Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
 
20 กุมภาพันธ์ 2556
 
All Blogs
 

Brazil หนังคัลต์ (Cult Film) ขึ้นหิ้ง

คอหนังหลายคนคงเคยลุ่มหลงหนังบางประเภทอย่างหาเหตุผลไม่ได้ เรื่องของเรื่องคือมันโดนใจกระชุ่นรสนิยมเบื้องลึกของตัวเองได้จังๆ หนังบางเรื่องก็มิได้เป็นหนังขึ้นหิ้งประดิดประดอยจนได้ออสการ์หรือเข้ากระแสหลักดังระเบิดระเบ้อทำเงินกระหน่ำ แต่ก็ยังเป็นที่คลั่งไคล้ของแฟนคลับบางกลุ่มได้เป็นวรรคเป็นเวร? หนังพวกนี้แหละที่เขามีคำจำกัดความไว้ว่าเป็น“หนังคัลต์” (Cult Film) คือ การสร้างวัฒนธรรมร่วมกันของแฟนคลับที่ลุ่มหลงกับสไตล์ของหนังได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว หนังจะทุนต่ำ ทุนหนา จะเป็นหนังอินดี้หรือสตูดิโอใหญ่ ก็ไม่จำเป็น จะโป๊แหลกราญฆ่ากันเลือดสาด หรือตลกร้ายแหกแหวกชิมิแค่ไหนก็ไม่ใช่ข้อจำกัด (เอ๊ะ อย่างนี้ซีรี่ส์ “หอแต๋วแตก”จะเข้าข่ายหรือเปล่าหว่า..เอิ๊กก) บางเรื่องเป็นหนังมิวสิคัลร้องเพลงเต้นรำกันเป็นที่บันเทิงก็ยังเป็นหนังคัลต์ได้อย่างเช่น The Rocky Horror Picture Show ที่ข้าพเจ้าได้ดูตั้งแต่สมัยยังนุ่งขาสั้นที่โรงหนังสยาม บัดนี้ได้ขึ้นแท่นหนังคัลต์อันดับ 1ไปแล้ว แถมยังมาดังบนเวทีบรอดเวย์มิวสิคัลกันเปรี้ยงปร้างจนทุกวันนี้

จริงๆข้าพเจ้ามิใช่แฟนหนังคัลต์ตัวยงสักกี่มากน้อย หากแต่บางเรื่องที่ผ่านตาแล้วยังประทับอยู่ในความทรงจำกลับกลายเป็นหนังติดอันดับคัลต์สุดโลกกะเขาด้วย  บราซิล (Brazil) คือหนึ่งในหนังเหล่านั้น



BRAZIL(1985)

หนังคัลต์ในแนวกึ่งไซไฟอนาคตของ เทอรี่ กิลเลี่ยม (Terry Gilliam) ผู้กำกับจอมเซอร์หนึ่งในอดีตคณะตลกเจ้าไอเดีย Monty Python ของอังกฤษ ซึ่งทำหนังแนวๆไว้มากมายหลายเรื่องที่ไม่ทำมะดา ซึ่งยุคหลังๆ เราจะได้เห็นหนังไซไฟแฟนตาซี ของ เทอรี่ กิลเลี่ยม อย่าง TwelveMonkeys (ซึ่งนำแสดงโดย บรูซ วิลลิส) หรือ Imaginarium ofDr. Parnasus (หนังเรื่องสุดท้ายของ ฮีธ เลจเจอร์ ก่อนเดดสะมอเร่)ที่ยังคงสไตล์จินตนาการล้ำเลิศไม่เหมือนใคร

“บราซิล”นับเป็นหนังสัญชาติอังกฤษที่หลุดเข้ามาโดดเด่นในหนังกระแสหลักในปี 1985 เป็นเรื่องราวของ“รัฐ” ที่พยายามใช้อำนาจควบคุมประชาชนให้อยู่ภายใต้กำมือด้วยบรรยากาศของความหวาดระแวง ใครที่คิดต่างก็จะกลายเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ประชาชนมีสิทธิถูกสอดส่องตรวจสอบจาก“กระทรวงข่าวกรอง” Ministryof Information ได้ตลอดเวลา รายชื่อของผู้ต้องสงสัยจะถูกส่งออกไปจากกระทรวงนี้ ฝ่ายตำรวจก็จะทำหน้าที่ไล่ล่าเอาตัวมาทรมานสอบหาความจริง โดยฉากของเรื่องจำลองภาพโลกอนาคตของปี 80จากจินตนาการของคนในยุค 1940? ..แปลกดีมะ นี่คือความไม่ธรรมดาของโปรดักชั่นดีไซน์ใน “บราซิล”



เวลา20 ปีที่ผ่านมาไม่ได้แสดงอายุขัยของหนังให้เห็นเลยแม้แต่น้อย ด้วยโปรดักชั่นดีไซน์ที่ยังดูล้ำ ผสมผสานแนว Retro-Futurism ซึ่งทำได้อย่างน่าทึ่ง ขณะที่ในยุคปี80 นั้น คอมพิวเตอร์ยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากมายนัก แต่การดีไซน์ตัวคอมพิวเตอร์ในหนัง บราซิลนั้นทำได้เหนือจินตนาการจริงๆ สามารถบวกเอาพิมพ์ดีดสมัยโบราณเข้ากับจอทีวีรุ่นเก่าได้อย่างเจ๋ง ยังไม่รวมถึงฉากที่แสดงความเป็นอยู่ของคนชั้นกลางยุคนั้นที่ต้องพึ่งเจ้าDucts หรือท่อแอร์ ที่ต่อระโยงระยางไปทั่วบ้านทั่วเมือง บ้านใครไม่มีก็คงต้องหายใจไม่ออกตาย ถึงขนาดมี Ducts สารพัดแบบให้เลือกเป็นเฟอร์นิเจอร์ประจำบ้านออกโฆษณาทางโทรทัศน์

บราซิลเล่าเรื่องราวสลับไปมาระหว่างชีวิตจริงกับจินตภาพของตัวเอก หนุ่มทำงานราชการธรรมดาๆ คนหนึ่ง (นำแสดงโดยโจนาธาน ไพรส์ ซึ่งตอนนั้นยังหนุ่มฟ้อ) แต่มีแม่ซึ่งร่ำรวยและมีอิทธิพลเส้นสายมากมาย เขามักฝันถึงโลกจินตนาการซึ่งซ่อนเร้นในจิตใต้สำนึก และมักจะเห็นหญิงสาวในฝันคนนั้น ที่กำลังคอยความช่วยเหลือจากเขา โดยฉากแฟนตาซีนี้นำเสนอไปพร้อมกับเพลงเอกของเรื่องAquarela do Brazil (Watercolorof Brazil) หรือที่คอเพลงสแตนดาร์ดรู้จักกันดีในนาม “Brazil” เป็นเพลงที่เล่าถึงจินตนาการฟ้าหลังฝน ที่อะไรๆ ย่อมจะดีขึ้น สว่างไสวขึ้นจากความหม่นหมองของชีวิต เป็นเพลงในแนวบราซิลเลี่ยน จังหวะแซมบ้า ซึ่งเมื่อนำมาประกอบกับหนังกลับเข้ากันได้อย่างมหัศจรรย์ กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ฉีกแนวโดยไม่จำเป็นต้องทำเพลงให้เข้ากันกับบรรยากาศของหนังไปหมดทุกอย่าง เพลงบราซิลนี้ถูกเรียบเรียงเป็นหลายอารมณ์หลายเวอร์ชั่นเพื่อเป็นTheme Song ที่ให้ความรู้สึกถึงจินตนาการกว้างไกล ผูกพันกับจินตภาพของตัวแสดงที่ใฝ่ฝันถึงอิสรภาพสูงสุดในชีวิต นับเป็นการเลือกที่เหมาะเหม็งและสร้างบุคลิกของหนังได้โดดเด่นฉกาจฉกรรจ์


จากการตีความการแสดงที่เหนือจริง (แต่ยังคงให้ความรู้สึกจริงจัง) ทำให้ต้องยกย่องความเจ๋งของนักแสดงทุกคนที่สามารถสร้างความไม่ธรรมดาให้กับบุคลิกตัวละครแต่ละตัวได้โดดเด้ง ไม่ว่า โรเบิร์ต เดอ นีโร หรือ บ็อบ ฮอสกิน ซึ่งมีบทเสริมเล็กๆ น้อยๆ(แต่สำคัญ)ในเรื่อง โจนาธาน ไพรส์เป็นตัวเอกที่เล่าเรื่องได้อย่างชวนติดตามตลอด ยิ่งดูไป ยิ่งเสมือนเห็นเงาสะท้อนของตัวเราเอง ซึ่งอยู่ในสังคมอันบีบคั้น ด้วยรัฐบาลที่คอยเอาแต่สอดส่องพฤติกรรมของประชาชนว่าจะเอาใจออกห่าง ตราบใดที่ทำตัวไม่ใช่พวกเขา ก็มีสิทธิ์ถูกไล่ล่าได้เมื่อนั้น ดูไปก็นึกไปถึงสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันของเราอย่างไรพิกล ซึ่งในที่สุดตัวละครเอกอันไร้เดียงสานี้ ก็เพียงแค่ต้องการชีวิตส่วนตัวกับหญิงที่เขารักเท่านั้น หาได้ต้องการเป็นกบฏอย่างที่ถูกตราหน้าไม่

ในแง่มุมของการกำกับศิลป์ การได้เข้าชิงออสการ์ในสาขานี้เป็นข้อยืนยันอันดีถึงความคุณภาพโปรดักชั่นดีไซน์ของ“บราซิล” ซึ่งไม่นับว่าเป็นหนังทุนต่ำแต่ประการใดในยุคนั้น ( 19 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) การออกแบบฉากสไตล์อนาคตกึ่ง Art Deco ของบราซิลสร้างความแปลกไม่เฉพาะบรรยากาศ หากแต่ยังคงอารมณ์ชวนพิศวงอึมครึมของผู้คนในยุคนั้น โครงสร้างอันโอฬารของตึกราชการที่ข่มให้ราษฎรดูต่ำต้อยไปถนัดใจ เมื่อเทียบกับแฟลทที่ชาวบ้านอยู่อย่างตามมีตามเกิดระโยงระยางด้วยท่อแอร์สารพัดสารเพ ต่างก็ให้ความรู้สึกประชดประชันถึงช่องว่างระหว่าง“รัฐ” และ “ประชาชน”ได้ดีจริงๆ


ยังมีฉากเด่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากจำลองความฝันของตัวพระเอก เช่นฉากที่เขาติดปีกบินกลางหมู่เมฆ หรือเอ็ฟเฟ็คฉากตึกจำลองฉากระเบิดต่างๆ นานา ต่างประดิษฐ์ได้ล้ำชวนทึ่งเป็นยิ่งนัก สะท้อนฝีมือการออกแบบงานสร้างของหนังอังกฤษที่ถนัดการทำหุ่นจำลองมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะในยุค 80 นั้น พัฒนาการของคอมพิวเตอร์กราฟฟิกยังไม่ได้เฟื่องฟูอู้ฟู่เหมือนยุคนี้ ทุกอย่างต้องสร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือการถ่ายทำจริงล้วนๆ ไม่ใช่เอะอะก็วาดขึ้นด้วยซีจีกันเป็นว่าเล่น นับเป็นหนังที่ผู้สร้างรุ่นใหม่ควรศึกษาไว้เป็นแบบอย่าง นอกจากวิธีการดำเนินเรื่องที่ไม่ธรรมดาแล้ว โปรดักชั่นดีไซน์ยังคงเอกลักษณ์ไร้ยุคสมัย แม้จะหยิบมาดูในยุคปัจจุบันก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นหนังที่เชยแต่ประการใด

บราซิลถูกตัดต่อเป็นหลายเวอร์ชั่น หลายความยาว ตั้งแต่สมัยเลเซอร์ดิสก์ยังเฟื่อง จนกระทั่งมาถึงยุคดีวีดี และบลูเรย์ ซึ่งได้ข่าวว่าเวอร์ชั่นล่าสุด Final Cut น่าจะออกปลายปีนี้ เทอรี่ กิลเลี่ยมเคยมีเรื่องราวกับนายทุนสตูดิโอที่พยายามตัดต่อเวอร์ชั่นใหม่ของ บราซิลให้จบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้งเอาใจประชาชนคนดูทั่วไป แต่เขายังคงยืนยัน นั่งยัน และนอนยันตลอดมาว่าอย่างไรเขาต้องการให้ บราซิลจบลงอย่างที่ควรจะเป็นตามสไตล์ของเขา จนกระทั่งในที่สุดหนังไปได้รับรางวัลหนังยอดเยี่ยมของ Los AngelesFilm Critic Association กิลเลี่ยมก็เลยสามารถจูงใจนายทุนให้เวอร์ชั่น132 นาทีที่เขาตัดต่อไว้ได้นำออกมาฉายในที่สุด บราซิล ยังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาเขียนบทยอดเยี่ยม (ซึ่งแน่นอน กิลเลี่ยมร่วมเขียนอยู่ด้วย) และรางวัล Art Direction ยอดเยี่ยมอีกด้วย ที่สำคัญ Brazil ได้กลายเป็นหนึ่งใน20 อันดับหนังคัลต์ยอดเยี่ยมตลอดกาล




 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2556
2 comments
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2556 10:22:56 น.
Counter : 4487 Pageviews.

 

ผมเห็นนักวิจารณ์ภาพยนต์พูดถึงหนังเรื่องนี้มานานแล้วครับ
จัดเป็นหนังระดับคลาสสิกอีกเรื่องหนึ่งที่หลายๆคนประทับใจ
ผมเองยังไม่มีโอกาสได้ดูเลย
แต่ยังไงคงต้องหาดูให้ได้ อย่างน้อยยังมีเวอร์ชั่นล่าสุดที่จะทำออกมา...ปลายปี

 

โดย: steelcobra 26 กุมภาพันธ์ 2556 14:29:20 น.  

 

สวัสดียามเช้าครับพี่หมี








 

โดย: กะว่าก๋า 15 มีนาคม 2556 6:15:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Bkkbear
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




งานเขียนบทความ บทหนัง เรื่องสั้น และนวนิยายในบล็อกนี้สงวนลิขสิทธิ์โดย Bkkbear (หมีบางกอก) ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2539 ห้ามมิให้ดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

Friends' blogs
[Add Bkkbear's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.