ผู้ตรวจการแผ่นดินฯตีความพศ.-มส.เสนอชื่อพระสังฆราชผิดขั้นตอนชี้นายกฯไม่ใช่นายไปรษณีย์

เลขาฯผู้ตรวจการแผ่นดินเผยผลสอบการตั้งพระสังฆราช ชี้ พศ.-มส.เสนอชื่อผิดขั้นตอน แจง กม.เขียนคำว่า “ให้” หมายความนายกฯเป็นผู้เสนอรายนามให้มส.พิจารณา ย้ำไม่ได้ก้าวล่วงมติ มส. แค่ตีความตามกฎหมาย พศ.ยืนยันข้อเสนอถูกต้องตามกฎหมายจารีต อดีตพระวัดพระธรรมกายแนะสมเด็จช่วงดูกรณีสรยุทธเป็นตัวอย่าง

 

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2559 นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฎิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ร้องเรียนให้ตรวจสอบการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่สมควรได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เสนอให้มหาเถรสมาคม (มส.) พิจารณาและเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนใน มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ว่า

เรื่องนี้ นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ และนายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ร่วมกันพิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ระเบียบราชประเพณี ประกอบเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า การที่ พศ.เสนอรายนามพระราชาคณะให้ มส.พิจารณา และเสนอต่อนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นกระทำผิดขั้นตอน ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจากวรรค 2 มาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาตามพจนานุกรมและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญแล้ว ให้ความเห็นว่าจากรูปประโยคของกฎหมายนั้นคำว่า “ให้” นั้น หมายความว่านายกฯ จะต้องเป็นผู้เสนอรายนามให้ มส.พิจารณา และเมื่อ มส.เห็นชอบ จึงจะส่งชื่อให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ที่กฎหมายระบุอย่างนี้ก็เพราะนายกฯ ต้องเป็นคนเสนอและเป็นคนรับผิดชอบ ดังนั้นก็จะต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงนายไปรษณีย์ แต่เมื่อพิจารณาขั้นตอนที่ มส.ดำเนินการพบว่าผิดขั้นตอน

นายรักษเกชากล่าวอีกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีแล้วในช่วงเช้าวันนี้ ( 4 มีนาคม) เพื่อให้นายกฯพิจารณาข้อเสนอแนะและสั่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแล พศ. ให้ดึงเรื่องกลับและดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอน

“อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีผลผูกพันเหมือนคำพิพากษาของศาล เป็นเพียงข้อแนะนำซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจนายกฯ ว่าเห็นด้วยต่อข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ ทั้งนี้การพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้ก้าวล่วงว่ามติ มส.ที่เห็นชอบเสนอชื่อใคร หรือคนที่ถูกเสนอชือเหมาะสมที่จะเป็นพระสังฆราชหรือไม่อย่างไร แต่เราตีความตามข้อกฎหมายว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่”นายรักษเกชากล่าว

เมื่อถามว่าการตีความกฎหมายครั้งนี้อาจทำให้ฝ่ายอาณาจักรครอบงำฝ่ายศาสนจักรหรือไม่ นายรักษเกชาตอบว่า เป็นความเห็นของแต่ละคนจะมองว่าเป็นอย่างไร หากเห็นว่าครอบงำก็ต้องไปแก้กฎหมาย เพราะผู้ตรวจพิจารณาตามกฎหมายปัจจุบันเท่านั้น

ไพบูลย์ขอให้รอความชัดเจนก่อนเพราะสมเด็จช่วงยังมีกรณีเบนซ์และธรรมกาย

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีผลการวินิจฉัยตามที่ตนได้ยื่นเรื่องร้องเรียน โดยเห็นว่า การที่มหาเถรสมาคมได้พิจารณารับรองรายงานการประชุมครั้งพิเศษที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2559 ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่1/2559 เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2559 เป็นการริเริ่มจากมหาเถรสมาคมทั้งสิ้น มิใช่เริ่มจากนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลแต่อย่างใด

นอกจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีความเห็นและข้อเสนอแนะไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2538 ขอให้รัฐบาลพิจารณาสั่งการให้ "รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี" พิจารณาจัดส่งบันทึกของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในประเด็นมติมหาเถรสมาคมเห็นชอบนาม "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุณโญ)" อันเป็นการกระทำผิดขั้นตอน เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงสมควรที่จะคืนเรื่องไปยังส่วนราชการเจ้าของหนังสือ เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องขั้นตอนบทบัญญัติของกฎหมาย

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีความเห็นว่า ระยะเวลาในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่แทนพระองค์เดิม ซึ่งสิ้นพระชนม์ กฎหมายคณะสงฆ์ไทยมิได้กำหนดระยะเวลาไว้แต่อย่างใด และเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมาย และระเบียบราชประเพณีแล้ว คุณสมบัติของพระภิกษุในคณะสงฆ์ไทย ที่จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ และนายกรัฐมนตรีได้เสนอนามมา ตลอดจนได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม มีจริยวัตรสำรวจเรียบร้อยไม่หวั่นไหวต่อโลกามิสเพียบพร้อมไม่ด่างพร้อย เป็นที่เคารพสักการะของคณะสงฆ์ และประชาชนตลอดจนได้บำเพ็ญศาสนกิจเป็นประโยชน์แก่บวรพระพุทธศาสนาและราชอาณาจักร อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

"นอกจากนี้สมเด็จช่วงยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับรถเบนซ์และพระธัมชโย เจ้าอาวาสวัดธรรมกาย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ควรให้เกิดความชัดเจนก่อน โดยเฉพาะกรณีรถเบนซ์ ถือว่ามีความผิดกฎหมายศุลกากร มาตรา 27 ทวิ เป็นคดีอาญาและมีโทษทั้งจำและปรับ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีที่มีหน้าที่นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯควรที่จะรอให้ทุกอย่างเกิดความชัดเจนก่อน"นายไพบูลย์กล่าว

ชูกรณี“สรยุทธ”เป็นต้นแบบขอสมเด็จช่วงยุติบทบาท

ทางด้านนพ.มโน เลาหวณิช อดีตกรรมการฯและอดีตพระธรรมกายรุ่นแรก กล่าวว่า อยากให้สมเด็จช่วงดูตัวอย่างการทุจริตของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่มีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง เป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งได้ประกาศยุติบทบาททำหน้าที่พิธีกร ดังนั้นสมเด็จวัดปากน้ำก็ควรตั้งคำถามว่า สมควรหรือไม่ ที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นสมเด็จพระสังฆราชและตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำไปพร้อมๆกัน ในขณะที่คดียังไม่มีความชัดเจน

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสง่างามของพระพุทธศาสนา ตนขอเรียกร้องให้สมเด็จช่วงพิจารณาความเหมาะสมของตนเองเพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศและวงการสงฆ์ต่อไป

“วิษณุ”ระบุมติผู้ตรวจการฯเป็นเพียงความคิดเห็นหนึ่ง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงถึงขั้นตอนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการเสนอชื่อ ดังนั้นมติมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2559 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า ตนยังไม่เห็นเรื่องดังกล่าว แต่รับทราบความเห็นแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ที่บอกว่าให้นายกรัฐมนตรีเสนอชื่อที่มส.เห็นชอบ แต่พ.ร.บ.คณะสงฆ์ไม่ได้เขียนว่าใครเป็นคนเสนอไปหรือเป็นคนเสนอมา ซึ่งจะเอาชื่อที่มส.ไม่ได้มีมติเห็นชอบขึ้นไปถวายนั้น คงไม่ได้ ดังนั้นวันนี้จึงยังถกเถียงกันอยู่ว่านายกรัฐมนตรีต้องส่งชื่อไปที่มส.ก่อน หรือให้มส.เสนอชื่อมาที่นายกรัฐมนตรี

นายวิษณุกล่าวว่ามติของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นการเสนอความคิดเห็นมากกว่าการชี้แนะ เราก็อาจจะรับฟัง แต่จะทำอย่างไรต่อไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาการที่มส.เสนอชื่อมาที่นายกรัฐมนตรีก่อนนั้นถือว่าถูกต้องหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น รัฐบาลไม่เคยสงสัยในข้อนี้ เรื่องนี้เป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมาย โดยรัฐบาลมีวิธีหาทางออกอยู่แล้ว นอกจากนี้ ปัญหาต่างๆถ้ารัฐบาลสงสัยก็จะสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะมีขั้นตอนอยู่แล้ว ทั้งนี้ เวลานี้เรายังไม่ต้องทำอะไร เพราะไม่ใช่ประเด็นที่ว่า เราเดินมาถูกหรือผิด

นายวิษณุเปิดเผยว่าเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึง 2 ครั้งแล้ว โดยครม.รับทราบ ซึ่งไม่มีครม.คนใดเห็นว่าเรามาผิดหรือถูกทาง

เมื่อถามต่อว่า เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินชี้แจงออกมาในลักษณะนี้มส.ต้องเรียกประชุมเพื่อทบทวนกันอีกครั้งหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า จะประชุมหรือไม่คงต้องแล้วแต่มส.เอง แล้วใครบอกว่าผิด ปัญหาดังกล่าวเราได้มีการขอร้องกับทุกฝ่ายแล้วว่าให้อยู่ในความสงบ เนื่องจากทุกขั้นตอนล้วนมีกระบวนการอยู่ ซึ่งรายละเอียดอื่นจะให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลงานสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หาวิธีจัดการ

พศ.ยันมติมส.เสนอสังฆราชชอบด้วยกฎหมายจารีต

ในวันเดียวกัน 4 มีนาคม นายชยพล พงษ์สีดา รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามกรณีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 กล่าวว่า กรณีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีความเห็นในการตีความมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 โดยเห็นว่าการพิจารณาเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งเริ่มต้นจากมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไปยังนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 เป็นการดำเนินการที่ผิดขั้นตอน โดยที่ถูกต้องนั้นต้องเริ่มต้นจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณานามสมเด็จพระราชาคณะ และเสนอมายังมส.นั้น

ตนขอยืนยันว่า พศ.และมส.ได้พิจารณาในเรื่องการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะเพื่อเสนอสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 อย่างรอบคอบ และเป็นไปโดยชอบตามกฎหมายคณะสงฆ์และจารีตประเพณีขณะนี้ได้ส่งเรื่องไปยังนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับพศ.เรียบร้อยแล้ว เพื่อพิจารณาเสนอไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจึงจบขั้นตอนในส่วนที่พศ.และมส.รับผิดชอบไปแล้ว

รองผอ.พศ. กล่าวว่าหากหน่วยงานใดมีความเห็นแตกต่างออกไปจากที่ พศ.และ มส.ดำเนินการก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะตัดสินใจ และเป็นผู้ชี้ขาดว่าที่ถูกคืออะไร ซึ่ง พศ.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ เพราะเป็นอำนาจการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินคงจะมีหนังสือแจ้งไปถึงรัฐบาลโดยตรง แต่หากรัฐบาลมีหนังสือสอบถามความเห็นกรณีการตีความของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมายัง พศ.ทางพศ.ก็พร้อมให้ความเห็นและแจ้งตอบรัฐบาล

ศูนย์พิทักษ์ฯองค์กรพุทธเตรียมเคลื่อนไหว

เมื่อวันที่ 4 มีนาคมพระเมธีธรรมาจารย์ หรือ เจ้าคุณประสาร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ว่ามหาเถรสมาคม(มส.)ทำผิดขั้นตอนเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น อาตมาขอตั้งข้อสังเกตอยู่ 2 เรื่องว่า

1.ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจวินิจฉัยมติมส.ได้หรือไม่

2. วิธีปฏิบัติของ มส.ก็ได้ปฏิบัติเหมือนเมื่อครั้งการเสนอสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อปี 2532 ฉะนั้นการสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวรจะถือว่า โมฆะด้วยหรือไม่ เพราะครั้งนี้ก็ใช้วิธีปฏิบัติเดียวกันจะนำไปสู่ปัญหาอะไรอีก

ส่วนความเคลื่อนไหวของศูนย์พิทักษ์ฯ และองค์กรพุทธจากนี้จะดำเนินการศึกษาข้อเท็จจริง ข้อกฏหมาย จารีตประเพณีเพื่อกำหนดการเคลื่อนไหวต่อไป “กรณีมีกลุ่มบุคคลออกมาเคลื่อนไหวให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หยุดปฏิบัติหน้าที่เหมือนผู้ประกาศช่อง 3 ซึ่งสมเด็จวัดปากน้ำ ท่านทำผิดอะไร ท่านไม่ได้ต้องคดีอะไรเลยเป็นเพียงข้อกล่าวหา จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชอย่านำมาโยงกัน”เลขาธิการศูนย์พิทักษ์ฯกล่าว

“พระพรหมโมลี”แจ้งคณะสงฆ์อย่าขัดแย้งรัฐบาลตั้งสังฆราช  

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระพรหมโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะประธานคณะเลขานุการผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ทำหนังสือที่ สลส.16/2559 เรื่องการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในวิธีปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชโดยแจ้งมายังเจ้าคณะใหญ่ทุกหน ความตอนหนึ่ง ว่า ตามที่ได้ปรากฎข่าวคึกโครมทางสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการที่วัดต่างๆ ได้มีการขึ้นป้ายรณรงค์สนับสนุนมติ มส.ในการเสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และมีเครือข่ายองค์กรพระสงฆ์รุ่นใหม่ให้ข่าวในลักษณะที่ว่า จะมีการประกาศคว่ำบาตรไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ซึ่งสร้างความไม่สบายใจให้เกิดขึ้นแก่พระเถรานุเถระและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปเกรงว่าจะนำมาซึ่งความไม่เข้าใจ และอาจก่อให้เกิดความร้าวฉานระหว่างรัฐบาลกับคณะสงฆ์

คณะเลขานุการผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเชื่อว่าคณะสงฆ์ทั่วสังฆมณฑลเห็นพ้อง และสนับสนุนมติ มส.ดังกล่าว ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการดำเนินการตามมติของ มส.และครรลองแห่งกฎหมาย ประเพณีนิยม ขอให้วางใจและมั่นใจในการดำเนินการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกส่วนงานจึงขอเรียน เจ้าคณะพระสังฆาธิการ และพระภิกษุสามเณรในปกครองขออย่าได้ดำเนินการใดๆ อันเป็นการไม่เหมาะสมต่อสมณสารูป หรือความเคลือบแครงใจแก่ประชาชนทั้งหลาย เพราะเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์จำต้องตระหนักให้จงมั่น

ทั้งนี้ เพื่อรักษาความถูกต้อง สง่างามและดำรงอยู่เป็นศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายตลอดยิ่งยืนนาน

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 05 มีนาคม 2559    
Last Update : 5 มีนาคม 2559 13:00:52 น.
Counter : 2391 Pageviews.  

กลุ่มคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวบุกกกต.หลังข่าวฟ้องยิ่งลักษณ์-กปปส. 2,400 ล้านล้มเลือกตั้ง ก.พ.2557 ระบุควา

มติเอกฉันท์ กกต. เดินหน้าฟ้อง “ยิ่งลักษณ์ –กปปส.” ล้มเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 เรียกค่าเสียหาย 2,400 ล้านบาท กลุ่มคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวระบุความรับผิดชอบต้องอยู่ที่กกต. นักวิชาการขำไล่กกต.ไปเรียนวิชากฎหมายปกครองเบื้องต้นใหม่ เผยเป็นคดีปกครองไม่ใช่คดีแพ่ง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.55 น. วันที่ 4 มีนาคม 2559 ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารบี ถนนแจ้งวัฒนะ กลุ่มคนเสื้อแดงในนามกลุ่มพลังประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่ง รวมตัวกันที่บริเวณลานอเนกประสงค์ของอาคารบี เพื่อเรียกร้องกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จำนวน 2,400 ล้านบาท กับรัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีการชูป้าย ที่ระบุว่า “กกต.ต้องรับผิดชอบเลือกตั้งโมฆะ “สมชัยเลือกตั้งเอียง” “เราจะฟ้อง กกต.ต้องจ่ายค่าเลือกตั้งเอง” เป็นต้น

ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มฯให้สัมภาษณ์ว่า การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้งโดยเร็ว และคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนกรณีที่ กกต.เตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 2,400 ล้านบาท กับรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ทำให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะนั้น ไม่ใช่ความผิดของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะการจัดเลือกตั้งครั้งนั้นต้องการให้ประเทศชาติเดินหน้าไม่ถอยหลังลงคลอง

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทางกลุ่มฯ เตรียมที่จะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกับ กกต. และจะออกมาเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนทุกครั้งหากน.ส. ยิ่งลักษณ์ถูกฟ้องร้องในกรณีดังกล่าว

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต. ) แจ้งว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุม กกต. พิจารณาโดยลับ และลงมติเอกฉันท์ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ขัดขวางการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 จนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยให้ดำเนินการฟ้องทางอาญาและเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง โดยฟ้องร้องกับ 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มบุคคลจำนวน 234 คน ขัดขวางการเลือกตั้ง ที่มีหลักฐานภาพถ่ายสามารถยืนยันตัวบุคคลได้ โดยเฉพาะกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์(กปปส.) อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการกปปส. นายถาวร เสนเนียม นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย พระพุทธอิสระ แกนนำกปปส. เป็นต้น โดยมีการเรียกค่าเสียหาย 2,400 ล้านบาท

2.ให้ดำเนินการฟ้องร้องทางแพ่งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ 1 ราย คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานละเมิด โดยการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตามพ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เนื่องจากปล่อยให้มีการจัดการเลือกตั้งทั้งที่มีการทักท้วงกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นแล้ว โดยเรียกค่าเสียหาย 2,400 ล้านบาท เช่นเดียวกับกลุ่มแรก

ภายหลังจากมีมติดังกล่าวแล้ว กกต.ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนของข้อกฎหมายต่อไป คดีดังกล่าวจะมีอายุความ 10 ปี สำหรับการเรียกค่าเสียหายที่ฟ้องร้องมีจำนวนเท่ากันทั้ง 2 กลุ่ม เนื่องจากค่าเสียหายจากการเลือกตั้งทั้งหมด 2,400 ล้านบาท ซึ่งจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะให้แต่ละกลุ่มจ่ายค่าเสียหายเท่าใด ถ้าผิดทั้งสองฝ่ายก็อาจจะต้องจ่ายค่าเสียหายคนละครึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นดังกล่าวไม่มีการแถลงข่าวจากสำนักงานกกต.แต่อย่างใด เนื่องจากที่ประชุมกกต. ได้มีการกำชับไม่ให้มีการเผยแพร่กับสื่อมวลชน เพราะเกรงว่าจะเป็นการสร้างประเด็นความขัดแย้งขึ้นในสังคม

ความเห็นนักวิชาการ-หัวเราะ

นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนให้ความเห็นเรื่องมติของกกต.ว่า ในฐานะนักกฎหมายมหาชน เห็นข่าวนี้ก็หัวเราะ เป็นไปได้อะไรขนาดนั้น บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ไม่น่าจะเป็นมติออกมาจากผู้มีหน้าที่ในความรับผิดชอบและเป็นนักกฎหมายด้วย ต้องไปเรียนวิชากฎหมายปกครองเบื้องต้นใหม่

นายชำนาญชี้ว่ากรณีนี้สามารถตีความได้ว่า อาศัยศาลเป็นเครื่องมือ คืออาศัยศาลฟ้องคนเป็นคดีความ คิดว่าศาลไม่รับหรอก เพราะคำวินิจฉัยของศาลปกครองออกมาเยอะมากในกรณีคล้ายกันอย่างนี้ ความจริงต้องให้หน่วยงานทางปกครองหรือหน่วยงานของรัฐ ออกคำสั่งทางปกครองเรียกเสียก่อน ถ้าไม่ได้แล้วจึงไปฟ้องศาล มีแนวคำวินิจฉัยออกมาเยอะแยะ

“น่าผิดหวังตรง กกต. มีทั้งอดีตนักกฎหมายใหญ่ มีทั้งกองนิติการ มีอะไรต่างต่างนานาเยอะแยะไปหมด กรณี กปปส. นั้นชัดเจนว่าขัดขวางการเลือกตั้ง แต่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีประเด็นที่ตลกๆ เยอะเลย เช่น บอกว่ามีมติฟ้องแพ่งในความผิดฐานละเมิด ทั้งที่การละเมิดกับการใช้อำนาจหน้าที่เป็นเป็นคดีปกครอง ไม่ใช่คดีแพ่ง แต่ว่าคดีพวกนี้ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ก็มีวิธีการเรียกความผิดต่างกันไปๆ ในฐานะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ วิธีการที่หน่วยงานจะเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ มี 2 วิธี คือ 1.ออกคำสั่งทางปกครองเหมือนที่พยายามทำในกรณีจำนำข้าว และ 2.ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง”นายชำนาญกล่าว

จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองที่ออกมาตลอด ต้องใช้วิธีการเรียกค่าเสียหายก่อน ถ้าเรียกไม่ได้แล้วถึงจะนำคดีมาฟ้องศาล ถ้าฟ้องทันที ศาลจะไม่รับ เพราะมีวิธีการอื่นได้ กรณีเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือในกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจจะถูกฟ้องสวนกลับมาก็ได้ หรือแก้ต่างก็แล้วแต่ ฉะนั้น กรณีนี้ที่มีมติเรียกให้ค่าเสียหายหรือค่าอะไรต่างๆ โดยฟ้องแพ่ง อาศัย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

“ที่สำคัญคือว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา รัฐบาลมีหน้าที่ในการประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง แล้วหน้าที่ในการดำเนินการเลือกตั้งเป็นของ กกต.ทั้งหมด จากนั้นรัฐบาลมีหน้าที่อำนวยความสะดวกตามที่ กกต.ร้องขอ ฉะนั้นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือตั้งโดยตรงก็คือ กกต.เองนั่นแหละ ไม่ใช่รัฐบาลสมัยนั้น”นายชำนาญกล่าว

ถามว่า กกต. มีความผิดด้วยหรือไม่ จริงๆ แล้ว กกต. คือคนที่ไม่พยายามดำเนินการเลือกตั้ง แต่ของแบบนี้ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าจริงเท็จแค่ไหน ว่าด้วยพยานหลักฐาน ต้องต่อสู้กันในศาลปกครอง ใช้ระบบวิธีไต่สวนหาข้อเท็จจริง ไม่จำเป็นต้องฟังเฉพาะพยานหลักฐานหรือคู่ความ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้คงไม่เกี่ยวกัน เพราะ กกต.จะฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าฟ้องไม่ได้ ต้องเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บความรับผิดทางละเมิดก่อน

กรณีบางคูหาเลือกตั้งที่เจ้าหน้าที่ไม่เปิดคูหา ก็เป็นอำนาจและดุลพินิจของเจ้าพนักงาน อาจจะเปิดไม่ได้เพราะเหตุว่าจะเกิดอันตราย เกิดภัยพิบัติ เกิดจลาจล ซึ่งอำนาจหน้าที่ก็เป็นของ กกต.ในการระงับยับยั้งไว้ชั่วคราวหรือลงคะแนนในวันใหม่ กกต.สามารถทำได้ จะเลื่อนกี่หนก็แล้วแต่ ใน พ.ร.บ.ประกอบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ก็ทำได้อยู่

แต่ว่าอยู่เฉยๆ แล้วไม่เปิดให้ลงคะแนน ก็ต้องมีเหตุผลว่าทำไมไม่เปิด สมเหตุสมผลหรือเปล่า

กกต.ปัดความรับผิดชอบ-ทั้งๆที่ต้องรับผิดชอบ

ทางด้าน นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์โดนฟ้องด้วยข้อหาอะไร เพราะการจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้รัฐบาลต้องเป็นคนประกาศวันเลือกตั้ง และเมื่อมีการยุบสภาก็ต้องมีการประกาศวันเลือกตั้ง

ถ้ามองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องโดนข้อหาละเมิดปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ก็ประหลาดแน่นอนโดยเฉพาะการเรียกค่าเสียหายจากนายกฯคนเดียวไม่ใช่รัฐบาลทั้งหมด เพราะการประกาศวันเลือกตั้งเกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาล แต่เวลาเอาผิดกลับเป็นนายกฯคนเดียวก็ค่อนข้างประหลาด ไม่สมเหตุสมผล

“กกต.บอกว่าที่ให้เสียค่าเสียหายเนื่องจาก กกต.ได้เตือนแล้ว แต่รัฐบาลไม่ฟัง อันนี้ก็ยิ่งเป็นเรื่องประหลาดมากเพราะ กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ไม่ได้มีหน้าที่ประกาศวันเลือกตั้ง และการที่ กกต.อ้างว่าได้เตือนแล้วแต่รัฐบาลไม่ทำตามมติของ กกต. เป็นเหตุให้เกิดการฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ผมคิดว่าจะเป็นการสถาปนาบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาว่าความเห็นขององค์กรอิสระเป็นเหมือนกฎหมาย ถ้าใครไม่ทำตามก็จะต้องถูกลงโทษในทางหนึ่งทางใด เป็นการฟ้องที่ไม่มีเหตุผล”นายศิโรตม์กล่าว

ถ้าจะมีความเสียหายที่จะต้องชดใช้ คนที่ต้องรับผิดชอบคือคนที่ขัดขวางการเลือกตั้ง แต่คนที่ควรจะต้องรับผิดชอบมากที่สุดควรจะเป็น กกต.มากกว่า เพราะเป็นองค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงในการบริหารจัดการการเลือกตั้ง เเล้วถามว่าผู้จัดการเลือกตั้งได้ปกป้องการเลือกตั้งจากคนที่ขัดขวางอย่างสมควรแก่เหตุหรือเปล่า เมื่อไม่สามารถบริหารจัดการการเลือกตั้งให้สำเร็จได้ กกต.ควรจะต้องรับผิดชอบ ตรงนี้ก็อาจจะพูดได้ว่า กกต.พยายามจะปัดความรับผิดชอบที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จได้

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 04 มีนาคม 2559    
Last Update : 4 มีนาคม 2559 19:30:00 น.
Counter : 283 Pageviews.  

โปรดเกล้าฯแต่งตั้งข้าราชการ กทม.ซี10 'ผอ.-รอง ผอ.' 15 ตำแหน่ง

โปรดเกล้าแต่งตั้งข้าราชการกรุงเทพมหานคร ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 15 ตำแหน่ง

 

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559  ที่ศาลาว่าการกทม. นายแพทย์พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งข้าราชการกรุงเทพมหานคร ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 15 ตำแหน่ง โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับสนองพระบรมราชโองการ โดยมีตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก 8 ตำแหน่ง ประกอบด้วย

1.นายสุรินทร์ กู้เจริญประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์

2.นายประสาร พิทักษ์วรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา

3.นายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ

4.นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม

5.นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย 

6. นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม

7.นายชุมพล ชาวเกาะ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

8.นางศิลปะสวย ระวีแสงสูรย์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์

ขณะที่ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกทม. จำนวน 7 ตำแหน่ง ประกอบด้วย

9.นายสมภาคย์ สุขอนันต์

10.นางสาวปัญญภัสสร์ นพรัตน์

11.นายขจิต ชัชวานิชย์

12.นางลักษณา โรจน์ธำรงค์

13.นางสาวิตตรี สุขสงวน

14.นายโกวิท ยงวานิชจิต 

15.นางสาวสิริกานต์ พงษ์จันทร์

ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ. เป็นต้นไป "ภายในเดือนก.พ.นี้ จะเปิดรับสมัครเพื่อคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการกรุงเทพมหานคร ตำแหน่งประเภท นักบริหารระดับต้น(รองสำนัก) โดยได้มอบหมายให้กองการเจ้าหน้าที่ ไปสำรวจตำแหน่งที่ว่าง คาดว่าประมาณ 20 ตำแหน่ง เพื่อดำเนินการแต่งตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว จากนั้นจึงจะทยอยโยกย้ายข้าราชการในระดับอื่นๆต่อไป"ปลัดกทม. กล่าว

 

ในการแต่งตั้งครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นรองผอ.สำนักที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งผอ.สำนัก โดยมีผู้ที่ข้ามมาจากสำนักอื่นเพียง 2 คนคือ นางศิลปะสวย ที่ดำรงตำแหน่งรองผอ.สำนักการโยธา ได้ขึ้นเป็นผอ.สำนักยุทศาสตร์ฯ และนายชุมพล ชาวเกาะจากรองผอ.สำนักเทศกิจ ที่ได้ขึ้นเป็นผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 04 มีนาคม 2559    
Last Update : 4 มีนาคม 2559 14:21:49 น.
Counter : 485 Pageviews.  

ม.มหิดลทดสอบวัคซีนไข้เลือดออกผ่านในคนระยะที่ 1 คาด 5 ปีวางจำหน่ายได้

ใกล้ความสำเร็จไปอีกขั้น วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกของมหิดล ผ่านการทดสอบในคนระยะที่ 1 แล้ว คาดอีก 5 ปีวางจำหน่าย ชี้ใช้เทคนิคการผลิตต่างจากของบริษัทเอกชน ครอบคลุมไวรัสสายพันธุ์ย่อยมากกว่า และกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้นานกว่า

 

นพ.สุธี ยกส้าน หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกว่า ขณะนี้วัคซีนได้ผ่านการทดสอบระยะที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นตอนการทดลองในประเทศออสเตรเลีย โดยฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อยๆ แล้วและมีแนวโน้มที่ดี ต่อไประยะที่ 2 และ 3 จะกลับมาทดลองในไทย โดยฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มตัวอย่างในจำนวนที่มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เริ่มกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่ประเทศญี่ปุ่นและอินเดียแล้ว คาดว่าอีก 5 ปี จะเริ่มวางจำหน่ายได้

วัคซีนที่วิจัยโดยมหิดล จะแตกต่างจากวัคซีนของบริษัทเอกชนบางแห่ง โดยในส่วนที่คนไทยพัฒนาวิจัยขึ้นนั้น เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น ที่นำเชื้อมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลง วิธีการนี้จะทำให้ได้วัคซีนที่ครอบคลุมเชื้อไวรัสเดงกี่สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ได้มาก โดยฉีด 1-2 เข็ม กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้นาน 5-10 ปี

ขณะที่วัคซีนของบริษัทเอกชนนั้น พัฒนาโดยวิธีการตัดต่อสายพันธุกรรม ซึ่งได้ผลครอบคลุมน้อยกว่า โดยอาจจะครอบคลุมประมาณ 60% ของสายพันธุ์ย่อย อีกทั้งต้องฉีด 3 เข็ม กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เพียง 2-3 ปี ทั้งยังแนะนำให้ฉีดกับเด็กอายุ 9 ขวบขึ้นไป ซึ่งเท่ากับว่าเด็กอายุน้อยกว่านั้นก็ไม่ได้รับวัคซีน

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 04 มีนาคม 2559    
Last Update : 4 มีนาคม 2559 13:39:16 น.
Counter : 240 Pageviews.  

กลาโหมประสานตำรวจและฝ่ายปกครองปราบผู้มีอิทธิพลทุกจังหวัดเริ่ม 4 มีนาคม-กลุ่มมีหมายจับและหนีคดี

โฆษกกระทรวงกลาโหม เผย นับจากนี้จะปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลอย่างเข้มข้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะคนเคยมีหมายจับและหลบหนีคดี วอนประชาชนแจ้งเบาะแสทางตู้ ป.ณ. 1111 ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โทร. 1599 ผู้มีอิทธิพล 1-6 พันรายกระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราชการและกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 ที่กระทรวงกลาโหม พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายและความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับประชาชน จากกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ที่กระทำการ หรืออยู่เบื้องหลังการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือดำรงตนอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มาโดยตลอด

พล.ต.คงชีพเปิดเผยว่ารัฐบาลได้กำหนดมาตรการดำเนินการต่อผู้มีอิทธิพล ภายใน 6 เดือน (พ.ย. 2558 ถึง พ.ค. 2559) และที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ได้ปฏิบัติงานร่วมกันในการรวบรวมข้อมูล พฤติกรรมของผู้ที่เข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้ทำการพิสูจน์ทราบในพื้นที่แล้ว

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน มี.ค. ถึง เม.ย. 2559 นี้ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในแต่ละจังหวัด ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมให้เบาะแส จะทำงานร่วมกันในการบังคับใช้กฎหมาย ปราบปรามกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพลอย่างเข้มข้นโดยพร้อมเพรียงกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีหมายจับและหลบหนีการดำเนินคดี รวมทั้งบุคคลอื่น ๆ ที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน เพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

 “จึงขอความร่วมมือจากประชาชนในทุกภาคส่วนของสังคม ได้ร่วมกันใช้มาตรการทางสังคม กดดันผู้กระทำผิดให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางกฎหมายจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในการขยายผลปราบปราม จับกุมอย่างจริงจัง พร้อมทั้งร่วมกันให้ข้อมูลข่าวสารหรือเบาะแสเพิ่มเติม เกี่ยวกับบุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ผ่านทาง ตู้ ป.ณ. 1111 รวมทั้ง ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ และเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่าน หมายเลข 1599 ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของสังคมสู่ความสงบและสันติสุขร่วมกันครั้งนี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและมีส่วนร่วมจากประชาชนคนไทยทุกคน” พล.ต.คงชีพ กล่าว

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 3 มีนาคม พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) เปิดเผยกรณีเดินหน้าปราบปรามผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการกวาดล้างจับกุมตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคมนี้เป็นต้นไป มาตรการดังกล่าวจะร่วมมือกับทหารและฝ่ายปกครองเข้าสืบสวนจับกุม ขณะนี้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พลเรือน กว่า 1,000-6,000 คน กระจายอยู่ทั่วทุกภาคส่วน

ส่วนรายละเอียดอื่นๆไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากเป็นชั้นความลับของทางกองทัพ การดำเนินการนั้นเป็นหน้าที่ของกองทัพในการวางแผนกวาดล้าง แต่ส่วนของตำรวจถ้าพบซึ่งหน้าก็ดำเนินการไปได้เลย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการปราบปรามผู้มีอิทธิพลตามนโยบายที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ที่เพิ่มมอบหมายให้ดำเนินการภายใน 6 เดือน ว่าตนเริ่มดำเนินการไปแล้ว 4 เดือนรู้ตัวแล้วว่ามีใครบ้างโดยจะเริ่มเข้าไปหาคนเหล่านี้ และจะเริ่มดำเนินการหลังจากวันที่ 4 มีนาคมนี้เป็นต้นไป ใครที่ทำอะไรผิดก็ต้องดำคดีตามกฎหมายทุกอย่าง

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปราปบรามผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศภายใน 6 เดือนว่า นายกฯ มีคำสั่ง 324/2558 ลงวันที่ 29 ุลาคม 2558 ให้ตั้งคณะกรรมการเรื่องการบูรณาการปราบปรามผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนั้นเริ่มดำเนินการเมื่อเดือน พ.ย. 2558 คณะกรรมการได้รวบรวม 16 ฐานความผิดเกี่ยวกับอิทธิพลการเมืองท้องถิ่นรวมถึงการก่อความวุ่นวายในพื้นที่สนธิกำลัง 3 ฝ่ายคือ ปกครอง ตำรวจ ทหาร เพื่อร่วมกันปราบปราม

ผบ.ตร. กล่าวว่า ผลการปราบปรามที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจทุกฝ่าย้ช่วยกันทำงาน ในส่วนของตำรวจได้มีการเรียกผู้มีอิทธิพลมาพูดคุยและจับกุมตามหมายจับเก่าใน 16 ฐานความผิดที่คณะกรรมการได้ตั้งไว้ โดยได้มีการระดมกวาดล้างในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 77 จังหวัด พบความผิดหลายประเภทรวมถึงการฮั้วประมูลมีมากที่สุดใน จ.อุทัยธานี

ส่วนยุทธการไพร่ฟ้าหน้าใสที่กองปราบดำเนินการมาก่อนหน้านี้ก็เป็นที่พอใจซึ่งรวมอยู่ในส่วนนี้ด้วย สำหรับการข่มขู่คุกคามก่และการก่อเหตุไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ ตอนนี้เหตุการณ์ข่มขู่มีน้อยแล้ว หลังจากที่มีการดำเนินการมาแล้ว ขณะที่แหล่งท่องเที่ยว พัทยา ภูเก็ต เน้นย้ำมาตราการปราบปรามมาตลอดและมีการปราบปรามจับกุมต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้ที่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว

ที่มา thaitribune




 

Create Date : 04 มีนาคม 2559    
Last Update : 4 มีนาคม 2559 12:33:14 น.
Counter : 450 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.