http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2551
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
27 พฤษภาคม 2551
 
All Blogs
 
อีกด้านหนึ่งของ “หนังเปียโน”

โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง


(หมายเหตุ : เดิมทีบทความนี้จะตีพิมพ์ลงในนิตยสารฉบับหนึ่ง แต่ด้วยเหตุบางประการจึงไม่ได้ลง)

เมื่อปีก่อนภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Shindo อันว่าด้วยหนุ่มสาวที่สื่อหัวใจถึงกันด้วยเปียโนเพิ่งเข้าฉายในบ้านเรา และก็สร้างกระแสได้พอสมควร หลายเสียงบอกว่าเป็นหนังที่ดูแล้วอบอุ่นหัวใจ แถมเสียงเปียโนในหนังก็เป็นเหมือนแสงสว่างแก่ตัวละครในเรื่อง แต่ใช่ว่าหนังแนวเปียโนจะมีแต่ความงดงามเท่านั้น วันนี้เราขอเสนอเหล่าหนังเปียโนอีกขั้วหนึ่งที่จะพาคุณดำดิ่งไปกับความเศร้า ความหดหู่ ความชั่วร้าย ไปจนถึงความหลอกหลอน





Shine (1996, Scott Hicks, ออสเตรเลีย)

นี่อาจจะเป็นหนังสว่างที่สุดในบรรดาหนังที่คัดสรรมา หนังสร้างจากชีวิตจริงของ เดวิด เฮล์ฟก็อตต์ นักเปียโนชาวออสเตรเลีย ผู้เริ่มต้นจากการเล่นเปียโนตามบาร์ จนไต่เต้าถึงจุดสูงสุดได้เล่นสดในคอนเสิร์ตฮอลล์ แต่กว่าที่เฮล์ฟก็อตต์จะส่องแสงประกายได้ขนาดนั้น เขาต้องผ่านความมืดมิดมานับไม่ถ้วน ทั้งพ่อที่เข้มงวด ภาวะสงคราม และการคร่ำเคร่งกับการฝึกซ้อมจนทำให้เขาเป็นบ้า! หนังแสดงภาพว่าบางทีการเล่นเปียโนก็รุนแรงไม่แพ้กับการทำสงคราม ตัวละครของเฮล์ฟก็อตต์รับบทโดย เจฟฟรี่ย์ รัช ซึ่งเขาก็ได้ให้การแสดงอันสุดยอด จนสามารถคว้ารางวัลดารานำชายมาจากเวทีออสการ์ได้






The Piano (1993, Jane Campion, ออสเตรเลีย)

หนังเปียโนที่โด่งดังที่สุดในโลกภาพยนตร์ (คว้ารางวัลปาล์มทองมาจากคานส์) ว่าด้วยเอด้า (ฮอลลี่ ฮันเตอร์ - ได้นำหญิงจากออสการ์) สาวใบ้ที่เดินทางมายังเกาะแห่งหนึ่งเพื่อแต่งงานใหม่ เธอมีเพียงสองสิ่งที่ติดตัวมาด้วยคือ ลูกสาว (แอนนา พาควิน - แจ้งเกิดจากเรื่องนี้) และเปียโนสุดที่รัก แต่แล้วเธอก็แทบใจสลายเมื่อสามีขายมันให้กับเพื่อนบ้านที่ชื่อจอร์จ เอด้าแอบไปหาจอร์จและเขาก็ยอมให้เธอเล่นเปียโนได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องสอนเขาเล่นด้วย ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จึงเริ่มพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ หนังใช้เปียโนเป็นสัญลักษณ์แทนจิตวิญญาณของเอด้า และยังใช้เป็นเครื่องอุปมาด้วยว่าทำไมเอด้าถึงเลือกจอร์จมากกว่าสามีของเธอ






The Pianist (2002, Roman Polanski, ฝรั่งเศส-เยอรมัน-อังกฤษ-โปแลนด์)

นี่ก็อีกเรื่องที่สร้างจากเรื่องจริง จากบันทึกความทรงจำของ วลาดี้สลอว สปิลมาน นักเปียโนครึ่งโปแลนด์-ยิว ผู้รอดชีวิตมาจากการฆ่าล้างยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เอเดรี้ยน โบรดี้ รับบทสปิลมานได้อย่างยอดเยี่ยม จนได้นำชายจากออสการ์ แถมหนังยังแสดงภาพความโหดร้ายของเหตุการณ์นั้นได้สมจริง เพราะผู้กำกับโปลันสกี้ใส่ประสบการณ์ช่วงวัยเด็กของเขาลงไปด้วย (ฉากที่ลืมไม่ลงคือ ตอนที่พวกนาซีจับยิวมาตั้งแถว แล้วยิงเรียงทีละคน!) ความน่าสนใจอีกอย่างของหนังอยู่ที่ความสัมพันธ์ระว่างสปิลมานกับกัปตันนาซีที่ช่วยชีวิตเขาไว้ ทำให้หนังดูมีมิติมากขึ้น เพราะแสดงความเห็นใจต่อทั้งสองฝ่าย






The Piano Teacher (2001, Michael Haneke, ฝรั่งเศส-ออสเตรีย)

สุดยอดหนังอื้อฉาวตลอดกาลของผู้กำกับเลือดเย็น ไมเคิล ฮาเนเก้ (เขาทำคนดูหัวใจวายอยู่บ่อยๆ) สร้างจากนิยายแรงๆของ อัลฟีเดอ เยลิเน็ค (เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 2004) ว่าด้วยสาวใหญ่ครูสอนเปียโน ผู้มีฉากหน้าเป็นอาจารย์ผู้เคร่งครัด แต่ลึกๆแล้วเธอปรารถนาในลูกศิษย์หนุ่มสุดหล่อเหลือเกิน (แถมยังไม่ใช่แบบธรรมดา เพราะเธออยากให้เขาตบตีทำร้ายเธอ!) หนังมีฉากช็อคโลกมากมาย ตั้งแต่นางเอกหยิบทิชชู่เปื้อนน้ำกามมาดม ไปจนถึงฉากกรีดอวัยะเพศตัวเองด้วยมีดโกน! อิซาเบล อูแปต์ ดาราสาวชาวฝรั่งเศส แสดงได้ยอดเยี่ยม จนคณะกรรมการที่คานส์โหวตรางวัลนำหญิงให้เธออย่างเอกฉันท์






Merci pour le Chocolat (2000, Claude Chabrol, ฝรั่งเศส)

ก่อนหน้าจะเล่น The Piano Teacher อิซาเบล อูแปต์ก็เคยข้องเกี่ยวกับเปียโนมาแล้วในหนังเรื่องนี้ เธอไม่ได้เล่นเป็นนักเปียโน แต่เล่นเป็นเมียของนักเปียโน ทั้งคู่ก็ดูจะมีความสุขชื่นมื่นกันดี แต่เมื่อลูกสาวของภรรยาเก่าที่ตายไปแล้วเดินเข้ามาในบ้าน เธอก็เริ่มเปิดเผยความชั่วร้ายออกมาทีละนิด และทุกอย่างก็ชี้นำเหลือเกินว่าเธอนั่นแหละที่เป็นคนฆ่าภรรยาเก่าของพระเอก หนังกำกับโดยคล็อด ชาโบรล ผู้กำกับชาวฝรั่งเศสที่ทำหนังแนวฆาตกรรมมาแล้วเกือบ 70 เรื่อง เสน่ห์ของหนังอยู่ที่การไม่สนใจว่าใครเป็นฆาตกร เพราะหนังก็บอกโต้งๆ อยู่แล้วว่าใครทำ (แต่เราก็ยังเชื่อไม่ลงอยู่ดี) แต่เน้นไปที่เหตุการณ์หลังจากนั้นมากกว่า






The Page Turner (2006, Denis Dercourt, ฝรั่งเศส)

สิบปีแก้แค้นก็ยังไม่สาย - ประโยคนี้ยิ่งเป็นจริงสำหรับหนังเรื่องนี้ หนูน้อยเมลานีมีพรสวรรค์ด้านเปียโน เธอเดินเข้าไปสอบแข่งขันอย่างมั่นใจ แต่แล้วเพราะเอเรียง -นักเปียโนชื่อดังและเป็นหนึ่งในกรรมการ-มัวแต่แจกลายเซ็นให้แฟนคลับ เธอก็เลยเสียสมาธิจนพาลสอบตก เมลานีตัดสินใจเลิกเล่นเปียโนทันที หลายปีผ่านไป เธอแอบแฝงเข้าไปในครอบครัวของเอเรียงอย่างแนบเนียน จากตอนแรกที่เป็นเลขา ในที่สุดเธอสนิทสนมกับเอเรียงมากขึ้นจนได้เป็น “คนเปิดโน้ต” และเมื่อเอเรียงจะขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่ เวลาปิดบัญชีของเธอก็มาถึง หนังโดดเด่นที่บรรยากาศเย็นชา และการแสดงหน้าตายของ เดเบอร่าห์ ฟรองซัวส์ (รับบทเมลานี)






Pingpong (2006, Matthias Luthardt, เยอรมัน)

เป็นเหมือนหนังคู่แฝดกับ The Page Turner พล็อตเรื่องคล้ายกันมาก แค่เปลี่ยนนักแสดงนำเป็นผู้ชายแทน พอล เด็กหนุ่มหน้าหล่อย้ายเข้าไปอาศัยกับคุณป้าอันนาโดยไม่บอกล่วงหน้า อันนาดูจะไม่พอใจเล็กน้อย แต่ก็ต้อนรับหลายชายเป็นอย่างดี อันนาเคี่ยวเข็ญให้ลูกชายเป็นนักเปียโน พวกเขาสองคนใช้มันเป็นเครื่องมือในการทะเลาะกันบ่อยๆ และพอลก็ตกเป็นคนกลางในสงครามของแม่ลูกคู่นี้ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ต้องห้ามกับอันนามากขึ้นเรื่อยๆ หนังเปรียบเทียบพอลกับอันนาเหมือนกับกีฬาปิงปอง (ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ครอบครัวนี้ชอบทำกันบ่อยๆ) นั่นคือ ตีโต้กันไปมา และยิ่งตีมันก็ยิ่งแรงขึ้นทุกที






All About Lily Chou-Chou (2001, Shunji Iwai, ญี่ปุ่น)

หนังวัยรุ่นแสนหดหู่อันโด่งดังที่มีแฟนคลับมากมาย (จนแทบจะถือเป็นหนังคัลต์ได้) และเปลี่ยนชีวิตใครมานักต่อนัก หนังเล่าถึงยูอิจิ เด็กหนุ่มขี้แพ้ที่ต้องยอมเป็นลูกน้องของพวกเด็กเกเร เขาหาทางเยียวยาด้วยการแฝงตัวอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต สถาปนาตัวเองเป็นผู้ก่อตั้งเวบไซต์สาวกของ “ลิลี่ ชูชู” นักร้องสาวชื่อดัง หนังสะท้อนประเด็นร่วมสมัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องความรุนแรงในโรงเรียน, สังคมอินเตอร์เน็ต และการเสพติดในวัฒนธรรมป็อป หนังยังโดดเด่นด้านเพลงประกอบที่ใช้เพลงของ คล็อด เดอบุซซี่ (นักเปียโนชาวฝรั่งเศสชื่อดัง) ซึ่งเสียงเปียโนอันไพเราะเพราะพริ้ง ก็ช่างขัดแย้งกับความรุนแรงมืดหม่นในหนังเสียเหลือเกิน






The Piano Tuner of Earthquake
(2005, The Quay Brothers, เยอรมัน-ฝรั่งเศส-อังกฤษ)

พี่น้องเควยส์โด่งดังจากการทำแอนิเมชั่นหุ่นชักอันหลอกหลอน และเมื่อหันมาทำหนังคนเล่นเรื่องแรกมันก็หลอนไม่แพ้กัน เนื้อเรื่องของหนังเป็นดั่งเทพนิยาย มัลวิน่านักร้องโอเปร่าแสนสวยตายอย่างปริศนา ร่างของเธอถูกดร.ดรอซ ลักพาไป เฟลิสแบร์โตเป็นนักจูนเสียงเปียโนที่ทำงานในคฤหาสน์ของดรอซ เขารู้สึกได้ถึงความลึกลับบางอย่าง จนในที่สุดก็ล่วงรู้ว่าดรอซต้องการดัดแปลงร่างของมัลวิน่าให้กลายเป็นเครื่องกลที่เปล่งเสียงเพลงไพเราะราวกับนกไนท์ติ้งเกล (คิดพล็อตได้ยังไงเนี่ย!) หนังเป็นเหมือนส่วนผสมของตำนานแดร็กคิวล่า กับเรื่องของแฟรงเก้นสไตน์ จุดเด่นของหนังอยู่ที่งานด้านภาพที่ใครต่อใครพากันชมว่าเหมือนดูงานศิลปะ






Chronicle of Anna Magdalena Bach
(1968, Daniele Huillet + Jean-Marie Straub, เยอรมันตะวันตก-อิตาลี)

หนังชีวประวัติเกี่ยวกับ โจฮัน เซบาสเตียน บาค คีตกวีชาวเยอรมันผู้โด่งดัง แต่หนังกลับเล่าผ่านเสียงบรรยายของอันนาผู้เป็นภรรยา แต่การดูหนังเรื่องนี้จะไม่ได้ทำให้คุณรู้จักบาคมากขึ้นแต่อย่างใดเลย เพราะหนังทั้งเรื่องมีแต่คนมาเล่นเพลงของบาคให้เราฟังไปเรื่อยๆ! หนังเฮี้ยนขนาดนี้ก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะเป็นผลงานของสองผู้กำกับอุลเล่ต์และสโตรบ (ทั้งคู่เป็นสามีภรรยากัน - ฝ่ายชายเพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อปีที่แล้ว) ทั้งสองเป็นคนทำหนังที่มักถูกลืม แต่พวกเขาทำหนังฮาร์ดคอร์สุดๆ These Encounters of Theirs ผลงานเรื่องสุดท้ายของพวกเขา ยาวแค่หนึ่งชั่วโมง แต่ไม่มีอะไรเลยนอกจากคนยืนนิ่งๆ! จนเทศกาลหนังเวนิซต้องมอบรางวัลพิเศษให้หนังในฐานะ “นวัตกรรมแห่งภาษาภาพยนตร์”



Create Date : 27 พฤษภาคม 2551
Last Update : 27 พฤษภาคม 2551 0:54:21 น. 4 comments
Counter : 5029 Pageviews.

 
ฮือๆๆๆ หนูอยากดู Pingpong T^T


โดย: nanoguy IP: 125.24.130.24 วันที่: 27 พฤษภาคม 2551 เวลา:13:10:46 น.  

 
+ ส่วนพี่ ยังไม่ได้ดู The piano กับ The piano teacher เลยอ่า แง้วววว อยากดู


โดย: บลูยอชท์ วันที่: 28 พฤษภาคม 2551 เวลา:19:24:18 น.  

 
รวมมิตรเปียโนเลยเนอะ ขาดThe legend of 1900 ไปเรื่องนึง เอามาเติมหน่อยสิ


โดย: coming soon (The Yearling ) วันที่: 29 พฤษภาคม 2551 เวลา:15:40:18 น.  

 
ใช่ค่ะชอบ1900


โดย: oil IP: 58.9.120.217 วันที่: 5 มิถุนายน 2551 เวลา:1:55:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.