เรื่องเล่าคนขายถ่าน
เช้าวันนั้น ผมขับรถยนต์ไปที่สตูล
ตรงไปที่เจ๊ะบิลัง เพื่อติดต่อซื้อถ่านไม้โกงกาง
ซึ่งมีพี่บุญเลิศ ลูกเขยป้านวล  เป็นผู้จัดการเตาเผาถ่าน
ที่ได้รับสัมปทานจากทางการจังหวัดสตูล
เนื้อที่สัมปทานป่าโกงกางกว่า 6,000 ไร่
ซึ่งผมเคยติดตามพ่อไปหลายครั้งแล้ว
ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กชายตัวน้อย ๆ
จนกระทั่งผมมารับช่วงกิจการของครอบครัว
ในฐานะทายาทธุรกิจเพราะเป็นพี่ชายคนโต

ในยุคนั้นแถวบ้าน ทุกครัวเรือนจะต้องใช้ถ่านจำนวนมาก
เพราะการทำกับข้าวจะทำบนเตา อั้งโล่ว
ถ่านจากไม้โกงกางจะให้ความร้อนสูง
และติดไฟทนนานกว่าถ่านไม้ประเภทอื่น ๆ
ส่วนถ่านไม้จากไม้ยางพาราจะมีคาร์บอนสูง
มียุคหนึ่งที่ยังไม่มีการแปรรูปไม้ยางพาราแบบอบไม้ส่งนอก
ที่ต่างประเทศเรียกว่า ไม้สักขาว
แถวบ้านทุ่งลุงคลองแงะ
จะมีรายหนึ่งเผาถ่านไม้ยางพาราส่งญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นจะนำไปเผาเหล็กเพื่อผลิตเหล็กเกรดดีขายต่อ

ในยุคนั้นแก๊สยังไม่มีขายในหาดใหญ่แต่อย่างใด
ทำให้ต้องระวังฟืนไฟมากกว่าปัจจุบัน
ยิ่งช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีนกับหลังตรุษจีน
ทางการต้องนำรถดับเพลิงจอดเฝ้าระวังกันเลยถึงสัปดาห์

แก๊สเริ่มมาทำตลาดหาดใหญ่ราว ๆ ช่วงปี 2510
ด้วยกลยุทธแจกถังใส่แก๊สฟรีให้ยืมก่อน จ่ายแต่ค่าแก๊ส
แบบการอ่อยเหยื่อล่อปลา พอปลาชินกับเหยื่อ
คราวนี้ค่อยลงเบ็ดตกปลาได้เรื่อย ๆ
หรือเรียกแบบไม่มีอาหารกลางวันฟรี No Free Lunch
โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ตามหนังสือดร.วราภรณ์ สามโกเศศ

การให้ยืมถังแก๊สในช่วงแรก ๆ ทำให้เจ้าของร้านมีปัญหา
คือ ขาดเงินหมุนเวียนกับถังแก๊สที่ให้ยืมไปก่อน
เพราะต้องจ่ายเงินค่าถังแก๊สให้กับผู้ผลิตแก๊สขายแทนคนใช้
แรก ๆ ก็ยังมีคนใช้แก๊สน้อยมาก
ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังใช้ถ่านทำกับข้าวร่วมกับแก๊ส
เพราะความเชื่อ/ความนิยมในเรื่องกลิ่นรสอาหาร
ถ้าทำจากเตาถ่านจะมีกลิ่นควันดีกว่า
รวมทั้งหลายคนยังปอดแหกกับการใช้เตาแก๊ส
กว่าจะนิยมและยอมรับกันก็ช่วงปี 2520 ปลาย ๆ
เพราะคนหายกลัวและยอมรับกันมากแล้ว
ในเรื่องความสะดวกและปลอดภัย
ทำให้ตอนนี้เริ่มมีรายได้/รับเงินค่ามัดจำถังแก๊สได้มากแล้ว

ต่อมา พอรัฐบาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการใช้ถังแก๊สหัวล้าน
ซึ่งหายไปจากท้องตลาดเหลือถังแบบใช้ตามบ้านทุกวันนี้
แต่เดิม ถังแก๊สที่ใช้งานมี 2 แบบคือ มีโกร่ง/ไม่มีโกร่ง
โกร่ง คือ ฝาเหล็กครอบด้านข้างดูเรียบร้อย ยกง่ายและลากจูงง่าย
แต่ถังหัวล้านไม่มีโกร่งจะเห็นหัววาล์วชัดเลย
เวลาขนส่งจะมีถ้วยเหล็กครอบหัววาล์วกันล้มป้องกันอันตราย
การขนส่งถังหัวล้านจะลากจูงยากกว่าเพราะไม่มีโกร่งให้จับ
ถังหัวล้านมักจะใช้ในงานระดับอุตสาหกรรมมาก
เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงงาน เตาเผาเซรามิค
ในภาคใต้ ถังหัวล้านยังหลงเหลืออยู่ในเรือประมงขนาดใหญ่
เพราะเรือใหญ่นาน ๆ จะเข้าฝั่งที เข้ามาบางถังถูกสนิมกินขาไปเยอะแล้ว
แต่สามารถนำมาแลกคืนได้ ถ้าสภาพถังไม่เลวร้ายจนเกินไป

ที่โรงงานผลิตเซรามิคแถวบ้านที่ผมรู้จัก
จะต้องใช้แก๊สต่อเนื่องจนหมดถังใหญ่
เพราะในการเผาดินปั้นให้สุกแต่ละครั้ง ต้องใข้แก๊สราวหนึ่งถังใหญ่
แต่พอเผาไปซักพักใหญ่ ๆ ตรงหัววาล์วที่เปิดต่อสายเข้าเตาเผา
จะเย็นจัดจนแทบเป็นน้ำแข็งเลย และแก๊สจะออกได้ไม่ดีกว่าเดิมแล้ว
จึงต้องทำเป็นกะบะขนาดใหญ่ต้มน้ำให้อุ่นเพื่อแช่ถังแก๊ส
เพื่อให้แก๊สเกิดความร้อนดันออกได้จนหยดสุดท้าย
ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถังหัวล้านเกิดสนิมได้ง่ายเพราะแช่น้ำ
ส่วนดินเผาสุกแล้วต้องคัดชิ้นส่วนดี ๆ ออกมาเคลือบน้ำยา
ก่อนนำเข้าเตาเผาเป็นเซรามิคสีต่าง ๆ
ก็ต้องเผาเกือบทั้งคืนอีกเช่นกัน

แต่เพราะธุรกิจพวกนี้เป็นรายใหญ่ขายได้ทุก ๆ วัน
มากกว่ารายย่อยที่ซื้อแต่ละครั้งใช้กันเป็นเดือน ๆ
ทำให้คนขายยอมทนและยอมขายเพราะดีกว่าขายรายย่อย
เพราะซื้อซ้ำ ซื้อประจำ ย่อมดีกว่า นาน ๆ ซื้อที

ต่อมา พอรัฐบาลประกาศให้เลิกใช้ถังหัวล้าน
คนขายเริ่มยุทธการเด็ดปีกแมลงปอ
รายไหนที่มีทะเบียนบันทึกว่า พวกยืมถังใช้
หรือรายไหนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องการยกเลิกถังหัวล้าน
ก็สั่งให้คนงานทำมึน ๆ ยกถังหัวล้านให้ใช้
ส่วนมากชาวบ้านไม่รู้อิโหน่อีเหน่ก็ใช้ตามปกติ

แต่พอแก๊สหมดจะขอซื้อแก๊สใหม่
ก็ฉวยโอกาสอ้างว่าถังนี้ใช้ไม่ได้แล้ว
เพราะรัฐบาลสั่งยกเลิกแล้ว
ต้องจ่ายค่ามัดจำถังใหม่/ค่าเปลี่ยนถังใหม่
แม้ว่าคนใช้บางคนทักท้วงว่า ลูกน้องคุณมาส่งเอง
แล้วบอกว่าใช้ได้ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา
ก็ทำมึน ๆ ว่าไม่จริง ไม่ใช่ คุณใช้ถังนี้อยู่แล้ว
สุดท้ายผู้ใช้ก็จำใจต้องจ่ายค่ามัดจำถังใหม่
แล้ววันหลังค่อยหาผู้ขายแก๊สรายอื่นมาทดแทนต่อไป

ธุรกิจจึงมีทั้งจริงท้งหลอกล่อ แบบลับลวงพราง
การฉวยโอกาสและการโกงแบบหน้าด้านใจดำ
เป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจของคนบางคน
 

ผมไปติดต่อซื้อถ่านไม้โกงกางจากป้านวลนานแล้ว
เพราะธุรกิจขายถ่านของพ่อผมเป็นรายใหญ่ผูกขาดแถวบ้าน
พ่อผมวางราคาขายต่ำมากทั้งราคาขายส่ง/ขายปลีก
โดยท่านบอกว่าต้นทุนของเรามาก็ต่ำ
ขายแค่นี้ก็พอมีกำไรแล้ว เพราะเราขายได้จำนวนมาก
กับให้คนจน ๆ ได้ใช้ถ่านในราคาถูก

เรื่องนี้ทำให้พี่น้องผมบางคนพูดว่า
ถ้าพ่อขายราคาแพงกว่านี้
ป่านนี้บ้านผมคงจะมีทรัพย์สินมากกว่านี้

ต่อมาไม่นานก็มีโกเซ็งจากตรัง
ซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ กับพ่อ และร้านโกหย่งอั้ว 
บรรทุกถ่านเต็มรถสิบล้อในยุคนั้นจะได้แค่15 ตัน
มาตระเวณขายตามบ้านและยี่ปั้ว
ทั้งนี้ เพื่อตัดราคาขายถ่านแข่งกับพ่อผม
แต่ทำได้สักพักก็เลิกราไป
เพราะสู้ต้นทุนขนส่งไม่ไหวและมีปัญหาการเก็บเงิน
จึงหันหน้ามาเจรจากันเพื่อไม่ให้ทุกคนขาดทุนกำไร
ด้วยการกำหนดราคากลางที่ทุกคนต่างมี กำไร กำไร กำไร
ด้วยการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันและค้าขายร่วมกัน
มีการโปัวของกันเวลาของใครขาดแคลน
 

จริง ๆ ถ้าคิดตามหลักกลยุทธ์ มิเชล อี พอร์เตอร์
คือ การตั้งกำแพงไว้ ไม่ให้คู่แข่งเข้ามาง่าย ๆ
แบบ ไฟแช็คแก๊ส ราคา 5 บาทในสมัยก่อน
ปัจจุบันก็ไม่เกิน 10 บาท ก็ยังขายได้เรื่อย ๆ
หายก็ซื้อใหม่  ไม่สนใจตามหาเหมือนไฟแช็ค Zippo Dupont
แม้ว่าตอนนี้เริ่มมีรายย่อยนำไฟแช็คแก๊สจากจีนมาแข่งขัน
แต่การตลาดต้องมุ่งไปกลุ่มย่อย ๆ ไม่แข่งขันโดยตรง
 
นานมาแล้วผมเคยไปที่โรงงานผลิต Mama
ผู้จัดการโรงงานนำชมสายการผลิต/ให้ข้อมูลบางส่วน
ท่านว่าที่หาดใหญ่จะขายดีที่สุดได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ล้านซอง/วัน
กำลังการผลิตที่นี่ทำได้ถึง 30 ล้านซอง/วันและจะขยายให้ได้ 50 ล้านซอง
Mama จะผ่านการทอดในน้ำมันให้สุกก่อนตัดเป็นก้อน ๆ
ที่นี่ผลิตได้หลายรสชาติมาก เตรียมไว้เพื่อ STP (Segment Target Place)
โดยแค่ปรับเปลี่ยนส่วนผสมกลิ่นต่าง ๆ อบรมควันใส่เส้นหมี่/ใส่ซองปรุงรส
กลิ่นต่าง ๆ ซื้อจากสิงคโปร์ผู้ผลิตได้มากกว่า 2,000 กลิ่น
ถ้าขายให้ตัวแทนนำเข้าออสเตรเลีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา
จะใส่ซองปรุงรสรสชาติอ่อนกว่าที่ขายในเมืองไทย
เพราะคนส่วนมากที่นั่นกินเผ็ดมากไม่ได้

แถวบ้าน คนมาเลย์และคนสยามที่นั่น
ชอบซื้อ Mama กลับบ้านกันทียกลังเลย
เอาไปกินเองฝากเพื่อนกับขายต่อได้ราคาดี
บางรายเอาไปขายที่สิงคโปรด้วยเช่นกัน
สินค้าแบบเดียวกับ Mama ที่มาเลย์ก็มี
แต่รสชาติไม่ถูกปากคนไทยเพราะอ๊อนอ่อน

ตอนนี้ก็มีเฉพาะคนมุสลิมยี่ห้อ Jaya (ชนะ/สำเร็จ)
กับ  ซือดะ (ร่อยจังวู๊-อร่อยอย่างแรง)
มาแย่งส่วนแบ่งตลาด Mama ส่วนหนึ่ง

รายใหม่ที่จะมาลงทุนต้องคิดหนัก
เรื่องเครื่องจักร เงินทุน การตลาด การเก็บเงิน
เพราะสินค้าพวกนี้กำไรน้อย กำไรมาก
ต้องขายมาก ๆ จึงจะมีกำไร เพราะกดราคาขายไว้ต่ำ
ถ้าปล่อยเครดิตยิ่งเสี่ยงต่อหนี้สูญ หนี้เสีย




เครดิต . https://hbs.me/3aQixIX 
 
 

ที่บ้านป้านวล  หลังจากผมติดต่อซื้อขายถ่านเสร็จแล้ว
ผมมักจะชอบนั่งที่บ้านของท่านตามคำเชิญของท่านทุกครั้ง
บ้านป้านวลอยู่ใกล้กับแพปลาแถวนั้นมาก
ท่านมักจะซื้อพวกปลาหมึก ปลาทะเลสด ๆ หอยต่าง ๆ
มาทำกับข้าวเลี้ยงดูกันเป็นประจำ
เพราะของสด ๆ ยิ่งได้แม่ครัวเก่ง ๆ
อาหารจะอร่อยถูกปากถูกใจมาก (หรอยได้แรงอก)
กับบรรยากาศติดชายทะเลที่เวิ้งว้าง
ดูชีวิตเราเหมือนแค่เม็ดทรายในท้องทะเล
จะได้ปลง ๆ บ้างว่า ชีวิตเราไม่ได้ยิ่งใหญ่กว่าท้องทะเล

ปลาทะเลแต่ละประเภทการทำอาหารจะแตกต่างกัน
ดังนั้น จึงควรให้แม่ครัว/พ่อครัวนำเสนอเอง
เพราะคนเหล่านี้จะเชี่ยวชาญและชำนาญกว่า
ในการคัดสรรปลามาทำอาหารประเภทต่าง ๆ
ดีกว่าการสั่งอาหารตามความเคยชิน

ผมนั่งคุยกับป้านวลสักพักหนึ่ง
พี่บุญเลิศซึ่งเสร็จจากการไปดูแลเตาเผาถ่าน
ก็มานั่งคุยด้วยเรื่องสัพเพเหระต่าง ๆ
สักพักพี่บุญเลิศก็พูดขึ้นมาว่า
หัวหน้าคนงานลูกน้องของแกคนหนึ่งอยากไปทำเตาเผาถ่าน
ที่ป่าโกงกางแถวคลองเข้ไข่(จระเข้ไข่)
ซึ่งมีเนื้อที่สัมปทานราว 6,000 ไร่ อายุสัมปทาน 10 ปี
แต่ไม่มีเงินประก้นให้รัฐราว 150,000 บาท
กับเงินลงทุนสร้างเตาเผากับเงินทุนหมุนเวียนเบื้องต้น
น่าสนใจถ้าจะร่วมลงทุนและจะได้ผูกขาดซื้อถ่านจากเจ้านี้
แต่ทางพี่บุญเลิศไม่อยากลงทุนเพิ่ม
เพราะที่ทำอยู่ก็ดูแลแทบไม่ทันแล้ว
ถ้าสนใจจะติดต่อและร่วมลงทุนทำสัญญาให้
ผมเลยกลับบ้านไปปรึกษาพ่อก่อนในเรื่องนี้
 


เสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน

พ่อผมเห็นด้วยกับเรื่องนี้และคิดว่าน่าจะลงทุน
แต่ให้หัวหน้าคนงานพี่บุญเลิศเป็น Nominee 
เพราะเป็นคนไทยคนพื้นที่แถวนั้น
กับในระยะยาวไม่ยุ่งยากเรื่องภาษี
และการจ่ายรายการให้กับเจ้าหน้าที่ไม่ดีบางราย
ที่มักจะขอรายได้เพิ่มเติมในงานต่าง ๆ
เช่น เลี้ยงรับเลี้ยงส่งเจ้านาย ลูกหลานไปเรียน
พ่อตาตาย แม่ยายป่วย เบ็ดเตล็ด ฯลฯ

กอปรกับพ่อผมเป็นคนจีนต่างด้าว
ซึ่งในยุคนั้นอวดรวยไม่ได้ด้วย
ทุกคนต้องอยู่แบบผ้าขี้ริ้วห่อทอง (ทองคำขาวกับเพชร)
ต้องทำตัวสมถะอยู่บ้านเก่า ๆ โทรม ๆ
เพราะโจรผู้ร้ายรู้ว่ารวยหรือมีเงินมาก
เดี๋ยวอาจจะถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่

คนที่ถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่มักจะอยู่เงียบ ๆ
เพราะอับอายเสียเหลี่ยมกับกลัวเกรงว่า
ถ้าโวยวายออกไปเท่ากับการสลักหน้าผากว่ามีเงิน
จะทำให้คนเลวมารีดไถหรือจับลูกหลานไปเรียกค่าไถ่อีก

แต่ที่ปิดข่าวกันให้แซด คือ เถ้าแก่ร้านข้าวต้นหลักพัน(100 สตางค์เป็น 1 บาท) ในหาดใหญ่
โก...เคยถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่ จนต่อรองเหลือ 4,000,000 สตางค์
ยุคที่ทองบาทละ 120,000 สตางค์(1,200 บาท หรือซื้อทองได้ถึง 16 บาท) 
แกสันนิษฐานว่าถูกจับไปขังแถวเขาคอหงส์ใกล้ค่ายเสนาณรงค์
พอต่อมา ตอนกลางคืนพวกนี้มานั่งกินข้าวกินเหล้าร้านแก
แกจำเสียงคนจับแกไปคนหนึ่งได้ แต่ต้องทำใจ ปล่อยเลยตามเลย
แบบถูกให้กินฟรีมากกว่านี้อีก  ไม่ใช่ขอกันกินมากกว่านี้

โก...เป็นคนใจบุญสุนทานมากคนหนึ่งทีเดียว
ทุกเช้าหลังจากร้านข้าวต้มโกเริ่มวายแล้ว (ราว ๆ ตีห้าก่อนถึงตีหก)
โกจะนำข้าวปลาอาหารไปยืนรอตักบาตรทุกเช้า
ที่ประจำของโกคือ ตรงหน้าตลาดชีกิมหยง(เฉลิมไทย)
โกจะตักบาตรให้พระเณรทุกรูปจนของหมด
ถ้ายังมีพระเณรมารอบิตรบาตรอีกหลายรูป
โกจะเหมาข้าวปลาอาหารจากร้านค้าแถวนั้นมาตักบาตรอีก
ตอนผมบวชพระราวหนึ่งเดือนเศษที่วัดปากน้ำ
ผมก็ได้ไปบิณบาตรจากโกร่วมเดือนเช่นกัน
เพราะพระรุ่นพี่บอกไปที่นี่ไม่ผิดหวังและไม่ไกลจากวัด
ผมยังสำนึกบุญคุณน้ำใจของโกจนทุกวันนี้
ที่โกมีจิตศรัทธาและเอื้อเฟื้อต่อพุทธศาสนา

คนจีนยุคนั้น  ถ้าไปทำธุรกรรมกับราชการไทย
มักจะต้องมีเงินติดปลายนวมมากกว่าปกติอยู่แล้ว
รวมทั้งยุคนั้น  อุปมาชาวบ้านอยู่ท่ามกลางเขาควายสองตัวชนกัน
ข้างหนึ่งของรัฐ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาฯ
อีกข้างหนึ่งคือ พวกคอม/ทหารปา(พรรคคอมมิวนิสต์ไทย) กับ โจรจีนมลายา

ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการเงินทุนสนับสนุนการต่อสู้
มาในรูปงานกุศลร่วมใจอาสาต่าง ๆ นานา

ถ้าทำตัวเด่นชัดหรือเข้าข่ายเป็นแนวร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
มักจะได้ไปนอนสติอารมณ์อยู่ใต้รากยางพารา/รากหญ้า
โอกาสจะกลับมาคบหาเพื่อนฝูงหรือพบปะลูกเมียก็ไม่มีแล้ว
 

เวลาซื้อสวนยางพาราแถวเขตอิทธิพลโจรจีนมลายา
วันรุ่งขึ้นก็จะมีจดหมายขอแสดงความยินดีต้อนรับเพื่อนใหม่
พร้อมกับขอเงินสนับสนุนพรรคโจรจีนมลายาจำนวนหนึ่ง
รวมทั้งต่อมาจะขอเงินฉลองวันเกิดพรรคคอมมิวนิสต์มลายา
วันตรุษจีน ที่จะทะยอยตามมาอีกหลายรายการ

ครั้นจะไม่ให้ก็ได้  แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปที่สวนยาง
หรือไม่มีใครกล้าเข้าไปกรีดยางพารา
แต่ถ้าให้ก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน
ผิดหูผิดตาเจ้าหน้าที่รัฐอาจจะกลายเป็นแนวร่วม
ได้ไปนอนใต้รากต้นยางพาราได้ง่าย ๆ

แต่การแลกเปลี่ยนแบบนี้ก็มีจุดคุ้มทุน
เพราะพวกชอบลักเล็กขโมยน้อย เช่น
จอกยาง ขี้ยาง เครื่องจักร ข้าวของในบ้าน แทบจะไม่มีเลย
ขโมยขโจรที่จับได้ จะมีการเตือนและให้โอกาสเพียง 3 ครั้ง
ถ้าทำครบเมื่อใด ก็จะถูกจับตัวมาประจานที่ชุมชนของหมู่บ้าน
แล้วประกาศความผิดพร้อมกับยิงทิ้งตรงที่นั่นเลย
เป็นการเตือนและประกาศศักดาข่มขู่ผู้คนไปในตัว
แบบเดียวกับพวก ISIS ทำกับเหยื่อที่เคราะห์ร้ายแถวซีเรีย

เพื่อนคนก็เคยทำหน้าที่เพชฌฆาตครั้งหนึ่ง
ทำหน้าที่แทนทหารป่า(นักรบประชาชน)
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ซึ่งก็นิยมหลักการแบบโจรจีนมลายา
เพราะได้ผลดีมากแบบตัดไม้ข่มนาม
ทำให้คนชั่วหรือแนวร่วมฝ่ายรัฐเกรงกลัว
แต่ไม่ถึงขนาดตัดหวายอย่าไว้หน่อ ฆ่าพ่ออย่าไว้ลูก

แต่ภายหลังเพื่อนคนนี้ออกมาทำธุรกิจอาหารสัตว์ที่เวียตนาม
ไปไปมามาระหว่างเวียตนามกับเมืองไทย
พอแกมีครอบครัวแล้ว  ก็รู้สึกผิดบาปในการคร่าชีวิตคน
แต่ตายไปแล้วเพราะการผ่าตัดหัวใจที่เวียตนาม
แล้วติดเชื้อในกระแสเลือด
เพื่อนบางคนเลยบอกว่าถ้าผ่าตัดเมืองไทยคงไม่ตาย
สงสัยภายในโรงพยาบาลที่นั่นแมลงสาปคงเดินกันว่อน
 


เมื่อสัมปทานหัวหน้าคนงานของพี่บุญเลิศได้รับอนุมัติแล้ว
ผมจำชื่อไม่ได้แล้วว่าแกชื่ออะไร
สมมุติว่าชื่อ เทือง ก็แล้วกัน
เพราะผมเรียกแกว่า น้า ตลอด

เทืองก็จัดการหาเรือหางยาวจำนวนหนึ่ง
พร้อมกับคนงานเพื่อออกไปตัดไม้โกงกางในที่สัมปทาน
การตัดไม้โกงกางจะใช้ขวานเป็นหลักในการตัดไม้
เพราะตัดบนเรือที่โคลงเคลงบ้างเล็กน้อย
และมักจะออกไปตัดไม้โกงกางตอนน้ำลง
จะต้ดไม้ได้เกือบถึงปลายกิ่งแขนงที่ยึดต้นไม้โกงกางไว้
ถ้าไปตัดตอนน้ำขึ้นจะได้แต่ช่วงบน ๆ เสียเนื้อไม้ไปส่วนหนึ่ง
หลังจากตัดเสร็จแล้วก็จะทำการลิดใบและกิ่งเล็ก ๆ ออก
โยนลงในทะเลป่าชายเลน ก็จะกลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำ
และส่วนที่หลงเหลือก็กลายเป็นปุ๋ยไปในระยะยาว

ในกรณีที่ตัดต่ำมากจนเกือบถึงปลายต้นโกงกาง
ต้นมักจะตายไม่งอกต้นใหม่อีก
กินเวลาราวสองถึงสามปีกว่าจะผุพังเป็นปุ๋ย
ส่วนถ้าตัดสูงขึ้นมาส่วนมากมักจะตัดตอนน้ำขึ้น
ถ้าไม่มีการตัดเพื่มเติมในวันหลัง
ก็มีโอกาสงอกขึ้นมาเป็นต้นใหม่ได้
แต่มักจะมีต้นโกงกางแบบนี้น้อยมาก

พอต้นโกงกางออกดอกจะมีเมล็ดคล้ายกับฝักยาว ๆ
ก็นำฝักนี้ปักลงในน้ำตอนน้ำลง
สักพักก็งอกขึ้นเป็นต้นโกงกางต่อไป
พอต้นโกงกางอายุราย 5 ปีก็ตัดได้อีกรอบ

การตัดไม้ใหญ่ลง ไม้ใหญ่ล้มแล้ว
ไม้เล็ก ๆ จะได้เติบโตบ้าง

เป็นคำพุดของนักธุรกิจรายหนึ่งที่ภูเก็ต ที่ผมจำได้
แกเคยอยากลงทุนในไทย แต่ก็ถูกสะกัดกั้นดาวรุ่ง
แม้ว่าโครงการจะดีมาก มีความเป็นไปได้
แต่ธนาคารไทย/บริษัทเงินทุนยุคนั้น
มักจะประกาศว่า No Land No Loan
ทำให้แกต้องกลับไปแบบมือเปล่า
ไปทำงานที่บริษัทเงินทุนในอังกฤษ

พอเกิดเหตุการณ์ปี 40 วิกฤติครั้งร้ายแรงของไทย
ที่ธุรกิจรายใหญ่ในไทยล่มสลายไปหลายราย
แกก็กำเงินจากบริษัทอังกฤษกลับมาเมืองไทย
ทำการช้อปปิ้งหลายธุรกิจในไทย
หลายแห่งเป็นโครงการเดิมที่แกเคยคิดไว้
แต่สถาบันการเงินงาบความคิดนี้
ให้เพื่อนผองน้องพี่ลูกหลานไปทำเอง
แต่สุดท้ายก็ล่มสลายไป
แบบคนลงมือทำหรือจะสู้ลิขิตฟ้า
แกเลยได้ธุรกิจแบบนี้กลับมาแบบป๋า Bird สบาย ๆ
 

การตัดไม้โกงกางในป่าสัมปทาน 6,000 ไร่
จะแบ่งแปลงสัมปทานออกเป็น 10 แปลง
แปลงหนึ่งราว ๆ 600 ไร่โดยเฉลี่ย
ปีหนึ่ง ๆ กว่าจะตัดได้ตามเป้าหมายก็หืดขึ้นคอ
พอครบปีก็ต้องเริ่มลงทุนปลุกป่าโกงกาง
ในแปลงสัมปทานที่ตัดไปแล้ว
โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐมาตรวจสอบเป็นพิธี
หรือขอรับเงินค่าป่วยการบ้าง

ส่วนปีสุดท้ายหรือปีที่ 10
ไม่ได้บังคับให้คนรับสัมปทานปลูกป่าต่อ
หลายรายเลยถือโอกาสชิ่งไปเลย
จริง ๆ ถ้ากฎหมายบังคับก็จะได้ป่าโกงกางเร็วขึ้น
แทนการงออกขึ้นเองตามธรรมชาติ

เคยเจอรายหนึ่งเป็นเจ้าของเตาเผาถ่านป่าโกงกางที่ซัง(ตรัง)
จากคนรวยกลายเป็นคนเคยรวย
เพราะพอรัฐไม่ต่อสัมปทานให้ก็ไปไม่ถูกเลย
เงินทองที่ใช้สอยไปให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบางคน
ที่เอ่ยปากเป็นมั่นเหมาะว่าได้ชัวร์
ในการวิ่งเต้นสัมปทานรอบใหม่
ก็เท่ากับโยนทิ้งเล(ทะเล)ให้ปลาใหญ่ปลาเล็กตอดกิน
สูญเปล่าไปเป็นจำนวนมาก
ได้คืนก็เงินประกัน 150,000 บาท
 


หลังจากออกไปตัดไม้โกงกาง
และลิดใบออกให้หมด และตัดกิ่งเล็ก ๆ ทิ้ง
ก็จะนำท่อนไม้โกงกางขึ้นบนฝั่ง
นำไม้โกงกางที่เปียกชื้นลงบนขาหยั่งไม้รูปตัววีสองอัน
ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นขาตั้งเหล็กท่อน้ำขนาดใหญ่ยึดติดกับแท่นปูน
เพราะใช้ทนใช้นานกว่าขาตั้งไม้แบบก่อน

นำไม้โกงกางมาลอกเปลือกออกก่อน
โดยใช้ใบมีดที่ตีจากใบเลื่อยยนต์แบบสายพาน
จะดัดโค้งไปมาได้ง่ายรูปทรงคล้ายใบเลื่อยเหล็กแต่กว้างกว่า
จะทำการขูดลอกเปลือกไม้โกงกางออก
ถ้าไม้โกงกางแห้งก็ต้องใช้ขวานค่อย ๆ เฉาะออก
แล้วดึงลอกเปลือกออกให้มากที่สุด
จนท่อนไม้โกงกางเปลือยกายล่อนจ้อน

การทำแบบนี้เพราะเวลาเผาถ่าน
ถ้าเปลือกมีมากจะมีขึ้เถ้าในเตามาก
ต้องเสียเวลาเก็บกวาดขี้เถ้าออกมา
ก่อนจะนำท่อนไม้เข้าไปในเตาถ่าน
ขี้เถ้าในเตาเผาถ่านถ้ามีมาก
การจุดไฟติดก็ยากและเกะกะในการทำงานเวลาเดิน/ฝุ่นละออง

ไม้ที่ลอกเปลือกออกแล้วจะมีการกองเก็บกันฝน
ถ้าหน้าร้อนก็จะตากแดดให้แห้งมากที่สุด
มีผลต่อระยะเวลาในการเผาถ่านเช่นกัน

ส่วนเปลือกไม้โกงกางก็มอบให้ชาวบ้านไปทำเชื้อเพลิง
ถ้าเหลือมาก ๆ เผาไม่ทันก็โยนลงทะเลไป
ในยุคนั้นยังไม่ค่อนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากนัก

ในระยะแรกเทืองกับลูกน้องต่างออกไปตัดไม้โกงกาง
มากอง ๆ ไว้เป็นจำนวนมากเพื่อเตรียมเผาถ่าน

เตาถ่านจะใช้อิฐก่อแบบซ้อนกัน 2 ก้อน
ใช้ดินโคลนดินเลนจากท้องทะเลแทนปูนซีเมนต์
ประสานอิฐเข้าด้วยกัน โดยค่อย ๆ ไล่ขึ้นไปจนกลายเป็นเตาเผาถ่าน
เตาเผาถ่านให้คิดภาพแบบกระโจมน้ำแข็งแอสกิโม
ด้านบนจะไม่มีการเจาะรูแต่อย่างใด
ตรงบริเวณรอบ ๆ เตาจะก่อเป็นแท่นขึ้นมา
ทำช่องหน้าต่างขนาดราวก้อนอิฐ 2 ก้อน
รอบ ๆ ตัวเตาราว 6-10 ช่องหน้าตาไว้ดูไฟ

ตรงช่องทางเข้าจะสูงร่วม ๆ 2 เมตร กว้างราว 1 เมตรเศษ
เพื่อให้นำไม้โกงกางเข้าออกได้โดยง่าย
ภายในเตาเผาจะมีความสูงราว 4-5 เมตร
คนงานจะนำไม้โกงกางที่ลอกเปลือกแล้ว
นำไปวางซ้อนเป็นชั้น ๆ ให้ชิดกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
บางครั้งต้องใช้ไม้ดันท่อนไม้ขึ้นไปวางด้านบนด้วย

พอเรียงไม้แน่นเตาเต็มที่แล้ว
จึงค่อย ๆ ก่ออิฐปิดตัวประตูเตาที่เข้าออก
ให้เหลือช่องพอให้คนมุดคลานเข้าไปได้
แล้วจึงได้เวลาจุดไฟให้ลุกไหม้ไม้โกงกาง
กินเวลาราว 5-7 วัน กว่าไฟจะลุกไหม้จนทั่วเตา
โดยจะดูจากควันไฟลุกไหม้ที่แลบออกมาทางช่องหน้าต่าง
ถ้าควันไฟยังเป็นสีขาวมาก
แสดงว่ามีการเผาไล่ไอน้ำในเนื้อไม้ออกมา
พอไฟเริ่มเป็นสีฟ้าแสดงว่า
ไม้บริเวณนั้นลุกไหม้สมบูรณ์แล้ว
จึงจะเริ่มปิดช่องหน้าต่างบริเวณนั้น
โดยใช้ก้อนอิฐที่วางรออยู่ฉาบด้วยดินโคลน
ที่เตรียมไว้แล้วหาเอาจากดินโคลนดินเลนชายทะเล
โดยจะทะยอยปิดไปเรื่อย ๆ จนช่องสุดท้ายครบแล้ว
ลมร้อนกับเปลวไฟสีฟ้าจะแลบออกมาที่ช่องประตู
ก็จะทำการปิดตายประตูเลย ไม่ให้ออกซิเจนเข้า
เพราะถ้ามีออกซิเจนเข้าจะได้ขี้เถ้ามากกว่าถ่าน


ช่างไฟจีนมาเลย์จะเก่งมากเรื่องดูไฟ
(ค่าตัวช่างไฟจะถูกหรือแพงขึ้นกับปริมาณถ่านที่ผลิตออกมา)
แกดูแล้วรู้เลยว่าไฟได้ที่แล้วยังในแต่ละช่องหน้าต่าง
ก่อนจะสั่งให้ลูกน้องของแกปิดช่องหน้าต่างนั้น
แกจะมีลูกน้องคนไทยอีก 2 คนช่วยเฝ้าดูไฟทั้งวันทั้งคืน
ส่วนคนไทยคนไหนเอาถ่าน
ก็มักจะแยกวงออกไปรับจ้างเป็นคนดูไฟได้ในภายหลัง


เตาเผาถ่านต้องทำหลังคาคลุมด้วยใบจาก
เพราะเตาที่เทืองกับลูกน้องทำมีขนาดใหญ่มาก
ความร้อนภายในเตาที่ระอุออกมาข้างนอกเตาก็สูงมากเช่นกัน
ถ้าโดนฝนตกหนัก ๆ เตาอาจจะระเบิด/แตกร้าวได้
ขนาดภายในเตาจุไม้แต่ละครั้งราวสองรถสิบล้อบรรทุกเกินขนาด
หรือประมาณครั้งละ 40 กว่าตันขึ้นไป

การเผาไม้ถ้าเป็นท่อนไม้ขนาดเล็ก
หลังจากปิดประตุเตาเผาถ่านจะกินเวลาราว 17 วัน
ส่วนท่อนไม้ขนาดใหญ่จะกินเวลาราว 21 วัน
ค่ายีล yield เนื้อไม้ที่สูญเสียราว 25% อย่างต่ำทุกครั้ง
เรียกว่าพอเผาเสร็จเป็นถ่านแล้วจะเหลือราว ๆ 30 ตันเศษ

หลังจากครบกำหนดเวลาจะเอาถ่านออกแล้ว
ต้องทิ้งให้สงบจริง ๆ อีกราว 4 วัน
จึงจะทุบประตูใหญ่ให้กว้างขึ้นเท่าเดิม
เพื่อให้คนงานไปนำเอาถ่านออกมา
ถ้ารีบเปิดประตุเร็วเกินไป
ถ่านที่ยังเผาไหม้เป็นถ่านยังมีความร้อนอยู่
พอเอาออกมาถูกอากาศ/ลมพัด
ก็อาจจะติดไฟลุกไหม้เสียหายหนักกว่าเดิม

ในช่วงเวลาเผาต้องคอยระวังอย่าให้เตารั่ว
ถ้ามีรูรั่วตัองรีบเอาดินโคลนฉาบปิดทันที
เพราะถ้าออกซิเจนเข้าไปในเตามาก
จะทำให้ถ่านข้างในสุกมากเกินไปจนกลายเป็นขี้เถ้า
จึงต้องมีการระมัดระวังซ่อมเตาเป็นประจำ
หลังจากเสร็จสิ้นการเผาแต่ละครั้ง
ด้วยการใช้โคลนฉาบพอกให้แน่นสนิท

ต่อมาเทืองและคนงานได้สร้างเตาขึ้นเรื่อย ๆ
จนอาณาบริเวณที่ตั้งเตาเผาถ่านมีจำนวน 12 เตา
แถวนั้นเรียกกันว่า หลุม หลุมหนึ่ง ๆ ราว 10-12 เตา
ไว้หมุนเวียนเผาถ่าน และให้คนงานมีงานทำตลอด
ในช่วงรอเวลาที่จะนำถ่านออกมา
ก็ไปตัดไม้โกงกางเพื่อเตรียมไว้ใช้เผาถ่าน
 

ในยุคนั้น ผมไปที่นั่นบ่อยมากในช่วงแรก ๆ
ขณะที่กำลังก่อสร้างและลองผิดลองถูกเรื่องเตาเผาถ่าน
ผมได้กินปูดำจนเบื่อไปเลย
เพราะการจับปูดำแถวป่าชายเลนจะง่ายมาก
คนงานจะเด็ดก้านมะพร้าวลิดเอาใบออก
จนเหลือแต่ก้านมะพร้าวแล้วมัดทำเป็นบ่วง
พอระยะน้ำขึ้น พวกปูจะเริ่มทะยอยหากิน
เพราะอาหารตามชายฝั่ง(พวกแพลงตอน ปลาตาย เศษอาหารของคน)
จะลอยลงไปในทะเลเป็นอาหารสัตว์น้ำ

คนงานจะเอาก้านมะพร้าวแหย่ที่ก้ามปู
พอปูงับก็จะดึงขึ้นมาบนฝั่ง
ใช้เท่าเหยียบตัวปูตรงกลางลำตัว
ปูจะขบกัดไม่ได้ ถึงกัดก็ไม่ค่อยเจ็บ
เพราะเท้าคนงานมักจะหนาและด้านมาก
คนงานจะมัดแขนมัดขาปูเอาไปขายต่อ

แต่ถ้าจะทำกินเอง ก็จะเหยียบไว้ก่อน
แล้วเอากิ่งไม้แทงเข้าตรงร่องอกของปู
ปูก็จะค่อย ๆ ตาย ก่อนนำไปทำอาหาร
แต่บางคนโหดกว่านั้นจะโยนใส่กระสอบ
แล้วเทลงกะทะที่ต้มน้ำเดือดทำอาหารเลย


ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ผมชอบมาก
คือ ปลากระบอก ที่ตัวเมียจะว่ายน้ำนำตัวผู้
ตัวผู้มักจะว่ายยิก(ไล่)ตามราว 1-2 ตัว
เพื่อฉีดน้ำเชื้อเวลาตัวเมียวางไข่
ปลากระบอกจะวางไข่ในป่าชายเลน

คนงานมักจะถือสวิงทำด้วยตาข่ายขนาดใหญ่
ยืนนิ่ง ๆ แถวชายฝั่งทะเลแถวนั้น
พอปลากระบอกว่ายมา ก็จะรีบตักขึ้นมา
จะได้ปลากระบอกตัวเมียส่วนใหญ่
บางครั้งจะได้ตัวผู้แถมมาด้วยเช่นกัน
ปลากระบอกตัวขนาด 6-9 นิ้ว
นำมาทำแกงส้มจะอร่อยมาก
ยิ่งตัวที่มีไข่ในพุงจะเลิศมากเช่นกัน
ถ้าตัวโตกว่านั้นต้องนำไปทอดหรือทำปลาแดดเดียว
 


หลังจากรัฐบาลสั่งปิดป่า
และยกเลิกสัมปทานการเผาถ่าน
ผมก็ยุติเรื่องการเผาถ่านนี้ไปเลย
เทืองก็ไปขอเงินสัมปทานคืนให้ผม

เตาถ่านเดิมก็ทิ้งร้างไป  ผมไม่ได้ไปดูหลายปีแล้ว
แต่ผมยังนำเข้าถ่านจากพม่าและอินโดนีเซีย
ซึ่งจะขึ้นมาทางท่าเรือแถวอันดามันหลายจุด
นำมาขายตามร้านซีฟูด หมูกะทะ ร้านอาหารอีสาน
และร้านก้วยเตี่ยวราดหน้า ที่ผัดกับเตาถ่าน
เพราะกลิ่นควันและความร้อนจากถ่าน
จะหอมกว่าและอาหารจะค่อย ๆ สุก
ช้ากว่าการใช้แก๊สหุงต้มอาหาร

แม้ว่าทุกวันนี้ยอดขายถ่านผมจะน้อยกว่าเดิม
แต่ธุรกิจก็ยังพอเลี้ยงตัวเองอยู่รอดได้


สำหรับความคิดของผมแล้ว
จริง ๆ ถ่านจากไม้โกงกางเป็นของธรรมชาติ
รัฐบาลจะลดค่าใช้จ่ายแฝงได้มาก
ไม่ต้องเสียค่าแก๊สให้พม่า มาเลย์แต่อย่างใด
ทำให้ชาวบ้านรายเล็ก ๆ มีงานทำ และเศรษฐกิจหมุนเวียน

การตัดไม้แล้วปลูกทดแทนทุกครั้ง
ไม้ใหญ่ล้มแล้ว ไม้เล็กได้เติบโตบ้าง
แบบพวกสัตว์น้ำ สัตว์บก ถ้าโตเต็มที่แล้ว
อัตราแลกเนื้อก็ต่ำลงหรือไม่มีเลยเลี้ยงไปก็เสียข้าวสุก
แถมทำให้ตัวเล็กกว่าไม่ค่อยรอด
หรือมีโอกาสเติบโตเป็นตัวใหญ่แต่อย่างใด


นากุ้งที่นายทุนบางคนทำเป็นที่นากุ้งโดยบุกรุกที่ป่าโกงกาง
ต้องไถต้นไม้กับพื้นที่ให้เรียบ เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม้โกงกาง
แล้วกักขังน้ำไว้เลี้ยงกุ้ง ก่อนปล่อยน้ำเลี้ยงกุ้งลงสุ่ทะเล
สร้างมลภาวะทำให้ท้องทะเลมีหอยมากขึ้น


ไม้โกงกางเป็นไม้เนื้อแข็ง มีน้ำหนักเวลายกค่อนข้างหนัก
แข็งแต่เปราะเหมือนมีดพร้าที่ชุบแข็งไม่ดี  ฟันแล้วมักจะบิ่นหรือหักได้
ไม้โกงกางลำต้นตรงและมีขนาดใหญ่น้อยมาก
ไม่เหมาะกับการแปรรูปเป็นแผ่น ๆ เพราะแข็งส่วนหนึ่ง ราคาก็ไม่แพง
การทำเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้กันอยู่  จึงค่อนข้างดูดิบ ๆ เถื่อน ๆ
แบบไม่เนี้ยบเหมือนไม้ทั่วไปที่แปรรูปเป็นแผ่น ๆ แท่ง ๆ
ถ้าสังเกตดีดีจะเห็นรอยแตกร้าวของเนื้อไม้ที่แตกเป็นเส้น ๆ
แต่ใช้ทนใช้นานใช้จนรำคาญ ทนถึกมาก
แต่อย่าไปโดยน้ำฝน น้ำจืด จะผุพังเร็วมาก
คล้ายกับเนื้อไม้เสื่อมสภาพ ยิ่งกว่าปลวกกินซะอีก


เขียนขึ้นจากความทรงจำเก่า ๆ
ก่อนที่จะเลือนหายไปเหมือนกับถ่านติดไฟ

 






เครดิต ช่างปั้นเตาอบถ่าน






เครดิต การเดินทางของไม้โกงกาง เรื่องเล่าจากคนเอาถ่าน “เขายี่สาร














เครดิต โกงกาง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นโกงกางใบใหญ่ 12 ข้อ !



Create Date : 27 มกราคม 2563
Last Update : 29 มกราคม 2563 10:20:34 น.
Counter : 3634 Pageviews.

3 comments
อัพบล็อก เรื่อยเปื่อย multiple
(29 มิ.ย. 2568 09:23:39 น.)
29 มิย 68 ทริปชมซากุระ 2025 -8 Lunch @ Mokushundo mcayenne94
(29 มิ.ย. 2568 22:23:02 น.)
Day..14 โฮมสเตย์ริมน้ำ
(26 มิ.ย. 2568 08:37:37 น.)
18 มิย 68 mcayenne94
(18 มิ.ย. 2568 17:08:30 น.)

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณtuk-tuk@korat

  
โดย: สมาชิกหมายเลข 5702793 วันที่: 27 มกราคม 2563 เวลา:16:42:00 น.
  
บางที ท่าน กับ เรา มองไปคนละทางค่ะ
โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 27 มกราคม 2563 เวลา:21:07:07 น.
  
ได้ความรู้เรื่องถ่าน
ดีจริงๆ
โดย: อุ้มสี วันที่: 27 มกราคม 2563 เวลา:23:54:17 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Ravio.BlogGang.com

ravio
Location :
สงขลา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 34 คน [?]

บทความทั้งหมด