http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
21 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
บทวิจารณ์รางวัล มล. บุญเหลือปี 2553 + ความเห็นของคณะกรรมการ


ผลการประกวด
บทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครดีเด่น
กองทุน หม่อมหลวง บุญเหลือ เทพสุวรรณ ประจำปี 2553


ไม่มีผู้ได้รับรางวัลดีเด่น

รางวัลชมเชยมี 2 รางวัล ได้แก่

1. บทวิจารณ์ภาพยนตร์ เรื่อง Stealth : คน ตัวตน เพศสภาพ และชาติพันธุ์ โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง (อ่านได้ที่ //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=merveillesxx&month=12-2009&date=01&group=1&gblog=206)

2. บทวิจารณ์ละครเวที เรื่อง แม่นาค เดอะ มิวสิคคัล: การตีความใหม่ที่ยอดเยี่ยมและลึกซึ้ง โดย ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง (อ่านได้ที่ //www.barkandbite.net/2009/12/%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84-%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%A5-%E0%B8%99%E0%B8%B5/ )


======================


ความเห็นของคณะกรรมการตัดสิน
บทวิจารณ์ภาพยนตร์และละคร ประจำปี 2553


คณะกรรมการตัดสินบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครดีเด่น ประำจำปี 2553 ได้พิจารณาบทวิจารณ์ซึ่งมีผู้ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 19 ราย และมีมติให้บทวิจารณ์ของ คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง และ ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครดีเด่นของกองทุนหม่อม หลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ประจำปี 2553 ดังมีเหตุผลต่อไปนี้

บทวิจารณ์ของ คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง มีความโดดเด่นและน่าสนใจตั้งแต่ในขั้นตอนของการเสาะแสวงหาและการคัดเลือก ภาพยนตร์และละครเวทีมาวิจารณ์ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นนักเสพงานศิลปะที่มีสายตาและวิสัยทัศน์กว้างไกล อีกทั้งข้อเขียนดังกล่าวยังแสดงให้เห็นทั้งความรอบรู้ ความเข้าอกเข้าใจ ความช่างสังเกต ความอ่อนไหว ความสามารถในการเชื่อมโยง ตลอดจนความแม่นยำในการเลือกแง่มุมต่างๆ ของผลงานเหล่านั้นมากล่าวถึงหรืออธิบายหรือตีความได้อย่างมีเสน่ห์ชวนติดตาม เหนือสิ่งอื่นใดบทวิจารณ์ของคันฉัตรสามารถโน้มน้าวชักจูงหรือกระตุ้นให้ผู้ อ่านเกิดความกระตือรือร้นที่จะขวนขวายหรือแสวงหาโอกาสที่จะชมผลงานเหล่านั้น ด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บทวิจารณ์ของคันฉัตรควรได้รับการแก้ไขปรับปรุงได้แก่ลักษณะการใช้ ภาษาที่แม้ว่าจะอ่านง่ายและมีความราบรื่น แต่ในบางกรณี ความสามารถในการเลือกใช้คำหรือรูปประโยคเพื่อการสื่อความหมาย ตลอดจนชั้นเชิงในทางวรรณศิลป์ยังขาดความหลากหลาย หรืออยู่ในกรอบที่ค่อนข้างกำจัด อันส่งผลให้อรรถรสและพลังในการสื่อสารลดทอนไปอย่างน่าเสียดาย กระนั้นก็ตามในภาพรวมก็ยังคงนับว่าเป็นบทวิจารณ์ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนความเชื่อมันศรัทธาในสิ่งที่เขียนและสามารถขยับขยายโลกทัศน์ของผู้ อ่านได้อย่างน่าชื่นชม

บทวิจารณ์ของ ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบในด้านต่างๆ ของศิลปะแขนงนี้ด้วยมุมมองของความเข้าใจ ผ่านการตีความรายละเอียดให้เห็นถึงความหมายด้านต่างๆ ด้วยทักษะความรู้ที่น่าพอใจ เป็นการวิจารณ์ในเชิงขนบที่สื่อถึงความรู้ในแง่มุมนั้นๆ ได้อย่างมีลำดับขั้นตอน...พร้อมคำอธิบายถึงสิ่งที่ควรมีควรเป็นในละครแต่ละ เรื่อง...บทบาทในการนำเสนอของผู้วิจารณ์จัดอยู่ในสถานะของผู้สังเกตการณ์ที่ สามารถอธิบายภาษาของละครออกมาได้อย่างมีมิติ เป็นความคิดเห็นที่เปิดกว้างแก่ผู้อ่านที่จะสามารถศึกษาและสืบค้นนัยเรื่อง ราวแห่งบทวิจารณ์ทั้งหมดได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ว่าความลึกซึ้งและเชิงชั้นในการวิจารณ์ยังสามารถเพิ่มความเข้มข้น และหนักแน่นในสาระเนื้อหาเข้าไปได้อีก รวมทั้งมุมมองเชิงลึกเกี่ยวเนื่องกับบริบทของโลกและชีวิตก็สามารถจะพัฒนาไป สู่งอค์ความคิดที่ซับซ้อนและมีแก่นสารสำคัญได้มากกว่านี้...อย่างไรก็ดี.. นี่คืองานวิจารณ์ในบทเริ่มต้นของอนาคต ซึ่งคาดหวังได้ว่าผู้วิจารณ์จะเติบโตและสามารถที่จะพัฒนาฝีมือให้ก้าวหน้า อย่างมีคุณค่าต่อไป


========================


รายนามคณะกรรมการพิจารณาตัดสิน
บทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครดีเด่น ประจำปี 2553


อาจารย์นิตยา มาศะวิศุทธิ์ ... ประธานกรรมการ

รองศาสตราจารย์อรชุมา ยุทธวงศ์ ... กรรมการ

อาจารย์สกุล บุณยทัต ... กรรมการ

อาจารย์กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ... กรรมการ

อาจารย์อรยา สูตะุบุตร ... กรรมการ

อาจารย์รัศมี เผ่าเหลืองทอง ... กรรมการ

อาจารย์ประวิทย์ แต่งอักษร ... กรรมการ


========================


รายนามผู้ได้รับรางวัลบทวิจารณ์วรรณกรรมดีเด่น
และบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครดีเด่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 - 2553


รางวัลบทวิจารณ์วรรณกรรมดีเด่น ประจำปี 2535
นายชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ / นายธเนศ เวศร์ภาดา

รางวัลบทวิจารณ์วรรณกรรมดีเด่น ประจำปี 2536
นายพีระ พรหมโสภี (บรรณ ประลองบรรณ)

รางวัลบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครดีเด่น ประจำปี 2537
นายประชา สุวีรานนท์ / นายยุทธิชัย วีระวงศ์

รางวัลบทวิจารณ์วรรณกรรมดีเด่น ประจำปี 2538
นายจรูญพร ปรปักษ์ประลัย / นายนฤมิตร สอดศุข

รางวัลบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครดีเด่น ประจำปี 2539
นายพรชัย วิริยะประภานนท์ (นรา)

รางวัลบทวิจารณ์วรรณกรรมดีเด่น ประจำปี 2540
รศ.ดร.ดวงมน จิตร์จำนงค์ / นายสกุล บุณยทัต

รางวัลบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครดีเด่น ประจำปี 2541
ไม่มีผู้ได้รับรางวัล

รางวัลบทวิจารณ์วรรณกรรมดีเด่น ประจำปี 2542
ไม่มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด

รางวัลบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครดีเด่น ประจำปี 2543
นางสาวอัญชลี ชัยวรพร

รางวัลบทวิจารณ์วรรณกรรมดีเด่น ประจำปี 2544
นายเสนาะ เจริญพร

รางวัลบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครดีเด่น ประจำปี 2545
นางภัทรวดี จันทรประภา (ภัทรวดี สุพรรณพันธุ์)

รางวัลชมเชยบทวิจารณ์วรรณกรรม ประจำปี 2546
นายอรรคภาค เล้าจินตนาศรี (ภาคย์ จินตนมัย)

รางวัลบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละครดีเด่น ประจำปี 2547
นายอลงกต ใหม่ด้วง (กัลปพฤกษ์)

รางวัลบทวิจารณ์วรรณกรรมดีเด่น ประจำปี 2548
นางสาวจณิษฐ์ เฟื่องฟู

รางวัลชมเชยบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละคร ประจำปี 2549
นายพันธ์ศักดิ์ สุพงศกร (พล พะยาบ)

รางวัลชมเชยบทวิจารณ์วรรณกรรม ประจำปี 2550
นายนัทธนัย ประสานนาม

รางวัลชมเชยบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละคร ประจำปี 2551
นายอภิรักษ์ ชัยปัญหา / นายชาคร ไชยปรีชา

รางวัลชมเชยบทวิจารณ์วรรณกรรม ประจำปี 2552
นายจิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร

รางวัลชมเชยบทวิจารณ์ภาพยนตร์และละคร ประจำปี 2553
นายคันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง / นายณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง


========================




Stealth : คน ตัวตน เพศสภาพ และชาติพันธุ์
โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

(ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร 'ละครยามเช้า' ฉบับที่ 1 สิงหาคม-กันยายน 2552)

ภาพยนตร์สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์เรื่อง Stealth (2006) หรือชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า Comme des voleurs เป็นหนังที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์ตลกเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อันที่จริงแล้ว Stealth ไม่ใช่หนังตลกโปกฮาอะไรมากมาย ออกไปหนังดราม่าด้วยซ้ำ แต่หนังมีความน่าสนใจมากในการสำรวจมนุษย์ในหลายแง่มุม

ก่อนจะลงลึกไปถึงหนัง ก็ขอเล่าถึงเจ้าของผลงานเสียก่อน หนังเป็นฝีมือของ ไลโอเนล ไบเยอร์ (Lionel Baier) ผู้กำกับไฟแรงชาวสวิตเซอร์แลนด์ ไบเยอร์สร้างชื่อจากหนังเรื่อง Stupid Boy (2004) ที่เล่าถึงเกย์หนุ่มที่กำลังค้นหาความหมายของชีวิต (ไบเยอร์ไม่ปิดบังว่าตัวเองเป็นเกย์) หรือหนังเรื่องล่าสุดอย่าง Another Man (2008) ว่าด้วยนักวิจารณ์หนุ่มไม่เอาไหนที่ไปตกหลุมรักเพื่อนร่วมงานสาว

นักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่าหนังของไบเยอร์มักสำรวจถึงประเด็นร่วม สมัย ด้วยลีลาท่าทางแบบเสียดสีแดกดัน อย่างใน Stupid Boy คือการพูดถึงความสัมพันธ์ของเกย์ในยุคสมัยใหม่ ส่วน Another Man เป็นการล้อเลียนวิกฤตของวัฒนธรรมการวิจารณ์ในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการแบบนี้ก็ปรากฏใน Stealth เช่นกัน

Stealth เล่าถึงชายหนุ่มที่ชื่อ ไลโอเนล (ไบเยอร์รับบทนี้เอง) นักเขียนเกย์ที่ประสบความสำเร็จ มีแฟนหนุ่มหล่อหน้าตาดี ชีวิตของไลโอเนลดูจะมีความสุขสมดี จนวันหนึ่งเขาค้นพบว่าตัวเองอาจมีเชื้อสายมาจากชาวโปแลนด์ ไลโอเนลจึงลงมือสืบสอบถึงชาติพันธุ์ของตัวเองด้วยวิธีที่ไม่ธรรมดา

ไลโอเนลเริ่มเสพติดทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับโปแลนด์ เขาซื้อหนังสือของนักเขียนชาวโปแลนด์มาอ่าน หัดพูดภาษาโปลิช ย้อมผมตัวเองจากสีทองเป็นดำ หรือกระทั่งให้แฟนหนุ่มช่วยพิจารณาว่าโครงหน้าของเขาดูเหมือนคนโปแลนด์หรือ ไม่ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเขาได้พบกับหญิงสาวชาวโปแลนด์ชื่ออีวา และรู้ว่าเธอหนีเข้าประเทศมาอย่างผิดกฎหมาย ไลโอเนลก็พาเธอมาอยู่ที่บ้านทันที

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ของไลโอเนลกับแฟนหนุ่มเริ่มสั่นคลอน จากนั้นหนังก็พาเราไปรู้จักตัวละครอีกตัว นั่นคือ ลูซี (นาตาชา โคตโชวมอฟ – ดาราสาวคู่บุญของไบเยอร์ เธอเล่นหนังของเขาเกือบทุกเรื่อง) พี่สาวของไลโอเนล ดูเหมือนว่าลูซีจะทำงานกับหน่วยงานที่มีเส้นสายพอสมควร ไลโอเนลจึงขอร้องให้เธอช่วยอีวา แต่ลูซีปฏิเสธอย่างไม่ลังเล พร้อมกับคิดว่าน้องชายของเธอคงเพี้ยนไปแล้ว

ไลโอเนลยังไม่หยุดกับการตามหาต้นตอของตัวเอง เขาไปคาดคั้นถามหาประวัติโคตรเหง้าตระกูลจากพ่อแม่ ซึ่งทั้งสองก็ยอมรับว่ารุ่นปู่ของเขามีเชื้อสายโปแลนด์จริงๆ และไลโอเนลยังทำให้เรื่องราววุ่นวายขึ้นไปเมื่อเขาเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ กับอีวา จนในที่สุดไลโอเนลจึงประกาศว่าแต่งงานกับเธอ ทั้งที่เขาเป็นเกย์มาทั้งชีวิต!

ทั้งหมดที่ว่าเป็นเพียงครึ่งแรกของหนังเรื่องนี้ แต่เราก็สังเกตถึงความคมคายบางอย่างของ Stealth ได้ นั่นคือ การเปรียบเปรยถึงความสับสนในเรื่อง ‘ชาติพันธุ์’ และ ‘เพศสภาพ’ คู่กันไป ผ่านทางตัวละครของไลโอเนล กล่าวคือ นอกจากไลโอเนลจะพยายามเปลี่ยนตัวเองจากชาวสวิตเซอร์แลนด์เป็นโปแลนด์แล้ว เขายังเปลี่ยนเพศสภาพของตัวเองจากเกย์ไปเป็นผู้ชายที่ชอบกับผู้หญิงด้วย

สองประเด็นนี้ทำให้ Stealth น่าสนใจและแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ ปกติแล้วในเรื่องของชาติพันธุ์หนังส่วนใหญ่มักพูดถึงความขัดแย้งที่มีมาช้า นาน ไม่ว่าจะเป็น อิสราเอล-ปาเลสไตน์, เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ หรือ ไทย-พม่า แต่ไม่ค่อยพบหนังที่พูดถึงเรื่องเช่นนี้ในการค้นหาระดับปัจเจก (แต่ก็มีความสากลไปพร้อมกัน) เท่าไรนัก ส่วนในเรื่องของเพศสภาพ ถ้าพูดเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ก็มักจะเป็นการเปลี่ยนจากผู้ชายเป็นเกย์ (หรือการ come out) การเปลี่ยนแปลงทางเพศสภาพของไลโอเนลจึงเป็นการสวนทางกับหนังส่วนใหญ่

Stealth ยังแสดงทัศนคติสมัยใหม่เรื่องเพศสภาพ โดยพ่อแม่ของไลโอเนลนั้นไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจใดๆ ทั้งสิ้นที่ลูกชายของตนเป็นเกย์ (ภาพยนตร์ไทยเรื่อง A Moment in June หรือ ‘ณ ขณะรัก’ มีตัวละครพ่อในลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งนับเป็น ‘เรื่องใหม่’ สำหรับวงการหนังไทย) แถมพวกเขาไม่ว่าอะไรด้วยซ้ำที่ลูกชายจะเปลี่ยนมาชอบผู้หญิง หรือจะตามล่าหาชาติพันธุ์โปแลนด์ของตัวเอง มีเพียงพี่สาวอย่างลูซีเท่านั้นที่คอยคัดค้านทุกสิ่งที่ไลโอเนลทำ

อย่างไรก็ดี คำถามสำคัญที่ต้องขบคิดคือ ไลโอเนลช่วยเหลืออีวาอย่างจริงใจ หรือแท้จริงแล้วเธอเป็นเพียงหนึ่งใน ‘ความลุ่มหลง’ ที่เขามีต่อโปแลนด์เท่านั้น เพราะในฉากที่ไลโอเนลประกาศจะแต่งงานกับอีวา พี่สาวของเขาก็สุดจะทนและสติแตกในที่สุด ลูซีพยายามคาดคั้นให้ไลโอเนลพูดคำว่ารักต่อหน้าอีวา แต่เขาได้แต่อ้ำอึ้ง และถึงแม้ไลโอเนลจะอ้างความชอบธรรมว่าจะแต่งงานกับอีวาเพื่อช่วยให้เธออยู่ ในสวิตเซอร์แลนด์อย่างถูกกฎหมาย แต่มันก็คล้ายกับว่าไลโอเนลต้องการครอบครองเธอในฐานะ ‘วัตถุจากโปแลนด์’

ครึ่งหลังของ Stealth พลิกผันแบบเหนือความคาดเดาเล็กน้อย เมื่อลูซีเข้าไปสงบสติอารมณ์ในรถ ไลโอเนลเข้าไปปลอบเธอ แต่ยังไม่ทันจะพูดอะไร ลูซีก็ตัดสินใจบึ่งรถออกไปทันที และที่ประสาทแตกเข้าไปอีกก็คือ เธอตัดสินใจขับรถไปโปแลนด์! ราวกับจะประชดน้องของตัวเองว่าไหนๆ ก็อยากรู้นักใช่มั้ยว่ามีโคตรเหง้าอยู่ที่โปแลนด์หรือเปล่า ว่าแล้วจะพาไปพิสูจน์ให้เห็นด้วยตาเสียเลย

จากนั้นหนังมีพล็อตเพิ่มขึ้นมาอีกส่วนคือ การสำรวจความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างพี่สาว-น้องชายอย่างลูซีและไลโอเนล หนังบอกกับเรากลายๆ ว่าแม้ลูซีจะมีงานการที่มั่นคง มีสามีที่ดี แต่เธอกลับดูไม่มีความสุขในชีวิต อนุมานได้ไม่ยากว่าที่เธอกระฟัดกระเฟียดใส่น้องชายอยู่ตลอดเวลา ก็เพราะอิจฉาในวิถีชีวิตอิสระชนิด ‘อยากทำอะไรก็ทำ’ ของไลโอเนลนั่นเอง

เมื่อตัวละครหลักทั้งสองขับรถไปถึงโปแลนด์ บรรยากาศของหนังก็เปลี่ยนไปทันที จากภาพสีสันสวยนวลตาในช่วงแรก กลับกลายเป็นเมืองที่เย็นชา รกร้าง เต็มไปด้วยบรรยากาศแบบยุโรปตะวันออกและซากปรักหักพังของยุคหลังคอมมิวนิสต์ หนังยังเพิ่มความตึงเครียดไปอีกเมื่อลูซีและไลโอเนลพยายามช่วยเหลือหญิงสาว คนหนึ่งที่ถูกชายฉกรรจ์ทำร้าย แต่กลายเป็นว่าคนแปลกหน้าทั้งสองหันมาตบตีสองพี่น้องเสียแทน ไลโอเนลพูดกับพี่สาวอย่างหน้าตาเฉยว่า “นี่อาจจะเป็นวัฒนธรรมของพวกเขา” แต่นี่แหละคือการตบหน้าไลโอเนลอย่างจังว่า “เอ็งน่ะไม่รู้จักโปแลนด์เอาเสียเลย”

กระนั้นหนังก็ไม่ได้ให้ภาพโปแลนด์เลวร้ายเกินไปนัก ถัดมาไลโอเนลและลูซีได้พบกับ แสตน (มิคาล รูดนิคกี) นักศึกษาชาวโปแลนด์ที่พูดฝรั่งเศสได้ แสตนพาทั้งสองไปพักที่บ้าน และพาพวกเขาไปรู้จักกับวัฒนธรรมที่แท้จริงของโปแลนด์ ทั้งอาหารการกิน เหล้า หรือกระทั่งผับบาร์สไตล์โปแลนด์

ไลโอเนลหยุดเรื่องการตามหาบรรพบุรุษชาวโปแลนด์ไว้ชั่วคราว พร้อมกับที่หนังกลับมาใส่ใจเรื่องเพศสภาพอีกครั้ง โดยไลโอเนลกับแสตนตกหลุมรักกันและมีเซ็กส์กันในที่สุด ดังนั้นข้อสรุปในเรื่องเพศสภาพจึงได้ความว่าไลโอเนลไม่อาจก้าวข้ามไปสู่การ เป็นไบเซ็กชวลได้ สุดท้ายแล้วเขากลับสู่รากเหง้าทางเพศสภาพของตนเองคือความเป็นเกย์เต็มรูปแบบ ในฉากนี้เราจะเห็นไลโอเนล แสตน และลูซี นอนอยู่บนเตียงเดียวกันโดยไม่ขัดเขิน ลูซีดูจะพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่มาก จึงอาจมองได้ว่าการที่เธอพยายามขัดขวางการแต่งงานของไลโอเนลกับสาวชาว โปแลนด์ ก็เพราะเธอรู้ถึง ‘เนื้อแท้’ ของน้องชาย

ถึงตรงนี้เราสามารถสังเกตได้ว่า Stealth มีลักษณะความเป็นโลกาภิวัตน์อยู่สูงทีเดียว ทั้งในแง่ของประเทศ/เชื้อชาติ ดังเช่น ชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่มีเชื้อสายโปแลนด์, คนโปแลนด์ที่หนีเข้าไปในสวิต หรือหนุ่มโปแลนด์ที่ดันพูดฝรั่งเศสได้ และในแง่ของความโลกาภิวัตน์ทางเพศที่เล่าผ่านไลโอเนล ผู้ซึ่งแปรผันไปมาระหว่างการเป็นเกย์, ผู้ชายที่ชอบพอผู้หญิง, ไบเซ็กชวล และการกลับมาเป็นเกย์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันอย่างมากที่แนวโน้มของผู้ถือสัญชาติ หรือเพศสภาพที่ ‘มากกว่าหนึ่ง’ จะมีมากขึ้น

หนังกลับมาที่เรื่องของชาติพันธุ์อีกครั้ง เมื่อสองพี่น้องตัดสินใจลาจากแสตน และมุ่งหน้าไปค้นหาประวัติที่หอจดหมายเหตุประจำเมือง ความสัมพันธ์ของลูซีและไลโอเนลกำลังดีขึ้นแท้ๆ แต่ก็เกิดเหตุเลวร้ายขึ้น เมื่อรถของทั้งสองถูกขโมยไป (สิ่งที่เสียดเย้ยมากคือ คนที่ขโมยรถไปเป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์) ลูซีสติแตกอีกครั้ง เธอถึงกับเอาดินยัดใส่ปากไลโอเนล พร้อมกับตะโกนไปว่า “กินเข้าไปสิ นี่ไงดินของโปแลนด์ อยากเป็นคนโปแลนด์นักไม่ใช่เหรอ”

หลังจากที่ออกผจญภัยมานาน ลูซีก็อยากกลับบ้านแทบขาดใจ เดาได้ว่าเธอเริ่มคิดถึงความปลอดภัยมั่นคงที่เคยอยู่จนเคยชิน (ครอบครัว งาน และคนรัก) แต่ไลโอเนลยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เขายังคงมุ่งมั่นในภารกิจของเขาต่อไป จนในที่สุดไลโอเนลจึงขอร้องให้พี่สาวร่วมเดินทางกับเขาต่อ โดยให้สัญญาว่านี่จะเป็นความพยายามครั้งสุดท้าย

ผลออกมาเหนือความคาดหมายทีเดียว เพราะนอกจากลูซีจะตกลงแล้ว เธอยังจัดการเดินเข้าตลาดมืดไปปลอมแปลงเอกสารสำคัญให้ไลโอเนลชนิดเสร็จสรรพ ลูซีบอกว่าเธอเห็นวิธีการพวกนี้จากที่ทำงานจนชินชา นี่อาจเป็นมุกแดกดันอีกมุกหนึ่งของหนัง เพราะดูเหมือนลูซีจะทำงานในหน่วยงานของรัฐ

ทั้งสองกลับเข้าไปที่หอจดหมายเหตุอีกครั้ง และคราวนี้โชคก็เข้าข้างพวกเขา ไลโอเนลได้พบกับญาติของเขาโดยบังเอิญที่นั่น (ทั้งคู่สังเกตกันและกันจากนามสกุลที่มีร่วมกัน) สองพี่น้องไปพักอาศัยที่บ้านของชายผู้นั้น รับฟังเรื่องราวของครอบครัวในฝั่งของโปแลนด์ หยิบกระดาษขึ้นมาวาดแผนผังวงศาคณาญาติ และในที่สุดจิ๊กซอว์ที่เขาต่อกันมานานก็เสร็จสมบูรณ์

จากเรื่องเล่าของญาติไลโอเนลได้รับรู้ว่าบรรพบุรุษชาวโปแลนด์ของเขาตายในสงคราม โลกครั้งที่สอง เนื่องจากม้าของเขาถูกระเบิดของพวกนาซีและพลัดตกน้ำไป โชคร้ายที่ขาของเขาติดพันกับบังเหียนม้า ชายผู้นั้นจึงพลอยจมน้ำตายไปด้วย (ภาพม้าจมน้ำเป็นฉากเปิดของหนัง และปรากฏขึ้นมาเป็นระยะ) เรื่องเล่าชุดนี้มีความน่าสนใจเพราะมันซ้อนการเสียดสีไว้ถึงสองชั้นด้วยกัน กล่าวคือ หนึ่ง-ความตายของบรรพบุรุษไม่ใช่การตายแบบวีรบุรุษเอาเสียเลย และสอง-มันเป็นการหลอกด่านาซีและความเลวร้ายของสงครามอย่างแนบเนียน เพราะด้วยสงครามนี่เองที่ทำให้ตระกูลของไลโอเนลส่วนหนึ่งต้องหนีไปอยู่ที่ สวิตเซอร์แลนด์ และทำให้เขาต้องพลัดพรากจากญาติอีกฝั่งหนึ่ง

การคลี่คลายในประเด็นของชาติพันธุ์ ทำให้หนังมีความน่าสนใจในเชิงอุดมการณ์ (ideology) ที่เหมือนจะขัดแย้งกันในตัว โดยในขณะที่ประเด็นเพศสภาพในหนังมีความเป็น ‘ซ้าย’ หรือเสรีนิยมสุดขั้ว แต่ลักษณะของการยึดติดในชาติพันธุ์ของตัวเองกลับเอนเอียงไปทางแนวคิดแบบ ‘ขวา’ หรืออนุรักษ์นิยม

อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจบอกว่าการกระทำของไลโอเนลเป็นขวาอย่างเต็มปาก เพราะเขาหลงใหลในชาติพันธุ์ดั้งเดิมของตัวเองด้วยมุมมองแบบตื่นตาตื่นใจ (exotic) มิใช่ความภูมิใจใน ‘ชาติ’ ที่หล่อหลอมอุดมการณ์สำเร็จรูปมาแล้ว หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือ ถึงไลโอเนลจะรู้ว่าตัวเองมีเชื้อโปแลนด์อย่างแท้จริง แต่เขาก็อาจไม่ใด้ภูมิใจในสิ่งนั้นแม้แต่นิดเดียว หากแต่เป็นการเอาชนะความสงสัยใคร่รู้ของตัวเอง

หนังยังดูเหมือนจะเชิดชูแนวคิดแบบเก่าอีกรูปแบบหนึ่งคือเรื่องของ ‘คุณค่าของความเป็นครอบครัว’ (Family Value) โดยเฉพาะในฉากที่ไลโอเนล ลูซี และญาติช่วยกันต่อเติมแผนผังต้นไม้ของครอบครัว ที่หนังถ่ายทอดออกมาราวกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

แต่ความคิดที่ว่าก็ถูกค้านในฉากสุดท้าย หนังเกิดการหักมุมอีกครั้ง เมื่อไลโอเนลตัดสินใจกลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์ แต่ลูซีกลับเลือกที่จะอยู่โปแลนด์ต่อ ทั้งที่อุตส่าห์ตามหาครอบครัวที่โปแลนด์จนเจอ แต่ท้ายสุดแล้วไลโอเนลก็เลือกจะลาจากพวกเขา และกลับไปสู่โลกเดิมของตนเองอีกครั้ง มีความเป็นไปได้ว่าไลโอเนลจะไม่ได้กลับไปเพื่อพ่อแม่ของเขา เพราะตลอดทั้งเรื่องเราเห็นว่าเขาอยู่กับแฟนหนุ่มตลอดเวลา ไลโอเนลเป็นลูกประเภทที่จะกลับไปหาพ่อแม่เฉพาะวันคริสต์มาสเท่านั้น (ซึ่งนี่ก็คือลักษณะของครอบครัวมสมัยใหม่)

หนังยังซ้อนเรื่องการค้านคุณค่าทางครอบครัวผ่านตัวละครของลูซี ในฉากที่เธอบอกกับน้องชายว่ากำลังตั้งท้องด้วยน้ำเสียงประหวั่นพรั่นพรึง นั่นคือ ลูซีไม่ได้เห็นดีเห็นงามไปกับการใช้กำเนิดชีวิตนัก นอกจากจะไม่กลับไปหาครอบครัวที่สวิตเซอร์แลนด์แล้ว ลูซียังปฏิเสธการสร้างครอบครัวกับสามีด้วย (หนังบอกเป็นนัยกับเราว่าเธออาจไม่ได้รักเขาเลย) ส่วนการเลือกอยู่กับญาติที่โปแลนด์นั้นก็นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่าเธอมองพวกเขา ในฐานะครอบครัว ที่พักพิงใจ หรือจุดเริ่มต้นแห่งใหม่กันแน่

นอกจากจะนำเสนอเรื่องของความสับสนเป็นหลักแล้ว Stealth ยังมีความสับสนของแนวคิดและอุดมการณ์อยู่ในตัวของมันเอง พร้อมกับการทิ้งท้ายคำถามไว้มากมาย เหล่านี้เองที่เป็นเสน่ห์สำคัญของหนังเรื่องนี้ เพราะนี่คือหนังที่เหมาะสมกับยุคสมัยแห่งความวุ่นวายอย่างปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง


====================




แม่นาค เดอะ มิวสิคคัล: การตีความใหม่ที่ยอดเยี่ยมและลึกซึ้ง
โดย ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง

สมัยเด็ก ๆ ก่อนที่ผู้เขียนจะได้มีโอกาสเรียนศิลปะ ผู้เขียนเคยสงสัยว่าหนังที่ได้ออสการ์นั้นต่างจากหนังทั่ว ๆ ไปอย่างไร ทำไมเขาถึงเรียกว่า “ดี” และ “ยอดเยี่ยม” แน่นอนว่าด้วยความรู้และประสบการณ์ที่น้อยนิดสมัยนั้นก็เลยทำให้ไม่สามารถ แยกความต่างออกได้

จนกระทั่งเมื่อโตขึ้น ได้มีโอกาสสัมผัสงานศิลปะต่าง ๆ ได้ดูหนังดูละครที่มากขึ้น ทั้งประเภทที่เขาเรียกว่า “ดี” จนไปถึงที่เขาเรียกว่า “เลว” และเพราะยิ่งดูมากเท่าไร การเปรียบเทียบและการมองเห็นคุณค่าของศิลปะก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงการโต้เถียงมากมายทั้งกับตัวเองและศิลปินคนอื่นว่าความสามารถของ ศิลปะนั้นอยู่ที่ตรงไหน ก่อนจะพบว่าศิลปะนอกจากจะ “บันเทิง” ให้กับตัวคนเสพมันแล้วนั้น ยังสามารถสร้างความงดงามในเชิงศิลป์ได้อีกด้วย

และแม่นาค เดอะมิวสิคคัลของ Dreambox ก็ทำให้ผมเห็นถึงจุด ๆ นั้นได้อย่างยอดเยี่ยม คุ้มค่ากับการรอคอยนับตั้งแต่การแถลงข่าวเมื่อสองปีที่แล้ว

เรื่องราวของแม่นาคพระโขนงนั้น อาจจะเป็นเรื่องราวที่มีการบอกเล่าต่อ ๆ กันมาเรื่อย ๆ ตามประสาคนไทย มีการนำไปทำเป็นภาพยนต์ ละคร ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นแบบฉบับแทบจะตายตัว ประเภทนางนาคตายทั้งกลม เป็นผีหลอกหลอน โกรธแค้นชาวบ้านที่กีดกั้นความรักของเธอกับพ่อมาก จนสุดท้ายโดนหมอผีจับใส่หม้อ ซึ่งแน่นอนว่ามันก็กลายเป็นภาพจำที่เราคนไทยติดตาหรืออยู่ในซีกสมองข้าง หนึ่งไปเรียบร้อยแล้วและยากที่จะไปบิดพริ้วมัน

แต่การหยิบเรื่องแม่นาคมาตีความใหม่ ในมุมมองที่แตกต่างออกไปสำหรับโปรดักชั่นของ Dreambox นั้น กลับกลายเป็นการสร้างรูปลักษณ์ใหม่ของแม่นาคที่แตกต่างจากภาพจำที่เรามีต่อ เธอไว้อย่างสิ้นเชิง และทำให้แม่นาคในเวอร์ชั่นนี้กลายเป็น “มนุษย์” มากกว่า “ผี” ด้วยซ้ำไป

สิ่งที่สร้างความสมบูรณ์ของการตีความครั้งนี้ได้คือการเรียบเรียงบทและเติมราย ละเอียดให้กับเรื่องราวที่ครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ฉะนั้นเมื่อคนเราเชื่อกันว่าเป็นเรื่องจริง ทุกอย่างย่อมมีที่มาที่ไปตามครรลองของโลก และนั่นทำให้แม่นาค เดอะมิวสิคคัลจึงลงรายละเอียดและเติมเต็ม “เนื้อเรื่องที่หายไป” โดยเริ่มเรื่องตั้งแต่เหตุการณ์แม่นาคและพ่อมากหนีตามกันมาจากอยุธยา การที่แม่นาคผันชีวิตจากลูกขุนนางกลายเป็นหญิงชาวบ้าน ถูกดูถูกและเหยียดหยามจากการเป็นลูกผู้ดีที่ทำอะไรไม่เป็นจนพ่อมากทนเห็น เมียถูกรังแกไม่ไหว ต้องย้ายไปอยู่ที่เรือนริมน้ำ เหตุการณ์ต่อเนื่องไปจนพ่อมากต้องถูกเกณฑ์ทหาร นางนาคเจ็บท้องคลอดและตายทั้งกลม แต่เธอกลับไม่ยอมไปสู่สุขคติและรอคอยการกลับมาของสามี (ขออนุญาติเล่าถึงตรงนี้ เพราะส่วนที่เหลือของเรื่องนั้นหากเล่าไป จะทำให้หมดอรรถรสในการคาดเดาเรื่องราวของแม่นาคเวอร์ชั่นนี้อย่างยิ่ง)

การเติมเต็มรายละเอียดต่าง ๆ นี้ อาจจะดู ”เยอะ” และ “มากเกินจำเป็น” สำหรับคนที่มีภาพจำและปักใจกับเรื่องแม่นาคพระโขนงเดิม ๆ แต่ในมุมมองที่กลับกัน รายละเอียดเหล่านี้คือสิ่งที่เป็นส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับการเล่าเรื่องให้ กับผู้ที่ไม่เคยทราบหรือรู้เรื่องราวของแม่นาคมาก่อน เพราะนั่นทำให้ตัวละครแม่นาค พ่อมาก รวมถึงตัวละครอื่น ๆ นั้น เช่นสายหยุดที่ปรกติเป็นเพียงแค่ตัวประกอบ กลับเต็มไปด้วยความสำคัญและเป็น “มนุษย์” ที่มีเบื้องลึกเบื้องหลังจากการกระทำต่าง ๆ หาใช่เพียงการบอกเล่าปาว ๆ ไม่ และนั่นก็ทำให้การเล่าเรื่องของแม่นาคเวอร์ชั่นนี้มีความจริงของเรื่องอยู่ อย่างหนักแน่น ประเภทที่หากตัดฉากใดฉากหนึ่งออกไป ก็จะทำให้ละครกลายเป็นลักษณะเออออห่อหมกรวบรัดไปเท่านั้น

ในอีกมุมมองหนึ่งแล้ว การเขียนบทลักษณะเช่นนี้คือการให้ละครเป็นตัวบอกเล่าเรื่องทั้งหมดโดยไม่มี การแอบอิงหรือหมกเม็ดเนื้อหาไว้โดยคาดเดาเอาว่าผู้ชม “คงจะทราบกันดีอยู่แล้ว” ซึ่งนั่นจะกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ละครเสียน้ำหนักของความน่าเชื่อถือไป อย่างมาก

นอกจากการลงลึกในด้านรายละเอียดของเรื่องราวและการลำดับเหตุการณ์ตลอดจนขนบ ธรรมเนียมและค่านิยมต่าง ๆ แล้วนั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ผู้เขียนบทเจาะลึกลงไปคือความจริงระดับจิตใจของตัวละคร ต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากการให้ความสำคัญกับเหตุผลและการปูที่มาที่ไปของวิญญาณ แม่นาคดั่งในฉากเพลงเรือมรณา (ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในฉากที่หลาย ๆ คนประทับใจมากที่สุดฉากหนึ่งเช่นกัน) ว่าการต่อสู้ทางจิตใจระหว่างการไปสู่สุขคติและการยึดติดกับทางโลกนั้นมันลึก และละเอียดอ่อนไหวในจิตใจของแม่นาคแค่ไหน

ความจริงและประเด็นอย่างหนึ่งที่ถูกนำเสนอและเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่เราคุ้นกัน คือความคิดที่ว่า “คนน่ากลัวกว่าผี” และแม่นาคเวอร์ชั่นนี้ก็นำเสนอประเด็นนี้ได้ลึกซึ้ง เพราะเรามักตั้งภาพผีแม่นาคว่าเป็นวิญญาณ์ที่มีความน่ากลัวพร้อมกับพฤติกรรม หักคอคนที่นางโกรธแค้น แต่ในละครเรื่องนี้เรากลับจะพบมุมมองอีกมุมมองหนึ่งซึ่งเปลี่ยนความคิดเรา แทบทั้งหมด โดยละครกลับชี้ให้เราเห็นว่าแม่นาคไม่ได้ทำร้ายใคร มีแต่คนเป็นนั่นแหละที่ทำร้ายแม่นาคด้วยสิ่งที่เรียกว่า “คำพูด” และ “การล่ำลือจากสิ่งที่ไม่ได้้เห็น”

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทำให้บทละครรวมถึงบทเพลงของแม่นาคเดอะมิวสิคคัลสามารถสื่อ สารกับคนดูได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น คือการเข้าใจหน้าที่และลักษณะของเพลงในละครมิวสิคคัลว่าเป็นมากกว่าการสร้าง เพลงที่ไพเราะติดหูคนดู แต่กลับต้องสื่อสารเรื่องราวและจิตใจของตัวละครออกมาเปรียบเสมือนการพูดด้วย คำพูดปรกติแต่อยู่ในอีกระดับหนึ่ง

ดารกา วงศ์ศิริ อาจจะนับเป็นนักเขียนบทละครเวทีที่มีฝืมือดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทยใน เวลานี้อันเห็นได้จากผลงานที่เราเห็นตรงหน้า การกลั่นกรองและตกผลึกทางความคิดจนสามารถลงลึกไปในทุกประเด็นและรายละเอียด ต่าง ๆ ของบทละครนั้นแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างผลงานศิลปะที่เหนือชั้น กว่าสิ่งที่เราเห็นจากละครโทรทัศน์ทั่ว ๆ ไปจนถึงละครเวทีที่มีให้เห็นในปัจจุบัน นอกจากนี้แล้ว บทละครที่รังสรรค์ขึ้นมานั้นนอกจากจะโดดเด่นทั้งด้านการตีความและลำดับ เรื่องราวแล้ว ยังมีความสวยงามทั้งด้านภาษาและการเลือกใช้บริบทต่าง ๆ เพื่อเทียบเคียงเป็นเชิงสัญลักษณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม นั่นทำให้บทละครมีความ “ลึก” ในตัวบทมากและตีความได้หลายชั้นของความคิด

นั่นจึงทำให้เราเห็นได้ว่านักเขียนบทละครไม่ใช่ทำหน้าที่เพียง “เล่าเรื่อง” ให้กับคนดูเพียงแค่ “รู้เรื่อง” เท่านั้น หากแต่พวกเขาควรจะสามารถผสมผสานองค์ความคิดให้เข้าไป รวมทั้งกลั่นกรองข้อมูลที่มีอยู่ก่อนจะนำเสนอมันออกมาอย่างมี “ศิลป์” อีกเพื่อให้มันนำพาคนดูไปสัมผัสกับสิ่งที่แฝงอยู่ในความบันเทิงตรงหน้า

และด้วยการที่ละครเรื่องนี้เป็นละครเพลง “ทั้งเรื่อง” หรืออย่างที่มีการอธิบายว่าเป็นประเภท Sung Through Musical กล่าวคือบทพูดเกือบทั้งหมดจะมีการลงทำนองดนตรีไว้ตลอดจนต่อยอดกลายเป็นบท เพลงสำคัญ ๆ ในแต่ละฉาก องค์ประกอบดนตรีจึงกลายเป็นส่วนผสมที่ขาดตกบกพร่องไม่ได้เลย ซึ่งการประพันธ์ทำนองจาก ไกวัล กุลวัฒนโนทัย พลรักษ์ โอชกะ สุธีแสงเสรีชน ก็ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมไม่น้อยหน้าบทละคร เพราะนอกจากจะผสมผสานกับบทละครจนกลายเป็นเนื้อเดียว มีความเป็นเอกภาพแล้วนั้น ทำนองของดนตรีต่าง ๆ ยังคล้องกับบรรยากาศของเรื่อง ไม่ว่าจะมีกลิ่นอายของความเป็นไทยดังการใช้เครื่องดนตรีไทยร่วมกับเครื่อง ดนตรีตะวันตก รวมถึงการสร้างโทนในแต่ละฉากได้เป็นอย่างดีเช่นเสียงเครื่องสายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไวโอลิน หรือเชลโล่ที่สร้างความโหยหวนในฉากที่ดูเศร้าหมองและหวลหาถึงคนรักระหว่าง แม่นาคกับพ่อมาก

นั่นทำให้ดนตรีของแม่นาคพระโขนงมีเอกลักษณ์ที่ลงตัวกับเนื้อเรื่องอย่างมาก เพราะไม่เพียงจะมีความไพเราะเสนาะหูแล้วยังไม่กระโดดออกมาจนกลายเป็นสิ่งที่ ข้ามหน้าข้ามตาส่วนสำคัญของละครนั่นก็คือ “เรื่อง” เลย

ความเป็นเอกภาพในการสร้างงานนี้ยังคงส่งต่อไปยังการออกแบบอื่น ๆ ทั้งด้านฉาก แสงเสียง และเครื่องแต่งกายอีกด้วย แม้ว่าโรงละคร M Theatre นั้นจะมีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง แต่การเลือกใช้และการส่งเสริมซึ่งกันและกันระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ทำให้งานออกแบบดูกลมกลืมกับเรื่อง อย่างเช่นฉากที่แม้จะไม่เหมือนจริง แต่ก็มี “ความจริง” ของโลกละครอยู่ในฐานะของที่ “เสมือนจริง” และเป็น “นัยยะ” ได้ ซึ่งก็ทำให้ฉากเป็นเครื่องมือที่พอเหมาะพอดีของการบอกเล่าสถานที่รวมถึงการ ดำเนินเรื่อง เช่นเดียวกับการออกแบบแสงที่สอดคล้องและช่วยเสริมให้ฉากที่ถูกสร้างมานั้น “แนบเนียน” ไปกับบรรยากาศของเรื่อง

เทคนิคพิเศษอาจจะเป็นจุดหนึ่งที่ผู้ชมหลายคนรอติดตาม เนื่องจากหลาย ๆ อิทธิฤทธิ์และความเป็นวิญญาณของแม่นาคน่าจะทำอะไรได้มากกว่ายืนพูดเหมือนคน ปรกติ ซึ่งในละครเรื่องนี้ก็มีการใช้เทคนิคต่าง ๆ ในการสร้างความ “เหนือจริง” ของแม่นาคให้เกิดขึ้น เช่นลอยตัวตามลักษณะของการเป็นวิญญาณ อย่างไรก็ตาม เทคนิคพิเศษนี้ไม่ได้เป็นไฮไลท์ของละครแต่อย่างใด หากแต่เป็นไปตามครรลองของเรื่องและดูกลมกลืนไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นในฉาก

จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือการคุมโทนในการออกแบบโดยมีการลงรายละเอียดของความคิดค่อน ข้างมาก แม้ว่าองค์ประกอบศิลป์ของละครจะไม่ดูโดดเด่น ตื่นตาตื่นใจ แต่ถ้าพิจารณาลงไปในพื้นฐานความจริง ก็จะพบว่ามันมีเหตุผลซ้อนอยู่ในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นโทนสี วัสดุของเครื่องแต่งกาย ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นรายละเอียดที่ถ้าผู้ชมเก็บเอามาคิดก็จะพบว่ามันมีนัยยะ ต่าง ๆ เช่นขนบธรรมเนียม สัญลักษณ์ ฯลฯ

ในด้านการแสดงนั้น ต้องยอมรับว่า สุวรรณดี จักราวรวุธ ซึ่งผ่านงานละครเวทีกับ Dreambox มานานก็ยังคงรักษามาตราฐานฝีมือในการจัดการนักแสดงบนเวทีไว้ได้อย่างดี เราจะเห็นว่าโดยรวมของการแสดงนั้นดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวและมีความโดดเด่นใน ตัวมันเองของแต่ละฉาก ไม่ว่าจะเป็นฉากของตัวแสดงหลัก หรือฉากของเหล่าหมู่มวลชาวบ้าน ถึงก็ไม่ได้มีน้ำหนักของส่วนไหนที่จะขาดเกินหรือผิดแปลกไป อาจจะมีเพียงแค่แอ็คติ้งเพื่อถ่ายทอดการตีความของนักแสดงในบางช่วงนั้นอาจจะ ยังไม่ลึกซึ้งหรือหนักแน่นเมื่อเทียบกับเพลงและเสียงร้องที่ออกมา

แม้ว่า น้ำมนต์ ธีรนัยน์ ณ หนองคาย จะไม่ได้เป็นดาราชั้นแนวหน้าในวงการ แต่ความสามารถในการเล่นละครร้องนั้น ต้องยอมรับเธอเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่โดดเด่นในประเทศไทย เสียงร้องของเธอต้องยอมรับว่าตรึงผู้ชมให้อึ้งกับบทเพลงที่เธอถ่ายทอดออกมา ได้อย่างไม่ยากเย็น ในขณะเดียวกัน ความสามารถทางด้านการแสดงของเธอก็เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับครั้งที่เราเห็นเธอ ในบทอังศุมาลินใน “คู่กรรม เดอะมิวสิคคัล” ซึ่งนั่นทำให้เธอถ่ายทอดตัวละครแม่นาคออกมาได้ดีสมกับที่เสียงปรบมือที่ดัง ที่สนั่นพร้อมกับผู้ชมหลายคนที่เลือกจะลุกขึ้นยืนปรบมือให้้

น็อต วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์ อาจจะไม่ได้โดดเด่นในด้านของเสียงร้องเมื่อเทียบกับนักแสดงหลักคนอื่น ๆ แถมเมื่อต้องรับบทหนัก ๆ อย่างพ่อมาก จึงมีบางครั้งที่เขาเหมือนจะโดนกลบอยู่ แต่ข้อดีของเขาคือการแสดงได้อย่างมีพลังในฉากสำคัญ ๆ และทำให้พ่อมากเวอร์ชั่นนี้ยังพอฟัดพอเหวี่ยงกับแม่นากได้อยู่

มณีนุช เสมรสุตกับนรินทร ณ บางช้างก็เล่นบทของแม่เหมือน และป้าแก่ได้อย่างน่าประทับใจไม่แพ้กัน ทั้งนี้เพราะความสามารถในการร้องเพลงของทั้งสองคนก็มากด้วยฝืมืออยู่แล้ว ทำให้เพลงในบทของพวกเธอจึงถูกถ่ายทอดออกมาอย่างมีพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนรินทร ณ บางช้างที่ดูจะโดดเด่นเป็นพิเศษในด้านการแสดงที่เสริมเข้ามาอีกมาโข

ที่น่าตกใจคือพัฒนาการของณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูลที่ทำให้เราลืมภาพเธอจากสาวน้อยน่ารักบนเวทีประกวดร้องเพลง กลายเป็นสาวหยุด หญิงสาวที่แอบรักพ่อมากและต้องทนทุกข์กับความรู้สึกของตัวเองที่มีตั้งโกรธ แค้นและเศร้าเสียใจ ความสามารถทางด้านการร้องเพลงนั้นอาจจะเป็นที่ยอมรับในเวทีประกวด แต่โดยส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว การที่เธอรับบทนี้ในละครเวทีนั้นทำให้เราเห็นความสามารถแท้ ๆ ของเธอมากกว่าเยอะ และคงจะดีมากถ้าอนาคตเราจะเห็นเธอได้พัฒนาความสามารถและกลายเป็นนักแสดงละคร เวทีดี ๆ อีกคนของวงการ

ส่วน รัดเกล้า อามระดิษนั้น แม้จะออกมาเพียงไม่กี่ฉาก เสียงร้องของเธอที่เป็นที่กล่าวขวัญกันในวงการเพลงประกอบกับความสามารถทาง การแสดงของเธอก็ทำให้บทแม่ทองคำ แม่ของนางนาคที่เป็นตัวละครที่สร้างขึ้นใหม่กลายเป็นตัวละครที่เราอยากให้ เห็นกันบ่อยเกินกว่าที่บทให้มาเสียอีก

สำหรับนักแสดงสมทบอื่น ไม่ว่าจะเป็นเด๋อ ดอกสะเดา ญาณี ตราโมท ต่อตระกูล จันทิมานั้น อาจจะไม่ได้รับบทสำคัญกับเรื่องมากเท่าตัวละครอื่น ๆ แต่พวกเขาก็ทำหน้าที่ส่วนของเขาได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เฉกเช่นเดียวกับเหล่านักแสดงหมู่มวลที่เรียกกันว่าทั้งร้องและเล่นกันอย่าง “เต็มที่” ไม่ให้น้อยหน้านักแสดงที่เป็นตัวละครหลักเลย โดยที่หลาย ๆ ครั้งเราอาจจะต้องทึ่งกับเสียงร้องของนักแสดงที่เป็นหลาย ๆ คนมองเป็นแค่ “ตัวประกอบ” ด้วยซ้ำไป

โดยส่วนตัว แม่นาค เดอะมิวสิคคัล เป็นงานละครที่มีการใช้ความคิดและจินตนาการในการสร้างสรรค์ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในส่วนของบทละครซึ่งผู้เขียนชื่นชอบมากเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกันองค์ประกอบอื่น ๆ ก็ผ่านกระบวนการออกแบบและรังสรรค์อย่างมีชั้นเชิง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนประกอบของละครเวทีที่ดี มีคุณภาพทั้งด้านความบันเทิง และด้านคุณค่าของศิลปะ สามารถนำมาพิจารณาได้ทั้งการมองแบบผิวเผินหรือเสพอย่างลึกซึ้ง และคงจะน่าเสียดายมากถ้าคนที่ชื่นชอบละครเวทีจะพลาดการชมงานละครเรื่องนี้






Create Date : 21 มีนาคม 2554
Last Update : 23 มีนาคม 2554 17:58:30 น. 2 comments
Counter : 3838 Pageviews.

 
สวัสดีตอนอากาศร้อนๆ

อาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริม
อาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริมอาหารเสริม


โดย: MaFiaVza วันที่: 21 มีนาคม 2554 เวลา:14:59:18 น.  

 
ยินดีด้วยจ้า


โดย: สงสัย IP: 182.53.202.220 วันที่: 21 มีนาคม 2554 เวลา:22:50:18 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.