ปลัด ICT มั่นใจ-ชื่นชม SiPA กับภารกิจที่ใหญ่ขึ้นภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพร้อมก้าวสู



ปลัดกระทรวงไอซีทียืนยันว่าไม่มีการทอดทิ้งพนักงานในสังกัดกระทรวงไอซีทีทุกระดับ พร้อมชื่นชมการทำงานของซิป้าที่ผ่านมา พร้อมรองรับการปรับเปลี่ยนสำนักงานใหม่ เห็นจากผลงานที่เพิ่มขึ้น ประธานซิป้าบอกพนักงานอย่าเสียขวัญทำงานก้าวหน้าทุกด้านตามนโยบาย

 

รายงานข่าวเปิดเผยว่า การปรับเปลี่ยนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ( ICT) ไปสู่โครงสร้างใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ( ED) หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลฯตอบรับกับนโยบายของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวง ICT กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงไอซีทีหลายหน่วยงาน มีความพร้อมในบทบาทใหม่กับภารกิจที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ซึ่งก่อตั้งมาพร้อมกับกระทรวงไอซีทีมานานกว่า 12 ปีแล้ว การดำเนินการที่ผ่านมาซิป้ามีผลงานเป็นที่โดดเด่นในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และมีผลงาน  ในระดับประเทศอย่างมากมายโดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาแอปพลิเคชันและแอนิเมชันต่างๆ

ปัจจุบันเราจะก้าวสู่การพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 กระทรวงไอซีที มีความจำเป็นต้องปรับบทบาทและภารกิจที่สามารถรองรับการขยายตัวในอุตสาหกรรมดิจิทัลในเรื่องใหม่ๆ มากขึ้น  ดังนั้น อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภารกิจใหม่ ขณะนี้เราจะมีหน่วยงานรัฐแห่งใหม่ คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หน่วยงานแห่งนี้มีภารกิจที่เพิ่มมากขึ้น กระทรวงต้องการบุคลากรที่มีความพร้อมในการดำเนินภารกิจ

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาซิป้าได้รับมอบหมายภารกิจจากกระทรวงไอซีที ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสำนักงานแห่งใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น ประกอบกับผลงานสำคัญต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย เช่น โครงการพัฒนากำลังคนทางด้านดิจิทัลเพื่อสร้างธุรกิจเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Tech startup และโครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Smart city

“เป็นที่น่าชื่นชมว่าซิป้ามีผลงานที่ออกมา ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว และขณะนี้ประเทศไทยก็ได้รับการจัดอันดับในเรื่องการพัฒนา e-Government สูงขึ้นจากเดิม หมายความว่าภาพลักษณ์การพัฒนาประเทศไทยเริ่มเห็นผลจากนานาอารยะประเทศ ดังนั้น บุคลากรที่มีศักยภาพจะเป็นกำลังสำคัญสำหรับองค์กรใหม่ที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้”นางทรงพรกล่าว

อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงไอซีที มีหน่วยงานที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ 2 หน่วยงาน ทั้งที่เป็นหน่วยงานราชการ และที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ราชการ ซึ่งกระทรวงฯ ต้องการบุคลากรที่มีความพร้อมในการดำเนินภารกิจใหม่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของซิป้าและการเปลี่ยนภารกิจกระทรวงฯ เอง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการปฏิรูปเพื่อก้าวไปสู่หน่วยงานใหม่

ขณะนี้ทางกระทรวงฯ อยู่ระหว่างระดมบุคคลากรของหน่วยงานในสังกัดส่วนที่เป็นทั้งราชการ องค์การมหาชน และรัฐวิสาหกิจ เพื่อการสรรหาบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานร่วมกันในองค์กรใหม่ และกระทรวงฯ ยืนยันจะไม่ทอดทิ้งบุคคลากรที่มีคุณภาพ ทุกระดับทุกองค์กรของทางกระทรวงฯ อย่างแน่นอน

ประธานซิป้าเผยพนักงานสั่งสมประสบการณ์มานาน

ทางด้านนางจีราวรรณ บุญเพิ่ม  ประธานกรรมการซิป้ากล่าวว่าการยุบหรือไม่ยุบ Sipa คงไม่ใช่ประเด็น เพราะต้องเป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์อยู่แล้ว ที่สำคัญคือเรื่องงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ยังต้องทำต่อไปและภายใต้นโยบาย DE งานนี้ก็จะยิ่งมีความสำคัญและมีขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ แ

นางจีราวรรณกล่าวว่าพนักงานของ Sipa  ได้สั่งสมประสบการณ์ เครือข่ายกับสมาคมและผู้ประกอบการมานานพอสมควร นับเป็นทรัพย์ทางปัญญาที่ไม่ควรมองข้าม  “ดิฉันก็อยากขอให้ผู้มีอำนาจในการพิจารณา ประเด็นนี้ด้วยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงไอซีที สนช. และกรรมาธิการ และสุดท้ายก็ขอเป็นกำลังใจให้พนักงาน Sipa ในการทุ่มเททำงานต่อไป อย่าเสียขวัญ”นางจีราวรรณกล่าว

ผู้ช่วยรัฐมนตรีไอซีทีบอกยุบซิป้า

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ทั้งนสพ.แนวหน้าและนสพ. ASTV ผู้จัดการ รายงานว่านายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีความเห็นว่า เมื่อกฎหมายได้ระบุให้มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงควรยุบสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน ) หรือ ซิป้า เพื่อให้สำนักงานใหม่ทำหน้าที่แทน เนื่องจากคณะกรรมาธิการเกรงว่า หากซิป้ายังอยู่ตามที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เคยให้สัมภาษณ์ ปัญหาต่างๆ ที่สั่งสมมานานในซิป้า ก็จะยังคงอยู่ และอาจต้องปวดหัวในการแก้ปัญหาต่อไปมากกว่าจะเดินหน้าทำงานตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น คณะกรรมาธิการจึงเห็นว่า ควรจะเริ่มต้นใหม่กับสำนักงานใหม่น่าจะทำงานเดินหน้าตามนโยบายใหม่ได้ดีกว่า

รักษาการผอ.ซิป้ายันแก้ปัญหาไปมากแล้ว

ทางด้านนายศุภชัย จงศิริ รักษาการผู้อำนวยการซิป้า กล่าวว่า ตนเพิ่งทราบเรื่องการยุบซิป้า ดังนั้นต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการซิป้าอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากบางเรื่องได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การสรรหาผู้อำนวยการใหม่ ซึ่งอาจจะเดินหน้าหาต่อ เพื่อไปดำรงตำแหน่งในสำนักงานใหม่หรือต้องชะลอไปก่อน ก็ต้องขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันประชุมที่แน่ชัด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ปัญหาของซิป้า ตนเอง และคณะกรรมการก็เร่งสะสางปัญหาได้มากแล้ว บุคลากรที่มีอยู่ 120 คน มีความพร้อมในการยกไปทำงานกับสำนักงานใหม่ได้ทันที หากกระทรวงไอซีทีเห็นว่าคุณสมบัติเหมาะสม ส่วนแผนงานต่างๆ ที่วางไว้ ซิป้าจะยังคงเดินหน้าทำงานต่อไป เนื่องจากล้วนเป็นงานที่รัฐบาลต้องการให้ทำและตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการสมาร์ท ซิตี้, การส่งเสริมผู้ประกอบการตามคลัสเตอร์ธุรกิจต่างๆ เป็นต้น

นายศุภชัยกล่าวว่าต้องยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในซิป้านั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความไม่รู้ ไม่ตั้งใจ เพราะคนของซิป้าส่วนใหญ่มาจากเอกชน จึงไม่รู้ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างในแบบราชการ จึงเผลอทำงานในรูปแบบเอกชน ซึ่งตนก็ได้แก้ปัญหาด้วยการนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง มาอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการทำเอกสารแบบราชการให้แล้ว

ดังนั้นเชื่อมั่นว่าบุคลากรที่มีของซิป้า จะสามารถยกระดับไปนั่งทำงานในสำนักงานที่จะตั้งขึ้นใหม่ได้ทันที ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่า สำนักงานใหม่ต้องการพนักงานจำนวนมากน้อยเพียงใด นี่จะเป็นโอกาสให้พนักงานเหล่านี้พัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อให้เหมาะกับการทำงานในสำนักงานดังกล่าว

โอนซิป้าเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ต่อมานสพ.กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 2 สิงหาคม รายงานว่ากรณีกระแสข่าวเกี่ยวกับสถานะของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า นั้นมีแหล่งข่าวเปิดเผยว่า ตามร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งคณะกรรมาธิการฯพิจารณาผ่านร่างแล้ว ระบุชัดเจน ไม่มีการยุบซิป้า แต่เป็นการปรับโอนไปเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยให้งบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิ พนักงาน ลูกจ้างของซิป้า โอนไปเป็นของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นการชั่วคราว และให้สำนักงานแห่งใหม่ทำการคัดเลือกพนักงานลูกจ้างภายใน 270 วัน พนักงานลูกจ้างจากซิป้าที่ได้รับการคัดเลือกสามารถทำงานโดยให้นับอายุงานต่อจากที่เคยทำงานที่ซิป้า

สำหรับพนักงานลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะทำงานต่อที่สำนักงานแห่งใหม่ หรือไม่ผ่านการคัดเลือก ให้ถือว่าเลิกจ้าง และได้รับเงินชดเชย โดยผู้ที่ไม่ต้องการจะทำงานต่อจะต้องแจ้งความประสงค์ภายใน 30 วันหลัง พ.ร.บ.ส่งเสริมดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมผ่าน ทั้งนี้แหล่งข่าวยังกล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ จะนำเสนอ พ.ร.บ.นี้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ภายในเดือนสิงหาคมนี้

พันธมิตรภาครัฐ-เอกชนซิป้าเป็นห่วง

กรณีข่าวดังกล่าว หน่วยงานพันธมิตรของซิป้าทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้แสดงความห่วงใย สอบถามเกี่ยวกับสถานะขององค์กรเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งซิป้าได้แจ้งยืนยันแก่พันธมิตรทุกภาคส่วนให้เชื่อมั่น ซิป้ายังคงดำเนินงานตามภารกิจ โดยเฉพาะโครงการสำคัญ ๆ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เช่น โครงการ Tech Startup และ โครงการ SmartCity

ทางด้านนายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทียืนยันว่า ไม่เคยพูดถึงการยุบซิป้า เพียงแต่พูดถึงการปรับโอนองค์กรสู่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งถือเป็นเรื่องดีของซิป้าด้วยซ้ำ

นอกจากนี้แหล่งข่าวซิป้ายังกล่าวว่า ปัญหาต่าง ๆ ในซิป้าเป็นปัญหาเก่า ซึ่งได้รับการแก้ไขไปได้มากแล้ว ขั้นตอนการแก้ไขต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

ปัจจุบันซิป้าเน้นการทำงานตามภารกิจเป็นหลักเพื่อร่วมส่งเสริมอุตสาหกรรมและขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม ผู้บริหารและพนักงานพร้อมทำงานกับสำนักงานใหม่หากมีการปรับโอนสู่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ที่มา thaitribune




Create Date : 06 สิงหาคม 2559
Last Update : 6 สิงหาคม 2559 7:39:05 น. 0 comments
Counter : 278 Pageviews.

p_chusaengsri
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 52 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add p_chusaengsri's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.