RIO 2016 ไม่น่าจะซ้ำรอย MUNICH 1972 โดย ดร.มนัสพาสน์ ชูโต



วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม ปี ค.ศ. 2016 จะมีพิธีเปิดมหกรรมกีฬา OLYMPICS ฤดูร้อนที่นครริโอเดจาเนโร หรือ RIO 2016 ประเทศบราซิล อันจะเป็นการแข่งขันกีฬาระดับโลกครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปอเมริกาใต้ในประวัติศาสตร์ ในระยะก่อนการแข่งขันทั่วโลกได้ทราบข่าวความยุ่งยากสับสนและความไม่พร้อมที่เกิดขึ้นในหลายบริบทด้วยกัน ทั้งทางการเมืองภายใน ฐานะทางเศรษฐกิจและการเงินแม้บราซิลจะเป็นประเทศที่เคยอยู่ในกลุ่ม BRIC ซึ่งสมัยหนึ่งเคยมีแววว่าจะรุ่งโรจน์ในการพัฒนาต่อไป

ปัญหาการระบาดของโรค “ซิก้า” อันทำให้นักกีฬาในระดับแนวหน้าบางประเภทขอยกเลิกการไปร่วม ปัญหาการห้ามนักกีฬาจากรัสเซียซึ่งเป็นอภิมหาอำนาจด้านกีฬามาแต่เก่าก่อนเพราะปรากฏหลักฐานว่าได้มีการใช้สารกระตุ้นโดยภาครัฐรู้เห็นเป็นใจด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกรีฑา ปัญหาสภาพแวดล้อมและมลภาวะใกล้บริเวณแข่งขัน และท้องน้ำ ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชุมชนอันสืบเนื่องมาจากความเสื่อมโทรมในฐานะความเป็นอยู่ของพลเมือง ตลอดจนปัญหาร้อยแปดซึ่งมิใช่ว่าจะมีอยู่ในมหานครอันจะเป็นที่จัดมหกรรมกีฬาโลกแห่งนี้เท่านั้น

สภาพการณ์ที่น่าหวั่นเกรงยิ่งได้แก่การคุกคามของขบวนการก่อการร้ายสากล ด้วยกลุ่มหนึ่งได้ออกคำขู่ว่าจะก่อเหตุขึ้นในระหว่างการแข่งขันกีฬาระดับโลกครั้งนี้ ข้อนี้เป็นประเด็นที่น่าห่วงกังวลยิ่ง และเพื่อป้องกันภัย ประเทศเจ้าภาพ อันได้แก่บราซิล ด้วยความร่วมมือในทางต่าง ๆ ของประเทศที่ทรงสมรรถภาพ จึงได้ร่วมกันป้องกันภัย โดยได้เริ่มมาแล้วหลายเดือน มีการระดมกำลังพลทุกเหล่าในการระวังการณ์ด้วยอาวุธครบมือ และมีการฝึกซ้อมเป็นระยะๆ มารวมทั้งการเตรียมการรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และรถพยาบาลกับรถฉุกเฉินเป็นจำนวนหลายร้อยคัน ตามสถานะล่าสุด กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้เข้าประจำการณ์เยี่ยงการรับมือกับสถานการณ์สงคราม ปัจจัยช่วยคงจะได้แก่การที่บราซิลไม่เคยต้องเผชิญกับการก่อการร้ายมาก่อน และมิได้มี “Home grown militants” แต่ถึงกระนั้น ก็ได้มีการเฝ้าระวังและการประสานงานด้านการข่าวกับหลายฝ่าย ทำให้สามารถจับกุมผู้ที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบได้แล้วถึงวันที่ทำรายงานนี้ 11 คน ยังเหลืออีกไม่เกินหนึ่งหรือสองคน ซึ่งยังไม่พร้อมที่จะก่อการร้ายได้

เพราะการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์จนถึงขั้นที่อาจจะเลวร้ายที่สุดดังที่ได้ติดตามดูรายงานจากท้องที่มานี้ จึงหวังว่า RIO 2016 จะไม่เกิดเหตุซ้ำรอย MUNICH 1972 อันมีรายละเอียดที่ได้จัดทำไว้ประมาณ 5 ปีมาแล้ว ดังต่อไปนี้

เหตุการณ์รุนแรงยิ่งครั้งหนึ่ง โดยฝีมือของขบวนการแบล็คเซปเทมเบอร์และการปราบปรามแบบขาดความเป็นมืออาชีพของฝ่ายเยอรมันที่นับว่าดังก้องโลกที่สุดเห็นจะได้แก่ปฏิบัติการในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่นครมิวนิค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันในวันที่ 5 - 6 กันยายน 2515 (.. 1972)

ปฏิบัติการครั้งนั้นได้รับการขนานนามโดยฝ่ายปาเลสไตน์ว่า Operation Ikrit and Biram  พลพรรคชั้นนำคนหนึ่งของปาเลสไตน์ในชื่อ Abu Daoud  อ้างว่าตนเป็นต้นคิดในการวางแผนและว่าผู้ที่ให้ทุนสนับสนุนได้แก่ Mahmoud Abbas ซึ่งหลังจากที่ยาสเซอร์ อาราฝัด ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าของ Palestinian Authority และในระยะต่อมา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของปาเลสไตน์

Ikrit และ Biram เป็นชื่อหมู่บ้านของชุมชนปาเลสไตน์ทางภาคเหนือของทะเลสาบกาลิลี่ ทั้งสองหมู่บ้านได้ถูกกองกำลังอิสราเอลบุกเข้าทำลายล้างอย่างหนัก ทำความเจ็บแค้นแก่ชาวปาเลสไตน์อย่างยิ่ง หมู่บ้านทั้งสองเป็นฐานฝึกกำลังรบของผู้ก่อการร้ายที่เข้าร่วมอยู่ในขบวนการแบล็คเซปเทมเบอร์ รวมทั้ง 8 คนที่ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติการในหมู่บ้านนักกีฬาที่นครมิวนิคด้วย

ผู้ก่อการร้ายทั้ง 8 แต่งกายในชุดอุ่นเครื่องและเข้าไปปะปนกับนักกีฬาของชาติอื่นอย่างกลมกลืน ก่อนจะปีนรั้วเหล็กเข้าไปในบ้านพักของนักกีฬาอิสราเอลและครูฝึกรวม 11 คน โดยอาศัยความมืดในเวลา 3.30 . เป็นการพรางตา (มีรายงานต่อมาด้วยว่านักกีฬาสหรัฐได้ช่วยดันก้นผู้ก่อการร้ายขณะปีนข้ามรั้วเหล็กที่กั้นทางเข้าหมู่บ้านนักกีฬาด้วย โดยชาวอเมริกันมิได้เฉลียวใจแม้แต่น้อย)

ด้วยความที่มีประวัติในการจัดการแข่งขันโอลิมปิคส์ฤดูร้อนที่กรุงเบอร์ลินสมัยนาซีภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางการเยอรมันจึงพยายามจัดการแข่งขันที่นครมิวนิคให้มีบรรยากาศผ่อนคลายที่สุด อันย่อมหมายถึงการลดหย่อนมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งที่จริงแล้วน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้นไม่แต่เท่านั้น รัฐธรรมนูญเยอรมันตะวันตกในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังห้ามมิให้ใช้ทหารในภารกิจภายในประเทศด้วย จึงไม่มียานเกราะรักษาการณ์อยู่ในบริเวณของการแข่งขันและหมู่บ้านนักกีฬาเลย มีแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นของรัฐบาวาเรียเท่านั้น จริงอยู่ที่มีการจำลองสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในหลายรูปแบบด้วยกัน ปรากฏว่า แบบจำลองของนายฮันส์ ดีทริคช์ เกนเชอร์​ (Hans Dietrich-Genscher) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของสหพันธ์ในขณะนั้น ใกล้เคียงกับเหตุร้ายที่อุบัติขึ้นจริงที่สุด แต่ไม่มีใครให้ความสำคัญกับสถานการณ์จำลองนั้นแม้แต่คนเดียว อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญเยอรมันตะวันตกก็ได้จำกัดบทบาทและความรับผิดชอบของตัวแทนจากสหพันธ์เช่นกัน คือการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสหพันธ์ไม่สามารถทำอย่างใดได้นอกเหนือจากการให้คำปรึกษาและเเนะนำเท่านั้นเพราะที่นั่นเป็นเขตอำนาจของรัฐบาวาเรีย การเตรียมการและการวางแผนรักษาความปลอดภัยในช่วงเวลาที่ทั้งโลกเต็มไปด้วยความไร้เสถียรภาพและความเสี่ยงต่ออันตรายจึงถือได้ว่าล้มเหลวมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมีพิธีเปิดการแข่งขันเสียด้วยซ้ำ

ผู้ก่อการร้ายจึงเข้าสู่บ้านพักของนักกีฬาอิสราเอลได้อย่างง่ายดาย ตัวนักกีฬาเองต่างก็นอนหลับอยู่ในอพาร์ตเมนท์ต่างๆแยกเป็นกลุ่ม แต่มีนักมวยปล้ำ 2 คนที่ได้ยินเสียงประตูเคลื่อนไหวจึงลุกจากเตียงแล้วพยายามสกัดการบุกรุก จึงถูกสังหารตั้งแต่แรก คนหนึ่งในสภาพน่าอเนจอนาถยิ่ง ส่วนอีกคนหนึ่งตายอยู่ภายในบ้านพัก คงเหลืออีก 9 คนซึ่งตกเป็นตัวประกัน

เมื่อ 9.00 . ของวันที่ 6 กันยายน อันเป็นเส้นตายที่ฝ่ายก่อการร้ายได้ประกาศไว้ในใบปลิวแจ้งข้อเรียกร้องซึ่งเตรียมมาก่อนหน้า สิ่งที่ผู้ก่อการร้ายเรียกร้อง ได้แก่การบังคับให้อิสราเอลปล่อยตัวชาวปาเลสไตน์  เลบานอนและแนวร่วมรวม 250 คนซึ่งถูกกองกำลังอิสราเอลล่าตัวไปจากทั้งสองหมู่บ้านและเมื่อดำเนินการแล้วให้จัดเครื่องบินนำพวกเขาทั้งกลุ่มไปส่งในประเทศอียิปต์อย่างปลอดภัย กับได้ปฏิเสธที่จะเจรจากับทางการเยอรมัน ในจำนวน 250 คนที่ผู้ก่อการร้ายเรียกร้องนี้ มีชื่อนาย Andreas Baader และนาง Ulrike Meinhof จากกลุ่ม Red Army Faction ในความควบคุมของฝ่ายเยอรมันด้วย

แม้กลุ่มแบล็คเซปเทมเบอร์จะไม่ยอมพูดจา อันเป็นท่าทีทุกครั้งของผู้ก่อการร้ายส่วนใหญ่ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน แล้วแต่สถานการณ์  ทางการเยอรมันก็ได้พยายามเริ่มการต่อรองโดยรัฐมนตรีรัฐบาวาเรียเป็นผู้นำทีม ด้วยการเสนอเงินค่าไถ่เพื่อแลกกับตัวประกันทั้ง 9 ผู้ก่อการร้ายปฏิเสธเด็ดขาด โดยย้ำว่า ทั้งเงินและชีวิตของพวกเขาไม่สำคัญ ด้วยท่าทีเช่นนี้ การเจรจาจึงยืดเยื้ออยู่นานแม้จะมีผู้แทนอียิปต์ 2 คนจากสันนิบาตอาหรับหรือ Arab League และจากคณะกรรมการโอลิมปิก ระหว่างประเทศมาช่วยด้วยตลอดช่วงกลางวันของวันที่ 6 กันยายน  ถึงจะไม่เป็นผล แต่ก็ทำให้ฝ่ายก่อการร้ายต้องเลื่อนเส้นตายไปถึง 5 ครั้ง การเจรจาที่ว่านี้มิได้หมายถึงการพบปะพูดจากันระหว่างสองฝ่าย แต่ตามภาพถ่ายที่พอเคยเห็นจากหนังสือพิมพ์  ฝ่ายเยอรมันอยู่ด้านนอกของบ้านพักนักกีฬา ส่วนทางการอิสราเอลยืนกรานท่าทีของตนว่า ไม่เห็นด้วยกับการจะเจรจากับผู้ก่อการร้าย และขอส่งหน่วยรบพิเศษมายังนครมิวนิคแต่ถูกนายกรัฐมนตรีวิลลิ บรันท์ (Willy Brandt) และนายฮันส์ ดีทริคช์ เกนเชอร์ปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอ หลังจากนั้น ทางการเยอรมันและบาวาเรียได้ถือโอกาสวางแผนยุติเหตุการณ์แต่ลำพังโดยไม่ปรึกษาผู้แทนของอิสราเอลเลย

แผนยุติเหตุร้ายของเยอรมันหละหลวมอย่างยิ่ง โดยใช้ตำรวจชายแดน 5 นายซึ่งไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาเป็นกำลังหลัก ด้วยความเข้าใจผิดว่า พวกนี้เป็นพลแม่นปืน ซึ่งเมื่อเผชิญกับสถานการณ์จริงก็ปรากฏว่า มิได้มีฝีมือด้านนี้ เครื่องมือสื่อสารระหว่างหน่วยต่าง ๆ ก็ไม่มี แต่สำหรับตำรวจบาวาเรีย ซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่การแข่งขัน ก็ได้รับแจก walkie talkie กันพร้อมหน้า ฝ่ายเยอรมันเองคิดว่าผู้ก่อการร้ายมีอยู่เพียง 2-3 คน ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นยังมีอยู่ 8 คนครบ เพิ่งมาสังเกตเห็นก็เมื่อทั้งชุดออกจากบ้านนักกีฬาไปขึ้นรถโดยสารเพื่อไปยังเฮลิคอปเตอร์  2 เครื่องที่รอรับเพื่อนำไปส่งยังเครื่องบินโดยสารแบบโบอิ้ง 727 ที่สนามบินใกล้เคียงอันเป็นฐานบินของสัมพันธมิตรนาโต้ ที่ย่ำแย่ที่สุดคือโทรทัศน์ท้องถิ่นได้ถ่ายทอดความเคลื่อนไหวต่างๆ อยู่ตลอด  

ทั่วโลกได้เห็น และผู้ก่อการร้ายก็ได้เห็นด้วยจากโทรทัศน์ในบ้านพักนักกีฬา จึงทราบแผนลวงของฝ่ายเยอรมันอย่างชัดแจ้ง ผู้เขียนเองก็ได้ดูความเคลื่อนไหวเหล่านี้บางตอนจากรายงานข่าวทางโทรทัศน์ระหว่างประเทศขณะว่างจากการประชุมอาเซียนที่กรุงมะนิลา ขณะเดียวกัน ตำรวจซึ่งปลอมตัวเป็นนักบินและพนักงานประจำเครื่อง ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจให้สังหารผู้ก่อการร้าย ก็ได้ออกเสียงลงมติระหว่างกันเองที่จะยกเลิกภารกิจ โดยมิได้รายงานให้หน่วยเหนือทราบ ในที่สุด ความสับสนของทั้งสองฝ่ายจึงนำไปสู่การตะลุมบอนกันขึ้น นักกีฬาอิสราเอลถูกฆ่าด้วยระเบิดในบริเวณเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 9 คน แบล็คเซปเทมเบอร์ 5 คนถูกยิงเสียชีวิต อีก 3 คนทำเป็นนอนตายและถูกจับไป เจ้าหน้าที่เยอรมันต้องเสียชีวิตไปอย่างน้อย 1 คน เพราะถูกกระสุนของพวกเดียวกันเอง ผู้บัญชาการ 3 นาย ซึ่งอยู่ในหอบังคับการบินทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะเห็นเหตุการณ์ไม่ชัดเจน และสองคนในจำนวนนี้เป็นนักการเมือง ไม่คุ้นกับการควบคุมสถานการณ์ร้ายลักษณะนี้ มีอยู่คนเดียวที่พอมีประสบการณ์ แต่ไม่อาจช่วยควบคุมสถานการณ์อันสับสนอลหม่านด้านล่างได้

เหตุการณ์รุนแรงและนองเลือดยิ่งยุติลงในที่สุดในลักษณะที่รายงานข่าวใช้คำว่า

“การสังหารหมู่ที่มิวนิค” (Munich Massacre) เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดดังที่รัฐมนตรีเกนเชอร์ได้จำลองสถานการณ์ ไว้ได้เกิดขึ้นจริงๆ แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า คำว่า “สังหารหมู่” นั้นสอดคล้องกับการปะทะกันที่ลานบิน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นอกเหนือการควบคุมของฝ่ายเยอรมันโดยสิ้นเชิง ในแง่ของผู้ก่อการร้ายนั้นเขาพร้อมอยู่แล้วที่จะพลีชีพหากสถานการณ์บังคับ แต่จาก 8 คนที่เข้าปฏิบัติการและอีก 3 คนรอด ขณะที่นักกีฬาและผู้ฝึกสอนอิสราเอลทั้ง 11 คน ถูกสังหารหมด โดยรวมคนแต่แรกๆด้วย จากรูปการณ์ดังนี้ ไม่อาจชี้ชัดได้ว่า ฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ แบล็คเซปเทมเบอร์เองอาจคิดว่า ฝ่ายตนได้รับความสำเร็จ มิใช่เพราะสังหารนักกีฬาอิสราเอลได้หมด เพราะนั่นมิใช่เป้าหมายหรือข้อเรียกร้องแต่เพราะปฏิบัติการฝ่ายเขาทำให้ทั้งโลกต้องตกตะลึง และชื่อของขบวนการเป็นที่รับรู้กันแทบจะทั่วโลก และแน่นอนที่อิสราเอลจะแค้นหนัก

ในคืนวันที่ 6 กันยายน ปี ค.. 1972 คณะกรรมการโอลิมปิคส์ระหว่างประเทศได้ประกาศยุติการแข่งขันทั้งหมด นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคส์ฤดูร้อนที่ต้องยกเลิกมหกรรมกีฬากลางคัน ส่วนนายมาร์ค สปิตซ์ (Mark Spitz) นักว่ายน้ำเหรียญทองยอดเยี่ยมจากทีมอเมริกาได้หลบหนีไปอย่างลึกลับตั้งแต่แรกๆ ที่เกิดเหตุร้ายเพราะเกรงว่าจะถูกลอบสังหารเนื่องจากเป็นคนเชื้อสายยิว

เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของกลุ่มแบล็คเซปเทมเบอร์ทำให้รัฐบาลเยอรมันตะวันตกและรัฐบาลอื่นๆ ในยุโรปตกลงใจจัดตั้งกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายขึ้นอย่างเป็นการถาวรนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

การตอบโต้ของอิสราเอลหลังจากมิวนิคพอเป็นทีคาดหมายได้ มิใช่เพียง “ตาต่อตา - ฟันต่อฟัน” เท่านั้น

จากรายงานที่ปรากฏต่อมา นายกรัฐมนตรี โกลดา เมเอียร์ (Golda Meir) แห่งอิสราเอลเคียดแค้นมากเพราะตนเองก็แคล้วคลาดจากการถูกพยายามสังหารมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ทั้ง  letter bomb  และการที่หน่วยงานด้านความมั่นคงของอิตาลีร่วมกับกองกำลังราชการลับของอิสราเอลบุกเข้าจับผู้ก่อการร้ายปาเลสไตน์กลุ่มแบล็คเซปเทมเบอร์ที่ตึกใกล้กับชายหาด Ostia Lido ในเส้นทางบินที่เครื่องบิน El Al ซึ่งนายกรัฐมนตรีเมเอียร์ใช้เดินทาง กำลังเหินฟ้าขึ้นจากท่าอากาศยานฟิวมิชีโน (Fiumicino) ของกรุงโรม เพียงพริบตาเดียว ก่อนที่ผู้ก่อการร้ายจะยิงจรวดเข้าใส่ เมื่อเกิดเหตุร้ายที่นครมิวนิค โดยฝ่ายอิสราเอลไม่มีทางเข้าช่วยเพราะอยู่นอกเขตอำนาจ ได้แต่เฝ้ามอง นางโกลดา เมเอียร์ จึงตัดสินใจใช้วิธีตอบโต้อย่างกะทันหันและต่อเนื่อง ในชั้นแรก ได้เรียกอดีตนายพล Aharon Yariv และนาย Zvi Zamir  หัวหน้า Mossad เข้าหารือลับและสั่งการให้จัดตั้งองค์กรเพื่อตามล่าผู้ก่อการร้ายอาหรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ทราบว่าเคยจับยิวไปทรมานในที่ต่างๆ

จะด้วยแผนดังกล่าวนี้หรือไม่ก็ตาม หลังจากนั้น เเบล็คเซปเทมเบอร์และผู้ก่อการร้ายอาหรับก็ถูกปลิดชีวิตแทบจะว่าทีละคนในที่ต่าง ๆ ก็ว่าได้ ทั้งด้วยการถูกลอบยิงและการลอบวางระเบิดและวิธีลี้ลับอื่น ๆ ภายใต้ปฏิบัติการ Operation Spring of Youth และ Operation Wrath of God มือปฏิบัติการปาเลสไตน์ถูกฆ่าอย่างลึกลับไปนับร้อย และในเดือนกุมภาพันธ์ 2516 อิสราเอลได้ใช้กำลังทางอากาศ เรือและบก บุกค่ายผู้ลี้ภัยที่ได้จับชาวอิสราเอลไว้ทางตอนเหนือของเลบานอน อันเป็นฐานฝึกอบรมของแบล็คเซปเทมเบอร์ โดยที่บางส่วนได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติการที่มิวนิคในการโจมตีครั้งนั้น พวกปาเลสไตน์ถูกสังหารไปหลายร้อยคน

หวังว่า “มิวนิค” เมื่อปี ค.ศ. 1972 เกือบ 44 ปีเต็มมาแล้ว จะเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งแรกและครั้งเดียว ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคส์ฤดูร้อน และมาตรการป้องกันภัยที่หลายประเทศร่วมกันใน RIO2016  แม้ว่าเหตุการณ์การก่อการร้ายจะได้อุบัติขึ้นในรอบเดือนกรกฎาคม ศกนี้ ในหลายประเทศก็ตาม

เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์การก่อการร้ายระหว่างการแข่งขันกิฬาโอลิมปิคส์ฤดูร้อนที่นครมิวนิค ส่วนใหญ่เรียบเรียงมาจากหนังสือ ยุทธการยึดสถานทูตอิสราเอลกลางกรุง บันทึกปฏิบัติการลับแบล็คเซบเทมเบอร์บุกกรุงเทพฯ  การก่อการร้ายสากล...บททดสอบการทูตไทย โดย ดร. มนัสพาสน์ ชูโต อดีตเอกอัครราชทูต

 ที่มา thaitribune



Create Date : 05 สิงหาคม 2559
Last Update : 5 สิงหาคม 2559 10:59:31 น. 0 comments
Counter : 360 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.