กรมป่าไม้ เปิดรับสมัครสอบเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ จำนวน 30 อัตรา รับสมัครตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม



ประกาศกรมป่าไม้ เรื่อง รับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ จำนวน 30 อัตรา อัตราเงินเดือนระหว่าง 9,400 -10,340 บาท รับสมัครทางอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม - 19 เมษายน 2560

 

ตำแหน่งที่เปิดรับสมัครสอบ
ตำแหน่ง เจ้าพนักงานป่าไม้ปฏิบัติงาน
จำนวนตำแหน่งว่างครั้งแรก 30 อัตรา
อัตราเงินเดือนระหว่าง 9,400 -10,340 บาท

คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง
1. ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือคุณวุฒิที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน ในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์
2. ต้องเป็นผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ของ ก.พ. ระดับ ปวช. ขึ้นไป

การรับสมัครสอบ
ผู้ประสงค์จะสมัครสอบ สมัครได้ทางอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม - 19 เมษายน 2560 ที่เว็บไซต์ https://forest.job.thai.com/ ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ

รายละเอียดเพิ่มเติม
ไฟล์ประกาศรับสมัครสอบ

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 28 มีนาคม 2560    
Last Update : 28 มีนาคม 2560 18:16:04 น.
Counter : 292 Pageviews.  

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯทำจดหมายเปิดผนึกถึงสนช.คัดค้านการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติระบุผลเส



ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจคัดค้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC)ก่อนที่ สนช.จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ ที่บรรจุเรื่องของการตั้ง NOC ไว้ในบทเฉพาะกาล วันที่ 30 มีนาคม 2560 นี้โดยทำจดหมายเปิดผนึกถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ให้เหตุผลถึงผลดีผลเสีย ดังนี้

 

วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ทำหนังสือถึง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใจความระบุว่า

"เมื่อผมพ้นหน้าที่จากคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันมาแล้ว ผมระมัดระวังไม่ทำอะไรที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาลนี้ ด้วยเห็นว่าจะต้องช่วยกันผลักดันให้ประเทศของเราก้าวหน้าต่อไปอย่างดีที่สุด อย่างไรก็ตามมีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งผมเฝ้าติดตามเรื่อยมา เพราะหากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงจะมีผลเสียต่อประเทศชาติเป็นอย่างมากชนิดที่ว่าจะแก้กลับไม่ได้ และนั่นก็คือความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งจะเข้ามามีอำนาจเหนือแหล่งพลังงานและกิจการพลังงานของชาติ

ท่านสมาชิก สนช. คงพอจะจำได้ว่าเมื่อตอนต้นปี 2558 รัฐบาลในขณะนั้นเห็นว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ขุดเจาะใช้อยู่ในปัจจุบันมีปริมาณลดน้อยลง จนอาจจะหมดไปในระยะเวลา 4-5 ปี จำเป็นต้องมีการสำรวจหาแหล่งใหม่ที่ยังมีก๊าซธรรมชาติเพียงพอที่จะเจาะนำขึ้นมาใช้ได้อีกนาน กระทรวงพลังงานจึงได้ประกาศเชิญชวนให้บริษัทเอกชนที่สนใจ ยื่นข้อเสนอในการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ โดยจะให้สัมปทานในการขุดเจาะแก่ผู้ที่สำรวจพบและเสนอผลประโยชน์แก่รัฐสูงที่สุด ปรากฏว่ามีผู้ออกมาคัดค้าน โดยมิได้คัดค้านในประเด็นที่จะต้องมีการสำรวจ แต่คัดค้านว่าไม่ควรให้สัมปทานแก่ผู้ที่สำรวจพบ และเสนอแนะใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) แทน ด้วยเชื่อว่าระบบ PSC จะให้ประโยชน์แก่ประเทศมากกว่าระบบสัมปทาน การคัดค้านดังกล่าวทำให้นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนใจและหยุดการประกาศเชิญชวนให้สิทธิสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21ไว้

ผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบดูแลกระทรวงพลังงานจึงเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอทราบนโยบายว่าจะให้มีการสำรวจหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมหรือไม่ คำตอบของนายกรัฐมนตรีก็คือ ยืนยันที่จะให้มีการสำรวจ และมอบให้ผมแก้ไขกฎหมาย (พ.ร.บ.ปีโตรเลียม) เพื่อมิให้การสำรวจและการผลิตจำกัดอยู่เฉพาะระบบสัมปทานดังที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ. ฉบับที่ใช้อยู่ ผมได้มอบให้เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานร่างแก้ไขกฎหมายให้เปิดกว้าง โดยให้รวมถึงระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และ ระบบจ้างสำรวจและผลิตด้วย

ผมเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม 2558 คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยเร่งพิจารณาให้จนเสร็จเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมแล้วส่งกลับมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปรากฏว่า ไม่มีการนำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม. จนผมต้องไปตามเรื่องจึงทราบว่าติดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ในที่สุดก็ยอมให้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อตราเป็นกฎหมายออกใช้ เพื่อที่จะได้สามารถเริ่มการสำรวจก๊าซธรรมชาติได้ทันใช้

สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือทันทีที่ ครม.มีมติดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้บอกผมว่า ก่อนนำเสนอ สนช. ขอให้ผมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพลังงานของ สนช. ผมได้ปฏิบัติตามโดยเชิญคณะกรรมาธิการดังกล่าวมาสนทนากันที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ผู้ที่มาพบมีด้วยกัน 7 คน ปรากฏว่า เป็นอดีตนายทหารระดับสูงถึง 6 คน เมื่อผมชี้แจงแล้วก็ได้รับคำตอบว่า ไม่ขัดข้องที่จะเปิดทางเลือกในการสำรวจและการผลิตให้มีหลายวิธี แล้วเลือกจากวิธีที่ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด แต่เห็นว่า พรบ.ฉบับนี้ยังขาดไปอีก 1 เรื่อง คือเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจเป็นอย่างมาก

ผมได้ชี้แจงกลับทันทีว่าจุดมุ่งหมายของการออก พ.ร.บ.ใหม่ฉบับนี้ก็เพื่อจะเปิดโอกาสให้มีการสำรวจก๊าซธรรมชาติโดยให้ครอบคลุมถึงวิธีการต่างๆให้มากขึ้นกว่าระบบสัมปทานแต่อย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ไม่เคยมีใครพูดถึงบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเลย กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ และเมื่อนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ผมร่างกฎหมาย ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ตัวแทนคณะกรรมาธิการดังกล่าวก็ยังยืนยันว่าควรเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปด้วย ผมได้แจ้งว่าคงจะเติมให้ไม่ได้เพราะไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล และจะขอเสนอร่างไปยัง สนช. ตามที่ร่างไว้

ครั้นถึง 19 สิงหาคม 2558 ผมก็พ้นจากตำแหน่งโดยยังไม่ทันได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อ สนช.รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนต่อมาได้นำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเสนอต่อ สนช. ตามเนื้อหาที่ร่างไว้เดิม ปรากฏว่าคณะกรรมาธิการการพลังงานได้เสนอร่าง พ.ร.บ. เพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งเพื่อจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ รัฐบาลจึงส่งร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หากเห็นด้วยก็อาจรวมเป็นร่างเดียวกันได้

คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญรองนายกรัฐมนตรีที่คุมงานของกระทรวงพลังงานไปชี้แจง ซึ่งท่านได้ชี้แจงว่า ไม่เห็นด้วยและไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฏีกาจึงได้ปฏิเสธที่จะเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่าง พ.ร.บ. ของรัฐบาล และส่งเรื่องกลับไปยัง ครม. ซึ่งได้มีมติให้ส่งร่างเดิมของรัฐบาลไปยัง สนช. เพื่อพิจารณาออกเป็นกฏหมายต่อไป

ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว (ที่ไม่มีเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ) ได้ผ่านการพิจารณาของ สนช. ในวาระหนึ่งและ สนช. ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ปรากฏว่าได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของสภานิติบัญญัติ กล่าวคือในการพิจารณาในวาระ 2 คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เพิ่มเติมเรื่องใหม่ซึ่งเป็นการแก้ไขหลักการของ พ.ร.บ. โดยเติมมาตราเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่าง ทั้งๆ ที่รัฐบาลผู้เสนอร่างไม่มีนโยบายที่จะทำ และไม่มีการระบุหลักการและเหตุผลที่จำเป็นต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแต่ประการใด

การเพิ่มเติมเรื่องใหม่นี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏว่า มีการขอเพิ่มเติมข้อความในเรื่องนี้กลับไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการถึงสองครั้ง และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็ได้กระทำการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยการโอนอ่อนผ่อนตามให้มีการเพิ่มมาตราในเรื่องใหม่ดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะทำ และแม้กระทั่งการศึกษาถึงผลได้ผลเสียตลอดจนความจำเป็นในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ รัฐบาลก็ยังไม่เคยทำไว้ คณะรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดเลยที่จะต้องโอนอ่อนผ่อนตามคำขอที่ไม่ชอบมาพากลของคณะกรรมาธิการฯในเรื่องนี้ นอกเสียจากว่าจะเกรงใจใครบางคนหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย

มาตราที่เพิ่มเติมใหม่นี้คือ มาตรา 10/1 ซึ่งมีข้อความว่า

มาตรา 10/1 ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ได้ถูกนำบรรจุวาระเพื่อการพิจารณาในวาระ 2 และ วาระ 3 ในวันที่ 30 มีนาคม 2560 นี้ ซึ่งหากที่ประชุม สนช. มีมติอนุมัติก็จะสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งหมายความว่ากลุ่มบุคคลที่ต้องการให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ สามารถเริ่มผลักดันด้วยการเริ่มเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ การศึกษาผลดีผลเสียก็คงจะเตรียมกันไว้แล้วในแนวทางที่ต้องการ หน่วยงานที่เห็นว่ายังไม่มีความพร้อมเพียงพอหรือมองเห็นถึงผลเสียเป็นอันมาก ก็คงจะไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะคัดค้านได้ เพราะแม้แต่เรื่องที่รัฐบาลไม่เห็นด้วย กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ก็ยังผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมายจนได้ ต้องมีผู้มีอำนาจหนุนหลังอยู่อย่างแน่นอน  

สาเหตุที่ไม่ควรมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น เป็นเพราะผมเองได้เคยเห็นข้อความในร่างที่มีผู้เตรียมการเพื่อเสนอจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งระบุว่า “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ” และ  “ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน ให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน...”

หากเป็นไปตามร่างดังกล่าว กิจการน้ำมันของประเทศก็จะถอยหลังไป ผมจำได้ว่าเมื่อ 50 ปีก่อน ขณะที่กรมพลังงานดูแลกิจการน้ำมัน เรามีน้ำมัน‘สามทหาร’ของไทยที่มีส่วนการตลาดน้อยมากและถูกครอบงำโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติเป็นสำคัญ ต่อมาเราก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ทำหน้าที่เสมือนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งปรากฏว่า พัฒนามาได้ดีอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 เหนือกว่าบริษัทน้ำมันต่างชาติทั้งหมด

ปตท. ได้พัฒนาแหล่งพลังงานใหม่คือก๊าซธรรมชาติรองรับความต้องการพลังงานที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้ขยายตัวไปสำรวจและผลิตในต่างแดนนำพลังงานกลับมารองรับความเจริญของประเทศได้อย่างทันเหตุการณ์ ได้ขยายเครือข่ายการขายออกไปคุมตลาดในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ และได้ตั้งบริษัทในเครือเพื่อดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานอีกหลายบริษัท เรามีรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ดีอยู่แล้ว ถ้ามีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติใหม่เกิดขึ้นมาและใช้อำนาจที่มีกฎหมายรองรับ ดึงกรรมสิทธิ์ของพลังงานทุกชนิดมาอยู่ที่บรรษัทใหม่แห่งนี้ วิสาหกิจและกิจการของบริษัทพลังงานต่างๆ หลายแห่งจะดำเนินอยู่ต่อไปได้อย่างไร

กิจการเหล่านี้เป็นกิจการขนาดใหญ่ หากต้องหยุดลง ปัญหาอาจลุกลามจนเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ และบรรษัทใหม่ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์จะพัฒนาตนเองให้สามารถรองรับความเจริญทางเศรษฐกิจได้เพียงพอหรือ? จะสามารถรับมือกับปัญหาและพัฒนาการใหม่ๆ ของกิจการพลังงานได้หรือ? กิจการพลังงานของเราซึ่งรุดหน้ามาด้วยดี คงจะสะดุดจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้

ผมจึงใคร่ขอร้องมายังท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทุกท่านที่จะเข้าประชุมในวันที่ 30 มีนาคม 2560 นี้ได้โปรดช่วยชาติด้วยการใช้ความระมัดระวังในการลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ปิโตรเลี่ยม ในวาระ 2 และ วาระ 3 ถ้าท่านจะลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ. ตามที่คณะกรรมการวิสามัญเสนอมาซึ่งรวมมาตรา 10/1 เท่ากับว่าท่านสนับสนุนให้เกิดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งจะมีผลเสียต่อความเจริญของประเทศอย่างแน่นอน  

แต่ถ้าท่านลงมติไม่รับร่างดังกล่าวเราก็จะไม่มีกฎหมายรองรับการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่   ฉะนั้นจะ เป็นไปได้ไหมครับที่จะลงมติรับร่างโดยให้ตัดมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไป ถ้าได้เช่นนั้น ประชาชนคนไทยคงจะขอบใจ และวางใจได้ว่า เรายังมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อยู่

เพื่อนของผมบอกผมว่า ถึงผมจะอ้อนวอนอย่างไรก็คงไม่สำเร็จ เพราะในสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันมีทหารอยู่มากกว่าครึ่ง ทหารก็คงจะลงมติตามที่กลุ่มทหารเสนอมา ผมตอบเขาไปว่าทหารทุกคนรักชาติไม่แพ้พวกเรา หากไม่มีใครชี้แจงให้เขาเห็นข้อดีข้อเสีย เขาก็จะลงมติตามที่บอกต่อกันมา แต่ถ้าเราชี้แจงให้เขาเห็นอย่างชัดเจนถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติ เขาก็จะคิดได้และเขาก็มีความเป็นตัวเองที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ผมจึงขอวิงวอนมายังท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติทุกท่านได้โปรดได้ดุลยพินิจในการรักษาผลประโยชน์ของชาติด้วยเถิด ผมอยากเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลังกลับไปเหมือน 50 ปี ก่อน "

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 28 มีนาคม 2560    
Last Update : 28 มีนาคม 2560 3:19:06 น.
Counter : 372 Pageviews.  

จารุพงศ์ เรืองสุวรรณในนามองค์การเสรีไทยฯแถลง 5 ข้อ-โต้ข้อหาก่อการร้าย-จี้คสช.ยกเลิกม.44



จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ แถลงในนามองค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ปฏิเสธข้อกล่าวหาก่อการร้าย จี้รัฐบาลยกเลิกการใช้อำนาจม.44

 

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2560  มีรายงานว่านายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยและอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปัจจุบันเคลื่อนไหวในต่างประเทศในนามองค์การเสรีไทยฯออกแถลงการณ์ระบุว่าตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ฝ่ายปฏิบัติการจิตวิทยา หรือฝ่ายไอโอ ของหน่วยทหารออกข่าวประสานกันตามเครือข่ายที่จัดตั้งไว้ เพื่อสร้างสถานการณ์ รวบบุคคลที่เห็นต่างทางการเมืองทุกคนทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน โดยป้ายสีว่า เป็นผู้ก่อการร้าย สร้างความไม่สงบให้กับประเทศไทย ดังที่ปรากฏชัดในปัจจุบันนี้นั้น

องค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่ถูกใส่ร้ายป้ายสี โยงองค์การเสรีไทยฯ ให้เป็นองค์การผู้ก่อการร้ายและขอยืนยันความจริงต่างๆ เกี่ยวกับเป้าหมายและการดำเนินงานขององค์การฯ ดังต่อไปนี้ ปฐมบทของการก่อตั้งองค์การเสรีไทยฯ เป็นเพราะเราไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารที่ได้มาจากการสร้างสถานการณ์ปั่นปวนทางการเมืองโดยกลุ่มบุคคลในเครือข่ายเผด็จการไทย เรายืนยันที่จะต่อสู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเสรีตามระบอบการปกครองตามหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

การที่ คสช. ออกคำสั่งต่างๆ หลังการยึดอำนาจและยังเลวร้ายหนักขึ้นในวันนี้ จนถึงกับมีการอ้างกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๔ ที่อุปโลกน์ให้หัวหน้า คสช. มีอำนาจล้นแผ่นดิน สามารถส่งให้กำจัดสิทธและเสรีภาพของประชาชนอยางกว้างขวางและไร้วงจำกัดนั้น เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับมาโดยตลอด และจะขอต่อต้านจนกว่าจะมีการยกเลิกการจำกัดสิทธเสรีภาพในการแสดงออก แล้วให้ทุกคนมีสิทธเท่าเทียมเสมอภาคกันและอยู่ร่วมกันบนหลักนิติรัฐและการเคารพสิทธิมนษยชนอย่างมีภราดรภาพได้

อนึ่ง ขอประกาศว่า องค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ได้ยึดมั่นและต่อสู้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์สำคัญ ๆ ดังนี้

๑. รัฐบาลไทยจะต้องเคารพสิทธิมนุษยชนทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย ตามข้อผูกพันทุกเรื่องที่รัฐไทยได้ลงนาม รับพันธสัญญาไว้กับองค์การสหประชาชาติ

๒. รัฐไทยต้องถูกสถาปนาให้ใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง อันเป็นการปกครองที่อำนาจเป็นของประชาชน ใช้โดยตัวแทนที่ได้รับฉันทานุมติจากปวงชน และทำเพื่อพิทักษ์ รักษาและอำนวยประโยชน์แก่ปวงชนทุกกลุ่มในชาติ โดยประกันสิทธิและเสรีภาพของทุกคน บนความเสมอภาค การเคารพ-กฎหมาย และการเคารพเสียงข้างมากของปวงชน

๓.องค์การเสรีไทยฯ สนับสนุนระบบคุณธรรมและต่อต้านระบบอุปถัมภ์ที่ใชการแต่งตั้งแทนการเลือกตั้งและใช้กฎหมู่หรือ “อภินิหารทางกฎหมาย”แทนระบบนิติรัฐ-นิติธรรม กล่าวคือ ระบอบเผด็จการไทยวันนี้ ใช้ระบบอุปถัมภ์แต่งตั้งคนของเครือข่ายเผด็จการขึ้นใช้อำนาจของปวงชน แทนระบบคุณธรรม ที่ส่งเสริมคนดีมีความรู้และความสามารถให้ได้มีโอกาสบริหารประเทศชาติ เพื่อประโยชน์ของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง

๔. รัฐบาลจากการรัฐประหาร จะต้องยกเลิกการใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ซึ่งไปละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration for Human Rights) เกือบทุกมาตรา ในจำนวน ๓๐ มาตราที่องค์การสหประชาชาติประกันไว้ โดยการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ป่าเถื่อนถึงขั้นสังหารหมู่ประชาชนผู้ต่อต้านระบอบเผด็จการ ได้เกิดขึ้นซ้ำซาก นับแต่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖, ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙, พฤษภาคม ๒๕๓๕ เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๕๓ และวันนี้การจ้องกดขี่ ข่มขู่ และใช้ความรุนแรงรูป แบบต่าง ๆ ต่อประชาชน กำลังจะกลับมาและจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างน่ากลัวยิ่ง

๕.รัฐบาลเผด็จการทหารจะต้องเร่งคืนอำนาจให้แก่ปวงชนชาวไทย โดยการจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อไมให้ความขัดแย้งและเสียหายต่อประเทศชาติบานปลายจนยากจะแก้ไขโดยสันติ

ทั้งนี้ ในฐานะองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่แสวงกำไร องค์การเสรีไทยฯ ได้ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายและวิธีการ โดยถือสันติวิธี ใช้ความรู้และความจริง ตลอดจนอาศัยการรวมตัวกันของคนไทยทั่วโลก บนความชอบธรรมของเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่ถูกรัฐบาลเถื่อนปล้นอำนาจและผลประโยชน์

โดยเราถือว่า เมื่อปวงชนในประเทศไม่สามารถใช้กำลังหรือความรุนแรงต่อต้านเผด็จการที่ยึด อำนาจได้เบ็ดเสร็จ เราก็ต้องอดทนและให้โอกาสผู้ถืออำนาจรัฐทำงานจนถึงที่สุดและใช้นโยบายโลกล้อมประเทศและการให้ความรู้กับพี่น้องร่วมชาติมาโดยตลอด และหวังว่า ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันในฐานะพี่น้องร่วมชาติ ในการนำพาประเทศพ้นจากความขัดแย้งอันถึงจุดใกล้วิกฤตินี้โดยเร็ว ก่อนที่จะสายเกินไป

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ

เลขาธิการ องค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

แถลง ณ วันที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 27 มีนาคม 2560    
Last Update : 27 มีนาคม 2560 19:00:02 น.
Counter : 247 Pageviews.  

งดรื่นเริงสงกรานต์ถนนข้าวสาร สาดน้ำตามความเหมาะสม



ถนนข้าวสารงดจัดสงกรานต์ เนื่องจากสถานที่อยู่ใกล้เคียงพระบรมมหาราชวังที่ประชาชนจะเดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ จัดเพียงทำบุญสรงน้ำพระตามประเพณีเฉพาะคนภายใน วันที่ 13 เม.ย.60

 

นายปิยะบุตร จิวระโมไนย์กุล นายกสมาคมผู้ประกอบการค้าถนนข้าวสาร ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทย  ว่า ในปีนี้ถนนข้าวสารจะงดจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมาเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย  หลังประชุมร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ และกรุงเทพมหานครแล้ว เนื่องจากสถานที่โดยรอบของถนนข้าวสารอยู่ใกล้เคียงเส้นทางจราจรที่ประชาชนจะเดินทางมากราบสักการะถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช   หากมากันเป็นจำนวนมากเหมือนเช่นทุกปี ก็จะไปกระทบกับเส้นทางจราจรต่างๆได้  

ทั้งนี้ได้มีประกาศเสียงตามสายให้กับชาวถนนข้าวสารและนักท่องเที่ยวในถนนข้าวสารได้รับทราบแล้วและจะกลับมาจัดใหม่ในปีต่อไปอย่างยิ่งใหญ่

อย่างไรก็ตามประชาชนในถนนข้าวสาร จะร่วมรักษาประเพณี โดยช่วงเช้าวันที่ 13เมษายน 2560 นิมนต์พระสงฆ์มาทำบุญตักบาตรและสรงน้ำพระ  เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในวันปีใหม่ไทย

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 27 มีนาคม 2560    
Last Update : 27 มีนาคม 2560 0:55:55 น.
Counter : 262 Pageviews.  

ผู้เสียภาษี โดย เชิดชัย ขันธ์นะภา



ช่วงปลายเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นช่วงที่ประชาชนมีความรู้สึกว่าเป็นเทศกาล“เสียภาษี”(จ่ายภาษีให้รัฐบาล) ทั้งที่ช่วงนี้ (ปลายเดือนมีนาคม) เป็นเวลาที่ต้องสรุปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(ภงด.ธรรมดา) ที่ต้องจ่ายให้รัฐบาลสำหรับปีภาษีที่เพิ่งผ่านพ้นไป

 

ปกติในเทศกาลนี้ จะมีประชาชนซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มที่เกี่ยวข้อง คือ หนึ่ง กลุ่มที่ได้รับเงินภาษีคืนกลับมา (เพราะชำระภาษีไป      เกินภาระภาษีเงินได้ที่มี)  สอง คือกลุ่มที่ต้องชำระภาษีเพิ่มเติม (เพราะนายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่าย เอาไว้ไม่มากพอสำหรับคุ้มภาระภาษีที่บุคคลมี ตามกฎหมาย) และ สามคือ กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบชำระภาษี (และไม่ต้องยื่นแบบชำระภาษี) โดย สองกลุ่มแรกน่าจะประมาณ 55% ของประชากร ส่วนที่เหลือ น่าจะหมายความว่า ยังไม่อยู่ในเรดาร์ของหน่วยงาน (ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะหมายถึงระดับรายได้ยังไม่เข้าเกณฑ์ตามกฏหมาย)

ช่วงปลายเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีความคึกคักเกี่ยวกับการชำระภาษี อันเกี่ยวกับภาษีตัวเดียวนี้แหละ(ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) จริงๆการเก็บภาษีตัวนี้เริ่มมาตั้ง 15 เดือน ก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อนายจ้างทำการหัก ณ ที่จ่าย จากเงินจ่ายให้ผู้เสียภาษีเพื่อนำส่งสรรพากร มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งปีภาษี รวม 12 ครั้ง หรือทุกครั้งที่นายจ้างจ่ายเงินได้ให้ตามมาตรา 40 ของประมวลรัษฎากร เพียงเท่านั้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็กลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาไป

ภาษีอื่นๆ มีให้ประชาชนต้องดูแล และประชาชนจ่ายอยู่ตลอดเวลา เช่น ภาษีปิโตรเลียม ทุกครั้งที่เติมน้ำมันรถ ภาษีแว๊ต ทุกครั้งที่ซื้อสินค้าและบริการที่มีแว๊ต   ภาษีสรรพสามิตต่างๆ ทุกครั้งที่บริโภค(เสพ) สินค้าบริการที่มีภาษีสรรพสามิต ฯลฯ แต่การชำระภาษีเหล่านั้นมีผลกระทบต่อความรู้สึก ต่ำ อาจเป็นเพราะจำนวนเงินที่จ่ายแต่ละครั้งเป็นเงินไม่มาก และภาษีเหล่านั้นไม่ได้รอเวลานำมาชำระ “ปิดงวด” ปลายปีภาษี เหมือนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ความมี “ทัศนวิสัย” ที่สูงของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานี้ ทำให้เกิดความคิดเชิงวิเคราะห์ เกี่ยวกับภาษีที่ประชาชนแบกรับอยู่ หลายๆประการ เรามาคุยกันเรื่องนี้ เท่าที่มีเวลา

ประการแรก ภาษีเป็นทรัพยากรบังคับที่รัฐภายใต้การบริหารงานของคนกลุ่มหนึ่ง บังคับด้วยกฎหมาย มาจากประชาชน ด้วยความเข้าใจว่า เป็นทรัพย์ที่เอาไปบำรุงพัฒนาบ้านเมือง (ซึ่งรวมถึงการพัฒนาที่ทำให้ประชาชนมีความสุข ความพอใจ ไม่ใช่เอาไปสร้างจรวดนำวิถีหรือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในขณะที่ประชาชนอดจะตายอยู่ในบางประเทศ) ดังนั้น ประชาชนย่อมไม่พอใจหากมีการทุจริตในกระบวนการระดมภาษีอากรเพื่อเอาไปพัฒนาประเทศ หน่วยรัฐที่มีอำนาจเก็บเงินภาษีอากรและค่าธรรมเนียมจากประชาชนมีมากมาย มีการดูแลดีเพียงใดไม่ให้เกิดการประพฤติมิชอบในการนี้ ยกตัวอย่าง เงินเรียกเก็บจากประชาชนและธุรกิจที่ไม่มีใบเสร็จกำกับ แต่เป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะคนของรัฐเรียกในการให้บริการ มันไม่ผิดที่เรียกเก็บภาษีอากร แต่มันผิดที่ไม่มีใบเสร็จเพื่อกำกับเจ้าของเงิน(คือรัฐ)  ทำให้เจ้าหน้าที่ทุจริตและลงเอยโดยเงินจำนวนนั้นไม่ได้ไหลเข้าคลังแผ่นดิน

ประชาชนเสียภาษีอากรก็เพื่อให้มีการพัฒนาประเทศ แต่ก็ต้องทำตามแผนงานที่ตกลงกันไว้ นะครับ ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจหรือความต้องการของผู้ใช้อำนาจ แผนงานที่ว่าคือ แผนงานที่สะท้อนและเป็นไปตามความต้องการของประชาชน เราจะพบว่ามีรายการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากที่มาจากความต้องการของผู้ใช้อำนาจ (ซึ่งจริงๆเขาคือลูกจ้างของประชาชน แต่พอใส่เครื่องแบบเข้าไปแล้ว มันเลยใหญ่โตกว่าประชาชน อำนาจรัฐถูกไฮแจ๊กเข้ามาในร่างของผู้ใช้อำนาจเกิน ในประเทศที่ล้าหลังแบบนี้) พฤติกรรมแบบนี้(Bureaucracy Overgrowth) เขารู้กันมานานแล้ว นักรัฐศาสตร์นั่นแหละกล่าวถึงพฤติกรรมนี้ กล่าวคืองบประมาณแผ่นดินที่ได้รับอนุมัติ จะมีขนาดที่ใหญ่โตกว่างบประมาณสำหรับกิจกรรมที่ประชาชนต้องการให้ดำเนินการ เนื่องด้วยผู้ใช้อำนาจแอบเพิ่มเติมรายการสำหรับขยายอาณาจักรของผู้ใช้อำนาจด้วย (จะเป็นตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้นมากขึ้น สำนักงานที่โอ่ขึ้น ข้าทาสที่มากขึ้น รายการสันทนาการที่แพงขึ้น ฯลฯ) ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ใช้อำนาจหาความสุขสบายได้นอกเหนือการใช้อำนาจซึ่งประชาชนอยากให้ใช้จริงๆ

งบประมาณแผ่นดินประเทศไทยในปัจจุบัน ใหญ่โตขึ้นมาอยู่ในระดับ 3 ล้านๆ บาทแล้ว ผู้แบกรับการจ่ายเงิน 3 ล้านๆ บาทนี้ จึงต้องการความสบายใจหลายประการเกี่ยวกับเงินนี้ อาทิ

(ก) กรุณาใช้เงินแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในประเด็น ความซ้ำซ้อนของหน่วยงานซึ่งทำกิจกรรมซ้ำๆกันในหลายๆ หน่วยงาน ทำให้งบประมาณบานปลาย ถ้าขาดความซ้ำซ้อนของการใช้จ่ายได้ จะประหยัดงบประมาณได้มาก ซึ่งการประหยัดที่เกิดขึ้น อาจเอาไปขยายโครงการจำเป็นที่ขาดเงิน หรือ นำไปทำโครงการใหม่ที่ประเทศต้องการ หรือ ลดภาษีให้ประชาชน เพราะจริงๆ มีการใช้จ่ายแบบกิจกรรมซ้ำซ้อนอยู่ในหลายหน่วยงาน

(ข) เงินประชาชนที่ผู้ใช้อำนาจเอาไปใช้จ่ายมีอยู่จำนวนหนึ่ง (เป็นปริมาณที่มาก) ที่ไม่ผ่านขั้นตอนการอนุมัติที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยมีการใช้กลไกกฎหมายย่อย (เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา  กฎกระทรวง ฯลฯ) เปิดช่องทางให้เกิดค่าใช้จ่าย (แบบ “ปิดตา” รับรู้) เช่น ให้เอกชนทำการวิจัย แล้วนำงบวิจัยไปหักภาษีได้ 3 เท่า หรือ กิจกรรมมากมายในลักษณะนี้ ที่มีกฎหมายย่อยรองรับ ดังที่กล่าว   ทำให้ ภาษีที่พึงไหลเข้ารัฐเป็นปกติ ต้องเหือดหายไป อีกทั้งกลไกตามรัฐธรรมนูญที่มีสำหรับการอนุมัติการใช้จ่ายที่เกิดจากภาษีอากรของประชาชน ไม่มีโอกาสและไม่มีสิทธิ์อนุมัติหรือไม่อนุมัติพฤติกรรมเหล่านั้น  พฤติกรรมเหล่านั้นเกิดจากผู้ใช้อำนาจเห็นควรให้ทำกิจกรรมปลอดภาษี (โดยไม่ได้หารือต่อรัฐสภา) จึงใช้พระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวง (เป็นส่วนใหญ่) ทำการยกเว้นภาระภาษีสำหรับพฤติกรรมที่ผู้ใช้อำนาจ (ไม่ใช่ประชาชน) ส่งเสริม   กลไกรัฐธรรมนูญจึงถูกตัดออกไปจากวงจรการอนุมัติการใช้เงินภาษีอากรในกรณีเช่นนี้

(ค) การกำหนดกติกาการชำระภาษีในกฎหมายภาษีต่างๆ ยังขาดความยุติธรรมในหลายๆ ประการ เอาเฉพาะเรื่องพื้นๆ ที่เรารู้กัน จะขอกล่าวถึงกรณีต่อไปนี้

(i) ภาษีทางอ้อมเป็นสัดสวนที่สูงเกินไปมาก ทำให้ระบบภาษีของประเทศไทย เป็นระบบภาษีที่ถดถอย (หมายความว่า คนรวยสามารถหนีการเสียภาษี ทำให้สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม) จะดูตัวอย่างง่ายๆ ของการหนีภาษีแบบนี้ หาดูได้ที่แบบการเสีย ภงด.ธรรมดา จะเห็นว่า ผู้มีเงินได้สุทธิ 4 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 35% เท่ากันหมด   ทำไมจึงอยุติธรรมอย่างนี้   เพราะถ้ากติกาเป็นอย่างนั้น
ผู้มีเงินได้ 5  10  100  ฯลฯ ล้านบาท ก็เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่อัตรา 35
% (ซึ่งเท่ากับอัตราสำหรับผู้มีเงินได้ 4 ล้านบาท) เป็นธรรมในสังคมไหม?

(ii) ใน 1 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลรำพึงถึงการ”ขึ้นภาษีเพียง 1เพื่อให้ได้รายได้เข้ามา “ตั้ง 100,000 ล้านบาท” คำถามคือ ทำไมไม่เก็บ ภงด. ธรรมดา สำหรับสำหรับผู้มีเงินได้ตั้งแต่ 4 ล้านขึ้นไป ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็จะได้ทั้งเงิน และได้ทั้งความยุติธรรมในสังคม ครับ

(iii) กรณี PANAMA PAPERS ตามข่าวเมื่อปีที่แล้ว บ่งบอกชัดเจนว่ามีคนไทย เอาสมบัติไปกองไว้นอกประเทศมากมาย ทำไมรัฐบาลไทยไม่เก็บภาษีจากทรัพย์เหล่านั้น หรือออกกฎหมายให้สามารถเก็บภาษีจากทรัพย์เหล่านั้น เพราะเขาเหล่านั้นที่เอาทรัพย์ไปกองไว้นอกราชอาณาจักรมีเจตนาที่ต้องการเลี่ยงการเสียภาษีอยู่แล้ว ผู้ใช้อำนาจรู้อยู่แล้ว  แล้วทำไมไม่แก้ไข ต้องร้อนถึงประชาชนอีกแล้ว

ประชาชนผู้เสียภาษีรู้ดีว่าไม่มีอะไรจะแน่นอนไปกว่าความตายและการต้องเสียภาษี แต่ประชาชนจะไม่เสียภาษีแบบยังไงก็ได้ หรือแล้วแต่ผู้ใช้อำนาจจะต้องการ จบไปแล้ว จบไปนานแล้ว เรื่องการรีดไถภาษีจากประชาชน ถ้ากฎหมายงบประมาณแผ่นดินอยู่ในสภาวะการควบคุมที่หละหลวมและไร้วินัย โปรดอย่าคิดรีดเงินภาษีอากรจากประชาชน เท่าที่รีดไปแล้วก็เยอะแยะน่าดู เอาไปจัดสรรจัดการให้คุ้มก่อน อย่ารีดเพิ่ม จนกว่าจะให้ประชาชนควบคุมกระบวนการจัดการบริหารงานงบประมาณแผ่นดินที่รัดกุมและสะท้อนความต้องการของประชาชน

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 26 มีนาคม 2560    
Last Update : 26 มีนาคม 2560 20:26:48 น.
Counter : 302 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.