กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
มองดูผลกระทบหายนะน้ำมันรั่วจากปตท.ในวันครบรอบ 25 ปี เหตุน้ำมันรั่วแอกซอน วัลเดซ



24 มีนาคม พ.ศ.2532 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ณ ทะเลทางตอนใต้ของอลาสกา ภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลกจากฝีมือของมนุษย์ได้เกิดขึ้น เรือบรรทุกน้ำมันแอกซอน วัลเดซ เกยตื้นบริเวณชายฝั่งปรินส์ วิลเลียม ซาวนด์ ปลดปล่อยน้ำมันดิบปริมาณ 750,000 บาร์เรล ลงสู่น่านน้ำอาร์กติก ก่อมลพิษให้กับดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ของอลาสกากินพื้นที่ความเสียหายหลายพันไมล์ อุบัติภัยที่มนุษย์ก่อครั้งนี้เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ร้ายแรงที่สุด จนกระทั่งเกิดการรั่วไหลของน้ำมันดิบ 4.9 ล้านบาร์เรล จากแท่นขุดเจาะดีพ วอเทอร์ ฮอไรซัน (บีพี) ในอ่าวเม็กซิโก เมื่อปีพ.ศ. 2553

ถึงแม้จะผ่านมาแล้ว 25 ปี แต่ผลกระทบจากน้ำมันรั่วในครั้งนั้นยังคงปรากฏให้เห็นได้ในทุกวันนี้ บรรดาสัตว์ต่างๆ อาทิ วาฬเพชฌฆาต นาก และสิงโตทะเลก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวจากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ รวมถึงชาวโลกคงยังไม่ลืมภาพชายฝั่งสีดำ นก และสัตว์ทะเลต่างๆ ที่ถูกมฤตยูสีดำคร่าชีวิตไป

นอกจากความทรงจำแล้ว น้ำมันยังคงอยู่ใต้โขดหินน้อยใหญ่ของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการประมงสัตว์น้ำเศรษฐกิจอย่าง ปลาเฮอร์ริง ปูอลาสก้า ปูดันเจเนสส์ ก็ไม่สามารถฟื้นตัวในพื้นที่ได้อีก จากผลการสำรวจวิจัยพบว่ามีเพียงสัตว์ 13 ชนิด จาก 32 ชนิด เท่านั้นที่สามารถฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ หรือฟื้นตัวได้พอสมควร ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่แอกซอนทำนายไว้ว่าชายฝั่งปรินส์ วิลเลียม ซาวนด์ จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

จากเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันแอกซอน วัลเดซ บริษัทแอกซอนได้ใช้เงินจำนวน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการล้างคราบน้ำมัน แต่มีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นของคราบน้ำมันเท่านั้นที่ถูกชะล้างออกไป ส่วนบริษัทบีพีเองก็ได้ใช้เงินจำนวน 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  ในการล้างคราบน้ำมันจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วจากแท่นขุดเจาะดีพ วอเทอร์ ฮอไรซัน แต่ยิ่งแย่กว่าเดิมมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นของคราบน้ำมันเท่านั้นที่ถูกชะล้างออกจากพื้นผิวและชายทะเล

บทเรียนสำคัญจากหายนะน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ของโลกแสดงให้เห็นแล้วว่า การล้างคราบน้ำมันเป็นเสมือน “มายาคติ” เมื่อน้ำมันรั่วไหลออกมาแล้ว ไม่มีทางที่จะเก็บกักกลับไป ฟื้นฟู และแน่นอนว่าไม่สามารถชะล้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใด ของประเทศใด และเหตุการณ์น้ำมันรั่วโดยบริษัทปตท.ที่จังหวัดระยองเมื่อ 27 กรกฎาคม ในปีที่ผ่านมาก็คงไม่ใช่ข้อยกเว้น

สำหรับหายนะน้ำมันรั่วของปตท. จวบจนวันนี้เป็นเวลาครบรอบ 7 เดือนแล้ว แต่สิ่งที่ชาวระยองยังพบเห็นอยู่เป็นระยะ คือ ทาร์บอลที่ปรากฏขึ้นมาอยู่เสมอ และแน่นอนว่าผลกระทบไม่ได้สิ้นสุดลงหลังจากที่คราบน้ำมันจางหายไป น้ำมันดิบกว่า 50,000 ลิตร ยังคงหลงเหลืออยู่ในท้องทะเล และนี่เป็นเพียงช่วงแรกเท่านั้นที่เราเห็นผลกระทบ

“ในสายตาคนส่วนใหญ่แล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจมองเห็นไม่ชัดเจน รวมถึงชาวบ้านชาวประมงขาดข้อมูลความรู้ที่แท้จริง เข้าใจผิดว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงระยะสั้น สักพักก็ฟื้นตัวได้ ไม่ได้ตื่นตัวเรื่องมลพิษมากนัก ที่จริงแล้วผลกระทบเพิ่งจะเกิดขึ้นเท่านั้น ยิ่งนานวันยิ่งประมงแทบไม่ได้เลย สัตว์น้ำหายไปเรื่อยๆ อาชีพประมงชายฝั่งก็เดือดร้อนขึ้นเรื่อยๆ” เสียงจากตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดระยองกล่าว


จากความคิดเห็นของพี่น้องชาวระยองที่ได้รับผลกระทบ ปัญหาในช่วงแรกเป็นระยะสั้นที่ส่งผลกระทบรุนแรงเนื่องจากความมั่นใจด้านความปลอดภัยของอาหาร และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของจังหวัดระยองถูกทำลายไป เกิดเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจสำหรับพี่น้องในพื้นที่ ขณะนี้นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแล้วร้อยละ 70-80 แต่สิ่งที่ยังไม่หวนกลับมา คือ สัตว์น้ำเศรษฐกิจของระยอง

“การที่พบเห็นทาร์บอลตามชายหาด นั่นหมายถึงมีทาร์บอลอยู่ใต้น้ำ และขณะนี้สัตว์น้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด พวกเราหาปลา ปู ปลาหมึก และหอยสายได้น้อยลง บางคนต้องเปลี่ยนแปลงอาชีพ เลิกทำอาชีพประมง การที่กระทรวงทรัพยากรมาช่วยเหลือเรื่องการวิจัย แต่เราชาวประมงพื้นบ้านไม่ได้รับทราบว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบเข้ามีส่วนร่วมมากน้อยเพียงไร เพราะมีเพียงชาวประมงที่ทำอาชีพตรงนั้นที่รับรู้ถึงผลกระทบอย่างแท้จริง แผนการฟื้นฟูจะครอบคลุมถึงการพัฒนาอาชีพได้มากน้อยเพียงไร หากไม่รับรู้ข้อเท็จจริงจากผู้ได้รับผลกระทบ เพราะสิ่งที่หายไป คือทรัพยากรสัตว์น้ำ อันเป็นเศรษฐกิจ และอาชีพของประมงพื้นบ้าน” ตัวแทนสมาคมเรือประมงพื้นบ้านเรือเล็กจังหวัดระยองเสนอกล่าว

พี่น้องชาวระยองได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้กว่า 3,000 ครัวเรือน แต่การเยียวยาจากปตท.และจากหน่วยงานราชการยังไม่ปรากฎเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ไม่ใช่เพียงชดเชยด้วยค่าเยียวยาเพียง 30,000 บาท ดังที่พี่น้องชาวระยองบางกลุ่มได้รับ

“พวกเราคิดว่าควรมีแผนการฟื้นฟูที่ชัดเจนกว่านี้ รวมถึงเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในด้านปิโตรเคมีและผลกระทบของมันอย่างแท้จริง รวมถึงมีการฟื้นฟูอาชีพที่สูญหายไปจากผลกระทบของน้ำมันรั่วควบคู่กันไปด้วย” ตัวแทนสมาคมเรือประมงพื้นบ้านเรือเล็กจังหวัดระยองเสนอ

แน่นอนว่าผลกระทบจากหายนะน้ำมันรั่วครั้งนี้ยังไม่สิ้นสุด สมาคมรักษ์ทะเลไทย สภาทนายความ สมาคมเรือประมงพื้นบ้านเรือเล็กจังหวัดระยอง และกรีนพีซ  ยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้ปตท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง เหตุการณ์ครบรอบ 25 ปีเรือบรรทุกน้ำมันแอกซอน วัลเดซ คงเป็นอีกตัวอย่างที่สำคัญที่ช่วยย้ำเตือนว่าผลกระทบจากน้ำมันรั่วอันเลวร้ายต่อระบบนิเวศทางทะเล สัตว์ทะเล ชาวประมง และทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังคงฝังรากลึกและกระทบต่อสรรพชีวิต ซึ่งปตท.ยังต้องให้คำตอบกับคนไทยด้วยการเข้ามารับผิดชอบชดเชยและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลที่เป็นสายเลือดของชาวประมง และท้องทะเลเป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทุกคน

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- มีนาคม 26, 2557 ที่ 12:44


ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ www.protectkrabi.org #ProtectKrabi

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/press/releases/Letter-to-thailand-human-right




Create Date : 31 มีนาคม 2557
Last Update : 2 เมษายน 2557 15:06:58 น. 0 comments
Counter : 1472 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com