Group Blog
 
<<
เมษายน 2561
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
30 เมษายน 2561
 
All Blogs
 

จากนวนิยายรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดสู่ละครดัง



30 เมษายน 2561









ซีพี ออลล์ จัดงานเสวนาพิเศษเซเว่นบุ๊คอวอร์ด หัวข้อ “จากนวนิยายรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดสู่ละครดัง” โดยมี “กนกวลี พจนปกรณ์” นายกสมาคมนักเขียนฯ “รอมแพง” และ “ปราปต์” นักเขียนรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ผู้สร้างปรากฏการณ์การเขียนแห่งยุคสมัย ร่วมเผยเคล็ดลับเทคนิคการเขียนนวนิยายให้กลายเป็นละครดัง เพื่อเป็นต้นแบบให้นักเขียนรุ่นใหม่ๆ โดยงานนี้จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 24 เมษายน 2561 ณ ห้องคราวน์4-5 ชั้น 21 โรงแรมคราวน์ พลาซ่า (ถนนพระราม 4 – ตรงข้ามรพ.จุฬา)











นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวว่าตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่ซีพี ออลล์ ได้ดำเนินโครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อช่วยส่งเสริมนักเขียนคุณภาพ และสนับสนุนผลงานที่มีเนื้อหาจรรโลงสังคม โดยได้รับเกียรติจากท่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณกรรมจำนวนมากมาร่วมตัดสิน เพื่อคัดสรรหนังสือดีมีคุณภาพทั้ง 7 ประเภทสู่สังคม ประกอบด้วย กวีนิพนธ์, นวนิยาย, นิยายภาพ (การ์ตูน), รวมเรื่องสั้น, วรรณกรรมสำหรับเยาวชน, สารคดี (ทั่วไป) และประเภทนักเขียนรุ่นเยาว์

“ปัจจุบันโครงการเซเว่นบุ๊คอวอร์ดเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการยกย่องเชิดชูนักเขียนนวนิยายที่ประสบความสำเร็จ ผลิตผลงานที่สร้างชื่อเสียงและได้รับความนิยมทั้งในโลกออฟไลน์ และออนไลน์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายด้านซีเอสอาร์ของซีพี ออลล์ ที่มุ่งส่งเสริมการศึกษา พัฒนาการอ่าน การเรียนรู้และหวังว่าโครงการเซเว่นบุ๊คอวอร์ดจะได้รับการส่งเสริม สนับสนุนเพื่อร่วมกันสร้างสังคมอุดมปัญญา พัฒนาเยาวชนอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติต่อไป ขอขอบคุณวิทยากรที่ให้เกียรติและสละเวลาอันมีค่ามาร่วมเสวนามอบความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ ให้แก่นักเขียนรุ่นใหม่และผู้สนใจ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเป็นนักเขียนที่มีคุณภาพสูงในอนาคต”










สำหรับการเสวนาพิเศษหัวข้อ “จากนวนิยายรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดสู่ละครดัง” โดยมี นางกนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, น.ส. จันทร์ยวีร์ สมปรีดา (รอมแพง)และ นายชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ (ปราปต์) เป็นวิทยากรร่วมเผยเคล็ดลับเทคนิคในการเขียนนวนิยายที่สามารถนำไปสร้างให้เป็นละครดัง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักเขียนยุคใหม่หันมาให้ความสนใจเขียนนวนิยายกันมากขึ้น โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

(รายละเอียดจากเวทีเสวนาในครั้งนี้ ผมจดเป็นบันทึกช่วยจำย่อ (จดเลคเชอร์) แล้วจึงนำมาเรียบเรียงใหม่ โดยมีการคัดสรรตัดย่อเพื่อเขียนสรุปเป็นประเด็น ดังนั้นถ้ามีรายละเอียดประการใดที่ผิดพลาด หรือคาดเคลื่อนผิดไปจากที่ท่านวิทยากรพูด ผมก็ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)










พิธีกรถามว่าปัจจุบันนี้ลักษณะของการอ่านการเขียนเป็นอย่างไรบ้าง?

อาจารย์กนกวลี - ปัจจุบันนี้คนอ่านอยากอ่านเรื่องที่มันสนุก ถ้าเรื่องไหนไม่สนุกก็ไม่อยากอ่าน นิยายไทยแนวสนุกๆ แบบนี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในสมัยนั้นมีเรื่องสั้นสนุกนิ์นึกเกิดขึ้น

-ในสังคมบ้านเราเรื่องราวของนวนิยายต่างๆ ก็วนอยู่อย่างเดิม คือมีพล็อตเดิมๆ เนื่องจากมีพล็อตต่างๆ อยู่ไม่มากนัก แต่ตัวที่ทำให้นวนิยายเรื่องนั้นอ่านสนุกคือบริบทที่อยู่ในเรื่อง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่มีพล็อตลักษณะเดียวกันแต่รายละเอียดในเรื่องแตกต่างกันออกไป รวมทั้งสิ่งใหม่ๆ ที่ปรากฎอยู่ในเรื่องทำให้เรื่องนั้นสนุกขึ้น

-ในช่วงหลังนักเขียนในบ้านเราเริ่มมีเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการเล่าเรื่องมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นว่านวนิยายส่วนใหญ่จะเน้นกันที่พล็อตเรื่อง เรียกว่าเป็นเรื่องที่มีพล็อตเด่น แต่ปัจจุบันนวนิยายแข่งขันกันด้วยเทคนิคการนำเสนอที่แปลกใหม่ออกไป

-การเขียนวนิยายนั้นคือการเล่าเรื่องผ่านปากกาของผู้เขียน (แต่ในสมัยก่อนจะเล่ากันผ่านปากเรียกว่ามุขปาฐะ) เป็นการเล่าเรื่องราวของมนุษย์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเกี่ยวข้องกับการกระทำของมนุษย์

-งานเขียนในสมัยใหม่อย่างเช่นงานของปราปต์ (กาหลมหรทึก) มีการเล่าเรื่องแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากในสมัยก่อน ทำให้นักเขียนรุ่นใหม่ๆ ต้องแสวงหาวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ

-ในบ้านเราพอมีเรื่องดิจิทัลเข้ามาก็ทำให้รูปแบบการอ่านเปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่ปลายปี 2559 นิตยสารต่างๆ ที่นำเสนองานวรรณกรรมเริ่มปิดตัวกัน พอถึงปี 2560 ก็เริ่มปิดตัวกันมาก

-แต่พอไปดูในงานสัปดาห์หนังสือฯ จะเห็นว่ามีคนเดินเลือกหาซื้อหนังสือกันอยู่เยอะมาก จึงเดิคำถามขึ้นมามันคืออะไรกันแน่? เราจึงได้คำตอบว่าถึงแม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม แต่คนก็ยังอ่านหนังสืออยู่ ซึ่งคนอ่านจะเลือกอ่านเฉพาะหนังสือที่ตัวเองชอบเท่านั้น

-ดังนั้นสิ่งที่จะดำรงอยู่ได้โดยไม่ล่มหายตายจากไปก็คือคอนเทนต์นั้นเอง หนังสือที่มีเนื้อหาที่ดีคนอ่านจะอยากอ่านกันมาก ซึ่งหนังสือที่มีเนื้อหาดีเหล่านี้มันจะมีพลังส่งต่อไปสู่คนอ่านอย่างมากมาย หนังสือบางเล่มอ่านแล้วมันกระตุกจิตวิญญาณของคนอ่าน หนังสือบางเล่มอ่านแล้วช่วยเยียวยาบาดแผลที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจได้ หนังสือบางเล่มอ่านแล้วใช้เป็นไอดอล(เป็นตัวอย่างที่ดี)ได้ หนังสือบางเล่มอ่านแล้วมันกระชากพลังในตัวตนให้ลุกโชนขึ้นมาได้ ฯลฯ จึงสามารถบอกได้ว่าวรรณกรรมคือพลังแห่งการสร้างสรรค์

-และหนังสือบางเล่มนำเสนอสิ่งที่มืดมัวและดำมืดอันแฝงตัวอยู่ในหลืบลึกที่คนอ่านไม่เคยได้รับรู้มาก่อน คนอ่านอ่านแล้วจะได้เตรียมตัว ป้องกัน หลีกเลี่ยง หนีห่าง สิ่งที่มืดมนเหล่านั้นได้










พิธีกรถามว่า ปัจจุบันกระแสนิยมของการอ่านเป็นอย่างไรบ้าง?

อาจารย์กนกวลี – เนื่องจากมีดิจิทัลเข้ามา นักอ่านรุ่นเก่า(ผู้ใหญ่)เคยนิยมอ่านหนังสือเป็นเล่ม แต่พอนิตยสารและหนังสือต่างๆ ปิดตัวลงไป ทุกคนก็ตกใจกลัวว่าจะไม่มีหนังสือให้อ่านกันแล้ว แต่นักอ่านรุ่นใหม่(เด็กๆ)ใช้ไอแพ็คในการอ่าน เด็กรุ่นใหม่เขาเติบโตมากับสิ่งเหล่านี้เขาจึงคุ้นชินกับมันมากกว่า เขาจึงหาทางกำจัดข้อด้อยเชิงลบของการอ่านในสื่อดิจิทัลออกไปได้ จึงกลายเป็นว่าอ่านนักรุ่นเก่าเหมือนจะไม่มีหนังสือให้อ่าน เพราะว่าเขาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่เป็น ปัญหาจึงมาตกลงสู่นักอ่านรุ่นเก่าพวกนี้แทน

-พวกวัยรุ่นที่เป็นนักอ่านรุ่นใหม่ไปเดินซื้อหนังสือในงานหนังสือฯ พวกเขาจะซื้อเรื่องที่เขาเคยอ่านในเน็ตมาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาชอบ เด็กวัยรุ่นพวกนี้จึงไปตามหาซื้อหนังสือเล่มมาเก็บไว้ กลายเป็นว่าเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งซื้อหนังสือมา 2 เล่มเหมือนกัน เล่มหนึ่งเขาเอาไว้อ่าน ส่วนอีกเล่มเขาเอาไว้เก็บ

-ดังนั้นนักเขียนในปัจจุบันนี้ต้องก้าวตามให้ทัน ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ ให้เป็น เพื่อตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน










พิธีกร ถามคุณรอมแพงว่า กระแสละครบุพเพสันนิวาสกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับชาติ ตอนแรกที่คุณรอมแพงจะเขียนเรื่องนี้มีแรงบันดาลใจอย่างไรบ้าง?
คุณรอมแพง – เริ่มต้นเป็นนักเขียนจริงๆ ตอนปี 2549 พอได้เขียนนวนิยายไปสักระยะหนึ่งแล้วก็มีความคิดอยากจะเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ที่ย่อยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้อ่านง่ายขึ้น

-ด้วยความที่เรียนจบมาจากคณะโบราณคดี สาขาวิชาเอกประวัติศาสตร์ศิลปะ จึงมีความคิดที่อยากจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ถ้าได้เขียนนวนิยายย้อนยุค (พีเรียด) สักเล่มคงจะดี เพราะเราเติบโตมาจากการอ่านนวนิยายเรื่อง ทวิภพ , เรือนมยุรา , สายโลหิต ฯลฯ

-เริ่มอ่านนวนิยายตั้งแต่อายุ 8 ขวบ พอคิดจะเขียนนวนิยายเราก็อยากจะเขียนให้เป็นนวนิยายรักแนวโรแมนติคคอมเมอร์ดี้ ยิ่งเป็นพีเรียดที่ตลกด้วยคิดว่าคนอ่านน่าจะชอบ และเป็นแนวที่เราถนัดด้วย

-เริ่มต้นจากการหาข้อมูลก่อนว่าจะเขียนถึงยุคไหนดี? จะย้อนไปยุคไหนดี? ถ้าเขียนยุครัชกาลที่ 5 มันก็ใกล้ตัวเกินไปเกือบจะเป็นปัจจุบันแล้ว คงจะเขียนแบบตลกมากไม่ได้แน่เพราะว่าลูกหลานเขายังคงอยู่ จึงตัดสินใจเขียนย้อนไปถึงยุคแผ่นดินสมเด็จพระนาราษณ์มหาราช ซึ่งเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองแล้ว มีชาวต่างชาติเข้ามาแล้ว น่าจะพอให้เราเข้าไปโลดแล่นในยุคนี้ได้ โดยตั้งใจจะเขียนเรื่องบุพเพสันนิวาสนี้แบบไม่ฟันธงในประด็นทางประวัติศาสตร์เลย

-พอดีว่าไปค้นข้อมูลเจอจดหมายเหตุของชาวบ้าน อ่านเจอในเรื่องมีชีปะขาวที่มีอิทธิฤทธิ์ มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นความคิดเห็นของคนในยุคสมัยนั้นที่คนพวกนี้จะรักษาศีล 5 อย่างต่อเนื่อง จะเอาประเด็นนี้มาเริ่มผูกเรื่อง

-เรื่องบุพเพสันนิวาส หมายถึงเรื่องรักที่หายไปแล้วคืนกลับมาได้

-ตอนที่หาข้อมูลสำหรับเขียนเรื่องต้องเข้าไปที่หอสมุดแห่งชาติ และหอสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วก็ต้องไปดูสถานที่จริงด้วย ต้องไปที่พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ไปชมแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในจังหวัดอยุธยา ถึงทำให้เราเห็นเรื่องราวได้มากกว่า จนสามารถเห็นเป็นภาพตามที่เราสร้างเรื่องไว้ได้

-พอได้พล็อตเรื่องแล้ว ต่อไปที่จะพูดถึงก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ ข้อมูลที่เราใช้อาจจะไม่เป็นประวัติศาสตร์ที่แท้จริงมาก เพราะประวัติศาสตร์มันมีหลายกระแสมาก เราจึงพยายามจับเอากระแสที่เข้ากับนวนิยายของเรามากที่สุดมาใช้

-ความง่ายของการเขียนเรื่องนี้คือตัวนางเอกที่ย้อนไป ซึ่งเราสามารถใช้ความคิดเห็นของคนในยุคปัจจุบันได้ คือคิดว่าถ้าเราย้อนยุคไปได้จริงๆ เราอยากจะไปทำอะไรบ้าง เราก็ให้ตัวนางเอกไปทำในนวนิยายแทน ส่วนการที่ให้นางเอกกลับชาติไปเกิดใหม่แล้วยังจำความได้นั้น มันทำให้เรื่องเข้าถึงคนในยุคปัจจุบันได้

-ความยากของการเขียนเรื่องนี้คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ คือเราพยายามจะหาเหตุการณ์ต่างๆ ใส่ลงไปในนวนิยายโดยไม่ฟันธง แต่จะบอกว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างนี้จริงในประวัติศาสตร์ โดยเล่าผ่านมุมมองของตัวการะเกด (ตัวนางเอก) เพื่อให้คนอ่านได้ฉุกคิดและหาเหตุผลของตัวเขาเองได้










พิธีกรถามคุณปราปต์ ถึงแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง ความยากงายในการเขียนเรื่องกาหลมหรทึกนี้

คุณปราปต์ – สำหรับแรงบัดาลใจในการเขียนเรื่องนี้ คือโดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบอ่านงานของแดน บราวน์อยู่แล้ว มีอยู่วันหนึ่งได้นั่งรถไปต่างจังหวัด ได้ฟังรายการวิทยุที่เขาพูดถึงกลโคลงที่มีการบันทึกไว้ที่วัดโพธิ์ ตอนที่ได้ยินมันคือการเอารหัสลับผูกเข้ากับสถานที่ มันคือเรื่องในลักษณะของแดน บราวน์เลย จึงลองเอาเรื่องนี้มาเขียน

-เรื่องกลโคลง (กลบท) ตอนนี้แถบจะไม่มีใครรู้จักกันแล้ว สำหรับเรื่องเรื่องกาหลมหรทึกนี้ใช้เวลาเขียน 3 เดือนเท่านั้น ที่ผ่านมาตอนเด็กๆ เคยเขียนเรื่องแล้วได้ตีพิมพ์ พอมาถึงตอนโตคิดว่าเขียนอะไรก็ได้ที่ต้องการได้ตีพิมพ์อีกครั้ง พอดีว่ามีเวทีการประกวดนายอินทร์อะวอร์ด เหลือเวลาอีก 3 เดือนจะหมดเขตส่งพอดีเลย

-ส่วนที่เลือกใช้เหตุการณ์ในปี 2486 ก็เพราะว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่ญี่ปุ่นเข้ามาในบ้านเรา ญี่ปุ่นบังคับคนไทยพูดคำไทยใหม่ เพราะญี่ปุ่นฟังไม่ออก จึงเกิดมีการสร้างอักขระวิบัติขึ้นมา โดยตัดตัวอักษรบางตัวออกไป ดังนั้นจึงเอาอักขระวิบัติมาใช้เป็นเงื่อนงำในเรื่องได้ ทำให้คำมันโยงกันในเรื่องได้ ดังนั้นเรื่องมันจึงต้องเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น

-โคลงคือหัวใจของเรื่อง สร้างโคลงขึ้นมาก่อนแล้วหาส่วนขยายของเรื่องต่อ สร้างคำเป็นคำตายขึ้นมาใช้ ซึ่งคำไทยมันยกเอามาเล่นได้เยอะ

-ความยากในการเขียนเรื่องนี้ก็คือ เรื่องประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ยากสำหรับเรา ตอนเขียนมีข้อเสียคือเราเริ่มจากศูนย์ เราไม่สามารถฟันธงข้อมูลอะไรได้เลย แต่ด้วยความที่ไม่รู้นี้เองจึงทำให้เรื่องอ่านสนุกด้วย ทำให้เรามีความสนุกในการหาข้อมูลด้วย

-ความยากอีกจุดคือการเขียนเรื่องเกี่ยวกับตำรวจ คือเราไม่สามารถไปสอบถามใครได้ คนใกล้ตัวเราไม่มีใครเป็นตำรวจเลย เรื่องยศเรื่องตำแหน่งของตำรวจเราก็ไม่รู้ ดังนั้นวิธีการหาข้อมูลของเราคือ เราไปหารายละเอียดดูว่าเมื่อตำรวจเจอศพเขาจะทำอย่างไรบ้าง? แล้วเราเอารายละเอียดตรงนี้มาสร้างเป็นเส้นเรื่อง

-การเขียนคือต้องวางพล็อตเรื่องก่อน วางโครงเรื่องไว้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง? แล้วเอาเหตุการณ์ไปสอดคล้องกับโคลง คือคำที่อยู่ในแผนผังกลโคลงจะอยู่ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง ดังนั้นเวลาคำในโคลงมันผิดเราต้องแก้ใหม่ทั้งหมด

-ถามว่าอะไรเป็นจุดเด่นของนวนิยายของเรา อันนี้ตอบยากเพราะไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นละครได้ พอมีคนติดต่อเข้ามาเราก็แปลกใจ แต่พอรู้ว่าใครจะทำละครเรื่องนี้ เราชอบผลงานของเขาอยู่แล้ว พอรู้ว่าเขาเป็นคนทำละครเราก็จึงตกลง










พิธีกรถามคุณรอมแพงว่า จุดเด่นของนวนิยายเรื่องบุพเพสันนิวาสคืออะไร?

คุณรอมแพง – พอดีว่ามีคนอ่านเรื่องนี้แล้วเขาชอบ เขาจึงส่งอีเมล์ไปหาโปรดิวเซอร์ของทางบรอสเคสฯ (ช่อง3) ว่าเรื่องนี้น่าจะทำเป็นละคร พอทางบรอสเครสฯ ติดต่อกลับมาเราก็ถามเขาว่าแน่ใจหรือว่าจะทำเป็นละคร พอเขาบอกว่าแน่ใจเราจึงให้เขาทำ

-อ.ศัลยา ผู้เขียนบทละครเรื่องนี้หาข้อมูลเพิ่มเติมด้วย ใช้เวลากว่า 2 ปีถึงจะเขียนบทเรื่องนี้ได้เสร็จ คิดว่าจุดเด่นมันคือเป็นละครพีเรียดแนวคอมเมอร์ดี้ที่คนไทยน่าจะชอบ











พิธีกรถามอาจารย์กนกวลี ว่าภาพรวมของการเอานวนิยายมาทำเป็นละครโทรทัศน์เป็นอย่างไรบ้าง?

อ.กนกวลี – การเลือกเรื่องของสถานทีโทรทัศน์แต่ละช่องเป็นเรื่องของมองทางด้านธุรกิจของเขา เขาจะมีข้อมูลอยู่แล้วว่ากระแสคนดูของช่องเขาชอบเรื่องแนวไหน? และกระแสคนดูในสังคมเป็นอย่างไร? ชอบเรื่องในลักษณะใด?

- การทำเป็นละครนั้นต้องเน้นทำให้คนดูสนุกสนานเฮฮา เพื่อที่จะทำให้ละครมันขายได้มีโฆษณาเข้ามา บางครั้งจึงต้องมีการเติมบท เติมตัวละคร หรือเติมเหตุการณ์ต่างๆ เข้าไป เพื่อให้เรื่องมันสนุกขึ้น แต่ในบางครั้งที่ละครบางเรื่องเติมจนเยอะมากเกินไป จนทำให้เส้นเรื่องของความเป็นนวนิยายมันเสียไป

-ในสังคมไทยทุกวันนี้ บางเรื่องมันนำเสนอออกมาตรงๆ ไม่ได้ มันจะถูกอะไรบางอย่างกดไว้ จึงทำให้พอเอานวนิยายมาทำเป็นละครบางประเด็นจึงตองปรับเปลี่ยนไป

-การเขียนนวนยายจะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม เพราะนักเขียนคือผู้ที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม ในงานเขียนแต่ละงาน นักเขียนจะซ่อนนัยยะบางอย่างไว้ในเรื่องด้วย ดังนั้นผู้อ่านจึงต้องตีความเอาเองว่านักเขียนเขาซ่อนอะไรเอาไว้บ้าง ซึ่งการตีความในการอ่านนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนด้วย ที่จะทำให้การตีความนั้นแตกต่างกันออกไป

-ปัจจุบันคนอ่านนวนิยายชอบอ่านเรื่องที่สนุก แต่พอเอานวนิยายมาทำเป็นละครแล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องความสนุกอย่างเดียวแล้ว มันยังต้องมีอะไรที่ซ่อนไว้อีก ดังนั้นตอนที่อานนวนิยายหรือตอนที่ดูละครเราต้องตีความให้ได้ว่าเราได้อะไรมากบ้าง นอกจากแค่ความสนุกอย่างเดียว











พิธีกรถามว่ามองเวทีการประกวดงานวรรณกรรมอย่างไรบ้าง?

คุณรอมแพง – ตอนที่จะเอานวนิยายเรื่องบุพเพสันนิวาสส่งประกวดเซเว่นบุ๊คอวอร์ดก็มีการปรึกษากันระหว่างสำนักพิมพ์ก่อนว่าจะส่งดีไหม? การประกวดมันดีตรงที่ถ้าเราได้รางวัลแล้วจะมีการยอมรับและการพูดถึงเรื่องของเรา มีการรีวิวเรื่องของเรา คนอ่านอยากจะอ่านเพราะสงสัยว่าทำไมเรื่องนี้ถึงได้รางวัล มันจะเป็นการพูดกันแบบปากต่อปาก ทำให้มีคนมาอ่านงานที่ได้รางวัลเยอะขึ้น


คุณปราปต์ – เห็นด้วยกับคุณรอมแพง และข้อดีประการสำคัญที่สุดของเวทีการประกวดคือเราจะได้เงินถ้าได้รับรางวัล ต้องยอมรับว่าในเมืองไทยเรานักเขียนได้รับเงินน้อยมาก ดังนั้นถ้าจะให้นักเขียนสร้างผลงานที่ดีๆ ออกมาก็ต้องมีปัจจัยหลายอย่าง

-เรื่องการเงิน (มีเงินใช้) , เรื่องชีวิต (มีชีวิตที่ดี) , เรื่องครอบครัว (มีกำลังใจ) สิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจที่ดีสำหรับนักเขียนในการสร้างสรรค์ผลงานที่ดีๆ ต่อไป คือต้องมีเงินใช้ในระหว่างที่กำลังเขียนงานด้วย










พิธีกรถามถึงผลงานเล่มต่อไปของทั้งคู่ ว่าจะเป็นเรื่องอะไรกันบ้าง?

คุณรอมแพง – ตอนนี้กำลังจะเขียนบุพเพสันนิวาส ภาค 2 อยู่ ตั้งชื่อเรื่องไว้แล้วว่า “พรหมลิขิต” มีการตั้งชื่อเรื่องและวางพล็อตเรื่องเอาไว้ตั้งแต่ปี 2555 แล้ว โดยเหตุการณ์ในภาค 2 จะต่อจากเหตุการณ์ตอนจบในภาคแรกออกไปประมาณ 10 ปี ในสมัยของพระเจ้าท้ายสระ ตัวละครจะเป็นรุ่นลูกของการะเกดที่อายุในเรื่องประมาณ 20 ปี

-พอละครเรื่องบุพเพสันนิวาสเป็นกระแสขึ้นมาทำให้ข้อมูลต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาหาเยอะมาก นักวิชาการต่างๆ ที่มีข้อูลทางประวัติศาสตร์ก็เต็มใจให้ข้อมูลเยอะมาก

-จริงๆ แล้วตอนนี้มีเรื่องที่กำลังเขียนค้างอยู่ เป็นเรื่องแนวไซไฟแฟนตาซี ในเรื่องเป็นเหตุการณ์ในโลกอนาคต 3,000 ปีข้างหน้า ตัวนางเอกเป็นมนุษย์ต่างดาวที่มี 4 เชื้อชาติอยู่ในตัว แต่ตอนนี้ต้องหยุดเรื่องนี้ไว้ก่อน แล้วไปเขียนเรื่องพรหมลิขิตก่อน ซึ่งยังแน่ใจเหมือนกันกว่าจะเขียนเสร็จเมื่อไหร่


คุณปราปต์ –ตอนนี้ผลงานล่าสุดมี 3 เรื่องคือ “รักในรอยลวง” , “วงกตนรกานต์” และ “เปรต”

-แต่ละเรื่องพล็อตไม่ใกล้กันเลย อย่างเรื่อง”รักในรอยลวง” จะเป็นการเขียนถึงงานคลาสิคที่เอามาพูดในเรื่อง ประมาณว่าจะยกงานของคนอื่นมาเขียนโดยใส่เงื่อนไขที่ต่างออกไป เพื่อให้เกิดการตีความใหม่

-เรื่อง “วงกตนรกานต์” เอาเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนามาเขียน , ส่วนเรื่อง “เปรต” หยิบเอาเรื่องที่พูดไม่ได้ในทุกวันนี้ เอามาเขียนสื่อถึงในรูปลักษณะนี้ โดยบอกว่าคนที่ตายไปเกิดเป็นเปรตคือคนที่เห็นแก่ตัว เปรตมีรูปร่างลักษณะได้ทั่วไป มองถึงคนไม่ดีที่อยู่ในสังคมเอามาเปรียบเทียบเป็นเปรตในลักษณะใหม่

-จริงๆ แล้วปราปต์เป็นคนที่เขียนเรื่องในทุกแนว ในอนาคตอยากเป็นนักเขียนหนังสือที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเขียนหนังสือ แต่งานของเราไม่ใช่งานที่แมส (งานกระแสหลัก=เรื่องพาฝัน) มาก แต่ถ้าเราทำงานได้เท่าที่เราอยากจะพูดก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว











พิธีกรถามแต่ละท่านว่ามีวิธีการเขียนหรือเทคนิคการเขียนที่อยากจะแนะนำอย่างไรบ้าง?

อ.กนกวลี – ก่อนจะเขียนจะต้องมีอะไรสักอย่างมากระแทกใจ คือต้องมีแรงบันดาลใจทำให้อยากเขียนเรื่องนั้นๆ ต่อไปก็ต้องคิดพล็อตขึ้นมาว่าเรื่องจะเป็นอย่างไร? เป็นเรื่องอะไร? หลังจากนั้นตัวละครก็จะตามมา แล้วตรีม (theme) ของเรื่องก็จะมา พอมีทุกอย่างครบถ้วนในหัวแล้ว เราก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม โดยหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เราจะเขียนนั้น ทั้งข้อมูลดิบและข้อมูลจำเพาะ รวมทั้งข้อมูลฉาก(สถานที่) และข้อมูลของตัวละครด้วย

-เมื่อมีข้อมูลแล้วเราต้องวางแผนในการเขียน โดยเลือกว่าเราจะใช้กลวธีการเขียนอย่างไร ถ้ารู้วิธีการเขียนก็ไม่ยากแล้วเพราะทุกคนก็สามารถเขียนได้ ต้องลองเขียนดู พอเขียนเสร็จแล้วก็ต้องทบทวนและแก้ไข

-สิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่หัวใจของนักเขียนว่าเราจะเปิดใจรับอะไรได้บ้าง? เปิดใจยอมรับเรื่องดิจิทัลได้ไหม? เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ไหม? รวมทั้งการพัฒนาการเขียนในรูปแบบอื่นๆ หรือแนวอื่นๆ สิ่งเหล่านี้นักเขียนต้องเปิดใจกว้างเพื่อยอมรับให้ได้

-การเปิดใจรับจะทำให้งานของเรามีคุณค่าและมีความหมาย แล้วตัวงานมันจะสร้างพลังทางวรรณกรรมขึ้นมาได้

-วิธีเปิดใจก็คือ ต้องเปิดหู เปิดตาตัวเอง รับฟังคนอื่นด้วย ฟังให้เยอะ เมื่อใดก็ตามที่ตาและหูเราเปิดหัวใจเราก็จะเปิดตามเสมอ










คุณรอมแพง – เทคนิคการเขียนที่ดีที่สุดคืออยากให้อ่านเยอะๆ ควรมีหนังสือ “คลังคำ” ติดไว้กับตัวเสมอ สำหรับเปิดดูเวลาที่ติดขัดว่าจะใช้คำศัพท์แทนดี

-พยายามค้นคว้าหาสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เราจะเขียนเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก มันจะทำให้เรากลั่นกรองออกมาเป็นสำนวนของเราได้เอง

-ออกจากบ้านไปพบปะผู้คน เพื่อไปเจอประสบการณ์ต่างๆ เพื่อเก็บเกี่ยวกับมาใช้ในงานของเรา นักเขียนควรจะต้องดูภาพยนตร์ ต้องไปท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้สำคัญกับนักเขียนมาก










คุณปราปต์ – เทคนิคการเขียนที่สำคัญที่สุดคือเราต้องรู้สึกกับมันก่อน ถ้าเรารักในสิ่งที่เราทำก็จะมีคนอื่นรักมันเช่นเดียวกัน เหมือนกันตรงที่ว่าถ้าเราสนุกกับเรื่องที่เราเขียน คนอ่านก็จะสนุกตามไปด้วย


ท้ายสุดพิธีกรอยากให้ทุกท่านช่วยประชาสัมพันธ์โครงการส่งเสริมนักเขียนที่ทางเซเว่นจัดขึ้น โดยการประกวดรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอรด์ในปีนี้ จะเป็นครั้งที่ 15 แล้ว











ขอให้ทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อกนี้มีความสุขมากๆ นะครับ




 

Create Date : 30 เมษายน 2561
12 comments
Last Update : 30 เมษายน 2561 14:22:37 น.
Counter : 1423 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณtoor36, คุณ**mp5**, คุณThe Kop Civil, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณคนผ่านทางมาเจอ, คุณruennara, คุณเริงฤดีนะ, คุณhaiku, คุณtuk-tuk@korat, คุณอุ้มสี, คุณInsignia_Museum

 

ผมพึ่งทราบว่ามีรางวัลตัวนี้ด้วย ก็ถือว่าเป็นกำลังใจให้พวกนักเขียนนะครับ

สำหรับเราอาจไม่ถึงขั้นนักเขียน แต่ก็สามารถนำเทคนิคต่างๆ ไปประยุกต์ใช้กับงานเขียนที่เราเขียนได้

 

โดย: คุณต่อ (toor36 ) 1 พฤษภาคม 2561 0:02:29 น.  

 

แวะมาเยี่ยมครับ

 

โดย: **mp5** 1 พฤษภาคม 2561 17:34:24 น.  

 

อ่านแล้วแต่ชะเง้อ ดู นักเขียนอาชีพ...เขาทำงาน วิธีการทำงาน

แล้วชนะได้รับรางวัล..

ยังคิดอยู่เลยครับว่า ต่อไปจะมีคนเขียนผ่าน จนสู่เป็นเล่ม ได้
แบบไหน... คงไว้คอยอ่านครับคุณกล่อง

v

 

โดย: ไวน์กับสายน้ำ 4 พฤษภาคม 2561 14:47:51 น.  

 

สวัสดีค่ะอาคุงกล่อง..

เช่นกันกับพี่ไวน์คะ

รออ่านหนังสือของอาคุงกล่องอยู่คะ..สู้ๆๆๆ

โหวตให้เลยล่ะ

 

โดย: อ้อมแอ้ม (คนผ่านทางมาเจอ ) 5 พฤษภาคม 2561 3:30:28 น.  

 

ส่วนตัวเคยอ่าน กาษานาคาของคุณ กนกวลี พจนปกรณ์
กาหลมหรทึก ของคุณปราปต์
ส่วนบุพเพสันนิวาส ของคุณรอมแพง ซื้อมาแล้วแต่ยังไม่ได้อ่านครับ

 

โดย: ruennara 6 พฤษภาคม 2561 15:33:49 น.  

 

เป็นโครงการที่ดีของเซเวนเชียว
เด็กเมืองอ่านหนังสือมากขึ้นแล้ว
เพราะมีหนังสือหลากแนวให้เลือก
อีกทั้ง ยังมาได้นิยายที่เข้าทางคนรุ่นใหม่ๆ


อ่านบทสัมภาษณ์แล้ว
อยากอ่านทั้ง กาษานาคา
และ กาหลมหรทึก เชียวค่ะ

 

โดย: เริงฤดีนะ 8 พฤษภาคม 2561 9:54:37 น.  

 

ลูกพี่ครับกลับบ้านได้แล้วครับ

 

โดย: เป็ดสวรรค์ 17 พฤษภาคม 2561 3:51:02 น.  

 

 

โดย: tuk-tuk@korat 22 พฤษภาคม 2561 15:12:02 น.  

 

สวัสดีค่ะอาคุงกล่อง..

ไม่ได้เจอะเจอกันนานมากแล้วนะคะ..คิดถึงคะ

ขนาดพี่น้อง 3 สาว ก็ยังไม่ค่อยได้เจอกันเลยคะ

อิอิ

 

โดย: อ้อมแอ้ม (คนผ่านทางมาเจอ ) 27 พฤษภาคม 2561 6:22:12 น.  

 

ขอบคุณครับคุณกล่องสำหรับการสรุปเรื่อง ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากๆครับ

 

โดย: Insignia_Museum 31 พฤษภาคม 2561 9:11:02 น.  

 

ยอดเยี่ยมมาก
พี่อุ้มมาโหวตให้จ้า

 

โดย: อุ้มสี 13 กรกฎาคม 2561 13:52:20 น.  

 

คิดถึง คิดถึง

 

โดย: magic-women 1 สิงหาคม 2561 16:06:34 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.