http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728 
 
1 กุมภาพันธ์ 2557
 
All Blogs
 
The Letter เกาหลี vs. ไทย

by merveillesxx



วันก่อนมีน้องทำธีสิสเปรียบเทียบ The Letter ฉบับเกาหลีกับไทย และมาสัมภาษณ์เรา ดังนั้นก็เลยขอสรุปความประมาณนี้

The Letter (จดหมายรัก) (2004) เป็นหนังที่ซื้อลิขสิทธิ์รีเมคมาจากหนังเกาหลี The Letter (1997) ทั้งสองเวอร์ชันมีแก่นกลางที่เหมือนกันคือเรื่องความรักที่ผูกติดกับความตาย อันเป็นความ romance สูงสุดของรูปแบบความรัก แต่พอพิจารณาดูแล้วทั้งสองเวอร์ชันก็มีความต่างกันพอสมควร

ฉบับไทยนั้นดูจะพยายามทำให้อะไรๆ เป็นสองขั้วหรือคู่เปรียบเทียบอย่างชัดเจน คู่แรกคือ ความเป็นเมือง vs. ชนบท แน่นอนว่าทั้งสองเวอร์ชันนั้นใช้ความสวยงามของชนบทขับเน้นบรรยากาศของเรื่อง ในฉบับเกาหลีนั้นเหตุการณ์ทั้งเรื่องเกิดขึ้นในชนบท มันเป็นเมืองมากที่สุดคงเป็นมหาลัยที่นางเอกไปสอนหนังสือ (ในฉบับเกาหลีนางเอกมีอาชีพเป็นอาจารย์) ซึ่งไม่ได้มีรูปลักษณ์ความศิวิไลซ์เลย แต่ฉบับไทยนั้นมีภาพเปรียบเทียบสังคมเมือง vs. ชนบทอย่างชัดเจน สังคมเมืองถูกนำเสนอว่าเลวร้าย ทั้งความเร่งรีบ-นางเอกกับเพื่อนรีบตื่นไปทำงาน รีบเอาผ้าไปส่งซัก, ความแออัดผ่านห้องทำงานของนางเอก หรือในเชิงเทคนิคภาพยนตร์ด้วยการตัดต่อแบบ montage ขณะที่ฉากในชนบทจังหวะของภาพยนตร์ก็ช้ากว่าอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นชนบทของ The Letter ฉบับไทยยังมีความหมายในเชิง ‘ที่พักพิงใจ/ที่หลบภัยจากความเลวร้าย’ เพราะนางเอกย้ายมาอยู่เชียงใหม่หลังจากเพื่อนสนิทของเธอถูกฆ่าตาย

คู่เปรียบเทียบต่อมาคือ โลกยุคใหม่ (เทคโนโลยี) vs. โลกยุคเก่า หนังขับเน้นเรื่องเทคโนโลยีอย่างมาก เช่น นางเอกฉบับไทยทำอาชีพเป็นคนเขียนเวบไซต์ (เวอร์ชันเกาหลีนางเอกถูกวางให้เป็นอาจารย์สอนวรรณกรรม เพื่อสอดรับกับนิยายจดหมายที่เป็นคีย์หลักของเรื่อง) ในขณะที่พระเอกถูกจับอยู่ในคนโลกยุคเก่าที่ออกตัวว่าหวาดกลัวคอมพิวเตอร์ พล็อตส่วนที่เพิ่มขึ้นมาในฉบับไทย คือตัวละคร เกด เพื่อนสนิทของนางเอก ที่มีลักษณะสาวมั่น (หรือพูดตรงๆ คือหนังจงใจให้ตัวละครนี้ดูแร่ด) เกดชอบแชทกับหนุ่มนิรนาม ส่วนความสัมพันธ์ของพระเอกนางเอกสื่อสารผ่านกันทางโทรศัพท์ (พระเอกไปหยอดเหรียญโทรศัพท์ตู้) จุดจบของตัวละครเกดคือถูกหนุ่มที่แชทด้วยฆ่าตาย แน่นอนว่าหนังจงใจให้ภาพอันเลวร้ายของเทคโนโลยี/โลกยุคอินเตอร์เน็ต/ความสัมพันธ์อันฉาบฉวย (ส่วนความสัมพันธ์ของคู่พระนางเป็นการคุยโทรศัพท์ทางไกลที่ต้องใช้ความพยายาม) แต่ในจุดนี้ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะบรรยากาศในช่วงยุคต้น 00 ที่เป็นยุคก่อนสมาร์ตโฟนจะมา ความสัมพันธ์ทางอินเตอร์เน็ตเป็นประเด็นที่สังคมในช่วงนั้นหวาดกลัวกันมาก

ประเด็น โลกยุคใหม่ vs. โลกยุคเก่า ยังถูกเล่าผ่านเรื่องจดหมายและอีเมล มีช่วงที่พระเอกนางเอกคุยกันผ่านอีเมล (แน่นอนว่านางเอกต้องเป็นคนสอนวิธีใช้ให้) แต่สักพักพระเอกก็เรียกร้องว่าอยากให้เขียนจดหมายหากัน โดยให้เหตุผลว่ามันเป็นอะไรที่จับต้องได้ และหนังก็เพิ่มการ romanticize เรื่องจดหมายด้วยการที่ไปเจอจดหมายของคุณย่านางเอก เพื่อให้ภาพความรักอันแสนโรมานซ์จากรุ่นบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกหลาน (ในเวอร์ชันเกาหลีเนื้อหาจดหมายมาจากนิยายเรื่องหนึ่ง)

พระเอกในทั้งสองเวอร์ชันมีความต่างกันพอสมควร แน่นอนว่าฉากไฮไลท์ล้างเท้าให้นางเอกมีมาตั้งแต่ฉบับเกาหลี แต่ในฉบับไทยพระเอกถูกเพิ่มความเป็น ‘พ่อบ้าน/สุภาพบุรุษ/ชายในฝัน’ เข้าไปอีก นอกจากล้างเท้าให้คนรักแล้วยังซักผ้าให้ฝ่ายหญิง, ทำกับข้าวเก่ง แถมยังเป็นคนดีจิตใจงาม เอาต้นไม้ไปวางหน้าสถานีเพื่อเอาเงินบริจาคไปสร้างห้องสมุด แถมยังเป็นนักวิจัยพืชพันธุ์ของโครงการหลวง! ส่วนในฉบับเกาหลี พระเอกไม่ได้ดูเป็นพ่อบ้านมากขนาดนั้น พระเอกนางเอกออกไปทางช่วยเหลือกันและกัน เราเห็นทั้งคู่สลับกันชงกาแฟ หรือไปเลือกซื้อของเข้าบ้านด้วยกัน

หนังทั้งสองเวอร์ชันมีฉากไคลแม็กซ์เป็นฉากวิดีโอเทป ความน่าสนใจคือ สารในสองฉบับนั้นดูจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยในฉบับเกาหลีพระเอกพูดว่า "จองอินคุณต้องทำสิ่งนี้ให้ได้นะ ก่อนที่ต่างคนจะมีใครใหม่ในใจ จะไม่มีการจากลาใดๆ ทั้งสิ้น แล้วถ้าหากชาติหน้ามีจริง เราค่อยมาพบกันใหม่" แต่ฉบับไทยกลับพูดว่า “"ดิวมีอย่างนึงที่ผมจะขอร้อง อย่าลืมผมนะ มันคงอีกนานกว่าเราจะได้พบกัน แต่เราต้องได้พบกันนะ" แม้ทั้งสองเวอร์ชันพระเอกจะพยายามให้นางเอกมีชีวิตต่อไป (ฉบับเกาหลี: พระเอกคาดคั้นให้นางเอกไปสอนหนังสือ / ฉบับไทย: พระเอกขอร้องให้นางเอกลงไปเคลียร์งานที่กรุงเทพ) แต่ไดอะล็อกในฉากนี้ทำให้ธีมของหนังสองฉบับต่างกัน ฉบับเกาหลีดูจะเน้นเรื่องการก้าวต่อไป/การมีชีวิตต่อไปมากกว่า อย่างที่ฉากเปิดเรื่องของฉบับเกาหลีจะมีเสียง voice over ของนางเอกพูดว่า “คุณเคยบอกว่าชีวิตคนเราบางครั้งเหมือนการก้าวผ่านทะเลทราย แล้วฉันจะผ่านมันไปได้มั้ย” อันที่จริงเรื่องทะเลทรายก็มีในฉบับไทยเหมือนกัน แต่ประโยค -อย่าลืมผมนะ- มีน้ำหนักมากกว่า ทำให้ธีมของฉบับไทยคือเรื่องความรักอันเป็นนิรันดร์/เราไม่พรากจากกันแม้เธอตายไปแล้ว/เธอจะอยู่ในใจฉันเสมอ ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ฉากจบของหนังทั้งสองเวอร์ชันก็มีใจความเน้นย้ำเรื่อง “ความรักอันเป็นนิรันดร์/เธอจะอยู่ในใจฉันเสมอ” เช่นเดียวกัน ผ่านสัญลักษณ์คือต้นไม้ใหญ่ (เกาหลี: ต้นสน / ไทย: ต้นบ๊วย) ที่เป็นตัวแทนของพระเอก และผ่านตัวละคร นั่นคือลูก ที่เป็นดั่งตัวแทนแห่งความรักระหว่างทั้งสอง ...ซึ่งพล็อตส่วนนี้ก็ทำให้เรารู้สึกตลกขื่นๆ อยู่เหมือนกัน เพราะลองคิดว่าถ้าเป็นชีวิตจริง เหตุการณ์แบบนี้มันไม่โรมานซ์เอาเสียเลย หรือคิดต่อขำๆ ว่าถ้านี่เป็นหนังฝรั่งเศสหรือหนังยุโรปตะวันออก โจทย์ของหนังคงเป็นว่านางเอกจะเก็บลูกของเธอไว้มั้ย

แม้ The Letter ฉบับไทยจะมีทัศนคติที่พอมาดูในวันนี้แล้วรู้สึกตะขิดตะขวงใจ แต่ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ต้องการว่าร้ายหนังอย่างเดียว หนังทั้งสองฉบับมีความดีงามในตัวมันเอง อย่างน้อยที่สุด สำหรับฉบับไทยเมื่อครั้งที่เราดูเมื่อสิบปีก่อน เราก็ร้องไห้ไปกับมัน หรือฉบับเกาหลีที่เพิ่งได้ดูไปนั้น ก็ทำให้น้ำตาซึมในบางฉาก (ส่วนตัวชอบฉากที่สถานีรถไฟ ที่พระเอกถือป้ายมาต้อนรับนางเอก) และปฏิเสธไม่ได้การแสดงของนางเอกทั้งสองเวอร์ชันนั้นช่างงดงาม (เกาหลี: Choi Jin-sil / ไทย: แอน ทองประสม) น่าเสียดายเหลือเกินว่า Choi Jin-sil ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองไปเมื่อปี 2008 ดังนั้นข้อเขียนนี้ก็ถือเป็นการระลึกถึงเธอแล้วกัน




Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2557 12:45:31 น. 0 comments
Counter : 8402 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.