http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2548
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
25 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 
ตะลุยเทศกาลหนัง 3rd World Film Festival of Bangkok (PART 4)

โดย merveillesxx


PART 1
PART 2
PART 3


ข้อความต่อไปนี้ COPY มาจากกระทู้
//www.bioscopemagazine.com/webboard/index-in.php?id=22671



22 OCT 2005

หนังที่ได้ดูวันนี้




1. The Moustache (2005, Emmanuel Carrere, ฝรั่งเศส, A+)

//www.worldfilmbkk.com/films/index.php?cid=04&id=210

-- สิ่งที่ชอบมากที่สุดในหนังเรื่องนี้คือเพลงประกอบฝีมือระดับพระเจ้าของ Philip Glass คอมโพสเซอร์ที่ขอกราบไหว้บูชาทุกสามเวลาหลังอาหาร โดยเพลงของกลาสในหนังเรื่องนี้ยังคงเป็นเพลงประกอบที่มีลักษณะน้อยได้มากเหมือนเคย ตลอดหนังทั้งเรื่องนี้จะมีเสียงไวโอลินคลอเป็นระยะ ซึ่งทำนองของมันก็จะวน LOOP เดิมๆ ซ้ำไปเรื่อยๆ เราจะได้ยินเพลงนี้เต็มๆ ก็แค่ตอน end credit เท่านั้นเอง

-- แม้จะรู้สึกว่าเพลงของ Philip Glass ในเรื่อง The Moustache ไม่ลงตัวมากเท่ากับหนังเรื่องก่อนๆ ที่เคยดู แต่ก็ยังชอบในระดับรุนแรง เพราะมีความรู้สึกว่าเพลงในลักษณะนี้ ถ้าใส่เพลงลงไปโดยจังหวะไม่แม่นยำจริงๆ ตัวเพลงจะ “โดด” ออกมาจากหนังทันที แถมหนังเรื่องนี้ยังชอบใส่เพลงแบบ “เข้ามาทันที” แล้วก็ “หยุดเพลงทันที” ด้วย แต่เพลงประกอบกลับแนบเนียนไปกับหนังอย่างน่าเหลือเชื่อ

-- นอกจากนั้นเพลงประกอบในหนังเรื่องนี้ยังให้อารมณ์ที่หลากหลายมากๆ ทั้ง “หลอกหลอน” “เศร้าโศก” “โดดเดี่ยว” และ “แปลกแยก” ทั้งที่เพลงประกอบส่วนใหญ่ก็มีทำนองในลักษณะเดียวกันหมดเลย

-- ด้วยเหตุที่ว่ามาข้างบนนี้ ตัวเองก็เลยนั่งดู end credit ของหนังจนอยู่เป็นคนสุดท้ายของโรง และรู้สึกดีมากๆ เพราะได้ฟังเพลงบรรเลงที่ไพเราะสุดๆ (ขอน่าสังเกตก็คือ เครดิตตอนต้นเรื่องไม่มีชื่อของ Philip Glass แต่ชื่อของเขาปรากฏเป็นชื่อแรกใน end credit ซึ่งแสดงถึงศักดิ์ศรีอันสูงส่งของคอมโพสเซอร์รายนี้)

-- เพลงประกอบหนังฝีมือของ Philip Glass ที่ชอบมาก เช่น

1. หนังตระกูล “qatsi” โดยเฉพาะ Naqoyqatsi (A+)

2. The Hours (A+)
เพิ่งได้อัลบั้มซาวด์แทร็กของหนังเรื่องนี้มา 2-3 วันก่อน ซื้อจากร้าน Comfort Zone ชั้น 6 Grand EGV มาในราคา 900 บาท ความมหัศจรรย์ของอัลบั้มชุดนี้คือ อัลบั้มนี้มี 14 เพลง แต่ฟังแล้วรู้สึกเหมือนกับกำลังฟังเพลง “เพลงเดียว”

-- ช่วงนี้เพิ่งมีอัลบั้มเพลงประกอบหนังเรื่อง The Battleship Potemkin (A) ที่ตีความโดยวง Pet Shop Boys ออกวางจำหน่าย ว่าแล้วก็อยากให้ Philip Glass ทำเพลงประกอบในหนังเรื่องนี้บ้าง

-- ส่วนตัวหนังเรื่อง The Moustache ก็เป็นหนังที่ชอบมากๆ เพราะเป็นหนังนิ่งๆ เรียบๆ ที่มี “ความลึกลับ” (หรือความเฮี้ยน) สูงมาก (รู้สึกว่าเทศกาลนี้จะเจอหนังแบบนี้บ่อยมาก และเข้าทางตัวเองสุดๆ) โดย The Moustache นี่เฮี้ยนมากแน่นอน เพราะแค่พระเอก “โกนหนวด” ออก ความฉิบหายมากมายก็ตามเข้ามาถล่มทลายให้ชีวิตบรรลัย ไม่รู้ว่าคิดพล็อตกันขึ้นมาได้ยังไง

-- ดูหนังเรื่องนี้แล้วคิดถึงหนังเรื่อง Reconstruction (A+) (ที่ฉายในงาน BKKIFF 2005 เมื่อต้นปี) ที่ว่าด้วย “การลืมอันน่าสะพรึงกลัว” เหมือนกัน ในขณะที่ Reconstruction ว่าด้วยชายหนุ่มคนหนึ่งที่แอบไปกิ๊กกับหญิงอื่น แล้วคนรอบๆ ตัวเขาก็เริ่ม “ลืม” ว่าเขาเป็นใครไปทีละคนสองคน ส่วน The Moustache ว่าด้วยผู้ชายที่โกนหนวดออกเพื่อหวังจะเซอร์ไพรส์คนรอบข้าง แต่กลายเป็นว่าทุกคนกลับไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของพระเอกเลยสักนิด เพราะพวกเขา “ลืม” ไปแล้วว่าพระเอกเคยไว้หนวด

-- ชอบทั้ง Reconstruction กับ The Moustache อย่างสุดๆ แต่ชอบสองเรื่องนี้ไปในคนละแบบกัน เรื่องแรกชอบที่ “สไตล์” และ “อารมณ์” ของหนัง ส่วนเรื่องหลังชอบที่ “พล็อต” “ความลึกลับ” และ “การเล่าเรื่อง”




*****ต่อไปนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อเรื่องเล็กน้อย****

-- หลังจากดูหนังเรื่องนี้ไปแล้วก็พบว่าหนัง Thriller ฝรั่งเศส (The Moustache มีส่วนนี้อยู่ด้วย) นั้นมีบรรยากาศที่น่าสนใจดี เช่น การใช้ “สถานที่จำกัด” อย่าง Red Light (A-) ที่เหตุการณ์เกือบตลอดเรื่องเกิดขึ้นในรถ ส่วน The Moustache ส่วนของ Thriller ก็เกิดขึ้นในบ้าน และทั้งสองเรื่องนี้พูดถึงสิ่งเดียวกันคือ “ความน่ากลัวของมนุษย์” และ “ความมืดของมนุษย์”

-- นอกจากพล็อตที่แปลกประหลาดสุดๆ แล้วเข้าใจว่า The Moustache กำลังพูดเรื่อง “ความล่มสลายของชีวิตแต่งงาน” “ความรักอันจืดจาง” และ “การที่เราลืมไปแล้วว่าเราเคยรักกันอย่างไร” และตอนท้ายๆ ของหนังคงมีเรื่องของ TIME SLIP โผล่เข้ามาด้วย

-- สังเกตว่าหนังเรื่องนี้มีฉากเกี่ยวกับ “น้ำ” เยอะมาก (คาดว่าคงเป็น symbolic อย่างหนึ่ง) เช่น

1. ฉากเปิด : ทะเลดำอันน่าสะพรึงกลัว

2. น้ำจากอ่างล้างหน้า / น้ำจากฝักบัว ที่กล้องจับภาพตอนไหลลงท่อระบายน้ำทั้งคู่

3. เครื่องซักผ้า

4. ฉากฝนตก จนมองไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น

5. เรือข้ามฟาก (ซึ่งที่จริงแล้ว ช่วงนี้ของหนังก็แอบฮานิดๆ)

-- ชอบ “ฉากปิดเรื่อง” และ “ฉากจบ” ของหนังเรื่องนี้มากๆ

** The Moustache จะฉายอีกทีวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม เวลา 18.00 ที่ Grand EGV **




2. Tsunami Digital Short Film 2

//www.worldfilmbkk.com/films/index.php?cid=05&schid=191

-- ดีใจกับทางเทศกาลมากที่มีคนให้ความสนใจชมหนังสั้น tsunami ทั้งสองชุดชนิดคนล้นโรงขนาดนี้

-- รู้สึกว่าหนัง TSUNAMI ชุดสอง จะดูง่ายและสนุกกว่า หนังชุดหนึ่ง (พูดอีกอย่างคือใช้วิทยายุทธและความอดทนในการชมน้อยกว่า) เพราะว่าหนังในชุดหนึ่งนั้นส่วนใหญ่จะออกไปในทางหนังทดลองและเป็นนามธรรม แต่หนังในชุดสองจะมีเนื้อเรื่องให้จับต้องได้มากกว่า (ซึ่งเข้าใจว่าทางเทศกาลตั้งใจแบ่งตามนี้) อย่างไรก็ตามชอบหนังทั้งสองชุดมากในระดับเท่ากัน




2.1 Forget It (2005, สมคิด ธรรมเนียมดี, A-)
ชอบฉากที่นางเอกใส่แว่นตาดำแล้วในกระจกแว่นเธอมีจอภาพฉายเหตุการณ์สึนามิ (เดาเอาว่าฉากนี้เป็นการบอกถึงภาวะ Unforgotten)




2.2 World Priceless Day (2005, เล็ก มานนท์, A-)




2.3 Smiles of the Fifth Night รอยยิ้มในคืนที่ห้า (2005, สนธยา ทรัพย์เย็น, A)




2.4 Lie Beneath (2005, Margaret BONG CHEW JEN, มาเลเชีย, B+)
ชอบความคิดของหนังที่จะเล่นกับคำว่า “Lie” และ “Beneath” แต่ไม่ชอบการ “สื่อ” ออกมาของหนังเลย




2.5 The Helping Hand (2005, Folke Ryden, สวีเดน, B)
หนังเรื่องนี้ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังดูสกู๊ปข่าวของช่อง ITV เวอร์ชันอินเตอร์




2.6 Tits & Bums นมตูด (2005, สันติ แต้พานิช, A+)

-- หนังฮาสุดๆ

-- ตัวละครที่เด็ดสุดๆ คือ “เจ๊กะเทย” ที่โผล่มาแต่เสียง แต่พลังทำลายล้างรุนแรงมาก

-- ประโยคเด็ดของหนังเรื่องนี้คือ “ตกลงน้องจะแหกหรือไม่แหก”

-- ชอบเพลงประกอบ “ฉันรักผัวเขา” มากๆ (ไม่ได้ฟังเพลงนี้นานแล้ว เพราะรู้สึกว่าเพลงจะถูกแบน ไม่สามารถเปิดในรายการวิทยุได้)




2.7 Tune In สุดทางรัก (2005, พิมผกา โตวิระ, A+)

-- หนังทั้งหมดใน tsunami ชุดสอง ชอบเรื่องนี้มากที่สุดครับ

-- ชอบหนังเรื่องนี้ที่ “อารมณ์ของหนัง” และ “การกระทำของตัวละคร” ไม่รู้เหมือนกันว่าหญิงสาวคนนี้กำลังขับรถไปที่ไหน ไปทำอะไร แล้วทำไมเธอถึงต้องไปที่ไกลแสนไกลขนาดนั้น แต่รู้สึกว่ามี “ความรู้สึกร่วม” กับเธอไปตลอดการเดินทางในหนัง และคิดว่า “ตัวละครหญิง” เหมาะสมมากๆ กับเรื่องราวแบบนี้

-- ชอบการตั้งชื่อของเรื่องนี้มากๆ และชอบภาพในหนังที่แสดงถึงอะไรที่เป็น “สุดทาง” ด้วย เช่น

1. ภาพลองช็อตที่จับภาพถนนที่รถเธอวิ่งผ่าน จนในที่สุดเราก็ไม่เห็นรถของเธออีกต่อไปแล้ว

2. นางเอกจูนหาคลื่นวิทยุตั้งแต่ 87.5 ไปจนถึง 107.5 แล้วก็วนกลับมาที่ 87.5 ใหม่อีกที

-- ชอบ “ภาพธรรมชาติ” ของหนังเรื่องนี้สุดๆ ทั้งป่า เขา ทะเลและหาดชาย เพราะรู้สึกว่าการถ่ายภาพในหนังเรื่องนี้ทำให้ “สถานที่” เหล่านั้นดูมี “รองร่อยแห่งความทรงจำ” หลงเหลืออยู่ (โดยเฉพาะภาพชายหาดในฉากจบ) นอกจากนั้นหนังก็ยังมี “เสียงประกอบ” ที่เป็นเสียงลม เสียงคลื่น คลอไปตลอด ทำให้รู้สึกถึง “บรรยากาศ” ของสถานที่นั้นๆ ได้อย่างชัดเจน

-- รู้สึกว่าหนังเรื่อง Trail of Love และ Tune In มีความคล้ายกันมากคือ ตัวละครนำเป็นผู้หญิงที่ “ทำ” บางสิ่งบางอย่างที่เราไม่รู้ชัดเจนว่าคืออะไร และเธอจะต้องไปทำสิ่งนั้นๆ ใน “สถานที่” ในเธอมี “ความทรงจำ” กับมัน (แต่รู้สึกว่าตัวเองจะชอบ Tune In มากกว่า)

-- ชอบตอนที่อยู่ดีๆ ก็มีเสียงผู้ชายสองคนกำลังเล่นกีต้าร์ฮัมเพลงกันอยู่ เสียงนี้โผล่มาแบบไร้ที่มาที่ไปสุดๆ แต่เนื้อเพลงที่ผู้ชายคนนี้กำลังร้องก็สร้างอารมณ์ให้กับตัวหนังได้อย่างรุนแรง แม้เพลงนี้จะปรากฏอยู่ในหนังไม่ถึง 10 วินาทีก็ตาม (ถ้าจะคิดให้จี๊ดๆ หน่อย ผู้ชายคนนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับนางเอก และเป็นสาเหตุให้เธอขับรถมาราธอนขนาดนี้ก็ได้)

-- จริงๆ แล้วจะชอบหนังเรื่องนี้มากกว่านี้เยอะเลย ถ้าตอน end credit ไม่มี “รูปถ่าย” ให้เราดู อย่างไรก็ตามรูปเหล่านี้ก็ไม่ได้ชัดเจนจนลดทอนจินตนาการที่มีต่อหนังแต่อย่างใด จริงๆแล้วมันก็ช่วยเพิ่ม “หนทาง” ในการแต่งเสริมเรื่องราวของหนังเรื่องนี้เหมือนกัน

วิธีการใช้รูปถ่ายในตอนจบแบบนี้ทำให้นึกถึงหนังรัสเซียเรื่อง The Return (2003, A+)





3. And the Fifth Rider is Fear (1964, Zbynek Brynych, สาธารณรัฐเช็ค, A-)

//www.worldfilmbkk.com/films/index.php?cid=04&id=178

-- หนังเช็คเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งใน “หนังเฮี้ยนเซอร์ไพรส์” ของเทศกาลหนัง World Film เช่นกัน เพราะตอนแรกเข้าใจว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังการเมือง หรือหนังดราม่ารันทด แต่ปรากฏว่ามันกลายเป็นหนังที่เหวอสุดๆ

-- เริ่มมีลางสังหรณ์ว่าหนังเรื่องนี้ต้องมีอะไรเหวอๆ แน่ ตั้งแต่ “ฉากเปิด” ของหนังที่ถ่ายภาพบรรยากาศของเมืองตรงนู้นบ้าง ตรงนี้บ้าง แล้วก็มีเสียงประกอบที่ดัง “แต๊งงงงงงงงง” ที่หนวกหูสุดๆ ดังเป็นระยะๆ แล้วก็มีภาพเบอร์โทรศัพท์ 44811 อะไรสักอย่างที่เป็นประมาณ “ฮ็อตไลน์รักษาความปลอดภัย” ที่ไว้แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ขึ้นมาเต็มจอไปหมด แล้วมารู้สึกถึงความประหลาดของมันก็ฉากที่พระเอกยืนอยู่ท่ามกลางเปียโนหลายสิบหลัง แล้วภาพก็ฟรีซไว้ที่ฉากนี้ตั้งแต่เครดิตต้นเรื่องเริ่มมาขึ้นมา จนจบเครดิตแล้ว หนังถึงเริ่มดำเนินต่อไป

ดูฉากเปิดหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึง “ฉากเปิด” ของหนังเรื่อง Persona (A) ที่เป็นฉากเปิดที่ “รวมฮิตฉากเฮี้ยน” ได้เหวอสุดๆ (อย่างไรก็ตามถ้าเทียบความเหวอกันแล้ว Persona รุนแรงกว่า And the Fifth Rider is Fear มาก)

-- ภาพในหนังที่ประหลาดๆ ที่สังเกตคือ หนังเรื่องนี้ชอบใช้ภาพ “วัตถุซ้ำ” เช่น

1. ภาพเปียโนหลายสิบหลังตอนฉากเปิดเรื่อง

2. ผนังห้องของพระเอก (ที่เป็นหมอ) ที่มีกระดาษอะไรไม่รู้แปะเต็มไปหมด แล้วรู้สึกว่าข้อความในแต่ละแผ่นจะเหมือนกันด้วย

3. ห้องของเพื่อนบ้านคนหนึ่งที่ใส่แว่น ห้องของเขาเต็มไปด้วยกองกระดาษมากมาย

4. เบอร์โทรศัพท์ 44811 ที่ถูกย้ำมากๆ ตอน “ฉากเปิด” และ “ฉากจบ” (ถ้าเข้าใจไม่ผิดหนังซ้ำฉากนี้สองรอบเพื่อให้อารมณ์ที่เสียดสี)

-- สังเกตอีกอย่างหนึ่งว่าภาพในหนังเรื่องนี้ไม่ค่อยคำนึงถึงความต่อเนื่องสักเท่าไร จู่ๆ หนังจะตัดข้ามไปเล่าเรื่องราวของตัวละครอีกคนทันทีโดยไม่สนใจว่าฉากก่อนหน้านั้นค้างอยู่ที่เหตุการณ์ตรงไหน

-- And the Fifth Rider is Fear ก็เป็นหนึ่งอีกเรื่องที่ใช้ “เสียงรบกวนโสตประสาท” ในเทศกาลนี้ (เหมือนกับ “4” และ Battle in Heaven) โดยเสียงทั้งหลายที่ก่อความรำคาญให้ผมสุดๆ ในหนังก็คือ

1. เสียงโทรศัพท์รุ่นโบราณ (แล้วตัวละครก็รับโทรศัพท์กันช้าเหลือเกิน)

2. เสียงกดออดหน้าบ้าน (และแน่นอนพวกเขาเปิดประตูกันช้ามาก แล้วอีคนกดมันต้องกดแช่)

3. เสียงเด็กนรกที่ร้องไห้ไม่หยุดหย่อน (**เสียงนี้ทำให้ผมเกือบทนไม่ไหวจนจะเดินออกจากโรง เพราะผมเป็นคนที่ทนไม่ได้เลยกับเสียงเด็กร้องไห้)

4. เสียงคนในอพาร์ตเมนต์ “ตะโกน” คุยกัน ซึ่งน่ารำคาญมากๆ

-- เข้าใจว่าการใช้เสียงน่ารำคาญเหล่านี้เป็น “สไตล์” ที่ผู้กำกับเลือกใช้ แต่สำหรับผมแล้วบางทีมันก็ “ล้น” จนเกินไป (โดยเฉพาะเสียงโทรศัพท์ และเสียงเด็กร้องไห้)

-- ตัวละครในหนังเรื่องนี้เฮี้ยนสุดๆ เพราะนอกจากจะตะโกนด่ากันทั้งเรื่อง ตัวละครทุกตัวอยู่ดีๆ ก็จะ “ของขึ้น” ลุกขึ้นมาอาละวาดเสียเฉยๆ ที่น่าสนใจก็คือ แม้แต่ “หมอ” และ “จิตแพทย์” ในหนังเรื่องนี้ก็ดูจะเป็น “โรคจิต” ไปด้วย ส่วน “เด็ก” ในเรื่องที่ดูปกติสุด ก็ชอบทำตัวลึกลับเหมือนเป็น “เด็กผี”

-- ฉากที่ฮาสุดๆ ก็คือ พระเอกที่เป็นหมอเข้าไปขอมอร์ฟีนใน “โรงพยาบาลบ้า” แต่กลับถูกเข้าใจว่าเป็น “คนบ้า” ที่มารับการรักษา (และฉากโรงพยาบาลนี้เสียงร้องประหลาดๆ ของบรรดาคนไข้ก็หนวกหูสุดๆ)

-- สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ตัวละคร “คนยิว” ที่เป็นชนวนเหตุของความชิบหายทั้งปวงในตอนท้ายของหนังกลับไม่มีบทบาทเลย ผู้ชายคนนี้ทำหน้าเหมือนคนใกล้ตาย และนอนเฉยๆ เกือบทั้งเรื่อง แล้วก็หายตัวไปอย่างลึกลับในที่สุด

-- ฉากที่ตัวละคร “ของขึ้น” มากที่สุด ก็น่าจะเป็นฉากที่ทุกคนในอพาร์ตเมนต์ถูกขังอยู่ในห้องใต้ดิน รู้สึกว่าฉากนี้ของหนังมีลักษณะเหมือนละครเวทีที่มีเนื้อหาว่าถึงการ “ปอกเปลือกมนุษย์” หรือ “การแฉตนตัวที่ชั่วร้ายของมนุษย์”

-- หนังเรื่อง And the Fifth Rider is Fear มีความคล้ายคลึงกับหนังโปแลนด์เรื่อง Symmetry (A) (ฉายใน BKKIFF 2005) มากๆ ที่ว่า “กลุ่มตัวละคร” จะถูกกักขังอยู่ใน “สถานที่ปิด” แห่งหนึ่ง (อพาร์ตเมนต์ / คุก) แล้วด้วย “แรงกดดัน” ในที่สุดตัวละครเหล่านั้นก็จะเปิดเผย “ด้านชั่วร้าย” ของตัวเองออกมา สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าหนังทั้งสองเรื่องนี้ถูกเรียกว่าหนังลักษณะแบบ Kafkaesque เพราะงานเขียนของ Kafka ก็พูดถึงจิตใจดำมืดของมนุษย์โดยวิธีการเปรียบเปรยที่พิสดารพันลึกอยู่เสมอ (ง่ายๆ ก็คือ อ่านไม่รู้เรื่อง)

แต่รู้สึกชอบหนังเรื่อง Symmetry มากกว่าตรงที่ว่าฉากไคลแม็กซ์ของ And the Fifth Rider is Fear ชำแหละสันดานมนุษย์ด้วยการ “ระเบิดอารมณ์” แบบภูเขาไฟระเบิด แต่ใน Symmetry นั้นจะเปิดเผย “ด้านที่คาดไม่ถึง” ของมนุษย์ด้วยการเล่าเรื่องแบบ “คลื่นใต้น้ำ”

-- ในเทศกาล World Film มีหนังเช็คสองเรื่อง (ที่ผมได้ดู) ที่พูดถึง “คนยิว” นั่นคือ The Shop on the Main Street และ And the Fifth Rider is Fear ความน่าสนใจก็คือ หนังทั้งสองเรื่องไม่ได้เล่าเรื่องด้วยภาพสงครามอันโหดร้าย หรือชีวิตสุดรัดทนที่น่าสังเวช แต่หนัง “ฉีก” แนวไปเล่าเรื่องด้วยวิธีอื่น โดย

The Shop on the Main Street (1965) – เป็นหนังดราม่าที่ว่าด้วยชนชั้นล่าง
And the Fifth Rider is Fear (1964) – กลายเป็นหนังหลอนๆ ไปเลย

แต่จุดร่วมของหนังทั้งสองก็คือ จบลงด้วย “โศกนาฏกรรม” และมีอารมณ์แบบ Irony อยู่ในหนัง

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ หนังทั้งสองเรื่องนี้สร้างในเวลาใกล้เคียงกัน





4. Grand Voyage (2004, Ismael Ferrouji, โมร็อคโค, A+)

//www.worldfilmbkk.com/films/index.php?cid=04&id=182

//www.imdb.com/title/tt0361670/

-- ช่วงแรกๆ ที่ดูหนังเรื่องนี้ รู้สึก “ต่อต้าน” หนังอย่างรุนแรง เพราะตัวเองเป็นคนที่เกลียดหนังที่ว่าด้วย “ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกที่มีแนวโน้มจะจบลงด้วยดี” ชนิดเข้าไส้ และตอนต้นของหนังก็ทำให้ตัวเองมีลางสังหรณ์ว่า ถึงพ่อลูกในหนังเรื่องนี้จะตบตีกันขนาดไหนก็ตาม แต่หนังจะต้องจบลงด้วย “ฉากจบ” ที่ตัวเองหวาดผวาและเกลียดกลัวเป็นที่สุด นั่นก็คือ การกลับมา “ลงรอย” กันระหว่างพ่อลูก ดังนั้นครึ่งชั่วโมงแรกจึงต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่างในหนังเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของตัวละคร (ที่คนอื่นขำกันทั้งโรง แต่ตัวเองแทบจะไม่เผยอปากเลย) หรือกระทั่งเพลงประกอบที่รู้สึกว่ามันขัดแย้งกับความรู้สึกมากๆ

-- ดังนั้นหนังที่ว่าด้วย “ความสัมพันธ์” ในครอบครัวที่ถูกโฉลกกับตัวเอง มักจะเป็นความสัมพันธ์อันเลวร้าย ในหนังอย่าง

1. The Return (2003, A+) เป็นหนัง “พ่อ-ลูก” ที่ชอบที่สุดในชีวิต และเป็นหนัง “พ่อ-ลูก” ไม่กี่เรื่องที่ทนดูจนจบได้ (แต่ทั้งนี้ยังไม่เคยดูเรื่อง Father and Son)

2. Look At Me (2004, A) ครอบครัวที่ทุกคนตบตีกันตลอดเวลา

รวมถึงเหตุการณ์เฮี้ยนๆ ในครอบครัว เช่น

3. แม่-ลูก ที่ตบหัวจิกกันใน The Piano Teacher (2001, A+)

4. ตาแก่ที่ ABUSE เด็กสาวคราวลูกใน Audition (A-)
ตาแก่คนนี้มีวิธีการ CHILD ABUSE ที่น่ากลัวสุดขีด ข้อสังเกตก็คือ “นางเอก” ในหนังของ Takashi Miike ต้อง “คู่” กับการถูก ABUSE เสมอ ทั้งแบบ PHYSICAL, EMOTIONAL และ SEXUAL

5. แม่ที่ตบลูกหน้าหัน 180 องศาในเรื่อง Fat Girl (A+)
เมื่อไม่กี่วันก่อนพี่เต้เพิ่งเล่าให้ฟังถึงฉากแม่ตบหน้าลูกอันรุนแรงในหนังเรื่อง Seventh Continent ของมิคาเอล ฮาเนเก้ ซึ่งทำให้อยากดูหนังเรื่องนี้เป็นอันมาก

6. (**ชอบข้อนี้มากที่สุด**) ครอบครัววิปริตใน Visitor Q (A) ได้แก่ ลูกสาวที่เป็นโสเภณีเด็กและมีลูกค้าเป็นพ่อของตัวเอง, แม่บ้านที่เก็บกดเรื่องเซ็กส์จนต้องออกจากบ้านตอนกลางวันไปนอนกับผู้ชายขายตัว, ลูกชายที่ตบตีและเอาแส้ฟาดแม่ โดยมีผู้เป็นพ่อคอยตามถ่ายโฮมวิดีโอเก็บไว้ และคิดจะเอาไปฉายเป็นสารคดีทางทีวี (สุดยอด!)

-- กลับมาที่ Grand Voyage : แต่หลังจากดูหนังไปสักพักแล้ว ก็เริ่มใจชื้นขึ้นมาบ้างที่หนังคอยใส่ “สถานการณ์อันเลวร้าย” มาให้พ่อลูกคู่นี้ทะเลาะกันอยู่เสมอ ทำให้ตัวเองคาดว่าความสัมพันธ์ของสองคนนี้คงยากนักที่จะจบแบบสวย 100%

-- ดังนั้นฉากจบของหนังเรื่องนี้จึงเป็นอะไรที่ถูกใจตัวเองสุดๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ตั้งแต่ฉากไคลแม็กซ์เป็นต้นไป จนถึงหนังจบ กราฟอารมณ์ของตัวเองที่มีต่อหนังเรื่องพุ่งขึ้นสูงในระดับความชันของบันไดเลื่อนรถไฟใต้ดิน ชอบทุกอิริยาบทของพระเอกในตอนท้ายชองหนัง ไม่ว่าจะเป็นการร้องไห้ การเดิน การยกมือโบกเรียกแท็กซี่ และรวมถึงภาพสุดท้ายของหนังเรื่องนี้ด้วย เรียกได้ว่าช่วงท้ายของหนังเป็นช่วง “พลิกสถานการณ์” ทำให้เกรดหนังเรื่องนี้เปลี่ยนจาก D+ เป็น A+

-- มีหนังสองเรื่องในเทศกาลนี้ที่พูดถึง พิธีกรรม Pilgrimage ได้แก่

1. Battle in Heaven – ซึ่งใช้ในทางเสียดสี

2. Grand Voyage – ใช้แสดงพลังอันยิ่งใหญ่, พลังแห่งความศรัทธา และจุดหมายปลายทางของหนังแบบ road movie

-- จริงๆ แล้ว Grand Voyage กับ The Return ก็มีหลายๆ อย่างคล้ายกัน เช่น

1. ว่าด้วยความสัมพันธ์ของพ่อลูกที่ไม่ลงรอยกัน

2. พ่อลูกคู่นี้ต้องเดินทางไปด้วยกันในระยะทางอันยาวไกล (มีลักษณะของ road movie เหมือนกัน)

3. เดินทางด้วยพาหนะเดียวกันคือ รถยนต์

4. มีประเด็นศาสนาเหมือนกัน นั่นคือ

Grand Voyage – พิธีฮัจญ์

The Return – ตอนที่ลูกชายสองคนไปเปิดเจอไบเบิ้ลในห้องใต้หลังคา ถ้าจำไม่ผิดสองคนนี้เปิดไปเจอภาพที่มีคนถูกแทง (ซึ่งเป็นลางร้ายบอกเหตุคล้ายๆ กับภาพศิลปะในหนังเรื่อง Battle in Heaven)

5. มีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นในตอนท้าย

-- ส่วนข้อแตกต่างระหว่าง Grand Voyage กับ The Return ก็คือ “เรื่องราวหลังจากโศกนาฏกรรม” นั่นคือ

Grand Voyage – โศกนาฏกรรมนั้นคือการเรียนรู้ และการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมจะดำเนินชีวิตต่อไป (และอาจจะสร้าง “ความศรัทธา” ในใจพระเอกด้วย)

The Return – โศกนาฏกรรมนั้นคือ “ฝันร้าย” และ “บาป” ที่จะติดตัวไปชั่วนิรันดร์

ด้วยเหตุนี้นี่เอง ผมจึงชอบ The Return มากกว่า


mer's FAVORITE ACTOR
1. Vincent Lindon (The Moustache)
2. Nicolas Cazale (Grand Voyage) เล่นเป็นพระเอก (ลูกชาย) / เกิดปี 1977
//www.imdb.com/name/nm1002627/

mer’s FAVORITE ACTRESS
1. Emmanuelle Devos (The Moustache)
2. นางเอกเรื่อง Tune In (จำชื่อนักแสดงไม่ได้)

mer’s FAVORITE CINEMATOGRAPHER
อุรุพงศ์ รักษาศาสตร์ (Tune In)

mer’s ADORABLE MUSIC COMPOSER
Philip Glass (The Moustache)

ข้อคิดที่ได้จากเทศกาล World Film ครั้งนี้
“การหลับในโรงหนังถือเป็นเรื่องปกติ”




23 OCT 2005

-- ดีใจที่ว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้วที่จะต้องดูหนังติดๆ กัน 4 เรื่อง เพราะเมื่อเช้าส่องกระจกพบว่าตัวเองหน้าโทรมและหนวดเครารุงรังประหนึ่งมหาโจร มิน่าล่ะวันหลังๆ มา พนักงานฉีกตั๋วหน้าโรงถึงชอบจ้องหน้าแปลกๆ (ตอนแรกนึกว่าอยากชวนเราไปโซ้ยข้าวต้มรอบดึกแถวประตูน้ำหลังดูหนังจบเสียอีก…โธ่)

-- ดูหนังมาหลายๆ วันในเทศกาลนี้เพิ่งค้นพบว่าเก้าอี้ของ EGV Metropolis นี่มันนั่งสบายจริงๆ ผิดกับเก้าอี้แข็งโป๊ก ยกแขนไม่ได้ เอนหลังได้ 1 องศาในเครือ APEX เป็นยิ่งนัก แต่เก้าอี้แบบนี้มันก็อันตรายเหลือร้าย เพราะมันทำให้หลับวูบ หลับคาโรงได้ง่ายสุดๆ แถมมันจะทำให้ตัวเองติดไฮโซไปด้วย ว่าแล้วพอจบเทศกาลนี้ต้องรีบไปดูหนังในเครือ APEX เป็นการด่วน เพื่อลดระดับตัวเองกลับสู่สามัญชนอีกครั้ง

-- วันนี้ตอนดู Lark of Strings ที่ Major WTC ก่อนเข้าโรงเห็นพวก staff ยืนถ่ายรูปรวมกันด้วย เห็นแล้วก็ดีใจแทนเหมือนกัน เพราะพวกเขาคงเหนื่อยมาหลายวันแล้ว (อีกทั้งต้องฝ่าฟันกับคนดูหนังมนุษยสัมพันธ์พิฆาตแบบผมด้วย) อันนี้เห็นแล้วรู้สึกดีเพราะ staff ที่ WTC และ Metropolis ทำงานค่อนข้างดี พูดจาน่าฟัง ไม่เหมือนที่ Grand EGV อันนั้นเต่าถุยสุดๆ ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย ไม่รู้พกสมองใส่กบาลก่อนออกจากบ้านมาหรือเปล่า

-- เพิ่งมารู้ทีหลัง เรื่องที่ทางเทศกาล “มัดมือชก” ให้คนที่ดูหนังเรื่อง The Moustache รอบวันอาทิตย์เข้าร่วมพิธีประกาศรางวัลด้วย ฟังเรื่องนี้แล้วรู้สึกแย่มากๆ

---------------------------------------------------

หนังที่ได้ดูวันนี้




1. The Forsaken Land (2005, Vimukthi Jayasundara, ศรีลังกา, A+)

//www.worldfilmbkk.com/films/index.php?cid=01&id=163

-- ดีใจมากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ในรอบแรกของวัน (รอบ 13.00) เพราะถ้าไปดูประมาณเรื่องที่สาม ซึ่งเริ่มล้าๆ แล้ว สงสัยจะหลับแน่นอน เพราะหนังนิ่งมาก (โดยเฉพาะ 15 นาทีแรก ผ่านไปนานมากกว่าจะมีคนพูดกัน แล้วทั้งเรื่องมันก็พูดกันน้อยด้วย) และก็มีฉาก long take ด้วย แต่ตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ไม่หลับเลยแม้แต่ช็อตเดียว

-- สิ่งที่ชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้คือ “ภาพ” แม้จะการถ่ายภาพที่นิ่งมากๆ เคลื่อนกล้องไปอย่างช้าๆ แล้วก็เป็นแค่ภาพภูมิประเทศอันแห้งแล้ง แต่ภาพในหนังเรื่องก็ทรงพลังเอามากๆ ถือได้ว่า The Forsaken Land เป็นหนังเป็นการนำเสนอภาพได้น่าตื่นตะลึงมากอีกเรื่องหนึ่งในปีนี้

-- สิ่งที่ชอบอีกอย่างในส่วนของภาพก็คือ ช่วงที่เป็นฉากตอนกลางคืน ภาพมืดๆ ในส่วนนี้ไม่ได้ให้อารมณ์แบบลึกลับ น่ากลัว หรือไม่น่าไว้วางใจ แต่ให้อารมณ์แบบโดดเดี่ยว ท้อแท้ และสิ้นหวัง (โดยเฉพาะฉากเปิดเรื่องที่พระเอกถือปืนเดินไปเดินมา)

-- ผู้กำกับบอกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ถ่ายในสถานที่จริง (แหงสิ ก็คุณพี่เล่นทำหนังแบบนี้ ใครเขาจะให้ถ่ายล่ะ) แต่ไปถ่ายที่ไหนผมฟังไม่ทัน

-- “เสียงบรรยากาศ” ในหนังเรื่องนี้ก็น่าสนใจมากๆ เพราะหนังแทบไม่มีเพลงประกอบเลย มีเพียงเสียงลม เสียงฝน เสียงนกร้อง แต่การใช้เสียงที่น่าสนใจที่สุดอยู่ต้นๆ เรื่องที่มีเสียง “รถถัง” และ “เฮลิคอปเตอร์” ดังอยู่ไกลๆ ตลอดเวลา แค่ฉากเปิดนี้ก็ทำให้เรารู้แล้วว่า “ดินแดน” แห่งนี้มีสภาพเป็นอย่างไร

-- ถ้าจำไม่พลาดหนังเรื่องนี้มีการใช้ ดนตรีประกอบ (ซึ่งน่าจะเป็นเสียงกลองพื้นเมือง) เพียงแค่สองครั้งคือ ช่วงฉากเปิดเรื่อง และฉากที่พระเอกถอดเสื้อผ้าลงไปแช่น้ำ ซึ่งอันหลังนี้เป็นฉากที่ผมชอบมากๆ

-- ฉากที่ชอบในหนังเรื่องนี้รวมถึง

1. ฉากตอนต้น ที่ไปถ่ายผู้คนที่นอนหลับอยู่ ดูก็รู้เลยว่าคนพวกนี้ไม่ค่อยจะมีความสุขนัก

2. ฉากต้นๆ ที่มีคนเอามือลูบใกล้ๆ หลอดไฟ แล้วไฟก็ติดขึ้นมา

3. ฉากพระเอกถอดเสื้อผ้าลงไปแช่น้ำ (อย่าเข้าใจผิด ไม่ได้เกี่ยวกับหุ่นพระเอก แต่ฉากนี้มันเศร้าๆ ยังไงไม่รู้)

4. ฉากฝนตก ชอบการบันทึกเสียงในฉากนี้มากๆ

5. ฉากที่ผู้หญิงเหม่อมองรถถังที่เคลื่อนตระเวนไปมา

-- ชอบนิทานเรื่อง Little Bird ในหนังมากๆ ถ้าฟังไม่ผิดผู้กำกับบอกว่านิทานเรื่องบอกถึงสถานภาพและบทบาททางสังคมของ “ผู้หญิง”

-- เข้าใจว่านักแสดงในหนังคงไม่ใช่นักแสดงอาชีพ แต่พวกเขาก็เล่นกันได้ดีมากๆ

-- The Forsaken Land เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่ถ่ายทอดความโหดร้ายของสงครามโดยไม่ต้องมีภาพอันรุงแรง โดยเฉพาะการถ่ายทอดบรรยากาศ และกิจวัตรประจำวันของคนในสถานที่นี้แห่ง ด้วยระยะเพียง 108 นาที ก็ทำให้ให้เรารู้แล้วว่า “ดินแดนที่ถูกทอดทิ้ง” แห่งนี้เป็นอย่างไร

-- เทศกาลนี้แม้แต่ตอน Q&A ก็เกิดเรื่องเฮี้ยนๆ ขึ้นได้ เพราะพอเริ่มเปิดประเด็น คนดู (ที่เป็นคนแขก) ก็ของขึ้นถามอะไรสักอย่างที่จุดชนวนให้คุณพี่ Vimukthi ไม่สบอารมณ์ ฟังไม่ค่อยออกว่าเขาถามอะไร (ภาษาอังกฤษสำเนียงแขกนี่นา ฟังไม่ออก) แต่เข้าใจว่ากำลังถกเรื่องภาพอันไม่เหมาะสมในหนังเรื่องนี้ พี่ Vimukthi (ซึ่งสำเนียงฟังง่าย เพราะแกเป็นนักเรียนหนังอินเตอร์) ก็ดันตอบแบบตอกแรงๆ กลับเข้าไปอีก บรรยากาศในโรงก็เลยยิ่งมาคุเข้าไปใหญ่ ส่วน staff ก็ไม่สามารถ control งานได้เลย เพราะพี่ Vimukthi แกยึดตำแหน่ง MC ไปเองเลย (ฮา) อีกอย่างคือ staff มันก็ดันเซ่อซ่าไปวิ่งวุ่นกับการบอกให้คนฉายหนังช่วยเปิดไฟในโรงให้ แล้วก็หาไมโครโฟน ซึ่งผ่านไปเกือบ 10 นาทีแล้ว ไมค์เพิ่งมา พอ staff เดินเอาไมค์ไปยื่นให้ พี่ Vimukthi เขาก็หันกลับมาทำหน้าเซ็งๆ ประมาณว่า “ไม่ต้องแล้วโว้ย!”

-- เท่าที่จับประเด็นได้ ประโยคหนึ่งที่พี่ Vimukthi พูดย้ำๆ ก็คือ “I’m a film-maker not politician” (แหม ประโยคนี้เชยไปหน่อยนะคะพี่ คนอื่นเขาเคยพูดกันไว้แล้ว) แถมตอนท้ายแกก็ยังแสบทิ้งท้ายไว้ว่า “การ Q&A ในวันนี้เป็นสิ่งที่มา ‘ผิดทาง’ ตั้งแต่แรก เพราะผมมายืนตรงนี้ให้คุณถามเรื่องหนังของผม ไม่ใช่เรื่องการเมือง” โอ๊ย! ตายแล้ว กลัวเหลือเกินว่าพี่แกจะโดนใครดักแทงเอาหน้าสยามเนี่ย

-- อีกประโยคหนึ่งที่จำได้คือ “I’m against the war but not the army” เนื่องจากมีผู้ชมคนหนึ่งพูดประมาณว่าพฤติกรรมของทหารในเรื่องนี้เป็น bad habit ผู้กำกับก็เลยสวนกลับว่า “คำว่า BAD ของคุณคืออะไร อธิบายหน่อย ผมคือคนทำหนังนะ แล้วนี่ก็คือสิ่งที่ผมนำเสนอในหนังของผม ก็บอกแล้วไงผมไม่ใช่นักการเมือง ผมไม่ได้จะตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูก ผมไม่เข้าใจพวกคุณเลย” (กรี๊ด! แรงได้ใจ)

-- มีตรงนึง Vimukthi บอกว่าเขาเรียนจบ film school จากประเทศฝรั่งเศส ส่วนผู้กำกับที่เขาชื่นชอบก็คือ ทรุฟโฟต์ และโกดาร์ (แต่ดูจากท่าทางแล้วคุณพี่คงเอียงไปทางลุงโกดาร์มากกว่านะ แหะแหะ)

-- เป็นแน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ถูกแบนในประเทศศรีลังกา แต่มาทราบในวันปิดงานว่าสถานฑูตศรีลังกาในบ้านเราพยายามจะระงับการฉายหนังเรื่องนี้เทศกาล World Film ด้วย





2. New Life (2005, Brice Pedroletti, ญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส, B+)

//www.worldfilmbkk.com/films/index.php?cid=06&id=124

-- การที่ตัดสินใจมาดูหนังเรื่องนี้ทำให้ต้องพลาดเรื่อง Ticket of no Return ของเจ๊ Ulrike Ottinger ไป ซึ่งจะไปว่าแล้วก็เสียดายมากๆ แต่ที่ตัดสินใจไปดู New Life ก็เพราะหนังญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลกับชีวิตการดูหนังของตัวเองมาก แล้วผู้กำกับในสารคดีเรื่องนี้ก็ล้วนเป็นผู้กำกับที่ตัวเองชื่นชอบทั้งสิ้น (ได้แก่ Kiyoshi Kurosawa, Shinji Aoyama, Ryosuke Hashiguchi, Naomi Kawase และไอ้บ้า Takashi Miike)

-- จริงๆ แล้วก่อนดูก็ทำใจผิดหวังกับหนังเรื่องนี้ไว้เลย เพราะรู้สึกว่าสารคดีในเทศกาลนี้ไม่ค่อยเข้าทางตัวเองเท่าไร (คือ น่าเบื่อ ดูแล้วหวิดหลับทุกที) แถม New Life เป็นหนังที่ยาวเพียง 52 นาที แต่พูดถึงผู้กำกับ New Wave ของญี่ปุ่นถึง 5 คน เพราะฉะนั้นหนังก็จะพูดถึงผู้กำกับคนหนึ่งในเวลาประมาณ 10 นาที …แล้วมันจะไปได้อะไร!

-- แล้วก็เป็นไปตามคาด เนื้อหาใน New Life ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจมากนัก ส่วนใหญ่ก็เป็นสิ่งที่เราๆ อยู่กันอยู่แล้ว จะว่าไปแล้วข้อมูลใน BIOSCOPE หรือ PULP ยังปึ้กกว่าอีก (ฮา) แต่ก็ต้องเข้าใจว่าหนังเรื่องนี้เหมือนจะแจ้งให้โลกรู้ว่ามีผู้กำกับเหล่านี้อยู่ในดินแดนแผ่นฟิล์มมากกว่า

-- ส่วนต่อจากนี้ไปผมขอสรุปเนื้อหาที่น่าสนใจ ที่ได้จากหนังเรื่องนี้นะครับ เพราะคาดว่าหลายคนอาจจะไม่ได้ดู (ในวงเล็บคือชื่อหนังของผู้กำกับคนนั้นๆ ที่ตัดมาให้ดูในสารคดี)

1. Kiyoshi Kurosawa (Kairo ฉากคลาสสิก ผู้หญิงโดดแท็งค์น้ำ, Bright Future)

อันนี้ไม่มีอะไร หนังก็เล่าถึงประเด็นในหนังของคิโยชิ คุโรซาว่า ที่ชอบพูดถึงความล่มสลายของความสัมพันธ์ของคนในยุคสมัยใหม่ แต่ที่น่าสนใจคือมี Tadanobu Asano โผล่มาในตอนนี้ด้วย


2. Shinji Aoyama (Eureka ฉากจี้รถ)

อันนี้ฮามาก เพราะหนังสร้างสถานการณ์ให้อาโอยาม่าไปคุยเรื่องหนังของตัวเองกับคนขับรถแท็กซี่ (??????) ซึ่งดูยังไงก็เฟคสุดๆ แถมคนขับก็พูดอย่างเดียวคือ “ไฮ้ ไฮ้ ไฮ้” ส่วนอีตาอาโอยาม่าก็พล่ามถึงหนังตัวเองไปเรื่อย

เรื่องน่าสนใจ:

2.1 ในญี่ปุ่นมีเหตุการณ์จี้รถบัสที่เป็นข่าวครึกโครมในหนังจังหวัดคิวชู แต่หนังเรื่อง Eureka ถ่ายทำก่อนที่เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเสียอีก

ถ้าจำกันได้ ในหนังเรื่อง All About Lily Chou-Chou (2001, ชุนจิ อิวาอิ, A+) ก็จะมีข่าวจี้รถบัสปรากฏในโทรทัศน์ด้วย เดาว่าอิวาอิคงจะแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์นี้ด้วย

2.2 Masaki Tamura ตากล้องคู่บุญของอาโอยาม่า (ซึ่งมีอายุพอสมควร และแก่กว่าอาโอยาม่า) บอกว่าเขาชอบทำงานกับผู้กำกับรุ่นใหม่มากกว่าผู้กำกับรุ่นเก๋าๆ เพราะว่าพวกรุ่นเก๋าจะอีโก้จัด ฮามากที่เขาบอกว่า “เวลาไปทำงานกับพวก ผกก.รุ่นเก๋า ผมจะรู้สึกว่าตัวเล็กลงทุกทีๆ”


3. Ryosuke Hashiguchi (Hush)

(เขาคือคนกำกับหนังเกย์เรื่อง Like a Grain of Sand และ Hush!)

เรื่องน่าสนใจ:

3.1 Hashiguchi ไม่ได้พูดกับพ่อมาเกือบ 20 ปีแล้ว

3.2 สาเหตุใหญ่ก็คือ ตอนที่เข้ามหาลัยพ่อของเขาพูดว่า “แกรู้มั้ยว่าชั้นทำงานลำบากแค่ไหน กว่าจะหาเงินให้ส่งแกเข้ามหาลัยได้ เพราะฉะนั้นหลังจากเรียนจบแล้ว แกจะต้องตอบพระคุณแทนพ่อแม่ด้วย เข้าใจมั้ย” Hashiguchi บอกว่าเขา SHOCK มากที่พ่อพูดแบบนั้น แล้วประโยคนั้นเองที่ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล

3.3 ด้วยเหตุนี้เอง ตัวละครหลักทั้งสามตัวในหนังเรื่อง Hush ของเขาจึงมีประเด็นเรื่อง “พ่อ” หมดทุกคน

**หนังเรื่อง Hush จะเข้าฉายที่โรงหนัง House RCA เร็วๆนี้**


4. Naomi Kawase (Kya ka ra ba a , Shara)

ในส่วนของนาโอมิ คาวาเสะ หนังจะไปถ่ายทำที่บ้านที่เธอใช้ชีวิตอยู่กับคุณย่าที่เลี้ยงเธอมาตั้งแต่เล็ก

เรื่องน่าสนใจ:

4.1 คนที่เลี้ยงคาวาเสะมาตั้งแต่เล็กคือ คุณย่า รู้สึกว่าเธอคงไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มาตั้งแต่นั้น

หนังเรื่อง Kya ka ra ba a (Sky, Wind, Fire, Water, Earth) (2001) คือสารคดีที่เธอพยายามจะทำความรู้จักกับพ่อของตัวเอง

4.2 คาวาเสะพูดถึงหนังที่เธอบันทึกภาพชีวิตของคุณย่าว่า “คนอื่นอาจจะมองว่ามันไร้สาระและไร้ค่า แต่ฉันคิดว่ามันสวยงาม และควรจะบันทึกไว้ ฉันชอบที่จะบันทึกสิ่งดีๆ ที่อยู่ใกล้ตัวฉัน”

4.3 เธอมีโครงการจะทำหนังสารคดีที่บันทึกภาพตอนเธอให้กำเนิดลูก (????) ด้วยเหตุนี้เธอก็เลยไม่ยอมนอนโรงพยาบาล แต่เธอจะคลอดลูกที่บ้าน (โอ๊ย ตายแล้ว) ไม่รู้ว่าตกลงว่าหนังเรื่องนี้ทำเสร็จไปแล้วหรือยัง


5. Takashi Miike (Gozu, Zebraman)

อันนี้ก็ฮาอีกแล้ว เพราะหนังในตอนนี้เป็นมิอิเกะกำลังนั่งคุยกับผู้ชายที่ไหนไม่รู้ แต่เหมือนสมาชิกแก๊งค์ยากูซ่ามากๆ แต่ผู้ชายหน้าเหี้ยมคนนี้อยู่ดีๆ ก็พูดขึ้นมาว่า “อั๊วะไม่มีเพื่อนที่เป็นยากูซ่าเลยนะ แต่แถวบ้านอั๊วะมีออฟฟิศยากูซ่าเต็มเลย” …อ้าว แล้วแกเป็นใครวะ!?

เรื่องน่าสนใจของตอนนี้ก็คือ มิอิเกะให้สัมภาษณ์ว่า Gozu คือหนังที่ถือเป็น “จุดตัด” ในชีวิตการทำงานของเขา เพราะหลังจากเรื่องนี้งานของเขาก็จะประนีประนอมมากขึ้น (แน่ใจเหรอ?) สาเหตุหลักก็คือ เหตุการณ์ 9/11 นั่นเอง (ไม่อยากจะเชื่อแม้แต่คนอย่างมิอิเกะก็รู้จักสะเทือนใจกับเขาเป็นด้วย) นอกจากนั้นเขายังบอกด้วยว่าในช่วงหลังมานี้เขาทำหนังด้วยความเชื่อที่ว่า “ทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น” (ฟังยังไงประโยคนี้ก็ไม่เข้ากับคุณพี่เลย!)

อย่างไรก็ตาม ก็มีหลักฐานที่ระบุให้เห็นชัดเหมือนกันว่า ไอ้ที่มิอิเกะพูดๆ มานี้มันไม่ได้โม้ เช่น หนังเรื่อง Zebraman (2004) ที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกในเชิงบวก หรือแม้แต่หนังผีมือถืออย่าง One Missed Call (2003, A-) ก็มีตอนจบในทางบวกเช่นกัน

แต่ที่ฮาสุดๆ คือ ในตอนของมิอิเกะมีการฉายหนังเรื่อง Gozu ประกอบ (ผมยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้) ซึ่งฉากที่คัดมาก็สุดยอดมาก (แต่ผู้หญิงข้างๆ ผมอึ้งแดกไปเลย) สองฉากที่คัดมาถือเป็นฉากคลาสสิกของมิอิเกะ นั่นคือ


*มี SPOILER หนังเรื่อง Gozu และเรื่องอื่นๆ ของมิอิเกะ*

5.1 ฉากที่ลูกน้องยากูซ่าระแวงว่า หมาที่ยืนอยู่หน้าออฟฟิศจะเป็นหมาที่ถูกส่งมา “เก็บ” หัวหน้า (??) แต่หมาที่ว่าเป็นหมาพุดเดิ้ล (!) ว่าแล้วลูกน้องผู้หวังดีก็เลยเดินไปหน้าออฟฟิศแล้วก็คว้าหมาตัวนั้นจากสองสาวน่ารักผู้เป็นเจ้าของหมา จับเขวี้ยงอัดลงพื้น 3 ที ซ้ำด้วยการเหวี่ยงสายจูงไปอัดกับกระจกออฟฟิศอีกหนึ่งที …ตายสยอง

5.2 ฉากผู้หญิงคลอดลูก แต่สิ่งที่คลอดออกมาเป็น “หัวยากูซ่า” (กรี๊ด กรี๊ด กรี๊ด) มิอิเกะให้สัมภาษณ์ว่าฉากนี้หมายถึง “การเกิดใหม่”

ฉากคลาสสิกในหนังของ มิอิเกะรวมถึง (ขอคัดเอาอันเด็ดๆ เพราะเยอะมาก)

5.3 “ที่รักขา…ขอเลื่อย ‘ขา’ หน่อย” (Audition)

5.4 “น้ำนมชโลมโลก” (Visitor Q)

5.5 “ลิ้นนี้เพื่อศักด์ศรียากูซ่า” (Ichi The Killer)





3. Werner at Work (2005, Beat Prssser, สวิตเซอร์แลนด์, B)

//www.worldfilmbkk.com/films/index.php?cid=06&id=189

-- ในขณะที่ New Life เป็นสารคดีที่เรื่อยๆ เฉยๆ แต่ผมก็ยังพอสนุกไปกับมันได้บ้างเพราะค่อนข้างรู้จักกับผู้กำกับทั้งห้าคนพอสมควร แต่พอมาเรื่องนี้รู้สึกเบื่อๆ เพราะตัวเองไม่ค่อยมีความผูกพันอะไรกับ แวร์เนอร์ แฮร์โซ้ก สักเท่าไร จะรู้มาบ้างก็เรื่อง “ลูกบ้า” ของผู้กำกับคนนี้

-- อีกทั้งเรื่องราวที่นำเสนอในสารคดีก็ไม่ค่อยน่าสนใจนัก ส่วนใหญ่จะเล่าถึงการทำงานของแฮร์โซ้กในหนังบางเรื่อง (เช่น เรื่องอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับคนป่า, His Friend, Hope of Wing และ Invincible)

-- แต่ที่ฮาสุดๆ ก็คือ ตอนที่ถ่ายหนังเรื่อง Invincible แล้วมีฉากเกี่ยวกับสะกดจิตในเรื่อง แฮร์โซ้กก็เลยลองสะกดจิตนักแสดงดู! ที่เฮี้ยนสุดๆ ก็คือ มันได้ผลด้วย! (เขาสะกดจิตให้นักแสดงหลับ พอหลังจบ end credit ก็จะมีฉากที่นักแสดงคนนี้ตื่นขึ้นมา สงสัยคงกลัวเราคิดไปว่าอิทธิฤทธิ์แฮร์โซ้กจะแรงจัดจนทำให้นักแสดงคนนั้นหลับไปตลอดกาล)

-- โดยสรุปแล้วทั้ง New Life และ Werner at Work เป็นสารคดีที่ค่อนข้างน่าเบื่อ ถ้าไม่ชอบตัวผู้กำกับจริงๆ ก็คงยากที่จะสนุกไปกับมัน และจริงๆ แล้วก็มีความรู้สึกว่าสารคดีที่นำมาฉายในเทศกาล World Film ครั้งนี้ไม่ค่อยดีเท่าไร ยังไงก็ขอฝากให้ทางผู้พิจารณาการคัดเลือกหนังสารคดีในงานปีหน้าด้วยนะครับ





4. Girlie (2002, Benjamin Tucek, สาธารณรัฐเช็ค, A-)

//www.worldfilmbkk.com/films/index.php?cid=04&id=181

-- ตอนแรกคิดว่าหนังเรื่องจะออกมาคล้ายๆ หนังเรื่อง Somersault (2004, เคท ช็อตแลนด์, A+) เพราะ พล็อตเรื่องคล้ายกันมากคือ “นางเอกแร่ดๆ มั่วผู้ชายไปวันๆ ที่อยู่กับแม่สองคน ส่วนพ่อหายไปไหนไม่รู้” ซึ่งก็ทำให้รู้สึกไม่ค่อยอยากดูหนังเรื่องนี้เท่าไร เพราะช่วงนี้รู้สึกเบื่อหนังดราม่าครอบครัวหนักๆ

-- แต่ก็รู้สึกดีว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดไว้ เพราะ นางเอกเธอไม่ได้แร่ดแบบเด็กมีปัญหาทางบ้าน แต่แร่ดแบบเพ้อฝันเอามากๆ เธอใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่คิดอะไรมาก แต่บางทีหนังก็นำเสนอแง่มุม “เหงา อ้างว้าง หว้าเหว่ สับสน” ของเธอเหมือนกัน แต่หนังก็ไม่ได้เน้นย้ำอารมณ์ในจุดนี้มาก (ซึ่งผมชอบ)

-- จุดที่ชอบสุดๆ คือ ตัวละครแม่ของนางเอกก็ไม่ได้ด่าทอเรื่องที่เธอมั่วผู้ชาย แต่คุณแม่ก็บ้าผู้ชายไปกับลูกสาวด้วยกันซะเลย ว่าแล้วคุณแม่ก็แต่งตัวสุดเฉี่ยว ออกไปตะลุยราตรีล่าผู้ชายนอกบ้าน

-- สิ่งที่หนังเรื่องนี้เหมือนกับ Somersault เหมือนกันคือ แม่ลูกคู่นี้ใช้ผู้ชายร่วมกัน

-- Dorota Nvotova นางเอกหนังเรื่องนี้หน้าตาเหมือน เจนนิเฟอร์ เลิฟ ฮิววิตต์ + เอวิล ลาวีน + แคลร์ เดนส์

-- เพลงประกอบหนังเรื่องนี้เพราะดี มีเพลงเท่ๆ หลายเพลง แต่หนังพยายาม “โชว์เพลง” มากไปหน่อย จนทำให้อารมณ์ของหนังสะดุด และจริงๆ แล้ว “จังหวะที่ไม่ลงตัว” ของหนัง ก็เป็นจุดบอดข้อใหญ่ของหนังเรื่องนี้ คิดว่าถ้าผู้กำกับฝีมือแม่นๆ กว่านี้คงชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+

-- ชอบตอนจบของหนังเรื่องนี้มากๆ ซึ่งเป็นตอนจบที่คล้ายกับหนังเรื่อง Grand Voyage (A+) นั่นคือ “การโฟกัสไปที่ตัวละครเอกหลังจากที่เขาเพิ่งสูญเสียคนสำคัญไป โดยใช้เพียงแต่ภาพ และไม่ต้องมีคำพูดใดใดทั้งสิ้น” เพิ่งค้นพ้บว่าตัวเองชอบฉากจบแบบนี้มาก เพียงแต่ว่าอารมณ์ของตอนจบแบบนี้ในหนังเรื่อง Girlie ค่อนข้างหลุดโทนไปหน่อย เพราะก่อนหน้านั้นหนังนำเสนอตัวเองในแบบสนุกสนานมาตลอด





5. Larks on a String (1968, Jiri Menzel, สาธารณรัฐเช็ค, B)

//www.worldfilmbkk.com/films/index.php?cid=04&id=153

-- ในเทศกาลนี้ได้ดูหนัง Czech New Wave ในช่วงยุค 60’s ทั้งหมดสามเรื่อง แล้วก็รู้สึกว่าชอบหนังเรื่องนี้น้อยที่สุด

-- สาเหตุก็คือ หนังเรื่องเป็นหนังที่มองโลกในแง่ดี ซึ่งไม่เข้าทางกับตัวเองอย่างรุนแรง เพราะอารมณ์ในหนังบางทีก็น่ารัก กุ๊กกิ๊ก หวานเลี่ยน จนตัวเองรู้สึกขำๆ และบางทีมันก็ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไร

-- ส่วนหนังอีกสองเรื่องที่ได้ดูก็คือ The Shop on the Main Street (A) (ชอบ 30 นาทีสุดท้ายของหนังมากๆ ประสาทกินสุดๆ) และ And the Fifth Rider is Fear (A-) (ซึ่งชอบบรรยากาศเฮี้ยนๆ ของหนังมาก แต่รำคาญใช้การ “เสียง” ของหนังเรื่องนี้จนแทบทนไม่ไหว)

-- อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า Larks on a String มีการเสียดสีเกี่ยวกับสภาพสังคมและการเมืองอยู่พอสมควร แต่จำอะไรไม่ค่อยได้นัก เพราะเรื่องนี้หลับไปหลายวูบเหมือนกัน ที่สังเกตได้ชัดๆ ก็คือ

1. “ป้ายคำโฆษณา” ที่โผล่มาบ่อยมากๆ

2. ฉากที่ผู้คนถูกเกณฑ์ออกไปต้อนรับท่านผู้นำ

3. พระเอก-นางเอกที่ต้องแต่งงานกัน “คนละสถานที่” เพราะพวกเขาอยู่ในค่ายกักกัน

4. ฉากที่คล้ายๆ คุณครูพานักเรียนมาทัศนศึกษา แล้วก็พูดด่าๆ พวกพระเอกปาวๆๆ

-- ตัวละครที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้คือ “ผู้คุม” เพราะดูเหมือนหนังพยายามนำเสนอว่าเขาก็ไม่ได้พอใจกับงานที่ทำอยู่สักเท่าไร และเขาก็ไม่ได้จงเกลียดจงชังพวกพระเอก-นางเอกนัก

----------------------------------------------------------

mer's ADORABLE ACTOR / ACTRESS
นักแสดงทุกคนในหนังเรื่อง The Forsaken Land

mer’s ADORABLE CINEMATOGRAPHER
Channa Deshapriya (The Forsaken Land)

mer's ADORABLE DIRECTOR
Vimukthi Jayasundara




อ่านต่อ PART 5



Create Date : 25 ตุลาคม 2548
Last Update : 26 ตุลาคม 2548 3:56:53 น. 5 comments
Counter : 3231 Pageviews.

 
ตอบ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ จาก PART 3

-------------------------------

ตอบ พี่ grappa

-- ขอบคุณมากครับที่เอาผลรางวัลมาบอก แบบว่าเทศกาลนี้มันเต่าถุยจนถึงหยดสุดท้ายเลย นี่ผ่านมา 2 วันแล้ว มันยังไม่อัพเดทผลรางวัลในเวบไซต์เลย (จริงๆ แล้วเวบมันไม่เคยมีความเคลื่อนไหวอะไรเลย นี่ห่วยกว่าตอน BKKIFF เมื่อต้นปีอีก เพราะอันนั้นถ้ายังมันไม่มีซับหรือเปลี่ยนรอบมันยังมีการอัพเดทเตือนไว้ แถมยังมีคนมาตอบให้ที่บอร์ด bioscope เลย)

สรุปแล้วเทศกาลนี้ คนที่ดูแลระบบ management นี่เอาไปเผาผี กลับบ้านเก่า ส่งไปเมืองเฮี้ยนในหนังเรื่อง "4" ได้เลย

-- ได้ยินมาเหมือนกันว่าตอนฉาย The Moustache รอบวันอาทิตย์ มีอะไรแย่ๆ เกิดขึ้นด้วย แต่ผมยังไม่ได้คุยกับคนอื่นเลย ก็เลยงงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ????

-- ตอนแรกสังหรณ์ใจไว้อย่างรุนแรงว่า วันนี้ที่ฉาย The Wayward Cloud มันต้องมีอะไรวุ่นวายแน่นอน (เพราะมันเป็น closing film ที่คนดูมากมาย) แต่ผิดคาด ไม่มีอะไรน่าหงุดหงิดใจเกิดขึ้นมากนัก แล้วหนังก็ฉายไม่เลทมากด้วย จะน่าหงุดหงิดหน่อยก็คนที่ถ้าสวนสนามเข้าออกโรงเป็นว่าเล่น

-- จากเทศกาลนี้ทำให้ค้นพบว่า ไม่ว่าจะคนไทย ฝรั่ง แขก ก็ล้วนมีคนประเภทไร้อารยธรรมในการชมภาพยนต์ทั้งสิ้น เฮ้อ...

-- วันนี้ก่อนเข้าโรงเจอ พี่ไฉ้ ในระยะใกล้ชิดมาก แต่แอบฮาเพราะแกใส่แว่นดำมาด้วย อยากจะเข้าไปขอลายเซ็นเหมือนกัน แต่คนรุมล้อมแกเยอะสมควร เลยเข้าไม่ถึง

-- แต่ที่ประทับใจสุดๆ ก็คือ หลี่คังเซิง มางานนี้ด้วย

------------------------------------

ตอบพี่ I will see U in the next life.

-- อ่า คนนั้นคงไม่ใช่ผมหรอกครับ เพราะผมไม่ได้ดู Ticket of no Return แต่ไปดู New Life ง่ะ แต่คาดว่านั่นจะเป็นเพื่อนผมอ่ะ

-- จริงๆ แล้วมันมีกฎขำๆ ที่เคยคิดไว้กับเพื่อนๆ ที่ชอบดูหนังเทศกาลว่า "ห้ามแต่งตัวในลักษณะต่อไปนี้" เพราะมันจะดูเหมือนประกาศตัวว่า "กูอินดี้โว้ย"

1. ห้ามใส่เสื้อ FaT Radio, Bioscope, สัตว์ประหลาด, เสื้อเทศกาลหนังทั้งหลาย

2. ห้ามห้อยกระเป๋าพี่แว่น

3. ห้ามใช้กระเป๋า BIO (ไอ้อันเขียวๆ)

-- อิจฉาพี่จังที่ได้ดู Ticket of no Return เพราะว่าผมอดดูเรื่องนี้เรื่องเดียวของ Ulrike Ottinger เลยครับ

-- ใช่เลย ตอนเรียนกับ อ.แดง อาจาย์ชอบเปิดหนังที่ไม่มีซับให้ดู ที่แสบมากๆ คือ ตอนเปิด Anna Magdalena (ทาเคชิ คาเนชิโร่ + เฉินฮุ่ยหลิน) ที่มีซับแต่ตัวเล็กมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก พอนักเรียนไปโวยวาย อาจารย์ก็ทำหน้าเฉยๆ แล้วยักไหล่บอกว่า "ก็ตั้งใจให้ดูแบบไม่มีซับนั่นแหละ" (แป่วววววววววว)

อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้อึ้งมากๆ เพราะตอนเราดู เราก็ดูแต่หน้าหล่อๆ ของพี่ทาเคชิ (พระเอกในดวงใจประมาณอันดับ 3-4) แต่ อ.แดง มาวิเคราะห์เรื่องการใช้ เพลงประกอบ ในเรื่องนี้ให้ฟังเป็นฉากๆ (จดได้ประมาณ 4 หน้า) ตายไปเลย วันนั้น ตายไปเลย อยากกราบเท้าคนสอน (ฮา)

-- ชอบ The Wayward Cloud มากเหมือนกันครับ โดยเฉพาะการแสดงของนางเอก นี่คือการแสดงที่สุดยอดที่สุดในชีวิตเธอเลยล่ะ

--------------------------------------

ตอบ คุณผมอยู่ข้างหลังคุณ

-- เพิ่งดู Flightplan วันนี้ครับ ชอบพอๆ กับ Red Eye ครับ รู้สึกว่าหนังสองเรื่องนี้ดีกันไปคนละอย่าง

ชอบเนื้อเรื่องของ Red Eye มากกว่า ดูสมจริงและน่าเชื่อถือกว่า ส่วน Flightplan มันดู "คิดการใหญ่" ไปหน่อย

รู้สึกหนังทั้งสองเรื่องเล่นกับการเป็นหนัง psycho-thriller เหมือนกัน แต่ Red Eye จะเป็นอารมณ์แบบ "กดดัน" แต่ Flightplan จะเป็นอารมณ์ "ประสาทแตก"

ชอบ Flightplan ที่เล่นกับความลึกลับของ "สถานที่"

รู้สึกว่าหนังสองเรื่องนี้อารมณ์ดร็อปลงในช่วงท้ายทั้งคู่เลย ซึ่งน่าเสียดายมากๆ

สุดท้ายก็คือ หนังสองเรื่องนี้พล็อตดูต่างกัน แต่ซับพล็อตและนัยยะเหมือนกันอย่างกับแกะ

(แต่ Flightplan พูดชัดกว่า เพราะมีฉากหนึ่งที่นางเอกพูดคำว่า 9/11 ออกมาเลย)

แล้วเดี๋ยวก็จะมีหนัง post 9/11 era มาให้เราดูอีกเรื่องแล้วงก็คือ เรื่อง YES นั่นเอง (มีคนบอกว่ามาซาวด์แทร็กเพราะมาก อันนี้แน่นอนเพราะมีเพลงที่แต่งโดย ฟิลิป กลาสด้วย)


โดย: merveillesxx IP: 203.209.117.151 วันที่: 25 ตุลาคม 2548 เวลา:7:59:20 น.  

 
มาอ่านและเก็บข้อมูลค่ะ

เก่งจังน้อ รอดงานหนังสือฯ มาแล้วยังมีตังค์ดูหนังได้อีกง่ะ

วางแผนเรื่องการเงินได้เก่งจัง


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 25 ตุลาคม 2548 เวลา:10:16:01 น.  

 
พี่แทบกราบเท้า อ.แดงตลอดสองอาทิตย์ที่อยู่ด้วยกันทุกวันครับ


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 25 ตุลาคม 2548 เวลา:10:33:19 น.  

 
-แต่ดิฉันกลับรู้สึกว่า เพลงใน La Moustache ดังมาก และดังมากเกินในบางช่วง ชอบฟิลิป กลาส มากนะคะ ตัดสินใจดูหนังเรื่องนี้ เพราะรู้ว่าฟิลิป กลาส ทำเพลงประกอบด้วยส่วนหนึ่ง แต่พบว่าเพลงในหนังเรื่องนี้เด่นมากเกินไป เพลง "ชี้นำ" หลายตอนมาก เพลงในเรื่องนี้แทบจะเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่คอยบอกเราล่วงหน้าว่า ฉากแต่ละฉากเราจะเจอกับอะไร แม้จะชอบฟิลิป กลาส มากเพียงไร ก็ยังคิดว่าทำไมผู้กำกับหรือคนตัดต่อ ทำไมให้เพลงดังและนำขนาดนี้ บางช่วงรู้สึกหนวกหูด้วยซ้ำ

- ได้ดู Ticket of No Return ค่ะแถมมีฉากที่ผู้กำกับออกมาเล่นด้วย เธอปรากฎตัวในหนังหลายนาทีเหมือนกัน ท่าทางเธอ"เก๋า" มาก ชอบเรื่องนี้มากกว่า Joan of Arc of Mongolia อย่างไรก็ตามการดูหนัง Ottinger ให้ประสบการณ์ทั้งเร้าใจมากและน่าเบื่อมากอยู่ในเรื่องเดียวกัน นับว่าเป็นประสบการณ์การดูหนังที่แปลกดี

- ส่วน Le Grand Voyage นั้นเป็นหนังที่ชอบที่สุดในเทศกาลนี้ ไม่รู้สึกว่าสองคนพ่อลูกนี้ รักกันนะคะ ออกจะเป็นความสัมพันธ์แบบ Love - Hate หลายช่วงที่ทั้งสองฝ่ายผลัดต่างไม่พูดกัน เพราะทะเลาะกันระหว่างทาง แทบจะแยกทริปกันก่อนถึงจุดหมายด้วยซ้ำ และดูไปสักพักก็คิดแล้วว่าหนังต้องจบแบบนี้ ชอบตอนจบมากเหมือนกัน

ดูเรื่องนี้แล้วทำให้คิดถึงการเดินทางอย่างมาก และคิดถึงอาจารย์ที่เป็นมุสลิม อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ตอนที่อาจารย์กลับมาจากเมกกะ อาจารย์มาสอนด้วยชุดที่นุ่งขาว ห่มขาวอยู่หลายวัน ดิฉันชอบความเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดทั้งความเชื่อและวิถีปฏิบัติของอาจารย์มาก


โดย: grappa วันที่: 25 ตุลาคม 2548 เวลา:11:01:56 น.  

 
^
^
^
อย่างไรก็ตามการดูหนัง Ottinger ให้ประสบการณ์ทั้งเร้าใจมากและน่าเบื่อมากอยู่ในเรื่องเดียวกัน นับว่าเป็นประสบการณ์การดูหนังที่แปลกดี

ผมเห็นด้วยมาก ๆ เลยครับ ครึ่งแรกสนุกมาก ครึ่งหลังด้วยความที่เก้าอี้มันนุ่มผมเลยเคลิ้มไปหลายรอบเลย

พร้อมกับในใจคิดว่า "เฮ้ย จบเหอะ!!!"


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 25 ตุลาคม 2548 เวลา:11:33:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.