RIO 2016 ไม่น่าจะซ้ำรอย MUNICH 1972 โดย ดร.มนัสพาสน์ ชูโต



วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม ปี ค.ศ. 2016 จะมีพิธีเปิดมหกรรมกีฬา OLYMPICS ฤดูร้อนที่นครริโอเดจาเนโร หรือ RIO 2016 ประเทศบราซิล อันจะเป็นการแข่งขันกีฬาระดับโลกครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปอเมริกาใต้ในประวัติศาสตร์ ในระยะก่อนการแข่งขันทั่วโลกได้ทราบข่าวความยุ่งยากสับสนและความไม่พร้อมที่เกิดขึ้นในหลายบริบทด้วยกัน ทั้งทางการเมืองภายใน ฐานะทางเศรษฐกิจและการเงินแม้บราซิลจะเป็นประเทศที่เคยอยู่ในกลุ่ม BRIC ซึ่งสมัยหนึ่งเคยมีแววว่าจะรุ่งโรจน์ในการพัฒนาต่อไป

ปัญหาการระบาดของโรค “ซิก้า” อันทำให้นักกีฬาในระดับแนวหน้าบางประเภทขอยกเลิกการไปร่วม ปัญหาการห้ามนักกีฬาจากรัสเซียซึ่งเป็นอภิมหาอำนาจด้านกีฬามาแต่เก่าก่อนเพราะปรากฏหลักฐานว่าได้มีการใช้สารกระตุ้นโดยภาครัฐรู้เห็นเป็นใจด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกรีฑา ปัญหาสภาพแวดล้อมและมลภาวะใกล้บริเวณแข่งขัน และท้องน้ำ ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชุมชนอันสืบเนื่องมาจากความเสื่อมโทรมในฐานะความเป็นอยู่ของพลเมือง ตลอดจนปัญหาร้อยแปดซึ่งมิใช่ว่าจะมีอยู่ในมหานครอันจะเป็นที่จัดมหกรรมกีฬาโลกแห่งนี้เท่านั้น

สภาพการณ์ที่น่าหวั่นเกรงยิ่งได้แก่การคุกคามของขบวนการก่อการร้ายสากล ด้วยกลุ่มหนึ่งได้ออกคำขู่ว่าจะก่อเหตุขึ้นในระหว่างการแข่งขันกีฬาระดับโลกครั้งนี้ ข้อนี้เป็นประเด็นที่น่าห่วงกังวลยิ่ง และเพื่อป้องกันภัย ประเทศเจ้าภาพ อันได้แก่บราซิล ด้วยความร่วมมือในทางต่าง ๆ ของประเทศที่ทรงสมรรถภาพ จึงได้ร่วมกันป้องกันภัย โดยได้เริ่มมาแล้วหลายเดือน มีการระดมกำลังพลทุกเหล่าในการระวังการณ์ด้วยอาวุธครบมือ และมีการฝึกซ้อมเป็นระยะๆ มารวมทั้งการเตรียมการรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และรถพยาบาลกับรถฉุกเฉินเป็นจำนวนหลายร้อยคัน ตามสถานะล่าสุด กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้เข้าประจำการณ์เยี่ยงการรับมือกับสถานการณ์สงคราม ปัจจัยช่วยคงจะได้แก่การที่บราซิลไม่เคยต้องเผชิญกับการก่อการร้ายมาก่อน และมิได้มี “Home grown militants” แต่ถึงกระนั้น ก็ได้มีการเฝ้าระวังและการประสานงานด้านการข่าวกับหลายฝ่าย ทำให้สามารถจับกุมผู้ที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบได้แล้วถึงวันที่ทำรายงานนี้ 11 คน ยังเหลืออีกไม่เกินหนึ่งหรือสองคน ซึ่งยังไม่พร้อมที่จะก่อการร้ายได้

เพราะการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์จนถึงขั้นที่อาจจะเลวร้ายที่สุดดังที่ได้ติดตามดูรายงานจากท้องที่มานี้ จึงหวังว่า RIO 2016 จะไม่เกิดเหตุซ้ำรอย MUNICH 1972 อันมีรายละเอียดที่ได้จัดทำไว้ประมาณ 5 ปีมาแล้ว ดังต่อไปนี้

เหตุการณ์รุนแรงยิ่งครั้งหนึ่ง โดยฝีมือของขบวนการแบล็คเซปเทมเบอร์และการปราบปรามแบบขาดความเป็นมืออาชีพของฝ่ายเยอรมันที่นับว่าดังก้องโลกที่สุดเห็นจะได้แก่ปฏิบัติการในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่นครมิวนิค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันในวันที่ 5 - 6 กันยายน 2515 (.. 1972)

ปฏิบัติการครั้งนั้นได้รับการขนานนามโดยฝ่ายปาเลสไตน์ว่า Operation Ikrit and Biram  พลพรรคชั้นนำคนหนึ่งของปาเลสไตน์ในชื่อ Abu Daoud  อ้างว่าตนเป็นต้นคิดในการวางแผนและว่าผู้ที่ให้ทุนสนับสนุนได้แก่ Mahmoud Abbas ซึ่งหลังจากที่ยาสเซอร์ อาราฝัด ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าของ Palestinian Authority และในระยะต่อมา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของปาเลสไตน์

Ikrit และ Biram เป็นชื่อหมู่บ้านของชุมชนปาเลสไตน์ทางภาคเหนือของทะเลสาบกาลิลี่ ทั้งสองหมู่บ้านได้ถูกกองกำลังอิสราเอลบุกเข้าทำลายล้างอย่างหนัก ทำความเจ็บแค้นแก่ชาวปาเลสไตน์อย่างยิ่ง หมู่บ้านทั้งสองเป็นฐานฝึกกำลังรบของผู้ก่อการร้ายที่เข้าร่วมอยู่ในขบวนการแบล็คเซปเทมเบอร์ รวมทั้ง 8 คนที่ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติการในหมู่บ้านนักกีฬาที่นครมิวนิคด้วย

ผู้ก่อการร้ายทั้ง 8 แต่งกายในชุดอุ่นเครื่องและเข้าไปปะปนกับนักกีฬาของชาติอื่นอย่างกลมกลืน ก่อนจะปีนรั้วเหล็กเข้าไปในบ้านพักของนักกีฬาอิสราเอลและครูฝึกรวม 11 คน โดยอาศัยความมืดในเวลา 3.30 . เป็นการพรางตา (มีรายงานต่อมาด้วยว่านักกีฬาสหรัฐได้ช่วยดันก้นผู้ก่อการร้ายขณะปีนข้ามรั้วเหล็กที่กั้นทางเข้าหมู่บ้านนักกีฬาด้วย โดยชาวอเมริกันมิได้เฉลียวใจแม้แต่น้อย)

ด้วยความที่มีประวัติในการจัดการแข่งขันโอลิมปิคส์ฤดูร้อนที่กรุงเบอร์ลินสมัยนาซีภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางการเยอรมันจึงพยายามจัดการแข่งขันที่นครมิวนิคให้มีบรรยากาศผ่อนคลายที่สุด อันย่อมหมายถึงการลดหย่อนมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งที่จริงแล้วน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้นไม่แต่เท่านั้น รัฐธรรมนูญเยอรมันตะวันตกในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังห้ามมิให้ใช้ทหารในภารกิจภายในประเทศด้วย จึงไม่มียานเกราะรักษาการณ์อยู่ในบริเวณของการแข่งขันและหมู่บ้านนักกีฬาเลย มีแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นของรัฐบาวาเรียเท่านั้น จริงอยู่ที่มีการจำลองสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในหลายรูปแบบด้วยกัน ปรากฏว่า แบบจำลองของนายฮันส์ ดีทริคช์ เกนเชอร์​ (Hans Dietrich-Genscher) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของสหพันธ์ในขณะนั้น ใกล้เคียงกับเหตุร้ายที่อุบัติขึ้นจริงที่สุด แต่ไม่มีใครให้ความสำคัญกับสถานการณ์จำลองนั้นแม้แต่คนเดียว อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญเยอรมันตะวันตกก็ได้จำกัดบทบาทและความรับผิดชอบของตัวแทนจากสหพันธ์เช่นกัน คือการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสหพันธ์ไม่สามารถทำอย่างใดได้นอกเหนือจากการให้คำปรึกษาและเเนะนำเท่านั้นเพราะที่นั่นเป็นเขตอำนาจของรัฐบาวาเรีย การเตรียมการและการวางแผนรักษาความปลอดภัยในช่วงเวลาที่ทั้งโลกเต็มไปด้วยความไร้เสถียรภาพและความเสี่ยงต่ออันตรายจึงถือได้ว่าล้มเหลวมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมีพิธีเปิดการแข่งขันเสียด้วยซ้ำ

ผู้ก่อการร้ายจึงเข้าสู่บ้านพักของนักกีฬาอิสราเอลได้อย่างง่ายดาย ตัวนักกีฬาเองต่างก็นอนหลับอยู่ในอพาร์ตเมนท์ต่างๆแยกเป็นกลุ่ม แต่มีนักมวยปล้ำ 2 คนที่ได้ยินเสียงประตูเคลื่อนไหวจึงลุกจากเตียงแล้วพยายามสกัดการบุกรุก จึงถูกสังหารตั้งแต่แรก คนหนึ่งในสภาพน่าอเนจอนาถยิ่ง ส่วนอีกคนหนึ่งตายอยู่ภายในบ้านพัก คงเหลืออีก 9 คนซึ่งตกเป็นตัวประกัน

เมื่อ 9.00 . ของวันที่ 6 กันยายน อันเป็นเส้นตายที่ฝ่ายก่อการร้ายได้ประกาศไว้ในใบปลิวแจ้งข้อเรียกร้องซึ่งเตรียมมาก่อนหน้า สิ่งที่ผู้ก่อการร้ายเรียกร้อง ได้แก่การบังคับให้อิสราเอลปล่อยตัวชาวปาเลสไตน์  เลบานอนและแนวร่วมรวม 250 คนซึ่งถูกกองกำลังอิสราเอลล่าตัวไปจากทั้งสองหมู่บ้านและเมื่อดำเนินการแล้วให้จัดเครื่องบินนำพวกเขาทั้งกลุ่มไปส่งในประเทศอียิปต์อย่างปลอดภัย กับได้ปฏิเสธที่จะเจรจากับทางการเยอรมัน ในจำนวน 250 คนที่ผู้ก่อการร้ายเรียกร้องนี้ มีชื่อนาย Andreas Baader และนาง Ulrike Meinhof จากกลุ่ม Red Army Faction ในความควบคุมของฝ่ายเยอรมันด้วย

แม้กลุ่มแบล็คเซปเทมเบอร์จะไม่ยอมพูดจา อันเป็นท่าทีทุกครั้งของผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน แล้วแต่สถานการณ์  ทางการเยอรมันก็ได้พยายามเริ่มการต่อรองโดยรัฐมนตรีรัฐบาวาเรียเป็นผู้นำทีม ด้วยการเสนอเงินค่าไถ่เพื่อแลกกับตัวประกันทั้ง 9 ผู้ก่อการร้ายปฏิเสธเด็ดขาด โดยย้ำว่า ทั้งเงินและชีวิตของพวกเขาไม่สำคัญ ด้วยท่าทีเช่นนี้ การเจรจาจึงยืดเยื้ออยู่นานแม้จะมีผู้แทนอียิปต์ 2 คนจากสันนิบาตอาหรับหรือ Arab League และจากคณะกรรมการโอลิมปิก ระหว่างประเทศมาช่วยด้วยตลอดช่วงกลางวันของวันที่ 6 กันยายน  ถึงจะไม่เป็นผล แต่ก็ทำให้ฝ่ายก่อการร้ายต้องเลื่อนเส้นตายไปถึง 5 ครั้ง การเจรจาที่ว่านี้มิได้หมายถึงการพบปะพูดจากันระหว่างสองฝ่าย แต่ตามภาพถ่ายที่พอเคยเห็นจากหนังสือพิมพ์  ฝ่ายเยอรมันอยู่ด้านนอกของบ้านพักนักกีฬา ส่วนทางการอิสราเอลยืนกรานท่าทีของตนว่า ไม่เห็นด้วยกับการจะเจรจากับผู้ก่อการร้าย และขอส่งหน่วยรบพิเศษมายังนครมิวนิคแต่ถูกนายกรัฐมนตรีวิลลิ บรันท์ (Willy Brandt) และนายฮันส์ ดีทริคช์ เกนเชอร์ปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอ หลังจากนั้น ทางการเยอรมันและบาวาเรียได้ถือโอกาสวางแผนยุติเหตุการณ์แต่ลำพังโดยไม่ปรึกษาผู้แทนของอิสราเอลเลย

แผนยุติเหตุร้ายของเยอรมันหละหลวมอย่างยิ่ง โดยใช้ตำรวจชายแดน 5 นายซึ่งไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาเป็นกำลังหลัก ด้วยความเข้าใจผิดว่า พวกนี้เป็นพลแม่นปืน ซึ่งเมื่อเผชิญกับสถานการณ์จริงก็ปรากฏว่า มิได้มีฝีมือด้านนี้ เครื่องมือสื่อสารระหว่างหน่วยต่าง ๆ ก็ไม่มี แต่สำหรับตำรวจบาวาเรีย ซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่การแข่งขัน ก็ได้รับแจก walkie talkie กันพร้อมหน้า ฝ่ายเยอรมันเองคิดว่าผู้ก่อการร้ายมีอยู่เพียง 2-3 คน ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นยังมีอยู่ 8 คนครบ เพิ่งมาสังเกตเห็นก็เมื่อทั้งชุดออกจากบ้านนักกีฬาไปขึ้นรถโดยสารเพื่อไปยังเฮลิคอปเตอร์  2 เครื่องที่รอรับเพื่อนำไปส่งยังเครื่องบินโดยสารแบบโบอิ้ง 727 ที่สนามบินใกล้เคียงอันเป็นฐานบินของสัมพันธมิตรนาโต้ ที่ย่ำแย่ที่สุดคือโทรทัศน์ท้องถิ่นได้ถ่ายทอดความเคลื่อนไหวต่างๆ อยู่ตลอด  

ทั่วโลกได้เห็น และผู้ก่อการร้ายก็ได้เห็นด้วยจากโทรทัศน์ในบ้านพักนักกีฬา จึงทราบแผนลวงของฝ่ายเยอรมันอย่างชัดแจ้ง ผู้เขียนเองก็ได้ดูความเคลื่อนไหวเหล่านี้บางตอนจากรายงานข่าวทางโทรทัศน์ระหว่างประเทศขณะว่างจากการประชุมอาเซียนที่กรุงมะนิลา ขณะเดียวกัน ตำรวจซึ่งปลอมตัวเป็นนักบินและพนักงานประจำเครื่อง ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจให้สังหารผู้ก่อการร้าย ก็ได้ออกเสียงลงมติระหว่างกันเองที่จะยกเลิกภารกิจ โดยมิได้รายงานให้หน่วยเหนือทราบ ในที่สุด ความสับสนของทั้งสองฝ่ายจึงนำไปสู่การตะลุมบอนกันขึ้น นักกีฬาอิสราเอลถูกฆ่าด้วยระเบิดในบริเวณเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 9 คน แบล็คเซปเทมเบอร์ 5 คนถูกยิงเสียชีวิต อีก 3 คนทำเป็นนอนตายและถูกจับไป เจ้าหน้าที่เยอรมันต้องเสียชีวิตไปอย่างน้อย 1 คน เพราะถูกกระสุนของพวกเดียวกันเอง ผู้บัญชาการ 3 นาย ซึ่งอยู่ในหอบังคับการบินทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะเห็นเหตุการณ์ไม่ชัดเจน และสองคนในจำนวนนี้เป็นนักการเมือง ไม่คุ้นกับการควบคุมสถานการณ์ร้ายลักษณะนี้ มีอยู่คนเดียวที่พอมีประสบการณ์ แต่ไม่อาจช่วยควบคุมสถานการณ์อันสับสนอลหม่านด้านล่างได้

เหตุการณ์รุนแรงและนองเลือดยิ่งยุติลงในที่สุดในลักษณะที่รายงานข่าวใช้คำว่า

“การสังหารหมู่ที่มิวนิค” (Munich Massacre) เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดดังที่รัฐมนตรีเกนเชอร์ได้จำลองสถานการณ์ ไว้ได้เกิดขึ้นจริงๆ แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า คำว่า “สังหารหมู่” นั้นสอดคล้องกับการปะทะกันที่ลานบิน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นอกเหนือการควบคุมของฝ่ายเยอรมันโดยสิ้นเชิง ในแง่ของผู้ก่อการร้ายนั้นเขาพร้อมอยู่แล้วที่จะพลีชีพหากสถานการณ์บังคับ แต่จาก 8 คนที่เข้าปฏิบัติการและอีก 3 คนรอด ขณะที่นักกีฬาและผู้ฝึกสอนอิสราเอลทั้ง 11 คน ถูกสังหารหมด โดยรวมคนแต่แรกๆด้วย จากรูปการณ์ดังนี้ ไม่อาจชี้ชัดได้ว่า ฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ แบล็คเซปเทมเบอร์เองอาจคิดว่า ฝ่ายตนได้รับความสำเร็จ มิใช่เพราะสังหารนักกีฬาอิสราเอลได้หมด เพราะนั่นมิใช่เป้าหมายหรือข้อเรียกร้องแต่เพราะปฏิบัติการฝ่ายเขาทำให้ทั้งโลกต้องตกตะลึง และชื่อของขบวนการเป็นที่รับรู้กันแทบจะทั่วโลก และแน่นอนที่อิสราเอลจะแค้นหนัก

ในคืนวันที่ 6 กันยายน ปี ค.. 1972 คณะกรรมการโอลิมปิคส์ระหว่างประเทศได้ประกาศยุติการแข่งขันทั้งหมด นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคส์ฤดูร้อนที่ต้องยกเลิกมหกรรมกีฬากลางคัน ส่วนนายมาร์ค สปิตซ์ (Mark Spitz) นักว่ายน้ำเหรียญทองยอดเยี่ยมจากทีมอเมริกาได้หลบหนีไปอย่างลึกลับตั้งแต่แรกๆ ที่เกิดเหตุร้ายเพราะเกรงว่าจะถูกลอบสังหารเนื่องจากเป็นคนเชื้อสายยิว

เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของกลุ่มแบล็คเซปเทมเบอร์ทำให้รัฐบาลเยอรมันตะวันตกและรัฐบาลอื่นๆ ในยุโรปตกลงใจจัดตั้งกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายขึ้นอย่างเป็นการถาวรนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

การตอบโต้ของอิสราเอลหลังจากมิวนิคพอเป็นทีคาดหมายได้ มิใช่เพียง “ตาต่อตา - ฟันต่อฟัน” เท่านั้น

จากรายงานที่ปรากฏต่อมา นายกรัฐมนตรี โกลดา เมเอียร์ (Golda Meir) แห่งอิสราเอลเคียดแค้นมากเพราะตนเองก็แคล้วคลาดจากการถูกพยายามสังหารมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ทั้ง  letter bomb  และการที่หน่วยงานด้านความมั่นคงของอิตาลีร่วมกับกองกำลังราชการลับของอิสราเอลบุกเข้าจับผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์กลุ่มแบล็คเซปเทมเบอร์ที่ตึกใกล้กับชายหาด Ostia Lido ในเส้นทางบินที่เครื่องบิน El Al ซึ่งนายกรัฐมนตรีเมเอียร์ใช้เดินทาง กำลังเหินฟ้าขึ้นจากท่าอากาศยานฟิวมิชีโน (Fiumicino) ของกรุงโรม เพียงพริบตาเดียว ก่อนที่ผู้ก่อการร้ายจะยิงจรวดเข้าใส่ เมื่อเกิดเหตุร้ายที่นครมิวนิค โดยฝ่ายอิสราเอลไม่มีทางเข้าช่วยเพราะอยู่นอกเขตอำนาจ ได้แต่เฝ้ามอง นางโกลดา เมเอียร์ จึงตัดสินใจใช้วิธีตอบโต้อย่างกะทันหันและต่อเนื่อง ในชั้นแรก ได้เรียกอดีตนายพล Aharon Yariv และนาย Zvi Zamir  หัวหน้า Mossad เข้าหารือลับและสั่งการให้จัดตั้งองค์กรเพื่อตามล่าผู้ก่อการร้ายอาหรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ทราบว่าเคยจับยิวไปทรมานในที่ต่างๆ

จะด้วยแผนดังกล่าวนี้หรือไม่ก็ตาม หลังจากนั้น เเบล็คเซปเทมเบอร์และผู้ก่อการร้ายอาหรับก็ถูกปลิดชีวิตแทบจะว่าทีละคนในที่ต่าง ๆ ก็ว่าได้ ทั้งด้วยการถูกลอบยิงและการลอบวางระเบิดและวิธีลี้ลับอื่น ๆ ภายใต้ปฏิบัติการ Operation Spring of Youth และ Operation Wrath of God มือปฏิบัติการปาเลสไตน์ถูกฆ่าอย่างลึกลับไปนับร้อย และในเดือนกุมภาพันธ์ 2516 อิสราเอลได้ใช้กำลังทางอากาศ เรือและบก บุกค่ายผู้ลี้ภัยที่ได้จับชาวอิสราเอลไว้ทางตอนเหนือของเลบานอน อันเป็นฐานฝึกอบรมของแบล็คเซปเทมเบอร์ โดยที่บางส่วนได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติการที่มิวนิคในการโจมตีครั้งนั้น พวกปาเลสไตน์ถูกสังหารไปหลายร้อยคน

หวังว่า “มิวนิค” เมื่อปี ค.ศ. 1972 เกือบ 44 ปีเต็มมาแล้ว จะเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งแรกและครั้งเดียว ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคส์ฤดูร้อน และมาตรการป้องกันภัยที่หลายประเทศร่วมกันใน RIO2016  แม้ว่าเหตุการณ์การก่อการร้ายจะได้อุบัติขึ้นในรอบเดือนกรกฎาคม ศกนี้ ในหลายประเทศก็ตาม

เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์การก่อการร้ายระหว่างการแข่งขันกิฬาโอลิมปิคส์ฤดูร้อนที่นครมิวนิค ส่วนใหญ่เรียบเรียงมาจากหนังสือ ยุทธการยึดสถานทูตอิสราเอลกลางกรุง บันทึกปฏิบัติการลับแบล็คเซบเทมเบอร์บุกกรุงเทพฯ  การก่อการร้ายสากล...บททดสอบการทูตไทย โดย ดร. มนัสพาสน์ ชูโต อดีตเอกอัครราชทูต

 ที่มา thaitribune




 

Create Date : 05 สิงหาคม 2559    
Last Update : 5 สิงหาคม 2559 10:59:31 น.
Counter : 359 Pageviews.  

ศาลฎีกาฯสั่งจำคุกอดีตรมว.คลังหมอเลี๊ยบ-สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี 1 ปีแทรกแซงตั้งผู้ทรงคุณวุฒิธปท.โทษจำรอลงอา



ศาลฎีกาฯสั่งจำคุกหมอเลี๊ยบ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี 1 ปีปรับ 2 หมื่นบาท อดีตรัฐมนตรีคลังสมัยสมัคร สุนทรเวช แทรกแซงการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิธนาคารแห่งประเทศไทยโดยมิชอบ โทษจำให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี

 

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2559  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.39/2558 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)  เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี้ยบ อายุ 59 ปี อดีต รมว.คลังในรัฐบาลสมัยนายสมัคร สุนทรเวช และอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน เป็นจำเลย ในความผิดตามป.อาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหาย เนื่องจากแทรกแซงการตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธนาคารแห่งประเทศไทย

จากกรณีเมื่อปี 2551 นพ.สุรพงษ์ แต่งตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ (บอร์ด) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมิชอบ เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดของ ธปท. บางรายมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ซึ่งเคยถูกผู้ตรวจการแผ่นดินชี้มูลความผิดไปแล้ว

ในวันที่ 4 สิงหาคม ศาลฎีกาฯ พิพากษาว่า นพ.สุรพงษ์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

กรณีนี้ศาล พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในคณะกรรมการคัดเลือกฯที่ นพ.สุรพงษ์ แต่งตั้งนั้นมีอยู่ 3 ราย ได้แก่ นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายวิจิตร สุพินิจ และนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ทั้งสามราย เป็นกรรมการบริหารธนาคารทหารไทย กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบธนาคารทหารไทย และรองประธานกรรมการและกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย (ขณะนั้น) ตามลำดับ

ทั้ง 3 ธนาคาร อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ซึ่งบอร์ด ธปท. มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลนโยบายทางการเงิน และเสถียรภาพการเงินของประเทศ ดังนั้นการที่ นพ.สุรพงษ์ จงใจแต่งตั้งบุคคลทั้ง 3 ราย เพื่อให้เลือกบุคคลที่ต้องการให้เข้าไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. จึงอาจมีส่วนได้ส่วนเสียในอนาคตกับธนาคารที่อยู่ใต้กำกับของ ธปท. ได้

การกระทำดังกล่าวจึงขัดกับ พ.ร.บ.ธนาคารฯ มาตรา 28/1 วรรคสาม และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาตรา 9 ถือว่าทั้ง 3 ราย เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการคัดเลือก นพ.สุรพงษ์ จึงมีความผิดตามคำฟ้อง

พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ภายหลังจากจำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรมการคัดเลือกฯ และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีการคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. แล้ว ต่อมา รัฐมนตรีคลังในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ และประธานกับกรรมผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. สมัย นพ.สุรพงษ์ จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 05 สิงหาคม 2559    
Last Update : 5 สิงหาคม 2559 6:38:55 น.
Counter : 234 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.