http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2548
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
25 มิถุนายน 2548
 
All Blogs
 
ตะลุยเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ (Bangkok International Film Festival 2005)



โดย merveillesxx

หลังจากเขียนถึงเทศกาลใหญ่ๆ ไปสองเทศกาลคือ เทศกาลหนังยุโรป และเทศกาลหนังฝรั่งเศส ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าตัวเองเคยเขียนถึงเทศกาล BKKIFF ไว้เมื่อตอนต้นปีด้วย ดังนั้นจึงขอเอามาใส่ไว้ในบล็อกด้วยนะครับ (คราวนี้บล็อกผมก็จะมี ‘ไตรภาคตะลุยเทศกาลหนัง’ แล้ว--ฮา) แต่อาจจะเป็นการเขียนที่ไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไร เพราะช่วงนั้นดูหนังไปเรียนไป ก็เลยไม่มีเวลาเขียนมากนัก

ข้อความเหล่าที่เป็นตัดมาจากกระทู้ในเวบบอร์ด BIOSCOPE หากต้องการดูข้อความแบบสมบูรณ์กรุณาไปตามลิงค์เหล่านี้นะครับ (มีทั้งหมด 4 ตอน)
//www.bioscopemagazine.com/webboard/index-in.php?id=13817
//www.bioscopemagazine.com/webboard/index-in.php?id=13965
//www.bioscopemagazine.com/webboard/index-in.php?id=14078
//www.bioscopemagazine.com/webboard




ในเทศกาลนี้ได้ดูหนังทั้งหมด 18 เรื่องตามนี้ครับ

1. SCHIZO (2004, Guka Omarova, คาซัคสถาน, B)
หนังจากคาซัคสถาน...ซึ่งคิดว่าชาตินี้คงมีโอกาสหาดูได้ยาก มีคนดูพอประมาณ เห็นเด็ก ม.ปลายใส่ชุดนักเรียนมาดูด้วย ซึ่งเห็นแล้วก็ชื่นใจ แต่ส่วนใหญ่จะมาคนเดียว แน่ล่ะ..ใครชวนเพื่อนมาดูหนังคาซัคสถานได้ถือว่าเก่งมาก (ฮา)

หนังเล่าถึงเด็กหนุ่มวัย 15 ที่เพื่อนๆเรียกว่า SCHIZO (โดยมาจากคำว่า Schizophrenic --เก๋มั้ยล่ะ) ดูๆไปแล้วหนังเรื่องนี้คล้ายๆ Noi Albinoi ผสมกับ Lilya 4-EVER เพียงแต่ว่าอีตา Schizo ไม่ใช่เด็กเนิร์ดขนาดนายเหม่ง 'นอย' ส่วนเรื่องดีกรีชีวิตบัดซบน้องหนู 'ลิลย่า' ก็ชนะขาด

อีกจุดร่วมของหนังทั้งสาม คือสถานที่-ฉาก-ของหนังอันเป็นดินแดนที่ไม่น่าอยู่เอาเสียเลย ทั้งน้ำแข็งหนาวสุดขั้ว (Noi Albinoi) ดินแดนเศษเดนจากสงครามเย็น (Lilya) ส่วนเรื่องนี้ก็เป็นพื้นที่รกร้างแห้งแล้งสีน้ำตาลคลุ้งฝุ่น...

แม้พล็อตเรื่องจะไม่ได้เด่นมากนัก และในบางฉากก็ดูเปิ่นๆด้วย แต่อารมณ์ของหนังก็ค่อนข้างไปทางละเมียดละไม และสิ่งที่เด่นมากๆคือเรื่องของ 'ภาพ' ที่สามารถถ่ายทอดดินแดนรกร้างแห่งนี้ให้มีเสน่ห์ชวนติดตาได้ยิ่งนัก / การนำเสนอภาพที่ให้ 'เห็น' และสิ่งที่ 'ไม่เห็น' ในช่วงท้าย / รวมถึงช็อตเด่นประจำเรื่องคือภาพของพระเอกในระยะไกลท่ามกลางวัตถุปัจจัยล้อมรอบมากมายที่เน้นนำความเป็นคน 'ตัวเล็กๆ' ในสังคมอย่างเขา

อีกอย่างหนึ่งที่จะบอกก็คือ หนุ่มคาซัคสถานนี่ก็หล่อ (ในบางมุม) เหมือนกัน




2. Cafe Lumiere (2004, โหวเสี่ยวเสี้ยน, ญี่ปุ่น, งดให้เกรด)
"เอ่อ..หนังเรื่องนี้จะเลทไปครึ่งชั่วโมงครับ เพราะทำซับไม่ทัน" ...หา! อะไรนะ ผมคิดในใจหลังจากได้ฟัง จนท.แจงเหตุผล ขณะกำลังคิดสะระตะอย่างหนักอยู่นั้นเอง "เอ่อ...ทางเราจะฉายเรื่องนี้เลยครับ แต่ว่าไม่มีซับไตเติ้ล ย้ำนะครับ ไม่มีซับไตเติ้ล พูดญี่ปุ่น(ล้วนๆ)" ด้วยความอยากลองของ บวกกับขี้เกียจจัดตารางใหม่แล้ว ผมก็เลยเปรี้ยวดูหนังเรื่องนี้แบบไม่มีซับเสียเลย (แถมบอก จนท.ไปอีกว่า "ไม่เป็นไรครับ ผมมั่นใจในภาษาภาพยนตร์" --โม้เห็นๆ) ทั้งที่ฟังญี่ปุ่นออกไม่เกิน 10 คำนี่แหละ! (แต่ผมถามทีมงานแล้ว เขาบอกว่ารอบวันที่ 21 จะมีซับให้)

เริ่มต้นฉายหนังคนก็พอมีอยู่ แต่ว่ามันเหมือนกับเกม Battle Royale ผู้เข้าแข่งขันก็หายไปทีละคนๆ นอกจากฟังไม่รู้เรื่องแล้ว หนังก็ยังนิ่งมากกกก...กก (อ้าว ก็ใครกำกับล่ะ) แถมงานนี้ไม่ให้มัน 'นิ่ง' ได้ยังไงเฮียโหวก็ทำหนังนิ่ง ดันมาทริบิวต์ให้ปู่โอสุอีก โอ..ตายแล้ว นี่มันอภิมหาหนังนิ่งแห่งประวัติศาสตร์เลยรึเนี่ย (ตอบ--ไม่ขนาดหรอก) ก็นั่นแหละ คนก็เลยเดินออกไปทีละคนๆ ส่วนบางคนก็ออกจากเกมไปด้วยการหนีไปเฝ้าพระอินทร์ (หลับนั่นเอง) ตัวผมก็หวิดจะไปหลายที ดีว่าได้ลูกอมจากคุณยายขายลูกอมหน้าสยามดิสฯ ช่วยไว้

ตามที่ผมเข้าใจช่วงแรกของหนังเป็นทริบิวต์โอสุอย่างชัดเจน เราจะเห็นฉากที่คุ้นเคยอย่างฉากในบ้าน พ่อ-แม่-ลูกนั่งล้อมโต๊ะกันอยู่ 3 คน ถ่ายทอดด้วยมุมกล้องทาตามิ ลูกสาวมีปัญหา คุณพ่อมีปัญหาแต่ไม่ยอมพูด อะไรประมาณนั้น

ส่วนคุณพี่อาซาโน่ที่ผมตั้งใจไปดูก็โผล่ออกมา...เอ่อ 6 ฉากได้มั้ง (เอ๊ะ หรือว่าเราเผลอหลับไป แต่ว่างานนี้ได้นางเอกมาแทน เพราะเธอน่ารักมีสไตล์ดี) ตรงกลางเรื่องก็จะเป็นการก่อความสัมพันธ์ของพระนางทั้งคู่ ซึ่งเข้าใจว่าพวกเขาคงมีเวลาว่างในชีวิตพอดู นางเอกของเราท่าทางจะเป็นแฟนพันธุ์แท้รถไฟ เพราะ she ขึ้นรถไฟเกือบทั้งเรื่อง อีกอย่างก็คือ โทรศัพท์ โทรศัพท์และโทรศัพท์! (ซึ่งฟังไม่ออก--โว้ย!) สงสัยอยู่เหมือนกันว่าลุงโหวต้องการใช้รถฟงรถไฟอะไรเนี่ย เป็นสัญลักษณ์หรือเปล่า (ใครรู้เรื่อง ช่วยบอกที้?????)

ตอนท้ายก็เข้าสูตรปู่โอสุเหมือนเดิมก็คือการคลายปมปัญหาในครอบครัว (ซึ่งไปคลายไปผูกกันอีท่าไหน อิชั้นก็มิอาจรู้ได้ เพราะฟังไม่ออก) แถมท้ายด้วยภาพตอนจบที่เก๋และเท่มากๆ ...จบแหล่ว หนังครบรอบ 100 ปีโอสุ โอ้ว! ก็อดซ์!!

สรุป -- เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าทำกระแดะเป็นใช้ใจดูหนัง ถ้าฟังภาษาต้นฉบับไม่ออก (ฮา)




3. Anatomy of Hell (2004, แคทเธอรีน เบรญาต์, ฝรั่งเศส, A+)
หนังเรื่องนี้สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผม ถึงแม้ว่ามันจะแสนทรมาน และทำให้ผมเซ็กซ์เสื่อมไปอีก 2 เดือนก็ตาม แต่ที่สำคัญคือ หนัง 'กระตุก' สติและระบบความคิดของผมในฐานะ 'ผู้ชาย'

อาจจะว่านี่เป็นวิปริต แต่ผมคิดว่ามันหนังที่ต่อต้าน 'อนาจาร' ด้วยความ 'อนาจาร' จนได้ค่าออกมาเป็นศิลปะ ...อีกอย่างก็คือ หนัง Feminist แบบผู้หญิงแกร่งกร้านโลกใครจะมาสนใจ เบลญาต์เธอเลยใช้เรื่อง 'เพศ' แทน เธอกำลังส่งต่อโลกว่า "เอาล่ะ ทีนี้ก็แหกตาดูกันซะให้พอใจ"

ด้วยเหตุนี้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ผมให้ จึงไม่ใช่เรื่องเกินเลยแต่อย่างใด...

-- อีกอย่างที่ผมคิดได้ก็คือ ทะเล ในเรื่องนี้ทรงพลังและน่ากลัวมากๆ

ใช่แล้วครับ...ที่ผมชอบเรื่องเสียงบรรยาย ก็เพราะมันดันเป็นความคิดของพระเอก แต่เสียงบรรยายดันเป็นเสียงผู้หญิงของยัยผู้กำกับ ซึ่งผมว่ามันมีความรู้สึก Irony อยู่ (มันเกิดขึ้นมาเอง อธิบายไม่ได้ --เพื่อนหาว่าติสต์แตก --ฮา)

เท่าที่จำได้ตอนเด็กๆเคยเรียนในสุขศึกษา ในบางกรณีผู้ชายจะเกลียดกลัวในอวัยวะเพศของฝ่ายหญิง ส่วนผู้หญิงก็จะรู้สึกแบบนั้นกับของผู้ชาย อันเป็นเหตุจากความ 'ไม่คุ้นเคย' จนเป็นความรู้สึกแปลกประหลาด แต่กรณีความรู้สึกของผมต่อหนังเรื่องนี้ก็อย่างที่พี่เต้ว่า คือผมรู้สึกสบายใจกว่ามากเวลาเห็นไอ่นั่นของพระเอกชี้โด่ขึ้นมา (ฮา) แต่พอกล้องเริ่มใกล้ไปทางคุณผู้หญิงทีไร หัวใจผมจะเต้นแรงขึ้นๆ ร่ำไป อันนี้ผมเลยไม่แน่ใจว่ามันมีส่วนจากเรื่องความไม่คุ้นเคยหรือไม่ แต่มั่นใจว่าตัวหนังมีส่วน (หรืออาจจะเป็นเพราะการอ่านดีเทลเกี่ยวกับหนังมาก่อน)

อันนี้จะว่าฮาก็ฮา จะว่าน่าคิดก็ใช่ เพื่อนผู้หญิงของผมบอกว่า "ขนาดชั้นเป็นผู้หญิง ชั้นยังไม่เคยเห็นอะไรชัดเจนขนาดนี้มาก่อนเลย" -- ความจริงเธอคงไม่ได้พูดอะไรเป็นทางการอย่างนี้หรอกนะ (ฮา) นั่นเลยทำให้ผมสนใจว่าความรู้สึกต่อหนังเรื่องนี้ของ 'ผู้หญิง' และ 'ผู้ชาย' จะแตกต่างกันเพียงใด เพราะเอาแค่เรื่องภาพของหนังก็น่าคิดแล้ว

-- ส่วน Anatomy of Hell นั้น ฉากในเรื่องยังคงหลอกหลอนผมอยู่ และคงไม่กล้ากินอาหารไปหลายชนิด เช่น เย็นตาโฟ สปาเก็ตตี้ มักกะโรนี และน้ำมะเขือ เป็นต้น (เหอๆๆ) แถมจะพาลเซ็กซ์เสื่อมไปอีกชั่วคราว ...ผมค่อนข้างดีใจที่ไม่มีเด็กๆหลุดเข้ามาดูหนังเรื่องนี้ ตามจริงแล้วผมว่าคนที่จะดูเรื่องนี้น่าจะผ่านอะไรโหดๆเพี้ยนๆเหี้ยมๆในชีวิตมามากพอสมควร ไม่งั้นเดี๋ยวจะพาลทัศนคติติดลบตลอดชีวิตกับเรื่องแบบนี้ไปซะได้ (โดยเฉพาะหมู่สาวๆเฟรชชี่ เชื่อฉากรักน้ำตาหวานในการ์ตูนตาไข่ห่าน ไม่ควรดูหนังเรื่องนี้โดยเด็ดขาด)

-- อ่านบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้ที่ //www.bloggang.com/mainblog.php?id=merveillesxx&month=23-01-2005&group=1&blog=5




4. To Take a Wife (2004, Ronit Elkabetz & Shlomi Elkabetz, อิสราเอล, B+)
ทุกคนยอมรับโดยสดุดีว่าฉากเปิดเรื่องของหนังเรื่องนี้ทรงพลังเหลือล้น Ronit Elkabetz (นักแสดงนำหญิงและผู้กำกับร่วม) อยู่ในสภาพหน้าขาววอกสุดโทรม ผมยุ่งฟูฟ่อง สวมชุดสีดำทะมึน (เหมือนหลุดมาจากมิวสิกวิดีโอเพลง Frozen ของมาดอนน่าไม่มีผิด) เธอนั่งนิ่งๆ ไม่พูดอะไรสักคำ ในขณะเดียวกันที่ผู้ชายนับสิบรุมล้อมเธอ แล้วก็เอาแต่พูด พูดและพูด! เธอแสดงออกแต่เพียงสีหน้า แต่ตาของเธอแทบจะไม่มองกล้องด้วยซ้ำ! ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากเทศกาลนี้มีรางวัล Best Actress มันก็จะต้องตกเป็นของเธออย่างแน่นอน เพราะแค่ฉากเปิดเรื่อง เธอก็ชนะแล้ว
(* ลงในนิตยสาร BIOSCOPE ฉบับที่ 39 – กุมภาพันธ์ 2548)




5. Symmetry (2004, Konrad Niewolski, โปแลนด์, B+)
ผมก้าวเข้าไปดูหนังโปแลนด์สาย New Voices เรื่องนี้โดยปราศจากความคาดหวังใดๆทั้งสิ้น นี่เป็นเพียงการสุ่มเลือก แต่ผมโชคดีที่ ‘เลือกถูก’ หน้าหนังของ Symmetry เป็นหนังคนคุกที่แสนจะธรรมดา (สร้างประสบการณ์จริงของผู้กำกับ) แต่หนังปราศจากฉากรุนแรงโดยสิ้นเชิง (รวมถึงฉาก ‘ตุ๋ย’ ด้วย) ตัวละครกลับฟาดฟัน-เชือดเฉือน-ดิ้นรน-เอาตัวรอด ด้วย ‘คำพูด’ อาจจะกล่าวได้ว่านี่เป็นหนัง ‘คนคุกปัญญาชน’ โดยแท้จริง เพราะหนังไม่ได้ต้องการสื่อถึงเรื่อง ‘ในคุก’ แต่กลับวิพากษ์ถึงชีวิตระหว่าง ‘ภายใน(คุก)’ และ ‘ภายนอก(คุก)’ อันเป็น ‘โลกสมมาตร’ ที่จะไม่มีวันบรรจบกัน หลังจากเดินออกจากโรงไปแล้ว จะเลือกอยู่โลกไหน จะอยู่อย่างไร ก็ขึ้นกับคุณแล้ว…
(* ลงในนิตยสาร BIOSCOPE ฉบับที่ 39 – กุมภาพันธ์ 2548)




6. Bad Education (2004, เปโดร อัลโมโดวาร์, สเปน, A)
-- เจ้าป้ากลับมาแล้วค่ะ! แค่ฉากเปิดเรื่องของหนังก็เก๋าแล้ว

-- หนุ่มคาซัคสถานหล่อในบางมุม แต่น้องหนุ่ม SCHIZO ตกขอบไปเลย เมื่อเจอลูกชายคนโตจาก To Take A Wife สุดยอด!!! O_O'' โอ้ว มายก็อดดดด...ส์ส์ส์

-- กระหน้ำซ้ำด้วย Bad Education ที่กาเอล การ์เซีย เบอร์นัล โชว์ทั้งหล่อและสวย (ฉากคุณเธอร้องเพลง Quiza Quiza Quiza นี่ทำเอาอึ้ง! ทึ่ง! เสียว!) แถมยัง 'โชว์' อะไรอีกเยอะ ... อะไรกันเนี่ย เทศกาลนี้ผู้ชายครองจอ (ฮ่าๆๆๆ) แหง...ล่ะ ผมเจอฤทธิ์คุณผู้หญิงจากเรื่อง Anatomy of Hell ไป ...กลัวแล้วคร้าบ T__T




7. Irma Vep (1996, โอลิวิเยร์ อัสซายาส, ฝรั่งเศส, B)
-- ดูหนังอัสซายาสมาหลายเรื่อง เห็นทีจะต้องถามตัวเองสองข้อว่า 1.หนังเรื่องไหนของเขาที่จะดูแล้วไม่งงบ้าง (ฮา) และ 2.หนังของพี่แกจัดอยู่ในตระกูลไหนกันแน่(วะ)

-- แต่ก็น่าสังเกตว่า ในงานนี้ในดูหนังอย่าง Irma Vep ที่เป็นหนังที่ทำสมัยอัสซายาสยังกิ๊กอยู่กับจางมั่นอวี้ และหนังเรื่อง Clean ที่ทำตอนทั้งสองเลิกกันแล้ว ซึ่งเป็นการดูหนังที่สนุกและน่าสังเกตสังกา




8. Birth of the Seanema (2004, ศะศิธร อริยะวิชา, ไทย, A+++++)
-- เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่มากๆ คงเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมจะได้ดูหนังแบบนี้ เป็น 70 นาทีที่ผมได้เปิดและขยายความคิดตลอด และฉากสุดท้ายผมว่ามันทรงพลังมากๆ แม้ว่าผกก.จะยืนยันว่าเป็นสโลว์โมชั่นก็ตาม (ฮา --รู้งี้ไม่ถามดีกว่า)

-- หนังเรื่องนี้เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่มากๆ สำหรับผม คงเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมจะได้ดูหนังแบบนี้ นี่เป็น 70 นาทีที่ผมได้เปิดและขยายความคิดตลอดเวลา ภาพบนจอที่ขยับเลื่อนเคลื่อนตัวอย่างเชื่องช้า ภาพที่ไร้ซึ่งสรรพเสียงใดๆ แต่มันกลับมีพลังอย่างประหลาด การใช้เทคนิคสโลว์โมชันทำให้คนดูได้ใช้ความคิดเติมใส่ไปในช่องว่างระหว่างภาพอย่างเต็มที่ บทบรรยายด้วยอักขระประหลาดที่ทิ้งช่วงห่างนับร้อยลี้ ปล่อยให้เราร้อยเรียงผูกเรื่องตามแต่ใจคิด นี่คือหนังที่ขยายจินตนาการมากที่สุดในชีวิตของผม และเป็นหนังเรื่องที่สองต่อจาก ‘สัตว์ประหลาด!’ ที่ต้องใช้ ‘ใจ’ ดู…หากจะถามผมว่าทะเลในเรื่องนี้คืออะไร มันก็คงมิใช่อื่นใดนอกจากทะเลแห่งจินตนาการ




9. Zelary (2003, Ondrej Trojan, สาธารณรัฐเช็ค, B+)
ปกติก็อยากจะลืมหนัง Cold Moutain อยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ทำให้ลืมมันได้สนิทซักที สาเหตุที่หยิบมาเทียบกัน ก็เพราะมันคล้ายกัน ใครชอบดราม่าสมจริงไม่บีบอารมณ์ น่าจะชอบเรื่องนี้ นางเอกเล่นดีมาก ที่สำคัญผมชอบตอนจบที่ผมอยากจะให้มันเป็น ...มีไม่กี่ครั้งที่จะเกิดอะไรแบบนี้




10. Just Bea (2003, Petter Naess, นอร์เวย์, B)
ตามคาดว่าคือ American Pie ภาคนอร์เวย์ เพียงแต่ว่าแก๊งชายทะโมน เปลี่ยนเป็นสาวจริตแตก และทุกคนถูกยิงประตูกันไปหมดแล้ว ...เอ่อ ยกเว้นนางเอก หนังสนุกดี ดูแบบสบายๆ (หลังจากดูอะไรหนักมามากแล้ว)




11. The Motorcycle Diaries (2004, ปีเตอร์ ซัลเลส, อเมริกา, A)
เกินคาดจริงๆ หนังเรื่องนี้ หนังบรรลุถึงจุดที่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไม เช กูวาร่า ถึงได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ได้ในต่อมา ผมฉากว่ายน้ำ แม้ว่าเพื่อนบางคนจะบอกว่ามันตรงเกินไปก็ตาม และฉากที่ชอบสุดๆ คือแค่ พระเอกพูดว่า 'So much injustice'

ณ ตอนนี้ กาเอล การ์เซีย เบอร์นัล ได้รางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมในเทศกาลนี้จากผมไปโดยไม่ต้องสงสัย เค้าไม่ใช่คนหล่อ (แถมยังกรามบาน) แต่มีเสน่ห์มากๆ โดยเฉพาะดวงตาที่มีความฝัน และบทสาวแตกใน Bad Education (ฮา)




12. Clean (2004, โอลิวิเยร์ อัสซายาส, ฝรั่งเศส, B+)
-- ผมให้ B+ ในแง่ของการทำงานของผู้กำกับ มันเป็นหนังที่พิสูจน์ว่า โอลิวิเยร์ อัสซายาสเป็นคนที่โรแมนติก และมีทัศนคติต่อความรักที่ดีมากๆ น่าอิจฉาจางมั่นอวี้จริงๆที่เธอมีคนรักที่ดีขนาดนี้ แม้จะเป็นอดีตก็ตาม

-- การแสดงของจางมั่นอวี้ที่น่ามหัศจรรย์มากๆ คือ เธอต้องพูดถึง 3 ภาษา อังกฤษ-ฝรั่งเศส-จีน และต้องคงอารมณ์ของตัวละครไว้ด้วย นั่นก็หมายถึง เธอต้องหัดพูดภาษาฝรั่งเศสแบบตอนโกรธ ตอนเศร้า เป็นต้น

-- Clean เปรียบเสมือนของขวัญ ‘หลังแต่งงาน’ ที่อัสซายาสมอบให้กับจางมั่นอวี้




13. The Ketchup Effect (2004, Teresa Fabik, สวีเดน, B+)
ค่อนข้างคล้ายกับ Just Bea (นอร์เวย์) แต่ผมชอบมากกว่า เพราะหนังแสดงด้านหม่นหมองของวัยรุ่นในช่วงกลางเรื่องได้ดีเยี่ยมทีเดียว แม้ว่าตอนต้นและท้ายจะตามสูตรหนังวัยรุ่นทั่วไปก็ตาม ที่ดีกว่า Just Bea ก็คือ ทั้งพระเอกและนางเอก หล่อกว่าสวยกว่า (โดยเฉพาะรายแรก)




14. 2046 (2004, หว่องกาไว, ฮ่องกง-จีน, A+++++)
-- ตกลงว่าวันนี้เฮียหว่องก็เบี้ยวจนได้ (ตามที่เราคาดกันไว้) แต่เค้าว่าแกจะมาพรุ่งนี้ วันนี้แกก็เลยให้คริส ดอยล์ มาแทน (ซึ่งตูเห็นจนเบื่อแล้ว) ซึ่งแกตลกและฮามากๆ

-- อ่านบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้ได้ที่ //www.bloggang.com/mainblog.php?id=merveillesxx&month=23-01-2005&group=1&blog=6




15. The Sea Inside (2004, Alejandro Amenabar, สเปน, A)
ความจริงผมอยากจะพิมพ์ถึงหนังเรื่องนี้ยาวๆ แต่เพราะว่าดันไปดู Land of Plenty ต่อ ความโดนของหนังเรื่องหลังเลยกระแทกความประทับใจต่อ The Sea Inside ออกไปบางส่วน

ผู้กำกับมีวิธีการเล่น 'จังหวะ' ในหนังที่ดีมากๆ หลายๆฉากไม่ได้ชวนให้น้ำตาไหล แต่ผมก็รู้สึกมีอารมณ์ร่วมอย่างมาก (เห็นได้ชัด เช่น ตอนฉาก Flashback ความทรงจำของคนใกล้ตาย) รวมถึงเทคนิคภาพที่ช่วยดึงอารมณ์ของคนดูให้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (เช่น ฉากบิน)

ดูหนังจบผมรู้สึกดีใจและเห็นด้วยกับการตัดสินใจของ Ramon ความจริงแล้วเขาไม่เคยได้ขึ้นมาจากทะเล นับจากวันนั้นตัวตนของเขาอยู่ใต้ทะเลลึกมาตลอด 26 ปีเต็ม ถ้าต้องอยู่ในนั้นตลอดกาล มันคงจะดีกว่าถ้าอยู่แบบ 'ไร้ลมหายใจ'




16. Land of Plenty (2004, วิม เวนเดอร์ส, อเมริกา, A+)
แค่ฉากเปิดของหนังเรื่องนี้ก็ตรึงผมให้ตา(และหู)ค้างเสียแล้ว จากเสียงเย็นเอื่อยๆ ก็ค่อยดังๆขึ้นเรื่อย จนโสตประสาทของผมก็รับรู้ได้ว่า นั่นคือเสียงของ Thom Yorke และเมื่อได้รู้ว่าต่อไปอีก 123 นาที ผมจะได้ยินเพลงของนายหัวแหว่งคนนี้อีกหลายเพลง ...รู้สึกได้เลยว่าวันนี้ชีวิตคุ้มค่ามาก

ช่วงแรกถึงกลางๆ ตัวหนังสบายๆ ตลกดี เสียงหัวเราะมีเป็นระยะๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากการกระทำของคุณลงทอม (แต่ผมฮาฉาก 'ท่านผู้นำ' มากที่สุด) แต่ตอนท้ายเรื่องกลับเป็นหมัดฮุคซัดคนดู ประหนึ่งเครื่องบินชนโรงหนัง โดยเฉพาะที่ลาน่าพูดว่า 'Because they hate us' (คนดูเงียบทั้งโรง) ...ประโยคนี้ถ้าเป็นหนังของไมเคิลมัวร์ หรือเป็นนักแสดงคนอื่นพูด ผมคงหัวเราะสะใจไปแล้ว แต่นี่คือหนังของวิน แวมเดอร์ และเป็นประโยคจากปากของมิเชล วิลเลี่ยม มันอาจจะทำให้ทัศนคติของผมต่อเหตุการณ์ 9/11 อเมริกา รวมถึงต่อโลก เปลี่ยนแปลงไปเลยทีเดียว ...นับเป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ผมไม่เคยมองโลกในแง่ดีแบบนี้

ฉากจบของเรื่องตรึงผมไว้แน่นิ่ง ผมรู้สึกเหมือนอยู่ณ ที่แห่งนั้นรวมกับตัวละครทั้งสอง ...และฟังเสียงตามพวกเขาอย่างเงียบงัน

**ขอบคุณ คุณเจ้าชายน้อย ที่เชียร์ให้ดูหนังเรื่องนี้ครับ




17. Reconstruction (2003, คริสโตเฟอร์ โบ, เดนมาร์ก, A+++++)
18. Right Now (2004, เบอนัวต์ จากโกต์, ฝรั่งเศส, A+)
ชายผู้โดดเดี่ยวกับหญิงผู้เดียวดาย

เป็นการจับคู่หนังปิดเทศกาลของตัวเอง ที่ผมจะไม่มีวันลืม จากหนัง 2 เรื่องนี้ (รวมถึง 2046) ผมคงจะเจ็บปวดและรื่นรมย์กับความเหงาไปอีกนาน

สาเหตุที่ผมชอบ Reconstruction มากกว่าคงเป็นหนังมีผู้ชายตัวละครหลัก (ในขณะที่ Right Now เป็นผู้หญิง)

Reconstruction ดูจะหวือหวากว่าอีกเรื่องอยู่มาก การถ่ายภาพสวยบาดใจ ดนตรีประกอบทะลวงจิต เสื้อผ้าตัวละครที่เก๋ไก๋ เนื้อเรื่องที่สับสน ที่ทำให้เราต้องคิดตาม ...ฉากจบของเรื่องนี้ ผมคงพูดได้เลยว่าเป็นหนึ่งในฉาบจบที่เศร้าที่สุดในชีวิตการ(สำส่อน)ดูหนังของผม ผมรู้สึกเหมือนทุกคนในโรงอีจีวีเมโทรโพลิส โยนเก้าอี้ใส่ผม จากเดินก็เดินออกไปทีละคน ทีละคน แล้วก็หรี่ไฟมืดลงเรื่อยๆ จนมืดสนิทในที่สุด...

มันเป็นฉากจบที่ทั้งสวยงาม เจ็บปวด และน่ากลัว ผมเดินออกจากโรงด้วยความกลัวพร้อมย้อนคิดไปถึงการกระทำในอดีตของตัวเอง ...ในชีวิตจริง บ่อยครั้งผมก็เป็นคนโลเล ไม่ใช่แค่การเลือกสิ่งของ เหมือนที่พระเอกในเรื่อง L'Appartment เลือกแหวนไม่ได้ แต่รวมถึงเรื่องความรักด้วย นี่จึงเป้นสาเหตุที่ทำให้ผมเจ็บปวดกับฉากจบของเรื่องนี้มากๆ

ส่วนเรื่อง Right Now มีการเล่าเรื่องที่เรียบง่าย แต่ก็ลื่นไหล ผมชอบการแสดงของนางเอกเรื่องนี้เอามากๆ โดยเฉพาะดวงตาของเธอ (หนังถ่ายภาพดวงตาของเธอบ่อยๆ)

หนังมีฉากที่เจ็บปวดไม่แพ้ Recon.ที่ผมอาจจะชอบน้อยกว่าหน่อยอาจเป็นเพราะ ฉากจบที่เป็นคนละด้านกับเรื่องแรก อย่างไรก็ตาม พอได้ยินเสียงเครื่องบินในตอน end credit ผมก็ยิ่งชอบฉากจบของหนังเรื่องนี้มากๆ ...รวมถึงเพลง Shine On Your Crazy Diamond ของ Pink Floyd ด้วย

หนัง 2 เรื่องนี้ พูดถึงสิ่งคล้ายๆกัน มันว่าถึงอิทธิพลของคนบางคนที่อาจจะเปลี่ยนเราไปทั้งชีวิต การตกอยู่ในห้วงแห่งความรัก ...ผมไม่แน่ใจว่าหนังทั้งสองจะถึงขนาดเปลี่ยนชีวิตผมหรือไม่ แต่มันจะอยู่ห้วงคำนึงของผมไปอีกนาน หรืออาจจะเป็น...ตลอดกาล

**ขอบคุณพี่เต้ ที่แนะนำหนัง 2 เรื่องนี้ครับ**

-- เพื่อนผมคนหนึ่งคงเกลียดหนังเรื่อง Reconstruction เข้าไส้ เพราะเธอเกลียดหนัง 'ชู้' ทุกประเภท เธอรับไม่ได้อย่างรุนแรง (จนเป็นสาเหตุไม่ยอมดูหนังเรื่อง In The Mood For Love โดยเด็ดขาด!!) ดีใจที่ไม่ชวนเธอมาดู

ในขณะที่เพื่อนผมอีกคน เธอบอกว่าไม่ว่าแฟนเธอจะไปทำอะไร กับใครที่ไหน เธอรับได้ ขอเพียงให้มี 'เธอ' ที่เป็น 'แฟนคนเดียว' คนเดียวของเขา (น่าเสียดาย ผมเคยเป็นแฟนกับเธอเพียง 18 ชั่วโมง)

คนเรามีหลากประเภท...
ดูหนังเรื่องนี้ (REconstruction) จบแล้ว ผมก็สงสัยในตัวเองว่า ตัวเองเป็นคนแบบไหน โลเลหรือเปล่า เจ้าชู้มั้ย เคนนอกใจแฟนหรือเปล่า ...ที่สำคัญผมเคยทำให้ใครเจ็บปวดเพราะการโลเลของตัวเองหรือเปล่า

'คนที่ใช่' ทุกคนน่าจะเคยได้ยินคำนี้
แต่คำที่น่าเจ็บปวดคือ 'คนที่ใช่มากกว่า'
อเล็กซ์อาจจะพบคนๆนั้นของเขา ในวันนั้น...
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระ คำแก้ตัวจอมปลอมของการนอกใจ แต่มันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แถมใกล้ตัวเอามากๆ มากจริงๆ...

ตามจริง ผมไม่เคยบอกเลิกหรือนอกใจใครเพราะเรื่องของ 'คนที่ใช่มากกว่า' กลับเป็นผมเสียอีกที่ถูกบอกเลิกด้วยเหตุผลนี้ แน่นอนตอนนั้น ผมเจ็บปวด โกรธแค้น อยากจะฆ่าใครสักคนให้ตาย ...แต่มา ณ วันนี้ วันที่ผ่านมา 5 ปีจากตอนนั้น วันที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ผมดีใจที่เธอให้เหตุผลตามความจริง ตามความรู้สึกของเธอ

แน่นอนเพราะเวลา 5 ปี ทำให้ผมให้คำตอบได้ แต่มันก็ไม่ช่วยตอบคำถามว่า ถ้าผมเจอกับเรื่องแบบนี้ผมจะทำอย่างไร ...

ผมจะทำแบบอเล็กซ์หรือเปล่า...
ผมไม่สามารถตอบอย่างชัดถ้อยว่า 'ไม่'

"ความรักสามารถพาคุณไปในที่ที่คุณไม่คิดว่าจะมีโอกาสไป รักจะพาสิ่งที่น่าตื่นเต้นและสิ่งที่ไม่อาจคาดฝันมาสู่ทุกคนที่มีรักได้ตลอดเวลา" -- คุณตูน วงบอดี้แสลม เค้าพูดไว้

ความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้ยังคงอยู่กับผม ทั้งความเศร้า ความเจ็บปวด รวมไปถึงความสับสน
อเล็กซ์ อาจจะก้าวเดินบนถนนไปตามทางที่เค้าเลือกเดิน แต่ผมยังคงสับสนต่อไป

"ข้าพเจ้าใช้ชีวิตในความสับสนเป็นนิจ" -- ตัวเอกใน Sputnik Sweetheart พูดไว้

ชีวิตของอเล็กซ์อาจจะเป็นเพียงเรื่องแต่ง
แต่ชีวิตของผมเป็นเรื่องจริง
เรื่องแต่งอาจจะย้อนกลับ (RE) ได้
แต่ชีวิตผมย้อนกลับไม่ได้ (IRREversible)

...คงเพราะด้วยเหตุนี้ ผมจึงเจ็บปวดแสนสาหัสกับ REconstruction

ขอกลับไปร้องไห้ต่อ...




ปิดเทศกาล ไม่มีหนังดูแล้ว (ยกเว้นว่าวันอาทิตย์มีแรงเหลือจากงานบอลไปดูไหว) สรุปแล้วปีนี้ผมดูหนังไป 18 เรื่อง เยอะกว่า 2 ปีที่แล้วมาก โดยปี 2003 ดูแค่เรื่องเดียว ปี 2004 ดู 7 เรื่อง
ขอสรุปรายชื่อดังนี้ครับ

2046 (A+++++)
Reconstruction (A+++++)
Birth of Seanema (A+++++)
Right Now (A+)
Anatomy of Hell (A+)
Land of Plenty (A+)
Bad Education (A)
The Motorcycle Diaries (A)
The Sea Inside (A)
To Take A Wife (B+)
Symmetry (B+)
Zelary (B+)
Clean (B+)
Ketchup Effect (B+)
Irma Vep (B)
SCHIZO (B)
Just Bea (B)
Cafe Lumiere (-) งดให้เกรดเนื่องจากไม่มีซับ

รางวัล Mer Awards
**ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม**
2046 (สิ้นสุดการรอคอย นอนตายตาหลับ)
Anatomy of Hell (เจ็บ! และจุก!)
Reconstruction (ใจสลาย...)
Birth of Seanema (หนังที่ขยายจินตนาการมากที่สุดในชีวิต)

**ผู้กำกับยอดเยี่ยม**
ศะศิธร อริยะวิชา - Birth of the Seanema (ขอบคุณสำหรับหนังเรื่องนี้ครับ)
Catherine Breillat - Anatomy of Hell (เธอแน่มาก!)

**นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม**
เหลียงเฉาเหว่ย - 2046 (ไม่ว่าจะปี 2004 หรือปี 2046 เฮียก็ยังเล่นหนังได้สุดยอด)
กาเอล การ์เซีย เบอร์นัล - Bad Education & The Motorcycle Diaries (ทั้งสวยและหล่อในเวลาเดียวกัน โอย...สุดยอด!)

**นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม**
มิเชล วิลเลี่ยม - Land of Plenty (ถ้าลิลย่าจาก Lilya 4-ever คือนางฟ้าไร้ปีก ลาน่าก็คือนางฟ้าดวงตาเศร้า ที่สยายปีก และออกโบยบิน)
Isild Le Besco - Right Now (ดวงตาของเธอจะอยู่ในใจผมไปอีกนาน)
RONIT ELKABETZ - To Take A Wife (แค่ฉากเปิดเรื่อง เธอก็ชนะแล้ว)

**ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม**
2046 (ไร้คำบรรยาย...)
Bad Education (เปรี้ยวเข็ดฟัน)
Land of Plenty (ยกความดีให้นายหัวแหว่ง ทอม ยอร์ก)

**ฉากเปิดเรื่องยอดเยี่ยม**
Bad Education (แต่ฉากเปิดเรื่องก็คุ้มแล้ว)
To Take A Wife (เธอเล่นได้ยังไง?)
Land of Plenty (ขนลุก เสียงทอม ยอร์ก)

**ฉากจบยอดเยี่ยม**
Reconstruction (ที่สุดของความเจ็บปวด)
2046 (นั่งอึ้งค้างอยู่ในโรงประหนึ่ง อยู่ในรถไฟสาย 2046)
Anatomy of Hell (กำแพงระหว่างเพศจะตั้งตระหง่านไปชั่วนิรันดร์)
Land of Plenty (ขนลุกเสียง ทอม ยอร์กอีกแล้ว...)
Bad Education (เปรี้ยวหมดจนหยดสุดท้าย)
Cafe Lumiere (เท่ได้ใจมาก)

**ฉากประทับใจ**
Anatomy of Hell -- เลือดบูชายัญความต่างระหว่างเพศ (ฮือๆๆๆ กลัวแล้ว~~~)

To Take A Wife -- พอกันที 10 ปีแห่งความโดดเดี่ยว จู่ๆ RONIT ELKABETZ ก็คลั่งขึ้นมา แถมนี่เป็นฉาก long take (ดูแล้วเหนื่อยแทน..)

Bad Education -- กาเอล การ์เซีย เบอร์นัล แต่งหญิง แถมร้องเพลง quizas , quizas, quizas !!!!

Birth of Seanema -- ภาพลองช็อตของทะเล คลื่นโหมซัด แต่กลับลอยละล่อง แล้วจู่ๆ ก็มีเมืองโผล่ขึ้นมา (ตื่นเลยครับ...)

The Motorcycle Diaries -- ฉากพระเอกว่ายน้ำเชื่อมกำแพงความแตกต่างคนสองชนชั้น ทุกคนเท่าเทียมกัน ...ไม่น่าแปลกใจเลยว่าต่อมาเขาจึงกลายเป็นนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ / ฉากพระเอกพูดสั้นๆแค่ว่า 'So much injustice' กินใจความถึงหนังทั้งเรื่อง รวมถึงชีวิตของ เช กูวาร่า

2046 -- การปรากฏตัวของเฟย์ หว่อง ในภาคแอนดรอยล์ ... กรี๊ดx18 ทีๆๆๆ

Land of Plenty -- 'Because they hate us'

Reconstruction & Right Now -- เกือบทุกฉาก




เห็นในเวบ //www.bangkokfilm.org/ บอกไว้ว่า BKKIFF2006 จะจัดช่วง 17-27 กุมภาพันธ์ 2549 ครับ แย่จัง…ช่วงนั้นใกล้สอบพอดีเลย แบบนี้ก็คงดูหนังได้น้อยลงเสียนะเนี่ย -_-‘

เจอกันอีกทีปีหน้านะครับ…



Create Date : 25 มิถุนายน 2548
Last Update : 25 มิถุนายน 2548 21:21:24 น. 2 comments
Counter : 2309 Pageviews.

 
//www.bangkokfilm.org/th/newsdetail.aspx?id=53

ผู้ที่คว้ารางวัลกินรีทองคำทั้ง 7 ตัว ได้แก่

รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Film) ได้แก่ THE SEA INSIDE จากประเทศสเปน กำกับโดย Alejandro Amenabar

รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Director) ได้แก่ Park Chan-Wook จากภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง OLD BOY และ Christophe Barratier (Les Choristes) จาก France/Switzerland

รางวัลผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor) ได้แก่ JAVIER BARDEM จากเรื่อง The Sea Inside

รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress) ได้แก่ ANNETTE BENING จาก Being Julia ภาพยนตร์ร่วมทุนระหว่างแคนาดา อังกฤษ และฮังการี และ Ana Geislerova จากภาพยนตร์เรื่อง Zelary หนังของประเทศ Czech Republic

รางวัลภาพยนตร์อาเซียนยอดเยี่ยม (Best ASEAN Film) ได้แก่ THE BEAUTIFUL WASHING MACHINE จากประเทศมาเลเซีย กำกับโดย James Lee

รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม (Best Documentary) ได้แก่ BORN INTO BROTHELS จากสหรัฐและอินเดีย กำกับโดย Zana Briski & Ross Kaufman

รางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ (New Voices Award ) ได้แก่ BHARATBALAกำกับหน้าใหม่ชาวอินเดีย จากภาพยนตร์เรื่อง Hari Om

อีก 1 รางวัลพิเศษ ซึ่งแถมเงินรางวัลให้อีก 6000 ยูโร จากการสนับสนุนของเครื่องดื่ม Jameson ได้แก่
รางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม (The Jameson Best Asian Short film Award) ได้แก่ BIRTHDAY จากประเทศสิงคโปร์ กำกับโดย Bertrand Lee

นอกจากนี้ยังมีการประกาศรางวัลกินรีเกียรติยศ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติแก่บุคลากรในวงการภาพยนตร์สาขาต่างๆ ดังนี้

Lifetime Achievement Award มอบให้ วิจิตร คุณาวุฒิ ผู้กำกับระดับปรมาจารย์ของประเทศไทย ซึ่งล่วงลับไปแล้ว ผู้ขึ้นรับรางวัลแทนคือ นางทองปอนด์ คุณาวุฒิ ภริยา และนายคณิต คุณาวุฒิ บุตรชาย

Career Achievement Award มอบให้ Joel Schumacher โดย มี Michael Douglas เป็นผู้ขึ้นกล่าวเชิดชูเกียรติ

Career Achievement in Animation Award มอบให้ Gabor Csupo เจ้าของผลงานแอนิเมชั่นที่โด่งดังอย่าง Simpson และ Rugrat เป็นต้น

Award of Recognition เป็นรางวัลที่มอบสำหรับบุคคลผู้มีคุณปการต่อวงการภาพยนตร์เอเชีย มอบให้ หว่อง กาไว ผู้กำกับจาก In the Mood for Love, Hero และล่าสุดคือ 2046
(**ข้อมูลในเวบผิด Hero กำกับโดย จางอี้โหมว)

สำหรับรางวัลพิเศษ Special Mentions ได้แก่
Touch The Sound กำกับโดย THOMAS RIEDELSHEIMER จากประเทศเยอรมันนี
Final Solution กำกับโดย RAKESH SHARMA จากประเทศอินเดีย

และรางวัลสุดท้าย ซึ่งตัวรางวัลเป็นรูปกินรีอยู่ในเลนส์คริสตัลใสแจ๋ว ได้แก่
Crystal Lens Award มอบให้ Rodrigo Prieto ผู้กำกับภาพจาก Alexander, Frida, 21 Grams, Original Sin และ 8 Mile เป็นต้น


โดย: merveillesxx วันที่: 25 มิถุนายน 2548 เวลา:21:26:02 น.  

 
ย้อนอดีตกีฬาดัง กับ Bangkok International Film Festival ปีก่อนๆ

**ปี 2003** (ได้ดูเรื่องเดียว)
Dolls (A)

**ปี 2004** (ดู 7 เรื่อง)
(ที่จริงพิมพ์ถึงหนังในปีนี้ไว้ด้วย แต่ดันไม่ได้เซฟไว้ ฮือๆๆ T__T)

1/2 The Rent (A-)
The Labyrinth (A)
15 (B)
Noi Albinoi (A+)
Nicotina (A-)
Distant (A)
Spring, Summer, Fall, Winter…and Spring (A+++)


โดย: merveillesxx วันที่: 25 มิถุนายน 2548 เวลา:21:28:10 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.