิดศีล ๕ ได้ ตื่นตอนเช้าทุกเช้าต้องภาวนาขอพระรัตนตรัยเป็นสรณะและ สมาทานศีล ๕ เป็นประจำ

การรักษาศีล ๕ ของพระโสดาบันนั้นรักษากันเท่าชีวิตทีเดียวคือ แม้มีเหตุเฉพาะหน้าทำให้ถึงแก่ชีวิตก็จะไม่ยอมผิดศีล
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ เพราะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากที่สุดในสังคมปัจจุบัน เหตุผลประการหนึ่งที่ลาออกจากงานประจำ ก็เพราะต้องการรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์นี้เอง สังคมทุกวันนี้ต้องยอมรับกันว่าละเลยเรื่องศีลธรรมกันเป็นอย่างมาก คนที่ทำผิดศีล ๕ เพื่อประโยชน์ของตัวเองมีมาก จึงแตกต่างจากสังคมสมัยพุทธกาลที่สังคมยังไม่ซับซ้อนขนาดนี้
ข้าพเจ้าจึงคิดว่าตราบใดที่ท่านยังดำรงชีวิตอยู่ในสังคมเมืองปัจจุบัน ความเป็นพระโสดาบันจะเกิดกับท่านยากมาก ๆ นอกจากสังคมนั้นจะเอื้อต่อการปฏิบัติ แต่ก็หายากมาก ๆ แล้ว แม้แต่ในวัดเองก็ตาม




 

Create Date : 07 เมษายน 2551    
Last Update : 7 เมษายน 2551 15:16:54 น.
Counter : 418 Pageviews.  

โสดาปัตติมรรค-แนวทางเพื่อทรงคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน ตอน ๙

การพิจารณาร่างกายของเราว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน นั้นจะอธิบายเพิ่มเติมว่า ร่างกายของเราที่สามารถทรงอยู่ได้นั้นก็เพราะการรวมกันขององค์ประกอบอันมีธาตุ ๔ เป็นหลักคือ ดิน ลม ไฟ น้ำ มีการทำงานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบสอดคล้องกัน เราจึงยังคงสภาพร่างกายนี้ไว้ได้ แต่ให้เราเข้าใจว่าร่างกายเรานี้มันพัฒนามีการทำงานของมันเอง เราเข้าไปยุ่ง ไปฝืนไปบังคับมันไม่ได้ เช่น เราอยากกลั้นหายใจนาน ๆ แต่ก็ทำไม่ได้ เป็นต้น และไม่นานเมื่อองค์ประกอบของธาตุในร่างกายทำงานไม่สมดุลกันเมื่อไหร่ ร่างกายเรานี้ก็จะทรงตัวอยู่ไม่ได้ จะต้องพังทลาย แตกสลายไปอย่างแน่นอน

นี่คือหลักความจริงทางพระพุทธศาสนาที่สอคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ซึ่งเราไม่สามารถที่จะหาอะไรมาคัดค้านได้เลย แล้วทำไมเรายังไปยึดไปติด เสพความเป็นตัวเป็นตนอันที่สักวันมันจะต้องแตกสลายไปด้วยเล่า
ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ท่านทั้งหลาย จะพิจารณาความเป็นตัวเป็นตนอยู่เป็นประจำเพื่อละสังโยชน์ ข้อสักกายทิฏฐินี้ให้ได้

๒.วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยในคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เช่นมีความเคลือบแคลงในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ว่ามีจริงหรือปฏิบัติแล้วจะได้ผลจริงหรือเปล่าเป็นต้น ทำให้ไม่มั่นใจ ไม่เข้มแข็ง ในการที่จะเดินเข้าสู่เส้นทางของอริยมรรค
ข้อนี้ดูเหมือนจะเป็นการบังคับหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ว่าต้องไม่สงสัยในตัวฉันนะ ฉันนี้เป็นคนคนดีนะ อะไรทำนองนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การหมดความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยนั้น ต้องเกิดจาก ศรัทธาที่ใช้ปัญญาไตร่ตรองแล้วเท่านั้น ไม่ใช่แค่ได้ฟังแล้วน้อมไป จากนั้นก็บอกว่ามีศรัทธา มีความเชื่อ แต่ทุกอย่างต้องออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ เมื่อมีใครมาชักนำให้เปลี่ยนศรัทธา หรือศาสนาก็จะไม่เห็นด้วย มีความเชื่อมั่นในคุณของพระรัตนตรัยอย่างเต็มเปี่ยม มีปัญญาพิจารณาคุณของพระรัตนตรัยอยู่ทุกลมหายใจ ข้าพเจ้าพิจารณาดูแล้วเชื่อข้อนี้คงไม่ยาก สำหรับชาวพุทธเราที่มีสัมมาทิฏฐิเป็นพื้นฐานมาก่อนแล้ว

๓.สีลัพพตปรามาส คือ ความนับถือศีลพรต มีความยึดถือผิดพลาดไปว่าจะบริสุทธิ์ หลุดพ้นไปได้เพียงด้วยศีลและพรต ได้แก่ การถือศีล ระเบียบ แบบแผน บทบัญญัติ และข้อปฏิบัติต่าง ๆโดยสักว่าทำตาม ๆ กันมาอย่างงมงาย เห็นเป็นขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ ติดอยู่กับรูปแบบหรือพิธีรีตอง การกระทำที่ไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของศีลและวัตร
ข้อนี้ในสังคมไทยข้าพเจ้ายังเห็นว่าเยอะอยู่เหมือนที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วคือการถือของขลัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ วัตถุมงคล การสักยันต์ กินแต่ผักหรืออาหารเจ ตลอดชีวิต เพื่อต้องการบรรลุโพธิญาณ ก็ยังมีให้เห็น พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนอย่างนี้ มันเป็นศีลพรตของนักบวช ฤๅษีชีไพร นอกศาสนาเท่านั้นที่ทำกัน

พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันเนื้อสัตว์ได้ โดยต้องพิจารณาก่อนว่าเนื้อที่จะฉันนั้นผิดวินัยหรือเปล่าเช่นเป็นเนื้อ มนุษย์ เนื้อเสือ เป็นต้น จากนั้นให้พิจารณาว่าเนื้อสัตว์นั้นว่าเป็น ธาตุดิน หรือ ธาตุน้ำ เสียก่อนเพราะหากไม่พิจารณาก็จะมีเศษบาปติดตัวเราได้ แต่พวกเรากับมีความเชื่อกันผิด ๆ คิดว่า กินเจ กินผักตลอดชีวิต จิตใจจะบริสุทธิ์ เช้าถึงพระนิพพานได้ ความเชื่อนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับ นักบวชนอกศาสนาที่เชื่อว่า บาปจะชำระได้เมื่อลงไปอาบน้ำที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์หรือเมื่อสารภาพบาปแล้วเท่านั้น




 

Create Date : 07 เมษายน 2551    
Last Update : 7 เมษายน 2551 15:15:23 น.
Counter : 287 Pageviews.  

โสดาปัตติมรรค-แนวทางเพื่อทรงคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน ตอน ๘

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะระดับโสดาบันเท่านั้น โดยผู้ที่ถึงภูมิธรรมขั้นโสดาบันก็จะได้ชื่อว่า เป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น สมัยพุทธกาลนับว่าเยอะมาก ๆ แทบจะเดินชนกันเลยว่างั้น เพราะว่าภูมิธรรมขั้นนี้สามารถที่จะบรรลุได้แม้ยังคงสถานะเป็นฆราวาสอยู่ แต่ถึงอย่างนั้นพระโสดาบันก็ยังสามารถแบ่งได้อีก ๓ ประเภทด้วยกันคือ


๑. เอกพีซีโสดาบัน จะเกิดอีกเพียงชาติเดียว แล้วก็จะบรรลุอรหันตผล


๒. โกลังโกลโสดาบัน ซึ่งจะเกิดอีก ๒-๖ ชาติเป็นอย่างมาก แล้วก็จะบรรลุอรหันตผล


๓. สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน ซึ่งจะเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ แล้วก็จะบรรลุอรหันตผล






การเวียนว่ายตายเกิดของพระโสดาบันนั้นยังมีอยู่แต่ก็จะไม่เกิน ๗ ชาติเป็นอย่างมากและที่สำคัญคือ ไม่ต้องตกไปเกิดยัง อบายภูมิ อันมี เดรัจฉาน อสุรกาย เปรต นรก อีกด้วย จึงนับว่าเป็นสมบัติวิเศษที่สุดที่เราต้องแสวงหา และปฏิบัติให้เข้าถึงโสดาบันกันให้ได้ ตามพระสูตรแล้วผู้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงโสดาบันนั้นต้องละสังโยชน์ ๑๐ (กิเลสเครื่องร้อยรัดจิตของสัตว์ให้ตกวงเวียนอยู่ในวัฏฏะสงสาร ๑๐ ประการ) ให้ได้อย่างน้อย ๓ ข้อแรกคือ


๑.สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นตัวเป็นตน ความเห็นที่ยังติดแน่นในสมมติว่าเป็นตัวตน เราเขาเป็นนั่นเป็นนี่ มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริงที่สัตว์บุคคลเป็นเพียงองค์ประกอบต่าง ๆมาประชุมกันเข้า ทำให้มีความเห็นแก่ตัวในขั้นหยาบ และความรู้สึกกระทบกระทั่งบีบคั้นเป็นทุกข์ได้รุนแรง


จะเห็นได้ว่าแค่ทิฏฐิข้อแรก ก็เริ่มมีปัญหากันแล้วสำหรับปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป เพราะคนส่วนมากที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนา ก็จะไม่เข้าใจ ไม่สามารถละอัตตา ตัวตนได้ จะยังคงมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ยึดถือสิ่งนี้ว่าเป็นของเรา เราต้องเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น เมื่อมีอารมณ์ก็จะถูกกระทบ กระทั่งได้ง่าย เพราะอัตตา ตัวตนอันเหนียวแน่น ยังคงมีความห่วงใยในทรัพย์สินภายนอกหรือคนที่เรารักอยู่


วิธีที่จะผ่านหรือละสังโยชน์ข้อแรกนี้ได้ ต้องอาศัยกำลังใจ ศรัทธา และการเจริญวิปัสสนา หลายท่านมีความเข้าใจว่า การเจริญวิปัสสนานั้นต้องนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรืออะไรทำนองนั้น แต่ส่วนตัวข้าพเจ้าแล้วนั้น การเจริญวิปัสสนาสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ตั่งแต่ ตื่นนอน ทำงาน จนกระทั่งก่อนหลับ เพราะการเจริญวิปัสสนาคือการพิจารณาโดยใช้ปัญญาให้เป็นตามความเป็นจริง หรือ ถ้ายังไม่เกิดปัญญาก็ต้องค่อย ๆ สร้าง จากสมาธิระดับต้น ๆ แล้วค่อยยกจิตตัวเองขึ้นแล้วถือเอาสภาวะแวดล้อมนั้นมาพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง หรือที่เรียกว่าการใช้โยนิโสมนสิการ(การพิจารณาโดยแยบคาย) โดยการน้อมสภาวธรรมนั้น ๆ เข้ามาพิจารณากับตัวเอง ว่าต่างก็ตกอยู่ภายใต้กฎสามัญลักษณะ(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)อยู่ทุกลมหายใจ


ส่วนศรัทธาหรือความเชื่อนั้นจะต้องมีแก่ผู้ปฏิบัติมาก ๆ โดยความเชื่อว่าตัวเองจะต้องทำได้ และต้องปฏิบัติเพื่อลดอัตตาของตัวเองให้ได้ การให้ทานเป็นประจำก็มีส่วนสำคัญ แต่การให้ทานครั้งนี้แตกต่างจากการทำทานกับคนทั่วไป เพราะเราจะให้ทานโดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทน เช่น ขอให้ถูกหวย ขอให้ได้เกิดบนสวรรค์ หรือ ชาติหน้าให้มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ฯลฯ แต่จุดประสงค์ในการให้ทานนี้ก็เพื่อลดอัตตา ความเป็นตัวเป็นตน และเพื่อก้าวสู่สภาวะนิพพาน และต้องพิจารณาให้ได้ว่า สมบัติทั้งหลายในโลก ไม่ใช่ของเรา เราบังคับไม่ได้นาน แม้แต่ร่างกายของเราเองก็ตาม เราก็ยังบังคับให้มันคงสภาพเดิมไม่ได้เลย




 

Create Date : 07 เมษายน 2551    
Last Update : 7 เมษายน 2551 15:13:51 น.
Counter : 321 Pageviews.  

1  2  3  

อัสติสะ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




ทุกข์ใดจะทุกข์เท่า การเกิด
ดับทุกข์สิ่งประเสริฐ แน่แท้
ทางสู่นิพพานเลิศ เที่ยงแท้ แน่นา
คือมรรคมีองค์แก้ ดับสิ้นทุกข์ทน






Google



New Comments
Friends' blogs
[Add อัสติสะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.