10 เคล็ดลับใช้ยาปลอดภัยในผู้สูงวัย โดย เภสัชกร ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนนท์ เลขาธิการ สภาเภสัชกรรม



ทั้งนี้ การที่ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ประสบปัญหาเป็นโรคเรื้อรังหลายโรคนั้น ทำให้ต้องใช้ยาหลายรายการ จากหลายแหล่ง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหายาซ้ำซ้อน ยาตีกัน การปรับเปลี่ยนยาด้วยตนเอง หรือการสื่อสารที่ไม่เข้าใจ ทำให้ไม่สามารถใช้ยาตามแผนการรักษาได้

 

ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ มักเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและถูกวิธีเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการรักษาโรค แต่ปัจจุบันยังพบว่า ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ไม่ใช้ยาตามแพทย์สั่ง ซึ่งมีข้อมูลจาก เภสัชกร อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ระบุว่า จากผลการวิจัย “การค้นหาปัญหาด้านยาจากการออกเยี่ยมบ้านโดยกลุ่มเภสัชกรครอบครัว” ระหว่างปี พ.ศ.2556-2557 ในเขตจตุจักร จากแขวงจอมพล แขวงจันทรเกษม และแขวงเสนานิคม โดยการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยทั้งสิ้น 1,019 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสูงอายุ อายุมากกว่า 60 ปี ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ และเบาหวาน ตามลำดับ ซึ่งเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อแต่ต้องอาศัยความร่วมมือในการใช้ยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ผลสำรวจพบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 47.1 มีปัญหาการไม่ใช้ยาตามสั่ง ไม่ได้รับยาที่ควรจะได้รับ เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา และยังพบปัญหาเชิงระบบที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านยา คือ (1) การได้รับยาไม่ต่อเนื่อง (2) การเข้าไม่ถึงยา และ (3) ขาดการส่งต่อข้อมูลด้านยาที่มีประสิทธิภาพ ตามลำดับ

ทั้งนี้ การที่ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ประสบปัญหาเป็นโรคเรื้อรังหลายโรคนั้น ทำให้ต้องใช้ยาหลายรายการ  จากหลายแหล่ง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหายาซ้ำซ้อน ยาตีกัน การปรับเปลี่ยนยาด้วยตนเอง หรือการสื่อสารที่ไม่เข้าใจ ทำให้ไม่สามารถใช้ยาตามแผนการรักษาได้ ผู้สูงวัยบางรายมีการนำยาเหลือใช้ของตนไปให้ผู้อื่นใช้โดยขาดความรู้ส่งผลให้เกิดอันตราย นอกจากนี้การที่ผู้สูงวัยมีความเสื่อมถอยของสภาวะร่างกาย เป็นปัญหาต่อระบบการทำงานของร่างกาย ที่อาจส่งผลกับการใช้ยา เช่น ปัญหาด้านสายตาทำให้ไม่สามารถอ่านฉลากยาได้จึงรับประทานยาตามความเคยชิน อาจได้ขนาดยาไม่ถูกต้อง กล้ามเนื้อมีความอ่อนแรงจนไม่สามารถฉีกแผงยา หรือหยิบยาเข้าปาก บางรายมีปัญหาด้านความจำทำให้ใช้ยาผิด เป็นต้น ในรายที่ต้องมีผู้ดูแลจัดยาให้ ถ้าผู้ดูแลไม่ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ อาจส่งผลให้เกิดปัญหากับผู้สูงวัยที่ไม่สามารถใช้ยาได้ด้วยตนเอง และมีผู้ป่วยบางรายใช้ยาตามคำบอกเล่า หรือซื้อยารับประทานเอง หรือนำยาผู้อื่นมาใช้ ทำให้บริโภคยาไม่ตรงตามโรคที่เป็น  

ดังนั้น เพื่อลดความสูญเสียจากการใช้ยาในผู้สูงวัย ลูกหลาน หรือผู้ดูแลผู้สูงวัย จะต้องมีความรู้เรื่องการใช้ยาอย่างถูกต้อง เพราะยามีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์หากนำไปใช้อย่างผิดๆ ข้อมูลจาก ภญ.จันทิมา โยธาพิทักษ์ ผู้ช่วยนายกสภาเภสัชกรรม ฝ่ายวิชาการ ได้แนะแนวทางดูแลผู้สูงวัยใช้ยาปลอดภัยและเป็นสุข โดยรวบรวมไว้เป็น 10 เคล็ดลับการใช้ยาอย่างปลอดภัยในผู้สูงวัย ดังนี้

1. รับประทานยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด

2. ใช้ยาเท่าที่จำเป็นไม่ควรซื้อยารับประทานเองเพราะยาบางชนิดมีความเสี่ยงในการใช้ จำเป็นต้องติดตามการใช้อย่างใกล้ชิด อีกทั้งอาจตีกันกับยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นแนะนำปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนการใช้ยาใหม่ๆ  

3. เมื่อต้องไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาล ต้องนำยาทุกชนิด ซึ่งรวมถึงสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้อยู่ไปแสดงแก่แพทย์หรือเภสัชกร

4. ในระหว่างการใช้ยา หากพบอาการที่ผิดปกติ เช่น ใช้ยาไปแล้วขาบวม ปัสสาวะบ่อย ไอเรื้อรัง เป็นต้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาจเกิดจากยาที่ใช้อยู่

5. หากผู้ป่วยมีปัญหาในการใช้ยา เช่น กลืนยาลำบาก ต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ เพื่อจะได้เลือกชนิดยาที่เหมาะสม เช่น เปลี่ยนเป็นยาน้ำ

6. หลังได้รับยาควรตรวจดูยาและอ่านฉลากยาให้เข้าใจทุกครั้ง ถ้ามีข้อสงสัยควรสอบถามเภสัชกรทันที

7. หากผู้ป่วยมีปัญหาในการจัดเตรียมยา หรือมีปัญหาในการอ่านฉลากยา ควรให้ญาติหรือผู้ร่วมอาศัยจัดเตรียมยาให้พร้อมต่อการใช้ เช่น การหักครึ่งเม็ด การกดยาเม็ดออกจากฟอยด์ การจัดยาเป็นเวลาเป็นมื้อ เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้ยาอย่างถูกต้องครบถ้วน

8. กรณีผู้ป่วยหลงลืมการใช้ยาอาจใช้สิ่งช่วยจดจำ เช่น เขียนขนาดและวิธีรับประทานตัวใหญ่ติดบนฉลากยา หรือใช้นาฬิกาปลุก ใช้กล่องใส่ยาชนิดที่รับประทานช่องละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา หรือรับประทานยาซ้ำซ้อน

9. ควรจัดเก็บยาให้ถูกต้องไม่เก็บในที่อับชื้น เช่นห้องน้ำ หรือในที่ที่ร้อนจัด เช่น ในรถ และไม่เก็บในที่ที่แสงแดดส่องถึงเพราะจะทำให้ตัวยาเสื่อมคุณภาพได้ ที่สำคัญควรเก็บให้ห่างจากมือเด็ก

10. หากผู้ป่วยสูงอายุช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ดูแลควรหยิบยามาให้รับประทานเองกับมือ และดูด้วยว่าผู้ป่วยได้รับประทานยาจริงหรือไม่

สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการใช้ยา สามารถขอรับคำปรึกษาได้จากเภสัชกรโรงพยาบาล หรือ เภสัชกรร้านยาใกล้บ้าน

ที่มา thaitribune




Create Date : 12 กันยายน 2559
Last Update : 12 กันยายน 2559 6:29:29 น. 0 comments
Counter : 399 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.