Pontarfynach สะพานสร้างซ้อนกันสามชั้น ณ หมู่บ้าน Ceredigion ราว 15 กิโลเมตรนอกเมือง Aberystwyth ใน Wales บนถนนสาย A4120 มีสะพานขนาดเล็กเส้นหนึ่งที่เรียกว่า Pontarfynach หรือสะพานข้ามลำธาร Mynach เป็นสะพานที่ชาวบ้านต่างชื่นชอบและให้คุณค่ามากที่สุดสะพานหนึ่ง สะพานเส้นนี้ไม่เหมือนกับสะพานทั่ว ๆ ไปที่มักจะสร้างกันเพียงชั้นเดียว แต่สะพานเส้นนี้มีสะพานถึงสามชั้นซ้อน ๆ กันบนสะพานเส้นเดิม สะพานเส้นแรกอยู่ที่ด้านล่างสุดถูกสร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 11 และเมื่อคาดว่าสะพานเก่าแก่นี้จะไม่ค่อยมั่นคงแข็งแรงกับการสัญจรไปมาแล้ว ก็มีการสร้างสะพานเส้นใหม่คร่อมบนสะพานเส้นแรกเส้นเดิม โดยไม่มีการรื้อถอนหรือทำลายสะพานเก่าแก่นี้ลงแต่อย่างใด คาดว่าชาวบ้าน/คนงานได้ใช้เป็นสะพานเดิมนี้ เป็นทางเบี่ยงหรือขนวัสดุก่อสร้างไปมา งานก่อสร้างสะพานเส้นที่สอง/ชั้นที่สองเสร็จราวปี 1753 ช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ต่อมาในปี 1901 สะพานเส้นที่สามหรือชั้นที่สามซึ่งเป็นสะพานเหล็ก ก็มีการสร้างขึ้นอีกคร่อมบนสะพานเดิมทั้งสองสะพาน โดยมีการอนุรักษ์และไม่ทำลายสะพานเดิมทั้งสองเส้น ![]() Photo credit: Alex Liivet/Flickr ตามตำนานเดิมสะพานเส้นนี้มีชื่อเรียกว่า สะพานปีศาจ Devils Bridge เพราะปีศาจตนหนึ่งได้สร้างขึ้นมาให้กับหญิงชรารายหนึ่ง ซึ่งเธอเดินตามหาแม่วัวที่หายไป และพบว่าแม่วัวยืนเล็มหญ้า/เคี้ยวเอื้องอยู่ฝั่งตรงข้ามลำธาร แต่เธอไม่สามารถจะข้ามโตรกผาที่มีลำธารผ่ากลางเพื่อไปจูงแม่วัวของเธอกลับมาได้ และแล้วเธอก็พบปีศาจตนหนึ่งนั่งรออยู่ที่ริมตลิ่งแห่งนี้ (ปีศาจน่าจะเป็นผู้นำแม่วัวข้ามแม่น้ำนี้ไปอยู่ฝั่งตรงข้าม) โดยปีศาจได้ตั้งเงื่อนไขว่าจะสร้างสะพานให้กับเธอไว้เพียงข้อเดียวว่า สิ่งมีชีวิตรายแรกที่เดินข้ามสะพานเส้นนี้ วิญญาณต้องตกเป็นของปีศาจทันที เพราะปีศาจคาดว่า หญิงชราจะต้องเป็นคนแรกที่เดินข้ามสะพานแห่งนี้ไปเพื่อจูงแม่วัวกลับมา แต่หญิงชรารายนี้กลับใช้เล่ห์เพทุบายหลอกปีศาจได้สำเร็จ ด้วยการปาก้อนขนมปังข้ามสะพานปีศาจไป ทำให้หมารีบวิ่งข้ามสะพานไปเพื่อกัดกินขนมปัง หมาจึงเป็นสิ่งมีชีวิตรายแรกที่เดินข้ามสะพานปีศาจไปก่อน ปีศาจจึงต้องรับเอาดวงวิญญาณหมาไปแทนอย่างผิดหวังและช้ำใจ หญิงชราเลยเดินข้ามสะพานไปเพื่อจูงแม่วัวกลับบ้าน สะพานแห่งนี้ตั้งอยู่จุดที่ลำธาร Mynach ค่อย ๆ ไหลลัดเลาะตลิ่งสองข้างทาง เป็นระยะทางราว 90 เมตรผ่านโตรกผาที่แคบก่อนไปพบกับแม่น้ำ Rheidol โดยค่อย ๆ ไหลลดหลั่นลงไปถึง 5 ชั้นทีเดียว สะพานปีศาจ Devil's Bridge เป็นจุดเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยวมาหลายศตวรรษแล้ว George Borrow นักเขียนชาวอังกฤษนามอุโฆษเคยเขียนเรื่อง Wild Wales (1854) บอกเล่าถึงเรื่องราวสนุกสนานและมีชีวิตชีวาตอนที่ไปเยี่ยมชม Pontarfynach และยังมีโรงแรมชื่อ George Borrow Hotel สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 เป็นโรงแรมที่เปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นเกียรติกับนักเขียนท่านนี้ เพราะท่านเคยเข้าไปพักอาศัยช่วงหนึ่งและอยู่ไม่ไกลกันนัก ใกล้ ๆ กับสะพานปีศาจ Devil's Bridge ยังมีสถานีรถไฟ Devil's Bridge ซึ่งเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์สาย Vale of Rheidol Railway วิ่งระหว่าง Aberystwyth กับ Devil's Bridge ในปี 1902 ยังมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่เป็นทรัพย์สินของ Hafod Estate เจ้าของเดิมคือ Thomas Johnes ผู้ชื่นชอบกับการล่าสัตว์ในที่ดินส่วนตัว หลังจากมีการพัฒนาและดัดแปลงที่พักล่าสัตว์หลายครั้ง ทุกวันนี้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเป็นโรงแรม Hafod Hotel ![]() Photo credit: James Stringer/Flickr ![]() Photo credit: Ruben Holthuijsen/Flickr ![]() Photo credit: Alex Liivet/Flickr ![]() Devil's Bridge กับ Hafod Arms Hotel ก่อนการสร้างสะพานครั้งที่ 3 ในช่วงปี 1860 ![]() จุดชมวิวบน Devil's Bridge ในปี 1781 ![]() Hafod Arms Hotel สร้างโดย Thomas Johnes ![]() ![]() ![]() ภูมิทัศน์ Hafod Estate วาดราวปี 1795 โดย John Warwick Smith ![]() เรียบเรียง/ที่มา https://goo.gl/6DTKwk https://goo.gl/GQb3rP ![]() เรื่องเล่าไร้สาระ มีสะพานเส้นหนึ่งทางไปซัง ภาษาทัองถิ่นที่เรียก ตรัง ที่คนมักจะชอบไปถ่ายรูปกันมาก เป็นสะพานที่สร้างคู่ขนานกับสะพานสร้างใหม่มีทางเบี่ยงข้างทาง ชื่อ สะพานโค้งประวัติศาสตร์ สร้างในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันชาวบ้านแถวนั้นก็ยังคงใช้สะพานแห่งนี้สัญจรไปมาเป็นทางรอง เป็นสะพานโค้งแห่งแรกของเส้นทางสายพัทลุง-ตรัง ที่มีเส้นทางตัดผ่านเทือกเขาพับผ้า ในอดีตเป็นถนนที่เส้นทางเดินทางยากลำบากมาก ถนนสายพับผ้าเส้นเดิมนี้ตัดขึ้นในรัชสมัยพระปิยะมหาราช โดย พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เพราะตรังสมัยก่อนจะขาดแคลนข้าวปลาช่วงฤดูมรสุม ในช่วงพฤษภาคมถึงตุลาคมแถบทะเลฝั่งอันดามันมักจะมีมรสุม ทะเลฝั่งอ่าวไทยช่วงพฤศจิกายนถึงเมษายนก็จะเป็นช่วงฤดูมรสุม(สลับกัน) การตัดถนนข้ามเขาพับผ้าจะทำให้คนสองฝั่งทะเล สามารถข้ามเขาพับผ้าไปซื้อหาอาหารหยูกยากันได้ และมีการซื้อขายแร่ดีบุกกันมากในยุคอดีตจากฝั่งอ่าวไทย เพื่อนำแร่ดีบุกไปขายที่เกาะหมาก(ปีนัง) มาเลย์ช่วงเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ เมืองลุง ชุมข้าวชุมปลาและชุมโจรา มาแต่ซัง ม่ายหนังก้อโนหร่า หนังปานบอด เคยเอื้อนเอ่ยไว้ หมายเหตุ หนังตะลุง มโนราห์ ทั้งคู่ถือว่าเป็นศิลปินท้องถิ่นที่ได้รับการยกย่อง ในเรื่องเจ้าบทเจ้ากลอนไหวพริบการโต้ตอบและเจ้าพิธีกรรมคาถาอาคม เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว/ข่าวสารต่าง ๆ ในอดีตระหว่างเมืองต่าง ๆ จากการเป็นนักแสดงที่เดินทางไปแสดงศิลปะในที่ต่าง ๆ เทียบเท่ามหาวิทยาลัยชาวบ้านในยุคอดีตที่ไม่มีวิถีชีวิตแบบทุกวันนี้ เช่นเดียวกับ หมอลำ ในภาคอีสาน ศิลปินซอล้านนา ในยุคก่อน ๆ ที่เป็นที่รู้จักและชื่นชอบพอ ๆ กับ ป๋า Bird ธงชัย หรือในปัจจุบันก็ ตูน Body Slam ฉันใดฉันนั้น พื้นที่พัทลุงติดกับทะเลน้อยไม่ติดกับอ่าวไทย โดยมีพื้นที่ติดต่อกับนครศรีธรรมราชกับสงขลา มีแต่สองจังหวัดนี้ที่มีพื้นที่ติดกับอ่าวไทย ในอดีตบางครั้งพัทลุงก็เป็นส่วนหนึ่งของนครฯ บางครั้งก็ปกครองสงขลา บางครั้งก็เป็นส่วนหนึ่งของสงขลา ทั้งสามจังหวัดนี้ในอดีตมักจะติดต่อค้าขายกัน การไปจังหวัดตรังผ่านเขาพับผ้าได้ตรงจังหวัดพัทลุง ในตอนที่สร้างถนนสายตัดผ่านเขาพับผ้าเส้นนี้ ท่านคอซิมบี้ได้นำนักโทษที่รู้เส้นทางหนีทีไล่ในป่า มาชี้แนะบอกเส้นทาง ถ้าทำดีดีถูกต้อง จะมีรางวัลและลดโทษทัณฑ์ให้ เพราะยุคนั้นพวกโจรมักจะหลบหนีไปมาระหว่างเมืองลุงกับเมืองซัง ซึ่งการติดตามจับกุมเป็นเรื่องยากลำบากมากในอดีต ในการตัดถนนสายนี้ ท่านใช้การเกณฑ์แรงงานชาวบ้านตามกฎหมายยุคอดีต ที่ให้อำนาจเจ้าเมืองและนายอำเภอไว้ ก่อนจะถูกยกเลิกไปในภายหลังปี 2475 และท่านใช้แรงงานนักโทษที่มีความประพฤติดีมาสร้างทางพร้อมลดวันลงโทษให้ด้วย ซึ่งนักโทษหลายคนก็ชอบเรื่องนี้ด้วยเพราะไม่ต้องติดคุกและมีอิสรภาพบ้างนิดหน่อย ในะหว่างเส้นทางที่ตัดผ่านเทือกเขาพับผ้า ท่านให้ใช้วัวเทียมเกวียนแบกขนข้าวปลาอาหาร/ก้อนหินจำลองน้ำหนักจริง จุดไหนลาดชันมากถ้าวัวเทียมเกวียนแบกขนขึ้นไปไม่รอดก็จะปรับลดหรือตัดทางวนขึ้นลงไป เวลาเจอก้อนหินขนาดใหญ่ที่ทุบไม่แตกง่าย ๆ ก็จะกองไม้สุมไฟให้ลุกโชนแล้วเอาน้ำราดให้หินแตก ทางข้ามลำธารก็จะตัดไม้ในป่ามาทำสะพานข้ามไป สองข้างทางทุกวันนี้ ถ้าสังเกตดีดีจะเห็นลำธารน้ำใสหลายจุด สมัยก่อนถนนเส้นทางข้ามเขาพับผ้านี้ การใช้ถนนเส้นนี้จะวิ่งสลับวันกันมีวันคู่วันคี่ ยุคแรก ๆ ใช้วันทางจันทรคติ วันข้างขึ้นข้างแรม ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้วันตามปฏิทินภายหลัง เพราะสมัยก่อนสื่อสิ่งตีพิมพ์ปฏิทินหายากและมีราคาแพง ยังไม่มีการแจกจ่ายปฏิทินฟรีที่เคยยอดนิยมกันมากในอดีต เช่น ปฏิทินแม่โขง น้ำมันเครื่อง เบียร์ ที่ฮือฮายอดนิยมมากในยุคหนึ่ง ในอดีต ใครไปผิดวันก็ต้องรอจนถึงวันที่ระบุไว้จึงจะข้ามเขาพับผ้าได้ จากซังไปลุง จากลุงไปซัง ถ้าใช้เกวียนหรือรถยนต์ เพราะถนนแคบมากรถรายังวิ่งสวนทางกันไม่ได้ ยกเว้นแต่คนเดินเท้า หรือคนที่แบกของหาบของที่อนุโลมให้ไปได้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านช่วยกันกำกับและดูแลที่ปากทางเข้าวันคู่สลับกับวันคี่ ก่อนที่จะตัดถนนอีกสองครั้งจนเป็นสภาพปัจจุบัน และข้างทางยังมีถนนสายเก่าบางเส้นเลียบข้างทางสลับไปมาไม่ได้ใช้เป็นทางการแล้ว เป็นเส้นทางยอดนิยมของนักปั่นจักรยาน BigBike และ OffRoad สะพานโค้งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฮอลแลนด์ ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2487 สะพานนี้ถูกตั้งชื่อตามลักษณะของสะพาน ลักษณะพิเศษของสะพานนี้คือ บริเวณฐานของสะพานจะไม่ใช้เสาค้ำ แต่จะออกแบบให้มีลักษณะโค้งรับน้ำหนักแทน ส่วนสะพานเส้นใหม่ที่สร้างคู่ขนานจะก่อสร้างแบบมาตรฐานทั่วไป สะพานเส้นนี้อยู่ใกล้กับถนนสายพัทลุง-ตรัง อยู่ในเขตอำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ใกล้ ๆ กับวัดถ้ำสุมะโน เดิมเป็นบริเวณป่าเขามีถ้ำหลายแห่งภายใน สถานที่อโคจรที่พวกโจร/นายพราน/ทหารป่าพรรคคอมมิวนิสต์ เคยใช้เป็นที่พักชั่วคราวในอดีต/ที่หลบซ่อนตัวของคนที่ทางการต้องการตัว ก่อนที่มีพระภิกษุจากอีสานมาพัฒนาจนเป็นวัดทุกวันนี้ พร้อมกับคำบอกเล่าจากบรรดาศิษยานุศิษย์ เพื่อยกย่องอาจารย์ของตนว่ามีอิทธิปาฏิหารย์ นั่งทางในเห็นถ้ำแห่งนี้/มีเทวดามาบอกให้สร้างวัดที่นี่ เห็นถ้ำแห่งนี้ในนิมิตแล้วจึงมาสร้างเป็นวัดถ้ำสุมะโน สุมะโน มาจาก สุมโน สมณะ ผู้สงบหรือภิกษุ หรือเล่นคำ สุ ดีงาม มะโน ความคิด/จิตใจ ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() Photo Credit : https://goo.gl/QBaogu |
บทความทั้งหมด
|