All Blog
แนะเกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงมันสำปะหลัง คาดโรคใบด่างลดลง
นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลังโรงงานจังหวัดกาญจนบุรี แหล่งผลิตสำคัญอันดับ 4 ของประเทศ พบว่า ปี 2564 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ 10 กุมภาพันธ์ 2564)

คาดการณ์ว่า มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 508,565 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 497,377 ไร่ (เพิ่มขึ้น 11,188 ไร่ หรือร้อยละ 2.25) เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกอ้อยมาปลูกมันสำปะหลังโรงงานแทน เพราะสถานการณ์ภัยแล้งและราคาของอ้อยที่ลดลงเมื่อช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ผลผลิตรวม 1,736,241 ตัน

เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวน 1,643,813 ตัน (เพิ่มขึ้น 92,428 ตัน หรือร้อยละ 5.62) ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 3,414 ตัน/ไร่ (เพิ่มขึ้น 109 ตัน/ไร่ หรือร้อยละ 3.30) ทั้งนี้ ผลผลิตรวมและผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโต และเกษตรกรหมั่นดูแลรักษาแปลงมันสำปะหลังดี





 






 
สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นับเป็นช่วงที่ผลผลิตออกตลาดมากที่สุด เกษตรกรจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม โดยราคาหัวมันสำปะหลังสดที่เกษตรกรขายได้ (ราคา ณ 22 กุมภาพันธ์ 2564) เฉลี่ย 2.01 บาท/กิโลกรัม ราคาค่อนข้างใกล้เคียงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์ 2563) เนื่องจากความต้องการรับซื้อมันสำปะหลังของโรงงานเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อของประเทศจีน

จากการะบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต ซึ่งสร้างความเสียหายประมาณ 879 ไร่ ของเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งจังหวัด พบการระบาดมากที่สุดในพื้นที่อำเภอบ่อพลอย และเลาขวัญ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดย สำนักงานเกษตรอำเภอบ่อพลอย สำนักงานเกษตรอำเภอเลาขวัญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เร่งดำเนินการสร้างการรับรู้ การป้องกัน และทำความเข้าใจให้เกษตรกรยินยอมทำลายแปลงมันหากพบการระบาด รวมถึงภาคเอกชน (ลานมันในพื้นที่) ยังให้ความร่วมมือรับซื้อมันสำปะหลังจากแปลงที่เป็นโรค





 






 
ในกรณีที่แปลงสามารถขุดมันได้แล้ว นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่มีการสำรวจแปลงมันของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที และไม่มีการซื้อขายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังนอกพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี โดยคาดว่าการระบาดของโรคในปีนี้จะลดลงกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

หากเกษตรกรพบการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ควรทำลายทิ้งเท่านั้นเพราะอาจจะทำให้ระบาดรุนแรงและควบคุมยาก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต และที่สำคัญอาจสร้างความเสียหายต่อภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของจังหวัดได้ เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี

หากต้องการกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างถาวร เกษตรกรต้องมีการคัดเลือกท่อนพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังจากต้นที่สะอาดปราศจากโรค จากแปลงที่ไม่เคยเป็นโรค และงดซื้อหรือขายท่อนพันธุ์จากแหล่งที่ไม่รู้จักหรือจากแหล่งที่เกิดโรคระบาด ซึ่งอาจทำให้โรคระบาดกลับมาอีก และทำให้พันธุ์มันสำปะหลังในพื้นที่ขาดแคลนได้ หากเกษตรกรหรือท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตมันสำปะหลังจังหวัดกาญจนบุรี สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 ราชบุรี โทร. 0 3233 7951 หรืออีเมล zone10@oae.go.th




 

 
 



Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2564
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2564 18:25:13 น.
Counter : 464 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments